ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รางวัล Pulitzer ได้ทยอยประกาศผลผู้ชนะในสาขาต่างๆ ไป ซึ่งจัดได้ว่า 2018 เป็นปีที่น่าสนใจของรางวัลนี้ทีเดียวครับ เพราะนับตั้งแต่สาขาการประพันธ์เพลง (Music Composition) ที่เสมอมาคล้ายจะจงใจมอบให้แค่นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิก หรือแจ๊ซเท่านั้น ทว่าปีนี้เป็นครั้งแรกที่ Pulitzer เลือกจะมอบรางวัลให้กับดนตรีแนวอื่นที่แตกต่างออกไป นั่นคือฮิปฮอปครับ
ซึ่งผู้ชนะก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ Kendrick Lamar แร็ปเปอร์มากพรสวรรค์ที่กำลังโด่งดังสุดๆ ในตอนนี้นั่นเอง รางวัล Pulitzer โดยเฉพาะในสาขาดนตรี มักได้รับการวิจารณ์อยู่เสมอว่า ไม่ปรับตัวให้เข้ากับสมัยนิยม ทำตัวประหนึ่งหอคอยงาช้างที่แยกขาดตัวเองจากกระแสดนตรีปัจจุบัน และคอยแต่มองย้อนกลับไปยังคุณค่าเดิมๆ ที่ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป ยิ่งเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ของตัวรางวัลเองอย่างวรรณกรรม ที่มอบรางวัลให้กับวรรณกรรมร่วมสมัย อย่าง The Underground Railroad ของ Colson Whitehead ที่ก็เป็นที่พูดถึง และได้รับการอ่านในวงกว้างก่อนจะประทับตรา Pulitzer ตรงหน้าปก หรือ อย่าง The Sympathizer ของ Viet Thanh Nguyen ที่ก็โด่งดังอยู่ก่อนแล้ว
ถ้าว่ากันตามนี้ เราจึงอาจอนุมานได้ว่า การมอบรางวัลให้ Kendrick Lamar จึงไม่ใช่แค่การบอกเป็นนัยถึงการเปลี่ยนแปลงท่าที รสนิยมทางดนตรี หรือวิธีการพิจารณาผู้ชนะของ Pulitzer เองเท่านั้น เพราะสำคัญไปกว่าชื่อเสียง และเกียรติประวัติศาสตร์อันยาวนานของรางวัล คือการที่ Pulitzer แสดงให้เห็นว่า พวกเขาได้ยอมรับการมีอยู่ของแร็ปและวัฒนธรรมฮิปฮอป ว่าไม่ใช่เพียงแค่ดนตรีของคนดำ ชนชั้นล่าง หรือมุขปาฐะข้างถนนที่บอกเล่าแต่เรื่องราวอันป่าเถื่อนรุนแรง แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของดนตรี และศิลปะต่างหาก
ย้อนกลับมาที่สาขาวรรณกรรมกันบ้าง ถือเป็นสาขาไฮไลท์สำคัญของ Pulitzer ทุกๆ ปี ซึ่งในปีนี้ รางวัลก็ตกเป็นของนวนิยายตลกขบขัน (Comic Novel) Less ของ Andrew Sean Greer ครับ และซึ่งการที่อยู่ๆ นวนิยายตลกขบขันเกิดคว้ารางวัลใหญ่นี้มาได้ก็ถือเป็นอีกวาระสำคัญที่ควรได้รับการจดจำไว้ของ Pulitzer เลยทีเดียว เพราะหากพิจารณาผู้ชนะที่ผ่านๆ มา อาจเรียกได้ว่า Less คือนวนิยายแนวนี้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัล
อาจไม่ต่างจากสาขากระประพันธ์เพลงนัก ที่ถึงผมจะบอกไปว่าจะเลือกวรรณกรรมร่วมสมัยกว่า แต่ผู้ชนะแทบจะทั้งหมดกลับเป็นนวนิยายที่ค่อนข้างจะซีเรียส และมืดหม่นทีเดียวครับ เพราะอย่าง The Amazing Adeventures Of Kavalier & Clay ของ Michael Chabon ที่เคยคว้า Pulitzer ไปได้ และอาจมีบางส่วนที่ตลกขับขันจริง แต่มันก็ยังไม่ถือว่าเป็น Comic Novel จริงๆ ยิ่งเมื่อเทียบกับ Less ด้วยแล้ว
Less บอกเล่าเรื่องราวของ Arthur Less นักเขียนชายวัย 49 ที่ชีวิตเขาในตอนนี้ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ ทั้งอยู่ๆ ยังต้องมารู้ว่าอดีตแฟนหนุ่มของเขากำลังจะแต่งงานอีก เราได้รับรู้จากผู้เล่าเรื่อง (ซึ่งไม่ใช่ Less) ว่า Less รู้สึกว่าตัวเองเป็น Homosexual คนแรกที่สามารถแก่ได้ เขาไม่ค่อยจะมีความสุขสักเท่าไหร่นัก
ย้อนกลับไปหลายปีก่อน นวนิยายเรื่องแรกของ Less ประสบความสำเร็จในระดับที่ ‘พอจะไปวัดไปวาได้’ คือไม่ได้มีอะไรเปรี้ยงปร้าง ไม่ได้ส่งให้ชื่อเขาเป็นนักเขียนยอดฮิตติดชาร์ต หรือในปีถัดๆ มา ชื่อของ Less ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลที่จนกระทั่งตอนนั้น เขาไม่เคยจะรู้มาก่อนว่ามีรางวัลนี้อยู่บนโลกด้วยซ้ำ
สำหรับ Less ในวัยใกล้ 50 ผู้คิดว่าตัวเอง “แก่เกินกว่าที่จะสดใส และก็เยาว์วัยเกินกว่าจะค้นพบอะไรอีกในตัวเอง แถมเขาไม่เคยนั่งข้างใครสักคนบนเครื่องบินที่รู้จักงานเขียนเขาเลยสักครั้ง” ทั้งยังต้องมารับงานเป็นพิธีกรสัมภาษณ์นักเขียนอีกคนที่ผลงานขายดีถล่มทลายอย่างฟรีๆ อีก
แน่นอนครับว่างานฟรีๆ เช่นนี้ ถ้าคุณไม่ได้รวย หรือสนิทกับคนจัดจริงๆ คงไม่มีใครอยากจะรับ แต่เพราะ Less ต้องการหลบหนีจากการต้องเข้าร่วมงานแต่งของอดีตแฟนหนุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าการต้องเฝ้ามองช่วงเวลาแห่งความสุขของอดีตคนรักที่ใจยังผูกพันธ์ย่อมต้องสร้างบาดแผลและย่ำยีจิตใจเขาแน่ๆ Less เลือกจะรับคำเชิญไปร่วมอีเวนต์ทางวรรณกรรมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ปารีส เบอร์ลิน เกียวโต พร้อมๆ กับที่การเดินทางครั้งนี้ Less ก็ได้หอบหิ้วงานเขียนชิ้นใหม่ของเขาไปเขียนด้วย นวนิยายเล่มสำคัญที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Gay Version ของ Ulysses
อ่านถึงนี้ Less ดูจะเป็นนวนิยายที่วุ่นวายไม่น้อยเลยนะครับ แต่ภายใต้ความวุ่นวายนี้เอง ที่เราก็ได้เพลิดเพลินไปกับการเดินทางของ Less ในสถานที่ต่างๆ พลางหัวเราะร่วนไปกับการสังเกตสังกาสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และวิธีคิดต่างๆ ในสายตาของนักเขียนอเมริกันผู้นี้ รวมถึงบรรยากาศของวงการวรรณกรรมของประเทศต่างๆ ที่ถ่ายทอดออกมาได้ตลกโปกฮา และน่าสนใจทีเดียวครับ
แต่แม้ว่า Less จะเป็นนวนิยายแนวตลกขบขัน หากเรื่องราวชวนหัวที่เกิดขึ้นในการเดินทางของ Less ไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างพร่ำเพรื่อ หรือว่างเปล่าแต่อย่างใด เพราะอีกจุดเด่นหนึ่งของ Less ที่ทำให้ผมหลงรักหนังสือเล่มนี้ คือ Less เป็นนวนิยายที่เป็นมนุษย์มนา และอัดแน่นไปด้วยหัวจิตหัวใจ
ซึ่งยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่เราจะผูกพันธ์กับ Less มากขึ้นเท่านั้น แต่กลับเป็นความรู้สึกรัก เห็นอกเห็นใจ จนขนาดที่ว่าจุดหนึ่ง ผมนึกอยากจะเข้าไปกอด Less ไว้ ด้วยหวังว่าการกอดจากคนแปลกหน้าจะพอปลอบประโลมให้กับความบอบช้ำที่เขาต้องเผชิญในวัย 50 ว่าเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เพียงลำพัง