คุณรู้จัก เชลซี แมนนิ่ง (Chelsea Manning) ไหมครับ
ต่อให้คุณไม่คุ้นกับชื่อ เชลซี แมนนิ่ง แต่เชื่อว่าคุณคงต้องผ่านตาพาดหัวข่าวใหญ่ (จริงๆ คือใหญ่ระดับโลก) ประมาณว่า ‘สั่งลดโทษพลทหารข้ามเพศกรณีเปิดเผยเอกสารลับให้วิกิลีกส์’ อะไรทำนองนี้มาบ้างนะครับ
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ประกาศ ‘ลดโทษ’ ให้กับเชลซี แมนนิ่ง ซึ่งถูกสั่งจำคุกเป็นเวลานานถึง 35 ปี ด้วยข้อหาเปิดเผยเอกสารลับทางการทูตให้กับวิกิลีกส์ (WikiLeaks) ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วโลก และไม่ได้มีผลเฉพาะแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังมีผลกับประเทศอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับอเมริกา (รวมทั้งไทย) ด้วย โดยเธอจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคมนี้
เชลซี แมนนิ่ง ผู้เดิมทีเดียวมีชื่อว่า แบรดลีย์ แมนนิ่ง ถูกสั่งจำคุกในเรือนจำชายล้วนที่ฟอร์ต ลาเวนเวิร์ธ ในแคนซัส การต้องอยู่ในคุกด้วยสภาพแบบนั้น ทำให้เธอพยายามฆ่าตัวตายสองครั้ง ในที่สุด ทางกองทัพจึงต้องยอมให้เธอผ่าตัดแปลงเพศ กลายเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (Trans-woman) สื่อจึงพาดหัวข่าวว่าเธอคือ ‘พลทหารข้ามเพศ’ (ซึ่งเป็นพาดหัวที่ผมไม่ค่อยจะชอบใจนัก)
ในอดีต แบรดลีย์ แมนนิ่ง เคยเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา เขาไปประจำการในอิรัก และได้พบเห็นอะไรต่อมิอะไรที่ย่ำแย่หลายอย่าง เช่น การสังหารประชาชนที่ไม่มีอาวุธ และปฏิบัติการต่างๆ ที่ทำให้พลเรือนได้รับความเดือดร้อนสาหัส แมนนิ่งผู้เป็นทหารและ ‘รักชาติ’ จริงๆ เขาต้องเจ็บปวดกับการ ‘รู้’ ความจริงว่า อเมริกาทำอะไรลงไปบ้างในช่วงสงครามอิรัก เขาไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่ยุติธรรม และหากทำได้ ก็อยากมีส่วนในการ ‘ดับไฟ’ แห่งความไม่ยุติธรรมนี้
แมนนิ่งบันทึกข้อมูลเอาไว้ในแผ่นซีดีที่มีหน้าปกเป็นอัลบั้มเพลงของเลดี้กาก้า แล้วส่งข้อมูลนี้ไปให้วิกิลีกส์ เมื่อถูกจับได้ โทษที่ได้รับนั้นร้ายแรงขึ้นระดับประหารชีวิต เพราะมันคือการ ‘ทรยศ’ ต่อประเทศ ด้วยการนำข้อมูลภายในไปเปิดเผย
เมื่อปีที่แล้ว เชลซี แมนนิ่ง เขียนบทความลงใน The Guardian ด้วยชื่อเรื่องว่า When will the US government stop persecuting whistleblowers? แปลเป็นไทยได้ว่า ‘เมื่อไหร่หรือ ที่รัฐบาลสหรัฐจะหยุดรังควาญนักเป่านกหวีดเสียที’
เราคงจำขบวนการ ‘เป่านกหวีด’ ในไทยเมื่อปีที่แล้วได้นะครับ ขบวนการเป่านกหวีดไทยนั้น เริ่มต้นด้วยแนวคิด Whistleblowers หรือการ ‘เป่านกหวีด’ เพื่อ ‘เตือนภัย’ เหมือนที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก คนเป่านกหวีด (อย่างเช่นเชลซี แมนนิ่ง) นั้น มักเป็นคนที่อยู่ใกล้กับข้อมูล เห็นความไม่ชอบมาพากลของอำนาจใหญ่ๆ (อย่างอำนาจรัฐ) และอยาก ‘ร้องตะโกน’ เตือนคนอื่นๆ ซึ่งในตอนแรก คนทั่วไปอาจไม่รู้ ไม่เห็นด้วย และแน่นอนว่าอำนาจใหญ่ๆ นั้นย่อมพยายาม ‘ปิดปาก’ นักเป่านกหวีดเหล่านี้ การเป่านกหวีดจึงไม่ใช่เรื่องเก๋ แต่เป็นเรื่องลำบากแสนสาหัส
เชลซี แมนนิ่ง เขียนบทความนี้ขึ้นเพราะหลังจากเธอถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าปล่อยข้อมูลของรัฐบาลในปี 2010 ได้ไม่นาน รัฐบาลสหรัฐฯ (ในยุคของประธานาธิบดีโอบามา) ก็ตั้งสิ่งที่เรียกว่า National Insider Threat Task Force หรือหน่วยงานที่เอาไว้คอยควบคุมดูแล ‘การคุกคามจากภายในประเทศ’ (แบบที่เชลซี แมนนิ่ง ทำ) โดยหน่วยงานนี้อยู่ใต้หน่วยงานสืบราชการลับอย่าง Office of the Director of National Intelligence (ODNI) กระทรวงยุติธรรม และหน่วยสืบสวนของรัฐบาลกลางหรือ FBI รวมไปถึงหน่วยงานรัฐบาลอีกหลายหน่วย
ถ้าเราดูหน้าที่หรือ mission ของหน่วยงานนี้ เราจะเห็นว่ามัน ‘กว้างขวาง’ มาก มุ่งเน้นไปที่ใครก็ตามที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อ ‘ความมั่นคงของชาติ’ (National Security) โดยเน้นย้ำว่า-ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วทรยศ (betray) หรือนำข้อมูลไปใช้แบบผิดๆ (misuse) ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ (wittingly หรือ unwittingly)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีการจัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อควบคุมการคุกคามที่ว่า รวมไปถึงการ ‘สอดส่องเบ็ดเสร็จ’ (Total Surveillance) ด้วย (ดูข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานนี้ได้ที่นี่ )
แม้จะมีคนทักท้วง เช่นมีบทความใน Harvard Business Review ของเจมส์ ดีเทิร์ต (James Detert) กับ อีธาน เบอร์ริส (Ethan Burris) บอกว่าโครงการฝึกอบรมบุคลากรของรัฐและการสอดส่องเบ็ดเสร็จเหล่านี้ จะทำให้เกิดผลร้ายต่อการทำงานและความสามารถในการสร้างสรรค์มากกว่าผลดี เพราะเป็นการสร้าง ‘ความกลัว’ ต่อคนทำงาน ทำให้บุคลากรของรัฐหวั่นเกรงว่าจะเกิดความอับอาย การถูกกีดกันให้โดดเดี่ยว หรือกระทั่งถูกไล่ออก ฯลฯ ถ้าทำอะไรบางอย่างที่เสี่ยง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำก็ตาม
เธอบอกว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะการสอดส่องเบ็ดเสร็จ จะเอื้อให้เกิดการ ‘ล่าแม่มด’
เชลซี แมนนิ่ง ใช้คำว่า นี่เป็น general invitations หรือเป็นคำเชื้อเชิญทั่วไป ให้ต่างคนต่าง ‘รายงาน’ ว่าคนโน้นคนนี้กำลังทำผิดหรือทำสิ่งที่คุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนชัดแจ้งว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
เชลซียกตัวอย่างกรณีของ โธมัส เดรค (Thomas Drake) ซึ่งเป็น (อดีต) เจ้าหน้าที่ของรัฐอาวุโสคนหนึ่ง เขาตั้งข้อสังเกตต่อ NSA (National Security Agency) โดยเขาอยากให้มีการตรวจสอบการทำงานของ NSA ในบางโครงการที่น่าสงสัย เขาใช้ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะเป็น ‘นักเป่านกหวีด’ ด้วยการร้องเรียนในหลายช่องทางต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนกลาง รวมไปถึงคณะกรรมการในสภาคองเกรสด้วย แต่เมื่อไม่เป็นผล สิ่งที่เขาทำในท้ายที่สุด ก็คือการ ‘สื่อสาร’ ถึง ‘ความกังวล’ ของเขาในเรื่องดังกล่าวต่อสื่อ
แน่นอน เมื่อเรื่องนี้ไปถึงสื่อ เดรคก็ถูกพักงาน เขาถูกสอบสวนเป็นเวลานานเกือบครึ่งทศวรรษ และที่สุดก็โดนข้อหาละเมิดกฎหมายจารกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี 1917 และเป็นกฎหมายที่มีการตีความได้ ‘กว้างขวาง’ มาก และที่ถูกก็ถูกตัดสินว่าผิด
แต่รัฐบาลไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะเมื่อปีที่แล้ว ODNI ได้จัดการฝึกอบรมภายใน โดยระบุว่า กรณีแบบเดรคและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ ที่ทำผิดแบบเดียวกันนี้ คือ ‘ภัยคุกคาม’ ที่เทียบเท่ากับกรณีมือปืนที่บุกยิงคนในที่สาธารณะ
แน่นอน เรื่องนี้ก่อให้เกิดการร้องเรียนจากหลายองค์กรที่ดูแลเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ทำให้มี 22 องค์กร ร้องเรียนต่อรัฐบาลว่านี่คือการใช้คำว่า ‘ภัยคุกคาม’ (Threat) ที่ผิดเป้าหมาย ผลลัพธ์ก็คือ ไม่สามารถแยกแยะระหว่าง ‘นักเป่านกหวีด’ กับ ‘ภัยคุกคาม’ ที่แท้จริงได้
เชลซียกตัวอย่างกรณีของเธอว่า มีเอกสารอบรมภายในที่ใช้กรณีของเธอเป็นกรณีศึกษา โดยยกตัวประวัติและสภาวะทางจิตของเธอมาเป็นตัวอย่างอบรม โดยในเอกสารเหล่านั้น ยังใช้สรรพนามเรียกตัวเธอว่าเป็นผู้ชาย (ทั้งที่ตามกฎหมาย เธอเปลี่ยนเพศเป็นหญิงแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2014) ที่สำคัญก็คือ ในเอกสารการอบรมนั้น บอกว่าเธอ ‘ไม่พอใจ’ รัฐ เพราะมี sexual orientation และอัตลักษณ์ทางเพศในแบบที่เป็นอยู่ แต่ต้องการให้สาธารณะยอมรับเธออย่างเปิดเผยว่าเธอเป็นผู้หญิง รวมทั้งหมกมุ่นต่อประเด็นเรื่องเพศและการสนับสนุนให้มีโฮโมเซ็กชวลในกองทัพ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็น ‘ภัยคุกคาม’ อย่างหนึ่ง
จะเห็นว่า-นี่คือการ ‘ตีความ’ คำว่า ‘ภัยคุกคาม’ อย่างกว้างขวางมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และจะทำให้ ‘นักเป่านกหวีด’ ไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไร เพราะอาจถูกมองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติได้ ยิ่งถ้ามีประวัติบางอย่างที่ไม่เป็นไปตาม ‘นอร์ม’ ของสังคมด้วยแล้ว ก็อาจยิ่งถูกมองในแง่ร้ายมากขึ้น เชลซีบอกว่า สังคมที่ปราศจาก ‘นักเป่านกหวีด’ นั้น เป็นสังคมที่น่ากลัว เพราะมันคือสังคมที่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมา ‘ตรวจสอบ’ ผู้มีอำนาจ พูดได้ว่า-นี่คือการ ‘ลุแก่อำนาจ’ ในเชิงโครงสร้างนั่นเอง
กรณีของเชลซีนี้ ดูเผินๆ อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสังคมไทย แต่เอาเข้าจริงมีหลายแง่มุมที่เป็นกระจกสะท้อนให้เราเห็นอะไรหลายอย่างนะครับ
อย่างแรกก็คือ เราอาจไม่มีหน่วยงาน National Insider Threat Task Force อย่างเป็นทางการ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีความพยายามจะทำอะไรทำนองนี้อยู่ภายใต้หน้ากากของกฎหมายอื่นๆ (เช่น พรบ.คอมพิวเตอร์ ที่ผ่านไปแล้ว และอาจมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ตามมาอีก รวมไปถึงกฎหมายอีกบางประเภทที่แทบจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และ ‘ถูกใช้’ เพื่อเป้าหมายบางอย่างคล้ายๆ กับที่เชลซีพูดถึงการล่าแม่มด โดยกฎหมายเหล่านี้มีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน นั่นคือมันถูกตีความได้ ‘กว้างขวาง’ มาก ขึ้นอยู่กับ ‘ดุลพินิจ’ ของเจ้าหน้าที่)
พูดอีกแบบก็คือ-สังคมไทยนั้น, เหมือนไม่มี Task Force แต่จริงๆ แล้วมี!
อย่างที่สองก็คือ เราอาจรู้สึกว่าสังคมไทยมี ‘นักเป่านกหวีด’ เต็มไปหมด โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ของเมื่อสามปีที่แล้ว มีคนลุกขึ้นมา ‘ตรวจสอบ’ การทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการตรวจสอบ แต่ในตอนนี้ ดูเหมือนการเป่านกหวีดที่ว่า คล้ายมลายหายสูญไปกับสายลม ไม่มีการเป่านกหวีดหรือการตรวจสอบต่อเนื่อง ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามนะครับ ว่าสังคมไทยมี ‘นักเป่านกหวีด’ อยู่จริงๆ หรือเปล่า
พูดอีกแบบก็คือ-สังคมไทยนั้น, เหมือน มีนักเป่านกหวีดอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แต่จริงๆ แล้วไม่มี!
เราไม่รู้จริงๆ ว่าเมื่อเชลซี แมนนิ่ง ได้รับอิสรภาพแล้ว เธอจะต้องเผชิญหน้ากับอะไรบ้างในสังคมอเมริกันยุคนี้ ยุคที่ประธานาธิบดีมีชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ยุคที่เส้นแบ่งของการทรยศชาติและการเป่านกหวีดเตือนภัยในคนในชาติพร่าเลือนเอามากๆ และยุคเคร่งศาสนาที่การเป็นผู้หญิงข้ามเพศอาจกลายเป็นปัญหาที่พัวพันไปถึงอุดมการณ์ทางการเมืองได้โดยง่าย
แต่ผมเชื่อว่า-เราน่าจะรู้กันอยู่แล้วละนะครับ-ว่าการอยู่ในสังคมที่มี Taskforce ที่มองไม่เห็น แถมยังไร้นักเป่านกหวีดที่แท้จริงด้วยนั้น,
มันเป็นอย่างไร