เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2017 มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้เชิญคุณ John Bercow ประธานสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษมาพูดคุยกับนักศึกษา ด้วยความชื่นชอบส่วนตัวต่อบรรยากาศการอภิปรายในสภาแห่งนี้ ผมจึงจับพลัดจับผลูสมัครเข้าไปนั่งอยู่ในห้องด้วย
เนื้อหาหลักของการบรรยายครั้งนั้น แกก็ใช้ไปกับการเล่าประสบการณ์ นินทา และบ่นเรื่องความยุ่งยากในการทำงานเป็นประธานสภา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารเวลา คิวพูด และคำประท้วงจากคนที่ไม่ได้คิว รวมถึงการรับมือกับบรรยากาศอันวุ่นวายราวสนามบอลของรัฐสภา
ในช่วงท้าย คำบ่นของคุณ Bercow เกี่ยวกับความยุ่งยากในการบริหารจัดการจำนวนวาระและความหลากหลายเชิงประเด็นที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน อันเป็นผลจากโลกที่มันซับซ้อนวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ ก็ชี้ชวนให้เราเห็นถึงความท้าทายร่วมสมัยที่ระบอบรัฐสภาทั่วโลกคงต้องเผชิญคล้ายๆ กัน
ในแง่ความเป็นมาของตัวคนที่มาพูด คุณ Bercow ดำรงตำแหน่งเป็น Speaker of the House of commons หรือที่คนไทยเรียกกันคุ้นปากว่าท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาถือได้ว่าแกมีสีสันไม่น้อย โดยเฉพาะเอกลักษณ์ตัวเล็ก แต่น้ำเสียงดุดัน และนิสัยการชอบแซะหรือจิกกัดเพื่อนสมาชิก ตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2009 แกก็สร้างชื่อสร้างเรื่องไว้เยอะ ที่เป็นสีสันก็เช่นการแสดงจุดยืนทางมนุษยธรรม หรือการไม่ยอมสวมชุดท่านประธานตามประเพณีซึ่งตกทอดมากว่าแปดร้อยปี ข่าวเสียก็เช่นเรื่องการเบิกจ่ายค่ากินค่าอยู่อย่างฟุ่มเฟือย แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่ามีความสามารถไม่น้อย เพราะเป็นคนแรกนับแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งท่านประธานต่อกันถึงสามสมัย
ในการบรรยายครั้งนี้ ท่านประธานผู้เป็นแฟนคลับตัวพ่อของทีมฟุตบอลอาร์เซนอล เริ่มเปิดประเด็นด้วยการอธิบายว่าหัวใจของความรัฐสภาไม่ว่าในสมัยไหน คือการเป็นตัวแทนสะท้อนเสียงประชาชน หน้าที่หลักของประธานก็ได้แก่การบริหารจัดการให้เสียงประชาชนได้สะท้อนออกมาอย่างทั่วถึง โดยตัวเองต้องถือหลักคือไม่เลือกข้างและสงวนความเห็นในเชิงเนื้อหา
ฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับ ลองสมมติดูว่าตัวเราเองเป็นประธานสภา หน้าที่ทางหลักการของเราก็คือการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนประชาชนได้พูดอย่างทั่วถึง แต่ด้วยข้อเท็จจริงทางโลกที่ว่าเวลาประชุมมีจำกัด ไม่มากก็น้อย เราไม่พ้นต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกประเด็น เลือกคน เลือกคิวการอภิปราย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีสมาชิกบ่นคงประท้วงเราอยู่เสมอ ตรงนี้ก็ต้องอาศัยการอ้างหลักการ การประนีประนอม หรือศิลปะส่วนตัวกันไป ยิ่งเป็นในรัฐสภาอังกฤษยิ่งปวดหัวใหญ่ เพราะที่นี่มีเอกลักษณ์ในเรื่องความวุ่นวาย ทั้งในแง่การใช้โวหารเชือดเฉือด จิกกัด กวน และตะโกนเชียร์กันราวกับเป็นสนามบอลย่อมๆ
แต่ในปัจจุบันนี่สิครับ ฟังที่คุณ Bercow บ่นแล้วมันน่าปวดหัวขึ้นไปอีก เพราะในโลกที่หลากหลายซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แบบทุกวันนี้ จำนวนกลุ่มประชากรและประเด็นวาระก็เพิ่มขึ้นตามจนดูเหมือนกลไกรัฐสภาจะรับมือไม่หวาดไม่ไหว
คุณ Bercow เล่าเรื่องนี้ได้ดี เพราะแกเห็นประเด็นนี้ได้ชัดผ่านสายตากรรมการกลางในสนามบอลอันแสนวุ่นวายที่ชื่อว่า รัฐสภาอังกฤษ
ในเรื่องกลุ่มประชากร แกชี้ว่าความหลากหลายในแง่กลุ่มเชื้อชาติ สีผิว เพศ พื้นที่ สมาคมต่างๆ ในสังคมอังกฤษนั้นเพิ่มขึ้นมหาศาล สมาชิกสภาในปัจจุบันที่ได้รับเลือกเข้ามาก็มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีแต่ผู้ชายแก่ผิวขาว ก็กลายเป็นคนหลากหลายเชื้อชาติ เพศ อายุ พอเป็นเช่นนี้ การกระจายโอกาสในการพูดของตัวแทนประชาชนก็ยากยิ่งขึ้น ลองนึกดูนะครับ แต่เดิมแค่การบริหารจัดการให้ตัวแทนในเชิงเขตพื้นที่ได้พูดอย่างทั่วถึงก็ยากแล้ว นี่ยังต้องมาคำนึงถึงปัจจัยกลุ่มทางสังคมเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ต้องให้ผู้แทนที่เป็นผู้หญิง กลุ่มศาสนา หรือชนกลุ่มน้อยพูดเท่ากับกลุ่มอื่นๆ
นี่ยังไม่กล่าวถึงคำถามแสนยาก ที่ว่าเราจะปฏิรูปการแบ่งสัดส่วน เขตพื้นที่ และกลุ่มประชากรในการเลือกตั้งอย่างไร เพื่อให้รัฐสภาสะท้อนความหลากหลายในสังคมได้อย่างทั่วถึงมากกว่านี้ เพราะส่วนตัวแกก็คิดว่ามีคนอีกหลายกลุ่ม ที่ยังไม่มีตัวแทนเปล่งสิทธิเสียงให้ตนในสภา
มองในเชิงประเด็นยิ่งแล้วใหญ่ แต่เดิมเวลาประชุมก็ไม่ค่อยพออยู่แล้ว ในปัจจุบันจำนวนวาระเข้าสภานั้นทวีจำนวนและมิติเพิ่มขึ้นมหาศาล
แกยกตัวอย่างเช่นในกรณีช่องทางถามคำถามเร่งด่วน ซึ่งเปิดให้สมาชิกส่งคำถามสำคัญที่ไม่ได้อยู่ในวาระประชุมเข้าที่ประชุมเป็นการพิเศษ สำหรับช่องทางนี้ ปกติคุณ Bercow ก็จะมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติว่าคำถามเหล่านี้เร่งด่วนและควรให้เข้าไปถามในสภาจริงหรือไม่ เรื่องนี้แกบ่นว่าในอดีต สมาชิกมักใช้สิทธิตั้งคำถามรวมกันปีหนึ่งประมาณหลักสิบต้นๆ แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขพุ่งทะลุเป็นหลักร้อยในช่วงเวลาหลักเดือน
เรื่องที่เข้ามาก็ร้อยพ่อพันแม่จนไม่รู้ว่าถ้าเราเป็นแกจะเลือกอย่างไร เช่นครั้งหนึ่งมีสมาชิกขอถามความเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคำถามก็ประท้วงกันให้วุ่น ว่าทำไมท่านประธานถึงให้เอาเวลามาถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเทศโดยตรงแบบนี้ ทั้งที่คนอื่นมีเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของสภาฯ โดยตรง ฝ่ายสนับสนุนให้ถามก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่เคยได้รับพื้นที่ในสภาฯ เลย ตัวอย่างอื่นก็เช่น แกเล่าว่าในครั้งหนึ่งที่มีวาระค้างสามวาระ แต่เวลาเหลือพอสำหรับสองวาระท่านั้น แกก็พบว่าต้องเสียเวลาไปอีกมากกับการประท้วงของเหล่าสมาชิก ว่าประเด็นไหนสำคัญกว่ากัน
แกถึงกับเอ่ยปากว่าในปีหน้า แกอาจต้องขอให้ท่านผู้แทนทั้งหลายมานั่งในที่ประชุมมากขึ้น เนื่องจากปริมาณเรื่องที่เข้ามาตอนนี้ เมื่อรวมกับเรื่อง Brexit แล้ว ก็จะเยอะมากจนไม่รู้จะบริหารจัดการเวลาที่มีอยู่เดิมให้ทั่วถึงได้อย่างไร
การบรรยายของท่านประธานชี้ให้เราเห็นว่าในโลกที่วุ่นวาย หลากหลาย ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ระบอบรัฐสภาซึ่งเป็นเครื่องมือการสะท้อนเสียงประชาชนที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยคิดค้นมา ก็ยังยากที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างทั่วถึง
พอฟังเช่นนี้แล้วผมก็รู้สึกสงสัย ว่าเวลาผู้นำในระบอบเผด็จการอออกมาอ้างว่านโยบายของเขาได้ฟัง คิด และทำเพื่อประชาชนทุกคน ท่านผู้นำทำได้จริงหรือ ไม่ได้กล่าวหาว่าท่านผู้นำเป็นคนไม่ดีนะครับ ท่านอาจจะรักประชาชน จริงใจ ตั้งใจดีจริง ก็เป็นได้ แต่ประเด็นก็คือขนาดกลไกที่เปิดให้คนเป็นล้านมีส่วนร่วม เลือกตัวแทนหลักร้อยมาหารือกัน ยังสะท้อนเสียงได้ไม่ครอบคลุมเต็มที่เลย แล้วระบอบแบบหารือกันไม่กี่คนแบบนี้ จะฟังเสียงประชาชนได้ทั่วถึงได้อย่างไร …ไม่ท่านโกหก ก็คงคิดไปเองแหละครับ