แม้การเลือกตั้งที่ผ่านมาจะโสโครก อยุติธรรม ใช้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือฟอกตัวของพวกฝักใฝ่ระบอบเผด็จการ แต่เราก็ยังพอมีผู้แทนราษฎรที่มาจากเสียงประชาชนตามกติกาจริงๆ ที่ยึดในหลักการอุดมการณ์ประชาธิปไตยบ้าง ไม่ใช่ผู้แทนราษฎรที่มาจากหลักเกณฑ์ไร้มาตรฐานที่สร้างขึ้นมาเองขององค์กรหากินกับระบอบเผด็จการ
หลังจากร้างราประชาธิปไตยไปเสียนานจนประชาชนโหยหา การประชุมสภาฯ จึงเป็นที่ตื่นเต้นสนใจเป็นพิเศษ ทั้งประชาชน ตัวแทนของประชาชน และตัวแทนของสูตรคำนวณ ส.ส. ที่ดูถูกเสียงของประชาชน
เป็นที่สนใจแม้กระทั่งเสื้อผ้าหน้าผมของ ส.ส. ด้วยความคิดที่ว่าการให้เกียรติสถานที่ ความเหมาะควรยังต้องแสดงผ่านเครื่องแต่งกาย จนกลายเป็นประเด็นทันทีที่ ส.ส. เลือกที่จะแต่งตัวตามเพศสภาพไม่ใช่เพศกำเนิด จนถูกด่าทอ หาว่าไม่ให้เกียรติสภา ไม่รู้จักกาลเทศะ
อันที่จริง สำหรับ ส.ส. แล้ว เมื่อเป็นตัวแทนของประชาชนก็ย่อมไม่ใช่ตัวแทนเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่พวกเขาและเธอเป็นตัวแทนของประชาชนในทุกมิติ ทุกเพศสภาพเพศวิถี ชาติพันธุ์ วัย และอื่นๆ ที่บางที ส.ส. อาจจะไม่เคยเผชิญประสบการณ์ปัญหาจากการเป็นคนชายขอบ ชนกลุ่มน้อย (ซึ่ง ‘ชนกลุ่มน้อย’ ไม่ได้มีความหมายแต่ชาติพันธุ์เท่านั้น หากแต่รวมถึงกลุ่มบุคคลที่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากร ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดทับโดยโครงสร้างรัฐ) ก็ได้ ทว่าจะต้องจัดการทรัพยากรอย่างไรให้กระจายทั่วถึงประชาชนทุกมิติ
ส.ส. ชายก็ต้องตระหนักถึงสิทธิสตรีและ LGBT ส.ส. ชาติพันธุ์ไทย (ซึ่งก็เป็นลูกผสมร้อยพ่อพันแม่ กับชนพื้นเมืองและต่างถิ่น) ก็ต้องตระหนักถึงความเสมอภาคกับชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่ง LGBT ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. พวกเขาและเธออาจจะสามารถพูดแทนประชาชนที่มิติร่วมเดียวกันได้ชัดเจนกว่า ส.ส. ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในชุมชน LGBT เนื่องจากเข้าใจและเผชิญปัญหามาก่อน เช่นเดียว ส.ส. ที่มาจากชาติพันธุ์ม้ง ก็ย่อมเข้าอกเข้าใจปัญหาของม้งได้ดีกว่า
ผู้หญิงที่เป็น ส.ส. เช่นกัน พวกเธอก็อาจจะเข้าใจปัญหาโครงสร้างปิตาธิปไตยได้ดีกว่าผู้ชาย
ดังนั้นพวกเขาและเธอทั้งผู้หญิงและ LGBT ไม่จำเป็นต้องตอนเพศตัวเอง ทำตัวให้ไร้เพศสภาพเมื่ออยู่ในสภา เพราะการธำรงอัตลักษณ์ทางเพศต่างหากที่จำเป็นด้วยตัวของมันเอง เพื่อประกาศว่ารัฐสภาไม่ใช่ของกลุ่มอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นของประชาชนทุกคนที่เลือกตัวแทนเข้าไป การตอนเพศสภาพต่างหากที่เท่ากับการสยบยอม ’รัฐผู้ชาย’ (male state) ที่กติกาบรรยากาศถูกสร้างออกแบบด้วยสำนึกเอื้อต่อ ‘ความเป็นชาย’ ให้ผูกขาดกับสถาบันสาธารณะหลักๆ ทั้งรัฐสภา ศาสนาจักร ศาล ทหาร การทูต และรัฐบาลก็ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพื่อประคับประคองระบอบปิตาธิปไตย[1] ด้วยความที่เชื่อว่าพื้นที่ทางการเมืองภาครัฐเป็นพื้นที่ของการใช้ตรรกะเหตุผลถกเถียง ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิงที่เป็นเพศอ่อนด้อยทางตรรกะ ชอบใช้อารมณ์ฟูมฟายฟาดงวงฟาดงา
เช่นเดียวกัน ส.ส. ที่เลือกแต่งชุดประจำชาติพันธุ์ของเขา ไม่ใช่สูทชุดสากลเข้าสภา เพราะไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องซ่อนวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนเอง รัฐสภาไม่ได้เป็นของชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น เขามีสิทธิเต็มที่ที่จะทวงสิทธิและอำนาจที่ควรจะได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งในประเทศเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าไทยจะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่รัฐไทยก็ยังคงกระจุกอำนาจไว้ที่กรุงเทพ สงวนทรัพยากรไว้เฉพาะชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเท่านั้น
เสื้อผ้าหน้าผมของ ส.ส. หญิงเองก็ถูกจับจ้องควบคุมเพราะในระบอบปิตาธิปไตย ผู้หญิงไม่เพียงถูกทำให้เป็นวัตถุ เรื่องแต่งกายที่เป็นการปกปิดเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอจึงถูกจับจ้อง เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่ถูกควบคุมเพศสัมพันธ์อย่างเข้มงวดกว่าผู้ชาย ผู้ชายมีอิสระทางเพศมากกว่า ผู้ชายได้รับอิสระเรื่องเพศมากแค่ไหน เอาเป็นว่าก็อย่างน้อยที่สุด ครั้ง 2 ครั้งที่สื่อมวลชนบันทึกภาพได้ว่า ส.ส. ชายสามารถนั่งดูภาพโป๊ในมือถือ iPad ระหว่างการประชุมสภา
อันที่จริงเรื่องที่สำคัญที่ควรจะใส่ในมากกว่า ส.ส. จะใส่ชุดอะไรเข้าประชุมสภาก็คือ ผู้ที่มาจากเสียงข้างน้อยคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สามารถเข้ามาเป็น ส.ส. ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะต่อลมหายใจให้ระบอบประชาธิปไตยผ่านรัฐสภา เพราะเผด็จการทหารก็มาสิงเสพสภาผ่านพรรคการเมืองเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่มืดมนอนธการครั้งนี้ยังพอมีแสงสว่างให้เห็นก็คือ กลุ่มอัตลักษณ์ที่ถูกมองข้ามจนไม่รู้จัก กลุ่มที่เป็นคนชายขอบได้เริ่มถูกรับเลือกตั้งเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของการปกครอง
ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่เข้ามาสู่โครงสร้างหลักของรัฐผู้ชายก็ยังคงต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาเดิม เช่นเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีมีประชาธิปไตย จากการสำรวจในปี 2556 พบว่าที่นั่งของผู้หญิงในรัฐสภามีเพียงร้อยละ 15.7 เท่านั้น
ส.ส. หญิงหลายคนยังคงถูกเรียกด้วย ‘น้อง’ นำหน้าชื่อ ซึ่งการเรียก ‘น้อง’ เผยให้เห็นว่า ผู้หญิงถูกมองว่ายังไม่โต เป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา เป็นรอง ต่ำศักดิ์กว่า จำต้องให้ผู้ชายอบรมสั่งสอน ต้องพึ่งพิงได้รับการปกป้องดูแลโดยผู้ชาย[2] ต่อให้อ้างว่าเรียกด้วยความเอ็นดู แต่ความเอ็นดูก็มาพร้อมกับสำนึกต่างสถานะกัน ที่ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับการเคารพซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม ขณะที่ ส.ส. ชายเองก็ไม่ถูกวัฒนธรรมการเรียกด้วยคำนำหน้าชื่อว่า ‘น้อง’ ร้ายไปกว่านั้นยังบางคนยังนำหน้าด้วย ‘บิ๊ก’ ในกรณีที่เป็นทหาร หรือบางครั้งก็มีคนไปเรียกนายกรัฐมนตรีว่า ‘ลุง’ ให้อาวุโสกว่าพ่อตัวเอง โดยไม่ได้คำนึงเขาจะมีวุฒิภาวะหรือไม่ เป็นการสร้างสถานะผู้ชายไปพร้อมกับบารมี
ร้ายไปกว่านั้น ส.ส. ชายหลายคนก็มีท่าทีที่ยังคงเชื่อว่าเพศสภาพตนเองเป็นเจ้าของสถานที่มากกว่า นึกอยากจะพูดจาแทะโลมหรือแซวอะไรก็ได้ ต่อให้อ้างว่าเป็นเพราะเอ็นดูก็ฟังไม่ขึ้น
…เอ็นดูมากๆ เดี๋ยวได้เอ็นร้อยหวายนะคะ
เช่นเดียวกับที่ผ่านมาผู้หญิงที่เข้าไปในสภามักถูกจัดวางเป็นเพียงไม้ดอกไม้ประดับสร้างสีสันอย่างที่เคยปฏิบัติเมื่อหลายสิบปีก่อน เช่นปี 2491 ลักษมี กรรณสูตร รองนางสาวไทยได้รับการเชื้อเชิญไปร่วมเข้าฟังประชุมสภาราษฎร แม้ว่าเธอจะไม่มีความรู้หรือเคยเข้าฟังมาก่อน เพียงแต่ไปช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับสภา กล่าวกันว่า ในวันนั้นสภาอภิปรายสุภาพเรียบร้อยกว่าที่เคยมา[3]
ทว่าความพยายามปกป้องสถานภาพของ ส.ส. หญิงทั้งสภาเพื่อไม่ให้เป็นเพียงไม้ประดับ ในการประชุมสภาที่ผ่านมากลับกลายเป็นโอกาสให้ ส.ส. ชายบางพรรคโห่ฮา ทำให้เป็นเรื่องตลก ยิ่งตอกย้ำว่า ส.ส. ชายพวกนั้นยังไม่เข้าใจว่า ส.ส. หญิงก็มีสถานะเดียวกันกับพวกเขา ที่ทุกคนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนของประชาชน
ส.ส. หญิงนอกจากไม่ใช่เป็นไม้ประดับ ขณะเดียวกันพวกเธอก็ไม่ใช่หมากตัวหนึ่งให้พรรคเอาไว้ไล่ชนกับ ส.ส. หญิงพรรคอื่นแทน ส.ส. ชาย เพราะกลัวจะหาว่าผู้ชายรังแกผู้หญิง เป็นยุทธศาสตร์บนสำนึกที่ว่าชายหญิงไม่เท่ากันแต่แรก แทนที่จะมองว่าสภาเป็นพื้นที่แห่งการถกเถียงเชิงอุดมการณ์ ไม่ว่าเพศใดก็ถกเถียงกันได้
ด้วยเหตุนี้ พอมี ส.ส. หญิงพรรคนึงลุกขึ้นใช้เสียงของเธอแสดงวิสัยทัศน์เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส. หญิงเป็นเพียงไม้ประดับ แทนที่จะฟังอย่างมีสติและมารยาทอีกพรรคหนึ่งก็ต้องไปคุ้ยหา ส.ส. หญิงในพรรคตัวเองแห่ไปร้องแรกแหกกระเชอ แหกปากปาวๆ ป่วนสภา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของการรักษาคุณค่าความหมายของ ส.ส. หญิงด้วยกันเอง แถมยังปล่อยให้ ส.ส. หญิงในพรรคเที่ยวไปท้าตบท้าตีนอกสภา เรียกจิกหัวอีนั่นอีนี่ ราวกับว่าคุ้นชินกับการได้ผลประโยชน์จากความรุนแรงหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา
ไม่เพียงบั่นทอนประชาธิปไตยไม่ให้ก้าวหน้า สมดั่งที่เป็นพรรคการเมืองที่เป็นผลผลิตของเผด็จการ ยังสนับสนุนให้สภาที่เป็นผลผลิตของ male state ผลิตซ้ำว่าผู้หญิงคือเพศวุ่นวายไร้ตรรกะใช้แต่อารมณ์ฟาดๆๆ ไม่เหมาะกับพื้นที่การเมืองภาครัฐ
หนำซ้ำในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนและสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เพียงสะท้อนรสนิยมและคุณค่าของพรรคนั้นๆ ยังพลอยทำให้ประชาชนในเขตของเธอถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีรสนิยมยังไงถึงได้เลือกคนเช่นนี้มาเป็นตัวแทน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Radtke, H. Lorraine; Stam, Henderikus J. Power/gender : social relations in theory and practice. London : Sage, 1994, p. 145.
[2] Beauvoir, Simone de, translated and edited by H.M. The Second Sex. Parshley New York : Vintage Books, 1974, p. 665 อ้างถึงใน ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. เมื่อผู้หญิงคิดจะมีหนวด : การต่อสู้ “ความจริง” ของเรื่องเพศในสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2549, น. 8.
[3]สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล.การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ.2477-2530). กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531, น. 119-124.