ตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.2019 ด้วยตัวอย่างบนยูทูบที่ประกาศว่าสองผู้กำกับแห่งยุคอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) จาก Fight Club, Se7en และ Gone Girl จะมาจับมือกับ ทิม มิลเลอร์ (Tim Miller) ผู้กำกับหนัง Dead Pool ทำอนิเมชั่น anthology หลากรสชาติ หลากลายเซ็น ภายใต้สามธีมหลักอย่าง ‘กลไก หัวใจ ดับสูญ’ จนถึงตอนนี้ปี ค.ศ.2022 ที่ซีรีส์ก็ล่วงเลยไปถึง 3 ซีซั่นแล้ว กระแสการรอคอยและการพูดถึงอนิเมชั่น Love, Death + Robots ไม่ใช่แค่ไม่แผ่ว แต่เสียงฮือฮาและกระแสถือว่าทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่ความสำเร็จที่มากเกินไปของซีซั่นแรก ทำให้ซีซั่น 2 แม้คนจะดูเพิ่มขึ้น ก็ค่อนข้างจะเป็นที่โจษจันว่ามาตรฐานตก น่าเบื่อ เฉยๆ สู้ซีซั่นแรกไม่ได้ ไม่น่าจดจำ แถมจำนวนตอนน้อยกว่าอีกต่างหาก ความกดดันเลยมาตกอยู่ที่ซีซั่น 3 ที่ต้องแบกรับทั้งอดีตว่าจะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของซีรีส์กลับมาได้หรือไม่ และอนาคตที่จะกำหนดว่าซีรีส์จะได้ไปต่อหรือไม่ และดูเหมือนคำตอบคือ ‘ได้’ เลยเป็นเรื่องที่น่าพูดถึงกันซะหน่อยว่าอะไรทำให้ซีรีส์กลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง และพูดถึงเนื้อหาซีซั่นนี้ โดยเฉพาะเอกลักษณ์ซีซั่นนี้ที่เน้นไปที่ ‘ความตาย’ เป็นหลัก จนแทบจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Death, Death + Death’ ได้อยู่แล้ว
ด้วยความที่ก่อนดูซีซั่น 3 รู้สึกคิดถึงไม่น้อย เลยไปย้อนดูตั้งแต่แรก และพบความแตกต่างของแต่ละซีซั่นพอสมควร อย่างแรกก็คือจำนวนตอน ที่ซีซั่นแรกมีมากถึง 18 ตอนในขณะที่ซีซั่น 2-3 มีซีซั่นละ 8-9 เท่านั้น หรือก็คือหากเรามองซีซั่น 1 เป็นหนึ่งก้อน และซีซั่น 2-3 เป็นอีกหนึ่งก้อน (เดียวกัน) แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้อาจถือว่าสูสีกัน เพียงแต่ว่าตอนที่ได้คุณภาพตั้งแต่ความสนุก ขายงานภาพ ไปจนถึงดูเพื่อเสพปรัชญาและการกระตุ้นความคิด ที่ทำได้แข็งแรงจะค่อนไปทางซีซั่น 3 ซะมากกว่า
Love, Death + Robots ซีซั่น 3 มีคนอยู่เบื้องหลังถึง 1,300 ชีวิต และใช้เวลาทำนานตั้งแต่ระดับเดือนถึง 2 ปี อีกทั้งยังคงมีแนวทางที่ชัดเจนภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องมีขั้นต่ำ 1 อย่างจนถึง 3 อย่างในชื่อซีรีส์ในตอนนั้นๆ ภายใต้การนำเสนอที่เน้นการทดลองอะไรที่หลากหลาย สดใหม่ เป็นตัวของตัวเอง ด้วยความยาวที่ไม่มากเกินไป ทั้งหมดคือคีย์หลักที่ทำให้เกิดการพูดถึงระดับปรากฏการณ์นี้ และเป็นสิ่งที่ซีซั่น 3 มีอย่างครบครัน หากแต่ว่าสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือธีมที่เทหนักไปทางด้านของ ‘ความตาย’ ในหลายแง่มุม ที่แน่นอน เต็มไปด้วยการนำเสนอความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมาเช่นเคย ซึ่งไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ ดูเหมือนโปสเตอร์ที่ชื่อเรื่องกำลังถูกเผาไหม้ด้วยไฟบอกจุดโฟกัสของซีซั่นนี้อย่างค่อนข้างชัดเจน
และจากการสังเกต คำพูดที่หลายๆ คนพูดเหมือนกันคือ ‘ซีซั่นนี้สนุกทุกตอน’ และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการกล้าทำมากขึ้น จริงอยู่ที่ด้านภาพอาจไม่ได้ใหม่เท่าไหร่นักถ้าเทียบกับสองซีซั่นแรก แต่ในซีซั่น 3 เราได้เห็นการผลักคำสามคำนั้นออกไปสุด บ้าคลั่ง และเอ็กซ์ตรีมกว่าที่เคย ด้วยธีมตายที่เด่นชัด โดยไม่ได้ต้องมาพะว้าพะวงว่าจะต้องมีให้ครบหรือไม่ และไม่ต้องกังวลต้องไซไฟ มีหุ่นยนต์ ล้ำอนาคต หรือยังต้องเกรงใจคำไหนในชื่ออีกมั้ย เพราะนี่คือเรื่องราวที่จะเล่าอะไรก็ได้ที่อยากเล่า
และสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้มีข้อได้เปรียบและแตกต่างกับ Black Mirror ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องนั้นเป็นฉบับคนแสดง แต่ Love, Death + Robots ไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่ในโลก แต่ไม่ได้จำกัดทั้งขอบเขตสถานที่ที่เกิดเรื่องราว จนถึงหัวข้อ ตัวละคร ประเภท และวิธีการนำเสนอ
ในซีซั่นนี้เรามีทั้งระดับสนุกโหดมันส์ฮาอย่าง Kill Team Kill ที่เอาแก๊งทหารนักสบถไปเผชิญหน้ากับหมีไทเทเนี่ยม เรื่องนี้เน้นขายฉากโหดเลือดสาด, Mason’s Rat ที่เกี่ยวกับเจ้าของโรงนาที่สั่งซื้อหุ่นสังหารมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หนูด้วยความโหดร้าย (คนที่บ้านมีหนูจะรู้สึกตั้งแต่สะใจไปจนถึงสงสารมันเลยล่ะ) หรือ Night of the Mini Dead ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับ zombie apocalypse ด้วยสไตล์ miniature หรือถ่ายวัตถุให้เป็นขนาดจิ๋ว จากสูง จากที่ไกลๆ โดยภาพขอบๆ จะมัวๆ ผสมกับความกวนโอ๊ยตลกร้าย แบบที่มาสั้นๆ ที่จี๊ดไม่น้อย
ขยับขึ้นมาในระดับที่ดีพขึ้นและซีเรียสขึ้นอย่าง Three Robots : Exit Strategies ที่เป็นภาคต่อของ Three Robots ในซีซั่นแรก ที่ยังคงประชดประชันมนุษย์ในสายตาหุ่นยนต์ได้ดีและเฉียบเช่นเคย, Swarm การไปเยือนมนุษย์ต่างดาวที่ดูจะเป็นตัวเที่ยวเดียว ให้บรรยากาศคล้าย Beyond the Aquila Rift ในซีซั่นแรก, Very Pulse of the Machine ตอนของมนุษย์อวกาศที่ใกล้หมดออกซิเจนระหว่างการเดินทางจนต้องลงพักบนดวงจันทร์จนพบภาพหลอนสุดนามธรรม และ In Vaulted Hall Entombed ที่เล่าเรื่องของกลุ่มทหารที่เดินทางไปยังลึกลับด้วยความไม่ตั้งใจ จนเจอสิ่งมีชีวิต cosmic horror ที่ดูมีความเป็นปีศาจยักษ์สไตล์หนวดปลาหมึกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจินตนาการของ H.P. Lovecraft ไม่น้อย
กับระดับที่ต้องใช้คำว่ายอดเยี่ยมทั้งภาพและเสียง และต่างคนต่างเด่นคนละด้าน นั่นก็คือ ‘Bad Travelling’ ที่กำกับโดยผู้สร้าง เดวิด ฟินเชอร์ เองและโดดเด่นด้านเนื้อหา กับ ‘Jibaro’ ที่กำกับโดย อัลเบอร์โต มิเอลโก (Alberto Mielgo) จากตอน The Witness ฆ่าวนลูปหนุ่มสาวห้องตรงข้ามในซีซั่นแรก ที่ทั้งโดดเด่นด้านภาพและการใช้สัญลักษณ์ จนทำให้สองเรื่องนี้เป็นสองตอนที่มีคนดูมากกว่า 1 รอบขึ้นไป และเป็นสองตอนที่ควรค่าแก่การพูดถึง
Bad Travelling ว่าด้วยเรื่องราวของเรือล่าฉลามที่ล่องเรือกลางมหาสมุทธและได้เผชิญหน้ากับปูยักษ์ Thanapod (Thana ภาษากรีกแปลว่า ‘ความตาย’ + pod ที่แปลว่าขา) จากนั้น Torrin พระเอกของเรื่องถูกบังคับให้ต้องลงไปจัดการปูตัวต่อตัว แต่แล้วเขากลับสามารถเจรจากับปูและกุมอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายชี้ที่ที่จะไปให้กับทุกคนได้ ทำให้กระแสการพลิกเกมกลับมายัง Torrin อีกครั้ง และเขาจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไป
ตอนนี้ไม่เพียงแต่จะได้เดวิด ฟินเชอร์ เป็นผู้กำกับ แต่ยังเป็นการได้กลับมาร่วมงานอีกครั้งของงเขากับ แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์ (Andrew Kevin Walker) คนเขียนบท Se7en และ Sleepy Hallow ด้วย ซึ่ง Bad Travelling ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Neal Asher และถูกสร้างโดย Blur Studio ที่ทำ cinematic trailer ให้กับเกม League of Legends, Call of Duty, Elder Scroll กับ Valorlant ทั้งยังได้ Troy Baker คนที่ให้เสียงเป็น Joel ในเกม The Last of Us มาให้เสียงเป็น Torrin พระเอกตอนนี้
นี่เป็นตอนที่ใช้เวลาทำถึง 18 เดือนด้วยกัน ทำงานบางสัปดาห์ สัปดาห์ละ 25-30 ชั่วโมง ประกอบสร้างขึ้นด้วยเทคนิค Motion Capture หรือให้คนใส่ชุดแสดงแล้วใช้ซีจีทับอีกที และได้หนัง Alien (ค.ศ.1979) ของผู้กำกับ ริดลี่ย์ สก็อตต์เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบรรยากาศหวาดระแวง ตายทุกเมื่อ ไว้ใจใครไม่ได้ ผสมเกมจิตวิทยาลงไปจนออกมาเป็นหนังอนิเมชั่นสั้นที่ตั้งคำถามชวนคิดถึงประเด็นศีลธรรม ดึงคนดูไปมีส่วนร่วมชวนคิดว่าหากเราไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ เราจะทำอย่างไร
เหมือนกับทำขึ้นเพื่อให้เราตัดสินเองว่าสุดท้ายแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นสัตว์ประหลาดบนเรือลำนี้? ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่าผลงานของฟินเชอร์อย่าง Se7en และ Fight Club เป็นความเสียดสีประชดประชันต่อโลกที่ความสกปรกโสมม ความจริงอันน่ารังเกียจ กับตัวเอกที่มีอุดมการณ์แต่อยู่หมิ่นเหม่ระหว่างการเป็นคนดีกับคนชั่ว สำหรับตอนนี้ก็เช่นกัน Torrin คือตัวเอกสาย anti-hero ขนาดแท้เลยล่ะ และมันยังคงเล่าเรื่องเดิมคือตัวเอกที่อยู่ระหว่างความหมิ่นเหม่ กับโลกที่ไม่ควรค่าแก่การคล้อยตาม
การที่พระเอกเป็นสายเทา ไม่ได้ขาวไม่ได้ดำสนิท ทำงานได้เป็นอย่างดีตอนที่เขาต้องการจะแก้แค้น เพราะในเมื่อเขาถูกโหวตให้ลงไป เมื่อมีอำนาจในมือ เขาก็ขอให้ทุกคนโหวตเลือกบ้างว่าจะเดินทางใกล้เพื่อผลักภาระความตายไปยังคนบนเกาะที่ปูต้องการเดินทางเพื่อไปกินชาวบ้านที่ประกอบไปด้วยผู้คน ทั้งยังมี คนแก่และเด็ก หรือจะเดินทางไกลที่อาจเสี่ยงอันตรายและใช้เวลามากขึ้น แต่การนำปูไปทิ้งไว้จะทำให้มันไม่สามารถแพร่พันธุ์หรือสังหารใครเพื่อให้อิ่มท้องได้อีก
ซึ่งในเลเยอร์บนของ Bad Travelling มันคือความบันเทิงแบบตึงเครียดตั้งแต่ช็อตเปิดยันช็อตสุดท้าย หรือก็คือได้ทำหน้าที่ในเชิงบันเทิงคดีเบื้องต้นแล้ว แต่เมื่อขุดลึกไปอีกเราจะเห็นโครงสร้างเรื่องการเมืองและอำนาจแฝงอยู่ในเลเยอร์ล่างเช่นกัน
นั่นก็คือพระเอกเป็นเหมือนผู้นำ เรือเป็นเหมือนประเทศประเทศหนึ่ง กลุ่มคนบนเรือคือนักการเมือง และปูยักษ์นั้นเป็นเหมือนตัวกระตุ้นสัญชาติญาณดิบว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ซื่อสัตย์ในหน้าที่หรือรักตัวเองมากกว่ากัน ซึ่งคำตอบของทั้งสองเลเยอร์ก็ออกมาน่าผิดหวังไม่น้อย คนพวกนี้ไม่เพียงแต่จะเห็นแก่ตัว พวกเขายังลอบสังหารพระเอก 1 คน เพื่อรักษาชีวิตตัวเองในระดับปปัจเจกที่ส่งผลให้เกิดการฆ่าสังหารเพิ่ม หรือเป็น ‘การฆ่าเพื่อที่จะก่อให้เกิดการฆ่าเพิ่ม’ แทนที่จะฆ่าปู และนั่นคงเป็นสาเหตุแต่แรกที่ Torrin ไม่ชวนทุกคนหักเหลี่ยมและสังหารปูยักษ์ เพราะไม่มีใครในที่แห่งนี้ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่ต่อเลยซักคน
ส่วนตอนสุดท้ายที่ชื่อ Jibaro (อ่านว่า ฆีบาโร ตามภาษาสเปน) เป็นตอนที่ดูโดดเด่นด้านวิช่วลอย่างทะลุทะลวง หลายคนติดใจงานด้านภาพของผู้กำกับอัลเบอร์โตจาก The Witness แต่นี่คือการยกระดับไปอีกขั้นเพราะคือเรื่องที่ใช้เวลาทำราวๆ 2 ปีที่ว่า ใช้ทีมงาน 75-80 ชีวิตของสตูดิโอ Pinkman.TV เนรมิตชุด เกล็ดทองคำ สร้อยมุก อัญมณี น้ำสาดกระเซ็น และป่าไม้ การเคลื่อนกล้องที่จงใจทำให้เครียดและอึดอัด กับการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติด้วยการผสมผสานระหว่างการวาด 2D และ 3D เพื่อแลกมาด้วย 17 นาทีอันสวยงามแต่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งนี้
Jibaro คือเรื่องราวเกี่ยวกับอัศวินหูหนวกและปีศาจไซเรน ที่การที่คนหนึ่งไม่ได้ยินเสียงและอีกคนใช้เสียงแล้วจะมีแต่คนตาย ทำให้ทั้งคู่ต่างก็ดึงดูดเข้าหากันและกัน จนจบแบบโศกนาฏกรรม ตอนนี้ผู้กำกับต้องการที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ประเภท toxic relationship กล่าวได้ว่านี่คือการจินตนาการใหม่ของเรื่องใกล้ตัวมากๆ ในรูปแบบของสัญลักษณ์สื่อความหมายเหมือนที่เขาเคยทำไว้กับ The Witness ในประเด็นคนรักไม่ยอมสื่อสารและไม่เข้าใจกันจนเป็นความสัมพันธ์ที่เหมือนฆ่ากันวนลูปนั่นเอง
จริงๆ แล้วนี่ก็เป็นเรื่องราวที่ละม้ายคล้ายกับเรื่องราวของไซเรนที่ใช้รูปลักษณ์และเสียงร้องอันไพเราะหลอกล่อชาวเดินทะเลมาสู่ความตาย เพียงแต่เป็นฉบับสาวไซเรนขี้เหงา คลั่งรัก นักเต้น contemporary dance (การเต้นร่วมสมัย) กรีดร้องด้วยเสียงที่น่ากลัวแทนที่จะน่าฟัง และมีโลกที่ถูกจำกัดไว้ในขอบเขตไม่กว้างขวางนัก เล่าด้วยกลิ่นอาย Spanish จากตัวละครและในภูมิทัศน์แบบป่าเปอร์โตริโก (ประเทศบ้านเกิดของผู้กำกับ) ทั้งยังแสดงถึงความเป็น romantic-tragedy ตั้งแต่การออกแบบบึงที่ใช้เล่าเรื่องราวด้วยภาพมุมสูงรูปหัวใจ ที่พอมีเลือดเข้ามาเติมเต็ม เปรียบได้กับการเติมเต็มหัวใจที่ว่างเปล่าด้วยความรักที่มาพร้อมกับความเจ็บปวด—คุณสมบัติดาบสองคมของความรักด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว
ความ toxic ที่ว่าถูกถ่ายทอดด้วยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสียงกรีดร้องที่ที่หวีดใส่ ยิ่งเข้าใกล้ไปหา (ซึ่งสร้างความรู้สึกสวนทางอย่าง toxic ได้เป็นอย่างดี), การดันทุรังจูบและแตะเนื้อต้องตัวแม้ว่าอีกฝ่ายจะเลือดออก ก็แสดงถึงการยัดเยียดความรักกับการฝืนรัก, ความรักของผู้ล่าทั้งคู่ คนหนึ่งมีดาบ คนหนึ่งมีเสียง กับการแสดงให้เห็นว่าการรักกัน คุณสมบัติพื้นฐานอาจไม่ใช่แค่องค์ประกอบเดียวที่ต้องพิจารณา
ปีศาจไซเรนหลงรักอัศวินแค่เพราะเขาแตกต่างและมีภูมิต้านทานเสียง ในขณะเดียวกันอัศวินก็สนใจในตัวไซเรน ด้วยเหตุผลที่ไม่เพียงพอแต่สุดท้ายเมื่อไปกันไม่ได้ อัศวินเลือกกอบโกยด้วยการขอดเกล็ดและช่วงชิงอัญมณีของมีค่าออกไปจากตัวเธอจนต้องหลั่งเลือด ส่วนเขาเมื่อได้รับเลือดไซเรน กลับได้ยินเป็นปกติ ส่งผลให้สุดท้ายเธอที่เหลือไว้แต่ความช้ำรักในใจ จึงเลือกส่งอัศวินไปนอนก้นบึ้งร่วมกับอัศวินคนอื่นๆ ที่บอกว่า เขาก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนอื่นเท่าไหร่
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เรียกซีซั่นนี้ว่าบทกวี นอกจากแต่ละตอนจะมีสไตล์การเล่าเรื่องราวที่มองเห็นเป็นคำพูดบรรยายทั้งอย่างดิบเถื่อน รุนแรง จนถึงวิจิตรงดงามแล้ว คือความละเอียดในดีเทล หรืออันที่จริงต้องบอกว่าเป็นตัวถ่วงน้ำหนักเฉลี่ยในตราชั่งสองด้านที่กดให้ด้าน ‘วรรณกรรมใช้คำบรรยายสวยงาม’ มีน้ำหนักมากกว่าอีกฝั่งด้วยเรื่องเดียวได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว
สุดท้ายเมื่อพิจารณาดูภาพรวมซีซั่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่าทุกตอนล้วนเกี่ยวข้องกับความตายทั้งสิ้น ซึ่งถ้าชีวิตคือฝั่งซ้ายและความตายคือฝั่งขวา โดยที่จะมีหุ่นยนต์หรือไม่ก็ได้ Love, Death + Robots Vol.3 คือซีซั่นที่หนักขวาที่สุดในบรรดา 3 ซีซั่นของซีรีส์เรื่องนี้ แต่แม้จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับความดับสูญ ความรู้สึกรอคอยอยากดูอีกที่ตะโกนร้องในใจว่า “ไม่พอ เอามาอีก!” กลับมีชีวิตอย่างสวนทางมากๆ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งซีซั่นที่บอกเราว่าอนิเมชั่นซีรีส์เรื่องนี้เป็นมากกว่าเรื่องราว เพราะมันคือ ‘ประสบการณ์’ ที่มากกว่าการเล่าเรื่องด้วยภาพ