กลับมาขึ้นเทรนด์อีกครั้งสำหรับแฮชแท็ก #NoCPTPP หลังเพจ FTA Watch เปิดเผยเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เสนอเรื่องผลการดำเนินการเรื่อง CPTPP ต่อคณะรัฐมนตรี และหากคณะรัฐมนตรีไม่มีข้อทักท้วงใดๆ ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรืออนุมัติ
พร้อมกันนี้ เพจ FTA Watch ยังระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีสามารถลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขอเจรจาเข้าร่วมได้เลย โดยหลังเอกสารดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้ชาวโซเชียลออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลจงใจ ‘ลักไก่’ ใช้ช่วงเวลาวิกฤติผ่านมตินี้โดยไม่มีการถามความเห็นจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับผลดี-ผลเสียโดยตรงจากการทำข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมาชี้แจงว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวานนี้ ไม่ได้มีการเห็นชอบให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP แต่มีการอนุมัติขยายเวลาไปอีก 50 วัน เพื่อให้ กนศ. หารือกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด
แต่ประเด็น CPTPP ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ทั้งในส่วนของข้อมูลที่คนไม่เห็นด้วย ความคืบหน้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงมุมมองอื่นๆ จากนักวิชาการ ที่เห็นว่า CPTPP ไม่ได้มีเพียงข้อเสียเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะเป็นอย่างไร The MATTER จะมาสรุปให้ฟัง
- อย่างที่หลายคนรู้ว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้า การลงทุน รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่หลายๆ คนกังวลใจ คือ ประเด็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และการเข้าถึงยา จนนำมาสู่การล่ารายชื่อเพื่อหยุดยั้งการเข้าร่วมข้อตกลงฉบับดังกล่าว
- ในช่วง 2-3 วันที่ผ่าน กระแส #NoCPTPP กลับมาอีกครั้ง และมีการแชร์ข้อมูลต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ผลเสียของการเข้าร่วมข้อตกลง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
– การผูกขาดสิทธิบัตรยา : นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เคยกล่าวไว้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน เพราะจะทำให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) ทำได้ยากขึ้น อีกทั้งยังมีช่องโหว่ให้ประเทศสมาชิก CPTPP และนักลงทุนข้ามชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มการทำ CL ได้
อธิบายคร่าวๆ คือ เดิมทียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยมีทั้งยาต้นแบบ และยาที่ติดสิทธิบัตรอยู่ ในกรณีที่ยาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นยาที่จำเป็นต้องใช้ จะถูกบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ และต้องจัดซื้อในราคาของยาต้นตำรับ ซึ่งนิมิตรกล่าวว่า กลไกเดิม การทำ CL ยาชนิดใดชนิดหนึ่งนั้นยากอยู่แล้ว และยิ่งหากเข้าร่วม CPTPP ก็จะยากขึ้นอีก เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเปิดช่องให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแสดงความเห็นในมุมต่างได้
– ผูกขาดเมล็ดพันธ์ุ : องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ข้อตกลง CPTPP มีข้อบัญญัติว่าประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำพืชพันธุ์พื้นเมืองไปวิจัยเพื่อสร้างพืชพันธุ์ใหม่ รวมถึงยังสามารถจดสิทธิบัตรได้ด้วย แนวปฏิบัติเช่นนี้ จะทำให้เกษตรกรชาวไทยไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปใช้ต่อในฤดูกาลอื่นๆ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่จากตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นนายทุน ส่งผลให้ต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น
– การกระตุ้นเศรษฐกิจ : CPTPP มีเงื่อนไขการเจรจาแบบ ‘ระบุรายการไม่เปิดเสรี’ หรือ Negative List ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถเลือกหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ในส่วนของรูปแบบธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุว่า ต้องเปิดให้นักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
– สิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ : อาทิ ยกเลิกภาษีนำเข้า 99% ของสินค้าทั้งหมด, มาตรการคุ้มครองคำเตือนด้านสุขภาพบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไม่สามารถใช้ได้ อีกทั้งยังมีการคุ้มครองการลงทุน และนักลงทุนตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการจัดตั้งธุรกิจ
- แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะเอียงไปทางต่อต้าน จนแฮชแท็ก #NoCPTPP กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง แต่ก็มีอีกฝ่ายที่มองว่า การเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลเสียในแง่ที่หลายคนคิด แต่ยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์ด้วย ซึ่งทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา และรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาอธิบายถึงประเด็นดังกล่าว โดยชี้แจงเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
– การผูกขาดสิทธิบัตรยา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เคยอธิบายถึงกรณีดังกล่าวว่า การใช้ CL ยา ตามข้อกำหนดของ WHO การคุ้มครองสิทธิบัตรยามีระยะเวลา 20 ปี ซึ่งในระหว่างนี้ บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ในการหาประโยชน์เพียงผู้เดียว แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเทศไทยสามารถใช้สิทธิ์ CL เพื่อเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ทันที ภายใต้เงื่อนไข เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่การค้า หรือเพื่อแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนในประเทศ ซึ่ง CPTPP ให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์พิจารณาเองว่าสถานการณ์ใดถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วน
และจากข้อกำหนดของ WHO รัฐบาลไทยยังสามารถผลิต ขาย รวมถึงนำเข้ายาในราคาถูกกว่าท้องตลาดได้ แม้ยานั้นจะมีสิทธิบัตรคุ้มครองก็ตาม ซึ่งข้อกำหนดนี้ระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายสิทธิบัตรของไทยฉบับปัจจุบัน
– การผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช : ดร.ปิติ อธิบายว่า เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่เกษตรกรใช้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชที่มาจากการพัฒนาโดยเกษตรกร และเอกชน เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ถูกคุ้มครองตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งอนุสัญญาตัวนี้จะคุ้มครองให้สิทธิกับนักพัฒนาพันธุ์พืชเฉพาะ ‘พืชพันธุ์ใหม่’ เท่านั้น
สำหรับกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า หากต่างชาตินำพืชที่เคยปลูกแต่โบราณไปวิจัย และจดสิทธิ์บัตร เกษตรกรไทยยังสามารถนำไปปลูกได้หรือไม่ ดร.ปิติ อธิบายว่า พืชจะเป็นพันธุ์พืชใหม่ และได้รับการคุ้มครองตาม UPOV1991 ได้ ต้องมีคุณสมบัติคือ ผู้พัฒนาพันธุ์พืช ต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าพันธุ์ใหม่ขึ้นมาจากเดิมอย่างไร และมันแตกต่างจากพันธุ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ
พันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครอง ต้องมีคุณสมบัติแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ ต้องมีลักษณะประจำพันธุ์ และต้องมีความสม่ำเสมอและคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์ นอกจากนี้ พันธุ์พืชนั้นต้องวางขายในประเทศไม่เกินกว่า 1 ปี และในต่างประเทศต้องไม่เกิน 4 ปี หรือ 6 ปี สำหรับไม้ยืนต้นและไม้เถายืนต้น
– การกระตุ้นเศรษฐกิจ : จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมความตกลง CPTPP พบว่า หากเข้าร่วม GDP ขยายตัวประมาณ 0.12% การลงทุนขยายตัว 5.14% การส่งออกขยายตัว 3.47% และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิก CPTPP เช่น ไก่แปรรูป ข้าว อาหารทะเล รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
ขณะที่หากไทยไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาส จากการเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค และของโลก ซึ่งคาดว่า GDP จะลดลง 0.25% การลงทุนลดลง 0.49% การส่งออกลดลง 0.19% และจ้างงานผลตอบแทนแรงงานจะลดลง 8,440 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เปิดเผยในช่วงต้นการระบาดของ COVID-19 ดังนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้
– สิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ : อาทิ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จากการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ อาทิ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลดีในระยะยาว
- ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามผลักดันประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่เนื่องด้วยประชาชนบางส่วนเห็นว่าข้อตกลงนี้ให้ผลเสีย มากกว่าประโยชน์ จึงออกมาคัดค้านกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน กระบวนเข้าร่วมข้อตกลง อยู่ในขั้นศึกษาผลดีผลเสีย และกำลังจะเข้าสู่การเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาว่าจะให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมหรือไม่ แต่มีการคัดค้านเกิดขึ้น รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำหรับพิจารณาการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP
ซึ่งส่วนการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญนี่เอง ที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เนื่องจากเฟซบุ๊ค FTA Watch เปิดเผยว่า “วาระลับเข้าคณะรัฐมนตรีวันนี้ (วันที่ 6 พฤษภาคม 2564) คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แค่แจ้งครม.ทราบ ขอขยายเวลาศึกษา 50 วัน แต่ถือว่าผ่านความเห็นชอบแล้ว ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (letter of intent) ได้เลย จะไม่มีการแถลงเป็นทางการอีกแล้ว… และหากรัฐบาลเดินหน้าร่วมเจรจา CPTPP โดยใช้แค่ ‘ข้อสั่งการนายกฯ’ นั่นเท่ากับว่า การตั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงหน้าฉากเพื่อสร้างความชอบธรรม ลดกระแสการต่อต้านจากประชาชน”
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น หลังจากนั้น รัฐบาลออกมาชี้แจงว่า ที่ประชุม ครม. ไม่ได้เห็นชอบให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP แต่มีการอนุมัติขยายเวลาไปอีก 50 วัน เพื่อให้ กนศ.หารือกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด และนั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งข้อสงสัยที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากเลยกรอบเวลา 50 วัน รัฐบาลจะนำประเทศเข้าร่วมข้อตกลงต่อหรือไม่ ?
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความคลางแคลงใจจากประชาชนว่า การจะทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนโดยตรง ควรมีการนำเสนอข้อมูล รวมถึงถามไถ่ความคิดเห็น ไม่ใช่เร่งรัดเอาเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนี่เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว หากเงื่อนไขเจรจาเปลี่ยนไปแม้เพียงนิดเดียว คนที่จะต้องรับผลเหล่านั้นก็คือประชาชน ที่ไม่มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจใดๆ เลย
อ้างอิงจาก
https://www.ryt9.com/s/beco/3098258
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936361
https://www.tnnthailand.com/news/politics/78973/
https://www.commercenewsagency.com/report/3328
https://mgronline.com/qol/detail/9630000067241
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877992
https://www.bbc.com/thai/thailand-52437047
https://web.facebook.com/piti.srisangnam