ช่วงนี้มีประเด็นที่คล้ายคลึงกัน 2 กรณี แม้จะต่างที่ต่างวาระกัน ซึ่งมันก็เป็นประเด็นเก่าๆ ที่เราๆ ท่านๆ เคยผ่านหูผ่านตามาแล้ว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศพูดจนปากเปียกปากแฉะจนหลายคนชักเบื่อ อ้าวนี่ยังต้องกลับมาพูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ขั้นเบื้องต้นกันอีกหรอ นึกว่าอ่านหนังสือกันมาเยอะแล้ว เธอถูกกระทำยาวนานตั้งแต่ 2557
กรณีแรก มีลูกจ้างหญิงตำแหน่ง เลขานุการเข้าแจ้งความพร้อมหลักฐานชัดเจนว่า ถูกกระทำลวนลามอนาจารโดย อัศม์เดช รัตนวรประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มภารกิจกองกลาง ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เธอทำงาน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ที่ต้องทนเป็นเวลาหลายปีเพราะถูกข่มขู่ว่าหากขัดขืนและแพร่งพรายจะไม่ต่อสัญญา เพราะเธอทำสัญญาจ้างงานแบบปีต่อปี
เธอถูกกระทำเช่นนี้ต่อเนื่องเป็นประจำและพฤติกรรมก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงกับข้ามาล็อกตัวแล้วบีบขยำหน้าอกต่อหน้าธารกำนัลเพื่อนร่วมงาน ทว่าก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเพราะข้าราชการผู้ใหญ่คนนั้นใช้อำนาจข่มขู่เช่นกัน แม้ได้ร้องเรียนภายในหน่วยงานแล้วแต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนทำให้เธอทนไม่ได้อีกต่อไป หลังจากแจ้งความและดำเนินการสอบสวน ไม่เพียงพบว่า มีพนักงานหญิงตกเป็นเหยื่อหลายคน แต่ก็ต้องฝืนทนไม่มีใครลาออก เพราะต้องทำมาหากิน แต่เธอกลับก็ยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะหัวหน้าเธอคนนั้นก็ได้พยายามเข้ามาหา ซ้ำยังมี ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการคนนั้น พยายามเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับเธอหลายรอบเพื่อให้ถอนแจ้งความ
กรณีถัดมา จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสู่รั้วมหาลัย ที่การล่วงละเมิดทางเพศขึ้นระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง มีนักศึกษาหญิงธรรมศาสตร์ดำเนินเรื่องร้องเรียนกับมหาลัยว่า เธอถูกชำเราโดยนักศึกษาชายรุ่นพี่ร่วมคณะ ระหว่างไปนอนหอของเพื่อนซึ่งนอนกันหลายคน หลังกลับจากไปดื่มสังสรรค์จนมึนเมา แม้เธอจะขัดขืนสุดกำลังเท่าที่สามารถจะทำได้ แต่รุ่นพี่ผู้ชายคนนั้นก็ไม่หยุด ซ้ำยังพยายามอยู่หลายครั้ง แต่ที่สุดเธอก็ต่อสู้และหลบหนีออกมาได้ เธอออกมาเปิดเผยและเรียกร้องกับการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนี้อย่างกล้าหาญ และชายที่คุกคามทางเพศเธอนั้นได้รับการลงโทษจากมหาลัย
สิ่งที่เราประทับใจในตัวเธอคือสิ่งที่เธอกล่าวในฐานะผู้เสียหายอย่างสง่างามว่า “เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกอาย คนที่ทำผิดต่างหากต้องเป็นคนที่รู้สึกอาย ไม่ใช่เรา”
การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศไม่เพียงจะเป็นผลลัพธ์ของสังคมไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่เชื่อว่าฝ่ายถูกสอดใส่มีสถานะต่ำกว่าฝ่ายสอดใส่ ผู้หญิงต้องรองรับอารมณ์ใคร่ ความต้องการทางเพศของผู้ชายอันล้นเหลือ ส่วนผู้ชายจะถูกลวนลามอย่างไรก็ได้ไม่สึกหรอ ผุกร่อนหรอก ยังเป็นผลผลิตของโครงสร้างสังคมอำนาจนิยมผู้ใหญ่ผู้น้อย ต่อให้ไม่จำเป็นหัวหน้า มีตำแหน่งชั้นแบบระบบราชการ แค่เป็นรุ่นพี่เกิดก่อนหรือได้เรียนที่นี่ก่อนปี 2 ปี ก็สถาปนาตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าคนมาทีหลัง นึกจะทำอะไรก็ได้ ด้วยระบบสังคมเช่นนี้จากคนธรรมดาก็สามารถอภิเษกตัวเองเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้
ทั้ง 2 เคสนี้เป็นการคุกคามทางเพศเหมือนกันแต่ผลลัพท์ต่างกัน สังคมประณามและพูดถึงฝ่ายชายที่ในเคสแรกมากกว่า และเห็นใจผู้หญิงในเคสที่ 2 น้อยกว่าเคสที่ 1 เพียงเพราะเธอนอนค้างอ้างแรมในที่ที่ไม่ใช่นิวาสถานของเธอเองและไปกินเหล้าเมามาย
ไม่ได้บอกให้ต้องประณามผู้กระทำหรือเห็นอกเห็นใจผู้ถูกกระทำอย่างเท่าๆ กัน แต่การที่ประณามเหยื่อที่ถูกกระทำชำเราว่าทำตัวเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศเอง ก็เป็นการสนับสนุนการข่มขืนชำเราทางอ้อมอันน่าขยะแขยงไม่ต่างการข่มขืนทางกายภาพ
หลายคนก่นด่าสมน้ำหน้าเธออย่างคะนองปากคะนองมือพิมพ์ ตั้งแต่ผู้ชายที่ข่มขืนยังไม่หล่อพอ ไปจนถึงผู้หญิงด้วยกันเองออกมาประณามเธอว่า เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่รักนวลสงวนตัว การที่ให้กำลังใจเธอเท่ากับว่าเข้าข้างผู้หญิงทั้งๆ ที่มีส่วนผิด โยนความผิดให้ผู้ชายรับฝ่ายเดียวเต็มๆ ไหนบอกว่าชายหญิงเสมอภาคแล้วไง
เอิ่ม…ป้าคะมาจากยุคไหนคะ อยู่ไฟแล้วเพ้อหรือเพิ่งออกจากถ้ำเก็บของป่าแล้วไปกินเห็ดเมามาเหรอคะ
บ้างก็ว่า โง่เอง เป็นสาวเป็นแส้ไปเมาห้องเพื่อนต่างเพศสภาวะ จะถูกล่วงละเมิดทางเพศก็เป็นโทษฐานที่ไม่ระวังตัวเองเอง ไว้วางใจมนุษย์ที่ “เป็นสัตว์ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้” ด้วยกันมากเกินไป ไม่เล็งเห็นผลอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะพวกผู้หญิงริเบอรัลซึ่งมักมีความสุ่มเสี่ยงเพราะคิดว่าตนเองมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย จะทำอะไรก็ได้ ไม่สยบยอมปฏิบัติตามกรอบขนบดั้งเดิม เหมือนกับเมื่อปี 2498 หลังจากที่ผู้หญิงตื่นตัวทางการเมือง มีการศึกษา เคลื่อนไหวทางสังคมสิ ทธิเสรีภาพและความเสมอภาคผ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็มีข่าวหนังสือพิมพ์นำเสนอเรื่องผู้หญิงถูกลวงถูกข่มขืน คอลัมนิสต์วิจารณ์ว่า จุดเริ่มต้นของความเสียคนคือผู้หญิงทะนง อวดศักดามากเท่าและเหนือผู้ชาย และสิ่งแวดล้อมเป็นพิษรอบด้าน ผู้หญิงตกเป็นทาสของสังคม จนกลายเป็นสินค้าของตลาดความใคร่ ซึ่งผู้หญิงต้องปรับปรุงตัวเองเป็นหลัก[1]
นี่เท่ากับว่า เพดานความคิดไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นไปจากเมื่อ 60 กว่าปีก่อน
ตรรกะเดียวกับคำพูดประเภท ผู้หญิงที่ถูกลากไปข่มขืน เพราะแต่งตัวโป๊ล่อแหลม จนคนเห็นแล้วยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เหมือนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาพูดถึงคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่าเมื่อ 2557 เป็นนัยว่าเป็นความผิดของนักท่องเที่ยวผู้เสียชีวิตเองที่นุ่งบิกินี และอีกครั้งในปี 2559 กรณีฆ่าข่มขืนคุณครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีคนเดิมก็ได้กล่าวว่า เป็นผลมาจากดารานักร้อง บุคคลมีชื่อเสียงมักแต่งกายวาบหวิว ทำให้กระตุ้นปัญหาการข่มขืน
ผ่านรัฐประหารมา 3 ปีแล้วเราน่าจะรู้ได้แล้วว่า การมีความคิดความอ่านคำพูดคำจาคล้ายประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น่าจะใช่คำชมหรือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอะไร
เพราะถ้าหากคิดเสียเช่นนี้ ผู้หญิงที่ทำมาหากินกลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ หรือเดินในที่เปลี่ยวก็สมควรแก่การถูกฉุดคร่า เพราะผู้หญิงดีๆ ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนไม่ออกไปไหนกลางค่ำกลางคืน ก็รู้อยู่ที่เปลี่ยวๆ ดึกๆ มันอันตรายยังสาระแนจะยุรยาตรแถวนั้นอีก?
ไม่ว่าจะเพราะหวังดีหรือจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สำนึกตรรกะเช่นนี้จึงเป็นการล่วงละเมิดทางเพศทางอ้อม ที่ไม่เพียงตีตราล้อมกรอบว่าผู้หญิงควรเป็นและประพฤติปฏิบัติเช่นไร สมควรอยู่ในเวลาใดสถานที่ใดตามที่กำหนดไม่เช่นนั้นจะถูกข่มขืน ซ้ำยังเป็นการระบุโดยนัยว่าผู้หญิงที่ควรค่าแก่การข่มขืนคือหญิงก๋ากั่น ทำตัวออกไปจากนอกกรอบที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งเท่ากับว่าเปิดโอกาสสร้างความชอบธรรมให้การข่มขืนเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงกลุ่มนี้ เพราะเป็นกระบวนการหนึ่งในการลงโทษทางสังคม
อันที่จริง ไม่ว่าเพศไหนก็มีสิทธิเมา จะแต่งตัวยั่วยิ้ม หรือจะนอนค้างอ้างแรมบ้านเพื่อนคนไหนก็ได้ตราบที่เจ้าบ้านอนุญาต แต่ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น สามารถเที่ยวข่มขืนชำเราลวนลามคนอื่น หรือใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นแล้วอ้างว่าเมาเพื่อปัดความรับผิดชอบปลอบใจตัวเองไม่ให้รู้สึกผิด ขึ้นชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมมันก็ผิดแล้ว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ละเมิดความเป็นมนุษย์ แม้เรามีสิทธิ์หื่นแต่ไม่มีสิทธิ์ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ยินยอม ต่อให้เป็นแฟน หรือแต่งงานกันแล้วก็ไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องเบ่งภูมิอ้างสี่อ้างแปด อ้างทฤษฎีปรัชญาอะไรมาหนุนหลัง อ้างเฟมินิสต์เฟมิหน่อยอะไรเลย หรืออวดศักดาว่าตนเองฉลาดและเหยื่อโง่
มันก็แค่การเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ความเป็นคนแค่นั้นเอง แต่กลับเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญในบ้านนี้เมืองนี้
แต่หากยังเชื่อว่าเหยื่อที่ถูกชำเราเกิดจากความโง่ ทะเล่อทะล่าไม่ระวังตัวเอง ทำตัวเอง เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ไม่เล็งเห็นผลอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็พึงเงียบๆ หุบปาก หรือเก็บนิ้วเก็บมือไปสำเร็จความใคร่คนเดียว ไม่ต้องมาล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นทางอ้อมด้วยการเที่ยวตำหนิเหยื่อข่มขืนชำเราให้เป็นการข่มขืนซ้ำ
เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อันใดแล้ว ยังส่งต่ออันตรายให้กับผู้อื่น ทำให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนชำเรา กว่าจะทบทวนเยียวยาตนเองจนกล้าออกมาพูดในที่สาธารณะ เพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิตนเองแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับคำซ้ำเติมเหยียบซ้ำจากสังคมอีก ยิ่งทำให้เหยื่อไม่กล้าลุกขึ้นสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม แล้วเก็บความรู้สึกตกเป็นเหยื่อและความเสียใจที่ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างไว้เพียงลำพัง ปล่อยให้มันกลายเป็นเสียงเงียบ ซึ่งยิ่งเงียบก็ยิ่งเท่ากับให้การล่วงละเมิดทางเพศสามารถปฏิบัติต่อไปอย่างลอยนวล จนกลายเป็นวัฒนธรรมข่มขืน เพราะเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมไทย
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะรณรงค์ แสวงหามาตรการป้องกันปราบปรามเข้มข้นแค่ไหน การข่มขืนมันจึงไม่หายไป แต่จะยังอยู่ยั้งยืนยงคู่สังคมไทยต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต, และ อวยพร พานิช. 100 ปี ของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ. 2431-2531). กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, น. 39-40.; Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok : Love, Sex, and Popular Culture in Thailand. Chiang Mai, Thailand : Silkworm Book, 2006.