1. ความทรงจำจะคงอยู่กับเราได้นานแค่ไหน และหากวันหนึ่งที่ความทรงจำนั้นๆ ได้แปรเปลี่ยนเป็นความเจ็บปวดที่ยากเกินจะทัดทานขึ้นมา ชีวิตที่จำต้องยึดโยงอยู่กับความทรงจำซึ่งได้กลายเป็นบาดแผลนั้นจะดำเนินไปเช่นไร
2. Lost in Blue คือการรวมเอาหนังสั้นสามเรื่องซึ่งเป็นโปรเจคต์จบของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยฉายไปแล้วในงานกางจอครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ด้วยความเก่งกาจในฝีไม้ลายมือของผู้กำกับหน้าใหม่ทั้งสามที่น่าจับตาก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการพูดถึงหนังทั้งสามเรื่องนี้แบบปากต่อปาก ทั้งด้วยคำเชยชมจากนักวิจารณ์และผลรางวัลจากเวทีการประกวดหนังสั้นต่างๆ ก็ล้วนเห็นพ้องว่าหนังทั้งสามเรื่องนี้มีของ จนในที่สุดหนังสั้นเหล่านี้ก็ได้ถูกเอามาควบรวมเข้าด้วยกัน เปิดพื้นที่ให้คนวงกว้างได้รับชม ภายใต้โปรแกรมหนังสั้นที่ชื่อว่า Lost in Blue ระหว่างเราเมื่อครั้งก่อน
3. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูรอบสื่อของโปรแกรมหนังสั้นชุดนี้ (ด้วยคำชวนของน้องคนหนึ่งซึ่งต้องขอบคุณไว้ในที่นี้) ด้วยได้ยินกิตติศัพท์ของหนังสั้นทั้งสามมานมนาน หากก็ไม่เคยมีโอกาสได้ชมสักเรื่อง ซึ่งพอรู้ข่าวว่าจะได้ดูหนังสั้นทั้งสามในโรงหนังก็พาให้ดีใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
Lost in Blue ประกอบด้วยหนังสั้นสามนั่นคือ
‘ฝน’ กำกับโดยเอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ เล่าเรื่องความรักของเด็กมัธยมต้นคู่หนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงกำลังแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว ซึ่งด้วยความสนใจใครรู้ในตัวเพศตรงข้าม พวกเขาทั้งคู่ก็ได้ค่อยๆ พาตัวเองให้ไถลเลยเส้นศีลธรรมซึ่งทั้งตัวสังคมและพ่อแม่กำหนดไว้
‘วันนั้นของเดือน’ กำกับโดย จิรัศยา วงษ์สุทิน บอกเล่าเหตุการณ์ระหว่างเพื่อนสนิทสาวมัธยมปลายสองคนในโรงเรียนหญิงล้วนที่จู่ๆ เพื่อนคนหนึ่งประจำเดือนก็ไม่มาเอาเสียดื้อๆ ซึ่งตามปกติประจำเดือนของสองสาวจะมาในเวลาไล่เลี่ยกัน กระทั่งเกิดเป็นความคลางแคลงขึ้นว่า หรือเพราะเพื่อนกำลังตั้งท้องกันแน่
‘Glowstick’ กำกับโดยปภาวี จิณสิทธิ์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงวันหนึ่งของสองเพื่อนสนิทสาว และบทสนทนาว่าด้วยการไม่อาจตัดขาดจากคนรักในอดีตของคนหนึ่งได้ จนเพื่อนของเธอก็จำต้องสรรหาวิธีที่จะปลดปล่อยเธอจากการยึดติดนี้ โดยไม่รู้ว่าการลืมอดีตนั้นเป็นไปได้จริงสักแค่ไหน
4. จะเห็นได้ว่าจุดร่วมหนึ่งที่เห็นอย่างเด่นชัดของหนังสั้นทั้งสามเรื่องคือการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
จากเรื่องย่อที่เล่าอย่างคร่าวๆ หากเราลองสำรวจลึกลงไปในเรื่องราวแต่ละเรื่องก็จะเห็นได้ว่าผู้กำกับแต่ละคนสนใจและให้ความสำคัญในการจำลองความสัมพันธ์ของมนุษย์ออกมาในระดับซึ่งก็แตกต่าง มีมิติ และน่าเชื่อในรูปแบบซึ่งต่างออกไป
ในเรื่องฝน ความสัมพันธ์ที่ว่านี้เริ่มต้นจากความแปลกหน้าของเพื่อนต่างเพศ หากลองมองย้อนกลับไปในช่วงมัธยมหรือประถมวัย ใครหลายๆ คนซึ่งรวมถึงตัวผมเองนั้นเคยมีประสบการณ์ในลักษณะของความเคอะเขินและไม่กล้าพูดคุยหรือสบตากับเพศตรงข้ามโดยอัตโนมัติ อาจไม่ใช่ความชอบเสียทีเดียว แต่ด้วยกรอบสังคมที่บ่มเพาะความเชื่อ หรือข้อห้ามหลายๆ ประการ ที่แม้เราจะสนใจในความแตกต่างทางเรือนของเพศตรงข้าม กระนั้นความรู้สึกผิดบาปลึกๆ ในใจก็กดทับเราเอาไว้ไม่ให้เผชิญหน้ากับความอยากรู้ของเราได้อย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับตัวเอกในเรื่องซึ่งพอดีกับที่วันซึ่งเขาได้ทำความรู้จักกับเพื่อนสนิทต่างเพศนั้นฝนตก และด้วยเสื้อนักเรียนที่เปียกชื้นด้วยสายฝนก็ได้เปิดเผยให้เขาเห็นพื้นที่สงวนของเพศหญิงซึ่งเขาได้แต่แอบมองอย่างเขินอาย
ในวันนั้นของเดือน จิรัศยาพาเราไปเฝ้าดูความสัมพันธ์ของสองสาวที่น่าเชื่อและเป็นธรรมชาติ โดยอาศัยกลวิธีที่ค่อยๆ เปิดเผยความลับในความสัมพันธ์ของทั้งสองออกมาให้คนดูได้รู้ทีละน้อย หากแต่ด้วยความแม่นยำในจังหวะการกำกับก็ทำให้เรื่องราวธรรมดาของชีวิตสามารถสร้างความตื่นตะลึงได้อย่างน่าชื่นชม เรื่องราวน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อมีตัวละครอื่นเข้ามาข้องเกี่ยวในความสัมพันธ์ของสองสาว นั่นคือ ‘แฟนหนุ่ม’ ของเพื่อนคนหนึ่งที่แม้จะปรากฏตัวออกมาในเรื่องแค่เพียงสั้นๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์อันชัดเจนกับตัวละครนำทั้งสอง กระนั้นคนดูก็รู้สึกได้ถึงอิทธิพลของตัวละครนี้ที่ส่งผลต่อระดับความผูกพันธ์ของเพื่อนรักทั้งสอง จนเกิดเป็นความคลุมเครือที่ไม่อาจนิยามได้ชัดว่าความสัมพันธ์ของหญิงสาวทั้งสองถูกจัดวางอยู่ในระดับไหน
ส่วนใน Glowstick นั้นแม้จะเปิดเผยลักษณะความสัมพันธ์ของเพื่อนผู้หญิงดังเช่นวันนั้นของเดือน กระนั้นแล้วความสัมพันธ์ของสองเพื่อนสาวในเรื่องนี้ก็เป็นไปในรูปแบบที่ต่างออกไป นั่นคือเมื่อเพื่อนคนหนึ่งเจ็บช้ำจากความสัมพันธ์ในอดีต เพื่อนอีกคนก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง คอยปลอบประโลมและให้กำลังใจแม้ว่าในที่สุดแล้วการหลุดพ้นจากบาดแผลแห่งอดีตจะเป็นเรื่องยาก และอาจเป็นแค่ความกล้าหาญของปัจเจกเท่านั้นที่จะผลักตัวเองให้ก้าวพ้นความเจ็บปวดจากอดีตได้ ไม่ใช่จากการยื่นมือเข้าช่วยของใครคนอื่น
5. จุดร่วมอีกประการที่น่าสนใจคือหนังสั้นทั้งสามแม้จะโดดเด่นในการพูดถึงผู้หญิง แต่ทั้งสามเรื่องต่างก็มีการปรากฏขึ้นของตัวละครเพศชายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องด้วยกันทั้งนั้น นั่นคือในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั้งสามเรื่องล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากตัวละครชาย ซึ่งน่าสนใจที่ว่าตัวละครเพศชายทั้งสามคนที่ปรากฏขึ้นในแต่ละเรื่องก็ล้วนรับใช้บทบาทที่แตกต่างกันไป นั่นคือ นักเรียนชายในเรื่องฝนนั้นทำหน้าที่ของเงื่อนไขร่วมในการปลดล็อกความรักระหว่างเพศชายและหญิง และทำให้ตัวเอกหญิงได้เรียนรู้ถึงความรักไปพร้อมๆ กับความเจ็บปวดซึ่งเกิดขึ้นเพราะการบีบบังคับของกรอบคิดทางสังคม แฟนหนุ่มในเรื่องวันนั้นของเดือนนั้นก็ทำหน้าที่ของผู้แทรกแทรงที่โดยไม่ได้ตั้งใจก็กลายมาเป็นผู้ตั้งคำถามในนิยามความสัมพันธ์ของเพื่อนสาวทั้งสอง และแฟนเก่าใน Glowstick ซึ่งคล้ายจะดำรงอยู่ในภาพอดีตอันแสนหวานนั้นก็ทำหน้าที่ผู้สร้างพันธะและวางเงื่อนไขซ้อนทับต่ออดีตและปัจจุบันของหญิงสาวร้างรักที่ไม่อาจก้าวพ้นอดีตไปได้ในสักที พร้อมกันนั้นก็ยังช่วยฉายภาพอันชัดเจนต่อความทรมานของการไม่อาจหลุดพ้นจากความรักและความทรงจำไปได้