ถ้าสรุปอย่างสั้นๆ Miranda July คือนักเขียน, ผู้กำกับภาพยนตร์, มือเขียนบท และศิลปินชาวอเมริกัน ผู้มักจะถูกจดจำในฐานะภาพแทนของ ‘ฮิปสเตอร์’ อยู่บ่อยๆ
ขยายรายละเอียดของชีวิตเธออีกสักหน่อย หญิงสาวผมสีน้ำตาลหยิกฟู ผู้มาพร้อมดวงตาสีฟ้าสว่าง และการแต่งกายที่แม้จะเรียบง่าย ทว่าสอดแทรกไว้ด้วยเอกลักษณ์ผู้นี้ เดิมทีชื่อของเธอคือ Miranda Grossinger ครับ พ่อแม่ของ July เป็นนักเขียนทั้งคู่ มันจึงไม่แปลกที่เธอจะเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้หลงใหลในการเขียน และนามสกุล July เองก็มาจากตัวละครหนึ่งที่เธอเคยเขียนในนิตยสารสมัยเรียนอยู่ไฮสคูลครับ
July เติบโตขึ้นในเมือง Berkeley รัฐ California เรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่ University of California, Santa Cruz ซึ่งก็เป็นช่วงนี้แหละครับ ที่วีรกรรมของ July ได้กลายเป็นที่จดจำและกลายเป็นที่พูดถึง ว่าเธอนี่แหละคือฮิปสเตอร์ตัวจริง จากการที่เธอลาออกจากมหา’ลัยอย่างปัจจุบันทันด่วนขณะเรียนอยู่ปี 2 แล้วย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมือง Portland รัฐ Oregon มุ่งมั่นในสาย performance art อย่างจริงจัง และซึ่งหนึ่งในผลงานที่ส่งให้ชื่อของ July เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น คือโครงการภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า Joanie4Jackie ครับ
ในปี 1995 ขณะที่ July ได้ย้ายมาอยู่ที่ Portland แล้ว เธอได้ทดลองทำในสิ่งที่นิยามได้ว่า ‘วิดีโอเฟมินิสต์แบบลูกโซ่’ ขึ้นครับ ซึ่งเจ้าวิดีโอลูกโซ่ที่ว่านี้ (ในทีแรกใช้ชื่อว่า Big Miss Moviola ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Joanie4Jackie ในภายหลัง) คือความพยายามที่ July ต้องการจะสื่อสารไปถึงฮอลลีวูดและวงการภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้น ที่ไม่ค่อยจะสนใจและให้ความสำคัญกับผู้หญิงสักเท่าไร อีกทั้งตัว July เองยังหวังว่าโครงการวิดีโอลูกโซ่นี้จะช่วยเปิดพรมแดนการสื่อสารระหว่างผู้หญิงด้วยกัน เกิดบทสนทนาที่กระตือรือร้น และอาจถึงขั้นช่วยกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงและการวิพากษ์ต่อวิธีการที่ผู้หญิงถูกปฏิบัติในสังคม ว่าแต่มันคืออะไรกันล่ะ
กระบวนการของ Joanie4Jackie มันเป็นอย่างนี้ครับ มันเริ่มจากที่ July ร่อนใบปลิวไปให้กับศิลปินและผู้กำกับภาพยนตร์หญิงหลายๆ คน ขอให้พวกเขาส่งวิดีโอทำมือขนาดสั้นมาให้เธอ พร้อมทั้งเงินอีก 5 เหรียญ เพื่อที่ July จะนำวิดีโอที่ได้มาตัดต่อและร้อยเรียงเข้าด้วยกันในโครงการที่ (ขณะนั้น) ใช้ชื่อว่า Big Miss Moviola ครับ
ผลปรากฏว่า เจ้าโปรเจกต์ทำมือนี้ดันฮิตติดลมบน วิดีโอจำนวนกว่า 200 ชิ้นถูกส่งมาให้ July อย่างต่อเนื่อง และไม่ได้สิ้นสุดลงแค่ในปีนั้น หากถูกทยอยส่งมาอยู่เรื่อยๆ แม้ในอีกหลายปีให้หลัง จนในปี 2002 July สามารถผลิตภาพยนตร์ทำมือออกมาได้มากถึง 13 ฉบับเลยทีเดียว
ชื่อของ Miranda July กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในปี 2005 เมื่อ ‘Me and You and Everyone We Know’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเธอได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance และได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้มหลาม ไม่เพียงเท่านั้น แต่เธอยังพาภาพยนตร์เรื่องนี้ไปคว้ารางวัล Caméra d’Or (รางวัลที่ให้กับภาพยนตร์เรื่องแรก) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีเดียวกันนั้นอีกด้วย
Me and You and Everyone We Know บอกเล่าเรื่องราวของ Richard เซลส์แมนขายรองเท้า ที่ยังต้องรับภาระเป็นพ่อหม้ายลูกสอง อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ได้พบกับ Christine (รับบทโดย Miranda July เอง) ศิลปินสมัครเล่น จนเกิดเป็นความสัมพันธ์โรแมนติกระหว่างทั้งคู่ขึ้นมา
ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นจะอยู่ที่การเล่าเรื่องราวง่ายๆ ผ่านตัวละครที่ต่างเป็นแค่คนสามัญธรรมดา และผ่านพฤติกรรมของพวกเขาที่อาจถูกมองว่าเพี้ยนๆ บ้าๆ ซึ่ง July ก็ได้พาเราไปสำรวจความบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นความเก่งกาจในฐานะนักเล่าเรื่องของ July จากการที่เธอจงใจใส่ sub-plot มาหลายเส้นเรื่อง หากก็ยังสามารถจัดระเบียบและควบคุมความสะเปะสะปะเหล่านี้ไว้ได้อย่างอยู่มือ
กระโดดออกจากโลกภาพยนตร์ มาสู่ฝั่งวรรณกรรมกันบ้าง ด้วย July เองก็ได้ฝากชื่อเสียงในฟากนี้ไว้อย่างโดดเด่นไม่แพ้กัน ด้วยไม่ว่าจะเป็นผลงานรวมเรื่องสั้นอย่าง No One Belongs Here More Than You หรือนวนิยายเรื่อง The First Bad Man นั้นต่างได้รับคำชื่นชม พอๆ กับที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือขายดี
ผมยังไม่เคยอ่าน The First Bad Man เลยอาจพูดถึงหนังสือเล่มนั้นได้ไม่ดีนัก แต่กับ No One Belongs Here More Than You นั้น เรียกได้อย่างเต็มปากเลยครับว่าตกหลุมรักมันอย่างเต็มเปา
อย่างที่พูดไปว่ามันคือรวมเรื่องสั้น แต่สิ่งที่ส่งให้งานเขียนชิ้นนี้มีเอกลักษณ์อย่างที่ชวนให้หลงไหล ไม่เพียงจะฝังอยู่ในพรสวรรค์ทางการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนภายใต้ฉากหน้าอันเรียบง่ายเท่านั้น แต่โครงสร้างที่เรื่องสั้นหลายๆ เรื่องของ July ที่มีร่วมกัน คือจุดแข็งที่ผลักให้เราร่วงหล่นไปในโลกที่เธอรังสรรค์ได้อย่างไม่ยากเย็น
ความโศกเศร้า หงอยเหงา ของเหล่าผู้คนที่เลือกใช้ชีวิตอย่างแปลกแยกและโดดเดี่ยว คือจุดร่วมที่ว่า
ตัวละครในโลกของ July นั้นล้วนแต่แบกรับความผิดหวังและไม่พึงพอใจต่อความล้มเหลวที่พวกเขาอาจไปเป็นได้อย่างที่ฝัน เหมือนเหล่านางฟ้าหรือเทวดาที่ถูกถีบร่วงจากสวรรค์ ล้วนแล้วแต่วาดภาพต่อความเป็นไปได้ที่ฟุ้งเฟ้อชวนฝัน เพียงเพื่อจะพบว่าในชีวิตจริงนั้น พวกเขาต่างล้มเหลว และผุพัง เป็นเพียงซากปรักหักพังที่เปล่าเปลียวเดียวดาย
ผ่านเรื่องสั้นต่างๆ ใน No One Belongs Here More Than You ไม่เพียงแค่ July จะยั่วล้อกับความหิวกระหายต่ออาการฝันกลางวันของตัวละครต่างๆ เท่านั้น แต่เธอยังคอยเล่นสนุกกับความคาดหวังของคนอ่าน July เก่งกาจในการสรรสร้างเรื่องราวธรรมดาๆ หลอกล่อให้เราตายใจว่าไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่านี้หรอก ก่อนที่ฉับพลันนั้นเธอก็หักพวงมาลัยไปอีกทาง และตีแสกหน้าคนอ่านด้วยจุดพลิกผันที่ยากจะคาดเดา
อ่านถึงตรงนี้คุณอาจพอเห็นภาพคร่าวๆ ของ Miranda July ในฐานะนักเขียน, ผู้กำกับภาพยนตร์, มือเขียนบท และศิลปินแล้ว แต่แม้บริบทแวดล้อมที่ต่างทำปฏิกิริยาต่อตัวเธอจะสร้างภาพจำให้ July เป็นภาพแทนของฮิปสเตอร์ กระนั้นมันก็สุดแล้วแต่สายตาของใครจะนิยาม และไม่ว่าวีรกรรมหรืองานศิลปะต่างๆ จะส่งให้ภาพว่าเธอเป็นคนคูล ฮิป เท่ ขนาดไหน ทว่าหากพิจารณาจากผลงานต่างๆ ของเธอ ถอดรื้อมายาคติ และภาพจำของ July ออกไป เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เธอหลงใหลแท้จริงแล้วคือการคอยเฝ้ามองความเป็นไปของชีวิตอย่างละเอียดและใส่ใจ สังเกตความเป็นไปของมนุษย์ด้วยสายตาที่ไม่ตัดสิน ทั้งยังเข้าอกเข้าใจ
ก็เพราะเป็นซะอย่างนี้แล้วจะไม่ให้ผมตกหลงรักผลงานของ Miranda July ได้ยังไงล่ะครับ