“นี่คือเรื่องราวที่ผมหวังจะเล่าเรื่องถ่ายทอดมาโดยตลอด ไม่ต้องสงสัย มันเป็นโปรเจ็กต์ที่มีความยึดโยงกับผมมากที่สุด ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับคำถามและมุมมองของตัวผมเองที่ผมมีต่อศรัทธาและศาสนา และความหมายว่าเหตุใดเราถึงมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้?”
ไมค์ แฟลนากัน (Mike Flanagan) ได้พูดถึงผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุดที่เขาได้ร่วมงานกับ Netflix อีกครั้ง หลังจากสร้างสองซีรีส์สยองขวัญปนอิ่มเอมเศร้าเคล้าน้ำตาที่หลายคนยกให้เป็นมาสเตอร์พีซอย่าง The Haunting of Hill House กับ The Haunting of Bly Manor ที่ทำให้นิยามคำว่า ‘หนัง/ซีรีส์ผี’เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงด้วยภาพโทนสีเขียวๆ อันเป็นเอกลักษณ์กับเนื้อหาที่มักจะตั้งคำถามกับชีวิต ความสัมพันธ์ ความรัก ความกล้าหาญที่จะมีชีวิตอยู่ กับการพาคนดูไปสู่สถานที่ใหม่ทางความรู้สึกและประสบการณ์ที่ไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน
‘Midnight Mass’ ผลงานมินิซีรีส์แนวสยองขวัญ-ลึกลับความยาว 7 ตอนจบนี้ เป็นผลงานที่ปลุกปั้นมายาวนานถึง 11 ปี ที่ไมค์ต้องการสร้างเสมอมา เนื่องด้วยมันเกี่ยวข้องกับความกลัว ความสนใจ และประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาโตมาด้วยการถูกหล่อหลอมให้เป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด การที่เขาเคยติดเหล้าเรื้อรังมาก่อน กับการเป็นคนขี้สงสัยว่าเรานั้นเกิดมาทำไมและควรเชื่อในอะไรกันแน่?
ซีรีส์มีเนื้อหาเกี่ยวกับการมาของบาทหลวงแปลกหน้าคนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนบนเกาะเกาะหนึ่งไปตลอดกาล มีประเด็นน่าสนใจให้พูดถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศรัทธา ศาสนา (ใช้คริสต์เป็นตัวแทนแต่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกศาสนา) อำนาจศาสนา คำพูด การกล่าวอ้าง การตีความในมุมมองตัวเอง ไปจนถึงการสำนึกผิด ความเห็นแก่ตัว และความดีกับความชั่วร้าย มุมมองของคนไม่มีศาสนา vs. คนที่ศรัทธาแรงกล้า คนที่สงสัยและคนที่หลงใหลเกินควร และเหตุใดเราจึงควรเชื่ออย่าใช้สติและมีเหตุมีผล
ก่อนหน้านี้เขาจะแทรกมันมาในผลงานอื่นๆ ของตัวเองเสมอราวกับต้องการบอกว่า “ผมอยากสร้างมาก พวกคุณรอดูเรื่องนี้นะ” ไม่ว่าจะเป็นในหนังเรื่อง Hush (2016) ในฐานะนิยายที่ตัวละครนางเอกของเรื่องแต่งขึ้นมา รวมถึงใน Gerald’s Game (2017) หนังพล็อตน่าสนใจที่ดัดแปลงจากนิยายของ สตีเวน คิง (Steve King) เองก็มีฉากที่ตัวเอกใช้หนังสือเรื่อง ‘Midnight Mass’ มาไล่หมาให้ไปไกลจากเตียงเช่นกัน
และในที่สุดก็ได้ถ่ายทอดมันสู่สายตาชาวโลกตามหวัง ผลลัพธ์คือ ไมค์ได้เล่าสิ่งที่เขาอยากเล่า อยากพูด ในขณะที่คนดูแตกเป็นหลายเสียง มีทั้งคนดูที่ดูจบแล้วชอบ กับดูจบแล้วไม่ชอบ และมีทั้งคนที่ดูจบ กับดูไม่จบ รวมถึงคนที่กลับมาดูจนจบแล้วชอบ กับคนที่กลับมาดูแล้วยังไม่จบ ล้มเลิกเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเสียงไหน หรือมองซีรีส์เรื่องนี้อย่างไร ก็ยากจะปฏิเสธความจริงที่ว่าหากให้เวลากับมัน ให้ความพยายาม อดทนไม่ย่อท้อ ปลายทางคือสิ่งที่คุ้มค่าแก่การรอคอย และนี่เป็นการตีความของเก่าที่สดใหม่เป็นอย่างยิ่งและอีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของไมค์ แฟลนากัน ไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ด้วยการนำเสนอประเด็นมากมายที่ชวนขบคิด ตั้งคำถาม และวิเคราะห์เจาะลึกแบบเข้มข้นเกินกว่าจะปล่อยให้มันผ่านไปดื้อๆหรือปล่อยให้มันเป็นแค่เพียงความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยาม
(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญซีรีส์ Midnight Mass แนะนำให้ดูจบก่อนอ่าน หรือหากดูไม่จบ อย่างน้อยดูให้จบตอนที่ 4 แล้วจะเข้าใจเหตุผลทันทีว่า ทำไมต้องดูให้จบ)
ความผิดบาปของชายหนุ่มผู้มัวเมา
เรื่องราวทั้งหมด หรือส่วนหนึ่งของทั้งหมด เริ่มต้นที่ ไรลี่ย์ ฟลินน์ ชายหนุ่มคนหนึ่ง กับเศษกระจกบนพื้นและร่างไร้วิญญาณของหญิงสาวที่จ้องมองมาที่ดวงตาของเขา ไรลี่ย์ได้แต่สวดภาวนาถึงพระเจ้า และต้องพูดไม่ออกเมื่อตำรวจที่ทำแผลให้เขาพูดขึ้นมาว่า “ไหนๆ ก็สวดแล้ว ถามด้วยว่าพระองค์ทำไมถึงพรากแต่เด็กๆ ไป ส่วนพวกชั่วขี้เมากลับรอด มีแค่แผลถลอก”
ไรลี่ย์ถูกตัดสินจำคุก 4 ปีพร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งสำหรับเขาเวลาในเรือนจำทั้งหมดนั่นเป็นเพียงตัวเลขที่คนกำหนดขึ้นมาเหมือนที่เรากำหนดว่า 1 นาทีมีกี่วินาที,1 ชั่วโมงมีกี่นาที, 1 วันมีกี่ชั่วโมง และ 1 ปีมีกี่วัน เพราะกับไรลี่ย์มันไม่สำคัญ มันสำคัญว่า ทุกๆ คืนที่เขาข่มตาหลับ เราจะเห็นภาพของเด็กผู้หญิงที่เขาขับรถชนเสียชีวิตมาปรากฏตัวต่อหน้าเสมอ พร้อมกับฝันถึงฉากฉากหนึ่งที่เขาพายเรืออยู่ท่ามกลางความมืดมิด ซึ่งเขาไม่เคยเข้าใจความหมายของมันเลย
คืนแรกที่ของนอนในเรือนจำ ที่บ้านส่งคัมภีร์ไบเบิลมาให้ เขาอ่านมันและอ่านเล่มอื่นในช่วงเวลาระหว่างนั้นด้วยเช่นกันเพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง แต่หลังจากวันนั้นมา ตัวละครไรลี่ย์ที่โตมาเป็นคริสเตียนที่เคร่งได้เป็นชาวเอทิสต์ (atheist) หรือคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าและเป็นคนไม่มีศาสนา (irreligious) อีกเลย
“ในนั้นผมมีเวลาเยอะมาก ผมอ่านทั้งหมด
ทุกคัมภีร์ของศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
ผมคิดว่าถ้าจะมองหาพระเจ้าก็ต้องมองให้ทั่ว
กลายเป็นไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าซะอย่างงั้น”
เขากล่าวกับแฟนเก่าอย่าง เอริน กรีน
4 ปีต่อมา ณ เกาะคร็อกเก็ตต์ เกาะที่มีประชากร 127 คน เกาะที่ชีวิตเป็นไปอย่างราบเรียบและทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ไรลี่ย์กลับมาที่บ้านเกิดอีกครั้งในฐานะคนที่รู้สึกผิดมหันต์ โทษตัวเอง และเป็นคนที่พร้อมทำทุกอย่างหากมีโอกาสได้ไถ่บาปที่เขาก่อไว้ ซึ่งตัวละครไรลี่ย์ ฟลินน์ ไม่ได้สะท้อนว่าเขาเป็นคนทำผิดที่หาว่าพระเจ้าไม่แฟร์เลยเลิกนับถือศาสนา ตรงกันข้าม เขาเหมือนเอทิสต์หลายคนที่นอกจากไม่มีเหตุผลให้ต้องเชื่ออีกต่อไปแล้ว ยังค้นหาศึกษาเรียนรู้มากพอจนรู้สึกว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง
ปาฏิหาริย์ที่มาพร้อมกับบาทหลวงหนุ่มปริศนา และบทสนทนาระหว่างผู้ศรัทธา และผู้ที่ไม่
พร้อมกันนั้นอีกส่วนของต้นเหตุเรื่องราวทั้งหมดก็ได้ปรากฏขึ้น นักบวชชื่อพอลเดินทางมาที่เกาะพร้อมกับหีบใบใหญ่ และปรากฏตัวขึ้นทำหน้าที่แทนมงซินญอร์พรูอิตต์ ที่หายตัวไป เขาอ้างว่าพรูอิทท์ป่วยและรักษาตัวที่แผ่นดินใหญ่ และการมาของเขานั้น เริ่มต้นด้วยการทำหน้าที่ทำพิธีมิสซาหรือศีลมหาสนิท (Mass) ที่จะแจกจ่ายไวน์และขนมปังให้กับชาวบ้านชาวคริสต์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเกิดใหม่ของพระเยซู โดยมี เบเวอร์ลี่ คีน หรือเบฟ คีน ตัวละครป้าคลั่งศาสนาเป็นผู้ช่วย
ซีรีส์แสดงชัดว่าในช่วงเวลาที่คนมาโบสถ์ดูจะร่อยหรอแบบนี้ บาทหลวงคนนี้ดูจะมีอะไรพิเศษบางอย่างที่จะช่วยกอบกู้ศรัทธาและทำให้คนหันมาโบสถ์กันเยอะมากขึ้นได้
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ การมาของเขาทำให้ ลีซ่า เด็กหญิงที่เป็นอัมพาตช่วงล่างลุกขึ้นมาเดินได้อย่างหน้าตาเฉย อีกทั้ง มิลเดร็ด หญิงชราสุขภาพไม่ดี ก็สุขภาพดีขึ้นมาอย่างทันตาเห็น ไม่ใช่แค่ไม่ต้องใส่แว่นอีกต่อไป แต่รอยเหี่ยวย่นเริ่มจางหาย ผิวเต่งตึง ผมดำ ที่สำคัญคือเธอดูเยาว์วัยขึ้นอย่างผิดประหลาด
บาทหลวงพอลได้มาคุยกับไรลี่ย์ ตัวเอกของเราผู้ที่สิ้นศรัทธาไปแล้วถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจที่สุดในช่วงต้นของซีรีส์ที่สะท้อนถึงเรื่องศรัทธา พระเจ้า และสะท้อนถึงประเด็น (ทุก) ศาสนาในชุมชนได้เป็นอย่างดี นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่ไรลี่ย์พูดในบทสนทนานั้น
“โบสถ์คาทอลิกก็เหมือนกันหมด ในหมู่บ้านที่ผู้คนอดอยาก กลับมีโบสถ์ใหญ่หรูหรา หรูขึ้น ในขณะที่ผู้คนอดอยากขึ้น มีโบสถ์โผล่ขึ้นมาเหมือนเห็บอวบอ้วนที่ดูดกินเลือด ”
“ผมฆ่าคน จะโทษใครได้นอกจากโทษผม ส่วนพระเจ้าปล่อยให้มันเกิดขึ้น โลกนี้มีความทุกข์มากมาย แล้วมีพลังนี่ที่แค่โบกมือก็จะปัดเป่ามันไปให้หมดเกลี้ยง แต่พระองค์กลับไม่ทำเนี่ยนะ? เรามักจะพูดว่า ‘พระองค์มีวิธีอันน่าพิศวง’ อย่างกับมันจะมีอะไรดีๆ อย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรดีกับการที่ผมดื่มเหล้า ไม่มีอะไรดีกับการที่ผมชนเด็กสาวตาย”
“และสิ่งเดียวบ้าๆ ที่ปล่อยให้คนยืนเฉยโดยไม่ทำอะไรกับมันเลย คือความคิดที่ว่าความทุกข์เป็นของขวัญจากพระเจ้า”
บทสนทนานี้สะท้อนอะไร? สะท้อนว่านอกจากเป็นการพูดแทนเอทิสต์ถึงการมองโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่เราเชื่อ เราคิด เราทำ ไม่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจสูงส่งเหนือความเข้าใจแล้ว ศาสนาเองก็มีส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้คนดูจะเพิกเฉย และเมื่อเจออะไรดีไม่ดี ก็จะโยนมันไปให้เป็นเรื่องของพลังอำนาจหรือประสงค์ของพระเจ้าเรื่อยไป รวมถึงชื่อว่าทุกสิ่งทุกออย่างถูกกำหนดมาเพื่อนำไปสู่สิ่งอื่น มากกว่าจะเชื่อในการกระทำของตัวเองราวกับว่าเราไม่มีเจตจำนงค์เสรีเลย
ศาสนาเป็นเรื่องของคนส่วนมากและการตีความ
ทุกอย่างเป็นเรื่องของค่านิยม เช่น หากพูดถึง ‘ผู้ผิดแผก’ ในสังคมนี้ ก็คงเป็นคนที่ตกเป็นข่าวในการทำอะไรซักอย่างที่สวนกระแสหรือห้าวเป้งไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพสังคม ไม่เคารพผู้อื่น โดยมีผู้ที่อยู่ท่ามกลางสังคมอย่างสันติสุขและปฏิบัติตามกฎเป็น ‘ผู้ปกติ’ ในขณะที่หากจับบัณฑิตหรือพลเมืองดีมีอารยะไปอยู่ในหมู่บ้านที่มีแต่โจรป่าและคนเถื่อน เขาเป็น ‘ผู้ผิดแผก’ ของที่นั่นไปโดยปริยาย
แล้วอะไรคือตัวกดหนดว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด และเราควรยึดถือไม่ยึดถืออะไร?
ในซีรีส์จะมีตัวละครนายอำเภอฮัสซัน และลูกชายชื่ออาลีเป็นมุสลิมกันอยู่สองคนท่ามกลางคริสเตียนทั้งเกาะ สองพ่อลูกจะคอยละหมาดด้วยกันเสมอ จนกระทั่งลูกชายเริ่มพกไบเบิลที่ได้มาจากโรงเรียน จากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
บทสนทนาในโรงเรียนของเกาะคร็อกเก็ตต์ ระหว่างฮัสซันกับเบฟคืนเรื่องไบเบิลก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน ด้วยประเด็นที่น่าตั้งคำถามเสมอมาในทุกๆ สังคมที่มีศาสนาประจำชาติหรือให้ความสำคัญกับศาสนาเป็นอันดับต้นๆ
“ฉันรู้ว่าลูกคุณเป็นมุสลิม แต่ถ้าเขาสนใจในไบเบิล ทำไมไม่ลองให้เขาศึกษามันดูล่ะ?”
“ชาวมุสลิมเชื่อว่า พระเยซูคือศาสดาคนหนึ่งของพระเจ้า เราก็รักพระเยซู แต่หลังจากพระเยซูสิ้นพระชมน์ มีการเบี่ยงเบนเกิดขึ้นในศาสนาคริสต์ ผู้คนปรับเปลี่ยนสาร บาทหลวง พระสันตะปาปา กษัตริย์ คัมภีร์ไบเบิลถึงได้มีหลายฉบับ ผู้คนปรับเปลี่ยนไปตามใจ เราเชื่อจริงๆ ว่า ในไบเบิลมีคำตรัสของพระเจ้าบางส่วน แต่เราก็เชื่อด้วยว่าพระเจ้าเผยแพร่อัลกุรอ่านเป็นสารสุดท้าย คัมภีร์ที่ไม่ถูกปรับเปลี่ยน”
“ฉันว่าที่นี่ไม่เหมาะที่จะคุยเรื่องที่ว่าคำเชื่อเกี่ยวกับเรื่องคัมภีร์ของเรานั้นต่าง”
“นั่นแหละปัญหา ผมไม่ติดอะไรถ้าลูกศึกษาไบเบิล ผมก็ศึกษา แต่นี่คือโรงเรียนรัฐ คุณจะคิดยังไงถ้าลูกคุณไปโรงเรียนแล้วกลับมาพร้อมกับคัมภีร์อัลกุรอานและถามคุณเรื่องศาสดามูฮัมหมัด?”
ส่วนอาลีเอง ก็เคยเถียงฮัสซันว่า “ผมไม่ได้อยากเกิดเป็นมุสลิม พ่อให้ผมเป็น แล้วผมเลือกอะไรได้บ้าง?”
ฉากนี้กับการโต้เถียงทำให้เกิด 3 ประเด็นใหญ่ๆ ที่น่าเอามาขบคิดต่อ
- ในสังคมหนึ่งเราให้ความสำคัญกับศาสนาของคนส่วนใหญ่ แล้วความสำคัญของคน/ศาสนาส่วนน้อยมีมากน้อยแค่ไหน?
- ทั้งคริสต์และอิสลาม ไม่สิ ทุกศาสนาต่างเคลมว่าของตัวเองถูกในแบบของตัวเอง ของตัวเองคือความจริงสูงสุด แล้วความจริงของศาสนาไหนกันแน่คือ’ความเป็นจริงที่แท้จริง’ ? หากมันมีมากกว่าหนึ่งเช่นนี้ เราควรเชื่อในชุดความคิดชุดไหน? และ
- ทำไมถึงมีค่าเริ่มต้นให้คนคนหนึ่งเกิดมาเป็นคนของศาสนาในศาสนาหนึ่ง ทั้งๆ ที่คนคนนั้นยังไม่มีความสามารถจะคิด จะรู้ จะเชื่อ และจะเลือกด้วยตนเอง?
ทั้งหมดเป็นเรื่องของการตีความ คริสต์ อิสลาม พุทธ และทุกศาสนามีหลายนิกายเพราะผู้มีชีวิตอยู่มาก่อนหรือเกิดก่อนได้นำมันมาตีความและเผยแพร่ในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตามความเข้าใจของตัวเอง หรือในทางที่ตัวเองต้องการให้เป็น หรืออีกนัยหนึ่ง คือการใช้ศาสนาและนามของพระเจ้าเป็นเครื่องมือเพื่อชี้นำและบรรลุวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง ดังเช่นที่แสดงให้เห็นทั้งเรื่องว่า บาทหลวงพอลและ โดยเฉพาะตัวละครเบฟ คีน มักจะเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอ้างอิงไปยังไบเบิลกับหนังสือวิวรณ์ (book of revelation) ทั้งสิ้น รวมถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเช่นกัน
อีกเคสที่น่าสนใจคือ 6 ตุลา พ.ศ.2519 ของไทยที่พระสงฆ์รูปหนึ่ง ออกมาชี้นำให้เกิดการเข่นฆ่าด้วยคำพูดที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” พร้อมเสริมว่า “อาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่เชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน” ซึ่งถามว่าพระพุทธเจ้าเคยพูดแบบนี้มั้ย? คำตอบแน่นอนคือไม่ แต่ต่อมามันกลับเป็นวาทกรรมที่ก่อให้เกิดการฆ่าฟันอันโหดร้าย และไม่เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์
ซีรีส์กับ 6 ตุลา คือเคสของการอ้างศาสนากับการตีความใหม่เพื่อชี้นำ และยังมีเคสมากมายที่เกิดขึ้นเพราะอ้างอิงถึงคัมภีร์ตามศาสนาตนเองให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน
ว่าด้วยเรื่องชีวิตและความตาย
อีกฉากหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฉากที่คมคายที่สุดของซีรีส์ Midnight Mass คือฉากที่ไรลี่ย์คุยกับเอรินถึงเรื่องความตาย ทุกอย่างเริ่มต้น
“คุณคิดว่าเกิดอะไรขึ้นตอนเราตาย ไรลี่ย์”
“ไม่รู้สิ ผมไม่ไว้ใจใครก็ตามที่บอกว่าพวกเขารู้ แต่ผมพูดในส่วนของผมได้”
“งั้นพูดในส่วนของคุณมา”
“เมื่อผมตาย ร่างกายผมจะหยุดทำงาน หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น ทั้งสองอย่างหยุดพร้อมกัน จากนั้นห้านาทีต่อมา เซลล์สมองก็จะเริ่มตาย แต่ในขณะเดียวกันระหว่างนั้นก็จะปล่อยสาร DMT ออกมา สารหลอนประสาทที่ปล่อยมาตอนเราฝัน จากนั้นผมจะฝันยิ่งกว่าที่เคยฝันมา เพราะเป็นสาร DMT ครั้งสุดท้ายที่เราจะได้หลั่งมัน จินตนาการจะโผล่มาสลับกับความทรงจำ มันเป็นการปิดฉาก แล้วทุกอย่างก็จะจบ
ผมจะหยุด ไม่เหลืออะไรในตัวผมแล้ว ไม่มีความเจ็บปวด ความทรงจำ การรับรู้ ส่วนจุลินทรีย์ แบคทีเรียบนและในร่างกายผมก็จะมีชีวิตต่อไป กินอาหาร ผมก็จะมีประโยชน์ ย่อยสลาย ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ อะตอมผมจะอยู่ในต้นไม้ แมลงสัตว์ อยู่เชื่อขณะหนึ่ง และกระจายกลับคืนสู่จักรวาล”
นี่คือบทสมทนาที่ชัดเจนด้วยตัวมันเอง ว่าแท้จริงแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นความเป็นจริงหรือไม่ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน) มนุษย์กำเนิดมาจากจักรวาล ดวงดาว และสภาพแวดล้อมที่เหมาะที่จะเกิด วิวัฒน์ และวันนึงเราจะต้องดับสูญไปสู่ความมืดมิด ว่างเปล่า เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ถูกชัตดาวน์แล้วดับไป และด้วยความเป็นอินทรีย์สาร เราย่อยสลายได้ และกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะด้วยอายุขัยหรืออุบัติเหตุที่พรากเราไปก่อนวัยอันควรก็ตาม
จะชนชาติไหน อาศัยอยู่แห่งใด เราก็ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือแค่พาร์ทหนึ่ง ก้อนกรวดเล็กๆ ในโลกและจักรวาลนี้เท่านั้นเอง นั่นแหละคือ ‘พระเจ้า’ที่แท้จริง ที่ทุกคนถามหาและวาดภาพเป็นสิ่งอื่นมาโดยตลอด และแม้เป็นอย่างนั้น คนไม่มีศาสนาและไม่นับถือพระเจ้าอย่างไรลี่ย์ ก็ยังให้เกียรติเอรินที่เป็นคริสเตียนด้วการพูดว่า “ผมพูดในส่วนของผมได้” เพราะเราอยู่ในสังคมที่ต้องให้เกียรติกัน แม้จะมีความเป็นจริงหนึ่งเดียวก็ตาม แต่แต่ละความเชื่อมีความจริงเป็นของตัวเอง และการเคารพกันนำไปซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (ไรลี่ย์คือชาวเอทิสต์ตัวอย่างที่ดี)
และหลังจากบทสนทนานี้ ในคืนต่อมาตัวละครไรลี่ย์ก็ได้ถูกสิ่งมีชีวิตประหลาดมีปีกหน้าตาคล้ายแวมไพร์ใน Salem’s Lot หนังดัดแปลงจากหนังสือของสตีเวน คิงพุ่งมากัดเข้าที่ต้นคอ
คำโกหกของพรูอิตต์ ศรัทธาลวงหลอกที่เปลี่ยนให้ปีศาจเป็นเทวฑูต
จุดพลิกผันที่ใหญ่ที่สุดของเรื่องและทำให้คนดูตื่นจากความง่วงและการหลับไหล นอกจากฉากที่ไรลี่ย์ถูกกัด ก็เห็นจะเป็นการที่เปิดเผยว่าบาทหลวงพอลคือ มงซินญอร์ จอห์น พรูอิตต์ ที่ถูกแวมไพร์กัดและได้ดื่มเลือดจากมัน จนทำให้เขากลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง โดยเขาจะยังไม่เป็นแวมไพร์เต็มตัวหากไม่ได้ตายแล้วเกิดใหม่ ภายหลังจึงดื่มสารหนูตายเพื่อเกิดใหม่ดั่งพระเยซู แลกมากับการแพ้แสงอาทิตย์ ชนิดถ้าโดนนิดๆ ร่างกายจะเป็นแผล แต่ถ้าโดนจังๆ คือไหม้เป็นตอตะโก
สิ่งที่ช็อคที่สุด (และน่าสนใจในเวลาเดียวกัน) คือพรูอิตต์ซึ่งเป็นคนของศาสนาและชีวิตมีแต่ศาสนา ได้ตีความแวมไพร์ผ่านประสบการณ์ ความรู้ และแว่นตาศาสนาของตนเองให้เจ้าแวมไพร์นี่เป็นเทวฑูตไปซะอย่างนั้น ผลคือเขานำเลือดตนเองกับเลือดแวมไพร์ที่มามาที่เกาะ ให้คนในเกาะดื่มทั้งเกาะ เท่ากับทุกคนตอนนี้อยู่ในสถานะ ‘แวมไพร์เท่ากัน’ แล้ว เหลือแค่ตายแล้วเกิดใหม่เท่านั้น
ที่ทำไปก็เพราะเขาเชื่อว่ามันจะดีต่อผู้คน และเขาต้องการให้คนเป็นแวมไพร์เพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทั้งยังต้องการให้ผู้คนบนเกาะที่เขารู้จักมาตลอด เกิดใหม่ สุขภาพดีแข็งแรง เพราะมนุษย์มักกลัวสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ และศาสนาคือคำตอบของคนในยุคนั้นจนถึงยุคปัจจุบันของคนหลายคน ซึ่งสำหรับพรูอิตต์แล้ว เนื้อหาในไบเบิลหรือวิวรณ์คือเซ็ทความคิดของเขา เขาเชื่ออย่างแรงกล้าว่า โลกทั้งโลกหรือเซิร์ฟเวอร์นี้ของโลกมีแต่ศาสนาคริสต์และศาสนาคริสต์คือความเป็นจริงสูงสุดหนึ่งเดียว ทุกอย่างเลยต้องเป็นไปตามนั้น
สัตว์ประหลาดที่ไม่รู้จักมาก่อน หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว กินเลือด มีปีก พละกำลังมหาศาลเช่นนี้ จึงกลายเป็นเทวฑูตไปโดยปริยายทั้งๆ ที่ต่อให้เด็ก 3 ขวบดูยังไงก็ไม่ใช่ และคงร้องไห้ออกมาแน่ๆ (ซึ่งพอยกตัวอย่างแบบนี้ น่าคิดว่าเด็กจิตใจโล่งๆ บริสุทธิ์ที่ยังไม่ผ่านการขัดเกลาโดยศาสนา จะมองโลกตามความเป็นจริงกว่าคนที่ถูกขัดเกลาแล้วและจมอยู่กับมันมากเกินไปจนเป็นผลร้ายหรือไม่)
สิ่งที่จะบอกถึงเรื่องได้ดีสุด คือการจับแวมไพร์ (หรือเทวฑูตที่เขากล่าวอ้าง) นี้มาใส่ชุดที่บุคลากรศาสนาคริสต์ใส่ในการดำรงตำแหน่งและทำพิธี แล้วเดินเข้ามาในโบสถ์ดื้อๆ แบบนี้เลย
ซึ่งหากมองดูดีๆ มันก็ไม่ต่างไปจากความเป็นจริงที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มนุษย์บางกลุ่มหรือคนบางศาสนา ใช้ศาสนา ชื่อพระเจ้า เพื่อเป็นความชอบธรรมในการพูด คิด คำ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งที่ต้นขั้วศาสนาก่อร้างสร้างตัวมาจากไอเดียที่ว่า ‘มนุษย์ควรได้รับคำตอบของคำถามที่ตนเองสงสัย’ นำไปสู่การเคลียร์กังวลและนำมาซึ่ง ‘ความสุข’ ในแบบของตัวเองเท่านั้นเอง แต่ในทางตรงกันข้าม หลายสิ่งหลายอย่างที่ดูแล้วไม่ใช่วัตถุประสงค์ดั้งเดิม อย่างเช่นการต้องมาเข่นฆ่าสู้รบกัน หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของผู้อื่น กลับถูกมองว่าเป็นสิ่งดีงาม บนความดีงาม เพื่อความดีงาม
หากให้พูดตามหลักศาสนาพุทธที่เราคุ้นหูกันดี ก็คงเป็นวลีที่ว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” นั่นเอง
มีบทสนทนาช่วงนึงที่น่านำมาพูดถึงคือช่วงที่พรูอิตต์พูดกับไรลี่ย์ว่า “นายได้ของขวัญจากพระเจ้า ไม่งั้นอะไรดลใจให้นายที่ไม่เข้าโบสถ์ตัดสินใจเดินกลับมาเจอกับเทวฑูตเข้าล่ะ?” เพื่อที่จะบอกว่าไรลี่ย์นั้นถูกเลือกและพระเจ้ามีอยู่จริง แล้วไรลี่ย์ตอบว่า “ก็ที่นายบอกว่าโจไปหาน้องสาวไง ฉันเลยกลับมา” พรูอิตต์ได้แต่อึ้ง เพราะมันเหมือนหมัดที่ชกสวนมาที่หน้าเขาอย่างจัง ที่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่พระเจ้าที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่งหรือการตัดสินใจหนึ่งๆ แต่มีแต่คนด้วยกันเท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมซีรีส์ Midnight Mass ถึงไม่เคยใช้คำว่า ‘แวมไพร์’ แม้แต่ครั้งเดียว
Mike Flanagan อธิบายว่าตัวที่เราเห็นในซีรีส์เรื่องนี้เป็นแวมไพร์นั่นแหละ แต่ Midnight Mass ไม่ใช่เรื่องราวแวมไพร์ทั่วไปที่เราเคยเห็นๆกันเพราะไอ้เจ้าตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่บ้าคลั่งมีมูลฐานกว่านั้นมาก การทำซีรีส์เกี่ยวกับ ‘แวมไพร์’ ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะมองมันเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ร้าย อสูร อะไรทำนองนี้ ในขณะที่ซีรีส์เรื่องนี้มีแก่นคือความเป็นมนุษย์และการตัดสินชี้ขาดในชะตากรรมของพวกเขา พูดง่ายๆคือหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้เพื่อไม่ให้คนดูไปโฟกัสกับคำว่าแวมไพร์มากกว่าแก่นจริงๆของซีรีส์นั่นเอง
อีกสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อระดับเข้มข้นจนเรียกว่าเป็นการ ‘งมงาย’ ได้ คือการที่ความเชื่อเกิดขึ้นหรือมีอิทธิพลใน ‘สภาพแวดล้อมแบบปิด’
ในซีรีส์เกาะคร็อกเก็ตต์นี้ค่อนข้างจะปิดตาย เดินทางไปแผ่นดินใหญ่ได้ทางเดียวคือเรือข้ามฟากและเรือประมง (ซึ่งทำให้อำนาจอยู่ที่คนขับเรือ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจพรูอิตต์อีกที) การสื่อสาร ความจริง ความเชื่อ และการรับรู้จึงถูกปิดตายไม่ต่างจากเกาะ ขาดกระแสไหลเวียนจากภายนอกพอสมควรแม้ว่าจะมีอินเทอร์เน็ตใช้ สะท้อนไปถึงการชิ่งสะท้อนภายในโดมแก้วที่มองไม่เห็น ที่มักจะได้ผลเป็นพิเศษกับชุมชนขนาดเล็ก (นั่นเป็นเหตุให้ศาสนายังคงแข็งแรงและไม่ถูกลดหลั่นความสำคัญในพื้นที่ต่างจังหวัด)
การที่ซีรีส์เล่าเรื่องบนเกาะ นอกจากเพื่อเนื้อเรื่องและเพื่อที่เนื้อเรื่องประเภทบาทหลวงลึกลับ ศรัทธาพิสดาร กับคนคลั่งศาสนาจะถ่ายทอดง่ายแล้ว ยังชวนคิดต่อว่าศาสนาจะตายจริงๆ อย่างที่เค้าว่าหรือไม่ ในเมื่อยังได้ผลกับความคิดของผู้คนนอกเขตเมืองหลวง (ที่นับเป็นพื้นที่ที่มากกว่าเมืองหลวงหลายเท่า) อย่างสตรองเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันถูกนำมาผูกโยงเสริมแกร่งกับ/ด้วยความเชื่ออื่น เช่นที่ไทยมีการนับถือศาสนาผีเป็นหลักเสมอมา และนำพุทธกับพราหมณ์-ฮินดูและจีน มาไว้ด้านหน้า
จุดจบและจุดเริ่มต้น
ความตายของไรลี่ย์ ฟลินน์ เป็นสิ่งเดียวที่เขาทำได้ เขาเชื่อในการกระทำตามไลฟ์สไตล์ของเอทิสต์ จึงเลือกจบชีวิตเพื่อช่วยเซฟแฟนเก่าที่เขารักจากเกาะบ้านเกิดที่กำลังจะแปรเปลี่ยนไปเป็นนรกบนดิน และเพื่อเป็นการบอกเอรินอย่างกระชับพร้อมกับเป็นการพิสูจน์ว่า “ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเท่ากับชีวิตที่ต้องอยู่กับคำโกหกและหลอกลวง”
และเพราะชีวิตเขาที่ไม่อาจหวนกลับนี้ ก็ดูจะไม่ใช่ชีวิตที่เขารู้จักอีกต่อไป มันเป็นชีวิตที่ได้มาโดยคำโกหกของพรูอิตต์และการเป็นสัตว์ประหลาดสามารถทำให้เขากลับมามีชีวิตตามเดิมได้แล้ว อีกทั้งไรลี่ย์ไม่อยากที่จะพรากชีวิตใครไปอีกแม้แต่ชีวิตเดียวหลังจากที่เขาทำไปตอนต้นเรื่อง
ซึ่งแม้มันจะน่าเศร้า ก็นับว่าเขาได้เติมเต็มและจบเนื้อเรื่องของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
หลังจากพรูอิตต์เชิญชวนทุกคนมาดื่มสารหนูเพื่อตายและเกิดใหม่ ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ที่อันยากจะควบคุมอะไรๆ ได้แม้แต่ตัวต้นเรื่องอย่างเขาเองก็ตาม และมันนำไปสู่การเปิดเผยว่า หมอประจำเกาะซาร่า และมิลเดร็ดแม่ของเธอ คือลูกสาวและภรรยาของเขา นั่นเป็นอีกความพลิกผัน ใหญ่ของซีรีส์เรื่องนี้ที่บ่งบอกว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการผิดวินัยของบุคลากรศาสนา เป็นเพราะบาทหลวงคนหนึ่งที่อยากมีความรัก และเป็นห่วงลูกและภรรยาเท่านั้นเอง
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความคิดและความตั้งใจที่ฟังดูเหมือนจะดีนี้ นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของคนบนเกาะอันแสนสุข และเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามกับตัวพรูอิตต์เองว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมันควรเป็นเรื่องของพระเจ้า หรืออีกชื่อคือเป็นเรื่องของธรรมชาติ จักรวาล การสุ่ม ความบังเอิญ การนำพาตัวเองไปอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง การสร้างแล้วปล่อยปะละเลยของจักรวาล หรือการกระทำและความตั้งใจของมนุษย์ แต่ไม่ใช่อย่างสุดท้ายที่เสริมเติมแต่งด้วยเรื่องราวที่สร้างขึ้นให้บรรลุผล
ท้ายที่สุด สิ่งที่พรูอิตต์ตั้งใจทำให้คนทั้งเกาะต้องตายจากแสงแดด นั่นรวมไปถึงลูกและภรรยาเขาด้วย กว่าจะตระหนักรู้ว่า ‘ไม่น่าเลย ‘ก็นาทีสุดท้ายของชีวิต
ตอนจบของซีรีส์ Midnight Mass จบด้วยฉากที่เด็กชายหญิงสองคนรอด เป็นสัญญะที่หลายคนคุ้นเคยนั่นคือ อดัมกับอีฟ เด็กสองคนที่เติบโตจากโลกเดิม ความเชื่อเดิม ขนบเดิม จากเกาะที่ตอนนี้ถูกเผาราบไปแล้ว กำลังเดินทางไปสู่โลกใหม่ และอยู่ที่ทั้งสองแล้วว่าจะสร้างชีวิต ใช้ชีวิต อบรบสั่งสอนลูกหลานแบบไหน และเชื่อในอะไรต่อจากนี้
นอกจากไดอะล็อกปรัชญาชวนคิดกับเนื้อหาที่ตีความเรื่องศาสนา ศรัทธา และปีศาจอย่างแวมไพร์เข้าด้วยกันอย่างสดใหม่แล้ว เรื่องราวความทั้งหมดนี้คือบทเรียนสำคัญที่ย้ำเตือนว่า อำนาจหน้าที่และตำแหน่งในระดับที่สามารถชี้นำหรือเปลี่ยนแปลง/ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมใดสังคมหนึ่งโดยกว้าง ไม่ควรตกอยู่ในมือของคนเขลา คนเห็นแก่ตัว หรือคนที่จะใช้มันทำเพื่อตนเองหรือเพื่อพวกพ้องมากกว่าผู้อื่น นั่นทำให้คนคนนั้นทำสิ่งนั้นได้ไม่ว่า จะแลกมาด้วยอะไรรอบข้างก็ยอม และมันคือหายนะ
และย้ำเตือนว่า การศรัทธาไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ควรเริ่มจากการศรัทธาในตัวเองก่อน ศรัทธาว่าเราทำอะไรได้ และเราเข้มแข็งมากพอที่จะมีชีวิตอยู่โดยที่จะเลือกได้ว่า เชื่ออะไร ไม่เชื่ออะไร เชื่อมากกว่าหนึ่ง หรือไม่เชื่อไม่อิงในอะไรเลยก็ตามในการดำเนินชีวิตยกเว้นมีเป้าหมายที่อยากบรรลุหรือใช้ชีวิตในแบบผลเมืองดีที่ไม่กระทบผู้อื่น เพราะทุกอย่างล้วนมีโดย = ไม่มีแต่แรก มีจักรวาล โลก ศาสนา เรา และเช่นเดียวกัน มันเคยมีช่วงเวลาที่ทุกอย่างนี้ไม่มีอยู่เลย หรือวันนึงจะไม่มีเช่นกัน