“อาการทางจิตมีอยู่จริงไหม? จับต้องได้ วินิจฉัยได้? บอกได้เลยว่าเป็นโรคจริงไหม?”
คำถามจากมุมมองทางศาสนาและจิตวิญญาณที่มองว่าจิตเป็นสภาวะที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา กว้างขวางไร้ขอบเขต หรือกระทั่งไร้การกำหนดนิยาม ได้ถูกส่งไปยังจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่มาร่วมเสวนาหัวข้อ “เราต่างมีภาวะซึมเศร้าในตัวเอง” ณ สถาบันวัชรสิทธา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา
มันเป็นคำถามเชิงปรัชญาว่าด้วยสภาวะของจิต ระหว่างโลกจิตวิญญาณกับโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่น่าไปด้วยกันได้…
“ตอนผมศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา ไปถึงก็พบว่ามีเพื่อนในชั้นเรียนเคยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 80-90% น่าสนใจมากว่าคนที่เป็นก็พยายามเยียวยาหาจิตแพทย์ แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็มาสนใจปฏิบัติภาวนาที่มหาวิทยาลัยพุทธ เป็นการภาวนาแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเท่าไหร่”
“ผมพบว่าคนพวกนี้มาฝึกภาวนาก็เพื่อจะนิยามตัวเองให้น้อยลง บางทีการนิยามตัวเขาที่วนอยู่กับโรค วนอยู่กับปัญหา มันอาจมีจุดดีที่ทำให้เขาอธิบายตัวเองและคนรอบข้างได้ว่าตัวเอง “เป็นอะไร” แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นกรอบจำกัดเขา เพราะฉันคิดว่าฉันเป็นแบบนี้ ฉันจึงเป็นแบบนี้ แล้วก็วนไป (อย่างที่เรอเน เดการ์ตกล่าวไว้ว่า I think, therefore I am) แต่พอฝึกนั่งภาวนาแบบที่ไม่ได้เป็นศาสนา มันทำให้เขาค่อยๆ หลุดจากคำอธิบายตัวเองบางอย่าง เรียกว่าเป็นการทำงานกับตัวตนก็ได้ ทำงานกับ trauma ก็ได้ ทำงานกับปมปัญหา story line ที่เขาใช้อธิบายตัวเองก็ได้ ถอยจากเรื่องราวเหล่านั้นแล้วทำงานกับตัวประสบการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในเนื้อในตัวของเขาตรงๆ โดยไม่ผ่านคำอธิบาย”
วิจักขณ์ พานิช แห่งสถาบันวัชรสิทธา อธิบายเบื้องหลังคำถามที่เขาตั้งขึ้นกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
แล้วคำตอบของนักจิตวิทยาคืออะไร นอกเหนือไปจากคำตอบที่เดาได้อยู่แล้ว “มีแน่นอน” “ถ้าไม่มี แล้วที่ฉันรักษาคนไข้อยู่ 10 ปีคืออะไร!”
นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ เห็นว่า โรคนี้มีอยู่จริงแต่ในคนที่ไม่ได้เป็นหนักก็อาจสังเกตได้ยาก เพราะอาการของโรคนั้นทับซ้อนกับความปกติ
“เรื่องอารมณ์มนุษย์มีสุขมีเศร้า มันก็มีส่วนคล้ายกับชีวิตทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ป่วยด้วยเช่นกัน คนคนหนึ่งสูญเสียพ่อก็อาจเศร้ามากๆ ได้เช่นกัน มันจึงเริ่มก้ำกึ่งและต้องมีเกณฑ์ที่แบ่งว่าอะไรคือ ‘เยอะเกินไปแล้ว’ เช่น พฤติกรรมที่แสดงออกนานเกินไป แต่ลำพังเกณฑ์นี้อย่างเดียวก็ยังใช้ไม่ได้ มีรายละเอียดการวินิจฉัยอีกมาก”
ขณะที่ นพ.สมรักษ์ สันติเบ็ญจกุล อธิบายว่า จริงๆ แล้ว จิตแพทย์ถือเป็นชายขอบของวงการแพทย์อยู่เหมือนกัน เนื่องจากสาขาอื่นนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์เอามากๆ สามารถตรวจหาความผิดปกติของสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน การนิยามให้เป็น ‘โรค’ เช่น มะเร็ง เบาหวาน จึงไม่ถูกตั้งคำถาม ขณะที่การทำงานของสมองยุ่งยากซับซ้อนกว่ามาก วิทยาศาสตร์แม้จะก้าวหน้ามหาศาลแต่ก็ยังอธิบายสมองได้ไม่หมด ดังนั้น จิตแพทย์จึงต้องอาศัยการสังเกตในพฤติกรรมของคนไข้ผ่านเครื่องมือที่สุดแสนจะพื้นฐาน นั่นคือ ‘การพูดคุย’ เพื่อวินิจฉัยโรคและระดับอาการ
“จิตแพทย์คนด่ากันเยอะว่าวินิจฉัยโรคด้วยความมั่ว (หัวเราะ) เพราะการทำงานของสมองมันไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเหมือนอวัยวะอื่นๆ แต่ในความมั่วนั้นผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วถ้าเราเซนซิทีฟสักหน่อย เราจะสามารถตีความสิ่งที่คนไข้พูด หรือพฤติกรรมที่คนไข้แสดงออกมาเป็นอาการของโรคได้”
“แล้วอาการของโรคมันก็สะท้อนถึงสารเคมีในสมองซึ่งเป็นปลายทางการเกิดโรค ต้นเหตุอาจมาจากฮอร์โมน วงจรการนอน สารอักเสบในร่างกาย หรืออะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งยาในปัจจุบันเป็นยาที่ปรับเรื่องสารเคมี เท่ากับกว่าเรารักษาตามอาการกันอยู่ แต่หากเป็นกรณีที่จุดตั้งต้นเป็นเรื่องสารเคมีผิดปกติ การรักษาด้วยยาก็อาจเป็นการแก้ปัญหา”
นพ.ภุชงค์ เสริมว่า อย่างไรก็ตาม เขาเห็นด้วยว่าผู้คนมัก ‘นิยาม’ ตัวเองตลอดเวลาและมันสัมพันธ์กับการใช้ภาษาอย่างสำคัญ การบอกว่า ‘เป็น’ โรคซึมเศร้าเป็นเพียงการนิยามแบบหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้วก็มีบางช่วงที่จิตใจคนไข้รู้สึกปลอดโปร่ง แต่ในอีกแง่หนึ่งการ ‘เป็นโรคซึมเศร้า’ ก็ช่วยให้คนที่ประสบภาวะนี้ได้สถานะหรืออำนาจต่อรองบางอย่างที่อาจทำให้ชีวิตเขาผ่อนคลายขึ้น เช่น ใบลา หรือสามารถหยุดการบังคับของพ่อแม่โดยให้หมอช่วยคุย
อย่างไรก็ดี โรคซึมเศร้าในทางการแพทย์นั้นมีรายละเอียดมากพอสมควร นพ.สมรักษ์อธิบายว่า บางคนเป็น Major Depressive Disorder ซึ่งเป็นโรคติดตัว เป็นครั้งหนึ่งแล้ว ต่อให้หายได้ก็มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นที่จะเป็นอีก ถ้าพ่อแม่เป็นก็มีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่มีญาติเป็น อีกแบบหนึ่งคือ Minor Depressive Disorder ซึ่งอันที่จริงแล้วนับเป็นคนละโรคกับแบบแรกเพียงแต่สารเคมีเป็นตัวเดียวกัน กระนั้นความเปลี่ยนแปลงของสารเคมีก็ยังไม่มากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบให้ทำงานผิดปกติแบบถาวร ดูง่ายๆ ว่าบางคนเมื่อไรก็ตามที่หยิบเรื่องเครียดออกได้ก็จะหายเป็นซึมเศร้า
“แต่เวลาคุยกับหมอ ถามหมอว่าเป็นโรคอะไร หมอก็ต้องบอกว่าโรคซึมเศร้า แต่สำหรับผม ถ้าเป็นกรณีหลังผมจะพยายามอธิบายกับคนไข้ว่า คุณเป็นซึมเศร้าเพราะมีเรื่องเครียด หากเอามันออกได้คุณก็หายเป็นปกติ มันเหมือนเป็นหวัดน่ะ” นพ.สมรักษ์กล่าว
ขณะที่นักจิตวิทยาอย่างสมภพ แจ่มจันทร์ แห่ง Knowing Mind Group มองว่าบางครั้งการนำโรคซึมเศร้ามานิยามตัวเองสะท้อนว่าเราเห็นมันเป็นสภาวะที่ถาวร เป็นการยอมรับกลายๆ ว่าเป็นสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ทั้งที่หลายครั้งมันอาจเป็นเพียง ‘อาการ’ และไม่มีความจำเป็นต้องเอาคำนี้มานิยามตัวเองเลย
เขายังตั้งคำถามถึงเส้นแบ่ง ความมีอยู่จริง ความเลื่อนไหล ของ ‘ความปกติ’ กับ ‘ความผิดปกติ’ โดยยกตัวอย่างคู่มือการวินิจฉัยในวงการจิตเวช (DSM) ว่า ฉบับก่อนๆ อธิบาย depression ว่าเป็นเพราะวัยเด็กมีประสบการณ์ความเจ็บปวดบางอย่าง แต่เวอร์ชั่นหลังพูดถึงเพียง ‘อาการร่วม’ เพราะสรุปได้แล้วว่าหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด หรือแม้แต่ประเด็นเพศสภาพ ที่เมื่อก่อนกำหนดให้การเป็นเกย์เป็นจิตเภทแบบหนึ่งแต่แล้วเมื่อวงการแพทย์หาความ ‘ผิดปกติ’ เชิงกายภาพไม่ได้และสังคมเคลื่อนไปในทิศทางเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น มันก็ถูกถอดออกนิยามความเจ็บป่วย เขาจึงสรุปว่า ความผิดหรือไม่ผิดปกติเป็นเพียงการประกอบสร้าง (construct) อาจมีอยู่จริงบางส่วน ไม่จริงบางส่วน
สมภพ ขยายความว่า ในมุมมองทางจิตวิทยา วันๆ หนึ่งเราจะมีความคิดวนเวียนอยู่ 3 รูปแบบคือ บวก ลบ หรือเป็นกลาง คนแต่ละคนจะสร้างแบบแผนทางความคิดขึ้นมาเอง เมื่อเราทำหรือคิดอะไรซ้ำๆ มันก็เป็นนิสัยจนแบบแผนนั้นติดแน่น ยากที่จะกระโดดไปแบบอื่น และแน่นอนว่า คนที่เป็นซึมเศร้านั้นมักตกร่องความคิดทางลบ
“พวกเขาคาดหวังว่ายาอาจจะช่วยให้คลายแล้วไปคิดทางบวกได้มากขึ้น แต่ยาไม่ได้ช่วยให้หาย ยาช่วยให้คุณฟังก์ชั่นมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นยาอาจจะช่วยพาไปได้ไม่ไกลพอ อาจต้องคุยกับนักจิตบำบัดด้วยเพื่อให้เห็นว่าอะไรคือกรอบความคิด หรือแบบแผนความคิดของคุณ เพื่อจะพาตัวเองออกไปจากการตกร่องนั้น”
“ดังนั้น เรื่องนี้ถ้าเราไม่ตั้งต้นด้วยตัวเอง แล้วไปตั้งต้นที่อื่นไม่ว่า สารสื่อประสาทผิดปกติ พ่อแม่เลี้ยงไม่ดี แฟนเฮงซวย ถ้าเราเอาแต่มองไปข้างนอกมันก็จะไม่มีทางแก้อะไรได้เลย ต้อง depend on (ขึ้นอยู่กับ) อะไรอยู่ร่ำไป แต่ถ้าเราคิดว่ามันมีจุดตั้งต้นบางอย่างที่เราสามารถทำงานด้วยได้ มันอาจเปลี่ยนไป แม้จะรับประกันความสำเร็จไม่ได้ในทุกคน” สมภพกล่าว
โลกของจิตเป็นสภาวะ ‘ภายใน’ ที่กว้างใหญ่ไพศาล ขณะที่โรคซึมเศร้าก็สัมพันธ์กับ ‘ภายนอก’ เช่น โครงสร้างสังคม สถาบันครอบครัว ค่านิยม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับต่างๆ ที่สลับซับซ้อนด้วยเช่นกัน ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคม การปะทะกันระหว่าง ‘โลกเก่า’ กับ ‘โลกใหม่’ ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ อาจทำให้ปัจเจกบุคคลถูกแรงกดจากบางสิ่งบางอย่างที่มองไม่เห็น
ตัวอย่างคลาสสิกนั้นมาจากปากคำของ ทราย เจริญปุระ นักแสดงที่กล้าเปิดเผยประสบการณ์ซึมเศร้าและแรงกดดันจากครอบครัวอันเป็นปัญหาร่วมของคนจำนวนมาก เธอเล่าว่า ตั้งแต่เด็กเธอไม่เคยเข้าใจทำไมพ่อแม่ลูกเขาอยากไปกินข้าวนอกบ้านกัน เพราะสำหรับเธอ การชวนไปกินข้าวคือ สั่งอะไรเองก็ไม่ได้ ชุดเลือกเองก็ไม่ได้ ร้านเลือกเองก็ไม่ได้ “ทรายไม่เคยอยากออกไป เพราะมันไม่สนุกเลย”
“ไม่รู้ว่าเราเป็นตัวเร่งให้แม่ป่วยหนักขึ้นและเขาก็เป็นตัวเร่งให้เราป่วยหนักขึ้นหรือเปล่า แน่นอน พ่อแม่ก็บอกว่าพ่อแม่ทำด้วยความรัก ความเป็นห่วง ถามว่าเราต้องขอบคุณความเป็นห่วงแบบนั้นที่ทำให้เราป่วยหรือเปล่า หรือจริงๆ เราเอาแต่โทษแม่ เราอาจจะป่วยของเราอยู่แล้วโดยไม่ต้องโทษแม่ก็ได้” ทรายกล่าว
“ตัวอย่างของการที่พ่อแม่คนไทยสามารถเป็นห่วงเป็นใยลูกได้โดยไม่มีลิมิต ขอถามว่าหากอยู่ใน setting แบบนั้นจะทำอย่างไร เข้าใจอยู่ว่า ต่อให้เราโทษสังคมหรือสิ่งอื่นแค่ไหนก็ทำอะไรกับมันไม่ได้มากเท่ากับที่เราเลือกที่จะทำงานกับตัวเอง แต่การมองแบบนั้นมากเกินไป ทำให้ละเลยปัญหาที่มันใหญ่กว่านั้นหรือเปล่า?”
นี่เป็นคำถามทิ้งท้ายจากผู้ฟังเสวนาท่านหนึ่ง ไม่ใช่คำถามเฉพาะกับผู้ประสบภาวะซึมเศร้า แต่น่าจะเป็นคำถามสำหรับเราทุกคน