รัชกาลที่ 1 ทรงเคยมีพระราชดำริในทำนองที่ว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ (เอิ่มม แต่พระองค์ไม่เคยตรัสว่า มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินะครับ) คนไทยจึงไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับสุรา ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเลยที่พระองค์จะทรงมีพระราชดำริอย่างนี้ ในเมื่อศีลข้อที่ 5 ในศาสนาพุทธระบุไว้ชัดเจนว่า ‘สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐฺนา’ ซึ่งหมายความว่า ‘สุรา, เมรัย และมัชชะ เป็นที่ตั้งของความประมาท’
‘สุรา’ แปลว่า น้ำเมาที่ได้จากการกลั่น จะเหล้าโรง วิสกี้ บรั่นดี หรือเบอร์เบอน นี่นับเป็นสุราทั้งนั้น
‘เมรัย’ แปลว่า น้ำเมาที่ได้จากการหมักหรือแช่ จะเป็นไฮเนเก้น ลีโอ ช้าง สิงห์ อุ กระแช่ สาโท ทั้งหมดนี่ก็ถือเป็นเมรัย
ส่วน ‘มัชชะ’ (ที่ไม่ใช่มัทฉะ) นั้นหมายถึงน้ำเมาหรือของเมา อย่างเหมารวม อะไรที่เป็นสุราและเมรัยก็นับว่าเป็นมัชชะมันทั้งหมดนะครับ
ดังนั้นจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดไหน จะคราฟท์ หรือจะแมส รัชกาลที่ 1 ก็ทรงหมายรวมไว้ว่าคนไทยไม่ควรหมกมุ่นทั้งหมดนั่นแหละ
ปัญหาก็คือ รัชกาลที่ 1 ก็ทรงทราบดีว่า การต้มกลั่นสุรานั้นไม่ได้ใช้ไปแฮงค์เอาท์กันเพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งก็ทำเพื่อใช้เป็นเวชภัณฑ์คือ ‘ยา’ ด้วย ดังนั้นจะให้เลิกผลิตสุราเสียเลยก็จึงทำไม่ได้ พระองค์จึงทรงห้ามไม่ให้ประชาชนต้มกลั่นสุราอย่างเสรี แต่โปรดให้ตั้งโรงกลั่นขึ้นที่ตำบลบางยี่ขัน ที่ในสมัยเราก็ยังคุ้นกันในชื่อ สุราบางยี่ขัน นั่นแหละ
แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันนะครับว่า ถึงแม้เครื่องมึนเมาเหล่านี้จะถูกใช้เป็นทั้งยาได้ ตามอย่างที่รัชกาลที่ 1 ทรงคำนึงถึง แต่ใครต่อใครทั้งหลายก็ไม่ได้ซื้อไปใช้สำหรับเป็นยาทั้งหมด และคนขายเองก็ไม่ได้อินโนเซนต์ จนจะไม่รู้ว่าคนไม่ได้ซื้อเหล้าของพวกเขาไปทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยเหมือนกัน (อ่อ ยกเว้นรักษาอาการแอลกอฮอลิคไว้อย่างเนอะ)
กฎหมายเรื่องน้ำสุรา พ.ศ. 2329 ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งก็ตราขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 น่ะแหละ ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามราษฎรต้มกลั่นสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐ พร้อมกับปราบปรามสุราเถื่อน โดยให้เอกชนสามารถประมูลสิทธิในการผูกขาดการผลิต จำหน่าย และเก็บอากรสุรา อย่างที่เรียกว่า นายอากร
‘อากรสุรา’ เพิ่งมีการเรียกเก็บเป็นครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อเรือน พ.ศ. 2173 เท่านั้น แต่ว่าเป็นอากรที่รัฐเก็บจากประชาชนผู้ผลิต และจัดจำหน่ายโดยตรง ไม่ได้มี ‘นายหน้า’ อย่าง ‘นายอากร’ เหมือนในสมัยรัชกาลที่ 1 นะครับ เพราะระบบ เจ้าภาษีนายอากร เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยอยุธยาต่อเข้ากรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ นี้เอง
จดหมายเหตุของราชฑูตชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ซิ มง เดอ ลา ลูแบร์ ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ พระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง ระบุเอาไว้ว่า อากรสุราเก็บตามจำนวนเตาที่ตั้งต้มขาย เตาละ 1 บาท ต่อปี
(ไม่มีหลักฐานว่า อากรสุรานี้เป็นราคาที่ยืนมาตั้งแต่สมัยของพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าปราสาททองหรือเปล่า? แต่ลองคิดดูง่ายๆ นะครับว่า เมื่อ พ.ศ. 2500 ก๊วยเตี๋ยวชามละหนึ่งสลึง ถ้าย้ินกลับไปอีกซัก 300 ปี เงินหนึ่งบาทจะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้กี่ชาม?)
‘อากร’ คือภาษีที่รัฐเก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้จากการประกอบการต่างๆ ดังนั้นนายอากรซึ่งประมูลสิทธิไปจากรัฐ จึงมีหน้าที่ประกันผลตอบแทนให้แก่รัฐ แน่นอนครับว่าผลตอบแทนแก่รัฐที่ว่าต้องแน่นอน มั่นคง และเป็นกอบเป็นกำ (ไม่อย่างนั้นเขาจะแย่งกันประมูลทำไมล่ะ ปั๊ดโธ่!) นั่นหมายความว่า ผู้ประมูลอากรสุรา ซึ่งทำหน้าที่เก็บภาษีจากผู้ผลิตและจำหน่ายสุราในสยาม รวมทั้งสามารถผลิตและจำหน่ายสุราเองได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย (รวมถึงเป็นผู้ทำหน้าที่ปราบปรามสุราเถื่อนโดยชอบธรรมและแข็งขัน เพราะของเถื่อนย่อมหมายถึงรายได้ที่ลดลงของเฮียๆ นายอากรพวกนี้) จะต้องมีผลตอบแทนที่แน่นอน มั่นคง และเป็นกอบเป็นกำมากยิ่งกว่าราคาที่ประมูลมาจากรัฐด้วยอยู่แหงแซะ
ตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับอากรสุรา ช่วงยุคกรุงเทพฯ มีระบุอยู่ในเอกสาร เรื่องบัญชีเงินส่วยสุราบ่อนเบี้ยสมภักษรและตลาดในปี จ.ศ. 1171 ปีจุลศักราชดังกล่าวเมื่อบวกลบคูณหาร และถอดสแควร์รูตเรียบร้อยแล้ว จะตรงกับเรือน พ.ศ. 2352 ปีแรกที่รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์
ค่าอากรต่างๆ ที่บัญชีหางว่าวฉบับนี้บันทึกเอาไว้ แบ่งเป็นสี่ส่วนคือ อากรสุรา, อากรบ่อนเบี้ย (น่าดีใจอย่างสุดซึ้งที่เราเคยมีบ่อนถูกกฎหมายอย่างไม่ต้องแอ๊บเหมือนในปัจจุบัน T^T), อากรตลาด และค่าน้ำ (แน่นอนว่าสมัยนั้นยังไม่มีการประปาให้เรียกเก็บ ค่าน้ำในที่นี้หมายถึงอากรที่เรียกเก็บจากเจ้าของเครื่องมือจับสัตว์น้ำ) ซึ่งเก็บอากรได้เป็นจำนวน 190,514 บาท, 20,417 บาท, 16,516 บาท และ 36,292 บาท ตามลำดับ
เห็นได้ชัดๆ เลยนะครับว่า รายได้จากอากรสุรานำห่างรายได้จากอากรชนิดอื่นอย่างไม่เห็นฝุ่น พอๆ กับดูยูเซน โบลด์ วิ่ง 100 เมตร แข่งกับหอยทากยังไงยังงั้น
แน่นอนว่ารายได้ของสยามในยุครัชกาลที่ 2 ไม่ได้มีมาจากแค่เฉพาะการเก็บอากรสามสี่อย่างนี้เท่านั้นนะครับ แต่ตัวเลขที่เห็นก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนังสือที่พวกพม่าสอบปากคำเจ้านายอยุธยา ที่ถูกจับไปเป็นเชลยครั้งเสียกรุง เมื่อ พ.ศ. 2310 ที่ระบุรายได้ของกรุงศรีอยุธยาจากอากรสุราเป็นตัวเลขกลมๆ ไว้ที่ปีละ 200,000 บาทถ้วน (เมื่อคิดเป็นจำนวนชามก๋วยเตี๋ยวแล้วก็ได้แต่เอามือทาบอก แล้วกรีดร้องแกมสบถในใจว่า ขุ่นพระ!)
ตัวเลขดังกล่าวสูงเท่ากับรายได้จากอากรบ่อนเบี้ยจากหนังสือเล่มเดียวกันพอดิบพอดี แถมหากจะนับเฉพาะข้อมูลจากคำให้การชาวกรุงเก่า รายได้จากอะไรที่ในปัจจุบันถูกเรียกว่าเป็น ‘ภาษีบาป’ ทั้งสองประเภทนี้ยังถือเป็นรายได้หลักของอยุธยาเลยทีเดียว เพราะจะมีเฉพาะก็แค่รายได้จาก อากรสวน (คืออากรที่เรียกเก็บจากการถือครองไม่ยืนต้นที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ) และค่าปากเรือ (คือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าต่างชาติ ที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของสยาม) ที่เก็บได้ปีละ 240,000 บาทเท่ากันเท่านั้น ที่มีมูลค่าที่สูงกว่ารายได้จากอากรสุรา และอากรบ่อนเบี้ย
John Crawford หรือที่ชาวสยามยุครัชกาลที่ 2 เรียกด้วยสำเนียงไทยๆ ว่า นายยอน การะฟัด (แต่อ่านว่า กา-ระ-ฝัด แบบงงๆ ว่าทำไมไม่สะกดด้วย ฝ.ฝา ให้สิ้นเรื่อง?) ซึ่งเข้ามายังสยามเมื่อ พ.ศ. 2364 ได้บันทึกเรื่องรายได้จากอากรของรัฐสยาม ณ ช่วงขณะจิตนั้นเอาไว้ด้วยเช่นกัน
นายการะฟัดอ้างว่าสยามเก็บอากรสุราได้ถึงปีละ 460,000 บาท เลยทีเดียวนะครับ เพิ่มขึ้นจากปีขึ้นครองราชย์ในรัชกาลที่ 2 เกือบหนึ่งเท่าตัวเลยแหละ
ที่สำคัญคือถ้าเชื่อนายการะฟัด อากรสุราก็ยังคงเป็นรายได้หลักของรัฐสยาม โดยมีอากรบ่อนเบี้ยตีคู่มาในมูลค่าที่เท่าเทียมกันพอดี แบบเป๊ะเว่อร์อีกเช่นเคย รายได้ทางอื่นที่ยังคงมีมูลค่ามากกว่าอากรสุรามีเพียงแค่ อากรสวนที่เรียกเก็บได้ถึงปีละ 520,000 บาท และค่านา (คืออากรเรียกเก็บจากการเพาะปลูกทำนา) ซึ่งนายการะฟัดระบุตัวเลขไว้สูงอย่างไม่น่าเชื่อที่จำนวน 2,295,338 บาท
แต่อากรค่านาที่รัฐเรียกเก็บจากเจ้าของที่นานั้นส่วนใหญ่จะจ่ายกันเป็นข้าวเปลือก ที่เรียกเก็บเป็นจำนวน 10% ของผลผลิตที่ได้มากกว่าที่จะเป็นตัวเงินเพียวๆ ซึ่งมักจะเรียกเก็บเฉพาะจากเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการจัดการ อากรสุราจึงนับได้ว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของกรุงเทพฯ อยู่ดีนั่นแหละ
ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า เมื่อมีการยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากรใน พ.ศ. 2452 ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จสวรรคตเพียง 1 ปีนั้น รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอากรสุรามากมายขนาดไหน? ในเมื่อรายได้ที่รัฐจัดเก็บเองย่อมมากกว่าราคาที่นายอากรเคยประมูลเอาไว้อยู่แน่
ดังนั้นถึงแม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสเอาไว้แล้วว่า สุรา เมรัย และมัชชะ เป็นที่ตั้งของความประมาท แต่การสั่งห้ามไม่ให้มีการผลิตสุราจึงเป็นเรื่องที่ประมาทกว่ามาก สำหรับรัฐที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากเหล้า และการพนัน
การควบคุมการผลิตสุราให้อยู่ในอำนาจรัฐจึงดูจะเป็นวิธีที่ดีต่อรัฐของสยามได้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการผลิตเพื่อเป็นเวชภัณฑ์ ส่วนใครจะนำไปใช้เพื่อการอื่นก็เป็นเพราะผลข้างเคียงของยา รัฐท่านไม่ได้ตั้งใจผลิตมาให้เมาหัวทิ่มกันเสียหน่อย (ยู โน้วววว?)
ดังนั้นอีกทีด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็น สสส., หมอสมาน, บรรดาองค์การเชิญชวนให้กินคลีนแบบชิคๆ ชิลๆ หรืออะไรที่ชวนให้อนิจจังอื่นใด มาเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่เป็นผลดีอะไรต่อกระเป๋าสตางค์ของรัฐ มากเท่ากับการเก็บไว้เป็นภาษีบาป (บนพนักพิงนุ่มๆ ของศีลธรรมในพระพุทธศาสนา และข้ออ้างคูลๆ อย่างการเป็นห่วงสุขภาพ และปัญหาครอบครัวของประชาชน) เพื่อเอาไว้คอยอัพภาษีเวลาที่รัฐท่านหมุนเงินไม่ทันอย่าง ณ ขณะจิตนี้นี่แหละ 😛