สวัสดีครับ น้องออตโต้และน้องหมิว
บอกตามตรงนะครับ ว่าพอมีรายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย’ มาทีไร พี่เป็นต้องปิดช่องหนีเสียทุกที จะได้ยินบ้างก็แว่วๆ เมื่อนั่งแท็กซี่แล้วคุณคนขับแท็กซี่เขาเปิดวิทยุค้างเอาไว้ เลยมีการกระจายเสียงผ่านหูให้พอได้ยินบ้าง เพราะน้องๆ ก็คงรู้เหมือนที่พี่ๆ รู้นั่นแหละครับ ว่ารายการแบบนี้คือรายการประชาสัมพันธ์รัฐบาล จึงมีแต่เรื่องดีๆ งามๆ ของรัฐบาลมาให้เราฟัง แต่บังเอิญเราก็รู้ถึงความดีงามของรัฐบาลซาบซึ้งใจดีอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยเห็นความจำเป็นเท่าไหร่ที่จะต้องฟัง
แต่พอน้องสองคนมาจัดรายการนี่สิครับ เสียงลือเสียงเล่าอ้างของผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู ทำให้พี่ต้องเปิดมาดูรายการที่น้องทั้งสองเป็นพิธีกร
ดูแล้วก็อยากบอกน้องทั้งสองนะครับ ว่าอย่าไปสนใจเสียงวิจารณ์ของพวกคนชั้นกลางผู้เห็นว่าตัวเองมีรสนิยมทางกราฟิกดีงามล้ำเลิศพวกนั้นเลยครับ เพราะแม้พวกเขาจะวิจารณ์ฉากรายการและการแต่งตัวของน้องกัน แต่ใครๆ ก็คงรู้นั่นแหละ ว่าทั้งฉากและเสื้อผ้าหน้าผม มันไม่ใช่เรื่องที่พิธีกรจะลุกขึ้นมาจัดแจงอะไรได้ จะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยมันไป ซึ่งน้องๆ ก็คงเห็นด้วยกับพี่ – ว่าโปรดิวเซอร์รายการเขาคงใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเป็นอย่างดีแล้ว น่าจะเหมาะสมกับทั้งวัตถุประสงค์ งบประมาณ และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งน้องๆ คงไปกะเกณฑ์อะไรไม่ได้
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากบอกน้องๆ มากๆ ก็คือ น้องๆ ทำให้พี่เกิดความ ‘เอ็นดู’ ขึ้นมาอย่างมาก
เอ็นดูอะไรเหรอครับ ก็เอ็นดูที่น้องๆ จัดรายการกันอย่างซื่อๆ บริสุทธิ์ จริงใจ น่ารัก หยอกล้อกันแบบสนุกสนานน่ะสิครับ ดูแล้วทำให้นึกถึงตัวเองและเพื่อนๆ สมัยยังเด็ก
ราวๆ ยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว พี่เป็นเด็กภูธรต่างจังหวัดนะครับ แล้ว ‘ภาพตัวแทน’ ของการเป็นเด็กต่างจังหวัดนั้น ก็คือการที่ใครๆ ก็คิดว่าเด็กภูธรต่างจังหวัดจะต้องซื่อใส สะอาดบริสุทธิ์ จริงใจ น่ารัก หยอกล้อกัน เหมือนที่น้องๆ เป็นนี่แหละครับ แม้ว่า ‘ภาพตัวแทน’ ที่ว่า จะมีลักษณะเป็นมายาคติอยู่บ้าง แต่ก็กล้อมแกล้มเอาเป็นว่า แม้ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่การได้เห็นน้องทั้งสองในจอโทรทัศน์ ก็ทำให้พี่นึกย้อนกลับไปถึง ‘ภาพตัวแทน’ ของโลกวัยเยาว์ของตัวเองได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งเป็นเรื่องดี
แต่ที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่ความใสซื่อน่ารักเท่านั้นหรอกนะครับ ที่ทำให้พี่นึกถึงภาพตัวแทนของตัวเองสมัยอยู่ในชนบท อีกเรื่องหนึ่งที่น้องๆ ทำให้พี่นึกย้อนกลับไปถึงตัวเองสมัยนั้น ก็คือการที่น้องๆ เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับการเมืองเอาไว้
น้องออตโต้บอกไว้ในเฟซบุ๊ก Polhan Songsak ว่า
“ผมได้รับมอบหมายหน้าที่ตรงนี้และเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ผมทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการของผมอย่างเต็มที่และดีที่สุดตามหน้าทีที่ ผมได้รับมา เพื่อนพี่น้องญาติ ผมรู้ดีว่า ผมไม่ยุ่งเรื่องการเมืองดังนั้น แซวได้ ล้อได้ แต่อย่าเอาผมไปยุ่งเรื่องการเมืองเป็นพอ ผมเป็นคนตลก สนุก หยอกล้อได้ แต่ผมไม่มีส่วนข้องเกี่ยวกับการเมือง เพราะตอนนี้มีหลายรายการ ให้ผมไปสัมภาษ ผมบอกไปว่าไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะผมไม่รู้ และไม่อยากรู้ ถ้าเอาผมไปคุยประเด็นสนุกสนาน หยอกล้อ เล่นเกมส์ ได้หมด (ตัวสะกดตามต้นทางนะครับ)
ส่วนน้องหมิวบอกว่า
“ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่และทีมงานทุกท่านนะคะที่มองเห็นอะไรบางอย่างในตัวหมิว สำหรับการเลือก หมิว รับหน้าที่เป็นพิธีกร เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลให้ระหว่างช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานได้เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้นนั้น หมิวเองก็มองว่าเป็นอะไรที่ท้าทายและได้พัฒนาความสามารถไปอีกขั้นค่ะ สำหรับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่รู้จักหมิวจะพอทราบว่าหมิวไม่ขอยุ่งเกี่ยวในเรื่องของการเมืองนะคะ และขอโทษสำหรับข้อผิดพลาดทุกอย่างค่ะ สุดท้ายนี้ขอบคุณทุกคนสำหรับกำลังใจและคำติชมค่ะ”
ได้อ่านที่น้องๆ บอกว่าตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแล้วก็ชื่นใจเอามากๆ นะครับ เพราะยิ่งทำให้นึกย้อนกลับไปถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กภูธรเข้าไปใหญ่ สมัยนั้น บอกตรงๆ ว่า บ้านเมืองมีลักษณะ ‘รวมศูนย์’ (Centralized) ทางอำนาจอย่างยิ่งยวด การที่ใครเป็นเด็กภูธร คือมีถิ่นที่อยู่หรือพื้นเพต่างจังหวัด มักจะมีลักษณะบ่งชี้ชัดเจนถึง ‘ความภูธร’ เช่นถูกมองว่าเร่อร่า ไม่ทันสมัย เป็นเด็กบ้านนอก ซึ่งเอาเข้าจริงก็ช่วยไม่ได้หรอกนะครับที่เป็นอย่างนั้น เพราะการติดต่อสื่อสารอะไรต่างๆ มันไม่ได้รวดเร็วปรู๊ดปร๊าดเหมือนสมัยนี้ มีอะไรในกรุงเทพฯ กว่าจะไปถึงต่างจังหวัดได้ ก็ต้องใช้เวลานานแสนนาน ไม่ใช่แค่เรื่องบริโภคนิยมอย่างไก่ทอด เบอร์เกอร์ หรือไอติมแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศเท่านั้นนะครับน้องๆ แต่กระทั่งเรื่อง ‘อำนาจทางการเมือง’ ก็เป็นแบบนั้นด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กภูธรสมัยก่อนนั้นมีลักษณะ ‘ไกลปืนเที่ยง’ เอามากๆ นั่นแหละครับ
แต่เอ๊ะ! พอคิดไปคิดมา แม้น้องๆ จะทำให้พี่นึกถึงตัวเองสมัยก่อนโน้น แต่น้องๆ ไม่ได้อยู่ ‘ไกลปืนเที่ยง’ นี่นา เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าคิดแบบโบราณๆ หน่อย รายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย’ นี่น่ะ แท้จริงแล้วมันคือ ‘ปืนเที่ยง’ เลยนะครับ
น้องรู้จักปืนเที่ยงไหม ชื่อของปืนเที่ยงก็คือปืนที่ยิงตอนเที่ยง แต่ในสมัยโบราณไม่ได้มีนาฬิกาอะตอม จะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าเที่ยงแล้ว ในบทความนี้ของคุณกิเลน ประลองเชิง (ดูที่นี่ www.thairath.co.th) บอกว่าสมัยก่อนเขาใช้วิธีวัดเวลาเที่ยงกันตอนพระอาทิตย์ตรงหัว แต่หัวคนมันไม่ตรงกันทุกคน ดังนั้นหมุดหมายที่ใช้เพื่อยิงปืนเที่ยง จึงเป็นเงาแสงอาทิตย์ที่คล้อยไปตามพระปรางค์วัดอรุณ พอเงาเท่ียงตรงเป๊ะ ก็ชักธงส่งสัญญาณให้ทหารเรือกองเรือปืนกลที่ท่าราชวรดิษฐ์ยิงปืนเที่ยงที่เป็นลูกกระสุนปลอมทำด้วยไม้ จะเห็นว่า ทุกวันนี้การบอกเวลาก็ยังทำโดยกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรืออยู่ เพราะกองทัพเรือรับหน้าที่นี้มาตั้งแต่ต้น
‘ไกลปืนเที่ยง’ จึงหมายถึงอยู่ไกลจนไม่ได้ยินเสียงปืน เป็นคนบ้านนอก อย่างน้อยก็อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ จึงไม่ได้ยินเสียงเขายิงปืนเที่ยงกัน
สมัยพี่เป็นเด็กภูธรนี่ แน่นอนเลยนะครับว่าใช้สำนวนไกลปืนเที่ยงได้ แต่กับน้องๆ ที่น่ารักน่าเอ็นดูทั้งสองคนนี่สิครับ น้องไม่ได้ ‘ไกลปืนเที่ยง’ แน่ๆ แต่อยู่กับปืนเที่ยงเลยโดยตรงจนอาจจะพูดได้ว่าถ้าปืนเที่ยงเป็นปืนใหญ่ก็ขี่ปืนเที่ยงอยู่นั่นแหละ
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะรายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย’ (ไม่ว่าจะวัยไหน) ก็เห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าเป็นรายการของผู้ที่อ้างว่าตัวเองเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ คือมีตรา คสช. ปะอยู่มุมขวาบน แล้วถ้าเป็นรายการของ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ มันจะไม่ใช่รายการที่อยู่ตรงใจกลางของ ‘ปืนเที่ยง’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองได้จริงหรือ จะว่าไป – เรื่องนี้พี่ก็ยังงงๆ อยู่
แต่กระนั้น พี่ก็ยังแอบคิดว่า การที่น้องออกมาบอกว่าน้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนี่ ถ้าไม่ได้มีกุนซือช่างคิดที่ไหนมาคอยกระซิบข้างหูให้น้องต้องเขียนแบบนั้นออกมา ก็ถือว่าเป็นวิธีคิดที่ชาญฉลาดเอามากๆ นะครับ เพราะมันเป็น ‘รูปแบบ’ หรือ ‘แพทเทิร์น’ เก่าแก่ ที่ผู้ใหญ่หลายท่านเคยใช้มาก่อนหน้าน้องแล้ว
ตัวอย่างเช่น คุณประยุทธ์ ที่ถือได้เลยว่าเป็นเจ้านายของน้องแน่ๆ (เพราะนี่เป็นรายการของ คสช. แล้วคุณประยุทธ์ก็เป็นประธาน คสช.) ก็เคยออกมาบอกว่าคุณประยุทธ์ไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งมวลมหาประชาชนหลายคนก็เชื่อจริงจังแบบนั้นเสียด้วย เนื่องจากคุณประยุทธ์สู้อุตส่าห์บากบั่นทำงานหนัก รวมถึงแต่งเพลงเขียนกลอนต่างๆ นานา เอาไว้ให้เป็นมรดกประเทศ ดังนั้นแล้วคุณประยุทธ์จะเป็นนักการเมืองที่ถือกันว่าเป็นสิ่งมีชีวิตขี้ฉ้อตระบัดสัตย์ได้อย่างไรเล่า ด้วยเหตุนี้ การที่น้องๆ ออกมาพูดอะไรคล้ายๆ กับที่เจ้านายพูด จึงเป็นการดำเนินตาม ‘แพทเทิร์น’ ของผู้ใหญ่ ที่เรียกได้แบบไทยๆ (เอ๊ะ! หรือไทยนิยมนะ) ว่าเป็นการเดินตามผู้ใหญ่ หมาที่ไหนย่อมไม่กล้ากัดเป็นแน่แท้
แต่ต้องบอกน้องๆ ด้วยว่า แพทเทิร์นนี้ไม่ได้มีแค่คุณประยุทธ์เท่านั้นหรอกนะครับที่ใช้ แม้แต่ลุงกำนันก็เคยใช้ แถมเคยใช้มาก่อนคุณประยุทธ์อีก ลุงกำนันเคยบอกเอาไว้หลายรอบ รวมทั้งรอบล่าสุดก่อนหน้าจะเกิดพรรคการเมืองชื่อ ‘มวลมหาประชาชน’ ด้วย ว่าลุงกำนัน ‘ไม่คิดหันไปเล่นการเมืองอีก ไม่ร่วมรัฐบาลกับใคร ไม่เป็นนักการเมือง และไม่ลงสมัคร ส.ส. อย่างแน่นอน’ (ดูในข่าวนี้ได้นะครับ www.bbc.com) เพราะฉะนั้น ลุงกำนันกับคุณประยุทธ์จึงมีลักษณะร่วมที่สำคัญอย่างยิ่ง – นั่นต่างไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยกันทั้งคู่
ที่จริงแล้ว วิธีการอย่างที่พวกผู้ใหญ่ของน้องๆ เขา ‘ตีตัวออกห่าง’ จากการเมืองนี้ พวกฝรั่งตาน้ำข้าวเขาเรียกว่า Depoliticizing นะครับ คำนี้พจนานุกรมให้ความหมายเอาไว้ว่า to remove the political aspect from หรือ romove from political influence or control แปลว่าเป็นการกำจัดแง่มุมทางการเมือง หรืออิทธิพลทางการเมือง หรือการควบคุมทางการเมือง ออกไปจากอะไรบางอย่าง (ซึ่งในที่นี้ก็คือตัวเอง)
ที่จริงแล้ว พวกนักรัฐศาสตร์ฝรั่งเขาพูดถึงเรื่อง ‘การเมืองของการตีตัวออกห่างจากการเมือง’ (Politics of Depoliticisation) เอาไว้กันมากมาย แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศเดียวหรือยุคสมัยเดียวด้วยนะครับน้องๆ ตัวอย่างเช่น คุณปีเตอร์ เบิร์นแฮม (Peter Burnham) โปรเฟสเซอร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ ก็เคยเขียนถึงกระบวนการ Depoliticisation ในอังกฤษยุคเก้าศูนย์ ที่พรรคการเมืองสองฝั่งพยายามจะหลอมรวมกันเพื่อการริเริ่มทางเศรษฐกิจบางอย่าง โดยบอกว่า โอ๊ะ! นี่ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ แต่เรามาร่วมมือกัน ซึ่งคุณเบิร์นแฮมก็พยายามชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมันมี ‘การเมือง’ ซ่อนตัวอยู่ใต้ ‘การพยายามปฏิเสธจะเป็นการเมือง’ อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกระบวนการต่างๆ ที่ ‘หมกซ่อน’ (คุณเบิร์นแฮมใช้คำว่า cloaked) อยู่ใต้ภาษาที่สุดแสนจะนับรวม (Inclusive) มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นภาษาที่ให้กำลังใจคนอื่นแบบสวยๆ งามๆ ซึ่งก็ก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง (Contradiction) ใน ‘การเมืองของการตีตัวออกห่างจากการเมือง’ กันแบบย้อนแย้งสุดๆ เรื่องนี้พี่คงขยายความต่อไม่ได้ เพราะจะยืดยาวเกินเหตุ น้องลองไปอ่านบทย่อที่เป็นฉบับร่างดูนะครับ อ่านได้ที่นี่ web.warwick.ac.uk
ในจีนก็มีเหมือนกันนะครับ มีงานเขียนของ วิลเลียม เว่ย (William Wei) รีวิวงานชื่อ The Politics of Depoliticization in Republican China ของหวงเจียนลี (Huang Jianli) ซึ่งพูดถึงยุคนโยบายของพรรคก๊กมินตั๋งที่มีต่อนักเรียนนักศึกษา (ของไต้หวัน) นโยบายนี้เป็นแบบ Depoliticization นี่แหละครับ คือบอกว่านักเรียนนักศึกษาควรจะมีหน้าที่สร้างชาติ แต่แท้จริงแล้วมันคือนโยบายที่สุดแสนจะเป็นการเมือง (ไปดูได้ที่นี่ muse.jhu.edu) คือสร้างให้นักเรียนนักศึกษามีลักษณะที่เป็นการเมืองขึ้นมาอย่างเข้มข้น
ที่จริงแล้ว เรื่อง ‘การเมืองของการตีตัวออกห่างจากการเมือง’ นี่ยังมีอีกเยอะมากนะครับ แล้วก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะเลยทีเดียว ว่าการบอกว่า ‘ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ นั้น มัน ‘มีความเป็นการเมืองอย่างไร’ และการพูดกับการกระทำของคนเหล่านั้นขัดแย้งกันเองอย่างไร แต่น้องๆ คงเห็นด้วยกับพี่ ว่าพวกเราโชคดีไม่น้อย ที่ ‘แพทเทิร์น’ ของความคิดแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของคนชาติอื่นนั้น ไม่เหมือนกับแพทเทิร์นความคิดแบบไทยนิยมของผู้ใหญ่ไทยเลยแม้สักกระผีก เพราะพี่ก็เชื่อเหมือนน้องๆ นั่นแหละครับ ว่าผู้ใหญ่ของไทยล้วนแล้วแต่เป็นคนน่ารัก ปากตรงกับใจ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมไทยเสมอมา เด็กไทยที่น่ารักอย่างน้องๆ จึงควรเอาเยี่ยงอย่างผู้ใหญ่ไทยทั้งหลายเข้าไว้
ด้วยเหตุนี้ การที่น้องบอกว่าตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงถือเป็นความน่ารักอีกเรื่องหนึ่งของน้อง คือแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นไทย ความเคารพผู้ใหญ่ การไม่ข้ามหน้าข้ามตาผู้ใหญ่ รู้จักวิธีจัดการกับความขัดแย้งและปัญหา ขืนน้องออกมาบอกว่า น้องจะพูดเรื่องการเมือง น้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแน่ๆ น้องจะสนับสนุนพรรคการเมืองโน้นนั้นนี้ ย่อมสร้างเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้ใหญ่เปล่าๆ ปลี้ๆ ดังนั้นการออกมาปฏิเสธ ตัดไฟแต่ต้นลม บอกใครๆ ว่าน้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ลุ่มลึก ชาญฉลาด ทันการ รู้ทันสังคม และน่าเอ็นดูอย่างมาก
พี่จึงอยากเขียนจดหมายนี้มาบอกกับน้องๆ และเพื่อแสดงความยินดีกับรายการของน้องๆ ด้วย
พี่เอง
ป.ล. ปกติพี่ไม่ชอบเรียกใครเป็นพี่เป็นน้องนะครับ เพราะมันดูมีลำดับชั้นทางความสัมพันธ์ แต่พี่เลือกใช้กับน้องๆ เพราะความเอ็นดูจริงๆ ครับ