เคยไหม? บางทีเราพูดอะไรออกไปแล้วเราไม่ได้คิดว่าอีกฝ่ายจะเก็บไปคิดมาก คิดว่าสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นการ ‘เหยียด’ แต่พอรู้ตัวอีกที เราก็ได้ทำร้ายน้ำใจของเขาไปเรียบร้อยแล้ว
และเคยไหม? ที่ได้ยินอะไรออกจากปากของใครบางคน ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้คิดอะไรเบื้องหลัง แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นช่างเหยียดหยามเราเหลือเกิน ทำให้เราเก็บมาคิด มาเจ็บปวดทีหลัง ซึ่งเขาก็ไม่ได้รู้ตัวหรอกที่พูดออกมา
เคยได้ยินหรือเคยพูดไหม – คำอย่างเช่น ‘นายภาษาอังกฤษดีมากเลย’ ที่ออกจากปากฝรั่งเพื่อชมชาวเอเชีย (ที่อาจจะอยู่นอกมาเป็นสิบๆ ปี) หรือ ‘เธอเป็นผู้หญิงที่ขับรถดีมากเลย’ ที่อาจมีความหมายแฝงข้างใต้ว่า ‘ผู้หญิงทั่วไปขับรถไม่ดี’ หรือ ‘ถ้าลดความอ้วนนายจะหล่อมากเลย’ ที่แฝงความหมายไว้ว่า ‘แต่ตอนนี้นายอ้วนไปนะ’ หรือ ‘มานี่ลุง เดี๋ยวทำให้’ (แล้วหยิบมือถือของเขามากดให้ดูว่ามันทำงานยังไง) เพื่อแฝงความหมายว่า ‘คนแก่โดยทั่วไปใช้เทคโนโลยีไม่เป็นหรอก’ หรือ ‘เอาเงินมาจากไหนมากมายมาซื้อของเนี่ย’ ที่อาจหมายความว่า ‘เธอไม่น่ามีเงินมากขนาดนี้นะ’ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายใคร บางครั้งอาจถูกพูดด้วยความตั้งใจดีเสียด้วยซ้ำ แต่ก็นั่นแหละ – คนฟังพอได้ยิน บางครั้งก็กลับรู้สึกแย่
ถ้าเคย คุณอาจกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า Microaggressions!
Microaggressions คืออะไร?
จริงๆ คำว่า Microaggression นั้นถูกใช้ตั้งแต่ปี 1970 โดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Chester M. Pierce เพื่อใช้อธิบายคำถากถางและการเพิกเฉยของชาวอเมริกันที่มีต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน แต่ต่อมาความหมายของ Microaggression หรือ ‘ความรุนแรงเล็กๆ’ นี้ก็กว้างขึ้น จน Derald Wing Sue นักจิตวิทยา ก็ได้ให้ความหมาย (ซึ่งใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) ว่า Microaggression เป็น “การพูดคุยหรือการแสดงออกทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน ที่อาจส่งสารทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสื่อมเสีย เพราะไป ‘แปะป้าย’ เขาว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด” ที่สำคัญคือ Microaggression นั้นมักจะไม่ใช่การเหยียดโดยตั้งใจ แต่มักจะเกิดขึ้นโดยที่ฝ่ายที่เหยียดก็ไม่ได้รู้ตัว (เพราะอาจ ‘มองไม่เห็น’ ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดนั้นเป็นพิษเป็นภัย)
มีการแยก Microaggressions ออกเป็นสามหมวดหมู่ดังนี้
- Microassault คือความเห็นที่เจาะจงว่าต้องการเหยียดอย่างจงใจ เช่น การพูดถึงวัฒนธรรมเฉพาะของชนชาติหนึ่งๆ ว่าเป็นเรื่องตลก
- Microinsult คือความเห็นหยาบคายหรือไม่ ‘อ่อนไหวต่อความรู้สึก’ ที่สมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ยินบ่อยครั้ง หรืออาจไม่ได้เป็นความเห็นตรงๆ แต่เป็นวิธีการปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น การจ้างงานคนบางชนชาติเพราะต้องจ้าง ‘ตามโควต้า’ (ไม่ได้จ้างเพราะความสามารถ)
- Microvalidation คือความเห็นที่เพิกเฉยต่อการเหยียดที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเผชิญ เช่น การชมคนที่ดูไม่เป็นฝรั่งผิวขาวว่า “พูดภาษาอังกฤษเก่ง” การพูดออกมาว่า “ฉันมองข้ามผิวสีของเธอได้” (ทั้งๆ ที่การพูดแบบนี้ก็แปลว่ายังมองไม่ข้ามนั่นแหละ) หรือการถามว่า “เธอมาจากไหน” ต่อคนผิวสี ที่เป็นคนท้องถิ่น (เช่น ถามคน Asian American) ก็ยังถือว่าเป็น Microvalidation ด้วย
ถึงแม้บริบทใหญ่ใจความของ Microaggresion จะเป็นเรื่องเชื้อชาติหรือชนชาติ แต่ Derald Wing Sue ก็บอกว่าจริงๆ แล้ว คำว่า Microaggression นั้นมีความหมายกว้างใหญ่ไปกว่านั้นมาก โดยอาจเป็น
- ความรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น การเรียกนายจ้างหญิงที่เข้มงวดว่า bitch ในขณะที่ไม่เรียกนายจ้างชายอย่างเดียวกัน, หรือการคิดว่าผู้หญิงที่ใส่สเตรทโตสโคปเป็นนางพยาบาล ไม่ได้เป็นหมอ
- ความรุนแรงเรื่องเพศวิถี เช่น การเรียกพฤติกรรมบางแบบว่า “แต๋วมาก” หรือเวลาที่เกย์เดินจับมือกันแล้วมีคนเตือนว่าอย่าประเจิดประเจ้อให้มากนัก
- ความรุนแรงทางชนชั้น เช่น การบอกว่าคนบนทีวีแต่งตัว “ดูโลว์” “ดูจน” นั้นอาจหมายความว่าเราคิดว่าคนจนนั้นแต่งตัวไร้รสนิยม
- ความรุนแรงต่อสภาพร่างกาย เช่น การพูดเสียงดังขึ้นกับคนตาบอด หรือ การคอมเมนต์เรื่องรูปร่างต่อคนที่มีน้ำหนักมาก
บางครั้ง Microaggression อาจไม่ใช่ความเห็นหรือสิ่งที่แสดงออกมาตรงๆ แต่เป็นแนวคิดที่ซ่อนอยู่ด้วย เช่นการฉายภาพหญิงเอเชียอย่าง exotic หรือฉายภาพว่าพวกเธอเป็น ‘ศรีภรรยา’, การคิดไปเองว่าคนเอเชียจะต้องเก่งเลขหรือวิทยาศาสตร์ และการ ’มองไม่เห็น’ คนบางชาติพันธุ์ เช่น เมื่อคนเกาหลีไปสั่งเครื่องดื่มที่บาร์แล้วไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าคนผิวขาว รวมไปถึงการถกเพียงเรื่อง ‘การเหยียดผิว’ ที่มักเจาะจงพูดถึงผิวขาวกับผิวดำเท่านั้น แต่ไม่ค่อยพูดถึงคนเอเชียที่โดนเหยียดในลักษณะคล้ายกันด้วย
Sensitive กันเกินไปไหม?
มีผู้วิจารณ์ว่าคนที่บอกว่าตนเองเผชิญกับ Microaggressions นั้นช่างเป็นคนที่เซนซิทิฟเกินไป เช่น ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัย Oberlin มีการจัดงานพูดเนื่องในโอกาสที่เดือนนั้นเป็นเดือนวัฒนธรรมละติน ซึ่งวันที่จัดพูด ไปตรงกับงานแข่งขันฟุตบอล (Soccer, ไม่ใช่อเมริกันฟุตบอล) พอดี นักบอลจึงส่งอีเมลไปหานักเรียนชาวลาตินว่า “เฮ้ งานพูดนั้นก็ดูน่าสนใจนะ แต่ถ้าเธอไม่ไป หรืออยากจะเล่นฟุตบอล (futbol) แทนละก็มาได้เลย” (“Hey, that talk looks pretty great, but on the off chance you aren’t going or would rather play futbol instead the club team wants to go!!”)
เมลนั้นทำให้นักเรียนสาวชาวละตินเคืองมาก เธอถึงกับเอาไปโพสท์บ่นในเว็บไซต์ Oberlin Microaggressions ซึ่งเป็นบล็อกรวบรวมสิ่งที่ ‘นักศึกษากลุ่มน้อย’ ต้องเผชิญ โดยบอกว่า “1. ขอบคุณนะที่คิดว่างานพูดนั้น ‘ดูน่าสนใจ’ ขอบคุณมากเลยที่ ‘ความเป็นชาย’ ของเธออนุมัติงานพูดของฉัน แต่ฉันก็เห็นแล้วว่างานคงไม่ได้น่าสนใจขนาดที่เธอจะย้ายตูดมาฟัง 2. ใครบอกเธอเหรอว่าให้เธอพูดคำว่าฟุตบอล (futbol) ได้ เดือนนี้มันเป็นเดือนวัฒนธรมละตินนะ เธอบอกให้คนอื่นไม่ต้องมาฟัง แล้วยังจะมาใช้คำของเราอีกอย่างนั้นเหรอ? นักศึกษาผิวขาวมาพยายามใช้คำละตินตอนที่สะดวกใจที่เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย ฯลฯ เธอไม่ใช่คนละติน จงใช้คำว่าซอกเกอร์ซะ ฯลฯ”
หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษาชายผิวขาวพยายามเมลมาขอโทษเธอว่าไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดทำให้เธอเจ็บปวด และบอกว่าตัวเองไม่ได้เหยียดผิว ที่จริงแล้วตนมีครอบครัวอุ้มบุญ (god-family) ที่เป็นคนละตินด้วยซ้ำ เมื่อส่งเมลนี้กลับไป เธอก็ตอบโต้กลับมาอีกรอบด้วยการบอกว่านี่เป็นการใช้ครอบครัวละตินมาเป็นไอเท่มเพื่อแสดงว่าตัวเองไม่ได้เหยียดผิวเท่านั้น!
WOWWWWWWWW SO YOUR NOT RACIST BECAUSE YOU HAVE A “SECOND” LATINO FAMILY, SECOND! We need to talk about tokenizing brown friends/family and taking them in to identify with POC’s (or avoiding accountability for being racist)
ผมไม่ได้เป็นคนละติน ไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเธอ และก็มีส่วนที่เห็นด้วยกับเธอ เช่น การอ้างว่าครอบครัวอุ้มบุญของตนเองเป็นคนละตินนั้นไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับการที่บอกว่าตนเองไม่เหยียดผิว แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็อดจะรู้สึกว่าเธอ ‘ดุ’ เกินไปไม่ได้ (เช่น การประชดว่า “ขอบคุณนะที่ใช้ความเป็นชายมาตัดสินงานพูดของฉัน’ หรือการห้ามไม่ให้คนชาติอื่นใช้คำว่าฟุตบอล แต่ให้ใช้คำว่า soccer นั้น… เกินไปปะ!) คล้ายกับที่หลายคนพูดไว้ตรงกันว่าการพุ่งขึ้นของการใช้คำว่า Microaggressions นั้นทำให้เราอยู่ในโลกที่คน ‘ทนทาน’ กันน้อยลง
มันคงมีสถานการณ์ที่เป็นการเหยียดโดยไม่ได้คิดมาก่อนจริงๆ และก็คงมีบางครั้งที่การตักเตือนหรือบอกกล่าวใช้ได้ผล แต่การโต้ตอบด้วยถ้อยคำรุนแรงและรีบรุดแปะป้ายว่าอีกฝ่ายเป็นคน Microaggressive ก็อาจทำให้เราอยู่ในโลกที่ไม่น่าอยู่สักเท่าไหร่
วัฒนธรรมแห่งการเป็นเหยื่อ (Victim culture)
Bradley Campbell และ Jason Manning นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย California State และมหาวิทยาลัย West Virginia ออกงานวิจัยชื่อ Microaggressions and Moral Culture มาเพื่ออธิบายการพุ่งขึ้นของกระแส Microaggressions [ดูอ้างอิง Where microaggressions really come from: A sociological account]
พวกเขาตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่าเดิมทีโลกเราอยู่ในวัฒนธรรมแบบเกียรติยศ (A Culture of Honor) วัฒนธรรมแบบเกียรติยศคือการให้ค่ากับความอาจหาญทางร่างกาย และความคิดทำนองที่ว่า “จะไม่ให้ใครมาปกครองได้” ในวัฒนธรรมแบบนี้ เกียรติยศจะขึ้นกับชื่อเสียง (reputation) ของตนเอง และหากมีใครมาหยามเหยียดชื่อเสียงของเรา เราจะต้องโต้ตอบอย่างรุนแรง การไม่สู้กลับนั้นเป็นการพ่ายแพ้ทางจริยธรรม พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า วัฒนธรรมแบบเกียรติยศนั้นจะรุ่งเรืองในที่ที่อำนาจทางการ (authority) อ่อนแอ หรือไม่มีเลย ทำให้ชื่อเสียงด้านความแกร่งกล้าเป็นอุปกรณ์เดียวที่จะป้องกันภยันตรายได้
ต่อมาโลกของเราเคลื่อนไปสู่วัฒนธรรมแบบความสง่างาม (A Culture of Dignity) ซึ่งให้คุณค่ากับความสง่างามภายในที่ไม่อาจมีปัจจัยภายนอกมาลบเลือนได้ ความสง่างามในแบบนี้จะดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองถึงแม้ว่าคนข้างนอกจะคิดอย่างไรก็ตาม และการลบหลู่นั้นจะไม่นำมาซึ่งความรุนแรงอย่างเช่นในวัฒนธรรมแบบเกียรติยศ กลับกัน ในวัฒนธรรมความสง่างามนี้คำแนะนำคือพวเราควรจะ ‘ไม่ยั่นเกรง’ (have thick skin) ต่อคำถากถางต่างๆ
Campbell และ Manning บอกว่า ในปัจจุบันเรากำลังเคลื่อนเข้าสู่วัฒนธรรมแบบที่สาม นั่นคือ วัฒนธรรมของการเป็นเหยื่อ (A Culture of Victimhood) ผู้ที่มีค่านิยมแบบนี้จะรู้สึกรุนแรงกับคำถากถางภายนอก แต่จะไม่โต้ตอบด้วยความรุนแรงกลับเหมือนกับวัฒนธรรมแบบเกียรติยศ แต่พวกเขาจะโต้ตอบกลับด้วยการพูดออกสื่อ “เพื่อป่าวประกาศหรือกระทั่งโม้ (exaggerate) เกี่ยวกับสถานะเหยื่อของตนเอง และเรียกร้องความเห็นใจ การป่าวประกาศลักษณะนี้ สำหรับผู้ถือวัฒนธรรมเกียรติยศแล้วจะรับไม่ได้เลย และคิดว่าช่างเป็นการกระทำที่ไม่มีเกียรติ ในขณะที่ผู้ถือวัฒนธรรมแห่งความสง่างามก็จะไม่ได้คิดว่าการเรียกร้องแบบนี้น่าอับอายนัก แต่พวกเขาก็จะไม่ได้เห็นด้วยสักเท่าไร ว่ากับการแค่ถูกถากถางเล็กน้อย คนเราต้องออกมาเรียกร้องถึงขนาดนี้หรือ” (คำในเครื่องหมายคำพูดเป็นงานของ Campbell และ Manning นะครับ)
พวกเขามองไปในอนาคตว่าวัฒนธรรมนิยมเหยื่อนี้จะทำให้เกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้น เพราะ “เมื่อใครก็ตามเล่นบทเหยื่อ คนอื่นก็สามารถอ้างอย่างเดียวกันได้ …ด้วยการดำเนินไปในลักษณะนี้ เราก็จะเห็นวงจรอุบาทว์ของการแข่งกันเป็นเหยื่อ (competitive victimhood) …ซึ่งเราคาดการณ์ว่าการแตกขั้วทางการเมืองจะยิ่งเลวร้ายลงในทศวรรษถัดไป เมื่อวัฒนธรรมนิยมเหยื่อนี้ยิ่งกระจายกว้างออกไป”
ก่อนหน้านี้เราอาจจบบทความนี้ด้วยคำแนะนำอย่างง่ายๆ ว่าให้ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ได้
แต่ปัญหาของคำแนะนำนี้ก็คือ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าใจเขา, วิธีที่เขาคิด, สิ่งที่เขาเผชิญ นั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราพยายามจะคิดแทนใครคนหนึ่ง เราก็ยังอดที่จะเอากรอบความคิดและประสบการณ์ของเราไปครอบวิธีคิดแบบนั้นไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเขาจะรู้สึกเจ็บปวดด้วยคำคำไหน – ใช่แหละครับ ที่บางคำก็อาจเป็นอาวุธอย่างเห็นได้ชัดกว่าคำอื่น (เช่น ‘What are you?’ หรือ เธอเป็น (ตัว) อะไร – เหมือนถามเชื้อชาติ แต่ใช้คำที่ไม่เหมาะสม) แต่บางคำก็เกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจจริงๆ หรือเกิดขึ้นด้วยความอยากรู้เฉยๆ จริงๆ (เช่น เธอมาจากไหน? ในกรณีที่ถามคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน)
ผมเลยคิดว่าเรื่องนี้เราคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า การจำไว้ว่าเรามีโอกาสทำร้ายคนอื่นโดยไม่ตั้งใจตลอดเวลา และในทางกลับกัน คนอื่นก็ที่พูดจาทำร้ายเรา ก็อาจไม่ได้ทำด้วยความตั้งใจเหมือนกัน – นั่นคือ ยอมรับ (ความผิดของตนเอง) บ้าง ให้อภัย (ความผิดของคนอื่น) บ้าง
ภายในกรอบของเหตุผลอันสมควร
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
Microaggressions Matter
https://www.theatlantic.com/politics/archive/2015/09/microaggressions-matter/406090/
เหล่านี้คือลิงก์รวบรวม Microaggressions ในลักษณาการต่างๆ
Microaggressions: More than Just Race
“Where Are You From?”
https://othersociologist.com/2017/07/15/where-are-you-from-racial-microaggressions/
‘Microaggression’ Is the New Racism on Campus
http://time.com/32618/microaggression-is-the-new-racism-on-campus/
ภาพคนถือป้าย Microaggressions จาก nortonism.tumblr.com
บทความเรื่องวัฒนธรรมแห่งการตกเป็นเหยื่อ
The Rise of Victimhood
https://www.theatlantic.com/politics/archive/2015/09/the-rise-of-victimhood-culture/404794/
Where microaggressions really come from: A sociological account, Jonathan Haidt สรุปงานของ Campbell / Manning
http://righteousmind.com/where-microaggressions-really-come-from/
หากอยากอ่านเรื่อง Microaggression ในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ไปที่นี่
The Science of Microaggressions: It’s Complicated
https://blogs.scientificamerican.com/observations/the-science-of-microaggressions-its-complicated/
คนเขียนเดียวกับงานวิจัยนี้ http://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/1745691616659391