มีภาษิตปัญจาบโบราณกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดไม่เคยเห็นเมืองลาฮอร์ ผู้นั้นก็เหมือนยังไม่ได้เกิดมา” ในความหมายที่ว่า ความยิ่งใหญ่และงดงามของเมืองลาฮอร์นั้น จำเป็นต้องมาเห็นด้วยตาให้ได้สักครั้งในชีวิต
ลาฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน และมหานครที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ เมื่อพูดถึงลาฮอร์แล้ว บ้างอาจนึกถึงพิธีสวนสนามระหว่างทหารปากีสถานและอินเดีย ที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนของประเทศทั้งสอง บ้างก็อาจนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นป้อมลาฮอร์ (Lahore Fort) หรือมัสยิดแบดชาฮิ และบ้างก็อาจนึกถึงลาฮอร์ในแง่ที่ครั้งหนึ่ง เมืองๆ นี้เคยเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโมกุลอันยิ่งใหญ่ ที่มีจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอักบาร์มหาราช จักรพรรดิชาห์ชะฮัน (พระองค์เดียวกับที่ทรงสร้างทัชมาฮาลนั่นแหละครับ) และออรังเซพผู้มั่งคั่ง ต่างเคยพำนักอยู่ที่นี่
ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว ลาฮอร์ถือเป็นเมืองที่อัดแน่นไปด้วยช่วงเวลาที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นก่อนการเข้ามาของราชวงโมกุลก็ดี ช่วงราชโมกุลก็ดี หรือในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองก็ดี ซึ่ง Lahore in the Time of the Raj หนังสือที่ผมหยิบยกมาพูดถึงประจำสัปดาห์นี้พาเราไปสำรวจลาฮอร์ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษนั่นเองครับ
กล่าวอย่างคร่าวๆ หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็น ว่าเมืองลาฮอร์ไม่ได้เป็นเพียงสถานีการค้าที่สำคัญในยุคอาณานิคมเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดการหลั่งไหลถ่ายเทระหว่างประชากรเดิม และประชากรใหม่ จากผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงที่เดินทางออกจากชนบทเข้าสู่ชีวิตในเมืองใหญ่ สู่นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่จากอังกฤษที่เป็นตัวแทนของจักรวรรดิ ครั้งหนึ่งลาฮอร์อาจเคยเป็นเมืองที่อัดแน่นด้วยวัฒนธรรมมุสลิมในช่วงการปกครองของราชวงโมกุล แต่ภายหลังจากการมาถึงของอังกฤษ ได้นำพาความรู้ และวิทยาการตะวันตกเข้ามา ลาฮอร์จึงได้ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากอดีตเมืองสำคัญของจักรวรรดิมุสลิม ไปสู่เมืองอาณานิคมอันแสนพลุกพล่าน ที่นวัตกรรม และความคิดใหม่ๆ ต่างไหลหลั่งเข้ามาในเมืองนี้อย่างไม่ขาดสาย ทำให้ลาฮอร์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในชั่วระยะเวลาอันสั้น
ความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามาสู่ลาฮอร์นั้น ในทางหนึ่งคือผลสืบเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคมที่รุดหน้าไปจากเดิมมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือรถไฟนั่นเองครับ การวางรางรถไฟได้กลายเป็นตัวเชื่อมต่อลาฮอร์กับเมืองอื่นๆ ในบริติชอินเดีย ไม่เพียงในความหมายของการโอนถ่ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขนส่งประชากร ที่จากแต่ก่อนการเดินทางจากจุดหนึ่ง สู่อีกจุด จำเป็นต้องใช้ม้า หรือการเดินเท้าที่อาศัยเวลานาน แต่พอมีการสร้างม้าเหล็กขึ้นมา อะไรๆ ก็เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเร่งรัด และรวดเร็วขึ้น ในทางหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า ลาฮอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัวฒน์จากการเข้าถึงรถไฟนี่เอง
เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งประจำเมืองลาฮอร์คือพื้นที่ของเมืองที่เรียกว่า Walled City หรือเมืองภายในกำแพง ซึ่งภายในพื้นที่นี้เอง บ้านเรือน และอาคารต่างๆ ถูกสร้างขึ้นอย่างแน่นขนัด เบียดเสียดกันจนเหลือถนนเส้นเล็กๆ เท่านั้นพอจะตัดผ่านได้ ในทางหนึ่ง เมืองภายในกำแพงคือศูนย์รวมของความรุ่มรวยต่างๆ ของลาฮอร์ ร้านค้า วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่างปรากฏให้เห็นเด่นชัด และคล้ายจะหยุดนิ่งอยู่อย่างนั้นราวกับว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่แทบทำอะไรไม่ได้
แต่ในอีกทางหนึ่ง ความซับซ้อนของเมืองภายในกำแพงก็เป็นดั่งเขาวงกต อย่างที่ชาวอังกฤษเองเรียกขานพื้นที่นี้กันเล่นๆ ว่า เขาวงกฎอันแสนทรมาน จากความสับสนของถนนหนทางที่ตัดผ่านอาคารต่างๆ อย่างไม่เป็นระเบียบ ในระดับที่หากเป็นคนนอกเข้ามาในเมืองนี้จะต้องหลงเป็นแน่ ซึ่งจักรวรรดิอังกฤษที่เข้ามาในภายหลังเองก็ไม่ได้หลงใหลในเมืองภายในกำแพงแต่อย่างใด กลับกันคือออกจะรังเกียจเสียด้วยซ้ำ เพราะชาวอังกฤษมองว่า เมืองภายในกำแพงเต็มไปด้วยเชื้อโรค ความสกปรก และไม่มีสุขอนามัยที่ดี หากให้เจ้าหน้าที่ของตนไปอาศัยในเมืองนี้แน่นอนว่าต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อแน่ๆ ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างการปกครองของอังกฤษ เมืองภายในกำแพงจึงเป็นพื้นที่ของคนในท้องถิ่น ในขณะที่คนอังกฤษนั้นเลือกจะอยู่อาศัยในอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งแยกขาดออกจากกัน สร้างบ้านเรือนและอาคารใหม่ๆ ที่ในปัจจุบันถูกเรียกว่าเป็น ‘เมืองใหม่’ (new town) ของลาฮอร์ หากวันหนึ่งเพื่อนๆ ได้ไปลาฮอร์ ลองแวะไปดูแถบเมืองเก่า (old town) ดูสิครับ จะเห็นว่าโครงสร้างหลายๆ อย่างจะยังคล้ายเดิมอยู่มากทีเดียว
แต่แม้ในเรื่องของพื้นที่อาศัยจะแยกขาดจากกัน ทว่าความโดดเด่นของลาฮอร์ภายใต้การปกครองของอังกฤษคือความเป็นสากล และความเป็นเมืองฆราวาส ที่เปิดรับผู้คนจากทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ฮินดู หรือซิกข์ อีกกิจการหนึ่งที่เฟื่องฟูอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้ คือการจัดทัวร์รอบโลก ที่ชาวอังกฤษด้วยกันจะนำพาแขกเหรื่อจากบ้านตัวเอง เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ภายใต้อาณานิคมของตน เพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอื่น ซึ่งในสายตาของคนอังกฤษแล้วนับว่าแปลกประหลาดอย่างน่าสนใจ
เราอาจเรียกนักท่องเที่ยวเหล่านี้ว่าเป็น Orientalist tourism ในความหมายที่พวกเขามองวัฒนธรรม และกลุ่มคนอื่นๆ อย่างแยกขาดชัดเจนกับความเป็นตะวันตก ซึ่งอินเดีย และปากีสถานเองคือพื้นที่ยอดนิยมในการขายความแตกต่างนี้ในหมู่คนอังกฤษด้วยกัน ยิ่งเมื่อลาฮอร์มีรถไฟด้วยแล้ว การเชื่อมโยงเข้าหากันในธุรกิจท่องเที่ยวเลยยิ่งกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีก หรือแม้กระทั่งกีฬายอดนิยมของปากีสถานในปัจจุบันอย่างคริกเก็ตเองก็ผ่านเข้าสู่กระแสนิยมผ่านจากการที่เหล่าทหารอังกฤษเริ่มนำเข้ามาเล่นในลาฮอร์เช่นกันครับ
Lahore in the Time of the Raj คือหนังสือที่ให้ภาพเมืองลาฮอร์ภายใต้การปกครองของอังกฤษได้อย่างแจ่มชัด อย่างที่ว่า หากคุณสนใจในเรื่องของอาณานิคม และอิทธิพลของอังกฤษที่ยังปรากฏให้เห็นในร่องรอยของปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ถือว่าเหมาะทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอยากจะเข้าใจลักษณะนิสัยของเมืองลาฮอร์ ที่แม้จะผ่านจุดพลิกผันสำคัญในประวัติศาสตร์มาไม่รู้สักเท่าไหร่ แต่เค้ารองของจักรวรรดิมุสลิม จักรวรรดิอังกฤษ ก็ยังปรากฏให้เห็นชัดในฐานะอัตลักษณ์สำคัญของเมืองนี้ครับ