“Life is Short” “No it’s not. It’s Pretty Long.”
200 ปีที่ผ่านมา มนุษย์มีแนวโน้มที่จะอายุขัยยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ แล้วไงต่อ? ก็แค่มีวัยเกษียณที่ยืนยาวขึ้น มีคนแก่มากมายล้นโลก เท่านั้นหรือ?
เกณฑ์การจำแนกวัยอันไม่เที่ยง เปลี่ยนตามอายุขัย
มนุษย์เรามีแนวโน้มทางสถิติที่จะอายุยืนกว่ารุ่นพ่อแม่ของเราประมาณ 10 ปี (หากไม่มีเหตุคาดไม่ถึงเช่น สงครามโลก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือโรคระบาดร้ายแรงที่ควบคุมไม่ได้ ซอมบี้บุก ฯลฯ) และเด็กทารกที่เกิดในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะอายุยืนกว่าเราไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้ว่าอายุขัยเฉลี่ยจะหยุดที่เท่าไหร่ ในปี 2020 เกาหลีจะกลายเป็นประเทศมีอายุขัยยืนยาวที่สุดแซงประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศส (ในทั่วโลก ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย เพราะมักมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการตายน้อยกว่า และสูบบุหรี่น้อยกว่า) แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาก็มีอายุขัยไต่ขึ้นตามกันมาเรื่อยๆ ทั่วโลก
ในปี 1900 อายุขัยอาจสั้นเพียงราวๆ 50 ปี ไม่มีกลุ่มประชากร ‘วัยรุ่น’ ด้วยซํ้าเพราะจากวัยเด็กก็เข้าสู่วัยทำงานเลย วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในสังคม เกิดเป็นประชากรกลุ่มใหม่ที่ถูกบรรจุเพิ่มเข้ามาจากอายุขัยที่มากขึ้น
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ The Lancet Child & Adolescent Health Journal ได้เสนอให้ขยายช่วงชีวิตวัยรุ่นให้ยาวนานขึ้น เป็นช่วงอายุ 10-24 ปี (จากเดิม 11-19 ปี) เพราะคนหนุ่มสาวสมัยใหม่เรียนนานขึ้น มีวัยแต่งงานและวัยมีบุตรล่าช้าลง (วัยแต่งงานในอังกฤษล่าช้าไป 7 ปีเทียบกับปี 1973) จึงทำให้การโตเป็นผู้ใหญ่เกิดขึ้นช้ากว่าคนในยุคก่อน
ผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนอาจมองว่าวัยรุ่นสมัยนี้ช่างโตช้า ลังเล เปลี่ยนใจง่าย ขาด commitment ไม่มีความรับผิดชอบ แต่นั่นอาจเป็นเพราะพวกเรามีเวลาในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเลือกและลองเยอะขึ้น หากต้องมีอายุเกิน 80-90 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องรีบและยอมจำทนทำงานไปอีก 50 ปีกับอาชีพที่ไม่ชอบ ชีวิตยังมีเวลาให้เสาะหาตัวเลือกที่เหมาะสมและพอใจ
อายุขัยที่ยาวนานขึ้นเป็นเพราะเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุขอันก้าวหน้า ยาปฏิชีวนะทำให้เราไม่ตายด้วยการติดเชื้ออีกแล้ว และมีการควบคุมโรคระบาดที่ดี ทำให้ทารกและเด็กตายน้อยลง นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าในสหรัฐอเมริกา คนตายด้วยมะเร็งลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง รวม 26% ตั้งแต่ปี 1991 – 2015 ไม่ใช่เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองแต่เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า นอกจากนี้ในอนาคตที่กำลังจะมาถึงก็ยังมีเทคโนโลยี ที่ะช่วยเพิ่มอายุขัย ให้เราได้ติดตามกันอีก เช่น การตัดต่อพันธุกรรมเพื่อรักษาโรค CRISP การตรวจดีเอ็นเอหาโรคเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ ฯลฯ Google มีโปรเจ็กต์ Calico อันทะเยอทะยานที่มีเป้าหมายอยากรักษาความตาย (ซึ่งดูเป็นขั้นถัดๆ ไปอีก)

ภาพจาก : ourworldindata.org สามารถกดเลือกประเทศที่อยากดูสถิติเองได้
วัยชราไม่ใช่แค่วัยกลางคนเวอร์ชั่นที่เศร้ากว่า
โลกเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเพื่อตอบรับผู้สูงอายุในระลอกแรก MIT Agelab จึงก่อเกิดขึ้นมาในปี 1999 เพื่อศึกษาทำความเข้าใจผู้สูงอายุกลุ่มใหม่ในวัย Baby Boomer ที่มีจิตใจและชีวิตไม่เหมือนคนรุ่นก่อนหน้า โดยมีโจทย์สำคัญในการหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหา รวมถึงมอบประสบการณ์ในบั้นปลายชีวิตให้กับคนแก่กลุ่มใหม่ในรุ่น Baby Boomer นี้
“ชีวิตบั้นปลายนั้นมีอะไรมากกว่าแค่ช่วงชีวิตวัยกลางคนในเวอร์ชั่นที่น่าเศร้ากว่า” – Joseph F. Coughlin Director แห่ง MIT Agelab ผู้เขียนหนังสือ The Longevity Economy เพื่อให้คนเข้าใจสภาพเศรษฐกิจใหม่และโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากอายุที่ยืนขึ้น
สำหรับคนหนุ่มสาวแล้วคนแก่อาจดูเหมือนๆ กันหมด แต่เมื่อเราลองนึกถึงคุณยายที่เพิ่งเสียชีวิตไป ท่านไม่รู้จักการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่มี Facebook และไม่ถนัดแม้กระทั่งใช้โทรศัพท์มือถือ ความบันเทิงขึ้นอยู่กับทีวี หนังสือ งานอดิเรก และการทำกับข้าวเท่านั้น จนกระทั่งท่านเป็นอัลไซเมอร์และทำอะไรไม่ได้มากนอกจากดูทีวี ท่านยกเลิกทุกกิจกรรมซับซ้อนที่เคยทำได้ ในขณะที่คนรุ่นแม่สามารถเล่นไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว ติดต่อกับเพื่อนในทุกวัยของชีวิตได้สะดวก สั่งของผ่านเน็ตมี Kerry Express มาส่งทุกสัปดาห์ พ่อก็เพิ่งฝึกใช้ Google Map ขณะขับรถไม่ให้หลงทาง คนแก่ในยุคแม่ย่อมถนัดคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากขึ้น มีชีวิตวัยชราที่มีพฤติกรรมและความต้องการแตกต่างไป ในเมื่อผู้ใช้แต่ละยุคมีจิตใจที่ต่างกัน เราจะหวังให้คนแก่ทุกยุคทุกสมัยใช้ของแบบเดียวกันได้อย่างไร นี่เป็นส่วนที่นวัตกรรมและการวิจัยจะเข้ามาหาคำตอบเพื่อสร้างบริการและผลิตภัณธ์ที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่ AgeLab ได้ทำร่วมกับ Monotype สร้างชุดอักษรที่เหมาะสมเพื่อดูจอ navigation ด้วยการชำเลืองมองแล้วได้ข้อมูลชัดเจนที่สุดโดยไม่ต้องเพ่ง และไม่รู้สึกแก่เพราะมองไม่เห็น ซึ่งเรื่องนี้ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้
ผู้สูงอายุระลอกใหม่คือตลาดกลุ่มใหม่ที่โลกยังไม่คุ้นเคย หากธุรกิจและวงการโฆษณายังเห็นภาพคนแก่เป็นภาพจำ Stereotype แบบเดิมๆ ทำโฆษณาและสินค้าแบบเดิมๆ ผู้สูงอายุในอนาคตย่อมรู้สึกขาดสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่มีโฆษณาหรือแคมเปญใดที่สื่อสารกับเขาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ จึงเกิดหน่วยงานวิจัยหา Insight ที่ไม่เพียงทำตาม Myth และ Stereotype ที่เชื่อๆ ตามกันมาว่าผู้สูงอายุต้องการ
ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว เราเรียนสาขาวิชาออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) เมื่อมีเลกเชอร์เกี่ยวกับออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ จำได้ว่ารู้สึกง่วงนอนเบื่อหน่ายมาก ช่างไม่ตื่นเต้น ไม่ซู่ซ่า เหมือนการออกแบบบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อวัยรุ่นคนหนุ่มสาวอันสนุกสนาน การออกแบบเพื่อคนชราเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ตอนนั้นผู้เขียนยังเด็กมากจึงขาดความเข้าใจและ empathy จนไปตัดสินและ stereotype ผู้สูงอายุว่าเป็นกลุ่มคนที่แบนและน่าเบื่อ ลืมคิดไปว่าคนแก่ก็มีความต้องการทางจิตใจและร่างกายอันเฉพาะ รวมถึงยังมีช่องว่างของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งที่เป็นช่วงเวลาอันยาวนาน ผู้สูงอายุไม่ควรถูกเหมารวมเป็นกลุ่มก้อนคนแก่ที่รอวันตายอย่างไร้ความหมาย หมดความสามารถ ศักดิ์ศรี และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
นักปรัชญาในศตวรรษที่ 17 Thomas Hobbes เคยกล่าวไว้ว่า ‘ชีวิตมันช่าง ห่วย โหดร้าย และแสนสั้น’ ‘nasty, brutish and short’ แต่จะมีอะไรแย่ไปกว่า ‘ชีวิตที่ห่วย โหดร้าย และยาวนาน’
เราสมควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีตัวเลือก และมีความหมายจนกว่าจะตาย
ผลของอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงการออกแบบวัยชราใหม่เท่านั้น
อายุขัยที่ยืนยาวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความแก่เสมอไป ยังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในโมเดลการใช้ชีวิตทั้งด้านการศึกษา การงาน และครอบครัว เพราะมีเวลามากขึ้น เกิด norm ใหม่ๆ ให้เราต้องคิดคำนวณชีวิตใหม่ทั้งหมด มหาวิทยาลัย Stanford จึงตั้ง Stanford Center On Longevity ที่ไม่ได้ศึกษาแค่คนแก่เท่านั้นแต่ยังศึกษาความเป็นไปได้ในชีวิตคนที่อาจเกิดขึ้นจากอายุขัยที่เพิ่มมา
หากเรามีอายุขัยยาวนานถึง 100 ปี ทุกปีที่ผ่านไปในชีวิตคือ 1 % ที่ค่อยๆ เคลื่อนไหว (แม้ในปี 2015 ประเทศไทยจะมีอายุขัยอยู่ที่ 74.60 ปีก็ตาม แต่อายุขัยมีแนวโน้มจะเพิ่ม 2-3 ปี ในทุกๆ 10 ปี)
Andrew Scott นักเศรษฐศาตร์ผู้ร่วมเขียนหนังสือ The 100-Year Life: Living and Working in an Age of Longevity ได้ให้โจทย์ในชั้นเรียน MBA ที่ London School Of Economics ว่า
“ถ้าคุณมีชีวิต 100 ปี เก็บเงินประมาณ 10% ของรายได้ เกษียณโดยอยู่ได้ด้วยเงิน 50% ของเงินเดือนสุดท้าย คุณต้องทำงานถึงอายุเท่าไหร่”
คำตอบคืออายุ 80 ปี
……
คำตอบทำให้ทั้งชั้นเรียนเงียบสนิท อนิจจา นี่เราต้องทำงานถึงอายุ 70 – 80 ปี เพื่อจะมีวัยเกษียณที่มั่นคงเหรอ ไหนจะเงินเฟ้อและอุปสรรคนานา ผลพลอยได้จากอายุขัยอันยาวนาน นอกจากทำให้เรามีวัยรุ่นที่ยาวนานขึ้น ยังอาจทำให้เรามีวัยทำงานที่นานขึ้นไปด้วย
นอกจากลงทุนด้านการเงินเพื่อชีวิตอันยืนยาวแล้วก็ยังไม่พอ เราต้องเตรียมตัวด้านสุขภาพ และสิ่งที่สำคัญกว่าคือการลงทุนในความสัมพันธ์ ..
โครงการวิจัยยาวนาน 75 ปี ของ Harvard ด้าน Adult Development Study เริ่มต้นในปี 1938 กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษามหาวิทยาลัย Havard ชั้นปีที่ 2 เพศชาย จำนวน 268 คน (หนึ่งในนั้นคือ John F. Kennedy) พวกเขาเหล่านี้ผ่านการไปรบในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 และผ่านยุคสมัยต่างๆ มาแล้วมากมาย ทางโครงการเก็บข้อมูลชีวิตทุกๆ 2 ปี ของพวกเขามาเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เหลือเพียง 19 คนเท่านั้นที่ผ่านสู่วัย 90 กว่าๆ ตามอายุขัย และยังศึกษาต่อไปถึงรุ่นลูกที่ปัจจุบันอายุ 50-60 ปี (จำนวน 1,300 คน) โดยมีตัวแปรควบคุมเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นฐานะยากจนใน Boston
ผลสรุปจากการศึกษาในรุ่นแรก พบว่าตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนอายุยืนและมีความสุขในบั้นปลาย ไม่ใช่ฐานะ ชื่อเสียง ความสำเร็จ IQ หรือสถานะทางสังคมแต่คือ ‘คุณภาพของความสัมพันธ์’ อาจฟังดูเลี่ยน แต่ความเหงาทำให้อายุสั้นได้พอๆ กับการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า คนที่พึงพอใจในความสัมพันธ์ช่วงอายุ 50 ปีมากที่สุดคือคนที่สุขภาพดีที่สุดตอนอายุ 80 ปี
ดังนั้น นอกจากจะลงทุนในตลาดหุ้น กองทุน หรือจะลองเล่น Cryptocurrency เราอาจต้องลงทุนในความสัมพันธ์และมิตรภาพบ้างเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า ความสัมพันธ์ที่ดีอาจไม่ใช่ความรักหรือการแต่งงาน แต่เป็นการสานสัมพันธ์กับชุมชน community และการมีมิตรภาพที่ดีก็ทำให้คุณภาพชีวิตดีได้เช่นกัน เราจะอยู่ 100 ปีไปทำไมหากมีสุขภาพแย่และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนไหน
ผลลัพธ์จากการมีอายุขัยเพิ่มคือชีวิตถูกแบ่งเป็นหลายขั้นตอน (Multi-stage) มากขึ้น นอกจากวัยรุ่นอันยาวนาน เรามีเวลาที่จะลงทุนในตัวเลือกแบบที่คนรุ่นก่อนไม่มี ไม่ต้องรีบตัดสินใจอีกต่อไป คนรุ่นพ่อแม่อาจแต่งงานเร็วเพราะมีอายุขัยอันจำกัด แต่คนหนุ่มสาวสมัยนี้อาจมีเวลาทดลองใช้วิถีชีวิตและลองทำงานที่หลากหลายก่อนจะลงหลักปักฐาน การติดกับงานที่ไม่ชอบเป็นเวลานานตลอดชีวิตที่ยาวขึ้นดูจะเป็นความทุกข์ทรมาน ความสุขและความสำเร็จจากการไต่บันได Corperate Ladder เกษียณออกมาแล้วได้นาฬิกาสีทองหรือนาฬิกาเรือนหลักล้านสัก 20 เรือนอาจไม่ได้ดึงดูดอีกต่อไป คนหนุ่มสาวต่างเสาะหาสิ่งที่รัก สิ่งที่ถนัด อยากทำสิ่งที่มีความหมาย และอาจผ่านการทำงาน 2-3 อาชีพตลอดชีวิต
ผลัดวันประกันพรุ่งบ้าง มีห้วงชีวิตที่หยุดเพื่อคิดพิจารณาทบทวนทางเลือกในชีวิตอย่างช้าๆ และอ้อยอิ่งบ้าง คงไม่เป็นบาปอันร้ายแรงต่อชีวิตเท่าไหร่ หากไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
แนวคิดแบบ YOLO (You Live Only Once) Seize The Day วันนี้แค่ครั้งเดียว ใช้วันนี้ให้คุ้มค่า ที่ถูกหยิบมาพรํ่าพูดกันอยู่ซํ้าซากบ่อยครั้ง อาจไม่สำคัญและไม่ใช่แรงขับเคลื่อนให้ต้องรีบใช้ชีวิตอีกต่อไป เพราะเรามีเวลาในชีวิตมากขึ้น
ทัศนคติที่เรามีต่อความตายส่งผลต่อการเลือกใชชีวิตของเรา คนที่คิดว่าชีวิตสั้นต้องรีบใช้ กับคนที่เชื่อในชีวิตยาว ย่อมมองเห็นชีวิตและเลือกหนทางที่ต่างกัน
วิธีคิดแบบชีวิตสั้น
- คิดว่าวันนี้สำคัญที่สุดแบบ YOLO (You Live Only Once), Live Fast Die Young. สนุกกับวันนี้จนเหมือนไม่มีพรุ่งนี้ (แม้แนวโน้มคือน่าจะมีวันพรุ่งนี้อีกเยอะด้วย)
- เมื่อชีวิตต้องรีบ จึงเลือกวิธีทางลัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เพื่อแสวงหา Instant Gratification
วิธีคิดแบบชีวิตยาว
- วางแผนชีวิตในระยะยาว
- รักษาสุขภาพ
- เรียนรู้ทักษะ Transferable skill ที่สามารถใช้ซํ้าได้ในอนาคตข้างหน้ายาวๆ เช่นการลำดับความสำคัญ การฟัง การสื่อสาร การวิเคราะห์
- เตรียมตัวรับหน้าที่อันเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงชีวิต
Andrew Scott กล่าวว่าสำหรับชีวิตที่ยาว 100 ปี เราจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลง (transition) อีกหลายครั้ง ทักษะชีวิตที่สำคัญคือสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ตลอดชีวิต มีความยืดหยุ่น และเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เสมอ เมื่อมีมนุษย์อายุยืนขึ้น ย่อมทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ การเป็นนักศึกษา, ลองทำอาชีพใหม่, นักประดิษฐ์, ผู้ประกอบการ, นักร้อง-นักแสดง, นักเขียน, ผู้กำกับ ตอนอายุ 70-80-90 ปี ก็อาจไม่ใช่วัยที่แก่เกินไป
ปี 1904 ซิกมุนด์ ฟรอยด์ในวัย 48 ปี ได้เคยพูดไว้ว่า “คนแก่นั้นไม่สามารถสอนได้อีกแล้ว…คนที่อายุใกล้เลข 50 ย่อมขาดความยืดหยุ่นทางจิตใจที่จำเป็นต่อการบำบัด” ฟังดูเศร้าและหมดหวังที่จะเยียวยา เวลาก็ดำเนินผ่านมา 100 กว่าปี คงไม่จำเป็นต้องเชื่อฟรอยด์อีกต่อไปแล้ว เพราะคนตายเปลี่ยนความคิดไม่ได้ แต่เรายังเปลี่ยนได้
ด้วยอายุขัยที่ยืนยาว คนหนุ่มสาวและคนแก่ไม่ควรถอดใจ เรายังยืดหยุ่น ขยับเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนใจได้จนกว่าจะตายนั่นแหละ
ไม่ต้องรีบ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- MIT Agelab
- Stanford Center of Longevity
- The 100-Year Life: Living and Working in an Age of Longevity
www.amazon.com/100-Year-Life-Living-Working-Longevity
- The Longevity Economy: Unlocking the World’s Fastest-Growing, Most Misunderstood Market
www.amazon.com/Longevity-Economy-Unlocking-Fastest-Growing-Misunderstood
- Good genes are nice, but joy is better
- ‘Adolescence now lasts from 10 to 24’
ourworldindata.org/life-expectancy
- Hans Rosling’s 200 Countries, 200 Years, 4 Minutes – The Joy of Stats – BBC Four
www.youtube.com/watch?v=jbkSRLYSojo
- What makes a good life? Lessons from the longest study on happiness | Robert Waldinger
www.youtube.com/watch?time_continue=1&v=8KkKuTCFvzI
- Monotype and MIT’s Clear-IP research lab shows typography’s true power—and how designers can more effectively wield it for the greater good
agelab.mit.edu/sites/default/files/Print_Summer%202017_Art%20of%20the%20Glance.pdf
- Cancer Deaths Continue a Steep Decline
- Google to Try to Solve Death, LOL