1
คอนเซปต์เรื่องเฟมินิสม์เป็นเรื่องใหม่มากในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ หลายคนอาจประหลาดใจหากได้รู้ว่า คนแรกๆ ที่พูดเรื่องเฟมินิสม์ คือนักปรัชญากรีกที่เป็น ‘ผู้ชาย’ อย่างเพลโต ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดการ ‘คิดต่อ’ ในหมู่นักคิดมุสลิมด้วย
หลายคนอาจเลิกคิ้วสงสัย—เป็นเพลโตและนักปราชญ์มุสลิมหรือ, ที่พูดเรื่องเฟมินิสม์
เพลโตเขียนไว้ตอนหนึ่งใน The Republic ถึงบทบาทของผู้หญิง โดยนำสังคมมนุษย์ไปเปรียบเทียบกับฝูงสุนัขว่า—เหล่าสุนัขแย่งแยกเพศออกเป็นชายและหญิงหรือเปล่า หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว พวกมันก็ออกล่า เฝ้าระวังฝูง และทำหน้าที่อื่นๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนๆ ก็ตาม
คำถามคือ—มนุษย์ควรเป็นแบบนั้นด้วยไหม?
เพลโตเสนอว่า ใน ‘อุตตมรัฐ’ หรือรัฐในอุดมคติแล้ว ผู้หญิงกับผู้ชายควรทำงานร่วมกัน ผู้หญิงควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม และได้รับความเสมอภาคในทุกแง่มุมของรัฐ อันเป็นแนวคิดที่สวนทางกับสังคมกรีกโบราณอย่างมาก
ในศตวรรษที่ 12 นักปราชญ์มุสลิมบางคนก็เสนอว่า ในครอบครัวของนักปราชญ์ ไม่ว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาวก็ควรได้ศึกษาคัมภีร์ในระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้เช่นเดียวกันเพื่อสืบทอดศาสนาต่อไป แต่ความเห็นนี้ไม่ได้รับการยอมรับทั่วไป บางคนก็คัดค้าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน นักปรัชญามุสลิมบางคนก็สรุปคล้ายๆ เพลโต (โดยเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของเพลโต) ว่าแม้ผู้ที่เป็นประกาศกควรจะเป็นชาย แต่ผู้หญิงเองก็สามารถบรรลุสถานะนักบุญ (Sainthood) ได้เช่นเดียวกับผู้ชายเหมือนกัน และดังนั้น เมื่อเกิดศึกสงครามต่างๆ ขึ้น ผู้หญิงก็ควรได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชายด้วย ในยุคนั้น มีบันทึกถึงผู้หญิงมุสลิมที่ออกรบอย่างแข็งแกร่งพอๆ กับผู้ชายหลายคน
ในยุคกลางของยุโรป ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมในรูปแบบต่างๆ เช่น ต่อต้านแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงต้องถูกจำกัดสิทธิต่างๆ อาทิเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (โดยเฉพาะที่ดินในระบบฟิวดัล) ไม่ได้ หรือต้องเชื่อฟังบิดาและสามีตลอดเวลา ผู้หญิงยังลุกขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กบฎชาวนา’ ในหลายที่ เช่นในอังกฤษ โดยขบวนการที่สร้าง ‘อำนาจ’ ให้ผู้หญิงมากที่สุดในยุคกลางจนศาสนจักรต้องลุกขึ้นมากำจัด ก็คือขบวนการแม่มด
เมื่อนึกย้อนกลับไป หลายคนอาจไม่คิดว่านักต่อสู้เหล่านี้คือเฟมินิสต์ เพราะเอาเข้าจริง นักต่อสู้เหล่านี้ไม่ได้มีแนวคิดหรือคอนเซปต์ในการต่อสู้เหมือนเฟมินิสต์ยุคใหม่เสียทีเดียว ดังนั้น หลายคนจึงเรียกนักต่อสู้เหล่านี้ว่าเป็น—เฟมินิสต์ต้นแบบ หรือ ‘โปรโตเฟมินิสต์’ (protofeminist)
และโปรโตเฟมินิสต์คนสำคัญคนหนึ่ง ก็คือแมรี่ โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) นักเขียนหญิงยุคปฏิวัติฝรั่งเศสผู้ต้องเผชิญกับชะตากรรมเจ็บปวดหลายมิติ
นอกจากความเป็นโปรโตเฟมินิสต์แล้ว ความตายของเธอยังเกี่ยวพันกับแฟรงเกนสไตน์อย่างลึกซึ้งอีกด้วย!
2
แมรี่ โวลสโตนคราฟต์เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ.1759 ที่ลอนดอน เธอเป็นลูกสาวคนที่สองของพี่น้องเจ็ดคน แม้พ่อและแม่ของเธอจะมีฐานะดีพอสมควรในตอนที่เธอเกิด แต่ต่อมาสถานะทางการเงินของครอบครัวก็เริ่มง่อนแง่นไม่มั่นคง
พ่อของเธอเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เขาทุบตีภรรยาเวลาเมาอยู่บ่อยครั้ง และเป็นแมรี่นี่เอง ที่คอยนอนอยู่หน้าประตูห้องนอนของแม่ เพื่อป้องกันพ่อจากการเข้าไปทุบตี เธอยังคอยดูแลเหล่าน้องสาวของเธอด้วยจนชั่วชีวิต
พูดได้ว่า แมรี่มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับเพศที่เรียกตัวเองว่าชายในช่วงต้นของชีวิต แต่เธอมีมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่งดงามกับผู้หญิงหลากหลาย ทั้งบรรดาน้องสาวและเพื่อนๆ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ
น้องสาวคนหนึ่งของเธอ คืออีไลซา แต่งงานไปกับสามีที่เป็นแบบเดียวกับพ่อ คือชอบใช้ความรุนแรง แมรี่จึงบอกอีไลซาให้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดถึงในยุคนั้น ตอนนั้น ลูกของอีไลซายังเป็นทารกนอนแบเบาะอยู่ แต่เธอมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด แมรี่จึงจัดแจงทุกอย่างเพื่อให้อีไลซาทิ้งทั้งสามีและลูกไปเสีย แมรี่ทำอย่างนั้นเพื่อท้าทายบรรทัดฐานของสังคมด้วย แต่ผลลัพธ์ที่ได้เลวร้ายมาก เพราะสังคมประณามอีไลซาสาหัส และเนื่องจากในยุคนั้น สามีภรรยาไม่สามารถเลิกรากันได้ หย่าร้างไม่ได้ อีไลซาจึงแต่งงานใหม่กับใครไม่ได้ และเมื่อทุกคนรู้ว่าเธอทิ้งสามีและลูกมา ก็ไม่มีใครจ้างเธอทำงาน อีไลซาจึงต้องมีชีวิตที่ยากจนไปตลอดชีวิต
แมรี่ยังมีเพื่อนอีกหลายคนที่มีอิทธิพลกับชีวิตของเธอ คนหนึ่งที่สำคัญมีชื่อว่า แฟนนี่ บลัด (Fanny Blood) ซึ่งแมรี่บอกว่า บลัดคือคนที่ทำให้เธอเปิดกว้างและมองโลกในแบบที่ไม่เคยมองมาก่อน
ในช่วงที่เธอยังอายุไม่ถึงยี่สิบปีดี แมรี่ไปทำงานดูแลหญิงชราคนหนึ่ง แต่บังเอิญว่าแม่ของเธอป่วย แมรี่จึงต้องกลับไปดูแลแม่ เมื่อแม่ของเธอเสียชีวิต แมรี่ไม่ได้กลับไปทำงานเดิมต่อ เธอย้ายไปอยู่กับครอบครัวบลัด และอยู่กับแฟนนี่ บลัด นานถึงสองปีเต็ม
เป็นช่วงเวลานั้นเองที่แมรี่รักและยกย่องบูชาบลัดมาก ทั้งคู่วางแผนจะใช้ชีวิตร่วมกัน ด้วยการออกมาเช่าห้องอยู่ด้วยกันและสนับสนุนกันและกันทั้งทางความรู้สึกและทางการเงิน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วสอดคล้องกับแนวคิดของเฟมินิสต์ยุคใหม่ในแนวทาง radical feminism ไม่น้อยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังปั่นป่วน การปฏิวัติฝรั่งเศสใกล้เข้ามา เศรษฐกิจย่ำแย่ และบลัดก็ล้มป่วย แม้แมรี่ บลัด และพี่น้องคนอื่นๆ จะร่วมกันเปิดโรงเรียนขึ้นมา แต่ในไม่ช้าบลัดก็ทำงานไม่ไหว เธอหมั้นและแต่งงานกับสามี ซึ่งพาเธอไปอยู่ที่ลิสบอน โปรตุเกส เพราะเห็นว่าอากาศที่นั่นดีกว่าในลอนดอน และน่าจะช่วยให้อาการของเธอดีขึ้น
ในปี ค.ศ.1785 บลัดตั้งครรภ์ นั่นยิ่งทำให้สุขภาพของเธอย่ำแย่ลงไปอีก ถึงขั้นที่แมรี่ต้องทิ้งโรงเรียนเพื่อไปพยาบาลบลัดที่ลิสบอน แต่สุดท้ายบลัดก็เสียชีวิต ที่เลวร้ายที่สุด ความที่แมรีทิ้งโรงเรียนมา ในที่สุดโรงเรียนที่ทั้งคู่ร่วมสร้างขึ้นมาก็ล้มเหลวจนต้องปิดตัวไป ทั้งหมดจึงแทบทำให้แมรี่ถูกทำลายยับเยิน
3
หลังจากนั้นราวหนึ่งปี แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ เริ่มต้นอาชีพนักเขียน
นี่เป็นการตัดสินใจที่ ‘สุดขั้ว’ อย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ผู้หญิง’ ยุคนั้น ถูกจำกัดไว้กับการทำงานไม่กี่อย่าง เช่น เป็นพี่เลี้ยงเด็ก เป็นพยาบาล แต่ที่สำคัญที่สุด—ก็คือการเป็น ‘เมีย’ เพื่อจะเป็น ‘แม่’ ให้กับผู้ชายสักคนหนึ่ง และกระทั่งผู้ชายเองก็ยังมีน้อยนักหนาที่สามารถหาเลี้ยงตัวด้วยอาชีพเขียนหนังสือได้
แต่กระนั้น แมรี่ก็บอกคนอื่นๆ ว่า เธอจะเป็น The First of a New Genus หรือมนุษย์สายพันธุ์ใหม่นี้ให้ได้ เธอย้ายไปลอนดอน ได้พบกับเจ้าของสำนักพิมพ์หัวเสรีนิยมคนหนึ่ง เธอไม่ได้ทำเฉพาะงานเขียน แต่ยังเรียนภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันเพื่อทำงานแปลด้วย และเป็นช่วงเวลานี้เอง ที่เธอได้พบกับนักปรัชญาชื่อ วิลเลียม ก็อดวิน (William Godwin) ซึ่งเมื่อพบกันครั้งแรก ต่างฝ่ายต่างผิดหวังในกันและกันอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ขัดคอกันตลอด จนไม่มีใครสบอารมณ์กับใคร
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง แมรี่มีสัมพันธ์กับศิลปินอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งงานแล้ว และเธอก็ทำสิ่งที่ ‘ก้าวหน้า’ อย่างยิ่งแม้กระทั่งในยุคสมัยนี้ นั่นคือเธอเสนอขอเข้าไปอยู่ร่วมบ้านกับศิลปินคนนั้นและภรรยาของเขา ไม่ใช่ในฐานะ ‘เมียน้อย’ แต่เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน โดยที่เธอจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเขา
ความซับซ้อนในข้อเสนอของแมรี่ ทำให้ศิลปินคนนั้นปฏิเสธเธอ เขาพรั่นพรึง ตระหนก จนในที่สุดก็ตัดขาดจากเธอ
ตอนนั้นเอง ที่ทำให้เธอตัดสินใจไปไปฝรั่งเศส
4
ฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ.1780s ถึง 1790s คือฝรั่งเศสที่กำลังวุ่นวาย มันคือช่วงแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วภาคพื้นทวีป ด้านหนึ่ง แมรี่อยากหนีจากลอนดอนไปให้พ้นความอับอายของการถูกปฏิเสธ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เธอก็อยากเข้าร่วมเหตุการณ์ปฏิวัติใหญ่นั้นด้วย
ตอนนั้น เธอเพิ่งเขียนหนังสือ Vindication of the Rights of Men เพื่อตอบโต้เอ็ดมุนด์ เบิร์ก (Edmound Burke) ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสเอาไว้ในแบบอนุรักษ์นิยม ชื่อหนังสือของเธอคือการบ่งบอกว่า เธอเห็นความสำคัญของ ‘สิทธิ’ ของ ‘มนุษย์’ (ในคำว่า Men) มากแค่ไหน หนังสือเล่มนี้ทำให้เธอโด่งดังข้ามคืน ตามติดมาด้วยหนังสือว่าด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1790 อันเป็นผลพวงของการเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อสังเกตการณ์และเข้าร่วมการปฏิวัติ
ในช่วงวันที่ 5-6 ตุลาคม ค.ศ.1789 เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสถึงจุดสูงสุด ควีนมารี อังตัวเน็ตต์ และข้าราชบริพาร ถูกบังคับให้เดินเท้าจากพระราชวังแวร์ซายส์เข้ามายังกรุงปารีส โดยผู้ควบคุมการเดินทางครั้งนั้น คือเหล่าหญิงแม่บ้านฝรั่งเศสธรรมดาๆ จำนวนมาก
เอ็ดมุนด์ เบิร์ก เขียนถึงการเดินทางครั้งนั้นว่า พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ต้องเดินเท้าโดยมีเหล่าหญิงหน้ายักษ์ผู้โกรธเกรี้ยวจากนรก ร้ายกาจที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเป็นได้ คอยบังคับควบคุม ทว่าแมรี โวลสโตนคราฟต์ กลับบรรยายฉากเดียวกันนั้นโดยโต้กลับเบิร์กว่า—ผู้หญิงเหล่านี้คือผู้หญิงที่ต้องหาเลี้ยงชีพให้รอดด้วยการขายผักขายปลา โดยรัฐไม่เคยสนับสนุนเรื่องการศึกษาให้คนเหล่านี้เลย
ใช่—แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ คือผู้หญิงที่กราดเกรี้ยว โกรธเคือง เธอตอบโต้อนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรงเสมอ
จะว่าไป—เธออาจเป็น เกรตา ธันเบิร์ก ของยุคสมัยก็ได้
ก่อนไปฝรั่งเศส เธอเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ A Vindication of the Rights of Woman เพื่อเรียกร้อง ‘สิทธิ’ ให้กับผู้หญิง เนื่องจากเธอไปอ่านรายงานของสภาฝรั่งเศส ที่มีผู้เสนอว่า ผู้หญิงควรได้รับการศึกษาแต่เพียงเรื่องในบ้านเท่านั้น ความโกรธเกรี้ยวทำให้เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาแทบจะในวูบเดียว เธอโจมตีวิธีคิดแบบ ‘สองมาตรฐาน’ ทางเพศ มันเป็นหนังสือที่เปี่ยมพลังรุนแรง กรรโชกโหมกระหน่ำอย่างเร่งรีบ เพื่อจะตอบโต้กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด
ในเวลาต่อมา เธออยากจะปรับปรุงและเรียบเรียงใหม่อีกเป็นเล่มที่สองให้ดีขึ้น ละเอียดขึ้น ใคร่ครวญมากขึ้น แต่เธอก็มีชีวิตอยู่ไม่ถึงวันนั้น
ในอีกแง่หนึ่ง นอกจาก ‘การเมืองเรื่องเพศ’ แล้ว แมรี่ยังต้องเผชิญกับการเมืองอย่างเป็นทางการที่แสนจริงจังของฝรั่งเศส ด้วยความที่แมรี่เห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสคือโอกาสดีที่มนุษย์จะได้บรรลุถึงความสุขและความดีงาม ในที่สุด เธอจึงตัดสินใจจากลอนดอนไปอยู่ปารีสถาวร เธอไปถึงที่นั่นในเดือนธันวาคม ค.ศ.1792 ราวหนึ่งเดือนก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกจะถูกประหารโดยกิโยติน
เธอไม่รู้เลยว่า นั่นคือการเดินเข้าไปหาความวิบัติ
แน่นอน ฝรั่งเศสกำลังกลียุค และปีรุ่งขึ้น ฝรั่งเศสก็ประกาศสงครามกับอังกฤษ—บ้านเกิดของเธอ แมรีพยายามหนีจากฝรั่งเศสไปสวิตเซอร์แลนด์ แต่ไปไม่ได้ ยิ่งเมื่อพวกจาโคแบง (Jacobin) เรืองอำนาจ ฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคแห่งความสยดสยอง (Reign of Terror) ชีวิตของเธอก็ยิ่งยากลำบาก เธอถูกจับตามอง ถูกต้ังข้อสงสัย เพราะเธอคือคนอังกฤษ เธอบอกว่า ชีวิตช่วงนั้นคือฝันร้าย เพราะตำรวจจะลาดตระเวนคอยตามหา ‘ศัตรูของสาธารณรัฐ’ อยู่ตลอดเวลา
แมรี่มีลูกคนแรกในช่วงนั้น เธอพบรักกับกิลเบิร์ต อิมเลย์ (Gilbert Imlay) ซึ่งเป็นนักเดินทางผจญภัยชาวอเมริกัน แต่ทั้งคู่ไม่ได้แต่งงานกัน ลูกสาวคนแรกของเธอมีชื่อว่า แฟนนี่ อันเป็นชื่อของ แฟนนี่ บลัด เพื่อนสนิทที่สุดของเธอผู้จากโลกนี้ไปก่อนหน้า
เมื่อมีลูก แมรี่กลับทิ้งความเป็นหญิงพยศ เธอหันมาชอบอยู่บ้านและเป็นแม่ แต่นั่นกลับทำให้นักผจญภัยอย่างอิมเลย์เบื่อ แล้วก็เลือกจะจากเธอไป จดหมายของแมรี่ที่เขียนถึงอิมเลย์ในช่วงนี้เต็มไปด้วยความโศกเศร้าเซ้าซี้จนอาจกล่าวได้ว่าพิรี้พิไร ซึ่งนักวิเคราะห์ในยุคหลังบอกว่า นี่น่าจะเป็นอาการของโรคซึมเศร้าหลังมีลูก แบบเดียวกับที่น้องสาวของเธอเคยเป็นนั่นเอง
แมรี่ตัดสินใจกลับลอนดอนในปี ค.ศ.1795 เพื่อมาตามหาอิมเลย์ แต่เธอก็ต้องผิดหวัง เพราะเขาปฏิเสธเธอ แมรี่พยายามฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่สำเร็จ
เมื่อใครคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดความรักลง ใครอีกคนที่เหลือย่อมไม่อาจยื้อยุดความรู้สึกนั้นกลับคืนมาได้ แมรี่พยายามทำทุกอย่าง ตั้งแต่คร่ำครวญ เดินตากฝนกลางถนน หรือแม้กระทั่งลุกขึ้นพยายามชวนเขาทำธุรกิจด้วยกัน แต่ก็ไม่มีอะไรสำเร็จเลย
เมื่อตระหนักแน่แล้วว่า ความรักได้สลายหายไป แมรี่ค่อยๆ กอบเก็บตัวตน โดยการพาตัวเองกลับสู่งานเขียนอีกครั้ง แวดวงการเขียนพาเธอไปพบกับวิลเลียม ก็อดวิน ชายที่เคยไม่สบชะตากันมาก่อน แต่คราวนี้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ทั้งคู่ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ความรัก
แล้วแมรี่ โวลสโตนคราฟต์ ก็มีลูกกับวิลเลียม ก็อดวิน
และเดินทางเข้าสู่วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
5
30 สิงหาคม ค.ศ.1797 เธอให้กำเนิดลูกสาวคนที่สองที่มีชื่อว่า แมรี่ เหมือนกันกับแม่
แม้ในตอนแรก ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่ไม่นานนัก เธอก็พบว่าตัวเองติดเชื้อจากการคลอด ซึ่งในศตวรรษที่ 18 สุขอนามัยยังไม่ดี การติดเชื้อขณะคลอดหรือหลังคลอดคือเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง—และคือหายนะ
เพียงสิบวันเท่านั้น สิบวันแห่งความทุกข์ทรมาน แมรี่ โวลสโตนคราฟต์—โปรโตเฟมินิสต์คนแรกๆ ของโลก, ก็ได้จากโลกนี้ไป
แมรี่ผู้เป็นแม่จากไป แต่แมรี่ผู้เป็นลูกยังอยู่
ใช่—เธอก็มีชื่อว่า แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ ก็อดวิน เช่นเดียวกับแม่
เมื่อแมรี่ โวลสโตนคราฟต์ ก็อดวิน ผู้ลูก เติบโตจนถึงอายุ 17 เธอได้พบกับเพื่อนพ่อผู้มีชื่อว่า เพอร์ซี เชลลี แม้เขาจะแต่งงานแล้ว แต่ทั้งคู่ก็เดินทางไปฝรั่งเศสด้วยกัน ตระเวนไปทั่วยุโรป กลับมาพร้อมเด็กในท้อง และสุดท้ายก็ครองคู่อยู่ด้วยกัน
ใช่—เธอกลายเป็น แมรี่ เชลลี ซึ่งต่อมาจะแข่งขันเขียนเรื่องผีกับกวีนามอุโฆษอย่างลอร์ดไบรอน และต่อมาจะขยายเรื่องผีนั้นจนกลายมาเป็นนิยายเรื่อง Frankenstein; or, The Modern Prometheus ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1818 และสร้างให้เกิดตำนานแห่งแฟรงเกนสไตน์ขึ้นมา
แฟรงเกนสไตน์และโปรโตเฟมินิสม์จึงเกาะเกี่ยวกันด้วยแง่มุมเล็กๆ ในแบบที่หลายคนอาจไม่เคยคิดถึงด้วยเหตุนี้นี่เอง