“ชั้นเก่งกว่าอีนั่นเยอะแยะ (ประโยคนี้มักจะต้องใช้สรรพนามเป็น ไอ้ หรือ อี เสมอ เพราะผู้พูดคับแค้นใจมาก) ทำไมมันถึงได้โอกาสตลอดเวลา มันนะเลียเจ้านายเก่ง ความสามารถก็ไม่มี พอไปหาลูกค้าทีก็ไปพูดเสียๆ หายๆ ใส่คนอื่น แล้วก็เชิดชูหางตัวเอง เพราะเป็นอย่างนี้มันถึงได้โอกาสไงล่ะ ถ้าชั้นได้โอกาสบ้างนะ ชั้นจะทำให้ดูว่าจริงๆ แล้วงานแบบนี้มันต้องทำยังไง!!!” (หัวร้อน จนระเบิดเป็นพ็อพคอร์นกลิ่นโชยไปทั่วร้านกาแฟ)
“ผมมีความสามารถ แต่ไม่เคยได้รับโอกาสเลยครับ ถ้าพี่ให้โอกาสผมสักหน่อย พี่คงจะได้เห็นว่าผมทำอะไรได้บ้าง” ใจความเดิม แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ซอฟท์ลง
คุณเคยสงสัยไหมครับ? โชค กับความสามารถ อะไรสำคัญกว่ากัน? เรามีคำพูดกิ๊บเก๋ (ยังมีคนใช้คำนี้อีกเหรอวะ – ผมนี่แหละ!) ที่ว่า Opportunity is when luck meets preparation หรือ โอกาสก็คือการที่โชคมาประสบกับการเตรียมพร้อมพอดี ถ้าเขียนเป็นสมการก็คงได้ว่า Opportunity = Luck x Preparation แต่ปัญหาก็คือ ในโลกจริงๆ เราไม่รู้น่ะสิครับ ว่ามันเป็น Luck กี่เปอร์เซนต์ และเป็น Preparation กี่เปอร์เซนต์
มีคนมากมายที่ทำทุกอย่างเหมือนกับคนที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาทุ่มเทแรงกายแรงใจให้งาน มีการเตรียมพร้อมและรอบรู้ในทุกสิ่งอันที่ควรจะรู้ แต่พวกเขาก็ไม่เคยไปถึงจุดเดียวกับคนที่พวกเขามองเป็นไอดอล – ทำไม?
ถ้ามองให้กว้างขึ้น – ในสังคมของเราความสำเร็จและความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ เมื่อก่อนสัดส่วนอาจเป็น 80:20 นั่นหมายความว่าทรัพย์สิน 80% ตกอยู่ในมือคนเพียง 20% ตามกฎแห่งกำลังของพาเรโต (Pareto’s Law) ในตอนนี้การกระจุกตัวน่าจะเข้มข้นกว่านั้นมากแล้ว มีงานศึกษาพบว่า คนร่ำรวยที่สุดในโลกเพียง 1% มีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 50% ของทรัพย์สินทั่วโลก ในขณะที่คน 70% มีทรัพย์สินรวมกันเพียง 2.7% เท่านั้น
ในขณะที่ทรัพย์สินและความร่ำรวย (ซึ่งอาจพูดรวมๆ ได้อย่างไม่รัดกุมนักได้ว่า ‘ความสำเร็จ’) ดำเนินตามกฎของพาเรโต แต่การกระจัดของความสามารถ – หรืออย่างน้อย IQ – ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ประชากรโลกมีความสามารถตามกราฟแบบระฆังคว่ำมากกว่า นั่นหมายความว่า คนส่วนมากจะมีความสามารถกลางๆ ในขณะที่มีคนจำนวนน้อยมากๆ มีความสามารถสูงผิดมนุษย์มนา (เขาอาจฉลาดกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่าหรือมากกว่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเขา ‘ฉลาดกว่าคนพันล้านคนรวมกัน’ เหมือนการกระจายทรัพย์สินแน่ๆ) และมีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่มีความสามารถต่ำผิดมนุษย์มนา
ถ้าความสามารถส่งผลต่อความสำเร็จจริง แล้วทำไมการกระจายตัวของทรัพย์สินจึงไม่เป็นไปตามความสามารถล่ะ?
โชคชะตาสำคัญมีส่วนสำคัญแค่ไหน?
ไม่นานมานี้ มีกลุ่มนักวิจัยจากม. คาตาเนียในอิตาลีทำงานวิจัยชื่อ Talent Vs. Luck: The Role of Randomness in Success and Failure เพื่อตอบคำถามข้อนี้ ในการทดลองนี้ พวกเขาสร้าง ‘โลกจำลอง’ ขึ้นมา เป็นโลกสี่เหลี่ยมที่มีประชากรจำลอง (ให้นึกว่าเป็นคล้ายๆ หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ก็ได้) 1,000 คน แต่ละคนในโลกจำลองนี้มีความสามารถแตกต่างกัน การกระจายความสามารถจะเป็นกราฟระฆังคว่ำ ทั้ง 1,000 คนนี้จะดำเนินชีวิตปกติของตน (ซึ่งก็คือการเดินไปมา) จนสิ้นอายุการทำงาน (ในการทดลองนี้ใช้เวลารันเสมือนยาวนาน 40 ปี เพื่อจำลองช่วงชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุ 20 จนถึง 60)
ทีนี้ จุดที่สนุกอยู่ตรงที่ว่า ในโลกจำลองแห่งนี้ เราจะมีการจำลอง “โชคดี” กับ “โชคร้าย” ขึ้นมาด้วย โชคดีจะถูกแสดงออกมาเป็นจุดสีเขียวๆ โชคร้ายจะเป็นจุดสีแดงๆ จุดเหล่านี้ทั้งหลายจะลอยไปลอยมาแบบสุ่ม ถ้าไปตกอยู่ที่หัวคนไหนก็จะถือว่าคนนั้น “โชคดี” หรือ “โชคร้าย” ตามแต่ว่าจะเจอจุดเขียวหรือแดง
เหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้สามแบบ
- ถ้าเรา (ประชากรคนหนึ่งในโลกสมมติ) ไม่เจอจุดเขียวจุดแดง ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น (เหมือนว่าใน 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีอะไรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของเราเป็นพิเศษ)
- ถ้าเราเจอจุดเขียว นี่หมายความว่าเราโชคดีในหกเดือนที่ผ่านมา เรามีโอกาสมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า “หาก” เรามีความสามารถมากพอ (rand[0,1] < ระดับความสามารถ – ซึ่งไม่ได้หมายความว่าถ้ามีความสามารถมากแล้วจะได้ทรัพย์สินเพิ่มอย่างแน่นอนนะครับ – แค่หมายความว่า ‘มีความเป็นไปได้’ เพิ่มขึ้น)
- ถ้าเราเจอจุดแดง นี่หมายความว่าเราโชคร้ายในหกเดือนที่ผ่านมา ทรัพย์สินของเราจะลดลงครึ่งหนึ่ง (ไม่มีโอกาสให้ใช้ความสามารถด้วย)
ในการรันระบบจำลองเช่นนี้ 100 ครั้ง นักวิจัยพบว่า “คนที่มีความสำเร็จในชีิวิตสูง ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีความสามารถสูงเลย” แต่ความสำเร็จขึ้นกับโชคชะตามากกว่า พวกเขาเขียนไว้ว่า “ทรัพย์สินของคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดสูงกว่าคนที่มีความสามารถมากกว่าเขาถึง 128 เท่า” (คนคนนี้มีความสามารถกลางๆ ค่อนไปทางดี)
ดูตัวอย่างคนสองคนด้านล่าง คนด้านซ้ายเป็นคนที่มีความสำเร็จสูงสุดจากการรันครั้งหนึ่ง เขามีความสามารถที่ 0.61 หรือ 61% (ซึ่งดี แต่ไม่มาก) เมื่อจบการรัน เขามีทรัพย์สิน 2500 กว่าๆ ในขณะที่ด้านขวา เป็นคนที่ล้มเหลวที่สุดในการรันครั้งนี้ เขามีความสามารถสูงกว่าคนด้านซ้าย คือมีความสามารถที่ 0.74 หรือ 74% ตอนจบการรัน เขาไม่เหลือทรัพย์สินเลย
ความแตกต่างคือคนทางด้านซ้าย พบกับโชคดี 8 ครั้งตลอดชีวิตการทำงาน ในขณะที่คนทางด้านขวา เจอโชคดีเพียง 1 ครั้ง แต่เจอโชคร้าย 12 ครั้ง (โอ้โห) เมื่อรันออกมาแล้ว นักวิจัยพบว่าทรัพย์สินตอนจบการรันนั้นถูกแบ่งสัดส่วนคล้ายกับโลกจริง นั่นคือดำเนินตามกฎกำลังในหมู่ประชากร
ที่พวกเขาทำการทดลองเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะถ่มถุยพวกที่ประสบความสำเร็จว่าเป็นแค่ “พวกโชคดี” หรือบอกให้เราสิ้นหวังเพราะยังไงๆ เราก็ทำอะไรกับโชคไม่ได้นะครับ แต่พวกเขาพยายามทดลองเพื่อแสวงหาโมเดลการกระจายทุนที่มีประสิทธิภาพให้กับสังคมต่างหาก
คำถามของนักวิจัยคือ “การมอบทุนให้กับคนที่ประสบความสำเร็จโดยดูจากผลงานในอดีตนั้นเหมาะสม หรือนำสังคมไปสู่จุดที่มีประสิทธิภาพที่สุดจริงหรือ เมื่อเทียบกับการมอบทุนจำนวนน้อยกว่าให้กับผู้คนจำนวนมาก” พวกเขาทดลองกระจายทุนผ่านหลายนโยบาย เช่น “เท่าเทียมทั้งหมด” “ให้ทุนกับคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด (naive meritocracy)” “ให้ทุนกับคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดส่วนใหญ่ และให้ทุนกับคนที่เหลือบ้างเล้กน้อย” หรือ “ให้ทุนแบบสุ่ม” ผลลัพธ์แสดงตามตารางด้านล่าง (เปรียบเทียบยากหน่อย เพราะใช้งบต่างกัน คอลัมน์ %SUCC TAL IND นับจากคนที่สามารถเลื่อนขั้นทางสังคมได้ คือมีฐานะดีกว่าตอนแรก แต่ที่นักวิจัยคิดว่าชัดเจนคือ “การให้ทุนโดยดูตามความสำเร็จที่ผ่านมานั้นไม่ดี” เพราะความสำเร็จไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสามารถ)
จากการทดลองทั้งหมด ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้สรุปผลว่า “คนที่ประสบความสำเร็จที่สุด แทบไม่เคยเป็นคนที่มีความสามารถสูงสุดเลย แต่เป็นคนที่อยู่ในระดับกลางๆ ต่างหาก” และ “ในปัจจุบันนโยบายต่างๆ มักมอบทุนให้กับผู้ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว เพราะคิดว่านั่นคือตัวชี้วัดความสามารถ นโยบายเหล่านี้จะยิ่งทำให้การณ์กลับร้ายลงอีก เพราะเป็นการให้ค่าปัจจัยสุ่ม (โชค) ต่ำเกินไป”
แน่นอนว่าการทดลองโดยใช้ระบบจำลองเช่นนี้ก็เป็นการลดทอนความซับซ้อนของโลกจริงลงไปมาก แต่ผมคิดว่าอย่างน้อย มันก็จะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาว่าแนวทางที่เรากำลังใช้เพื่อบริหารสังคมนั้นเหมาะสมอยู่หรือไม่ มันดูเบาโชคเกินไปหรือเปล่า และอย่างน้อย มันก็จะเป็นตัวช่วยรั้งอีโก้ของเราไว้
ทุกครั้งที่เราผยองว่าเรามายืนจุดนี้/ประสบความสำเร็จได้ด้วยความสามารถของตัวเอง ‘ล้วนๆ’ เราก็ต้องไม่ลืมว่า – แท้จริงแล้ว เราอาจเป็นคนที่มีจุดสีเขียวบนหัวมาตลอดชีวิตก็ได้
ปล. ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า “โชคสำคัญ ดังนั้นทุกคนจงไปซื้อหวย” หรือ “โชคสำคัญ ดังนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร รอโชควิ่งมาหา” นะครับ!
อ้างอิง / ที่มา
https://www.theguardian.com/inequality/2017/nov/14/worlds-richest-wealth-credit-suisse
https://arxiv.org/pdf/1802.07068.pdf