สายตาของโมนาลิซ่าจับจ้องมาข้างหน้า ริมฝีปากของเธอยกเหยียดขึ้นน้อยๆ เผยให้เห็นรอยยิ้มที่สะกดคนทั้งโลกให้อยู่ภายใต้มนตร์เสน่ห์ของเธอมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
ย่อหน้าด้านบนอาจฟังดูเหมือนเรากำลังบรรยายภาพวาด Mona Lisa (1503-1507) ของจิตรกรชั้นบรมครูอย่างเลโอนาร์โด ดา วินชี แต่อันที่จริง เรากำลังพูดถึงภาพวาด Mona Lisa (1978) ของ ศิลปินร่วมสมัยชาวโคลอมเบียน—เฟร์นานโด โบเตโร ซึ่งมีรายละเอียดเช่นเดียวกับโมนาลิซ่าของดาวินชีทุกประการ เว้นก็เพียงแต่ใบหน้าอันอวบอิ่มและคางอันกลมกลึง อันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะแบบโบเตริสโม (Boterismo) ซึ่งก็มีโบเตโรคนเดียวนี่แหละที่สร้างงานศิลปะแนวนี้
โบเตโรถือกำเนิดในเมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย แววศิลปินของเขาฉายชัดแต่เด็ก ทว่าความขัดสนทำให้เขาถูกส่งไปเรียนเป็นนักสู้วัว แต่แทนที่จะไปสู้วัว เด็กหนุ่มกลับไปวาดรูปวัว แล้วไปฝากขายที่ห้องขายตั๋ว รูปวาดของเขาขายได้ในราคา 2 เปโซ ซึ่งแม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยนิด แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าเขาสามารถเอาดีทางด้านนี้แถมหาเงินจากมันได้อีกด้วย
หนุ่มน้อยโบเตโรจึงลาออกจากโรงเรียนสู้วัว แล้วไปทำงานในหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง โดยเขาทั้งเขียนบทความและวาดรูป ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งภาพวาดชิ้นหนึ่งของเขาไปชนะรางวัลสำคัญระดับประเทศเข้า โบเตโรจึงหอบหิ้วเงินรางวัลที่ได้ มุ่งหน้าสู่ยุโรปเพื่อศึกษาผลงานของจิตรกรเอกในภูมิภาคดังกล่าว
วันหนึ่งขณะเดินผ่านร้านหนังสือในมาดริด โบเตโรเห็นหนังสือศิลปะเล่มหนึ่งวางอยู่ โดยกางหน้าที่มีภาพถ่ายของจิตรกรรมเฟรสโก Procession of the Queen of Sheba; Meeting between the Queen of Sheba and King Solomon (1452-1466) ของปีเอโร เดลลา ฟรานเชสกา (Piero della Francesca) จิตรกรคนสำคัญในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี
“ภาพจิตรกรรมเฟรสโกนั้นเปิดมุมมองของผม และปีเอโรก็เปลี่ยนชีวิตผม ผมเห็นภาพนั้นและคิดว่ามันคือสิ่งที่สวยที่สุดที่ผมเคยเห็น ผมไม่อยากเชื่อว่าไม่เคยได้ยินชื่อปีเอโรมาก่อน วันรุ่งขึ้นผมจึงซื้อหนังสือเล่มนั้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลที่ผมมีต่อศิลปะอิตาลี โดยเฉพาะความน่าปรารถนาและความเย้ายวนของรูปทรง” โบเตโรให้สัมภาษณ์กับ artnews.com
โดย ‘ความน่าปรารถนาและความเย้ายวนของรูปทรง’ ที่โบเตโรพูดถึงก็ไม่ใช่อะไรนอกจากความโค้งมนและความกลมกลึงนั่นเอง
“จิตรกรที่ยิ่งใหญ่ล้วนวาดความกลมกลึง มีเกลันเจโลเอย บอตติเชลลีเอย และถ้าผมจะวาดผลส้ม ผมจะทำให้มันมีความหนาแน่น มันเป็นวิธีการแสดงความเย้ายวนในแบบของผม”
หนังสือเล่มนั้นชักนำให้เขาเดินทางไปอิตาลีเพื่อศึกษางานของศิลปินชาวอิตาเลียน นับแต่นั้นเองโบเตโรจึงเริ่มวาดภาพหรือสร้างประติมากรรมที่ ‘อวบอ้วน’ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย สัตว์ สิ่งของ ทุกสิ่งในจักรวาลของโบเตโรล้วนแล้วแต่เป็นไซส์ XXL ทั้งสิ้น ราวกับเขากำลังบอกว่าขนาด XXL นี่แหละที่เป็นค่ากลาง เป็นขนาดปกติทั่วไป และเป็นความสามัญธรรมดาของชีวิต (บางคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า หรือโบเตโรจะมี fetish ชอบสาวอ้วน แต่หวานใจในชีวิตจริงเขาก็หุ่นผอมบางนะจ๊ะ)
อย่างไรก็ตาม ศิลปินชาวโคลอมเบียนยืนยันว่าเขาไม่ได้วาดความ ‘อวบอ้วน’ แต่วาด ‘ปริมาตร’ (volume) ในการสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์สเปน El Mundo โบเตโรกล่าวไว้ว่า
“ไม่ค่อยมีคนเชื่อผมนักหรอก แต่มันเป็นเรื่องจริงนะ สิ่งที่ผมวาดคือปริมาตร เวลาผมวาดภาพหุ่นนิ่ง ผมจะใส่ปริมาตรเข้าไป หรือเวลาผมวาดภาพสัตว์ ภาพวิวทิวทัศน์ ผมก็ใส่ปริมาตรเข้าไปเหมือนกัน ผมสนใจในปริมาตร—ในความเย้ายวนของรูปทรง”
โบเตโรมักวาดรูปที่เรียบง่าย เช่น ภาพพอร์เทรต ภาพชีวิตประจำวันของชาวลาตินอเมริกัน ภาพครอบครัวในอิริยาบถต่างๆ โดยใช้สีสันสดใส จัดจ้าน ผลงานของเขาจึงเข้าถึงง่ายและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตของคนทั่วไป เขาจึงเป็นที่ชื่นชอบทั้งในหมู่นักวิจารณ์ศิลปะ (บางส่วน) และในหมู่คนธรรมดาทั่วไปที่อาจไม่ได้แบกความรู้ทางวิชาการเอาไว้เต็มบ่า
“ศิลปะควรเป็นเหมือนโอเอซิส เป็นสถานที่ซึ่งคุณสามารถหลีกหนีความขมขื่นของชีวิตได้” เขาว่า
แต่ถึงจะพูดเช่นนั้น โบเตโรก็วาดภาพที่สะท้อนความขมขื่นของชีวิตเช่นกัน อันเป็นอิทธิพลจากการศึกษาภาพจิตรกรรมเชิงการเมืองของศิลปินชื่อดังชาวเม็กซิกัน Diego Rivera เช่น Death of Pablo Escobar (1999) ซึ่งเป็นรูปเจ้าพ่อยาเสพติด (ผู้เป็นคนบ้านเดียวกัน—เมเดยิน เช่นเดียวกับโบเตโร) ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต และผลงานชุด Abu Ghraib (2015) ซึ่งแสดงภาพความรุนแรงที่ทหารอเมริกันกระทำต่อนักโทษชาวอิรักในเรือนจำชื่อ Abu Ghraib โดยจินตนาการจากข่าวที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์
“ศิลปินสามารถทำให้คุณเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นได้” โบเตโรอธิบาย
ทุกวันนี้เขามีอายุกว่า 80 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และความ ‘เข้าถึงได้และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตของคนทั่วไป’ อันเป็นเสน่ห์ก็ยังคงไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะในยุคที่การมองร่างกายในเชิงบวก (body positivity) เป็นประเด็นที่ผู้คนถกเถียงในในวงกว้าง หลายคนหยิบยกภาพนู้ดของหญิงสาวเจ้าเนื้อของโบเตโรมาเป็นตัวแทนของความรักและความมั่นใจในร่างกายของตน
เพราะหากสังเกตดีๆ หญิงสาวหุ่นอวบอั๋นในภาพวาดของโบเตโรนั้นล้วนโพสต์ท่าด้วยสีหน้าและท่าทางสุดแสนจะมั่นใจ พวกเธอมองตรงมาข้างหน้าอย่างไม่กริ่งเกรงว่าใครหน้าไหนจะคิดอย่างไรกับร่างกายของเธอ หรือบางครั้งเธอก็พิจารณาตัวเองในกระจก ราวกับกำลังบอกรักร่างกายตัวเองผ่านสายตาที่แสดงความชื่นชม
แม้กระทั่ง Cathy Miller ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Politics of Size: Perspectives from the Fat Acceptance Movement (2014) ซึ่งเป็นดั่งไบเบิลของนักเคลื่อนไหวการมองร่างกายเชิงบวก ยังกล่าวถึงผลงานของโบเตโรไว้ว่า “แล้วอะไรล่ะที่จะช่วยให้คุณเรียนรู้ที่จะรักร่างกายตัวเอง—ก็ต้องรายล้อมตัวเองด้วยรูปภาพของผู้คนหลากหลายไซส์ และสำเริงสำราญในศิลปะอันมหัศจรรย์และเย้ายวนของโบเตโร”
นอกจากนี้ Carmen Maria Machado นักเขียนเจ้าของผลงาน Her Body and Other Parties (2017) ยังเขียนไว้ในบทความชื่อ The Trash Heap Has Spoken ได้อย่างน่าสนใจว่า “ความแตกต่างระหว่างผู้หญิงอ้วนและผู้หญิงที่มีปริมาตรคืออะไรน่ะหรือ จริงอยู่ที่โบเตโรพูดเช่นนั้นเพื่อปกป้องผลงานของตัวเอง แต่โดยบังเอิญเขาได้สอนให้เราพิจารณาร่างกายของตัวเองในมุมมองใหม่ ความอ้วนเกิดจากกระบวนการภายในของร่างกาย ผลลัพธ์ของการแตกตัวของสารเคมีที่ทำดันให้ตัวของเราขยายออก ทว่าปริมาตรคือการใช้พื้นที่บนโลกใบนี้ แทนที่สิ่งที่อยู่รายล้อมด้วยร่างกายของเรา”
เช่นนี้เอง แม้จะผ่านเวลามาหลายสิบปีแล้ว ผลงานของโบเตโรจึงยังคงเชื่อมโยงกับผู้คนได้ เพราะในขณะที่ศิลปินเอกใส่ปริมาตรเข้าไปในผลงาน เขาก็ได้เพิ่มพื้นที่ว่างสำหรับการต่อยอดและตีความอันไม่รู้จบเข้าไปด้วย
ใครอยากเห็นผลงานของโบเตโรด้วยตาของตัวเอง สามารถแวะไปดูประติมากรรมรูปม้าตัวอวบอ้วนที่หน้าห้างเซ็นทรัลเอมบาสซีได้นะ
อ้างอิง