(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Mad Max: Fury Road)
เมื่อพูดถึงการจำแนกประเภทของหนังแล้ว เราจะนิยมการจำแนกด้วย genre หรือตระกูลของหนังเสียเป็นส่วนมาก แต่ยังมีการจำแนกอีกประเภทที่ทำให้แยกแยะคุณค่าของหนังได้เป็นอย่างดี นั่นคือการจำแนกเป็นหนังที่ดูแล้วไม่ว่าจะเอ็นจอยกับมันหรือไม่ ก็จบแล้วจบกัน ไม่มีอะไรให้ค้นหาอีกต่อไป กับหนังอีกประเภทคือหนังที่ดูได้หลายรอบ ไม่ว่าหยิบมาดูเมื่อไหร่ก็มักพบว่ามันยอดเยี่ยมเหมือนตอนดูครั้งแรกเสมอ หรือรู้สึกว่ายิ่งกว่าตอนดูครั้งแรกซะอีก
และ Mad Max: Fury Road ของผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) คือหนึ่งในหนังประเภทหลังครับ ภาค 4 กึ่งรีบู๊ตของแฟรนไชส์ Mad Max เจ้าของ 6 รางวัลออสการ์เรื่องนี้เป็นหนังที่พูดได้อย่างตรงตัวว่าปัดฝุ่นดู เพราะนอกจากจะเป็นหนังปี ค.ศ.2015 ที่มีเนื้อหาไทม์ไลน์สามารถเชื่อมโยงประเด็นไปยังโลกแห่งความจริงได้ในทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าเมื่อไหร่ที่หยิบมาดูแล้ว ยังเป็นหนังที่มีฝุ่นกับทรายเยอะจริงๆ อีกด้วย
ก่อนจะพูดถึงตัวหนังว่าทำไมประเด็นยังน่าสนใจและไม่เคยเก่า ต้องย้อนอดีตถึงที่มาซะหน่อยว่าเดิมทีแล้วหนังเคยแสดงโดยดารารุ่นใหญ่อย่างเมล กิบสัน (Mel Gibson) ถึง 3 ภาคด้วยกัน เกี่ยวกับตำรวจชาวออสเตรเลียในโลก post-apocalyptic และภาค 4 ที่มีชื่อว่า ‘Fury Road’ ก็ถูกวางเนื้อเรื่องเอาไว้แบบเดียวกับเวอร์ชั่น ค.ศ.2015 นี้ เพียงแต่นักแสดงยังคงเป็นเมล และเล่าเรื่องเกี่ยวกับนักรบผู้แก่เฒ่าในโลกที่แทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม
ต่อมาโปรเจ็กต์หนัง Fury Road ถูกฝังลืมไปพักใหญ่ๆ แถมต้นยุค 2000 ก็ยังมีวิกฤตการเงิน, สงครามอิรัก และข่าวเสียๆ หายๆ ของเมล กิบสันอีก จึงทำให้เขาถูกถอดออกจากโปรเจ็กต์ แล้วฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger) (Joker ใน The Dark Knight) ถูกเล็งมารับบทแทนในภาครีบู๊ต ส่วนระหว่างนั้นผู้กำกับก็หันไปกำกับหนังเพนกวินน่ารักๆ อย่าง Happy Feet และยังมีข่าวลือว่า เขาเกือบสร้างภาค 4 นี้เป็นหนังอนิเมชั่น CGI, อนิเมะ, มังงะ หรือวิดีโอเกมไปแล้ว
ในท้ายที่สุด หลังจากการเสียชีวิตของฮีธ เลดเจอร์ ผู้กำกับจอร์จ มิลเลอร์ จึงตัดสินใจดึงดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีลุคเข้ากับหนังที่มีความดิบเถื่อนดุดันและบทที่ต้องใส่หน้ากากหรือมีอะไรซักอย่างมาบังใบหน้าอย่าง ทอม ฮาร์ดี (Tom Hardy) มารับบทนำ ทำให้หนัง Mad Max: Fury Road เป็นภาค 4 กึ่งรีบู๊ตด้วยนักแสดง รวมถึงตัวโลกของหนังที่เปลี่ยนไปก็ด้วยเช่นกัน
“บท Mad Max ถูกเขียนขึ้นจากไอเดียที่ว่า
มนุษย์สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้
เพื่อที่จะทำให้ยานพาหนะของของเคลื่อนต่อไปข้างหน้า
และจากการคาดคะเนว่า
การที่แต่ละประเทศไม่ให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือก
เป็นราคาที่ต้องจ่ายที่ผิดมหันต์ขนาดไหน”
Mad Max เป็นหนังที่สร้างมาจากวิกฤตการณ์น้ำมันปี ค.ศ.1973 ที่กระทบทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของนานาประเทศ จนมาถึงภาคนี้ จากโลก post-apocalyptic ในไตรภาคเดิม ที่ว่าแย่แล้ว โลกของ Mad Max: Fury Road เป็นอะไรที่หนักและน่ากลัวกว่ามาก
แม้ไม่ได้ระบุวันเวลาและสถานที่ชัดเจน สิ่งนึงที่หนังภาคนี้บอกคือการเซ็ตให้อยู่ในโลก post-apocalyptic wasteland ที่สงครามนิวเคลียร์ได้ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ล้มหายตายจากไปจนแทบไม่เหลือ มองไปทางไหนก็มีแต่ฝุ่นแต่ทราย ไร้สิ่งปลูกสร้างที่คุ้นตา แห้งแล้งแบบที่ดูแล้วต้องอยากดื่มน้ำตลอดเวลา และน้ำมันกับยานพาหนะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งชีพ หรือเยี่ยงชีพ ภายใต้โทนภาพ colorful แม้สภาพแวดล้อมจะดูโหดร้าย การเคลื่อนกล้อง การแสดง และแอ็กชั่นที่สื่อถึงความดิบเถื่อนป่าเถื่อนออกมาได้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของหนังเป็นอย่างดี
ในโลกหลังการล่มสลายของ Mad Max: Fury Road พูดถึงโลกอนาคตที่ขาดแคลนและเป็นผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ จึงกลายเป็นว่า ยานพาหนะอย่างรถและรถยนต์ = ชีวิต ที่สำคัญมากๆ อยู่แล้วไม่ว่าจะยุคไหนๆ กลายเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าที่เคย และมันยังเป็นการอุปมาอุปมัยที่ดูตลกร้ายว่าการขับรถ ‘ไปข้างหน้า’ ที่ไม่ใช่แค่การขับ ‘ไปด้านหน้า’ อีกต่อไป แต่ยังหมายถึงการที่ใครก็ตามในหนังจะ ‘มีชีวิตอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า’ ด้วย เพราะ ณ สถานที่รกร้างแห่งนี้ ใครไม่มีรถ คือรอความตาย
และใครมีรถแต่ไม่มีน้ำมันก็ไม่ต่างอะไรไปกับมุกตลกร้ายกราฟวงกลมสีส้มฟ้า ที่สีส้มบอกว่าการไม่มีรถคือรอความตาย ส่วนการไม่มีน้ำมันคือการรอความตายเหมือนกัน แต่เป็นสีฟ้า
นอกจากนี้พวงมาลัยที่ปรากฏให้เห็นในหนังบ่อยและมีความสำคัญกับหลวงๆช่วงของหนังเอง ก็เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเช่นกัน เพราะมันใช้ในการบังคับทิศทาง และความสามารถที่จะขับเคลื่อนชีวิตในข้างหน้าหรือทางใดทางหนึ่งได้
นี่คือโลกที่ยี่ห้อรถอย่าง Mercedes-Benz หรือ BMW ไม่ได้สำคัญเท่ากับรถยี่ห้ออะไรก็ได้ที่เอาไปแต่งแล้วขับได้แรงเร็วพอที่จะไล่ล่าหรือหลบหนี
หรือคำถามที่ว่า “วันนี้กินอะไรดี?” ไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่า “วันนี้จะมีอะไรกิน?” หรือ “จบไปทำงานอะไร?” “เล่นหุ่นหรือเทรดคริปโตเหรียญไหนดี?” “ช่วงนี้มีหนังซีรีส์อะไรน่าดูบ้าง?” “Kendall Jenner ทาลิปสติกสีอะไร?” “เราควรวางแผนเกษียณเมื่อไหร่?” รวมไปถึงการแพลนวันหยุดสุดสัปดาห์ ถูกแทนที่ด้วยคำถามระยะสั้นกว่านั้นที่ว่า “เราต้องทำอะไรต่อไปเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อในวันพรุ่งนี้?”
หลายๆ อย่างในหนัง Mad Max: Fury Road แสดงให้เห็นถึงความโลกยุคหลังล่มสลายที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เช่นการกลายพันธุ์ของมนุษย์และได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของนิวเคลียร์หรือสภาพอากาศที่ทารุณ การที่น้ำดูเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าเงินทอง และต้นไม้ ป่าไม้ กับระบบนิเวศสมบูรณ์ๆแบบในหนังสือเรียนชีววิทยาเป็นเสมือนสวรรค์ที่ดูไกลเกินเอื้อมและดูยาก/เป็นเรื่องปรัมปราที่คนที่เกิดมาหรือใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยนี้จะนึกออก
นอกจากอะไรเหล่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับวิวัฒนาการด้านความสัมพันธ์และด้านสังคมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เองก็เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
หากให้ไล่เรียง จะพบว่ามนุษย์ในอดีตเคยอยู่กันอย่างป่าเถื่อน ใช้แรงเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนา มีเสื้อผ้าแค่ปกปิด กินเพื่อมีชีวิตต่อ และใช้สัญชาติญาณดิบนำทาง ซึ่งไม่ต่างกับสัตว์ป่าเท่าไหร่นักที่เน้นการสืบพันธุ์ ล่าเหยื่อ ตุนเก็บ รวมฝูง และเกิดการยอมรับในซักตัวให้เป็นผู้นำ/จ่าฝูง
ทั้งหมดก็เพื่อ ‘เอาตัวรอด’
ซึ่งต่อมาเราวิวัฒน์มาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้สมองมากกว่ากำลัง มีสติปัญญาและองค์ความรู้ มีการวางแผน มีการสร้างสังคม อยู่เป็นกลุ่มก้อนแบบมีแบบแผนกว่าตั้งแต่ครอบครัว กลุ่มแก๊ง ลัทธิ ศาสนา ประเทศ จนพัฒนาไปสู่โลกอุตสาหกรรมและการแข่งขันเพื่อรับใช้ทุนนิยม วัตถุนิยม แฟชั่นนิยม และกระแสนิยม
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราเดินทางมาไกลกว่าเดิมมาก เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เพิ่มเติมเป็นความจำเป็นพื้นฐานยุคใหม่ อย่างเสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าแบรนด์เนม รถยนต์ยี่ห้อดัง สเต็กเนื้อวากิว ชานมไข่มุก & บิงซู ข้าวของเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน การถ่ายรูปเช็กอินลงเฟซบุ๊กอินสตาแกรม การที่ต้องอินเทรนด์ ดูซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ และอีกมากมาย
รวมถึงการที่ปัจจุบันเป็นยุคแห่งการแข่งขันสู้รบด้านนวัตกรรม ความก้าวหน้า ความรู้ สมอง และทรัพยากรบุคคล มากกว่าการที่อะไรๆ ก็ใช้อาวุธช่วงชิง ละแก้ปัญหาด้วยกำลังอย่างยุคสมัยก่อนด้วยเช่นกัน นั่นจึงทำให้การสั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์ เรือดำน้ำ รถถัง กับการเพิ่มงบให้กระทรวงกลาโหมจึงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญไปกว่าการพัฒนาประเทศและเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่มนุษย์หรือประชาชนประเทศนั้นๆ
โลกฝุ่นทราย Mad Max: Fury Road เป็นการวาดภาพจิตนาการอันน่าพรั่นพรึงที่ดึงมนุษย์กลับไปสู่ยุคดั้งเดิมอีกครั้งอย่างน่าสนใจว่า หากโลกไม่เหลืออะไรแล้ว อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และแนวโน้มของมนุษย์จะมุ่งดำเนินไปในทิศทางไหน
คำตอบคือเราวิวัฒนาการลงหรือกลับไปไปใกล้กับบรรพบุรุษมากขึ้น เมื่อทุกอย่างโล่งเตียน ทรัพยากรอย่าว่าแต่ใช้อย่างประหยัดแต่แค่หาให้ได้ก็เป็นเรื่องยากเต็มกลืน
นั่นทำให้การใช้ชีวิตบนถนนโลกันต์อันยาวสุดลูกหูลูกตาและไม่รู้วันรู้พรุ่งนี้ ปลุกเอาสัญชาติญาณดิบของมนุษย์ขึ้นมาอีกครั้ง นั่นก็คือ ‘สัญชาติญาณการเอาตัวรอด’ ที่ทำให้เราทำทุกอย่างเพื่อรอดเท่านั้น ข้าวของอาหารน้ำดื่มก็แค่เพื่ออยู่วันต่อวัน ป่าเถื่อนไร้อารยธรรม และ ‘กำลัง’ เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกำลังวังชาของคนๆหนึ่งเอง กำลังแรงม้าของรถ หรือกำลัง (muscle) ในแบบของกองกำลัง ที่ยิ่งมีจำนวนมาก ยิ่งแสดงถึงอำนาจ และโอกาสในการมีชีวิตรอดที่สูงขึ้น
ในขณะที่คนที่เป็นหมาป่าเดียวดาย (lone wolf) อยู่ยากและอัตรารอดค่อนข้างจะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
และการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ไม่มีทางรู้เลยว่าใครดีใครไม่ดี เพราะทุกคนมีโอกาสจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตต่อกันหมด ไว้ใจใครไม่ได้ น่าหวาดระแวง กลัวตาย ซึ่งนั่นทำให้เกิดวงจรที่การไว้ใจใครง่ายๆ อาจนำมาสู่จุดจบชีวิต และการเว้นช่วงหรือไม่ลงมือฆ่าก่อนแม้ยังไม่รู้จักคนคนนั้นดีพอ ก็อาจเป็นเราที่ตายแทนได้ตลอดเวลา ยิ่งเป็นการเล่าในโลกที่โล่งๆ ด้วยแล้ว ยิ่งน่ากลัวไปอีก เพราะไม่มีที่หลบใดใด และตกเป็นเป้าสายตาง่าย จนไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าการใช้ชีวิตในโลกของหนังเรื่องนี้คือนรกบนดินที่จะทำลายทั้งร่างกายและจิตวิญญาณจนเหลวแหลก
จะเห็นได้ว่าหนังใช้การแสดงที่ดูบ้าคลั่ง ลนๆ ล่กๆ การตัดต่อและแอ็กชั่นที่ฉึบฉับว่องไว การออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม อาวุธหอกระเบิด รถหนามแหลม รวมถึงมีซีนพายุสายฟ้า และความแห้งแล้งที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ก็เพื่อที่จะแสดงถึงความโหดร้ายและยากลำบากในการใช้ชีวิตในยุคนี้ ยุคที่การเอาตัวเองให้รอดยังเป็นเรื่องยาก
Max ตัวเอกของเราถูกจับไปยังป้อมปราการ Citadel และถูกใช้ในฐานะถุงเลือด (blood bag) เป็นสิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้แล้วว่า มนุษย์ทั่วไปในโลกของหนังเรื่องนี้ เป็นแค่เครื่องมือที่จะต่อชีวิตของเหล่าผู้มีอำนาจและกำลังมากกว่า ซึ่งเป็นอะไรที่ตรงตัวกับคำว่า “สูบเลือดสูบเนื้อ” อย่างตลกร้าย เพราะนี่คือการสูบจริงๆ และค่อนข้างจะดาร์กที่มีฉากผู้หญิงหลายคนถูกรีดนมราวกับตอนที่คนรีดนมวัว ทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่า เราไม่เคยเห็นการทำปศุสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงในหนังเลยนี่นา อีกทั้งยังมีฉากตัวละครกินกิ้งก่าสองหัวบ้าง กินแมลงบ้าง
นั่นแสดงกว่า Mad Max: Fury Road เป็นโลกที่นอกจากจะมีชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรที่มีแล้ว มนุษย์ด้วยกันเองยังถูกใช้เพื่อต่อชีวิตมนุษย์อีกคนหรือหลายๆ คน และก็เป็นมนุษย์อีกที่ถูกใช้เป็นเครื่องผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้มีอำนาจกว่า เหมือนที่เราทำกับหมู วัว ไก่ เผลอๆ ถ้าหนังได้เรต R เราอาจจะนึกไม่ถึงเลยว่า หนังเรื่องนี้จะเล่าฉากนี้ได้ไกลและน่ากลัวแค่ไหน
สิ่งน่าสนใจคือตัวละครบิ๊กบอสตัวร้ายของเรื่องอย่าง Immortan Joe มีครบทุกองค์ประกอบของวายร้ายโลกดิสโทเปียควรจะมี และเขายังเป็นทั้งเผด็จการ นายทุนผูกขาดในคราบนักบุญ และเจ้าของลัทธิ แบบ 3 in 1 อีกด้วย
- มีทรัพยากรและกุมอำนาจในการแจกจ่ายทรัพยากรนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว
- มีผู้คนคอยเคารพนับถือ บูชาดั่งเทพเจ้าผู้มาโปรด
- มีสถานที่อยู่อาศัยและอาหารการกินที่หรูหรากว่าผู้อื่น เหมือนที่เขามีสวนผัก และป้องปราการอยู่ที่สูง
- ออกกฎบังคับใช้
- สร้างกองทัพกองกำลังหัวรุนแรงเป็นของตัวเองและปลูกฝังทัศนคติกับความเชื่อให้คิด หรือมองโลกทางใดทางหนึ่งที่เป็นผลดีกับการรับใช้เขา รวมถึงท่าเคารพบูชาและวิธีปฏิบัติ
- แจกจ่ายเพื่อสร้างภาพให้ลดความน่ากลัวและเพิ่มความดูดีในสายตาผู้คน
- มีคู่ครองอยู่ใต้อำนาจเขา และการมีหลายคนเพื่อแสดงถึง ‘อำนาจ’ ที่มากล้น และการบอกว่า ‘ก็ผมทำได้อะ’
- การสร้างคำมั่นสัญญาว่าคนใต้ปกครองจะปลอดภัย และจะนำพาผู้คนไปสู่ที่สิ่งที่ดีกว่า
- รวมถึงความต้องการสืบทอดอำนาจผ่านการมีบุตรเพราะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่เขาไว้ใจ และมองว่าคู่ควรเท่านั้น ทำให้เกิดวงล้อผูกขาดอำนาจผกครองที่ไม่จบไม่สิ้น
- และยังมีผู้เล่นดนตรีให้กับกองทัพตัวเองด้วย (นายกีต้าร์ชุดแดงผู้เล่นได้ทุกสถานการณ์คนนั้น)
ฉากนึงที่น่าคิดและเป็นฉาก iconic ของหนัง คือฉาก Immortan Joe แจกจ่ายน้ำ
หากเปรียบเทียบทุนนิยมผูกขาดที่ขึ้นห้างสรรพสินค้ากับร้านสะดวกซื้อถี่ๆ และใกล้บ้านท่าน มองแฟร์ๆ ก็อาจมีข้อดีที่นำพาความเจริญและอาชีพมาสู่คนจำนวนมาก รวมถึงมีมาตรฐานได้ที่รับการยอมรับ เชื่อใจได้ แต่ก็เป็นเรื่องพูดยากว่าการทำแบบนี้และสโนว์บอลทางด้านอำนาจและทรัพย์สินทรัพยากรไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องดีจริงหรือไม่ เพราะการผูกขาดเองก็ทำให้โอกาสในการลืมตาอ้าปากหรือหลุดพ้นจากสถานะประชาชนที่อยู่อย่างยากลำบากทำได้ยากขึ้น และยังถูกบังคับให้ใช้สอยและซื้อจากผู้ผูกขาดเหล่านั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
การผูกขาด = อำนาจที่จะกำหนดราคาและผลตอบแทนได้อย่างอิสระ
ฉะนั้นการแจกจ่ายน้ำของ Immortan Joe จึงน่าตั้งคำถามว่า “การที่เขาผลิตเครื่องขุดเจาะขุดน้ำบาดาลและแจกจ่ายมัน เขาทำเพื่อคนส่วนมากจริงๆ หรือ?” และ “หากเขาไม่ยึดที่นี่ไว้แต่เพียงผู้เดียว น้ำใต้บาดาลจะเป็นของทุกคน และจะมีฉากแจกจ่ายน้ำนี้ให้เราเห็นมั้ย?” เพราะสิ่งที่ Immortan Joe ทำคือการยึดมา เคลมว่าเป็นของตัวเอง แล้วนำมาแจกจ่าย ไม่ต่างจากการที่เด็กคนหนึ่งยึดผลส้มของเพื่อน 10 คน คนละ 4-5 ลูกมาไว้ที่ตัวเอง แล้วคืนให้เด็กพวกนั้นคนละลูก พร้อมกับบอกว่า “เราให้นะ” ต่อให้การกระทำของเด็กชายคือผ่านการคิดหลักการการแบ่งสันปันส่วนมาแล้วก็ตาม
ซึ่งน่าแปลกที่ทางจิตวิทยา มันทำให้เขาดูดีขึ้นมาเสียอย่างงั้น
อีกทั้งยังสังเกตได้ว่ามีผู้นำหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีอาวุธ มีกำลังคน มีพื้นที่กับอาณาเขตปกครอง มีอาวุธ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า หากไม่ใช่สายโซโล่เดี่ยวอย่าง Max ที่ชะตากรรมไม่แน่นอน โลกใบนี้เป็นโลกที่ต้องการผู้นำพอสมควร เพียงแต่อยู่ที่ผู้นำจะเป็นคนประเภทไหนเท่านั้น
เรายังไม่เห็นผู้นำดีๆ แต่ดูเหมือนคนที่ยิ่งโหดร้าย ทำตัวน่ากลัว และนึกถึงคนอื่นน้อยแบบ Immortan Joe เท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสรอดสูงขึ้นเท่านั้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าบางที ผู้นำเผด็จการอย่าง Immortan Joe อาจดูเหมาะและเป็นที่พึ่งได้สำหรับโลกใบนี้ในทางหนึ่ง เพื่อที่จะคุมทุกคนที่เต็มไปด้วยสัญชาติญาณดิบและพร้อมฆ่าฟันกันเพื่อมีชีวิตรอดตลอดเวลามีสิทธิ์ตัดสินใจเอง
ซึ่งนั่นดูจะเป็นโลกที่เข้าทางเผด็จการอย่าง Immortan Joe มากๆ เพราะโลกที่ถูกใจเหล่าเผด็จการและเผด็จการมักพยายามทำให้ประเทศของตัวเองเป็น คือโลกที่ถูกทำให้ล้าหลัง พัฒนาช้า หรือห้ามประเทศพัฒนา เพื่อที่ตัวเองจะได้ปกครองง่ายๆ พอ ผู้คนไร้อารยธรรม ไม่มีความรู้ และผู้คนภายใต้ปกครองขาดแคลนทรัพยากร ความปลอดภัย ไร้หนทางไปในชีวิตจนรู้สึกต้องพึ่งพิงคนแบบเขา และไร้ทางต่อต้าน เขาจึงมีความสำคัญ และยากที่อำนาจของเขาจะสั่นคลอน
อีกสิ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือการสร้าง ‘War Boy’ ขึ้นมา
แค่คำว่า ‘boy’ ไม่ใช่ ‘man’ ก็บ่งบอกอย่างมีนัยสำคัญแล้วว่าท่านผู้นำไม่ชอบให้ใครโตหรือเป็นผู้ใหญ่คิดเองได้ ที่ Citadel จะมีการจับเด็กมาทาตัวสีขาว ฝึกให้ใช้อาวุธ พร้อมกับสร้างท่าประสานมือชูขึ้นเหนือหัวเพื่อให้เกิดการเทิดทูนบูชา ซึ่งพวก War Boy มอง Immortan Joe เป็นสมมุติเทพหรือห่างชั้นแค่ไหน ก็ดูได้จากการที่ตัวละคร Nux และ War Boy คนอื่นๆ มาพูดอวดกัน แค่เรื่องที่พวกเขาได้สบตากับ Joe เท่านั้นเอง
อีกทั้งยังมีการสร้าง false promise เรื่องสรวงสวรรค์อย่าง Valhalla ที่มีชื่อเดียวกับสวรรค์ในตำนานของชาวไวกิ้งด้วยว่า หลังจากพ่นสเปรย์สีเงินบริเวณปากและฟัน เพื่อสร้างความมุ่งมุ่นในการไปตายอย่างเสียสละในสนามรบ ในจังหวะที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์ พวกเขาจะได้ขึ้นไปสู่สวรรค์ที่น่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วจอของพวกเขาอาจเป็นสีเทาเหมือนในเกม FPS ซักเกมหรือแค่มืดดับไปแค่นั้นเอง
และแน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์คือ Immortan Joe เพราะถ้าสวรรค์มีจริง ทำไมเขาถึงจะไม่ไปที่นั่นซักทีล่ะ ในเมื่อมันน่าอยู่และไม่มีทางแย่กว่าโลกพังๆ ที่พวกเขากำลังอาศัยอยู่อยู่แล้ว?
Immortan Joe มีภรรยาถึง 5 คนเพื่อที่จะสร้างผู้สืบทอดในฐานะ war lord คนใหม่ โดยไม่มีใครสามารถขัดขืนหรือคัดค้านเขาได้ เพราะตำแหน่งของเขาทำให้เขาทำได้ และจากตำแหน่งของเขา ก็เหมือนที่คนบนที่สูงได้ยินคนที่ต่ำกว่าแค่เบาๆ หรือไม่ได้ยินเลย และดูเหมือนสำหรับตัวเขาเอง ไม่มีเหตุผลที่จะต้องลงไปที่ต่ำ ฟัง หรือเกรงใจคำพูดของใครที่ด้อยกว่าเพราะไม่มีใครกล้าขัดขืนอยู่แล้ว เว้นแต่คนที่ไม่มีอะไรจะเสียหรือคนที่มองว่าที่เป็นอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิดจากการแข็งข้อในทางเลวร้ายที่สุดก็ไม่ได้ต่างกันนักกับที่เป็นอยู่
และคนคนนั้นที่คิดแบบนั้นคือ Furiosa ตัวละครหญิงแกร่งอันดับสูงระดับ Imperator ที่นำแสดงโดย ชาร์ลีซ เทรัน (Charlize Theron) เธอถูกจับมาอยู่ที่ Citadel พร้อมกับแม่ตั้งแต่เด็ก แต่หลังจากแม่ของเธอเสีย เธอไม่มีอะไรจะต้องเสียอีกแล้ว เพราะการมีชีวิตอยู่ที่นี่ก็เหมือนไม่ใช่ชีวิต และ ‘กรีนแลนด์’สถานที่ที่เธอเคยจากมา ก็ดูมีความหวังและมีอนาคต และการอาศัยที่นั่นก็ดูใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตหรือการมีชีวิตกว่า นั่นทำให้เธอตัดสินใจพาภรรยาทั้ง 5 ของ Joe หนีไปด้วยกัน
สิ่งที่น่าเศร้าและน่าเจ็บปวดที่สุด ชนิดที่ขนาดดูผ่านจอก็ยังรู้สึกได้ราวกับเรากำลังอยู่ในโลกเดียวกับตัวละคร คือการที่กรีนแลนด์หรือดินแดนแห่งพันธะสัญญาในฝัน กลายเป็นพื้นที่รกร้างที่กลุ่มตัวเองเพิ่งจะผ่านมา และ Furiosa คุกเข่าร้องตะโกนออกมาด้วยความเสียใจ ทางเดียวที่พวกเขาจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ จึงกลับกลายเป็นการหนีรอดจาก Immortan Joe ที่นำไปสู่การปลิดชีพเขา และกลับไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดที่หนีมาตลอดทั้งเรื่องอย่าง Citadel
ซึ่งหลังจากที่แสดงให้เห็นแล้วว่า Immortan Joe ไม่มีตัวตนบนโลกนี้อีกต่อไป ทิศทางของสถานที่แห่งนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล สะท้อนให้เห็นว่าการหนีปัญหาไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการแก้ไขมันจากภายใน แก้ที่ต้นตอ หรือแก้ไขที่ระบบที่มีปัญหาต่างหาก
หนังดีสำหรับหลายๆ คนอาจนิยามต่างกันไป แต่ถ้าหนังที่ดีคือหนังที่ดูแล้วได้อะไรจากมันมากกกว่าแค่รับเอาความบันเทิง แต่ดูแล้วรู้สึกว่ามันส่งสารสะท้อนและสะกิดให้ผู้คนหรือสังคมมอง ตระหนัก และรู้สึกอยากพัฒนา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแย่ๆ บางอย่างได้ หนังเรื่องนี้คือหนังที่ดี และยังเป็น ‘หนังรักโลก’ ที่ทั้งดี สนุกและทำหน้าที่มากกว่าแค่ความรื่นเริงชั่วคราวอีกด้วย