ในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีบันทึกข้อความด่วนที่สุดจากสำนักงานกำลังพลตำรวจ ถึงผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่าให้ยกเลิกการจัดสรรอัตราในการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกเพศหญิง เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจและบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 280 อัตรา อย่างไม่มีกำหนด แต่อนุมัติให้ดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกเพศชาย ที่เรียนจบม. 4 หรือเทียบเท่า เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 280 แทน[1]
เท่ากับว่าเป็นการยกเลิกการรับสมัครผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจอย่างไม่มีกำหนด
จากนั้นต้นเดือนกันยายน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ได้ประกาศแก่สาธารณชนให้ทราบว่า การยุติการรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนนายร้อยตำรวจ จากบุคคลภายนอก ข้าราชการตำรวจ รวมไปถึงนายสิบตำรวจ เป็นการถาวร ที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเป็นนักเรียนนายร้อยได้นั้นเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป เพื่อที่จะรับคัดเลือกนักเรียนนายร้อยตำรวจที่มาจากนักเรียนเตรียมทหารเท่านั้น อันเป็นไปตามมติกระทรวงกลาโหม และสภาการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร ที่ให้โรงเรียนเหล่าทัพทุกเหล่ารับเฉพาะนักเรียนเตรียมทหารเท่านั้น
ปัญหามันอยู่ที่ว่าโรงเรียนเตรียมทหารรับแต่ผู้ชายเท่านั้น จึงเท่ากับว่าเป็นการตัดโอกาสผู้หญิงที่จะเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เช่นเดียวกับที่ตัดโอกาสผู้หญิงเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เป็นทั้งเลือกปฏิบัติทางการศึกษาและอาชีพ ที่เลือกรับสอนเฉพาะนักเรียนชายเท่านั้น
เมื่อมีการทักท้วงจากองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้หญิงและเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ แทนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะอธิบายให้สมกับพันธกิจสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะอำนวยความยุติธรรมให้บริการประชาชนด้วยความเสมอภาคเป็นธรรม หรือพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอันเป็นเรื่องสามัญสำนึก กลับบอกห้ามเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอย่าเอามาพันกัน อย่ามาจ้องจับผิด ให้ลงไปทำงานภาคใต้ที่มีระเบิดทุกวัน[2]
วิพากษ์เรื่องลิดรอนสิทธิสตรีอยู่ดีๆ ไหงกลายเป็นเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ไปได้ไง อย่างกับว่า จาก “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” เปลี่ยนมาเป็น “ภายใต้ความมั่นคงของกองทัพไทย ตำรวจไทยนึกจะพูดอะไรก็ได้”
แต่ที่น่าเศร้าพอๆ กับการปลาสนาการนรต.หญิงก็คือ ความตระหนกทักท้วงในเรื่องนี้ค่อยๆ fade ไปสู่ความเงียบงันและหายไป แม้แต่สถาบันการศึกษาด้วยกันเอง หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาด้านเฟมินิสต์ เพศสภาพ สตรีศึกษา ตามมหาลัยก็ปรับก็สู่โหมดเงียบฉี่ จนมองเห็นอนาคตของเฟมินิสต์ไทยช่างวังเวงมืดมนอนธการ
เงียบชนิดที่ว่าขนาดกรณีขนาดเสือดำใกล้สูญพันธุ์โดนยิงตายยังถูกจดจำและพูดถึงมากกว่า
หากนับอายุของการมีอยู่ของ นรต.หญิง ก็มีอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น เพราะเพิ่งจะเริ่มมีในปี 2552 นี่เอง ขณะที่มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งแต่ปี 2444
สิริรวม 1 ทศวรรษกว่าๆ ที่ผู้หญิงสามารถสอบรับคัดเลือกเป็นนักเรียนนายร้อยได้ และกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี เพราะเชื่อว่าพวกเธอเหมาะกับงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชนสตรี และคดีทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวผัวตีเมีย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักเปิดใจและสะดวกใจที่จะให้การกับพวกเธอมากกว่าพนักงานสอบสวนหรือตำรวจชาย แต่ลำพังผู้หญิงที่ทำหน้าที่นี้ก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว
แม้ว่าจะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะอ้างว่ายังไงก็มีการรับสมัครผู้หญิงในช่องทางอื่นสำหรับการประกอบอาชีพตำรวจ และพนักงานสอบสวน แต่การกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นเพศชายเท่านั้นเข้าสถานศึกษาวิชาชีพ ก็เป็นการกีดกันผู้หญิงออกจากอาชีพและการศึกษา คือการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ผิดฉกรรจ์ตั้งแต่ต้น
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของตำรวจไทยและอีกหมุดหมายหนึ่งของสถานภาพสตรีไทยที่ตกต่ำลงไปอีกกขั้น ผลักผู้หญิงออกไปจากปริมณฑล หลังจากที่ได้ผลัก ‘ความเป็นหญิง’ ออกไปด้วยการให้นักเรียนตำรวจหญิงปีที่ 1-2 ตัดผมสั้นกุด ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้สะดวกคล่องตัว ง่ายต่อการฝึกวินัยออกกำลัง ภาคสนามฝึกกระโดดร่ม และความเป็นระเบียบแถว เหมาะกับสภาพอากาศและรักษาความสะอาด[3]เป็นการทำให้พวกเธอมีทรงผมเหมือนผู้ชายในสังคมกระแสหลักที่ให้คุณค่าความหมายว่าผู้หญิงผมยาว ผู้ชายผมสั้น
ยถากรรมนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจึงไม่ต่างอะไรกับนักเรียนนายร้อยทหารหญิง
ใช่ๆ บ้านนี้เมือนนี้มีนักเรียนนายร้อยทหารหญิงนะเออแต่เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ในช่วงปลายปี 2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำริให้มีกองทหารหญิงขึ้น ด้วยความพยายามทำให้เชื่อว่าผู้หญิงสามารถออกรบต่อสู่เพื่อรักษาอิสรภาพของชาติได้ จึงจัดการให้มีการศึกษานักเรียนนายร้อยหญิง เพื่อผลิตทหารหญิง ซึ่งได้สอบคัดเลือกเฉพาะหญิงโสดอายุ 18-24 ปี และจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 และตั้งโรงเรียนนายร้อยหญิงและโรงเรียนนายสิบหญิง[4]
พวกเธอใช้หลักสูตรเดียวกับนักเรียนนายร้อยชาย[5] ทว่าเมื่อจบการศึกษาในปี 2487 มาแล้วยังไม่มีกองพันทหารหญิง จึงไม่มีตำแหน่งบรรจุ แต่ถูกส่งไปฝึกอบรมกิจการต่างๆ ในหน้าที่ผู้ช่วยพลรบ
ขณะเดียวกันมีการตั้งโรงเรียนนายสิบหญิง เพื่อผลิตนายสิบในการบังคับหมู่พลทหารหญิง ภายใต้การบังคับบัญชาของนายร้อยหญิง ผู้บังคับหมวดอีกที ในปี 2485 โรงเรียนเปิดในปี 2486 มีหลักสูตร 1 ปี เน้นวิชาการทหารราบ วิชาและการฝึกเพื่อทำหน้าที่ผู้บังคับหมู่ รองผู้บังคับหมวด ผู้ช่วยจ่ากองร้อยและจ่ากองร้อย แต่เพราะยังไม่ได้ตั้งกองพันทหารหญิง ให้เข้ารับการอบรมหน้าที่ในกองบังคับการกองพันและกองร้อยทหารราบ และหน้าที่ผู้ช่วยพลรบ[6]
จากนั้นพวกเธอทั้งนายร้อยและนายสิบก็ถูกส่งไปฝึกหัดภาคปฏิบัติเพิ่มเติมที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี ในความอำนายการของแผนกทหารราบกรมเสนาธิการทารบก เพื่อเตรียมตั้งหน่วยทหาร ‘กองอาสาสมัครทหารหญิง’ ต่อไป
ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดอัตรากำลังหน่วยทหารหญิงเป็น 1 กรม มีกำลัง 3 กองพัน แต่ในเบื้องต้นบรรจุกำลังได้กองพันเดียว และให้นายร้อยและนายสิบหญิงยังคงทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดและหมู่เท่านั้น ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เช่นผู้บังคับกองร้อย นายทหารฝ่ายการเงิน พลาธิการกองพันยังบริหารโดยนายทหารชาย แล้วบรรจุทหารหญิงเข้าไปเป็น ‘ผู้ช่วย’ หรือ ‘ทำหน้าที่รอง’ เรียนรู้งาน จนกว่าจะชำนาญแล้วจึงให้เข้ารับหน้าที่แทน[7]
แต่เพราะสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องลาออก และรัฐบาลชุดใหม่ไม่เห็นชอบกับทหารหญิงที่กำลังเริ่มก่อร่าง จึงยุบหน่วยทหารหญิงและโรงเรียนนายทหารหญิงตามคำสั่งพิเศษของทั้งกระทรวงกลาโหมและทัพบก สั่งเลิกอัตราทหารหญิง โอนไปเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนประเภทสามัญ ซึ่งผู้ที่ลาออกเพราะไม่สมัครใจรับราชการต่อ ก็สามารถลาออกได้แต่ไม่มีบำเหน็จบำนาญ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2488 เป็นต้นไป หน่วยทหารหญิงจึงมีอายุเพียง 1 ปี[8]
การสูญสลายของนักเรียนนายร้อยทหารหญิงไปจนถึงนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เท่ากับอีกก้าวถอยหลังของสถานภาพสตรีไทยที่ตอกย้ำถึง ‘รัฐผู้ชาย’ (male state)
ที่ทรัพยากรของรัฐผูกขาดและเอื้ออำนวยให้ผู้ชายเข้าถึงได้มากกว่าสะดวกกว่า มีช่องทางมากกว่า พื้นที่บทบาทสาธารณะที่สัมพันธ์กับรัฐโดยตรงเป็นของผู้ชาย ขณะที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ภายในบ้านและพื้นที่ส่วนบุคคลมากกว่า
เพราะระบบปิตาธิปไตยที่กำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศสภาพเป็นกลไกหนึ่งในการทำงานให้กับสถาบันหลักๆ ของรัฐ เช่นศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ครอบครัว ศาล ทหาร ตำรวจ การทูต รัฐจึงกลายเป็น ‘รัฐผู้ชาย’ ที่รัฐถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะเพศชายเท่านั้น รัฐด้วยตัวของมันเองคือผู้กดขี่ในฐานะโครงสร้างอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ ด้วยเหตุนี้ บทบาทสาธารณะที่สัมพันธ์กับรัฐโดยตรงมักสงวนไว้ให้ผู้ชายโดยเฉพาะ[9]
ทั้งๆ ที่เป็นทรัพยากรของรัฐแต่กลับกีดกันเฉพาะเพศหญิงและ ‘ความเป็นหญิง’
ทันทีที่ผู้หญิงที่จะเข้าไปใช้ทรัพยากรในปริมณฑลผู้ชายนั้นจึงต้องตอน ‘ความเป็นเพศ’ ของเธอไป ไม่เพียงต้องรับสวมสถานะของผู้ชายคือ ‘นายร้อย’ ไถผมสั้นแบบผู้ชาย แต่ยังต้องมีคำว่า ‘หญิง’ พ่วงท้ายเพราะนั่นคือทรัพยากรของผู้ชายแต่แรก เช่นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ขณะเดียวกันบทบาทหน้าที่สาธารณะที่พวกเธอได้ก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรแบบแม่บ้าน เช่นประเด็นที่ต้องอาศัยความอ่อนโยน ปลอบประโลมเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทร ลดทอนความรุนแรง เช่นกรณีที่ต้องสื่อสารกับเด็ก เยาวชน และสตรี
พวกเธอจึงกลายเป็นสภาวะลูกผีลูกคน อีหลักอีเหลื่อ กลุ่มคนชายขอบในศูนย์กลางโครงสร้างสังคม ก่อนจะถูกปัพพาชนียกรรม
ยิ่งมีการอ้างว่าการยกเลิกการรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เป็นนโยบายระดับความมั่นคงของกองทัพไทย ก็ยิ่งให้เห็นความอ่อนแอของกองทัพ ล้มเหลวในเรื่องความเสมอภาคและระดับเพดานความคิดที่คิดว่า มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถได้รับวิชาชีพที่ถูกให้คุณค่าว่าสัมพันธ์กับความมั่นคงระดับประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[4] ดำเนิร เลขะกุล. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอกนิยม สุรัตพิพิธ. พระนคร, โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ,2509, น. 75-77.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 81-82.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 86.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 89.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 96.
[9] H. Lorraine Radtke and Henderikus J. Stam. Power/gender : social relations in theory and practice. London : Sage, 1994, p. 145.