ในระยะหลังมานี้ นอกจากคำว่า ‘ลิเบอร่าน’ จะฮิตติดตลาดแล้ว อีกคำหนึ่งที่ฮิตไม่น้อยหน้าไปกว่ากันก็คือวลี ‘ชังชาติ’
วลีนี้แปลตรงตัวเลย – คือไม่ชอบชาติของตัวเอง
เวลาได้ยินวลีนี้ ผมมักนึกถึงเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาน่าจะเป็นคนอเมริกันที่พูดได้ว่ามีอาการ ‘ชังชาติ’ เต็มตัว ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ เขาไม่ชอบเพลงชาติอเมริกัน The Star-Spangled Banner รวมไปถึงเพลงแนวชื่นชมชาติตัวเองอย่าง America The Beautiful ที่มีเนื้อหาบอกว่า พระเจ้าอวยพรอเมริกา ทำให้อเมริกาเป็นดินแดนอันสวยสดงดงามที่สุดแห่งหนึ่ง
ผมชอบทั้งสองเพลงเลยนะครับ เพราะทำนองเพลงที่ฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ ยิ่งเวลาฟังเหล่านักร้องอเมริกันร้องเพลงชาติในงานซูเปอร์โบลว์ด้วยการตีความไปต่างๆ นานา ก็มักฟังดู ‘สุดปอด’ ดี
แต่เพื่อนชาวอเมริกันคนนี้ไม่ชอบเลย
ตอนไปที่นั่น ผมเคยติดสอยห้อยตามเขาไปประท้วง (มีทั้งที่เรียกว่าไปทำ Demonstartion หรือชูป้ายประท้วง การเดินขบวนเป็นพาเหรดจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง รวมถึงการ Rally คือมีการปราศรัยที่ปลายทางหลังพาเหรดแล้ว) หลายครั้ง เช่นประท้วงการทำสงครามกับอิรักเมื่อนานมาแล้ว หรือเดินขบวนแสดงพลังเพื่อผ่านกฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน แต่ทุกครั้งมีใครร้องเพลงที่เกี่ยวกับชาติ (เช่น America the Beautiful ที่ออกจะเพราะ) เพื่อนจะไม่ชอบ และแสดงออกให้เห็นว่าไม่ชอบอย่างออกนอกหน้า
ใช่ครับ – เพื่อนคนนี้บอกว่าตัวเองเป็น ‘ซ้าย’ (Leftist) เขาคิดว่าอเมริกามีลักษณะแบบสถาบันสถาปนา จึงไม่ชอบทุกสิ่งที่มีลักษณะแบบนี้
ตอนที่อเมริกาจะทำสงครามกับอิรัก คนในอเมริกาแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งสนับสนุนการทำสงคราม เพราะเห็นว่าอิรักกับซัดดัม ฮุสเซน เป็นภัยร้ายต่อโลก ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งไม่เอาสงคราม โดยให้เหตุผลว่าอเมริกานั้น ‘เสพติด’ สงครามมากเกินไปแล้ว และมักอาศัยการทำสงครามเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเองอยู่เสมอ
ที่น่าสนใจมากในตอนนั้นก็คือ กลุ่มที่สนับสนุนการทำสงครามนั้น จะใช้สัญลักษณ์สำคัญคือ ‘ธงชาติ’ โดยนำธงชาติอเมริกันไปติดไว้ตามบ้านเรือน หรือเอาไปติดบนหลังคารถยนต์ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่า พวกเขาสนับสนุนการทำสงคราม ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง (ซึ่งก็คือฝั่งที่มีความเห็นแบบเดียวกับเพื่อนชาวอเมริกันของผม) จะไม่เหลือบแลการใช้ธงชาติหรือนำธงชาติมาเป็นสัญลักษณ์ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือนำมาเป็น ‘อาวุธ’ ในการต่อสู้ทางความคิด) เลย
ในละแวกบ้านของเพื่อนนั้น ใครสนับสนุนการทำสงครามหรือคัดค้าน เห็นได้ชัดเจนจากการติดหรือไม่ติดธงหน้าบ้าน ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจไม่น้อย ที่เห็นว่ามีการนำสัญลักษณ์ ‘ความเป็นชาติทั้งปวง’ อย่างธงชาติ ไปจัดวางเอาไว้ในฝั่งเดียว คือฝั่งที่ต้องการทำสงคราม เป็นฝั่งที่โฆษณาตัวเองว่ามีอุดมการณ์รักชาติ แต่อีกฝั่งหนึ่งแทบไม่เหลือบแลสัญลักษณ์นี้เลย คล้ายกับว่า ฝั่งหนึ่งประกาศครอบครองความเป็นชาติ ในขณะที่อีกฝั่งไม่สนใจความเป็นชาติ
แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ทั้งสองฝั่งไม่ใช่คนชาติเดียวกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงก่อนหน้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้ง เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า กลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์ เวลาที่ไปชุมนุมฟังปราศรัยต่างๆ ผู้คนจะ ‘โบกธง’ อเมริกันกันเป็นทิวแถว มีผู้อธิบายปรากฏการณ์นี้เอาไว้ว่า คนเหล่านี้รู้สึกว่าอเมริกากำลัง ‘สูญเสีย’ ความยิ่งใหญ่ในอดีต และทรัมป์จะมาเป็นผู้กอบกู้ความยิ่งใหญ่แห่งชาตินั้นขึ้นมา (ตามนโยบายหาเสียงของเขา) ดังนั้น การใช้ ‘ธง’ จึงแสดง ‘ความเป็นชาติ’ ออกมาได้ดีที่สุด
แต่ก็อีกนั่นแหละ – ลำพังแค่ทรัมป์ ถึงขั้นต้องใช้สัญลักษณ์ของ ‘ความเป็นชาติ’ ทั้งปวงอย่างธงมาเป็นตัวแทนกันเลยหรือ
ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง โดยเฉพาะก่อนหน้าที่ ฮิลลารี คลินตัน จะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรค เวลาที่ผู้สมัครที่แลดู ‘ก้าวหน้า’ อย่างเบอร์นี แซนเดอร์ส ไปปราศรัยหาเสียงต่างๆ คนที่มาฟังแซนเดอร์สนั้น แม้จะมีคนเอาธงมาโบกอยู่บ้าง แต่ก็ต้องนับว่าการ ‘สำแดงอัตลักษณ์’ ของตัวเองด้วยการโบกธงนั้น มีสัดส่วนที่น้อยกว่าฝูงชนที่เชียร์ทรัมป์มากนัก
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
มีคนอธิบายเอาไว้ง่ายๆ โดยใช้ความเป็นซ้ายเป็นขวาว่า Because if you are a leftist, it’s not cool to love America นั่นคือถ้าคุณเป็นซ้าย การแสดงออกว่ารักอเมริกา (คือรักชาติ) ย่อมไม่ใช่เรื่องคูลหรือเรื่องเท่ แต่ที่จะเท่กว่า ก็คือการใส่เสื้อยืดเช เกวารา!
ดังนั้น ถ้าเราเอาศัพท์ฮิตในสังคมไทยปัจจุบันว่า ‘ชังชาติ’ ไปสวมทับจัดวางให้กับการต่อสู้ทางความคิดในอเมริกา เราก็จะแบ่งคน (แบบขาว – ดำ / สุดขั้ว) ออกได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มชังชาติกับกลุ่มรักชาติ โดยกลุ่มชังชาติคือกลุ่มที่มีแนวคิดแบบซ้าย (หรือแบบก้าวหน้า) และกลุ่มรักชาติที่มีแนวคิดแบบขวา (หรือแบบอนุรักษ์นิยม)
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ดี เราจะพบว่านโยบายต่างประเทศของทรัมป์นั้นมีลักษณะโน้มเอียงไปในทางก้าวร้าว มุ่งหมายจะทำให้อเมริกาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง พร้อมใช้กำลังแตกหัก ซึ่งถ้าหากนำไปผนวกรวมกับการใช้ธงเพื่อแสดงอัตลักษณ์ ก็อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไปไกลกว่า Nationalism อีกขั้นหนึ่ง
มีผู้บอกว่า ความ ‘รักชาติ’ ในลักษณะที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเชียร์ทรัมป์นั้น ไม่ควรเรียกว่า Nationalism เพราะมันคือความรู้สึกที่มากกว่ารักชาติ เป็นการรักชาติแบบขาดเหตุผลรองรับ (ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ‘หลงชาติ’) ดังนั้นจึงควรเรียกว่า Jingoism มากกว่า
Jingoism คือชาตินิยมที่มีนโยบายต่างประเทศแบบก้าวร้าว นิยมใช้กำลังในการตัดสินปัญหาแทนที่จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแบบสงบสันติ
ดังนั้น ประเทศที่มีแนวโน้มจะเป็น Jingoism จึงมักต้องสะสมอาวุธ มียุทโธปกรณ์มากมาย พรั่งพร้อมไปด้วยรถถังเรือดำน้ำตอร์ปิโดเครื่องบินขับไล่และอื่นๆ ทุ่มเทเงินทองไปกับสิ่งเหล่านี้มากกว่าสวัสดิการสังคม
มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า Jingoism มีความขัดแย้งในตัวสูง เพราะแม้ Jingoism จะไม่สนใจความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ เพราะพร้อมใช้กำลังรบเสมอหากเสียผลประโยชน์ แต่ Jingoism กลับเน้นความสงบเรียบร้อย ‘ภายใน’ ประเทศของตัวเองเสมอ จะมีการจัดระเบียบสร้างวินัยให้คนในชาติของตัวเองตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดอาการ ‘แตกแถว’ เนื่องจากความหลากหลายทางความคิด ดังนั้น ในประเทศที่เป็น Jingoism เหล่านักประท้วง นักตรวจสอบ ฝ่ายซ้าย หรือคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองในแบบอื่นๆที่แตกต่างไปจากความคิดกระแสหลักจึงมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่สร้างความวุ่นวายให้ประเทศ จึงมักเกิดกลไกต่างๆขึ้นเพื่อเบียดขับคนเหล่านี้อยู่เสมอ
การแปะป้ายว่า ‘ชังชาติ’ ก็เป็นกลไกหนึ่งด้วย และบ่อยครั้งก็ถึงขั้นสร้างความเป็นอื่นให้กับพวกชังชาติเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นมีบทความหนึ่งบอกว่า
You cannot understand leftism in terms of logic or reason. Leftism is a biologically programmed suite of urges. Leftists are fleshy robots, programmed to betray those around them to outsiders, as a means of competing. If they can’t send their warriors overseas to die, they will import the enemy to their homeland and try to start the fighting there. This betraying leftist strategy exists because evolution tested it, and it worked.
จะเห็นว่าข้อความนี้เป็นการ Dehumanize ฝ่ายซ้าย (หรือพวกชังชาติ) ว่าเป็นแค่หุ่นยนต์ไร้ตรรกะ เป็นพวกที่ชักศึกเข้าบ้าน แทนที่จะไปเปิดศึกรบกับศัตรูนอกบ้าน กลับพาศัตรูเข้ามาในบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งถ้าจะว่าไป ก็มีลักษณะร่วมแบบเดียวกับวาทกรรม ‘ชังชาติ’ ที่พบเห็นได้ในสังคมไทยปัจจุบันเหมือนกัน
อาการชังชาติและหลงชาติ อาจดูเหมือนเป็นสองขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่เอาเข้าจริง คนทั่วไปมักไม่ได้มีอาการชังชาติหรือหลงชาติแบบสุดขั้วสองฝั่งเสมอไปหรอกนะครับ คนเราแต่ละคนอาจมีอาการเกลียด / ชัง / รัก / หลง สิ่งที่ถูกเรียกรวมๆว่า ‘ชาติ’ ได้ในหลายมิติที่แตกต่าง บางคนรักแผ่นดินอันงดงาม แต่ไม่ชอบนิสัยโดยรวมๆของคนบนแผ่นดินนั้น (เหมือนที่ในสังคมไทยเคยพูดกันบ่อยๆ ว่า เมืองไทยนี้ดีทุกอย่าง ยกเว้นมีคนไทยอยู่) หรือรักอัธยาศัยของคนในแผ่นดินนั้น แต่ไม่ชอบการใช้ตรรกะที่ล้มเหลวของคนกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น
ดังนั้น อาการชังชาติหรือหลงชาติจึงมีลักษณะเป็นสเปคตรัมเหมือนเรื่องอื่นๆ คืออาจมีพวก ‘ชังชาติ’ ที่ชังทุกมิติของชาติหรือเห็นว่าชาติที่ตัวเองอยู่ไม่มีอะไรดีเลย มีคนที่ชังชาติในบางมิติ ซึ่งก็มีทั้งที่เข้าใจได้และเข้าใจไม่ได้ โดยบางส่วนก็ชังอย่างไร้เหตุผล แต่อีกบางส่วนก็อาศัยความชังนั้นเป็นกลไกทำให้ ‘มองเห็น’ ข้อบกพร่องบางอย่างของชาติ และพยายามแก้ไขทำให้ชาติดีขึ้นในมิตินั้นๆ
ในเวลาเดียวกัน ฝั่งรักชาติหลงชาติก็มีหลากหลายเช่นกัน ตั้งแต่ Jingoism คือหลงชาติและเลือกทำสงครามกับชาติอื่น หรือแม้แต่เป็น Tribalism คือ ‘หลงฝูง’ (ในความหมายของการลุ่มหลงนะครับ) ก็ได้ ทว่าก็มีคนที่รักชาติแบบมีเหตุผลอยู่ด้วย เช่นรักชาติโดยภาคภูมิใจในบางมิติของชาติ แต่ก็รู้ตัวไปด้วยพร้อมๆกันว่าชาติที่ตัวเองรักไม่ได้สมบูรณ์แบบเหนือกว่าชาติอื่นจนกลายเป็นแดนสวรรค์ที่ต้องเชิดชูบูชาเพียงอย่างเดียว แตะต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรไม่ได้เลย
อาการ ‘ชังชาติ’ และ ‘รักชาติ’ ที่อยู่ตรงกลางๆของสเปคตรัมนี่แหละครับ จะทำให้เรามีความสามารถที่จะ ‘เห็น’ ได้ว่ามิติไหนควรภูมิใจ มิติไหนควรละอายแก่ใจ ในส่วนที่ภูมิใจก็ต้องหาทางรักษาไว้ด้วยวิธีที่ยั่งยืน ส่วนมิติที่น่าละอาย น่าชิงชังรังเกียจ เร่อร่าล้าหลังไม่รับกับยุคสมัยอีกต่อไป ก็ต้องกล้าหาญพอที่จะตรวจสอบ ยอมรับ ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน หรือกระทั่งตัดสิ่งนั้นทิ้งไปจากชีวิต โดยไม่ลุ่มหลงอยู่แต่กับจินตนาการแห่งอดีตที่ไม่เป็นจริงอีกต่อไป
หากมองในแง่นี้ การรู้จัก ‘ชังชาติ’ ในบางมิติที่ควรชัง ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อตัว ‘ชาติ’ มากเสียยิ่งกว่าความรักหรือหลงชาติเสียอีก
เพราะมันจะทำให้เราได้ตรวจสอบขัดเกลา ‘ความเป็นชาติ’ ของเราเองอยู่เสมอ ในขณะที่ความรักชาติอย่างมีสติ ก็จะมอบความหวังในการสืบทอดความเป็นชาติต่อไป
ดังนั้น การรักชาติหรือชังชาติจึงไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเองมากเท่าการชี้นิ้วบอกว่าคนอื่นที่คิดเห็นไม่ตรงกับตัวเองคือพวก ‘ชังชาติ’ หรือ ‘หลงชาติ’ แต่เพียงถ่ายเดียว
การแปะป้ายคนอื่นด้วยฉลาก ‘ชังชาติ’ ที่เอ่อท้นล้นท่วมในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงคำว่า ‘เกลียดเมืองไทย’ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าแก่อายุหลายสิบปีอย่าง ‘ข้างหลังโปสการ์ด’ ของ หลานเสรีไทย (136) เธอเคยเขียนถึงอาการ ‘เกลียดเมืองไทย’ เอาไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่าคือ,
อาการและปฏิกิริยาข้างเคียงของโรครักเมืองไทย เพราะรักมากจนทนดูความทุเรศของมันไม่ได้ โรคนี้มียาแก้สามขนาน หนึ่ง – ไปไกลๆให้พ้นหูพ้นตา สอง – อย่าคิดมาก สาม – สู้
ดังนั้น เวลาที่เราคิดว่าคนบางคนกำลังแสดงอาการ ‘ชังชาติ’ ตามมายาคติ อคติ และมโนคติ ที่ติดตั้งอยู่ในสมองและหัวใจของเรานั้น ก็ควรต้อง ‘เผื่อใจ’ เอาไว้ด้วยว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าอาการ ‘ชังชาติ’ ที่เราคิดว่าเห็นและรู้ชัดนั้น เป็นความชังชาติท่ีเกิดจากปฏิกิริยาข้างเคียงของโรครักชาติเสียจนทนดู ‘ความทุเรศ’ บางประการของมันไม่ได้หรือเปล่า และในมุมกลับ การที่เรารู้สึกว่าคนอื่น ‘ชังชาติ’ นั้น มันเกิดจากอาการ ‘หลงชาติ’ แบบล้นเกินของเราไปเองหรือไม่
สำหรับบางคน ความ ‘ชังชาติ’ ของเพื่อนร่วมชาติ – อาจคือ ‘ความทุเรศ’ จนทนดูไม่ได้ แต่สำหรับกับอีกบางคน อาจเป็นความ ‘หลงชาติ’ แบบไม่ลืมหูลืมตาของเพื่อนร่วมชาติก็ได้ – ที่ไม่น่าทนดู
ที่จริงแล้ว เราอยู่ในชาติที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของความรัก ชัง หลง เกลียด และเอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่สิ่งไร้ชีวิตที่เรียกว่า ‘ชาติ’ หรอก ที่เรารัก-ชัง-หลง หรือเกลียด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ที่อยู่ร่วมกันกับเราในสังคมเดียวกันนี้ต่างหาก ที่เราผลักความรู้สึกรุนแรงเช่นนี้ใส่กัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาวิกฤต
เป็นไปได้ไหมว่า ความพยายามจะ ‘ครอบครอง’ และ ‘กักขัง’ ความเป็นชาติเอาไว้ในความหมายแบบเดียว วิถีปฏิบัติแบบเดียว วิธีคิดแบบเดียว อุดมการณ์แบบเดียว (คือแบบของเรา) แล้วชี้นิ้วบอกคนอื่นว่าต้องทำอย่างนี้เท่านั้นจึงจะรักชาติ – คือสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความ ‘รักชาติ’ อย่างแท้จริง เพราะมันคือการ ‘ผลักไส’ คนอื่นๆออกไปจากการเป็นเพื่อนร่วมชาติ และดังนั้นจึงอาจเป็นการ ‘ทำลาย’ ชาติไปในตัวด้วยซ้ำ
เพราะเราจะบอกได้อย่างไร ว่าการโบกธงชาติของ ‘ฝ่ายเรา’ เท่านั้น คือความรักชาติอย่างแท้จริงเพียงฝ่ายเดียว – และในรูปแบบเดียว
การผลักความรัก-ชัง-หลง-เกลียด, เหล่านี้ไปสุดทาง ในที่สุดมักสร้างภาวะ Dehumanize กระทั่งไม่เห็นอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ขึ้นมา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่รู้จักกี่ครั้งในประวัติศาสตร์ของ ‘ชาติ’ ต่างๆ และหลายครั้งทีเดียวที่เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ผลลัพธ์สุดท้ายคือไม่หลงเหลือสิ่งไร้ชีวิตที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ไว้ให้รักหรือชังอีกต่อไป