1
ตอนรู้ว่า จอห์น เลนนอน เคยตบตีผู้หญิงมาก่อน – สารภาพว่าผมแทบแหลกสลาย
เพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน เป็นเหมือนเพลงในอุดมคติของผม เพลงที่บอกให้เราจินตนาการว่า โลกจะน่าอยู่ฉิบหายขนาดไหน ถ้าไม่มีประเทศ ไม่มีพรมแดน ไม่มีศาสนา ไม่มีสวรรค์ และไม่มี ‘การครอบครอง’ (Possessions)
แต่คนเขียนเพลงนี้ คือตัวจอห์น เลนนอน เอง เคยเปิดเผยในการสัมภาษณ์กับนิตยสาร ‘เพลย์บอย’ ในปี 1980 ว่าเขาเคยโหดร้ายกับผู้หญิง ‘ในครอบครอง’ ของเขา (พูดง่ายๆ ก็คือ ‘เมีย’ นั่นแหละ) เขาสารภาพว่าเขาเคยเป็น a hitter คือเป็นคนที่ตบตีเมีย ซินเธีย – ภรรยาคนแรกของเขา ก็เคยเขียนหนังสือเล่าว่า เขาเคยตบหน้าเธอเพราะความหึงหวง นอกจากนี้ เขายังรุนแรงกับลูกชาย (คือจูเลียน เลนนอน) จนพอล แม็คคาร์ทนีย์ ต้องเข้ามาช่วยปกป้องดูแล (และถึงขั้นเขียนเพลง Hey, Jude ปลอบใจ)
แต่จอห์น เลนนอน เป็นพวกเสรีนิยมนี่นา เป็นลิเบอรัล เป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพและความเสมอภาคไม่ใช่หรือ ทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ไปได้?
จอห์น เลนนอน บอกว่า เขาเป็นอย่างนั้นเฉพาะในตอนหนุ่มๆ เท่านั้น และการที่เขาเป็นอย่างนั้น ทำให้เขากลายมาเป็นคนที่เชื่อในความรักและสันติภาพในภายหลัง
ผมไม่ได้ไม่เชื่อเขาหรอกนะครับ แต่การรู้เรื่องนี้ก็ทำให้ผมเลิกเชื่อแบบขาวจัดดำจัด – ว่าถ้าใครแลดูหัวก้าวหน้าหรือเป็นเสรีนิยม แปลว่าจะต้องก้าวหน้าหรือเสรีนิยมในทุกมิติ
เพราะเอาเข้าจริง – มิติที่ก้าวข้ามยากที่สุด, ก็คือมิติเรื่องเพศนี่แหละ!
2
นอกจากจอห์น เลนนอน ยังมีคนที่แลดูหัวก้าวหน้าหรือเป็นเสรีนิยมอีกหลายคนที่เคยทำร้ายผู้หญิง ตัวอย่างเช่น ชัค เบอรี (Chuck Berry) ที่เคยพรากผู้เยาว์สาววัยสิบสี่ปีไปมีเซ็กซ์ แถมยังถูกผู้หญิง 59 คน ฟ้องร้องข้อหาตั้งกล้องแอบถ่ายพวกเธอในห้องน้ำในร้านอาหารของตัวเอง แต่เมื่อเขาตาย ผู้ชายเสรีนิยมอย่างบรูซ สปริงสทีน และกระทั่งบารัค โอบามา ก็กลับเขียนและทวีตชื่นชมยกย่องเขา
คนแบบนี้ยังมีอีกมาก มีผู้รวบรวมรายชื่อนักดนตรีดังๆ ที่มีความก้าวหน้าทางดนตรี (อาจจะไม่ได้เป็นลิเบอรัลทั้งหมดนะครับ) แต่ล้าหลังทางความสัมพันธ์เอาไว้ในบทความนี้ (www.feministcurrent.com)
ในไทยก็ไม่น้อยหน้า แนะนำให้อ่านบทความของ Khaosodenglish สองบทความ คือบทความนี้ www.khaosodenglish.com กับบทความนี้ www.khaosodenglish.com/news ทั้งสองบทความพูดถึงนักเคลื่อนไหวไทยหลายคนที่มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกัน
หลายคนอาจจะบอกว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลหรือเปล่า เกี่ยวอะไรกับความเป็นเสรีนิยมด้วยหรือ ก็ต้องบอกคุณว่า ปรากฏการณ์ที่พวก ‘เสรีนิยม’ ชอบทำร้ายผู้หญิง หรือใช้ความรุนแรงกับคนในบ้าน (อย่างที่เรียกว่า Domestic Violence) นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะบุคคลนะครับ แต่วอชิงตันโพสต์ เคยรายงานการวิจัยที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเอาไว้ (ดูได้ที่นี่ www.washingtonpost.com)
งานวิจัยที่ว่าตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Social Science & Medicine ว่าด้วยเรื่องของ Nordic Paradox หรือ ‘ปฏิทรรศน์ของกลุ่มประเทศนอร์ดิก’ พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศในแถบนอร์ดิก (คือนอร์เวย์สวีเดนอะไรทำนองนั้น) แม้เป็นประเทศที่มี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ สูงที่สุดในโลก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็กลับมีอัตราการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ต่อผู้หญิงสูงที่สุดในโลกตามไปด้วย
เรื่องนี้น่าประหลาดใจมาก เพราะถ้าคิดโดยใช้สามัญสำนึกทั่วไป สังคมที่สมาทานความเท่าเทียมเสมอภาค เป็นประชาธิปไตย หรือว่าให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน มีสวัสดิการสังคมที่ดีเพราะเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ก็น่าจะเป็นสังคมที่ปลอดความรุนแรงเบื้องต้น – คือความรุนแรงในบ้านสิ
แต่ไม่เลยครับ – เรื่องกลับเป็นตรงข้าม!
ยิ่งถ้าย้อนกลับมาดูในพวกกลุ่ม ‘นักกิจกรรม’ (หรือ Activists) ทั้งหลายแหล่ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นเชิงสังคม ต่อสู้เพื่อคนยากจน ต่อต้านกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม (บลา บลา บลา…) เราจะยิ่งพบว่า เกิดเหตุการณ์ประเภททำร้าย ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ เหยียดเพศ ทั้งต่อคนที่เป็นผู้หญิง และคนที่เป็นเพศอื่นๆ (ถ้าใช้ศัพท์แสงหน่อยก็ต้องบอกว่าคนที่เป็น non-binary) มากมาย
ในบทความนี้ (www.opendemocracy.net) ผู้เขียนคือ จูเลีย โดว์เนส (Julia Downes) ได้สัมภาษณ์ ‘เหยื่อ’ ที่รอดจากการล่วงละเมิดทางเพศ นำมาเป็นข้อมูลในการสร้างชุมชนนักเคลื่อนไหว (Activist Communities) ที่ปลอดพ้นหรือท้าทายนักเคลื่อนไหวที่ตกอยู่ใต้อุดมการณ์รักต่างเพศนิยม (หรือ Heterosixism) เพื่อนำมาเป็นข้อมูลให้กับโครงการชื่อ Salvage Research Project
หลังรวบรวมบทสัมภาษณ์ทั้งหมดแล้ว เธอบอกว่าพบเนื้อหาหลัก (Key Messages) จากเหยื่ออยู่หลายอย่าง เช่น
1. ผู้หญิงหรือคนเพศอื่นๆ (ทั้ง non-binary และ transgender) ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศของผู้ชายนั้นมีเยอะมาก :
คนเหล่านี้น่าสนใจนะครับ เพราะเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ฯลฯ ก็เพราะตัวเองเคยมีบาดแผล เคยเป็นผู้ถูกกระทำ (ท้ัง abuse และ oppress) มาก่อนในอดีต ทั้งจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง ทำให้เข้าใจประเด็นเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้ง และมองว่า การต่อสู้ทางการเมืองก็คือการต่อสู้ส่วนตัวด้วย
แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนเหล่านี้ไม่ค่อยได้ ‘ออกหน้า’ หรือเป็น ‘หน้าตา’ ของขบวนการต่อสู้เท่าไหร่ คนที่อยู่ข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่มีคุณสมบัติแบบ Mansplainer หรือเป็นนักอธิบายที่ ‘รู้ทุกอย่าง’ เกี่ยวกับการต่อสู้ คนในกลุ่ม (รวมทั้งผู้หญิงและคนเพศอื่นๆ) มักคิดว่าการให้ผู้ชายเป็น ‘หน้าตา’ ของขบวนการต่อสู้นั้นดีกว่าให้ผู้หญิงหรือคนข้ามเพศเป็น คนอื่นๆ จึงเป็นเพียงกลไกหรือฟันเฟืองขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังเท่านั้น
2. เหยื่อไม่เคยคาดหวังเลยว่าจะเกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น : คนที่เข้าร่วมขบวนการเหล่านี้ คิดว่าการเคลื่อนไหวคือขวนการแห่งอุดมคติ เป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาค การมีส่วนร่วม และความไว้วางใจ ดังนั้น เมื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ จึงทุ่มเทกันสุดหัวใจ
‘โวหาร’ เรื่องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย ฯลฯ ที่ถูกนำมาใช้นำขบวน ทำให้คนในขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมากคิดว่าขบวนการของตัวเองไม่มีลำดับชั้นทางสังคม (Non-Hierachical) เป็นชุมชนที่ ‘นับรวม’ (Inclusive) และทำงานเสมอภาคเคียงบ่าเคียงไหล่กัน เสียงของทุกคนดังเท่ากันและ ‘ถูกได้ยิน’ เหมือนๆ กัน
แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียง ‘ภาพฝัน’ เท่านั้นเอง
3. เหยื่ออาจถูกกระทำได้หลายรูปแบบ : ในความเป็นจริงที่ไม่ใช่ภาพฝัน ‘เสียง’ ของผู้หญิงในขบวนการต่อสู้ทางสังคมจำนวนมากเป็นเสียงที่เบาอย่างเหลือเกิน อย่างเบาะๆ ผู้หญิงอาจถูกเพิกเฉย ออกความเห็นอะไรก็ไม่ได้รับความสนใจ ไม่เหมือน ‘พวกผู้ชายด้วยกัน’ ที่มีแนวโน้มจะเข้าใจกันได้มากกว่าเพราะมีกรอบคิดแบบเดียวกัน แต่ถ้าเลวร้ายขึ้นไปอีก ก็คืออาจถูกเพิกเฉยแบบไร้ตัวตนไปเลย (ถ้าพยายามแสดงความเห็นมากๆ) หรือถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการล่วงละเมิดทางเพศด้วย
4. เหยื่อจำนวนมากไม่ปริปากพูด : ผู้นำขบวนการทางสังคมจำนวนมากถูกมองว่าเป็นคนดี เป็นนักต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดังนั้น การปริปากพูดว่าถูกคนที่ดูดีงามแบบนี้ทำร้ายในรูปแบบต่างๆ จึงไม่เกิดผลดีต่อเหยื่อหรือผู้เสียหาย เพราะภาพลักษณ์ของผู้นำที่กำลังต้องต่อสู้กับอำนาจใหญ่ๆ อย่างอำนาจรัฐหรืออำนาจเผด็จการ ไม่น่าจะทำให้คนอื่นเชื่อเหยื่อได้ อีกทั้งตัวเหยื่อเองก็อยู่ร่วมในขบวนการนี้ด้วย จึงมักมองว่าความเสียหายที่เกิดกับตัวเองเป็นเรื่องเล็กกว่าการยอมทนเพื่ออุดมการณ์
เพราะการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเอง คือการต่อสู้กับ ‘อำนาจ’ ขนาดใหญ่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ผลลัพธ์จึงอาจกลายเป็นว่าตัวเองต้องตัดขาดหรือถูกตัดขาดจากขบวนการต่อสู้นั้น ดังนั้น แม้โดยส่วนตัวจะเสียหายเจ็บปวดแค่ไหน ก็ยอมทนต่อไปไม่ปริปาก ยอมร่วมต่อสู้กับคนที่ล่วงละเมิดตัวเองต่อไปเพื่อผลลัพธ์ที่ใหญ่หลวงกว่า
คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้ก็คือ ทั้ง Nordic Paradox และเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด มันแสดงให้เห็นว่าพวก ‘ลิเบอรัล’ เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าพวกอนุรักษ์นิยมกระนั้นหรือ?
แครี ลูคัส (Carrie Lukas) เคยเขียนเอาไว้ในบทความชื่อ The Bill Clinton Effect: Why Liberals Treat Women Worse (acculturated.com) เพื่ออธิบายว่า ทำไมพวกเสรีนิยมถึงปฏิบัติกับผู้หญิงแย่กว่าพวกอนุรักษ์นิยม
เธอยกตัวอย่างการล่วงละเมิดทางเพศในหมู่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวลิเบอรัลชายไว้หลายกรณี (เธอใช้คำว่า Enlighened Liberals คือเป็นพวกเสรีนิยมที่น่าจะ ‘เรืองปัญญา’ ด้วยซ้ำ) เช่นผู้บริหารองค์กรทางสังคมชายหลายต่อหลายองค์กร ได้ส่งข้อความถึงผู้หญิงที่อยู่ใต้บังคับบัญชาตัวเอง เพื่อขอดูภาพโป๊เปลือยของพวกเธอ หรือล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบต่างๆ
แครีบอกว่า ที่พวกลิเบอรัลเหล่านี้ ‘กล้า’ ทำอะไรที่อุบาทว์ๆ พวกนี้ได้ เหตุผลหนึ่งมาจาก Bill Clinton Effect
ไม่ต้องสงสัย, บิล คลินตัน ย่อมไม่ใช่อนุรักษ์นิยม (แต่จะเป็นเสรีนิยมดีกรีไหนก็เถียงกันได้) แครีบอกว่า บิล คลินตัน สนับสนุนสิทธิในการทำแท้งและหลักการเฟมินิสต์อื่นๆ อีกหลายอย่าง นั่นทำให้องค์กรนักต่อสู้เพื่อผู้หญิงจำนวนมากเห็นว่าเขาเป็น Lesser Evil เพราะเรื่องที่เขาทำเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลต่อนโยบายสาธารณะ หลายองค์กรจึงไม่ได้ ‘บดขยี้’ เขาอย่างเต็มที่
เขาจึงเป็นตัวอย่างของผู้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในที่ทำงาน ซึ่งก็คือการนอกใจภรรยา แต่สามารถ ‘รอดตัว’ ไปจากการลงโทษได้ จึงเป็นคล้ายสัญญาณส่งไปหาเหล่าลิเบอรัลผู้บริหารชายทั้งหลายว่า พวกเขาก็น่าจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้เหมือนกัน
ในอีกบทความหนึ่ง (acculturated.com/liberal-secular-countries) มาร์ค จัดจ์ (Mark Judge) (ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าเขาคอนเซอร์เวทีฟหรือลิเบอรัลอย่างไร) ก็พยายามอธิบายด้วยเหมือนกันว่าทำไมพวกเสรีนิยมถึงนิยมใช้ความรุนแรงในบ้านมากกว่าพวกอนุรักษ์นิยม
เขาบอกว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือเรื่องศาสนา
มาร์คบอกว่า ประเทศอย่างเดนมาร์คและสวีเดนที่มีอัตราการใช้ความรุนแรงในบ้านสูงนั้น จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่คนนับถือศาสนาน้อยที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศอย่างโปแลนด์ที่คนยังนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากอยู่ แม้จะมีคะแนนความเท่าเทียมหรือความเป็นประชาธิปไตยต่ำกว่า แต่กลับมีอัตราการใช้ความรุนแรงในบ้านต่ำกว่า ดังนั้น ศาสนาหรือ ‘จริยธรรม’ แบบพื้นๆ นี่แหละ ที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญ
เขายกงานวิจัยเก่าในปี 2006 ขึ้นมาประกอบ งานวิจัยนี้เป็นของแพทริก ฟาแกน (Patrick Fagan) ซึ่งบอกว่าถ้าดูความสัมพันธ์ระหว่างความเคร่งศาสนากับความรุนแรงในครอบครัว พบว่าคนที่ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ จะใช้ความรุนแรงในครอบครัวน้อยกว่าคนที่ไปโบสถ์ปีละครั้งถึง 50%
แน่นอน – โดยเฉลี่ยแล้ว คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมย่อมเคร่งศาสนามากกว่าเสรีนิยม ดังนั้นโดยทั่วๆ ไป อนุรักษ์นิยมจึงมีแนวโน้มทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงน้อยกว่าเสรีนิยม
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง – ก็นับเป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าเศร้า
3
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมคิดว่าปัญหาของเหล่าเสรีนิยมที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมหรือประชาธิปไตยนั้น ส่วนใหญ่ข้ามประเด็นเรื่องเพศไม่ค่อยพ้น ทั้งนี้ก็เพราะคนที่เป็นผู้นำขบวนการต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ตั้งแต่ยุคตุลาคม พฤษภาคม จนกระทั่งถึงนักต่อสู้ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กยุคนี้ด้วย
นักต่อสู้เหล่านี้ จำนวนมากยังถูกขังอยู่ในดินแดน เช เกวารา ผู้เป็นต้นแบบแสนแมน เป็นผู้นำชูกำปั้นอยู่บนเวที แลดูหล่อเหลากำยำแข็งแกร่ง และมีโนวโน้มจะเห็น ‘ผู้หญิง’ เป็นเพียง ‘เครื่องประดับ’ ของพวกเขา และผู้หญิงจำนวนมากก็สยบยอมสมาทานให้กับความเป็น ‘นักต่อสู้’ ผู้ยิ่งใหญ่ที่ยืนหยัดสู้กับเผด็จการด้วย ดังนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงคนเพศอื่นๆ ที่เลยพ้นไปจากชายและหญิงตามกรอบคิด Heterocentric ที่กักขังพวกเขาเอาไว้ในโลกแบบเก่า
เท่าที่เห็น ผมคิดว่าในสังคมไทย ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือเพื่อสังคม มักไม่ค่อยหลอมรวมลงรอยกับขบวนการต่อสู้ทางเพศสักเท่าไหร่ เป็นไปได้ ที่การใช้คำว่า ‘นักต่อสู้’ จะเป็นใจกลางของมายาคติเรื่อง ‘นักรบ’ (ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และนำทางขบวนการด้วยท่าทีกร้าวแกร่ง) มายาคตินี้จึง ‘ครอบ’ ขบวนการต่อสู้ต่างๆ เหล่านี้เสียจนไม่อาจหลุดพ้นไปจากกรอบที่ล้าหลังที่สุด – คือกรอบเรื่องเพศ, จึงเกิดภาพแสนแอบเสิร์ดในสังคมย้อนแย้งแห่งนี้ เมื่อหลายคนที่ยังอาศัยอยู่ในกรอบที่ล้าหลังที่สุด กลับได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้หัวก้าวหน้า – ผู้พยายามต่อสู้เพื่อนำสังคมออกไปจากกรอบที่ล้าหลังอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หลังแหลกสลายไปกับ จอห์น เลนนอน เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว – ผมก็ไม่เหลือความสามารถที่จะแหลกสลายหรือประหลาดใจไปกับพฤติกรรมเหล่านี้ได้อีก
บางคนเรียกปรากฏการณ์ทำนองนี้ว่า Liberal Hypocrisy หรือ ‘อาการเสรีนิยมมือถือสากปากถือศีล’ นั่นคือปากประกาศ ‘ศีล’ แห่งความเสมอภาคเท่าเทียมและความเคารพซึ่งกันและกัน แต่มือกลับกำ ‘สาก’ ในฐานะสัญลักษณ์ของเครื่องเพศยุคโบราณเอาไว้แน่น เพราะคิดว่าสิ่งนี้มีสิทธิอำนาจสูงส่งเหนือคนเพศอื่น ตามคติชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำโลกมานับพันๆ ปี
ข่าวคราวทำนองนี้ที่โผล่พ้นเรดาร์ออกมาได้บ้าง จึงมัก ‘ถูกทำให้เงียบหาย’ ไปเหมือนริ้วกระเพื่อมเล็กๆ ในบ่อน้ำเน่าเหม็นที่ผู้ปรารถนาจะกวาดเก็บกลับทิ้งขยะปฏิกูลใส่ลงไปในนั้นเสียเอง
เสียใจด้วยนะครับ ที่จะต้องบอกว่า – เราไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงไปได้หรอก, ถ้าไม่รู้จักเป็นประชาธิปไตยทางเพศด้วย