เวลามีหน้าตาแบบไหน และเราเป็นอย่างไรในห้วงเวลาและจักรวาลอันยิ่งใหญ่นี้
ฟิสิกส์ทฤษฎีดูจะเป็นแนวคิดที่ส่งผลกับจินตนาการของเราที่มีต่อมิติและเวลา ในภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง ‘Your Name’ ได้พูดถึงเส้นสาย (string) ของชะตากรรมที่ถักทอเป็นห้วงเวลา ไม่ว่าในหนังจะอ้างอิงไปที่ String Theory หรือไม่ แต่ถ้าพูดเรื่องมิติที่อยู่นอกเหนือการรับรู้แบบสามมิติ เราย่อมนึกถึงคำอธิบายจากฟิสิกส์ทฤษฎีแน่นอน
สำหรับมนุษยชาติแล้ว เราต่างมีคำถามสำคัญที่เราถามกันมาตั้งแต่บรรพกาล เราสงสัยเสมอว่า ‘เวลา’ อันหมายถึงห้วงที่เราอยู่นี้มันมีที่มาอย่างไร และเราในห้วงเวลาอันยิ่งใหญ่นี้กำลังจะไปทางไหน คำถาม และความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามจะอธิบายและทำความเข้าใจมาโดยตลอด จากมิติทางเทววิทยา, จักรวาลวิทยา มาจนถึงยุคแห่งฟิสิกส์เชิงทฤษฎี เราต่างสงสัยในที่มาที่ไปและสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้าอันกว้างไกล
ในงานเขียนเรื่อง ประวัติย่อของกาลเวลา และจักรวาลในเปลือกนัท สตีเฟน ฮอว์กิงได้พาเราไปสู่แกนกลางของฟิสิกส์ ศาสตร์ที่พาเราไปสู่จักรวาลอันไกลโพ้น และพร้อมๆ กันนั้นก็พาเรากลับมายังที่ที่ใกล้ที่สุด ที่รายล้อมตัวตนของเรา เช่น เวลา(time) พื้นที่(space) และมิติ(dimension)
หากตัดความกลัวเรื่องสมการ ตัวเลข และเรื่องเทคนิคออกไป ในฐานะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ ความรู้และงานเขียนของฮอว์กิงนำเราให้กลับมารู้สึกกับตัวตนและโลกรายรอบของเราได้มากขึ้น แกนสำคัญหนึ่งของความรู้จากฟิสิกส์ทฤษฎี อยู่ที่การพูดถึง ‘สิ่งที่อยู่นอกเหนือแค่การมองเห็น’ ฟิสิกส์พูดถึงอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วและกฏเกณฑ์บางอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทำให้ ‘มองเห็น’ สิ่งที่เราอาจไม่เคยสนใจรับรู้เช่น เวลา(time) และพื้นที่(space) ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เราต่างจมอยู่ในทั้งห้วงเวลาอากาศเดียวกัน ทฤษฎีสตริงก์เองก็พูดถึง ‘มิติ’ พูดถึงบางสิ่งที่รายล้อมตัวเราแต่เราอาจจะรับรู้ได้ไม่หมด
เทววิทยากับฟิสิกส์ทฤษฎี- เมื่อเราสัมพันธ์กับโลก
มนุษย์เราคงจะใช้ชีวิตไปวันๆ ถ้าไม่ขี้สงสัย คำถามสำคัญที่เราถามและตอบกันมาอย่างยาวนานคือโลกใบมาจากไหน เรากำลังจะไปที่ไหน ในยุคก่อนสมัยใหม่เราอาจตอบด้วยกรอบคิดแบบเทววิทยาและศาสนา มีเรื่องเล่าตำนานมากมายที่อธิบายความเป็นมาและความเป็นไปของเราและโลก
ความรู้และความอยากรู้ของมนุษย์ส่วนหนึ่งมาจากจินตนาการของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อยากจะรับรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในจักรวาลและประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โต เราหลับตาแล้วนึกถึงความเป็นไปบางอย่างของโลก ที่มีพวกเราไหลตามธารของกาลเวลานั้นๆ ด้วย
ดูเหมือนว่าหลังจากที่เราปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาแล้ว ฟิสิกส์ทฤษฎีก็เป็นการหาความรู้และคำอธิบายทีเราถามกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ เราเปลี่ยนจากคำตอบของพระเจ้าและพลังศักดิ์สิทธิ์ ไปสู่การมองหากฎของฟิสิกส์ที่พยายามอธิบายกฎเกณฑ์สากลของสรรพสิ่ง ไปจนถึงคำอธิบายเรื่องจุดเริ่มต้นของกาลเวลาและอวกาศที่เราอาศัยอยู่นี้
จริงอยู่ว่านักวิทยาศาสตร์มักปฏิเสธการมีอยู่ของความรู้เก่าแก่ ฮอว์กิงเคยพูดว่าเทววิทยาเป็นสิ่งเหลวไหล แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่นักฟิสิกส์ทฤษฎีทำคือการพยายามอธิบายสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ อยู่ในจินตนาการของเรา หรือของนักวิทยาศาสตร์ ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลุมดำ ภาวะว่างเปล่าไปจนถึงรูปร่างหน้าของเวลา ภาวะที่อยู่เหนือการรับรู้พวกนี้เป็นสิ่งที่นักฟิสิกส์พยายามอธิบายด้วยตัวเลขและการคิดคำนวน ซึ่งเจ้าความ ‘เหนือจินตนาการ’ เหล่านั้นก็ดูเป็นสิ่งที่เรา นักคิด นักเทววิทยาทั้งหลายพยายามจินตนาการถึงกันมาเนิ่นนาน
การมีอยู่ตั้งแต่เทววิทยาเรื่อยมาจนถึงฟิสิกส์ทฤษฎี ศาสตร์ต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่ชวนให้เราคิดถึงและสัมผัสถึงสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ทั่วๆ ไป เราอาจลืมตามองเห็นสรรพสิ่ง มองเห็นดวงดาวบนฟ้า มองเห็นฝ่ามือของตัวเอง แต่เมื่อเราหลับตาลงแล้วเราสัมผัสถึงความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนของตัวเราและสรรพสิ่งรายรอบได้มากขึ้น
มิติและเวลา ความโรแมนติกของสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้
สิ่งที่ฟิสิกส์บอกเรา คือการรับรู้ที่เราเคยคิดว่าเป็นทุกสิ่ง เราอาจคิดว่าตัวเองรับรู้โลกได้อย่างครบถ้วน แต่นักฟิสิกส์ทฤษฎีบอกว่า สิ่งที่พวกแกเห็น มันเป็นแค่ 3 มิติเท่านั้น เราอาจยังมี ‘มิติ’ อื่นๆ ที่มากไปกว่าแค่การรับรู้แบบกว้าง*ยาว*สูง ที่เราคุ้นเคยอีกมากมาย ในบางทฤษฎีพูดถึงมิติที่มีมากขึ้นไปอีก 10 (หรือมากกว่า) มิติ
มิติทั้งสิบเป็นเรื่องยากเนอะ เพราะนักวิทยาศาสตร์ก็พูดในเชิงทฤษฎี แต่พอมีการอธิบายว่า โอเค 0 มิติคือจุด 1 มิติคือเส้น 2 มิติคือวัตถุที่แบนๆ 3. มิติคือรูปทรงและพื้นที่ ตรงนี้เรารับรู้ได้ และแถ่นแท้น มิติที่ 4 ในคำอธิบายคือ ‘เวลา’ ที่เดินทางจากอดีต มาจนถึงปัจจุบัน เหมือนกับการที่เราจินตนาการถึงตัวเราจากอดีตถึงปัจจุบันได้ ดังนั้นเวลาจึงเป็นระยะอย่างหนึ่ง
พอจัดเวลาเป็นมิติๆ หนึ่งแล้ว ดูเหมือนเราจะได้ทบทวน ‘การรับรู้’ ของเรา นอกจากผัสสะ เวลาดูเป็นอะไรที่เราสัมผัสได้อยู่ตลอดเวลา การรับรู้ของเรามักเกี่ยวข้องกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่เสมอ หากพูดอย่างไม่วิชาการ และเพ้อเล็กน้อย เวลาที่เราเดินไปที่ไหน บางครั้งก็อาจจะมีภาพอดีตบางอย่างผุดขึ้นท่ามกลางการรับรู้ปกติของเรา อาจจะไม่ได้เห็นหรือรู้สึกแค่ปัจจุบันของพื้นที่ หรือของตัวตนนั้นๆ แต่ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกลับยุ่งขิงกับเราไปพร้อมกับการรับรู้ในมิติอื่นๆ
จริงอยู่ว่ายังมีนักวิทยาศาสตร์อีกมากมายที่มีคุณูปการกับโลกของความรู้สมัยใหม่ แต่ฮอว์กิง นักคิดผู้ไม่สามารถเคลื่อนไหวแต่สามารถพูดถึงสรรพสิ่งและจักรวาลอันซับซ้อนได้ เขาจึงเป็นเหมือนผู้รู้ผู้ลึกลับที่เราจินตนาการถึงความคิดที่ล้ำลึกไม่ออก งานเขียนที่เน้นเผยแพร่ความรู้เรื่องเวลา เรื่องจักรวาลวิทยา ไปจนถึงการออกมาพูดถึงสถานการณ์ร่วมสมัยต่างๆ ของฮอว์กิงก็ถือเป็นอิทธิพลสำคัญที่ฮอว์กิงมีแต่ความรู้สึกนึกคิดของเรา
ขอบคุณสำหรับชุดความรู้ ที่ทำให้เรารับรู้ถึงสิ่งที่มากกว่าการมองเห็น
อ้างอิงข้อมูลจาก