ก่อนอื่น ผมขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากการกราดยิงที่โคราชเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวและชวนให้ตกใจเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นคนขอนแก่นที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมก็มีเพื่อนชาวโคราชจำนวนไม่น้อย และโคราชก็เป็นจังหวัดที่ผมแวะเวียนอยู่เสมอ เจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าไปก็ทั้งเป็นห่วงคนรู้จักและสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ
แน่นอนว่าเมื่อจบเหตุการณ์ลง เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขที่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ ชีวิตที่เสียไปแล้วก็ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ สิ่งที่เราทำได้คือ เอาบทเรียนนั้นมาเป็นประสบการณ์ และพยายามพัฒนาเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นอีก ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็จะจบลงด้วยความโศกเศร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และกรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งในญี่ปุ่น ที่ตำรวจญี่ปุ่นเขามองว่าเป็น ‘ตราบาป’ ที่ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง
เหตุการณ์ที่ว่าคือ คดีการจับตัวประกันในเมืองนากาคุเทะเมื่อปี ค.ศ.2007
ขอออกตัวก่อนว่า คดีนี้ ทำให้ผม ‘อิน’ เป็นพิเศษ แม้ตอนที่เกิดเรื่องขึ้นผมจะกลับมาเมืองไทยแล้ว แต่เมืองนากาคุเทะที่ว่านี้คือเมืองหนึ่งในจังหวัดไอจิ และที่สำคัญคือเป็นเมืองที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยของผม พูดง่ายๆ ว่าเดินไปนิดเดียวก็เข้าเขตเมืองนี้แล้ว ตอนได้ยินข่าวก็เล่นเอาตกใจไม่น้อยครับ
คดีนี้เกิดขึ้นในตอนบ่ายของวันที่ 17 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2007 ที่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองนากาคุเทะ จังหวัดไอจิ เมื่ออดีตสมาชิกแก็งอิทธิพล นายฮิซาโตะ โอบายาชิ (Hisato Obayashi) พยายามพูดคุยเพื่อขอคืนดีกับอดีตภรรยา แต่ดูเหมือนการคุยกันจะไม่คืบหน้า และหลังจากนั้น เวลา 3.47 น. ก็มีโทรศัพท์ไปที่เบอร์ 110 ของตำรวจ แจ้งว่า “พ่อถือปืนอาละวาดอยู่ในบ้าน” ก่อนจะมีโทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งในสองนาทีต่อมาว่า “พ่อสงบแล้ว ไม่ต้องมา ปืนเป็นของเด็กเล่น”
แน่นอนว่าตำรวจก็ปล่อยไว้ไม่ได้ ซึ่งนายตำรวจที่ประจำป้อมตำรวจย่อยในพื้นที่ก็รีบไปดูที่เกิดเหตุ แต่อาจจะเพราะประมาทจากข้อความการติดต่อครั้งที่สอง ทำให้นายตำรวจคนดังกล่าวไม่ได้ใส่เกราะกันกระสุน แต่เลือกใส่เกราะอ่อนป้องกันอาวุธมีคมเท่านั้น ผลคือ เมื่อเข้าไปถึงพื้นที่ก็โดนยิงสวนออกมาโดนส่วนคอ และล้มลงอยู่ที่หน้าบ้านที่เกิดเหตุ ในจังหวะเดียวกัน คนร้ายก็ยิงลูกชายและลูกสาวตัวเอง ซึ่งแม้ทั้งสองคนจะหนีออกมาได้ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะลูกชายที่โดนยิงบริเวณท้อง
หลังจากนั้นสถานีตำรวจก็ส่งกำลังพลเข้ามาควบคุมสถานการณ์ แต่ใน 10 คนที่มา มีแค่ 6 คนที่ใส่ชุดเกราะกันกระสุน และที่สำคัญคือ ทั้ง 10 คนไม่มีใครพกปืนประจำตัวเลย ตรงนี้ก็ต้องขออธิบายก่อนว่า สังคมญี่ปุ่นมีการควบคุมปืนอย่างเข้มงวดมากๆ ซึ่งผมก็เคยเขียนถึงไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่) และตำรวจเองก็ไม่ได้พกปืนกันเสมอ
ปืนเป็นของแปลกปลอมของสังคมญี่ปุ่น
ซึ่งอาจจะทำให้ตัวตำรวจเองชะล่าใจ
และไม่ได้เตรียมการเจอกับสถานการณ์แบบนี้
ตัวคนร้ายเองจับอดีตภรรยาเป็นตัวประกันและขังตัวอยู่ในบ้าน พร้อมทั้งพยายามขู่ตลอดว่า ถ้าเข้ามาก็ยิงแน่ เอารถพยาบาลมาช่วยเพื่อนก็จะยิง มีกระสุนเป็น 100 นัด นอกจากม่านที่ทำให้ตำรวจมองสถานการณ์ในบ้านได้ยากลำบากแล้ว ยังมีไฟพร้อมเซนเซอร์อัตโนมัติที่ให้คนร้ายรู้ตัว รวมไปถึงสุนัขที่อยู่ในสวนหนึ่งตัว และในบ้านอีกสองตัว พร้อมจะเห่าทันทีที่มีคนเข้าไปใกล้ กลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจต่อการปฏิบัติการของตำรวจเลย
ทางสำนักงานตำรวจจังหวัดไอจิก็ได้ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ามาในพื้นที่และเตรียมโจมตีจากมุมอับสายตาคนร้าย แต่สุดท้ายก็ถูกสั่งให้ระงับการบุกเพราะเสี่ยงเกินไป และเลือกที่จะจัดการกับสถานการณ์โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ดีก่อน แต่ปัญหาก็คือ นายตำรวจที่ถูกยิงบาดเจ็บอยู่หน้าบ้านก็ดูอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มากดดันการทำงานของฝ่ายวางแผน
หลังจากเกิดเหตุได้เกือบสองชั่วโมง ก็มีการตั้งทีมปฏิบัติงานเฉพาะกิจที่หน้างาน และตามมาด้วย หน่วยพิเศษ SIT หรือ Special Investigation Team สังกัดฝ่ายสืบสวนของสำนักงานตำรวจจังหวัดไอจิก็มาถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งภารกิจหลักของหน่วย SIT คือ การจัดการกับการจับตัวประกันหรือลักพาตัว และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หน่วยพิเศษ SAT หรือ Special Assault Team สังกัดฝ่ายรักษาความปลอดภัย สำนักงานตำรวจไอจิก็มาถึงพื้นที่เช่นเดียวกัน โดยภารกิจหลักของหน่วย SAT คือการจัดการกับการไฮแจ๊คหรือการจัดการกับการก่อการร้าย ซึ่งในกรณีนี้ ทางหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการที่ดูแลภารกิจก็ตัดสินใจ ใช้ทั้งสองหน่วยปฏิบัติภารกิจร่วมกัน กลายเป็นการเดินหน้าใช้ขุมกำลังที่มีทั้งหมด ฟังดูก็ชวนอุ่นใจ แต่จริงๆ แล้ว นี่คือหนึ่งในการตัดสินใจที่ทำให้การจัดการคดีนี้ช้าลงก็ว่าได้ครับ
แม้ทั้งสองทีมจะเป็นโปรในสายงานของตัวเอง แต่ปัญหาคือ ทั้งสองทีมสังกัดคนละฝ่าย และไม่เคยมีการซ้อมร่วมกันหรือกระทั่งทำงานร่วมกันมาก่อน กลายเป็นว่าต้องมาร่วมทีมกันโดยกะทันหันทั้งที่เพิ่งเจอกันที่หน้างาน การตัดสินใจการวางแผนอะไรต่อมิอะไรก็เลยใช้เวลามากกว่าปกติเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ ว. กลับมาว่า “ไม่ไหวแล้ว” และขาดการติดต่อไปตั้งแต่ก่อนหกโมงเย็น จนทางฝ่ายปฏิบัติการก็ไม่รู้ว่าอาการเป็นอย่างไร
สุดท้ายแผนคือ ให้ SIT เป็นแกนหลักในการปฏิบัติภารกิจและ SAT คอยเสริมกำลังอยู่ด้านหลัง เวลาสามทุ่มกว่า ทีมปฏิบัติการก็ถือโล่เข้าประชิดบ้านที่คนร้ายจับตัวประกันไว้เพื่อที่จะช่วยตำรวจที่บาดเจ็บอยู่ และในจังหวะเดียวกันนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นมา
ในจังหวะนั้น ทีมสามารถช่วยตัวตำรวจที่บาดเจ็บออกมาได้ แต่ในขณะเดียวกัน นายตำรวจทีม SAT คาซุโฮะ ฮายาชิ (Kazuho Hayashi) ก็ล้มลงราวกับหลับไป ซึ่งเขาถูกพาตัวส่งโรงพยาบาลในทันที แต่สุดท้ายก็ประกาศว่าเสียชีวิตเมื่อหลังเที่ยงคืน ซึ่งสาเหตุคือ กระสุนที่คนร้ายยิงออกมามั่วๆ กลับพุ่งตรงเข้าที่ส่วนกระดูกไหปลาร้าซึ่งไม่ได้ถูกป้องกันโดยชุดเกราะ และกระสุนเปลี่ยนทิศ ทะลุออกไปตัดเส้นเลือดใหญ่จนส่งผลถึงกับเสียชีวิต กลายเป็นการเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งหน่วย SAT ขึ้นมา
หลังจากที่ช่วยตำรวจออกมาได้หนึ่งนาย
โดยแลกมาด้วยชีวิตของตำรวจอีกหนึ่งนาย
สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น
ทางตำรวจยังขึงกำลังล้อมไว้ ในขณะที่ตัวคนร้ายก็ไม่ยอมง่ายๆ กลายเป็นการขึงกำลังข้ามคืน จนวันต่อมาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในบริเวณนั้นก็ต้องพักการเรียนการสอน สถานการณ์ตึงเครียดนี้จึงส่งผลถึงชาวเมืองไปด้วย
แต่สุดท้าย คงเพราะไม่เห็นทางสู้และหมดแรงที่จะไปต่อ คนร้ายก็ปล่อยอดีตภรรยาตัวเองออกมา ก่อนที่จะเดินออกมามอบตัว หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเป็นเวลารวม 29 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็น 29 ชั่วโมงที่ตึงเครียดและยาวนานเหลือเกิน
ผลจากการปฏิบัติการในครั้งนี้ มีผู้บาดเจ็บสามคนคือ นายตำรวจที่ไปที่เกิดเหตุคนแรก ลูกชาย และลูกสาวของคนร้าย และมีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายคือนายตำรวจทีม SAT นั่นเอง
ผลกระทบของคดีนี้คือ ไม่เพียงแต่มีการตรวจสอบครั้งใหญ่ว่าอุปกรณ์ที่ทีมพิเศษใช้ปลอดภัยพอหรือไม่ แต่ยังรวมไปถึงการที่ตำรวจถูกคำถามของสังคมจี้ในหลายเป็นประเด็น ทั้งขั้นตอนการปฏิบัติงาน ความล่าช้าในการตัดสินใจ รวมไปถึงการที่มีสมาชิกทีมโดนยิง แต่กลับไม่ตัดสินใจเลือกบุกเข้าไปเพื่อช่วยตัวประกัน ซึ่งฝ่ายตำรวจเองก็อธิบายว่ามีความเสี่ยงสูง รวมถึงความเป็นไปได้ว่าคนร้ายเองอาจจะฟังรายงานสดของสื่อที่มาทำข่าว และอาศัยข้อมูลดังกล่าวในการเตรียมป้องกันตัวอยู่ได้ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงเกินไปถ้าจะบุกเข้าไป เพราะไม่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้เลย
คดีนี้ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของวงการตำรวจของญี่ปุ่น และทำให้เห็นปัญหาของการแบ่งแยกสายงาน จนทุกวันนี้ทีมพิเศษก็ยังยกปฏิบัติการครั้งนี้มาเป็นบทเรียนของตนเองเสมอ เพราะถ้าหากปล่อยให้เรื่องนี้เลือนไปกับการเวลา ความตายของนายตำรวจฮายาชิ ก็เป็นเรื่องสูญเปล่า ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น ทีม SIT และ SAT ก็ได้เริ่มต้นการซ้อมการปฏิบัติการร่วมกันมากขึ้น ในห้องทำงานของหน่วย SIT ก็มีธงของ SIT ที่เขียนคำว่า งูสองหัว ที่พวกเขายึดถือเป็นแนวทางหลังจากคดีนั้นคือ “หากหัวถูกโจมตี ก็ให้หางโจมตีกลับ ถ้าหางถูกโจมตี ก็ให้หัวโจมตีกลับ” เป็นแนวทางการร่วมงานของทั้งสองหน่วย ซึ่งหลังจากนั้นก็ทำให้สามารถจัดการกับคดีจับตัวประกันคดีต่อๆ มาได้โดยไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
โลกนี้ไม่มีใครที่ทำอะไรได้สมบูรณ์แบบ และในงานปฏิบัติการในสถานการณ์ที่กดดันเช่นนั้น โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดก็สูงมากอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ เราจะเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะทำอะไรผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และผมเองก็หวังว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่โคราชในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงอะไรต่อมิอะไร รวมถึงต้นตอของปัญหา ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ให้ได้ และขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการปฎิบัติภารกิจครั้งที่ผ่านมาครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก