ฌอง-ปอล ซาตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอาจเคยกล่าวไว้ว่า “Hell is other people” (นรกคือคนอื่น) วลีอันโด่งดังนี้สื่อความหมายในเชิงที่ว่า นรกที่แท้จริงนั้นไม่ได้เหมือนในเรื่องเล่าจินตนาการหรืออยู่ด้านล่างของผืนดิน แต่อยู่ในใจเรา อยู่ที่ว่าเราจะปล่อยให้คำพูดของผู้อื่นมากำหนดตัวเราและทำให้เรามีอารมณ์ โกรธ เศร้า เครียด สิ้นหวัง หดหู่ ได้แค่ไหน แต่สำหรับคนผิวดำในช่วงเวลาเนื้อเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ นรกเป็นของจริง และนรกคือส่วนนึงของชีวิตประจำวันของพวกเขาไปเสียแล้ว
Lovecraft Country เป็นซีรีส์คุณภาพอีกเรื่องของช่อง HBO ที่อยากเชิญชวนให้ดู ซีรีส์ที่ตัวเนื้อเรื่องมีฉากหน้าเป็นการออกเดินทางผจญภัยในโลกสยองขวัญ-แฟนตาซี-ไซไฟ ส่วนแบ็คกราวน์นั้นตีแผ่ประเด็นสีผิวกับการเคลื่อนไหว Black/All Lives Matter ได้อย่างสอดรับกัน ในรูปแบบของซีรีส์ fantasy black horror ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของ เอช.พี. เลิฟคราฟต์ (H.P. Lovecraft)
หากใครยังไม่รู้จัก เอช.พี. เลิฟคราฟต์ คือนักแต่งนิยายเรื่องสั้นชื่อดังที่ผลงานถูกนำไปตีพิมพ์และสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง งานเขียนของเลิฟคราฟต์เป็นที่ฮือฮาและนิยมชมชอบจนถึงทุกวันนี้หลังการเสียชีวิตในปี ค.ศ.1937 เพราะความแปลกใหม่ สไตล์ชัดเจนไม่เหมือนใคร ที่มักจะพูดถึงความสยองขวัญน่ากลัวที่เป็นลูกผสมระหว่างความสยองกับไซไฟแฟนตาซี ในรูปของเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบรรพกาลตัวใหญ่ยักษ์ สัตว์ประหลาดหนวดๆ ดีไซน์น่าขนลุก และความมืด ที่ถูกเรียกว่า “Lovecraftian horror” เช่นเรื่องที่น่าจะผ่านหูผ่านตาใครหลายๆ คนมาแล้วอย่าง The Call of Cthulhu โดยเขามักจะสอดแทรกสัญญะที่เชื่อมโยงไปยังสภาพจิตที่ไม่ปกติ ความหวาดวิตกจากการอพยพและเดินทาง กับประเด็นการเหยียดผิวให้เห็นอยู่เสมอ
ชายคนนี้เป็นผู้สร้างอิทธิพลและแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนและนักทำหนังหลายคน เช่น สตีเฟน คิง (Stephen King), เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg), คนออกแบบ Xenomorph ใน Alien, จุนจิ อิโต้ และอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ แมตต์ รัฟฟ์ (Matt Ruff) ที่นำประเด็นสีผิวมาต่อยอดเป็นนิยายที่มีชื่อว่า Lovecraft Country
ซีรีส์ดัดแปลงจากนิยาย Lovecraft Country นี่แหละครับที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Atticus “Tic” Freeman อดีตชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ต้องออกเดินทางตามหาพ่อที่หายตัวไป และพบกับเรื่องราวประหลาดๆ มากมายที่ไม่รู้ว่าจะนิยามว่าอะไรดี เพราะมีหมดทั้งสัตว์ประหลาด การเล่นกับเรื่องเวลา หุ่นยนต์ ตำนานพื้นบ้าน บ้านผีสิง ผจญภัยแบบ Indiana Jones การคืนชีพ น้ำยาแปรงร่าง และเวทมนตร์ อำนวยการสร้างโดยโปรดิวเซอร์ เจ.เจ. เอบรามส์ (J.J. Abrams) จาก Star Trek และ Super 8 กับ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) จาก Get Out และ Us ที่ถ้าดูแล้วจะเห็นได้ว่าคนแรกมีอิทธิพลด้านความเป็นอวกาศ (cosmic) กับสัตว์ประหลาด ในขณะที่คนหลังมีอิทธิพลด้านประเด็นสีผิวอย่างชัดเจน
Lovecraft Country เป็นซีรีส์ที่ค่อนข้างสนุก ดูง่าย จุดเด่นของเรื่องคือเนื้อหาแต่ละตอนที่ไม่เคยคาดเดาอะไรได้เลยว่าเกี่ยวกับอะไร และกำลังได้ดูอะไร ถือเป็นความคุ้มค่าที่เราได้ดูอะไรที่หลากหลายภายใต้ซีรีส์เรื่องหนึ่ง แม้ว่านี่จะไม่ใช่ซีรีส์จบในตอนก็ตาม
ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ขาดเอกภาพแต่อย่างใด เพราะซีรีส์ใช้การเชื่อมโยงแต่ละเอพิโซดด้วยตัวละครหลักกับมีเนื้อเรื่องในโครงที่ใหญ่กว่าครอบไว้อยู่แล้ว (เหมือนที่ เด็กใหม่ The Series มีแนนโน๊ะเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวแม้จะย้ายไปโรงรียนใหม่ทุกเอพิโซด) และหากมองดีๆ ในแต่ละเอพิโซดจะเป็นการหยิบยกส่วนใดส่วนนึงของนิยายและเรื่องสั้น เอช.พี. เลิฟคราฟต์ มาใช้ ราวกับว่านี่คือหนังผจญภัยในสวนสนุกหลากธีมยังไงอย่างงั้น
สิ่งที่ขับเคลื่อนตัวซีรีส์ให้เดินไปข้างหน้ามีอยู่สองส่วน คือส่วนที่สยองขวัญหลุดโลก กับส่วนที่เล่าถึงความน่ากลัวของมนุษย์ด้วยกัน โดยที่ส่วนแรกทำหน้าที่ในการช่วยเล่าเรื่องและถ่ายทอดประเด็นต่างๆ ของส่วนหลังได้เป็นอย่างดี
นอกจากกลุ่มตัวละครหลักต้องเจออะไรพิลึกๆ เอาตัวรอด และใช้ชีวิตแบบถูกเชือกรัดคอทุกเอพิโซดแล้ว (ทั้งภัยมาหาและนำตัวเองไปหาภัย) คือประเด็นการเหยียดผิวภายใต้สภาพแวดล้อมของฝั่งใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1950s ที่ขึ้นชื่อเรื่องเป็นเขตที่เคยให้มีการค้าทาสได้ และแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแต่ฝันร้ายคนผิวดำก็ยังคงดำเนินต่อ รวมถึงอุดมไปด้วยการเหยียดผิวและการแบ่งแยกเนื่องจากเป็นยุคที่อยู่ภายใต้ ‘กฎหมาย จิม คราว’ (Jim Crow laws)
จิม คราว คือตัวละครตลกผิวดำแสดงโดยคนผิวขาวที่เอาสีดำมาทาตัวในเชิงล้อเลียน และมีการเรียกกฎหมายของรัฐฝั่งใต้ที่ดูเอื้อและสนับสนุนการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและสีผิวว่ากฏหมาย จิม คราว ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกตั้งแต่ระดับเล็กๆ อย่างการเข้าร้านอาหาร เข้าห้องน้ำ การใช้ขนส่งสาธารณะ การพูดแสดงความเห็น และแตะเนื้อต้องตัวคนผิวขาว ไปจนถึงการปิดกั้นโอกาสในการทำงาน การปฏิบัติต่อกันราวกับไม่ใช่มนุษย์ และการทำร้ายกับก่อกวนคนดำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงแต่จะปล่อยให้ลอยนวล แต่ยังใช้อำนาจในการกระทำเองตามอำเภอใจด้วย
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวละคร จอร์จ ฟรีแมน (George Freeman) ลุงของ ทิก (Tic) ออกเดินทางเพื่อเขียน ‘Safe Negro Travel Guide’ หนังสือบอกเส้นทางในการเดินทางที่ปลอดภัยและเส้นทางหลีกเลี่ยงการปะทะสำหรับคนดำ เหมือนกับหนังสือทำนองเดียวกันที่มีอยู่จริงอย่างในหนัง Green Book
หมัดฮุกที่ทำให้ให้เรารู้สึกว่าอยากดูซีรีส์เรื่องนี้ต่อเกิดขึ้นตั้งแต่เอพิโซดแรก และมันไม่ใช่สัตว์ประหลาดสุดโหดน่ากลัวหรืออะไรที่เหนือธรรมชาติ (แม้เราคาดหวังว่าจะได้ดูอะไรแบบนั้น และเราก็ได้อย่างสมใจก็ตาม) แต่เป็นความโหดร้ายที่คนผิวขาวปฏิบัติต่อคนผิวดำ รวมถึงการเปิดเกมล่าสัตว์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้ต้องคิดใหม่ว่า ผู้มีอำนาจในยุคนั้นจริงๆ แล้วพวกเขาบังคับใช้กฎหมายเพื่อประชาชน หรือต้องพูดว่าใช้เพื่อ ‘คนผิวขาว only’ กันแน่? ในขณะที่อำนาจในคราบตราประดับและเครื่องแบบดันกลับด้านกลายเป็นการมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรกับคนผิวดำก็ได้
ในเอพิโซดหลังจากนั้นก็เช่นกัน นอกจากที่จะต้องรับมือกับสิ่งที่ถาโถมเข้าใส่ คนเหยียดผิวคืออุปสรรคอันใหญ่บิ๊กเบิ้มระหว่างทางเสมอ ทำให้อะไรๆ ลำบากขึ้น เป็นตัวขับเคลื่อนหักเหทิศทางเรื่องราว และยังเป็นบิ๊กบอสที่แท้จริงอีกด้วย
มีฉากนึงในเอพิโซดหลังๆ ที่เพื่อนทหารขาวเกาหลีของแอตติคัส (หรือทิก) พูด ณ ประเทศเกาหลีว่า “อยู่นี่คนเรียกผมว่าไอ้หรั่ง ส่วนที่อเมริกาเรียกผมว่าไอ้หลี”
บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าการเหยียดผิวและการไม่ยอมรับเกิดขึ้นทุกที่ กับทุกสีผิว เชื่อว่านั่นคือสาเหตุที่มีตัวละครเชื้อสายเอเชียในเรื่อง เพราะตั้งแต่แรกแม้มนุษย์เท่ากัน แต่สำหรับยุคสมัยที่เลวร้ายในช่วงนั้นหรือแม้จะทุกวันนี้ การย้ายไปอยู่ พูดภาษาถิ่นได้ การได้รับการอนุมัติให้เป็นประชากร และตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ในประเทศใดๆ ที่ไม่ได้ตรงกับเชื้อชาติ ต่อให้ทางกฎหมายถูกต้องแค่ไหนพวกเขาก็ยังเป็นคนนอกนอกในสายตาของคนเหยียดผิวอยู่ดี วลีที่ว่า “นรกคือคนอื่น” จึงทั้งจริงในแง่ที่ผู้ถูกกระทำจะเก็บมาคิดหรือไม่ กับจริงในอีกแง่ที่คนคนหนึ่งสร้างนรกให้อีกคนหนึ่งได้อย่างไรบ้าง และสำหรับเรื่องนี้ มันจริงยิ่งกว่าจะเป็นเรื่องของการคิดไม่คิด
คนผิวดำทั้งในซีรีส์และเรื่องจริงที่อาศัยอยู่ในแถบใต้ของอเมริกา ไม่ว่าพวกเขาจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนผิวดำ เป็นแอฟริกัน-อเมริกันหรือไม่ เห็นคุณค่าในตัวเองแค่ไหน สภาพแวดล้อม กับสิ่งที่คนขาวเหยียดผิวกระทำกับพวกเขา การแสดงความรังเกียจ ทำร้ายด้วยคำพูด ทำร้ายด้วยร่างกาย วิธีต่างๆ นานาที่จะสรรหามาเหยียดและด้อยค่า มันเป็น “นรกที่ถูกยัดเยียด” ให้ และเป็นฝันร้ายที่พวกเขาตื่นมาต้องเจอในทุกๆ วัน แค่มีตัวตนอยู่หรือหายใจเฉยๆ ก็ผิดได้ นั่นรวมถึงเรื่องการยอมรับในเพศทางเลือกของคนสมัยนั้นที่ซีรีส์ใส่มาในตัวละครหนึ่งเช่นกัน
ในส่วนของความแฟนตาซี เมื่อมองไปที่โครงเรื่องโดยรวมจะเห็นว่าสะท้อนประเด็นสีผิวได้อย่างน่าสนใจ มีทั้งการพาตัวละครหลุดโลกเพื่อสะท้อนถึงการมีตัวตนและความสามารถของผู้หญิงที่อยู่แต่บ้าน การถ่ายทอดสดการเอาตัวรอดของคนผิวดำในสถานการณ์คับขัน บ้านผีสิงที่เฮี้ยนเพราะคนดำที่ถูกฆ่าตาย ครอบครัวผิวขาวกับลัทธิที่จ้องจะใช้เลือดชายผิวดำมามอบความเป็นอมตะให้ตัวเอง น้ำยาแปลงร่างที่ทำให้สาวผิวดำกลายเป็นหญิงผิวขาวจนได้รับเข้าทำงานและถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และอีกมากมาย
นอกจากนี้ซีรีส์ยังนำเรื่องจริงเหตุการณ์จริงมาสอดแทรกกับเนื้อเรื่องหลักด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- การทดลองผิดมนุษยธรรมกับคนผิวดำทั้งชายและหญิงของศัลยแพทย์สุดโหดเหี้ยม เจ มาเรียน ซิมส์ (J. Marion Sims) ที่มีการนำชื่อเหยื่อจริงมาใช้ในเรื่องด้วย
- เหตุการณ์สังหารหมู่ทัลซา (Tulsa race massacre) ปี ค.ศ.1921 ที่รัฐโอคลาโฮมาที่ถูกขนานนามว่าเป็น “เหตุการณ์อันน่าสลดที่สุดของประวัตศาสตร์อเมริกาอันเกิดจากความรุนแรงของการเหยียดผิว” (มีในฉากเปิดซีรีส์ Watchmen เช่นกัน)
- เด็กชาย เอมเมตต์ ทิลล์ (Emmett Till) อายุ 14 ปีที่ถูกแขวนคอเสียชีวิตเพียงเพราะคำโกหกของผู้หญิงผิวขาว
- รวมถึงมีฉากที่สะท้อนถึงการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่ปลุกกระแสการประท้วง Black Lives Matter ด้วยเช่นกันครับ
ธีมของซีรีส์เรื่องนี้คือการบอกว่า เหนือภยันตราย เหนืออำนาจเวทมนตตร์บูชายัญ สัตว์ประหลาด สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ และเหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่า ‘มนุษย์’ ตัวแปรที่ไม่ว่าจะไปอยู่ในสถานการณ์แบบไหนทั้งในไซไฟแฟนตาซีหรือโลกธรรมดา ก็สามารถทำให้เกิดเรื่องสยองขวัญน่าหดหู่ขึ้นได้ โดยเฉพาะการเหยียดผิวกับการมองคนไม่เท่ากัน เป็นสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนให้คนคนหนึ่งทำสิ่งเลวร้ายที่ตัวเขาเองก็อาจไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะทำมาก่อนได้เลย
แอปเปิลไม่ว่าจะพันธุ์ไหน จะสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง เมื่อปอกเปลือกรสชาติอาจไม่แหมือนกันก็จริง แต่ก็ยังเป็นแอปเปิลวันยังค่ำ มันจะไม่มีวันเป็นสาลี่หรือละมุดไปได้ มนุษย์ก็เช่นกัน สุดท้ายหากทำการปอกลอกผิวหนังออก จะผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวน้ำตาล หรือสีผิวอื่นๆ สุดท้ายทุกคนก็ล้วนเป็นมนุษย์ที่มีมัดกล้ามเนื้อสีแดง เลือดสีแดง และมีอวัยวะภายในที่ไม่ต่างกัน
Lovecraft Country พูดถึงค่านิยมอันน่ากลัวของยุคสมัยเก่าที่ทำให้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างเป็นปัญหาใหญ่ (ซึ่งจากที่เห็นในปัจจุบัน ดูเหมือนมันจะเป็น future perfect continuous ซะด้วย) ที่ดูแล้วน่าเก็บมาคิดว่าทำไมการที่เราจะเป็นยังไงถึงต้องรอให้ได้ความยอมรับจากคนอื่น ทั้งที่แต่ละคนเป็นปัจเจกและไม่มีใครเหมือนกันอยู่แล้ว ต่อให้สีผิวเหมือนกัน หน้าตาทำนองเดียวกันก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ไม่ใช่หรือ?