ท่ามกลางวรรณกรรมเล่มสำคัญที่ตบเท้ากันเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ The Glass Palace หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘ร้าวรานในวารวัน’ ของสำนักพิมพ์มติชน คือเล่มที่ผมตื่นเต้นที่สุด
ชื่อของ Amitav Ghosh นักเขียนชาวอินเดียผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนักในวงการหนังสือไทย เท่าที่ผมทราบ ยังไม่เคยมีงานเขียนชิ้นไหนของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน ซึ่งก็นับเป็นจังหวะเหมาะทีเดียวครับ เมื่อในที่สุด The Glass Palace หนังสือที่เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์เล่มสำคัญของนักเขียนท่านนี้ได้รับการแปล ถึงคราวที่หนอนหนังสือชาวไทยจะได้อ่านผลงานคลาสสิกของนักเขียนผู้โด่งดังคนนี้เสียที
The Glass Palace ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง โดยเริ่มต้นจากเด็กหนุ่มนามราชกุมาร ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานบนเรือสัมปั่น แต่แล้วก็จับพลัดจับผลูมาเป็นเด็กเสิร์ฟ ในเพิงอาหารเล็กๆ ของเมืองมัณฑะเลย์ และที่ถ่ายทอดไปพร้อมกับชีวิตของเด็กหนุ่ม คือชะตากรรมของพระเจ้าธีบอ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า ผู้ถูกจักรวรรดิอังกฤษถอดถอนจากอำนาจ จนพระองค์และครอบครัวต้องตกเป็นเชลย และเดินทางไปพำนักยังบังกะโลอันห่างไกลในอินเดีย ท่ามกลางความโกลาหลที่เกิดขึ้นในพม่า ราชกุมารตกหลุมรัก ‘ดอลลี’ เด็กสาวรับใช้ของพระนางศุภยาลัต ชายาของพระเจ้าธีบอ เขาให้สัญญาว่าสักวันจะกลับไปหาเธอให้จงได้ แม้จะไม่รู้เลยว่าชีวิตของเด็กสาวจะระหกระเหเร่รอนไปแห่งหนไหน
ใช่ครับ เรื่องราวของครอบครัวที่ว่า คือครอบครัวของราชกุมารกับดอลลีนั่นเองครับ ผมขอไม่เล่าแล้วกันว่าท้ายที่สุด พวกเขาไปพบกันที่ไหน และลงเอยกันได้อย่างไร ขอเล่าพียงว่า The Glass Palace ได้พาเราไปติดตามชะตากรรมของครอบครัวนี้ ผ่านฉากหลังใหญ่ๆ ในสามพื้นที่ นั่นคือ พม่า อินเดีย และมาเลเชีย เรียงร้อยไปกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่น การยึดครองมัณฑะเลย์ของอังกฤษ การรุกรานมาลายูของกองทัพญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อความมั่นคงของครอบครัวนี้
หากเป็นคุณครูประวัติศาสตร์ Amitav Ghosh คงเป็นที่โปรดปรานของเด็กๆ ได้ไม่ยาก เพราะเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรของเขาไม่เพียงน่าสนใจ และชวนให้วางไม่ลงเท่านั้น แต่ยังมีชีวิตชีวาอย่างที่บ่อยครั้ง ผมเองก็เผลอลืมไปว่า โครงสร้างหลักๆ ของหนังสือเล่มนี้คือการเล่าฉากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง มากกว่าการเนรมิตตัวละคร และเหตุการณ์สมมติ เพื่อแต่งเติมรสชาติให้กับการศึกษาและทำความเข้าใจอดีต ที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องจืดชืดและน่าเบื่อหน่าย
Ghosh ไม่เพียงจะจำลองประวัติศาสตร์อย่างมีมิติ ผ่านชั้นเชิงและพรสวรรค์ทางวรรณศิลป์ระดับร้ายกาจของเขาเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณของเหตุการณ์เล็กๆ ที่มักถูกมองผ่านไปอย่างไม่สลักสำคัญ หรือถูกปัดผ่านไปอย่างไม่ใส่ใจ เช่น ความยากแค้นของชีวิตภายใต้ระบบอาณานิคม หรือชีวิตของคนรับใช้ตัวเล็กๆ ที่ต้องคอยรับมือกับความอารมณ์ร้าย และคล้ายจะไม่สมเหตุสมผลของราชาและราชินี รวมถึงความสิ้นหวังในชีวิตของคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ที่ไม่เคยรับรู้เลยว่าผลกระทบนั้น สร้างความยากลำบากให้กับพวกเขาเหล่านั้นอย่างไร
แม้ The Glass Palace จะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2000 แต่ชื่อเสียงของ Ghosh นั้นมีมาก่อนหน้านั้น อาจกล่าวได้ว่าตัวเขาเองเป็นหนึ่งในนักเขียนอินเดียที่สร้างชื่อในช่วงปี 80s ไล่เลี่ยกับ Salman Rushdie ที่โด่งดังสุดๆ จาก Midnight’s Children ที่คว้ารางวัล Man Booker Prize มาได้ เพียงแต่ว่า ในขณะที่ Rushdie เล่าเรื่องราวผ่านบรรยากาศแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ผสานความเหนือจริง และความเป็นจริงไว้ด้วยกัน Ghosh กลับเลือกจะถ่ายทอดตำนานของเขาอย่างสมจริงสมจริงกว่า Ghosh สนใจในการนำเสนอชีวิตของปัจเจกชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีอิทฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ ให้ชวนติดตาม หากผ่านความสามัญเช่นนี้เองที่เขาได้เผยให้เห็นถึงสถานะคลางแคลงใจของตัวละครที่ชีวิตต้องพลิกผันจากอิทธิพลของลัทธิอาณานิคม และการรุกรานของชาติอื่น การแสวงหาที่ทางของตัวเองเมื่อพวกเขาเกิดไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว เขาควรจะอยู่ หรือเป็นคนของที่ไหนกันแน่
แต่พ้นไปจากประวัติศาสตร์ Ghosh ยังเป็นนักเขียนที่ใส่ใจรายละเอียดอย่างหาตัวจับยาก เห็นได้จากความพยายามในการถ่ายทอดเรื่องไม้ และธุรกิจค้าไม้ ที่เขาบรรยายกระบวนการอย่างตั้งใจ และหมกมุ่นในรายละเอียด จนแม้ว่าในทางหนึ่งย่อมถือเป็นข้อดีได้ แต่เช่นกันที่อาจส่งผลให้นักอ่านที่ไม่ได้สนใจ หรืออินไปกับประเด็นเรื่องไม้ๆ เบื่อหน่าย และรู้สึกถึงจังหวะที่ตะกุกตะกักของนิยาย ดังว่า จุดหนึ่งเรื่องราวก็คล้ายจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ไม่นานก็ค่อยๆ ผ่อนแรงลงเพียงเพื่อจะได้จดจ้องไปยังเหตุการณ์เล็กๆ อย่างสนอกสนใจจนเกินไป
เรื่องราวของ The Glass Palace และความสัมพันธ์ของตัวละครซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามหน้ากระดาษที่พลิกผ่านไป จากราชกุมาร กับดอลลี ในช่วงแรก ก็ได้ขยับขยายไปสู่รุ่นลูกๆ หลานๆ ที่ต่างก็แตกกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านกงล้อของประวัติศาสตร์ที่หมุนเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดหย่อน พวกเขาพบรัก พลัดพราก และตายจาก แต่ถึงที่สุดแล้วแต่ละชีวิตต่างก็ต้องดิ้นรนถีบตัวเองไปเรื่อยๆ พลางไต่ถามอย่างคลางแคลงต่อสถานะของตัวเอง แน่นอนครับว่าจุดอ่อนอีกอย่างของหนังสือปรากฏให้เห็น เมื่อตัวละครที่ค่อยๆ ทวีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง กลับไม่มีพื้นที่มากพอให้ผู้อ่านได้ศึกษา เข้าใจ และเชื่อในตัวละครนั้นๆ เราอาจยังสนุกกับการติดตามชะตากรรมของราชกุมารและครอบครัวที่ดำเนินไป แต่ถึงที่สุดแล้วก็คงไม่ถึงกับผูกพันธ์ โดยเฉพาะกับตัวละครใหม่ๆ ที่ปรากฏขึ้นทีหลัง