ถือว่าเป็นอีกความทรงจำแห่งปี 2560 เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกหน้าหนึ่งของชาวขอนแก่น เมื่อหัวหน้าชุดปฏิบัติการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ปฏิบัติการให้ชาวขอนแก่นไม่มีความสงบเรียบร้อยเสียเอง เพราะดันไปปิดเส้นทางคมนาคมสัญจรของประชาชนเพื่อจัดงานแต่งตัวเองในช่วงเวลา 8 โมงเช้าที่ทุกคนต่างเร่งรีบไปทำมาหากิน จนต้องเผชิญสภาพรถติดยาวหลายชั่วโมงหลายกิโลเมตร เอารัดเอาเปรียบสังคมกันขนาดนี้ ก็ไม่แปลกใจหากจะมีคนไม่ว่าจะร่วมรถติดด้วยหรือไม่ ก่นด่าสาปส่งงานสมรสนี้ยันลูกรับปริญญาจนถึงบวชหน้าไฟ
แม้จะเป็นการใช้ทรัพยากรส่วนรวมและสาธารณประโยชน์เพื่อเรื่องส่วนตัวกันภายในครอบครัวตามอำเภอใจ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องจะจบลงตรงที่เจ้าบ่าวผู้เป็นนายทหารใหญ่ลอยหน้าลอยตา (รักผัวช่วยผัวเลือกรองพื้นหน่อยนะคะเจ้าสาว) ออกมาพูดขอโทษง่ายๆ เป็นการตัดบทเท่านั้น แถมโฆษกกองทัพบกยังถือหาง แอ่นอกมาแก้ตัวให้หน้าตาเฉย ไม่สนข้อเท็จจริงสนสี่สนแปดสนแดดสนฝนใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่นายทหารผู้นี้ยึดพื้นที่สาธารณะมาเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล เพื่อแสดงอำนาจบาตรใหญ่ วางโต ทหารบางคนบางแห่งก็ exercise กำลังอำนาจ ประกาศศักดาบารมีผ่านการสมสู่เช่นกัน
แต่มันร้ายไปกว่าปิดถนนแต่งงานเอิกเกริก ก็ตรงที่เป็นการข่มขืน ทำให้พื้นที่ส่วนบุคคลเนื้อตัวร่างกายของผู้ใดผู้หนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ
การข่มขืนโดยทหารถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง ‘ปรกติ’ โดยเฉพาะในช่วงสงคราม เรียกกันว่า wartime rape บ้างก็เรียก mass wartime rape เพราะเป็นการข่มขืนหมู่และผู้หญิงก็เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากมันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แพร่หลายทุกหนทุกแห่งในประวัติศาสตร์สงครามแต่ละท้องที่ ข้ามทวีปข้ามศตวรรษ จนถูกมองว่าเป็น ‘วัฒนธรรมทหาร’ (military culture) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์และสงครามอย่างน่าเศร้า[1]
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกปกปิดเป็นความลับ หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นเพียงข่าวลือ แต่มันก็ถูกบันทึกตั้งแต่ยังเป็นการรบพุ่งในสังคมชนเผ่า อาณาจักร และรัฐจารีต ในคัมภีร์ไบเบิลที่เล่าถึงสงครามระหว่างชาวยิวกับชาติศัตรูต่างๆ, สงครามชาวจีนชาวแองโกลแซกซอนในเอกสารทางประวัติศาสตร์, สงครามในยุคกรีกโรมัน การพิชิตเปอร์เซียของอเล็กซานเดอร์มหาราช การพิชิตกรุงโรมของกองทัพชาววิซิกอท, สงครามในยุโรปยุคกลาง สงครามครูเสด, การปล้นสะดมของชาวไวกิ้ง มาสู่สงครามระหว่างรัฐสมัยใหม่เช่น ทหารกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นกระทำกับหญิงชาวจีนในโศกนาฏกรรมนานกิงช่วง 1937-1938, ทหารฝ่ายพันธมิตรข่มขืนผู้คนเป็นจำนวน 1% ของประชากรหญิงชาวเยอรมันในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2, ในสงครามเวียดนามที่ทั้งกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้ และกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือก็ชำเราผู้หญิงฝั่งตรงข้ามกัน, ทหารปากีสถานข่มขืนหญิงชาวบังกลาเทศ 200,000 คน ภายใน 9 เดือนระหว่าง 1971-1972, ในสงครามยูโกสลาเวียที่การชำเรากระทำอย่างดาษดื่นโดยทั้งทหารและพลเมืองติดอาวุธกับหญิงชาวมุสลิมบอสเนียประมาณกว่า 60,000 คนในค่ายกักกันและคุก จนพวกเธอหลายคนต่างตั้งท้องและเลี้ยงดูลูกที่เกิดมาจากการเหยียดหยาม, ใน 1994 และมีรายงานเป็นตัวเลขว่าหญิงชาวทุตซี 75 % ของประชากรหญิง 1 ล้านคน ถูกข่มข่นระหว่างถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ในฐานะที่เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการสังหารหมู่ ‘พันธุฆาต’ หรือ genocide, และทหารอินเดียก็ตระเวนข่มขืนหญิงตามบ้าน เป็นบทลงโทษและการดูถูกดูแคลนที่ให้ที่ซ่อนเร้นแก่ผู้ก่อการร้ายในแคชเมียร์[2]
จำนวนมากน้อยของผู้ถูกข่มขืนในนามของสงครามอาจจะสร้างความตกใจ แต่ความโหดร้ายของมันไม่สามารถวัดด้วยจำนวนประชากร เพราะความรุนแรงก็คือความรุนแรง มีเหยื่อที่ต้องแบกรับความทรงจำและประสบการณ์นั้นโดยตรง
พวกเธอหลายคนถูกสามีและครอบครัวทอดทิ้ง หลังจากตั้งครรภ์กับศัตรู พวกเธอบางคนตัดสินใจฆ่าลูกที่เกิดมา บางคนก็เลี้ยงลูกเอาไว้เป็นประจักษ์พยานของการตกเป็นเหยื่อสงคราม[3]
เพราะการข่มขืนผู้หญิงในช่วงสงครามไม่เพียงต้องการแสดงอำนาจเหนือกว่าผู้แพ้หรือเชลยศึก และเหยียดหยามเย้ยหยันชุมชนดินแดนนั้นที่ผู้หญิงได้กลายเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์พื้นที่นั้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น ยังมีจุดประสงค์เพื่อหวังทำลายเชื้อชาติด้วย การที่ทหารชายสะเด็ดน้ำ พ่นโครโมโซม DNA ให้หญิงชาติศัตรู ทำลายเชื้อสายเผ่าพันธุ์ของผู้พ่ายแพ้ทางพันธุกรรม ลูกที่อยู่ในครรภ์และเกิดออกมาถูกตีตราให้เป็นเชื้อสายของศัตรู
ลูกในบริบทนี้จึงไม่ใช่พยานแห่งความรักระหว่างสงครามของนายทหารหนุ่มของกองทัพเรือญี่ปุ่นนาม ‘โกโบริ’ กับหญิงพื้นเมืองในไทย ‘อังศุมาลิน’ แห่งนิยายโรมานซ์ ‘คู่กรรม’
การข่มขืนถูกออกแบบมาแล้วให้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการทำลายล้างเผ่าพันธุ์แบบถอนรากถอนโคนเช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะเดียวกันมันก็เป็นการประกาศอำนาจของผู้ชายเหนือเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงที่ย่ำยีทางร่างกาย จิตใจ และชีวภาพ ไม่ใช่การข่มขืนชำเราเพื่อระบายความใคร่หื่นกระหายด้วยแรงขับทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ มันจึงไม่ใช่การเอาจู๋ไปจิ้มจิ๋มเสมอไป หากแต่ยังใช้อาวุธปืน มีดหรือของแข็งอย่างอื่นด้วย[4]
เนื่องจากผู้แพ้และเชลยสงครามได้ถูกนิยามความหมายให้เป็นร่างกายที่อ่อนแอ ไร้ค่า สมควรแก่การถูกล่วงล้ำสอดใส่ทะลุทลวง ด้วยเหตุนี้การข่มขืนจึงไม่ใช่แค่กับผู้หญิงเสมอไป แต่ยังรวมไปถึงผู้ชาย เช่นเดียวกับที่ว่าร่างกายนั้นจะมีชีวิตหรือลมหายใจแล้วหรือไม่ก็ตาม เชลยชายหลายคนไม่เพียงถูกข่มขืน แต่ยังถูกตอนถูกเจื๋อนเพื่อแสดงออกถึงความพ่ายแพ้ในมิติของเพศ
การเริ่มสร้างความตระหนักถึงปัญหาการข่มขืนในช่วงสงคราม การสืบสวนตรวจสอบ บันทึกข้อมูลอย่างมีระบบ และถือว่าเป็นคุณูประการสำคัญอีกอย่างของนักสตรีนิยมทั้งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว
การข่มขื่นในนามของสงครามมักถูกเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ เพราะบรรดาทหารนักรบรู้เห็นเป็นใจและแสดงออกต่อการลดคุณค่าความเป็นคนของผู้หญิงและสถาปนาระบอบปิตาธิปไตยให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และผู้ชายก็มักจะได้ประโยชน์จากระบอบนี้เสมอ ไม่ว่าบรรดาทหารกองกำลังติดอาวุธจะอยู่ฝั่งไหนของสงครามจะรบราฆ่าฟันด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม พวกเขาทั้งหมดต่างก็เป็นนักรบและตัวแทนของเพศชาย ถูกอธิบายว่าเป็นผู้ชายแท้ กองทัพมีความหมายของการร่วมกลุ่มในนามผู้ชาย หรือ ‘ความเป็นชาย’[5] (เหมือนกับที่ในสายตาของทหารสหรัฐอเมริกา พลเมืองคือเพศหญิงที่ต้องปกป้องคุ้มภัย[6]) และผู้หญิงก็คือฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา นอกจากนั้นนักสตรีนิยมเองยังมองว่า ในเวลาเดียวผู้ข่มขืนเองก็ตกเป็นเหยื่อ พวกเขาเป็นเหยื่อของข้อบังคับคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างปฏิเสธหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสภาพแวดล้อมของสงครามก็กระตุ้นให้พวกทหารต้องทำเช่นนั้น และบรรดาหนังสือ เรื่องสั้น ภาพ หนังโป๊ก็กลายเป็นอาวุธสงครามอย่างหนึ่ง เพราะถูกนำมาเป็นอุปกรณ์เร้ากามารมณ์ คู่มือประกอบและตระเตรียมข่มขืนของทหาร[7]
อย่างไรก็ตาม แม้มันจะเกิดขึ้นอย่างสากลและมีประวัติศาสตร์ การชำเราข่มขืนก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรได้รับอนุญาตไม่ว่าในยามสงบหรือยามศึก และในยามสงบเอง ใช่ว่าทหารจะไม่ข่มขืน เพียงแต่มันไม่ถูกนำมาพูดถึงเท่าช่วงสงครามเท่านั้นเอง เหมือนที่อาวุธสงครามมักไม่ถูกพูดถึงเมื่อยังไม่มีสงคราม จากการศึกษาในช่วง ค.ศ. 1987-1992 พบว่า ชายที่เป็นทหารมีอัตราการก่ออาชญากรรมทั้งการข่มขืนและอาชญากรรมอื่นๆ น้อยกว่าอาชญากรรมที่ก่อโดยพลเรือนชาย และการข่มขืนที่เกิดขึ้นโดยทหาร มีอัตราลดลงมากกว่าการข่มขืนที่เกิดขึ้นโดยพลเรือนหลายเท่า และผลการศึกษาสรุปว่า อัตราการข่มขืนของทหารลดลงเป็นอัตราส่วนที่มากกว่าอาชญากรรมอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามภายในค่ายก็ยังคงมีข่มขืนกันอยู่ และทหารหญิงภายในค่ายเองก็ตกเป็นเหยื่อของทหารชาย[8]
ไม่ว่าบริบทไหน ข่มขืนเท่ากับอาชญากรรม เช่นเดียวกับที่ wartime rape ก็ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม ที่ละเมิด ‘ความเป็นมนุษย์’ โดยทหาร
ในภาวะสงครามมักอำนวยให้กองทัพนี้มีบทบาทสำคัญและอิทธิพลต่อรัฐมากขึ้นอย่างไร้ขอบเขต โดยอ้างหลักของความมั่นคงปลอดภัย เช่นเดียวกับรัฐประหารก็เป็นอีกอาชญกรรมหนึ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิของพลเมือง แล้วมักอ้างเรื่องความมั่นคงความสงบสุขเช่นกัน ทำให้รัฐพลเรือนกลายเป็นรัฐทหาร จนทหารมีอำนาจบทบาทบนวิถีชีวิตประชาชน แม้แต่การปฐมนิเทศนักเรียนประถมก็ต้องเชิญทหารมา หรือจะไปทำการทำงานก็ต้องรอให้ทหารแต่งงานเสร็จเรียบร้อยก่อน แม้แต่ตำรวจก็ไม่กล้าทำอะไรได้ ทั้งที่สงครามไม่ใช่ทางออกที่ฉลาดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การให้อาชีพที่คุ้นชินกับความรุนแรง แม้กระทั่งการข่มขืนยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดา และส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการรบ มาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างความสงบสุขจึงไม่เป็นเรื่องฉลาดและเป็นไปไม่ได้
“เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด” จึงเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อให้คนมองการเกณฑ์ทหารในแง่ดีบ้าง แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า “เป็นทหารทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด” น่าจะเป็นสิ่งที่คนเชื่อมากกว่า โดยเฉพาะอย่างภายใต้รัฐทหาร
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Roland Littlewood. Military Rape. Anthropology Today, Vol. 13, No. 2 (Apr., 1997), pp. 7-16.
[2] Ibid.
[3] Coleen Kivlahan and Nate Ewigman. Rape as a weapon of war in modern conflicts: Families and communities are victims, as well as individuals. BMJ: British Medical Journal, Vol. 341, No. 7771 (4 September 2010), pp. 468-469
[4]Roland Littlewood. Military Rape. Anthropology Today, Vol. 13, No. 2 (Apr., 1997), pp. 7-16.
[5] Jonathan Gottschall. Explaining Wartime Rape. The Journal of Sex Research, Vol. 41, No. 2 (May, 2004), pp. 129-136.
[6] Roland Littlewood. Military Rape. Anthropology Today, Vol. 13, No. 2 (Apr., 1997), pp. 7-16.
[7]Jonathan Gottschall. Explaining Wartime Rape. The Journal of Sex Research, Vol. 41, No. 2 (May, 2004), pp. 129-136.
[8] Madeline Morris. By Force of Arms: Rape, War, and Military Culture. Duke Law Journal, Vol. 45, No. 4 (Feb., 1996), pp. 651-781.