(คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของการ์ตูนเรื่อง เพียงพบบรรจบฝัน)
ณ ช่วงที่เขียนบทความนี้ เป็นช่วงที่มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องราวของชาว LGBTQ ไม่น้อยเลยครับ Pride Month เองก็เพิ่งผ่านพ้นไป ตามมาด้วยกระแส #สมรสเท่าเทียม ที่อยากให้ประชาชนลงชื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเปิดทางให้สิทธิในการสมรสของคู่แต่งงานเพศเดียวกันเท่าเทียมมากขึ้น ซึ่งล่าสุดก็มีข่าวมติคณะรัฐมนตรีผ่าน ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตแล้ว
และเกิดเป็นกระแสสังคมอินเตอร์เน็ตที่ออกความเห็นผ่าน #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ด้วยความเห็นที่ว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตนั้น ยังไม่ได้ให้สิทธิ์ต่อ LGBTQ อย่างเหมาะสม ซึ่งนำพามาสู่การถกเถียงกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งคนที่พูดอย่างละเอียดมีหลักการและเหตุผลชัดเจน แต่ก็มีอีกส่วนที่ใช้อารมณ์นำทางคำพูดกับตัวอักษร ตามวิสัยของโลกที่มีความแตกต่างแต่ยังต้องอยู่ร่วมกัน
ด้วยข่าวสารมากมายเหล่านี้ ผู้เขียนจึงอยากจะวกไปพูดถึงมังงะเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องของ LGBTQ ทั้งในแง่ความสับสนของผู้ที่เพิ่งเข้าใจตัวเอง ทั้งในมุมของผู้ที่มีความชัดเจนในตัวตน ทั้งคู่ที่อยากจะใช้ชีวิตร่วมกัน และคู่ที่ใช้ชีวิตมายาวนานจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ทั้งหมดมาพบกันใน ‘ห้องนั่งเล่น’ ที่ผู้คนซึ่งมีอยู่ในสังคมแต่กลับไม่ถูกมองเห็นตัวตนประหนึ่งห้วงนิมิตยามนิทรา ทั้งหมดนี่คือเรื่องราวที่อยู่ใน มังงะ ‘เพียงพบบรรจบฝัน’
พบปะกัน ณ ‘ห้องนั่งเล่น’
มังงะ เพียงพบบรรจบฝัน เป็นผลงานของอาจารย์ยุกกิ คามาทานิ (Yuhki Kamatani) ที่ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นช่วงปี ค.ศ.2015-2018 ส่วนในประเทศไทยมีทางสำนักพิมพ์เซนชูเป็นผู้จัดทำฉบับลิขสิทธิ์ เรื่องราวของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นการเล่าผ่านมุมมองของ ทาสุคุ เด็กนักเรียนชาย ม.ปลาย ถูกเพื่อนร่วมชั้นหยิบเอามือถือไปดูแล้วเห็นว่ามีประวัติการเข้าชมเว็บเกย์ เขาที่รับมือไม่ถูกว่า จะทำอย่างไรกับเพื่อนรอบตัว จึงเดินเหม่อจนพลางคิดอยากจะจบชีวิตตนเอง ระหว่างนั้นทาสุคุได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งกระโดดลงมาจากเนินสูง เขาจึงตามไปดูว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นไหม แล้วได้พบกับ ‘ห้องนั่งเล่น’ อาคารเก่าที่ภายในถูกดัดแปลงให้เป็นเหมือนที่พักใจให้ผู้แวะเวียน
ผู้คนที่มักจะใช้งานที่ ‘ห้องนั่งเล่น’ นั้นก็มีลักษณะที่ไม่น่าจะมารวมตัวกันได้ อย่าง ฮารุโกะ หญิงสาวที่ดูท่าทางสบายๆ, ซากิ หญิงสาวที่ทำงานร้านเหล้าและสนิทสนมกับ ฮารุโกะ, อุสึมิ ชายหนุ่มท่าทางคล่องแคล่ว, ไชโค ชายชราที่ทำหน้าที่ชงกาแฟและเหมือนจะชอบฟังแผ่นเสียงเพลงคลาสสิก หรือมิโซระ เด็กหญิงที่มักจะแต่งตัวในเสื้อผ้าน่ารักหลากหลาย
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกคนสำคัญอีกคนของ ‘ห้องนั่งเล่น’ ก็คือ คุณนิรนาม เจ้าของสถานที่ผู้มีความงดงาม ทั้งยังเต็มไปด้วยความลับ และเป็นบุคคลที่สมาชิกของ ห้องนั่งเล่น ทุกคนเคยไป ‘บอกเล่า’ ปัญหาในใจของตนเองให้ฟัง ซึ่งคุณนิรนามนั้นไม่ได้คำปรึกษาแต่อย่างไร เพียงแค่พูดคำว่า ‘ฉันจะไม่ถาม’ และปล่อยให้ผู้บอกเล่าได้คิดว่าตัวเองควรทำอย่างไร
และปัญหาที่อยู่ในใจของทุกคนที่มาใช้บริการห้องนั่งเล่น ต่างก็เป็นปัญหาด้านอัตลักษณ์ทางเพศ ทาสุคุ อยู่ในช่วงที่อยากยอมรับว่าตัวเองชอบผู้ชาย, ฮารุโกะ ลาออกจากบริษัทออกแบบที่เหยียดเพศและตัวตนของเธอที่เป็นเลสเบี้ยน, ซากิ ไม่กล้าเปิดอกกับพ่อแม่ว่าเป็นภรรยาของฮารุโกะ, ไซโค เป็นเกย์ที่มีคนรักใกล้จะเสียชีวิต, อุสึมิ เป็นผู้ชายข้ามเพศ และ มิโซระ เป็นเด็กผู้ชายที่ชอบใส่เสื้อผ้าผู้หญิง
แน่นอนว่าตัวของ คุณนิรนาม เองก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานสังคมญี่ปุ่นเช่นกัน
ด้วยตัวเนื้อเรื่องจะเห็นได้ว่า มีเรื่องราวที่ยากในการทำความเข้าใจอยู่ไม่น้อย อาจารย์คามาทานิ ใช้วิธีวาดภาพเหนือจริง แทรกเข้ามาในช่วงที่มีความตึงเครียดทางอารมณ์ เพื่อสะท้อนเรื่องราวในใจของตัวละครหลายตัว อย่างเช่นภาพด้านบนนี้เป็นการเทียบเคียงว่า ตัวของ ทาสุคุ ที่พยายามทำความเข้าใจผู้ชายที่เขาชอบ ก่อนจะพบว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่ได้เปิดใจและพยายามหลบหลีกการพูดคุยตรงๆ กับเขา
เนื้อหาอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการบอกเล่าโดยอ้อมของมังงะเรื่องนี้ก็ พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Space ให้กับ LGBTQ ที่เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงตรงๆ แต่คนอ่านก็จะเห็นได้ว่า ทั้งโรงเรียน ทั้งบ้าน และสถานที่ทำงานของตัวละครในเรื่อง สามารถทำร้ายใจได้โดยง่าย การมีพื้นที่ให้หยุดพักเสียบ้างอย่าง ‘ห้องนั่งเล่น’ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายเท่าใดนัก
นอกจากนั้น อาจารย์ผู้สร้างมังงะเรื่องนี้ยังเขียนคำพูดของตัวละครอย่างค่อนข้างระมัดระวัง แทบทุกการพูดคุย มักจะเป็นการบอกเล่าเกี่ยวกับความในใจของตัวละครเสมอ รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวที่ LGBTQ ต้องเผชิญจากคนที่ไม่เข้าใจ หรือคิดเองเออเองว่า ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ดี’ ควรเป็นคนแบบไหน และนั่นทำให้มังงะเรื่องนี้ถูกชื่นชมจากผู้อ่านจากหลายประเทศในการนำเสนอมุมต่างๆ ที่หลากหลายของ LGBTQ โดยไม่ได้ทำตัวเป็นการ์ตูนสาระความรู้แต่อย่างใด
การมองเห็นในห้วง ‘สนธยา’
ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่าช่วงเวลา สนธยา หรือช่วงเวลาโพล้เพล้ เป็นจังหวะเวลาที่มักจะเกิดเรื่องราวลี้ลับเหนือความเข้าใจของปกติชน และช่วงเวลานี้ ก็ถูกนำเสนอในโลกการ์ตูนมาแล้วบ่อยครั้ง ตัวอย่างที่โดดเด่นที่หลายท่านน่าจะจดจำได้ก็คงเป็นเหตุการณ์ ในภาพยนตร์อนิเมะ Kimi No Nawa ที่กล่าวถึง ‘คาตาวาเระโดคิ’ ยามสนธยา ที่กลายเป็นจุดตัดสร้างปาฏิหาริย์แห่งรักในเรื่อง
ที่จู่ๆ มาพูดเรื่องเกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าว ก็เพราะว่า มังงะเรื่อง ‘เพียงพบบรรจบฝัน’มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Shimanami Tasogare ซึ่งคำว่า Tasogre นั้นสามารถแปลได้ว่า สนธยา แต่อาจารย์ยุกกิ คามาทานิผู้เขียนมังงะเรื่องนี้กลับใช้ตัวอักษรคันจิของคำดังกล่าวให้เขียนด้วยตัวอักษร 誰そ彼 แทนที่จะเป็น 黄昏 ตามสมัยนิยม
ซึ่งการเลือกใช้คำว่า 誰そ彼 นั้นก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าหากแปลตามตัวอักษรคำดังกล่าวแปลว่า ‘คุณคือใคร’ ที่เป็นการเปรียบเทียบว่า เมื่อคนเรายืนย้อนแสงแดดยามสนธยา มันก็ยากที่จะรับรู้ได้ว่าใครกันที่อยู่ตรงจุดนั้น ที่รับรู้ได้ก็คือคนที่อยู่ในห้วงเวลานั้นเป็นเพียง ‘บุคคลหนึ่ง’ ไม่ได้สนใจว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
และนั่นก็เป็นการส่งสัญญาณตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วว่า การ์ตูนเรื่องนี้จะพูดถึงบุคคลที่อาจจะไม่ได้มีตัวตนสอดคล้องกับบรรทัดฐานตามปกติ อันเป็นกับเป็นการพูดถึงช่วงเวลาที่ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถามตัวเองว่า แท้จริงแล้ว ‘ตัวของเขาเองคือใคร’ ซึ่ง LGBTQ เกือบทุกคนต้องเคยคิดสักครั้งในชีวิต
นอกจากนี้ ด้วยตัวเนื้อหาของมังงะ ก็ยังแสดงให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่พวกเขาอยากให้สนใจ ไม่ใช่ว่าพวกเขาชื่นชอบเพศไหน พวกเขาใช้ชีวิตแบบใด แต่พวกเขาอยากจะให้มองเหมือนยามที่ยืนย้อนแสงอัสดงแล้วสนใจแค่ว่า คนตรงหน้านั้นเป็นแค่คนอีกคนหนึ่งเหมือนกันก็เท่านั้นเอง
‘กลั่นกรอง’ มาจากตัวตนของผู้เขียน
มังงะจากประเทศญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ, เพศสภาพ หรือเพศวิถี ถ้าผู้เขียนไม่ได้เป็นคนที่เล่าเรื่องราวในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง ก็มักจะเป็นนักเขียนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยากจะบอกเล่าเรื่องราวในมุมมองที่ผู้ที่ชื่นชอบเพศตรงข้ามอาจจะคาดไม่ถึงและมองข้ามไป
ซึ่งอาจารย์ยุกกิ คามาทานิ ผู้เขียนเรื่อง เพียงพบบรรจบฝัน นั้นเป็นนักเขียนที่อยู่ในหมวดหลัง เพราะตัวของอาจารย์เคยได้เปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว และการสัมภาษณ์ผ่านสื่อในประเทศญี่ปุ่นว่า อาจารย์นั้นเป็น X-Gender (ศัพท์ที่ชาวญี่ปุ่นบัญญัติขึ้นมาเรียก คนข้ามเพศที่เป็นนอนไบนารี่) และเป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual)
หลังจากสร้างชื่อให้กับตัวเองมาพอสมควรจากผลงานเปิดตัวเรื่อง คัมภีร์ลับเจ้านินจา อาจารย์คามาทานิ ก็อยากที่จะเขียนผลงานที่มาจากเรื่องราวที่เคยประสบกับตัวมาเขียนให้เป็นรูปแบบการ์ตูน นับตั้งแต่ช่วงเวลาอันแสนสับสนตัวเองในวัยรุ่น จนถึงวันที่อาจารย์ข้ามเพศมาแล้ว และอาจารย์ก็ได้กระจายประสบการณ์เหล่านั้นให้กับตัวละคร ตัวละครหลายตัวในเรื่อง เพียงพบบรรจบฝัน อย่างเช่น การที่มีตัวละครหนึ่งในเรื่องออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า LGBTQ ไม่ได้คิดแค่เรื่องหื่นกามทั้งวันเท่านั้น
หากถามว่ามีอะไรที่โดนพูดอยู่น้อยเกินไปในมังงะเรื่องนี้ ก็คงจะเป็นมุมมองด้านกฎหมายเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่เพราะว่าตัวเจ้าของผลงานไม่กล้าจะพูดถึง แต่เป็นเผลจากการที่ตัวมังงะมีความยาวไม่มากนัก จึงทำให้การพูดคุยด้านกฎหมายมีเพียงมุมมองสั้น และยังไม่เห็นเท่าใดนักว่าตัวละครในเรื่องที่มีคู่รักถึงสองคู่จะคิดเห็นเช่นไรกับเรื่องเหล่านี้ นอกจากการชื่นชมประเทศที่มีการเปิดให้จดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มังงะเรื่องนี้นำเสนอได้ชัดเจนอย่างมากก็คือ เรื่องราวของ LGBTQ นั้นไม่จำเป็นต้องพูดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวที่ควรจะพูดคุยกันให้บ่อยขึ้น ทำความเข้าใจกันมากขึ้น แม้ว่าคนเราอาจจะสื่อใจไม่ได้ทั้งหมด แต่การสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นกว่าเดิม แม้เพียงน้อยนิด ก็จะเป็นบันไดเชื่อมต่อไปยังอนาคตข้างที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องหวาดกลัว และซุกซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศไว้ในยามสนธยาต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก