(1)
จนถึงตอนนี้ ประวัติศาสตร์เรื่องการชุมนุม และการสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางปักกิ่ง เมื่อ 31 ปีที่แล้ว ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่ในด้านลึกที่สุด ที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังไม่อนุญาตให้พูดถึง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตในจีนเข้มข้น อัลกอริธึมขีดฆ่าเรื่องการชุมนุมออกทั้งหมด โซเชียลมีเดียยังต้องแบนภาพการสลายการชุมนุมอันโหดเหี้ยม รวมถึงการถกเถียงเรื่องสาเหตุ กับผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ ‘เทียนอันเหมิน’ ก็ยังคงเป็นประเด็นต้องห้ามในวิชาประวัติศาสตร์ของทุกโรงเรียนทั่วจีน
แม้ว่าจีนในวันนี้ จะต่างกับจีนเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จีนใหม่พยายามเป็นจีนที่ทันสมัย มีรถไฟความเร็วสูง มีโครงการ One belt one Road เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน และเป็นศูนย์กลางสินค้า – เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มากมาย ไม่มีอะไรเหมือนกับจีน วันที่ใช้รถถังออกมาสลายการชุมนุมแม้แต่นิดเดียว
แต่รอยด่างเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1989 ก็ยัง ‘อ่อนไหว’ จนถึงวันนี้ ไม่กี่เดือนก่อน เมื่อ ‘พันธมิตรชานม’ ซึ่งประกอบไปด้วยนักเลงคีย์บอร์ดไทย ไต้หวัน ฮ่องกง ต่อสู้กับเกรียนคีย์บอร์ดจีน ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง สืบเนื่องจากดาราซีรีส์วาย เมื่อ 2 เดือนก่อน เรื่องและภาพว่าด้วย Tank Man ชายที่ยืนขวางรถถังระหว่างการสลายการชุมนุม เมื่อ 31 ปีที่แล้ว ยังคงว่อนอยู่ในโซเชียลมีเดีย เพื่อ ‘ยั่วประสาท’ คนจีน หรือเมื่อเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ออกเสื้อกันหนาวจากอัลบั้มชื่อ 1989 ก็กลายเป็นปัญหาในจีน เพราะตัวย่อ TS และ 1989 ต่างก็ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน
แล้วทำไม เทียนอันเหมิน ถึงได้ ‘อ่อนไหว’ ขนาดนั้น ทั้งที่จีนเองมีวิธีในการอธิบายอีกหลายวิธี เพื่อให้เรื่องนี้ดู ‘ซอฟต์’ มากขึ้น หรือใช้วิธีการแบบเดียวกับผู้นำในอีกหลายประเทศ ด้วยการบอกว่าการชุมนุมที่เทียนอันเหมิน เป็นเรื่องของการ ‘ก่อการร้าย’ ซึ่งจีนจำเป็นต้องกำจัดก็ได้ แต่จีนกลับเลือกที่จะเซนเซอร์ และพยายามกดการอธิบายให้อยู่ในด้านดำมืดที่สุด…
ทั้งหมดนี้คือคำถามที่น่าค้นหา
(2)
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจบริบทของสังคมจีนขณะนั้น ปี ค.ศ.1989 คือเหตุการณ์หลังจากประธานเหมา เจ๋อตุง (Máo Zédōng) เพิ่งเสียชีวิตราว 12 ปี จีนอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่าน จากจีนยุคที่เป็นคอมมิวนิสต์เข้มข้น ไปสู่จีนภายใต้นโยบาย 4 ทันสมัย ของเติ้ง เสี่ยวผิง (Dèng Xiǎopíng) ที่ต้องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ – ค้าขายกับฝั่งโลกเสรีให้มากขึ้น จีนกำลังอยู่ในช่วงหาทาง ‘ไปต่อ’ ว่าจะเอาอย่างไรกับรูปแบบการปกครอง
ในเวลานั้น บรรดาประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มอ่อนแอลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต ซึ่งมี ‘รอยร้าว’ กับจีนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือเยอรมันตะวันออก ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียตเช่นกัน จีนจึงถึงเวลาเลือกเส้นทางของตัวเอง เพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำรอยแบบเดียวกับประเทศคอมมิวนิสต์เข้มข้นอื่นๆ
สิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิง ทำอีกอย่าง และกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา ก็คือการแต่งตั้ง หู เย่าปัง (Hu Yaobang) ให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อปรับปรุงพรรคและระบบการเมืองให้ ‘ออกห่าง’ จากการเป็นคอมมิวนิสต์ที่มีคนไม่กี่คนส่วนบนได้ประโยชน์ให้เป็นการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น เปิดช่องให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และลดการคอนโทรลจากอำนาจรัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจออกจากรัฐส่วนกลางให้ได้มากที่สุด
นั่นสร้างความหวังให้กับบรรดานักศึกษา และบรรดาผู้ใช้แรงงาน เพราะจีนเองย่ำอยู่กับที่เป็นสิบๆ ปีแล้ว นักการเมืองในจีนมีปัญหาคอร์รัปชั่น ร่ำรวยผิดปกติ สวัสดิการ ค่าแรงในประเทศ ยังคงย่ำแย่ เมื่อเศรษฐกิจไม่ได้โตมาก
ความเท่าเทียม
จึงเป็นสิ่งที่คนจีนโหยหา
แต่ในอีกด้าน พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว ผู้อาวุโสอีกหลายคนในพรรคไม่ได้อินังขังขอบกับแนวคิดการ ‘กระจายอำนาจ’ หรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เขาเห็นว่าการ ‘ปฏิรูป’ แบบนี้ไปไกล ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ มากเกินไป เมื่อหู เย่าปัง เสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1989 ทำให้การรัฐประหารขนาดย่อมๆ ในพรรคก็เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการชุมนุมจากนักศึกษา ที่นอกจากไว้อาลัยให้หู เย่าปังแล้ว ยังต้องการให้การปฏิรูปการเมืองเดินหน้าต่อ เปิดช่องให้แสดงความคิดเห็นยังไปต่อ ไปจนถึงให้ระดับผู้ใหญ่ในพรรค ฝ่ายชนชั้นนำของพรรค เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
เอกสารหลุดจากทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำจีนในขณะนั้น บอกว่ามีหลายคนในคณะกรรมการโปลิตบูโร พยายามเข้าหาเขาในการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกจากจีน เพราะกลัวว่าการชุมนุมจะเลยเถิดไปจนกระทบกับเงินฝากในธนาคารและทรัพย์สินที่ซุกไว้ทั่วจีน
ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเติ้ง เสี่ยวผิงนั้นมองว่า รัฐต้องเปลี่ยนจากฝ่ายตั้งรับเป็นฝ่ายรุกบ้าง วิธีที่รุกง่ายที่สุดในช่วงเวลานั้น ก็คือการใช้สื่อของรัฐให้เป็นประโยชน์ ผ่านบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ที่รัฐคุมอย่าง People’s Daily ระบุว่าการชุมนุมได้กลายเป็นการชุมนุมต่อต้านพรรค และต่อต้านอำนาจรัฐไปเรียบร้อย โดยมีใครบางคนเตรียมฉวยโอกาสจากเรื่องนี้อยู่เบื้องหลัง
(3)
อย่างที่เรารู้กัน การชุมนุมยืดเยื้อนานกว่า 1 เดือนเศษหลังจากนั้น จบลงด้วยการ ‘นองเลือด’ ฝ่าย ‘พิราบ’ ในพรรคซึ่งนำโดย จ้าว จื่อหยาง (Zhao Ziyang) เลขาธิการพรรคนั้นพ่ายแพ้ จ้าว ถูกจับตัวไว้ที่บ้าน กระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.2005 และถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังบรรดานักศึกษา รัฐซ้อนรัฐภายในคณะกรรมการโปลิตบูโร ยึดอำนาจจ้าว จื่อหยางและฝ่ายก้าวหน้าไว้เบ็ดเสร็จ นำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
เมื่อถึงวันที่ 5 มิถุนายน ปี ค.ศ.1989 ภาพ Tank Man และการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธครบมือ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ตลอดต้นเดือนมิถุนายน ตัวเลขผู้เสียชีวิต และผู้สูญหาย ไม่เคยถูกประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าน่าจะมีมากกว่า 1 หมื่นคน
เติ้ง เสี่ยวผิงแถลง ‘ชัยชนะ’ ในอีกสัปดาห์หลังจากนั้น พร้อมกับระบุว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิตราว 300 คน การสลายการชุมนุมนั้นถูกต้องแล้ว เพราะน่าจะมีเบื้องหลังคือลัทธิ ‘จักรวรรดินิยม’ จากตะวันตก เพื่อล้มล้างความดีงามของระบบสังคมนิยมจีนที่กำลังสร้างกันอยู่ และพยายามพาจีนไปสู่ระบอบทุนนิยมผูกขาด ซึ่งจะทำให้ ‘สิ้นชาติ’ ในที่สุด
แต่หลังจากนั้น ก็เป็นฝ่ายเติ้ง เสี่ยวผิงเอง ที่ค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองลงไป เขาลาออกจากตำแหน่งสุดท้ายของพรรคในปี ค.ศ.1992
หลังจากนั้น คณะกรรมการโปลิตบูโร ของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นเข้มแข็งขึ้น แต่สิ่งที่หายไปก็คือการปฏิรูปการเมือง ซึ่งถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์ของจีนกับโลก ที่ไม่ค่อยดีนักตลอดทศวรรษที่ 1990 เพราะชนักติดหลังเรื่องเทียนอันเหมิน ยังติดกับคณะผู้ปกครองมาโดยตลอด
ผลลัพธ์อีกอย่างหลังการชุมนุม ก็คือฝ่ายขวาในพรรคเข้มแข็งขึ้น ไปพร้อมๆ กับการสร้างระบบ ‘กล่อมเกลา’ ความคิดคนในชาติ หากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในไทย คือการบอกว่าสื่อควรเป็น ‘อิสระ’ มากขึ้น นำมาซึ่งการตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี แต่ในจีนคือด้านตรงกันข้าม สื่อถูกควบคุมโดยรัฐมากขึ้น ประชาชนถูกจับตาการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น จนกลายเป็น ‘ราก’ ของการปฏิเสธโซเชียลมีเดียจากโลกภายนอกทั้งหมด นำมาสู่การทำแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง
เพราะมีบทเรียนแล้วว่า
การเปิดให้คนรู้มาก แสดงออกมากนั้น
มีโอกาสที่จะตามมาด้วยการลุกฮือ
และความวุ่นวายสูง..
ที่น่าสนใจก็คือ แทบไม่เคยมีการอธิบายจากฝั่งจีนเรื่องเทียนอันเหมินกับโลกอีกเลยว่าในมุมมองจีนนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง จนกระทั่งผ่านไป 30 ปี เว่ย เฟิ่งเหอ (Wei Fenghe) รมว.กลาโหมจีน เพิ่งได้โอกาสอธิบายสั้นๆ ในเวที แชงกรี-ลา ไดอะลอก (Shangri-La Dialogue) ที่สิงคโปร์เมื่อปี ค.ศ.2019 สั้นๆ ว่าเพราะการตัดสินใจที่ถูกต้องในวันนั้น ได้ทำให้ประเทศมั่นคง และมีเสถียรภาพมากขึ้น และการเติบโตตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความเข้มแข็งของพรรคคอมมิวนิสต์
(4)
ในมุมมองการเล่าเรื่องอีกแบบ ความดำมืดของเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน คือการพยายามรักษาความ ‘ขลัง’ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้ ว่าพวกเขา สามารถลบ ‘บางเรื่อง’ ออกจากประวัติศาสตร์ไปได้ และพยายามบอกว่าพวกเขา สามารถทำอะไรได้บ้าง
เมื่อปี ค.ศ.2010 เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา พยายามจัดเสวนาเรื่องเทียนอันเหมิน นักศึกษาจีนหลายคนไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวมี ‘สปาย’ ถ่ายรูปไว้ เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ผมพยายามคุยกับเพื่อนนักศึกษาจีนในออสเตรเลีย ซึ่งเกิดหลังปี ค.ศ.1989 และโตมาในยุคที่จีนรุ่งเรืองแล้วเรื่องนี้
แต่เขาก็ไม่รู้ว่าผมกำลังพูดถึงอะไร
อีกด้านหนึ่ง ผู้นำจีนหลายคน ก็พยายามที่จะ ‘ขอโทษ’ เรื่องที่เกิดขึ้น เหวิน เจียเป่า (Wēn Jiābǎo) อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ระหว่างปี ค.ศ.2010 – 2013 ซึ่งเป็น ‘มือขวา’ ของจ้าว เลขาธิการพรรคในขณะที่เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน พยายามเสนอคณะกรรมการปูลิตบูโร เพื่อขอโทษเรื่องนี้อย่างเป็นทางการก่อนที่จะหมดวาระ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก็ยังได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขันจากเพื่อนร่วมงานว่าอย่าไป ‘ฟื้นฝอยหาตะเข็บ’
นักวิชาการ และสื่อตะวันตกบอกว่า ทางการจีน พยายามที่จะส่งออกภาวะสูญเสียความทรงจำ (Amnesia) ออกไปให้มากๆ เรื่องนี้ยิ่งรู้น้อย ยิ่งรำลึกน้อยยิ่งดี โดยเฉพาะในวันที่ผู้นำอย่าง สี จิ้นผิง (Xí Jìnpíng) เพิ่งแก้รัฐธรรมนูญ ต่ออำนาจตัวเองให้เป็นประธานาธิบดีได้ไม่มีกำหนด
พื้นที่เดียวในจีน ที่สามารถรำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินได้ ก็คือ ‘ฮ่องกง’ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าหลังจากจีน ‘กระชับอำนาจ’ ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่แล้ว การจุดเทียนรำลึกที่จัดขึ้นทุกปี และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมหาศาลนั้น จะถือเป็นการ ‘ละเมิดกฎหมาย’ หรือไม่?
ที่ทางของประวัติศาสตร์การเมืองนั้น สะท้อนให้เห็นว่าแม้จีนในอีก 31 ปีให้หลัง และพรรคคอมมิวนิสต์จะยิ่งใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเอาตัวรอดจากวิกฤตหลายครั้งหลายครามากเพียงใด แต่สิ่งที่ยังหนีไม่พ้นก็คือบาดแผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่ทำให้พรรค ไม่กล้าจะปฏิรูปการเมือง และไม่กล้าจะจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น เปิดกว้างขึ้นอีกเลย
ในนิยามของจีนนั้น ‘เสรีภาพ’ ตามหลังเสถียรภาพเสมอ และการพูดถึงสิทธิมนุษยชน พูดถึงการปฏิรูปการเมือง และเสรีภาพการแสดงออกนั้น ถือเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ
ด้วยเหตุนี้ แม้จีนจะก้าวหน้าไปอย่างไร และที่ทางของจีนจะ ‘ยิ่งใหญ่’ แค่ไหนในอนาคตข้างหน้า แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของการรัฐประหารในพรรค และการสลายการชุมนุมที่เทียนอันเหมินในช่วงนี้ เมื่อ 31 ปีที่แล้ว รัฐบาลจีน ก็พร้อมที่จะเป็นโรค ‘ความจำเสื่อม’ ชั่วคราวได้ทุกที