ยังจำการสอบที่ผ่านมาได้ไหม? ครั้งสุดท้ายที่คุณสอบคือวิชาอะไรกันบ้าง? ในช่วงวัยนักเรียน-นักศึกษานั้น แต่ละคนก็ต้องผ่านเรื่องการสอบกันมาเยอะแยะมากมาย ระดับความยากง่ายก็แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับความเข้มข้นในการเตรียมตัวอ่านหนังสือ
เราขณะที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสอบได้ ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา คือการสอบจากที่เพื่อวัดผลและเลื่อนชั้น ได้เริ่มกลายเป็น ‘การแข่งขัน’ อันดุเดือดระหว่างผู้เรียน ครอบครัว เรื่อยไปจนถึงสถาบันการศึกษาด้วยกันเอง
แม้เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของการสอบได้ หากแต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อสอบต่างๆ คือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน กล่าวคือ คนที่มีทรัพยากรเยอะกว่าก็จะได้รับโอกาสและความได้เปรียบทางการศึกษามากกว่าคนที่มีทรัพยากรน้อย พูดให้ถึงที่สุด ปัญหาช่องว่างระหว่างกลุ่มที่ถือครองต้นทุนทางสังคมกับคนที่ไม่มีกำลังถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ
The MATTER พูดคุยเรื่องนี้กับ อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องปัญหาในระบบการศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง นี่คือบทสัมภาษณ์ว่าด้วยกับดักที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย และทางออกที่ทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสำคัญ
อยากชวนอาจารย์เริ่มต้นอย่างนี้ก่อนว่า อะไรคือหลักการพื้นฐานของการสอบ
การสอบเป็นวิธีการหนึ่งของการวัดผลประเมินผล แต่การวัดผลประเมินผลไม่ได้มีแค่การสอบ
การวัดผลประเมินผลอาจเกิดขึ้นในบริบทชั้นเรียน หรือที่เรียกว่า Classroom Assessment ก็ได้ เช่น การวัดผลประเมินผลจากชิ้นงาน การแสดง การทำงานของเด็ก ดูจากงานที่มอบหมายให้ไปทำ จากการปฏิบัติจริง ฯลฯ แต่การสอบเป็นการวัดผลประเมินผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะมีสอบตั้งแต่ในชั้นเรียน ที่เรียกว่าสอบย่อย (Quiz) หรืออาจจะจัดสอบเป็นช่วง เมื่อจบหน่วยการเรียน หรือสอบกลางภาค (Midterm Exam) เป็นการวัดระหว่างทาง แล้วมีการสอบปลายภาค หรือ Final Exam เป็นการประเมินสรุปรวบยอด (Summative Evaluation) เพื่อจะดูว่าเมื่อถึงปลายทางของการเรียนรู้ ครบทั้งเทอมแล้ว ความรู้ความสามารถของผู้เรียนเป็นอย่างไร คะแนนจากการสอบเป็นส่วนหนึ่งที่ควรนำเอามารวมกับผลการวัดอื่น ๆ เช่น จากการให้คะแนนชิ้นงาน การทำงาน เพื่อนำมาสรุปรวมและประเมินผล แปลค่าว่า ผ่าน ไม่ผ่าน ผ่านระดับดีมาก ดี ปานกลาง น้อย เพื่อให้ผลสะท้อนกลับไปให้ผู้เรียนทราบ นี่คือหัวใจการวัดผลประเมินผล
แล้วมันจำเป็นแค่ไหน
ใช้การวัดผลด้วยการสอบแบบ Paper Test ประกอบได้ เพื่อทำให้มีความหลากหลายของการวัดผล เพราะบางเรื่องก็ต้องวัดจากความรู้ แต่ขณะเดียวกันบางเรื่องก็ต้องวัดจากการปฏิบัติจริง ขึ้นอยู่กับวิชา ถ้าวิชานั้นเป็นวิชาเน้นทักษะการปฏิบัติ การสอบอาจจะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในบริบทห้องสอบก็ได้ เช่น สอบทักษะกีฬา ก็ประเมินจากการปฏิบัติ เป็น Performance Assessment ไม่ได้เป็นการสอบ Paper Test
เวลาเราพูดเรื่องการสอบจะพุ่งไปที่เรื่องการสอบข้อเขียนในห้องสอบที่จับเวลา ซึ่งจะดูจากความเหมาะสมของจำนวนข้อสอบ ว่าเหมาะสมกับเด็กหรือเปล่า ออกข้อสอบที่วัดความรู้ในหมวดที่เป็นเรื่องความเข้าใจ การวิเคราะห์เบื้องต้น ทักษะบางด้านก็อาจจะพอวัดด้วยข้อสอบข้อเขียนได้ เช่น การเขียน การคำนวณ แต่ต้องยอมรับว่า Paper Test มีข้อจำกัด เพราะมันวัดไม่ได้ทุกเรื่อง เช่น ทัศนคติ ทักษะปฏิบัติ การสังเคราะห์ การประเมินค่า ฯลฯ แล้วก็ถ้าเกิดเป็น paper test ใหญ่ เช่น การสอบระดับชาติ ยิ่งมีข้อจำกัด เพราะมันจะต้องลดอคติที่เกิดขึ้นระหว่างความแตกต่างของโรงเรียนให้ได้ ขณะเดียวกันมันก็ต้องอ้างอิงกับตัวชี้วัดการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางฯ ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้เหมือนกัน แล้วก็ต้องมีความเป็นปรนัย คือ ใครตรวจก็ต้องให้คะแนนที่ไม่แตกต่างกัน
เพราะฉะนั้น มันก็เลยมักออกมาเป็นข้อสอบปรนัยหลายตัวเลือก มากกว่าข้อสอบอัตนัย ทั้งที่จริงแล้ว ข้อสอบอัตนัยก็สามารถใช้ในการวัดผลระดับชาติได้ ถ้ามีการเตรียมพร้อมผู้ตรวจที่ดี หลายประเทศก็สอบระดับชาติด้วยข้อสอบอัตนัย ทั้งการตอบสั้น ตอบยาว ประเทศหนึ่งที่มีการใช้ข้อสอบอัตนัยในการสอบระดับชาติ คือ ประเทศฝรั่งเศส สอบกระทั่งวิชาปรัชญา ฝึกให้เด็กเขียนตอบข้อสอบเชิงปรัชญา แล้วก็มีการฝึกครูให้มีมาตรฐานเดียวกันในการตรวจกระดาษคำตอบ มีเกณฑ์ในการให้คะแนนร่วมกันแล้วก็ ครูที่สอนในเมืองใด ก็ไม่ได้ให้คะแนนเด็กในเมืองนั้นต้องมีการส่งข้อสอบเป็นความลับ เพราะฉะนั้นคนตรวจจะไม่รู้ว่ากำลังตรวจข้อสอบของเด็กที่ไหน เพื่อลดอคติในการตรวจให้คะแนน ซึ่งก็ทำได้จริง และมีความน่าเชื่อถือ
เมืองไทยยังไม่ได้จริงจังกับการพัฒนาการสอบด้วยข้อสอบอัตนัยขนาดนั้น เรายังใช้ข้อสอบปรนัยเป็นหลักซึ่งมันมีข้อจำกัด เพราะวัดได้แค่ระดับความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ และการวิเคราะห์เบื้องต้น มันถามมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเกิดต้องการวัดการสังเคราะห์ ข้อสอบหลายตัวเลือก (multiple choice) มันไม่ได้เอื้อให้ตอบ มันก็เลยมีข้อจำกัดกับการสอบบางวิชา โดยเฉพาะวิชาทักษะปฏิบัติ เช่น บ้านเราเคยลองทำการวัดผลระดับชาติแบบ ONET วิชาสุขศึกษา ดนตรี ศิลปะ แล้วพบว่ามันไม่เมคเซนส์ ข้อสอบวิชาเหล่านี้มันไม่ควรเป็นข้อสอบในเชิงการวัดความรู้ สุดท้ายก็เลยทำให้มีการยกเลิกสอบวิชาเหล่านั้นไป
ทุกวันนี้การสอบเริ่มกลายเป็นการแข่งขันมากขึ้น คิดว่าที่มาของปัญหาคืออะไร
จริงๆ มันเป็นปัญหาลูกโซ่เลยมันเกิดจากการที่เราใช้ผลการทดสอบระดับชาติ (National Test) เพื่อใช้ในการกำกับ ติดตาม คุณภาพของการศึกษา ซึ่งเป็นที่มาของการสอบ O-Net ซึ่งเดิมมีเจตนาจะใช้ในการประเมินและติดตาม แต่เกิดปัญหาว่าเด็กไม่ตั้งใจทำข้อสอบ เลยเอาผลสอบ O-Net ระดับ ม.6 มาใช้ประกอบกับสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตรงนี้แหละที่เกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะทำให้โรงเรียนไม่ตรงไปตรงมาในการเตรียมเด็กสอบ เนื่องจากมันมีผลประโยชน์เกิดขึ้นกับเด็ก เพราะถ้า O-Net ต่ำ เด็กเอาไปยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ยาก มันก็เลยก็กลายเป็นต้องเน้นให้เด็กทำข้อสอบได้คะแนนเยอะๆ
ต่อมา เราเอาคะแนน O-Net มาใช้แม้กระทั่งการประเมินโรงเรียน เพราะการวัดมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยบอกว่าตอนนี้โรงเรียนมีปัญหารึเปล่า ถ้าเด็กในโรงเรียนนี้มีค่าเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ต่ำมาก มันก็เป็นตัวบอกว่าตอนนี้โรงเรียนนี้มีปัญหา
ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ การวัดผลระดับชาติของไทย เราวัดเอาตอนจบช่วงชั้น คือ ป.6 ม.3 และม.6 ขณะที่หลายประเทศไม่ได้เอาการสอบระดับชาติมาวัดตอนจบช่วงชั้น ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย เขาใช้การสอบระดับชาติเพื่อดูพัฒนาการของเด็ก เช่นที่รัฐวิคตอเรีย เขาสอบเด็ก ป.3 ตั้งแต่เด็กเดือนแรกหลังเปิดเทอม สอบจริงๆ แล้วก็รายงานผลเป็นรายบุคคล ขึ้นในเว็ปไซต์ ครูและผู้ปกครองสามารถเข้าไปดูผลคะแนนของเด็กเป็นรายบุคคลได้เลย จากนั้นเขาก็จะเอาคะแนนนี้แหละ มาใช้วางแผนพัฒนาผู้เรียน แล้วมีการติดตามดูว่าสองปีต่อมาเด็กคนเดิมมีการพัฒนาขึ้นอย่างไร โรงเรียนมีวิธีการพัฒนาเด็กอย่างไร พอเป็นแบบนี้เราก็จะเห็นว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนมีการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กคนเดิมอย่างไรบ้าง
นี่คือตัวอย่างของการใช้ผลการสอบระดับชาติมาใช้เพื่อวางแผนพัฒนาโรงเรียน ทำให้เวลาเขามีการประเมินโรงเรียน เขาก็จะประเมินจากสิ่งที่โรงเรียนทำ ทำให้การสอบมีส่วนช่วยในการวางแผนตามสภาพปัญหาจริงๆ เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน การวัดผลระดับชาติจึงเชื่อมโยงกับการประเมินการทำงานของโรงเรียนตามสภาพจริง และเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนางานการศึกษาของโรงเรียน พูดให้ง่าย คือ เอาบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานแบบที่เรามีสถาบันทดสอบแห่งชาติฯ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาฯ (สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาเชื่อมโยงกัน
ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นในการศึกษาไทย
ของเราต้องใช้คำว่าผิดที่ทาง พอเราห่วงว่าเด็กไม่ตั้งใจสอบ ก็เลยเอาคะแนนไปผูกกับการสอบคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย เอามาผูกกับการประเมินโรงเรียน ผูกกับการประเมินผู้บริหาร มันก็เลยเกิดความไม่ตรงไปตรงมาในการจัดการศึกษา
เช่น โรงเรียนก็จะสอนให้เด็กจบเร็วขึ้นกว่าหลักสูตรหน่อย แล้วก็มีช่วงการติวเด็ก ทั้งใช้ครูในโรงเรียนติวเอง ครูในโรงเรียนเครือข่ายของเด็กกันช่วยกันติว หรือหนักกว่านั้นคือเอาติวเตอร์มาติว ซึ่งสิ่งที่มันตามมาก็คือ การศึกษามันก็ไม่ตรงไปตรงมา เพราะมันไม่ได้ผลจากการสอนของครู มันมาจากการติว เพราะฉะนั้นมันกลายเป็น Teach For Test มันไม่ได้เป็นการ Teach เพื่อพัฒนาผู้เรียนจริงๆ มันกลายเป็นแค่ช่วยทำให้เด็กทำข้อสอบได้
ตอนนี้ผลข้างเคียงนี้มันรุนแรงมาก ถ้าโรงเรียนประเมินมาแล้ว ผลคะแนนอยู่ในกลุ่มต่ำ โรงเรียนจะซีเรียสจริงจังมาก เพราะมันเกี่ยวกับชื่อเสียงของโรงเรียน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรใช้คะแนน O-Net ในความหมายนี้ สมมุติว่าคะแนนเฉลี่ย O-Net ป.6 ของโรงเรียนปีนี้ต่ำ ปีหน้าไม่ได้แปลว่าจะต้องดีขึ้นทันที เพราะว่าเด็กก็เป็นเด็กคนละกลุ่ม นอกจากนี้ไม่ควรเอาคะแนนเฉลี่ยมาเปรียบเทียบจัดอันดับกันระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมมากๆ มีการสอบคัดเลือกเด็กเข้าเรียนเข้มข้น กับโรงเรียนที่มีเด็กๆ มาจากครอบครัวที่มีข้อจำกัดในการดูแลเด็กๆ อย่างในออสเตรเลีย เวลาเขาเปรียบเทียบ เขาจะเทียบคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนที่มีพื้นเพทางเศรษฐกิจสังคมของครอบครัวที่ใกล้เคียงกัน เพื่อดูว่าแต่ละโรงมีวิธีการอย่างไรในการพัฒนาเด็ก ไม่ใช่ดูแค่ผลลัพธ์ แต่ดูที่กระบวนการ เพื่อหาวิธีสนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนแต่ละโรง ซึ่งเจอปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนแตกต่างกัน
แต่ของบ้านเราตอนนี้เราใช้ผลสอบเหล่านี้เพื่อตัดสินโรงเรียน ถ้าคะแนน O-Net ไม่ขยับ มันจะมีผลกับโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะมาเคี่ยวเข็ญเอากับครูว่าสอนยังไงให้คะแนน O-Net ไม่ขยับขึ้น คุณครูก็จะมาสอนเอาเป็นเอาตายกับนักเรียนให้คะแนนขยับ ทีนี้มันก็ไม่ได้เป็นการสอนเพื่อเป้าหมายทางการศึกษาสิ มันแค่สอนให้ทำข้อสอบได้ มันก็ล้มเหลวแล้ว เพราะสุดท้ายการศึกษาไม่ได้จัดเพื่อการสอบแบบนี้ แต่มันต้องทำเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ไปตามเป้าหมายตามที่ระบุเอาไว้ในด้านต่างๆ
เราใช้การวัดผลประเมินผลผิดที่ผิดทาง ผลด้านลบจึงย้อนกลับมาที่ครูในโรงเรียน ทำให้ตอนนี้โรงเรียนอยู่ภายใต้ความกลัว เพราะเอาคะแนนมาผูกติดกับการประเมินคุณภาพโรงเรียน เคยมีคนคิดจะเอามาผูกกับการประเมินครูเป็นรายบุคคลด้วยนะ ถ้าทำจริงจะเรื่องใหญ่มาก เด็กแต่ละรุ่นก็จะถูกคาดหวังว่าต้องทำให้คะแนนเฉลี่ยขยับสูงขึ้นทุกปี แล้วครูก็จะถูกคาดหวังว่าต้องสอนเด็กให้ทำข้อสอบให้ได้ หาคนมาช่วยกันติวเด็ก มันก็ผิดไปจากเป้าหมายที่แท้จริงในการจัดการศึกษา
ถ้ามองในอีกมุม มันไม่ใช่เป็นเรื่องดีเหรอ เพราะเด็กก็คะแนนดีขึ้นรึเปล่า
คนที่ได้คะแนนดีขึ้นไม่ใช่เด็กคนเดิมนะ สอบ O-Net เสร็จ ป.6 รุ่นนี้เรียนจบ เลื่อนชั้นขึ้น ม.1 ไปแล้ว แล้วคุณจะมากะเกณฑ์ให้เด็กป.5 ที่ขึ้น ป.6 รุ่นต่อไปให้ได้คะแนนดีกว่ารุ่นที่แล้วได้อย่างไร ในเมื่อเด็กแต่ละรุ่นอาจจะมีความไม่เหมือนกัน เช่น มีเด็กย้ายเข้ามาจากต่างจังหวัดเยอะขึ้น ดึงคะแนนเฉลี่ยลงไปหน่อย ก็เป็นไปได้ ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบหาวิธีการพัฒนาเด็ก เช่น มีเด็กชาติพันธุ์ มีเด็กพัฒนาการช้าเรียนร่วม เด็กที่ติดตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานเข้ามาเรียน เราจะต้องหาวิธีช่วยพัฒนาเขา ทีนี้คุณไปคาดหวังให้ไปเก่งกว่ารุ่นที่แล้ว มันไม่ได้ไง เขาเป็นเด็กคนละคนกัน เด็กคนละรุ่นเอามาเทียบกัน แล้วมันเอาตัวนี้มาใช้ในการประเมินโรงเรียนไม่ได้ เพราะถ้าเกิดจะเทียบก็ต้องแฟร์ เทียบกับเด็กกลุ่มเดิม พอเป็นแบบนี้ เด็กก็ต้องแบกรับความกดดัน เพราะโรงเรียนจะคาดหวังค่อนข้างมาก
กลายเป็นเรื่องตลกที่เล่ากันว่า หนึ่งเดือนกว่าๆ ก่อนจะสอบโอเน็ตนี่ ครูก็ต้องดูแล ติวนักเรียนกันเข้มข้นมาก เพราะว่ามันเป็นการไป “สู้เพื่อโรงเรียน” ผู้บริหารฝากความหวังไว้กับครู ครูฝากความหวังไว้กับนักเรียนซึ่งเด็กไม่ควรแบกภาระเรื่องนี้
อาจารย์กำลังจะบอกว่า ตอนนี้การศึกษาเรากำลังดูแค่ผลปลายทาง มากกว่ากระบวนการที่ผ่านมา
ใช่ เราไม่สนใจระหว่างทาง ตอนนี้ทุกคนพุ่งไปที่ปลายทางอย่างเดียว แค่คะแนนสอบ O-Net แค่ผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทุ่มเทกันแค่ตรงนั้น ระดมเงินพ่อแม่ช่วยจ่ายให้เด็กหัวละหลายๆ บาทเพื่อเอามาใช้จ้างติวเตอร์ หาติวเตอร์ดังๆ เข้ามาติวเด็กก่อนสอบ อันนี้มันไม่ตรงไปตรงมา ไม่ได้เกิดจากความสำเร็จในการสอนของครูเลย มันเลยกลายเป็นการศึกษาที่หลอกกันไปกันมา คะแนนดีขึ้นเพราะว่าติวเตอร์มาสอนแนวทางในการทำข้อสอบ ที่เล่ากันขำๆ ว่า คะแนน O-Net ขยับแต่เด็กยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งเราเจอปัญหานี้มาตลอดนะ
ตอนนี้กระทรวงศึกษาฯ เองก็เริ่มตื่นตัวว่า ควรส่งเสริมเรื่อง Classroom assessment มากขึ้น เน้นประเมินในชั้นเรียน ประเมินเพื่อติดตามพัฒนาการของผู้เรียน เริ่มมีการกำหนดสัดส่วนว่า จะสอบเท่าไหร่ มีคะแนนเก็บในห้องเท่าไหร่ แล้วเวลาออกแบบชิ้นงานให้เด็กทำ มันจะบูรณาการตัวชี้วัดยังไงให้งานชิ้นนี้วัดได้หลายๆ เรื่อง หลายวิชา เน้นให้เด็กทำงานเป็น ประยุกต์ใช้ความรู้ทักษะเป็นจริงๆ
เราต้องไปให้พ้นจากแนวคิดเดิมแค่การประเมินผลเพื่อสรุปรวมผลของการเรียนรู้ (Assessment of Learning) ไม่ได้แล้ว ต้องมุ่งไปสู่การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) และการประเมินในฐานะการเรียนรู้ (Assessment as Learning) นั่นคือ สนับสนุนให้เกิดการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เขารู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองจะได้พัฒนาต่อ ครูต้องสังเกตเห็นการเรียนรู้ของพวกเขา และครูเองก็ได้เรียนรู้จากการประเมินผลว่าการสอนของตนเองส่งผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนอย่างไร เด็กที่แตกต่างกันต้องใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร
มันก็ตรงเลยกับประโยคที่ว่า เรียนจบไปก็ทิ้งความรู้
มันคือการเรียนเพื่อเอาไปสอบ แต่ถ้าเราเรียนเพื่อพัฒนาเด็กมันต้องเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กไป อย่างสอบ PISA (Programe for International Student Assessment) เนี่ยวัดสมรรถนะที่ติดตัวเด็ก คือ วัดสมรรถนะการอ่าน การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา เป็นข้อสอบที่ไม่อิงเนื้อหาเฉพาะเรื่อง (Content-free) ท่องจำมาสอบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการไปกะเกณฑ์ให้ครูออกข้อสอบตามแนว PISA (ปัจจุบันเรียกกันว่า PISA-like) เพื่อให้เด็กคุ้นกับการทำแนวข้อสอบ อันนี้เป็นการลักไก่ ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะมันไม่ได้ช่วยพัฒนาเด็กเลย แค่ฝึกให้เด็กรู้ว่า เดี๋ยวข้อสอบ PISA มันจะถามแบบนี้นะ มีโจทย์สถานการณ์มา วิธีการตีโจทย์คืออะไร วิธีเดาคำตอบคืออะไร มันไม่ได้วัดสมรรถนะด้านนั้นๆ เลย ที่ผ่านมาคือ ทุ่มเทงบประมาณแก้ปัญหาผิดทาง แต่คะแนนเฉลี่ย PISA โดยรวมก็ไม่ได้ขยับขึ้น
โรงเรียนเต้นไปการวัดผลโรงเรียนระดับชาติ เต้นไปกับการวัดผลนานาชาติ การเตรียมเด็กเพื่อสอบ PISA กลายเป็นเรื่องใหญ่โต รัฐบาลต้องมาทุ่มทุนทำยังไงจะให้เกิดแนวการสอบในโรงเรียนตามแนวการออกข้อสอบ PISA ไม่มีประเทศไหนเขาทำกันแบบนี้ เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ถ้าเด็กสมรรถนะการอ่านต่ำ ก็ต้องเน้นฝึกให้อ่านเป็น จับใจความ สรุปความ ตีความให้ได้ ต้องกลับไปตรงนั้น
หมายความว่าไม่ใช่ฝึกแค่เรื่องทำข้อสอบ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กได้คะแนนการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ต่ำ ก็ต้องพิจารณาว่าเกิดจากอะไร เด็กถึงมีปัญหาเรื่องการใช้เหตุผล ครูสอนยังไง เด็กได้ทำการทดลองไหม เด็กได้ฝึกคิดเป็นเหตุเป็นผลรึเปล่า หรือครูก็ยังคงเลคเชอร์อย่างเดียว ก็ต้องไปจริงจังกับพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ ให้ฝึกเด็กใช้เหตุผล ให้ได้สังเกต ทดลอง ลงมือทำจริง ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จริงๆ ถึงจะพัฒนาสมรรถนะของเด็ก
อย่างนี้เราเห็นในตลาดการศึกษาเยอะมากเลย พวกหนังสือทำฝึกทำข้อสอบสิบปีย้อนหลัง
มันคือการฝึกให้ทำข้อสอบเก่ง เป็นมรดกความคิดในการเตรียมพร้อมก่อนสอบ ยิ่งจำได้เยอะ ฝึกฝนเยอะๆ จะได้รู้แนวทางการทำข้อสอบ ซึ่งยิ่งทำแบบนี้ก็ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กคนไหนที่พ่อแม่สามารถส่งเรียนพิเศษได้ ช่วยจัดหาวัสดุการเรียนการสอน เช่น ซื้อหนังสือติวข้อสอบมาให้เด็กทำ เด็กก็มีโอกาสฝึกจนชำนาญมากกว่า แต่ถ้าเด็กคนไหนมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนหน่อย ไม่ได้เรียนพิเศษ ไม่มีหนังสือติวสอบ โรงเรียนไม่ได้จัดติวให้ เด็กก็มีโอกาสจะทำข้อสอบไม่ได้ ผลคะแนน O-Net มันก็เลยยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้เราเจอว่าคะแนนเด็ก O-Net ในเมืองสูงกว่าเด็กในชุมชนกึ่งเมือง หรือชนบท เด็กกรุงเทพ เด็กในเมืองใหญ่อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ คะแนนสูงกว่าเด็กจังหวัดกลางๆ เล็กๆ ทั้งหลาย มันมีปัจจัยแทรกซ้อนในเชิงเศรษฐกิจ สังคม มาเกี่ยวข้อง เช่น ความสามารถของพ่อแม่ในการสนับสนุนเด็กไปเรียนพิเศษ
เรามักมองว่าการศึกษามันเป็นสิ่งที่ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำมันหายไปไม่ใช่หรือ หรือแปลว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเสียเท่าไหร่
เป็นอีกด้านหนึ่งของการศึกษา คนไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ จึงเกิดผลด้านลบแล้วยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเดิม เลยกลายเป็นยิ่งสอน ยิ่งวัดผลประเมินผล ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น มีข้อมูลว่าเด็กที่อยู่กลุ่มโรงเรียนที่มีความพร้อมสูง เช่น โรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ เครือข่ายโรงเรียนสาธิต ได้คะแนนเฉลี่ย PISA สูง ส่วนเด็กโรงเรียนที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำก็มักจะเป็นโรงเรียนทั่วไปของ สพฐ หรือในท้องถิ่น
แบบนี้แปลว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงไม่เข้าใจปัญหาเหรอ
ต้องชวนมองว่าไกลๆ กระทรวงฯ ต้องแปลปรากฏการณ์ให้ถูก ตอนนี้เรามองผลระยะใกล้ ต้องไม่คิดแค่ว่าทำยังไงให้คะแนนมันขยับ อย่างล่าสุดน่าตกใจมาก พอเราอยากจะให้ O-Net ขยับก็ทำถึงขนาดมีเชิญติวเตอร์มาสอนออกอากาศฟรี มีกระทั่งทำแอพพลิเคชั่นให้ดูติวเตอร์ฟรีออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่ามีเด็กยากจนไม่มีเงินจ่ายเรียนพิเศษ แต่นี่คือการทำลายระบบการศึกษาเลย ไม่ต้องมีครูก็ได้ เพราะถ้าเกิดคะแนนเด็กขยับ ไม่ได้หมายความว่าเด็กเก่งเพราะครูสอนมาดี แต่มาจากการที่สองสามอาทิตย์นั้น โรงเรียนเปิดทีวีให้ดูติวเตอร์หรือเด็กเอาแต่ดูติวเตอร์ออนไลน์ตลอดเวลา
แล้วคนสอนติวเตอร์ออนไลน์ไม่ใช่ครูในโรงเรียนด้วย เป็นใครก็ไม่รู้ เป็นติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในกรุงเทพฯกระทรวงศึกษาธิการต้องชัดเจนว่าทำแบบนี้ไม่ได้ การที่กระทรวงฯ เป็นคนลงทุนพัฒนาระบบติวเตอร์ออนไลน์ให้ เอาติวเตอร์เก่งมาติวออกอากาศแล้วให้เด็กๆ ดู นั่นแสดงว่าคุณไม่เชื่อเรื่องการพัฒนาผู้ผ่านการเรียนการสอนที่ต้องค่อยๆ ให้เด็กได้สั่งสมความรู้ ได้พัฒนาทักษะ และทัศนคติ มาติวเข้มหนึ่งเดือนก่อนสอบ แล้วคุณจะบอกว่าปีนี้ประสบความสำเร็จ เพราะ O-Net ขยับ ก็แสดงว่าไม่ตรงไปตรงมาแล้ว
ค่านิยมนี้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ด้วยการที่ต้องส่งลูกไปเรียนติวเตอร์ ต้องไปเรียนอาจารย์คนนั้นคนนี้ ทำให้การแข่งขันดูเข้มข้นยิ่งขึ้น
ใช่ เรามองการศึกษาเป็นการต่อยอดโอกาสในการเข้าถึงสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้เรียนในแขนงวิชาซึ่งมันจะตอบโจทย์การทำงานในอนาคต เราก็เลยเชื่อเรื่องการศึกษาคือการแข่งขัน พอเชื่อเรื่องการศึกษาคือการแข่งขัน สิ่งที่ตามมาก็คือใครมาจากครอบครัวที่มีความพร้อมกว่าก็มีแนวโน้มถูกส่งเสริมให้แข่งขันได้ดีกว่า
แต่เราเจอสิ่งน่าสนใจนะ อย่าง PISA รอบล่าสุด มีคนลองเอาคะแนน PISA มาศึกษาดู เจอว่าในโรงเรียนกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำ ก็ยังพบว่ามีเด็กที่ทำคะแนนได้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของสากล ว่าง่ายๆ มีช้างเผือกกระจายอยู่เต็มไปหมด ไม่ได้แค่อยู่ที่โรงเรียนสาธิต โรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ หรอก มีเด็กกลุ่มเก่ง กระจายตัวอยู่ตามโรงเรียน สพฐ.ทั่วไป และโรงเรียนอื่นๆ ในท้องถิ่นด้วย
คำถามคือเมื่อมีข้อค้นพบแบบนี้แล้ว กระทรวงฯ ควรทำอย่างไร กระทรวงฯ ควรจะต้องยิ่งเกลี่ยให้เกิดโอกาสที่ทั่วถึงในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กทุกสังกัด แต่ตอนนี้บางทีพอเราติดกับดักเรื่องแข่งขัน ก็คิดแต่จะเฟ้นหาช้างเผือกในป่า หาให้เจอเด็กคนนั้นอยู่ไหน จะได้เอาเด็กคนนั้นเข้ามาอยู่โรงเรียนที่มีคุณภาพ อย่างนี้คุณยิ่งจัดการศึกษา เด็กยิ่งเป็นยังไง ถูกตะแกรงร่อนแล้วก็ทิ้งเอาไว้ โรงเรียนที่เด็กอ่อนก็ถูกกระจุกเอาไว้ด้วยกัน โรงเรียนไหนที่เด็กมีคุณภาพก็โกยมาอยู่ด้วยกัน สุดท้ายแล้วเราก็จะได้เด็กเก่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลง เพราะมันพัฒนาคนกลุ่มเล็กที่สุดของสังคม คือ กลุ่มเด็กที่มีโอกาส
ค่านิยมการแข่งขันแบบนี้ควรถูกแก้ยังไง
ค่านิยมถูกสร้างด้วยคน มันก็ต้องแก้ด้วยคนได้ แต่ค่านิยมแต่ละเรื่องมันไม่ได้เกิดขึ้นวันสองวัน ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี หลายสิบปีที่แล้วค่านิยมในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่รุนแรงขนาดนี้เลย ตอนนี้มาถึงจุดที่ค่านิยมเหล่านี้มันมีปัญหาแล้ว แต่มันก็มีโอกาสตามมาด้วยเพราะตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนเด็กน้อยลง ที่นั่งในมหาวิทยาลัยจะว่างมากขึ้น แสดงว่าจากนี้ไป ถ้าอยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่มีที่นั่งเรียนแน่ๆ มากขึ้นกว่าเดิม แต่ค่านิยมที่ผูกติดกับสถาบันที่มีชื่อเสียงยังคงมีอยู่ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไหนมีชื่อเสียงหน่อย ก็มีคนอยากเรียนเยอะ คณะวิชาไหนที่คิดว่าไม่มีตลาดงานรองรับชัดเจน รัฐบาลส่งเสริม คนแย่งกันเรียนเยอะ
นี่เป็นโจทย์ท้าทายว่ารัฐบาลจะช่วยทำให้มหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคที่แต่เดิมไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง สามารถมีความเข้มแข็งขึ้นในเชิงวิชาการอย่างไร เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าเรียนมหาวิทยาลัยเหล่านี้แล้ว เด็กจะสามารถประกอบอาชีพได้ เพราะที่ผ่านมาเราละเลยเรื่องพวกนี้ไง มหาวิทยาลัยกลุ่มไหนเก่ง มีชื่อเสียง ก็มีงบลงทุนเยอะหน่อย เพราะงบประมาณมันมาตามหัวเด็ก
แต่ตลอดหลายปีมานี้ที่เริ่มมีระบบปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยของรัฐให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ รัฐยังช่วยอยู่บางส่วนให้เป็นงบฯ จำนวนหนึ่ง แล้วที่เหลือแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องดิ้นรนเองด้วยการพัฒนาทรัพย์สินมาจัดสรรผลประโยชน์ บางแห่งรัฐส่งเสริมให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยก็จะมีงบฯ สนับสนุนมากหน่อย จากนี้ไปนี่คือโอกาส เราไม่ควรมีอัตราการแข่งขันสูงแล้วเพราะที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างมากขึ้น ตอนนี้บางแห่งถึงขั้นต้องแย่งเด็กกัน คนส่วนใหญ่ยังเชื่อเรื่องการแย่งเด็กกลุ่มที่เก่งๆ ทุกคนคิดแต่จะเอาเด็กมาปั้นต่อ แต่เด็กกลาง เด็กอ่อน คนก็ยังละเลยอยู่ ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนเด็กเก่ง แต่การปั้นเด็กเก่งแค่สัดส่วนไม่ถึง 10% ไม่เคยช่วยแก้ปัญหาสังคมได้
สังคมต้องอยู่กันด้วยความหลากหลาย เราต้องคำนึงถึงเด็กทุกกลุ่มให้ได้รับการพัฒนา ตอนนี้มีตะแกรงร่อนอันใหญ่ทำให้เด็กๆ จำนวนมากไม่จบ ม.3 ม.6 ด้วยซ้ำ ออกไปทำงานเสียก่อน กลายเป็นแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมในการทำงานมา แล้วมันก็ทำให้เวลาจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมันไปต่อยาก เพราะแรงงานมันควรจะมีทุกกลุ่ม เราละเลยอาชีวะมานาน ปล่อยให้เด็กเก่งๆ ไปเรียนวิศวะหมด กว่าที่วันหนึ่งจะมาตระหนักกันว่าเราต้องการแรงงานอาชีวะ แต่เราเปลี่ยนค่านิยมไม่ทัน รัฐเองนี่แหละที่ทุ่มเทงบประมาณมาช่วยโรงเรียนสายสามัญและมหาวิทยาลัย มากกว่าโรงเรียนอาชีวะ
รัฐต้องมองให้เห็นว่าแต่ละนโยบายที่กำหนดขึ้นมันไปมีส่วนในการวางทิศทางที่ผลิตซ้ำค่านิยมที่มีอยู่เดิม ถ้าจะแก้ก็ต้องไปด้วยกัน นโยบายรัฐที่กำหนดต้องเป็นเข็มทิศ แล้วใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนสังคมไป สร้างชุดความคิดใหม่ ค่านิยมใหม่ทางการศึกษาขึ้นมา ขณะเดียวกัน คนในสังคมถ้าไม่เห็นด้วยกับค่านิยมแบบที่เป็นมาก็ต้องถกเถียงพูดคุยกันให้จริงจังว่าเราต้องการการศึกษาแบบไหน การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน
หากมองอีกมุมหนึ่ง บางคนก็อาจจะบอกว่าทำให้เด็กมีแรงผลักดันขึ้นนะ แบบนี้การแข่งขันก็ดูไม่ได้ผิดอะไรรึเปล่า
คำถามคือ แข่งกับอะไร ในระดับนานาชาติเวลาคุยกันเรื่องคุณภาพการศึกษา จะมีคำสำคัญอยู่ 3 คำ จำง่าย ๆ ว่า 3 E คือ
หนึ่ง Excellency ความเป็นเลิศ ถ้าจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เราควรจะแข่งกับใคร ควรจะแข่งกับตัวเองถูกไหม ให้รู้ว่าเราถนัดอะไร เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่าจะแข่งขัน คือ การรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนที่เก่งมาก ๆ เข่งกับตัวเอง ไม่ใช่แข่งกับคนอื่น
สอง คือ Equity ความเท่าเทียม เด็กที่มาจากพื้นเพครอบครัวที่อ่อนด้อยกว่า มีความพร้อมน้อยกว่า เขาแข่งกับคุณไม่ได้ เพราะพ่อแม่เขาหาเช้ากินค่ำไม่มีเงินมาทุ่มเทให้ลูกเรียนพิเศษ ถ้าโรงเรียนไม่ใส่ใจดูแลเขาไม่ช่วยพัฒนาเขา เขาจะมีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ดีได้อย่างไร แบบนี้ก็ไม่แฟร์สิ เท่ากับโรงเรียนทอดทิ้งเด็กจำนวนมากแล้วมัวแต่ปั้นเด็กแค่บางกลุ่มบางคน
E ที่สาม คือ Efficiency ประสิทธิผล ดูว่าคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนที่ลงทุนไป เราลงทุนงบประมาณกับโครงการเอาเด็กมาประกวด มาแข่งขันกันเยอะมากๆ แต่ละปีนี่หลายพันล้านนะ เวลามีการแข่งขันวิชาการเพชรยอดมงกุฎนี่คือ ทุกโรงเรียนก็มีทีมปั้นเลย ทีมนี้มาแข่งเลข ทีมนี้มาแข่งวิทย์ แข่งภาษาไทย แข่งทุกวิชาเลย แล้วสุดท้ายเด็กรุ่นหนึ่งในโรงเรียนที่เด็กเป็นพันๆ คน คุณปั้นเด็กทีมหนึ่งขึ้นมาแข่ง ไม่ได้ทำให้โรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น คุณแค่ทำให้เด็กกลุ่มที่มีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เข้มแข็งมากขึ้น ใครเป็นเลิศก็เด็กกลุ่มนั้นไง แต่โรงเรียนไม่ได้เป็นเลิศด้วยนี่ พอโรงเรียนได้รางวัล ก็จะบอกว่าปีนี้โรงเรียนมีคนชนะเลิศได้รางวัล แต่ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนสอนเด็กได้ดีทุกคน มีเด็กกลุ่มที่ถูกปั้นจนออกไปล่ารางวัลกลับมา ซึ่งก็ไม่ได้การันตีว่าโรงเรียนมีคุณภาพนะ
มันก็เลยกลายเป็นกับดัก
เพราะว่าเราเน้นให้แข่งขันกัน จนสุดท้ายเราก็ละเลยเด็กกลุ่มใหญ่ แล้วเด็กบางคนก็เป็นตัวหลักในการแข่งทุกวิชาเลย สุดท้ายก็เป็นเด็กเก่งจริง สุดท้ายเขาก็เป็นเลิศจริงๆ แต่โรงเรียนทำอย่างไรกับเด็กที่กลุ่มกลาง กลุ่มอ่อน ในมุม Equity พวกเขาก็ตกหล่นไปเพียบ มีเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงคุณภาพการศึกษาทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษา
เรามีปรากฏการณ์นี้ไง คือเราก็โปรโมทเฉพาะเด็กเก่ง เราจึงเห็นโรงเรียนจำนวนมากในบ้านเรา เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยเสร็จจะมีป้ายไวนิลติดไว้หน้าโรงเรียน บอกเลยว่าใครเรียนที่ไหนอย่างไร คำถามคือ คุณมีเด็กสักพันกว่าคน เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สัก 250 คน อีกพันคนไปไหน โรงเรียนเผชิญความจริงไหมว่าเด็กพันคนไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย โรงเรียนบอกได้ไหมว่า เตรียมความพร้อมเขาดีพอแล้วเพื่อให้เขาอยู่ในสังคมนี้ได้ จบแค่วุฒิ ม.6 จะทำงานยังไง เงินเดือนยังได้ไม่เท่าเด็กจบสายอาชีวะ ปวช.3 เลย แถมส่วนใหญ่พอเรียนสายสามัญก็ไม่ได้เรียนวิชาอาชีพเลย แล้วเขาจะอยู่จะเอาตัวรอดในสังคมนี้อย่างไร
เราจัดการศึกษาไม่ตรงไปตรงมา เราเลือกพูดเฉพาะด้านที่พอเห็นความสำเร็จ แต่ด้านที่เป็นปัญหายังมีอยู่อีกมากที่เราไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ไข แต่เรากลับซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม
ธรรมเนียมติดไวนิลแบบนี้ ส่งผลกับเด็กนักเรียนอย่างไรบ้าง
มีสิเพราะมันทำให้เด็กบางคนมีแสงสว่างส่องถึง แต่เด็กจำนวนมากไม่ถูกพูดถึง จริงๆ ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นถกเถียงในหลายประเทศ เขาพยายามเลี่ยงไม่ให้มันเกิดการไฮไลท์เด็กแค่บางคน ไม่ควรทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสเหล่านั้น
ความเก่งมันควรจะมีเก่งหลายๆ แบบ ถ้าเราจะพูดถึง Quality Education For All เด็กแต่ละคน ก็เก่งกันไปคนละแบบได้ และถ้าเราเชื่อในปรัชญาการศึกษาว่าการศึกษาคือการทำให้คนได้ค้นพบตัวเอง โรงเรียนต้องมีหน้าที่จัดประสบการณ์ที่หลากหลายให้เด็กค้นหาตัวเองจนเจอว่า ตัวเองคือใคร ถนัดอะไร สนใจอะไร แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ เรากำลังปั้นคนเป็นแรงงาน เราก็เลยเป็นปรัชญาการศึกษาที่เน้นเอาความรู้มาใส่หัวเด็กเยอะๆ ฝึกฝนให้เก่งๆ เด็กจะได้จำข้อสอบได้ ทำข้อสอบได้แค่นั้น
เรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับการนิยามคำว่าเก่งด้วยรึเปล่า
เราตีความความเก่งแปลว่าอะไร เราเก่งแต่กับความสามารถวิชาการ เราเก่งเพราะเราไปผูกกับบางวิชาชีพด้วย มันก็เลยแกะไม่ออก จริงๆ เรามีเด็กเก่งที่หลงทางเยอะมาก ความสามารถมีก็เลยถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ ว่าต้องเรียนสายสามัญ เก่งมากก็มาเรียนสายวิทย์ แล้วคะแนนอยู่ในกลุ่มดีอีก เป็นเด็กผู้ชายก็มาเรียนเป็นวิศวกรกัน เพื่อที่ตอนมาเรียนจะได้พบว่าตัวเองไม่ได้อยากเรียนอะไรพวกนี้ เพราะความเป็นวัยรุ่นกว่าจะมาเจอตัวเองอีกทีมันใช้เวลาเนอะ กว่าเขาจะโตพอจะเลือกได้ด้วยตนเอง มันใช้เวลา และเขาก็หลงทางมาไกลแล้ว เราก็เลยเจอว่า แม้กระทั่งเด็กกลุ่มเก่งของบ้านเรา จบหมอ จบวิศวะ ก็ไม่ได้ทำงานตรงสายเยอะมากๆ
พอเป็นแบบนี้แล้ว นโยบายแรกๆ ที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาคืออะไร
เราต้องกลับมาคำถามสำคัญก่อนนะ เป้าหมายการศึกษาคืออะไร แล้วประเทศไทยไม่เคยมีการกำหนด เป้าหมายสูงสุดในการจัดการศึกษาร่วมกัน แต่แกว่งไปมาตามนโยบายรัฐตลอดเวลา
ยกตัวอย่างสองสามประเทศ ถ้าเป็นเคสแบบสิงคโปร์ ต้องกำหนดก่อนว่า สุดท้ายแล้ว คนที่ผ่านการศึกษาในระบบ ผ่านการศึกษาที่จัดอย่างเป็นทางการ (Formal Education) มา ต้องได้คนแบบไหน แล้วเอาเป้าหมายนั้นเป็นธงว่าเด็กทุกคนเราอยากจะได้คนประมาณนี้แหละ มีสักสามสี่คุณลักษณะ แล้วจะทำยังให้ค่อยๆ สร้างคุณลักษณะแบบนี้มาตั้งแต่เป็นเด็กประถม มัธยม จนเรียนจบแล้ว ก็เป็นคนประมาณนี้ แล้วบวกความเก่งในวิชาชีพตัวเอง ในสาขาวิชาการที่ตัวเองสนใจ ตลอด 20 ปีนี้ เขาไม่มีการเปลี่ยนเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เลยนะ เขาเปลี่ยนแต่หลักสูตร วิธีการสอน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยการสอน
หรืออย่างฟินแลนด์ ซึ่งจะเน้นหนักเรื่อง Equity ที่การศึกษาต้องสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรม เพราะเขาเป็นสังคมรัฐสวัสดิการ ต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงและเต็มที่ที่สุด ความเก่งของเขาเลยไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การศึกษาก็ต้องออกแบบมาให้คนที่สนใจเรื่องต่างกันเรียนไปด้วยกันได้ ให้คุณค่ากับทุกอาชีพ อีกกรณีหนึ่ง คือ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสังคมหลากหลายวัฒนธรรม เขาระบุเลยว่าต้องการคนที่มีสำนึกเป็นพลเมืองที่อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย กำหนดเป้าหมายไว้แค่นี้ แล้วที่เหลือคุณไปจัดเอา แต่ละรัฐก็จัดไม่เหมือนกันได้
แต่ไทยไม่เคยมีการพูดกันอย่างจริงจัง ว่าจริงๆ แล้วเรากำลังพัฒนาผู้เรียนไปเป็นใคร เป็นคนแบบไหน แล้วพอเราไม่มีเป้าชัดเจน มันก็แกว่งง่าย มันแกว่งด้วยนโยบายเพราะว่ายิ่งการศึกษามีปัญหา เรายิ่งพยายามหาวิธีการแก้ให้เร็วที่สุด แล้วมันย้ำประโยคสำคัญเลยนะว่า “การศึกษาไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น ต้องใช้เวลา” มันไม่ควรถูกขับเคลื่อนด้วยแรงส่งทางการเมืองระยะสั้น พอเราต้องการให้บรรลุเป้าหมายเร็ว ๆ เราก็เลยคิดโครงการแบบจับต้องได้ง่ายๆ ทำเร็วๆ สุดท้ายมันไม่ได้เกิดผลระยะยาว เกิดเป็นนโยบายแทรกแซงเข้าโรงเรียนตลอดเวลา
มองมาที่ครูบ้าง พอเป็นแบบนี้ต่อไป ครูจะได้รับผลกระทบอย่างไร
พอนโยบายการศึกษาไม่ได้นิ่ง ถูกกระแทกบ่อยๆ คนช้ำก็คือคุณครู คุณครูก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาเทอมต่อเทอม ทีนี้ก็รวนแล้ว งานครูก็รวน แล้วยังต้องสอนให้ได้คะแนน O-Net ดีด้วย สุดท้ายเราเห็นคุณครูเป็นแค่มือไม้ของรัฐทำตามนโยบายรัฐ เราไม่เคยมองคุณครูว่าเป็นมืออาชีพในการสอน ในการอยู่กับเด็ก เราไม่เคยเชื่อเรื่องนี้ เรามองว่าการศึกษามีปัญหา เราก็เอาแต่หาคนผิด คนที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุดก็คือ คุณครู ครูก็ตกเป็นจำเลยตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ เวลาเราพูดถึงการศึกษามันเป็นองคาพยพใหญ่ มันมีข้อบกพร่องในเชิงระบบอีกตั้งมากมายที่ทำให้เกิดปัญหาแล้วเราไม่เคยพูดถึงจริงจัง
มันกลายเป็นว่าครูเองก็ต้องรับภาระมากขึ้น ชีวิตหนักพอๆ กับเด็กรึเปล่า
ตอนนี้โรงเรียนปั่นป่วนมาก ถ้าคุณไปเยี่ยมโรงเรียนคุณจะเห็นป้ายนั่นนี่ไม่ต่ำกว่า 20-30 โครงการ นี่คือขั้นต่ำนะ ครูคนหนึ่งมีโครงการในความรับผิดชอบต้องดูแล บางคน 3-4 โครงการ แล้วคำถามคือ เขาจะได้อยู่กับเด็กเต็มที่ไหม สมาธิก็หลุดแล้ว ลำพังตัวเองก็มีภาระงานสอนขั้นต่ำอยู่ที่สัปดาห์ละ 18-21 คาบขึ้นไป แล้วเวลาที่เหลือก็ต้องเตรียมตัวสอน
ถ้าเป็นครูเลข ครูภาษาอังกฤษภาษาไทยก็ต้องใช้เวลาตรวจการบ้าน ถ้าเป็นครูศิลปะ ดนตรี พละก็ต้องให้เวลากับการฝึกฝนเด็กนอกเวลาไปแข่งวงโยธวาทิต ไปแข่งกีฬา มันมีเวลาที่เรียกร้องให้ครูต้องทุ่มเทอยู่กับเด็กมากอยู่แล้ว แล้วพอมีโครงการจากภายนอกที่ต้องประเมินนั่นนี่เยอะๆ เวลาของครูก็ถูกเบียดบัง โครงการจำนวนมากดึงครูออกจากห้องเรียน เอาครูไปอบรม เอาครูไปเป็นวิทยากร ปีๆ หนึ่ง ครูอยู่กับเด็กน้อยลงมาก เราไม่ได้เอาเด็กเป็นตัวตั้งเลยในการจัดการศึกษา แต่กลับยึดเอาความสำเร็จของโรงเรียนมาเป็นตัวตั้ง ตามตัวชี้วัดและเกณฑ์ต่างๆ ที่ถูกสมมุติขึ้นว่าเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางการศึกษา แต่เป็นความสำเร็จที่ไม่มีเด็ก ไม่มีครูอยู่ในนั้นเลย
สุดท้ายแล้ว คิดว่าอะไรคือทางออกจากปัญหาที่เป็นกับดักเหล่านี้
เราต้องช่วยกันตอบคำถามว่าเราต้องการสังคมแบบไหน สังคมแบบที่เน้นแข่งขันตัวใครตัวมัน หรือสังคมแบบที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่ทอดทิ้งกัน อยากได้สังคมแบบไหนก็ต้องจัดการศึกษาแบบนั้น กำหนดนโยบาย เป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู ออกแบบชีวิตในโรงเรียนและเส้นทางการศึกษาของเด็กกันใหม่ ต้องเร่งแก้ไขระบบสนับสนุนการทำงานของครู และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานการศึกษา
จริงอยู่ว่าการไปโรงเรียนไม่ใช่ทั้งหมดของการศึกษา แต่การไปโรงเรียนคือการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการสำหรับเด็กทุกคนในสังคมอย่างเสมอหน้า ไม่แบ่งแยกรวยจน เชื้อชาติศาสนา เป็นสวัสดิการพื้นฐาน และเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันกำกับติดตามให้รัฐต้องทำให้ดีให้ได้
ถ้าเรายังปล่อยให้การศึกษาหลงทางลอยไปลอยมาแบบนี้ เราก็ต้องทำใจยอมรับให้ได้กับสังคมแบบที่เราปล่อยปละละเลยให้เกิดขึ้น และเราก็ต้องเผชิญความจริงว่า ต่อให้เราพยายามจะแบ่งแยกเด็กๆ ของเราออกจากลูกหลานบ้านอื่นแค่ไหน อย่างไรเสียตัวเราและลูกหลานของเราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันกับพวกเขา ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกละเลยในการพัฒนาคุณภาพตั้งแต่วัยเด็ก
เราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไป โดยไม่ลุกขึ้นส่งเสียงหรือทำอะไรเลย จริงๆ หรือครับ