อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจชื่อดังก้องโลก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ SpaceX บริษัทซึ่งมีจุดมุ่งหมายและสโลแกน “ทำให้ชีวิตโลกอยู่ได้บนดาวเคราะห์หลายดวง” กล่าวอย่างโด่งดังครั้งแล้วครั้งเล่าทุกครั้งที่เขามีโอกาสว่า มนุษยชาติจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไปตั้งรกรากบนดาวอังคารให้ได้ เพื่อสร้างหลักประกันว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะไม่ล้มหายตายจากไปจนหมด หากแม้นสงครามโลกครั้งที่สามปะทุขึ้น
ทำไมต้องดาวอังคาร? มัสก์อธิบายว่า ก็เพราะมันไกลจากโลกมากพอที่จะมีโอกาสอยู่รอดสูงกว่าฐานบนดวงจันทร์ ถ้าหากเกิดสงครามขึ้นมาจริงๆ การไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารจะช่วยสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ดำเนินต่อไปได้ ร่นระยะเวลา ‘ยุคมืด’ ครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติให้สั้นลง
บางคนมองอย่างดูแคลนว่า การท่องอวกาศไปยังดาวอังคารจะเป็นเพียงการเอาตัวรอดอย่างเห็นแก่ตัวของมหาเศรษฐีไม่กี่คนบนโลก แต่มัสก์ไม่คิดอย่างนั้น เขาแย้งว่าการเดินทางนี้จะยากลำบาก อันตราย และมีโอกาสสูงมากที่หลายคนจะตายระหว่างทางหรือไม่นานหลังจากไปถึง สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าการสำรวจขั้วโลกเหนือหรือใต้ ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบายสำหรับเศรษฐีแม้แต่น้อย และดังนั้นจึงน่าจะหาอาสาสมัครได้ยากมากในการเดินทางรอบแรกๆ
มัสก์เคยกล่าวอย่างติดตลกว่า “ผมอยากตายบนดาวอังคารนะครับ แค่ไม่อยากตายตอนโหม่งชนดาวน่ะ”
การตั้งรกรากบนดาวอังคารนั้นอันตรายและยากเย็นอย่างไร? ผู้เขียนคิดว่าสื่อที่ให้ภาพอย่างชัดเจนที่สุดและทำให้เรา ‘อิน’ กับสิ่งที่มัสก์พยายามอธิบายมากที่สุด หาใช่ภาพยนตร์หรือซีรีส์โทรทัศน์ใดๆ (ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ The Martian ที่อวดความเฉลียวและความฉลาดทางเทคนิคยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่) หากเป็นเกมคอมพิวเตอร์ชื่อ Surviving Mars จาก แฮมิมองต์ เกมส์ (Haemimont Games) สตูดิโอผู้ช่ำชองเกมวางแผนจากประเทศบัลแกเรีย
ทีมแฮมิมองต์โด่งดังจากซีรีส์ Tropico ซึ่งให้เราเล่นเป็นเผด็จการทหาร ภาคที่ 5 ในซีรีส์นี้สมจริงเสียจนกองเซ็นเซอร์ไทยหวั่นไหวว่าจะระคายเผด็จการทหาร พ.ศ. 2557 จึงสั่งแบนไม่ให้ขายในไทย ปีถัดมาแฮมิมองต์ตอบโต้ด้วยการออกภาคเสริม ‘Espionage’ให้เรา (เผด็จการในเกม) แก้แค้นคำสั่งแบนเกมนี้ …ด้วยการ ‘ขโมยนักท่องเที่ยว’ จากไทยมาให้หมด!
Surviving Mars ดูเผินๆ เหมือนจะเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันแบบเดียวกับ Tropico เพราะกราฟิกจรวดกับกองทัพดรอยด์ (droid) หุ่นยนต์หน้าตาน่ารักย้อนยุค เหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซไฟยุค 60s แต่เล่นเพียงสักพักก็จะพบว่าเกมนี้ท้าทายกว่า Tropico หลายเท่า
ซึ่งความท้าทายที่สูงไม่ใช่เล่นนี่เอง ที่ทำให้รู้สึก ‘ฟิน’ และอิ่มอกอิ่มใจเมื่อได้เห็นอาณานิคมของเรารุ่งเรือง หลังจากที่ใช้เวลาจริงหลายชั่วโมง ‘เอาตัวรอด’ บนดาวอังคารตามชื่อเกมได้สำเร็จ (ปาดเหงื่อ)
อารมณ์ระหว่างเล่นเกมนี้แบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสองช่วง ช่วงแรกก่อนสร้างโดมแก้วอาณานิคมสำเร็จจะต้องเน้นการจัดการทรัพยากรที่ไม่ใช่มนุษย์ และหลังจากนั้นก็หันมาเน้นการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ตอบสนองความต้องการของมนุษย์กลุ่มแรกที่ตั้งรกรากบนดาวอังคาร
ฉากแรกที่เราจะเห็นในเกม (ถ้าไม่เลือกเปลี่ยนระดับความยากง่ายและ loadout หรือสัมภาระที่ขนมาในยานก่อน) คือการเลือกโซนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารของจรวดลำแรกจากโลก หลังจากที่จอดบนดาวแดง เราจะพบว่าจรวดลำนี้บรรทุกมาเพียงทรัพยากรพื้นฐานไม่กี่อย่าง และเราบังคับได้เพียงรถสี่ล้ออเนกประสงค์ (โรเวอร์ – rover)สามคัน กับดรอยด์หรือหุ่นยนต์ไม่กี่สิบตัวเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ตรงกับแผนของ NASAที่ตั้งเป้าว่าจะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารภายในทศวรรษ 2030แต่ก่อนหน้านั้นการเตรียมความพร้อมจะเป็นงานของกองทัพดรอยด์ ผู้ไม่ต้องการอาหาร น้ำ และออกซิเจน สามสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้
แล้วเราจะเอาอาหาร น้ำ และอ็อกซิเจนมาจากไหนบนดาวอังคาร? คำตอบของ Surviving Mars ก็คือ ต้องสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อผลิตสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา นานก่อนที่จรวดจะพามนุษย์ชุดแรกมาจากโลก
การก่อสร้างสาธารณูปโภคทุกอย่างใน Surviving Mars นั้นจะทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าหรือตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะทุกอย่างตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างสายไฟฟ้า ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างโรงฟอกอากาศ ล้วนแต่ต้องใช้วัสดุก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างก็มีอยู่จำกัด เท่าที่ขนมาจากโลก สิ่งแรกๆ ที่เราต้องทำคือส่งโรเวอร์กับดรอยด์ไปสร้างโรงผลิตคอนกรีต ซึ่งทำจากดินบนดาวอังคารอันอุดมด้วยธาตุซัลเฟอร์ คอนกรีตจำเป็นสำหรับสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แทบทุกชนิดบนดาวอังคาร สำหรับพลังงานซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดก็ผลิตได้ด้วยการสร้างแผงโซลาร์ กังหันลม (ผลิตพลังงานได้เฉพาะช่วงเวลากลางวัน ฉะนั้นการสร้างแบตเตอรี่เก็บกักพลังงานจึงจำเป็น) หรือเครื่องผลิตพลังงานแบบไฮเทคซึ่งทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่สิ้นเปลืองวัสดุก่อสร้าง (ที่ขนมาจากโลก) เยอะมาก
ในทำนองเดียวกัน เราสามารถสกัดน้ำ (จำเป็นสำหรับการรองรับมนุษย์) ออกมาจากชั้นบรรยากาศก็ได้ แต่วิธีนี้สิ้นเปลืองกว่าการละลายน้ำแข็งใต้ดิน (ซึ่งก็แน่นอนว่า ต้องสแกนหาธารน้ำแข็งใต้ดินให้เจอก่อน) ส่วนออกซิเจนก็สกัดได้จากคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศด้วย ‘MOXIE’ อุปกรณ์ในจินตนาการอันตั้งอยู่บนความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์
แร่โลหะก็จำเป็นเช่นกัน โลหะบางส่วนสามารถสกัดจากซากอุกกาบาตที่หลงเหลือบนพื้นผิวดาวอังคารได้เลย แต่การขุดโลหะใต้ดินนั้นซับซ้อนและใช้แต่ดรอยด์ไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีเลือดเนื้อ ซึ่งนั่นแปลว่าต้องรอให้สาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม สร้างโดมอาณานิคมโดมแรกได้ก่อน ข่าวดีก็คือเมื่อไรก็ตามที่ขุดแร่โลหะหายากใต้ดินได้สำเร็จ นอกจากจะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว เรายังสามารถส่งมันกลับโลกเป็นสินค้าส่งออก แลกกับเงินทุนที่นำมาใช้พัฒนาอาณานิคมได้
พูดถึงเงิน เงินมีบทบาทอยู่บ้างในเกมนี้ เช่น ใช้ลงทุนทำวิจัยเทคโนโลยีใหม่ แต่เงินไม่สำคัญเท่ากับการดูแลสิ่งปลูกสร้างให้ดี พยายามสร้างหลักประกันว่าเราจะมีทรัพยากรต่างๆ อย่างเพียงพอ และสามารถดูแลระบบทั้งหมดไม่ให้เกิดปัญหาระดับวิกฤต ชนิดที่สามารถทำให้อาณานิคมล่มสลายไปในชั่วพริบตา ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เราต้องระวังอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างในเกมนี้ (ยกเว้นเงิน) ต้องอาศัยการ ขนส่ง ด้วยดรอยด์หรือโรเวอร์ ซึ่งเดินด้วยแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดเราต้องสั่งมันกลับมาชาร์จที่แหล่งผลิตพลังงาน สิ่งปลูกสร้างทุกชนิดในเกมนี้ต้องอาศัยการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอด้วยกองทัพดรอยด์ แต่ไม่ว่าจะดูแลดีเพียงใดก็มีโอกาสเกิดปัญหาได้เสมอ เช่น สายเคเบิลตรงนั้นบังเอิญเกิดไฟช็อต ส่งผลให้ไฟดับเป็นแถบๆ หรือท่อน้ำตรงนี้เกิดรั่ว ส่งผลให้เครื่องผลิตออกซิเจนไม่ทำงาน ยังไม่นับภัยธรรมชาตินานัปการบนดาวอังคาร อาทิ พายุทราย อุกกาบาตตก พายุหมุนฝุ่น (dust devil) และกระแสลมเย็นยะเยือก (cold waveทำให้โรงขุดน้ำบาดาลทั้งหมดใช้การไม่ได้)
ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้แปลว่า Surviving Mars สอนให้เรารู้จักความสำคัญของการสร้างระบบแบบ ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ (redundancies) ไว้มากๆ ความ ‘ฟิน’ ในช่วงแรกของเกมนี้อยู่ที่การเจอเหตุคับขันอะไรสักอย่าง อย่างเช่นพายุทราย แล้วพบว่ามันส่งผลกระทบแต่เพียงส่วนน้อย ระบบโดยรวมของเรายังทำงานต่อไปได้เพราะว่าเราสร้างสายเคเบิล แผงโซลาร์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ‘เผื่อ’ ไว้มากเพียงพอ และสร้างแบบกระจายตัว ไม่ให้มันกระจุกตัวอยู่ที่เดียวกันหมด
ความท้าทายที่กล่าวไปข้างต้นแปลว่า การเล่น Surviving Mars โดยเฉพาะในช่วงแรกนั้นให้อารมณ์เหมือนส่วนผสมระหว่างเกมเอาตัวรอด (survival) เกมวางแผน (strategy) กับเกมสร้างเมือง (city builder) ที่ลงตัวและแปลกใหม่ ใครที่เคยชินกับเกมสร้างเมืองทั่วไป สไตล์ SimCity หรือ Cities: Skylines ซึ่งไม่ต้องวางแผนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากขนาดนี้ อาจรู้สึกท้อแท้หรือรำคาญที่เวลาจริงผ่านไปหลายชั่วโมงแล้วยังไม่ได้สร้าง ‘เมือง’ (โดมอาณานิคม) เสียที แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของเกมนี้ที่ทำให้มันแตกต่างจากเกมสร้างเมืองหรือเกมวางแผนทั่วไป(และทำให้เรา ‘ฟิน’ จริงๆ เมื่อสร้างเมืองได้สำเร็จ)
เมื่อเราวางสาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อมสรรพ สามารถผลิตน้ำ ออกซิเจน พลังงาน และวัสดุก่อสร้างพื้นฐานอย่างคอนกรีตและโลหะ รวมถึงวางใจว่าระบบนี้มีเสถียรภาพพอประมาณ ก็ได้เวลาสร้างโดมอาณานิคม เรียกจรวดขนชาวโลกกลุ่มแรกที่จะเดินทางมาตั้งรกรากเป็น ‘ชาวดาวอังคาร’ อย่างเต็มตัว
หลังจากที่เราพักฉลองชัยให้กับโดมอาณานิคมโดมแรก อารมณ์การเล่น Surviving Mars ก็จะเปลี่ยนไป คราวนี้การบริหารจัดการทรัพยากรพื้นฐาน (น้ำ คอนกรีต พลังงาน ฯลฯ) จะไม่ใช่เรื่องยาก (มาก) แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้มีระบบรองรับเพียงพอ เราเพียงแต่ต้องคอยดูแลส่งกองทัพดรอยด์ไปบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ความยากจะย้ายไปอยู่ที่การดูแลเหล่า ‘ชาวดาวอังคาร’ แทน เพราะพวกเขาก็เรื่องมากพอๆ กับเราชาวโลกนั่นแหละ คือไม่ได้ต้องการแค่น้ำ อาหาร และอากาศหายใจ แต่ยังอยากได้ความสะดวกสบาย (comfort) รวมถึงมีสุขภาพ (health) และขวัญกำลังใจ (morale) ที่ดี จึงจะมีความสุข จะได้ขยันทำงานและมีลูกมีเต้าเป็นชาวดาวอังคารรุ่นที่สอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราต้องสร้างอาคารต่างๆ มารองรับความต้องการของพวกเขาอย่างเพียงพอและครบถ้วน ตั้งแต่สถานดูแลเด็กเล็ก แหล่งบันเทิงอย่างคาสิโน ศูนย์การค้า ร้านเกม ฯลฯ ในแง่นี้ Surviving Mars ไม่ต่างจากเกมสร้างเมืองทั่วไป แต่ความยากอยู่ตรงที่ ‘เนื้อที่’ ในโดมอาณานิคมแต่ละโดมมีจำกัด เราต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะสร้างอะไรก่อนหลัง จะวางแผนสร้างโดมหลังที่สอง สาม สี่ ตรงไหนและเมื่อไรดี ซึ่งก็แน่นอนว่านั่นหมายถึงการขยายระบบสาธารณธูปโภคให้ครอบคลุมบริเวณใหม่ๆ
นอกจากจะต้องดูแลชาวดาวอังคารให้มีความสุขแล้ว การเลือกรับคนจากโลกให้มาทำงานในตำแหน่งที่ถูกต้องก็สำคัญเช่นกัน
เราสามารถระบุได้ว่าต้องการรับคนในสาขาอาชีพไหนมาใช้ชีวิตบนดาวอังคาร เช่น ถ้าเรากำลังจะเปิดเหมืองสกัดแร่หายากที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ การรับผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาก็มีประโยชน์กว่าการรับนักพฤกษศาสตร์มาอีกห้าคน (โดยเฉพาะถ้าหากเรายังไม่ได้สร้างฟาร์มพืชอาหารอะไรเลยให้นักพฤกษศาสตร์มีงานทำ) คนที่ดั้นด้นมาถึงดาวอังคารแล้วไม่ได้ทำงานที่ตัวเองถนัด ว่างงานหรือไม่มีบ้านอยู่แน่นอนว่าจะไร้ความสุข พอทุกข์ก็จะตกเป็นโรคซึมเศร้า หนีกลับโลกหรือก่อการจลาจล
ช่วงท้ายๆ ของเกมเป็นเรื่องของการทำให้ระบบต่างๆ เดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ (optimization) โดยเฉพาะการทุ่มทุนวิจัยและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวิธีต่างๆ นอกจากนั้นเราก็สามารถทำกำไรด้วยการขุดและส่งแร่ธาตุหายากและทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้กลับไปขายยังดาวแม่หรือโลก (หลังจากที่สร้างโรงผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจรวด ซึ่งก็ควรจะสร้างให้ไกลจากโดมที่พักอาศัยเข้าไว้ เผื่อเกิดอุบัติภัยขึ้นมาคนจะได้ไม่ตายหมด) แลกกับเงินทุนที่จะนำมาทุ่นแรงทำวิจัย นอกจากนี้เรายังสามารถใช้เงินซื้อจรวดลำใหม่ๆ มาบินระหว่างโลกกับดาวอังคาร เกมนี้คล้ายกับเกมสร้างเมืองอีกหลายเกมตรงที่ไม่มี ‘เส้นชัย’ที่ชัดเจน ชัยชนะอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะท้าทายตัวเองเท่าไร จะขยายอาณานิคมให้รองรับชาวดาวอังคารถึงกี่คน และจะอยู่ไปได้นานสักกี่รุ่น
ในแง่ระดับการเล่นซ้ำได้ (replayability) ซึ่งสำคัญมากสำหรับเกมวางแผน Surviving Mars จัดว่าได้คะแนนดีในส่วนนี้เพราะนอกจากจะสุ่มเลือกแผนที่ดาวอังคารใหม่หมดทุกครั้งที่เล่นแล้ว ยังสุ่มวาง ‘ความผิดปกติ’ (anomalies) หลายจุดบนดาวอังคารให้เราส่งโรเวอร์ไปตรวจสอบได้ ความผิดปกติเหล่านี้มีตั้งแต่ทรัพยากรหายาก เทคโนโลยีใหม่ หรือเรื่องร้ายๆ อย่างพายุทรายกะทันหัน (แต่ส่วนใหญ่มักจะดีมากกว่าร้าย) นอกจากนี้ยังมี ‘ปริศนาลึกลับ’มากมายให้ค้นหา ตั้งแต่การติดต่อมนุษย์ต่างดาว ลูกบาศก์ดำมืดลึกลับ (ซึ่งทำให้ชาวดาวอังคารบางส่วนเข้ารีตปวารณาตนมานับถือ ‘ลัทธิบูชาลูกบาศก์’) และปริศนาอื่นๆ ซึ่งเราเลือกได้ก่อนเริ่มเกมว่าอยากให้มีหรือไม่มี นอกจากนี้ ปัจจัยสุ่มอีกประการที่ผู้เขียนชอบมาก คือ การสุ่มวางต้นไม้เทคโนโลยี (tech tree) ซึ่งแต่ละเกมไม่เหมือนกัน เป็นไปได้ที่เราจะเล่น Surviving Marsสองเกมติดโดยที่เจอเทคโนโลยีสองชุดซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้กลยุทธ์ที่เราใช้อาจแตกต่างกันไปด้วย
มีบางเรื่องที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกขัดใจในเกมนี้เพราะให้อารมณ์ micromanagement หรือการจัดการเรื่องยิบย่อยที่ไม่จำเป็น เช่น ทัพหุ่นยนต์จิ๋วหรือดรอยด์ต้อง ‘รายงานตัว’ กับโรเวอร์หรือศูนย์กลางโดรนที่เราสร้าง แต่ไม่มีวิธีบอกดรอยด์คราวละหลายตัวว่าพวกมันควรไปสังกัดที่ไหน ฉะนั้นถ้าเราซื้อดรอยด์ชุดใหม่มาจากโลก เราต้องคลิกบอกมันทีละตัว หรือการจัดการชาวดาวอังคารก็ควรจะอัตโนมัติได้มากกว่านี้ บางทีผู้เขียนมีนักธรณีวิทยาในโดม A ที่มีฟาร์มว่าง กับนักพฤกษศาสตร์ในโดม B ที่มีเหมืองว่าง แต่คนสองคนนี้ดันแกว่งเท้าไม่ทำงานอยู่ที่เดิม แทนที่จะสลับโดมกันอยู่อัตโนมัติ จะได้มีงานทำทั้งคู่
อย่างไรก็ดี ข้อบกพร่องเหล่านี้ก็นับว่าเป็นจุดด้อยส่วนน้อยนิด สำหรับเกมที่สามารถผสมผสานการสร้างเมือง การเอาตัวรอด หลักวิทยาศาสตร์แน่นๆ จากโลกจริง และจินตนาการเชิงบวกจากเรื่องแต่ง มาทำเป็นสื่อได้อย่างลงตัว ท้าทาย และสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง (ตัวอย่างรายละเอียดสมจริงในเกมนี้ คือ ทุกครั้งที่จรวดทะยานขึ้นสู่อวกาศหรือลงจอด มันจะก่อให้เกิดฝุ่นแดงตลบอบอวล ฟุ้งขึ้นปกคลุมอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้)