คงเพราะในปีพุทธศักราช 2562 ผมได้ผูกสัมพันธไมตรีกับอดีตนางงามมิตรภาพบนเวทีประกวดนางสาวไทยเมื่อราวหกปีก่อน ผนวกความสนใจผู้หญิงในโฉมหน้าประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิม จึงบันดาลให้มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าเรื่องราวการประกวดสาวสวยแห่งวันวานขึ้นมาอีกหน
มูลเหตุที่เกิดกิจกรรมประกวดนางงามในเมืองไทยก็สืบเนื่องมาจากงานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นทุกเดือนธันวาคมภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกสุดเริ่มจัดปลายปี พุทธศักราช 2475 ส่วนเวทีประกวดสาวงามในงานเพิ่งเริ่มริเมื่อปีพุทธศักราช 2477 เจ้าหล่อนผู้สวมมงกุฎจะถูกเรียกขานว่า ‘นางสาวสยาม’
ธันวาคม พุทธศักราช 2562 ยังปรากฏสาวไทยเข้าร่วมประกวดนางงามระดับโลกหลากหลายเวทีและก่อกระแสเกรียวกราว ปวีณสุดา ดรูอิ้น เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายเวทีประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe 2019) ขณะ แอนโทเนีย โพซิ้ว ได้สวมมงกุฎมิสซูปราเนชันแนล (Miss Supranational 2019) มิหนำซ้ำ เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ ก็ได้สวมมงกุฎมิสอินเตอร์เนชั่นแนล (Miss International 2019)
การประกวดนางงามมีอะไรๆ ให้บอกเล่าเยอะแยะมิสิ้นสุด แต่ที่ผมใคร่นำเสนอสู่สายตาคุณผู้อ่านคราวนี้ ได้แก่ วรรณกรรมที่อาศัยฉากบรรยากาศการประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญต้นทศวรรษ 2480 มาดำเนินเรื่อง นั่นคือ นางสาวสยาม
ผลงานประพันธ์ความยาวเกือบ 90 หน้าของ โสภา เสาวลักษณ์ ตีพิมพ์เผยแพร่ปีพุทธศักราช 2481 โดยคณะ (หรือสำนักพิมพ์) วัฒนารมณ์ อันมีนาย สุดใจ นุชกำเนิด เป็นเจ้าของ สำนักงานตั้งอยู่โรงพิมพ์ไทยพานิช ถนนรองเมือง ซอย 3 พระนคร โทรศัพท์ 30675 ผู้พิมพ์โฆษณาคือ เหม เวชกร จำหน่ายราคาเล่มละ 15 สตางค์
โสภา เสาวลักษณ์ยังสร้างสรรค์นวนิยายอีกเรื่องคือ เต้นรำสวมหน้ากาก ซึ่งจะเผยแพร่ในงานเต้นรำสวมหน้ากากฉลองรัฐธรรมนูญวันพุธที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2481
การโลดแล่นบนหน้ากระดาษของ นางสาวสยาม ย่อมยืนยันหนักแน่นว่าคนไทยสมัยปลายทศวรรษ 2470 ต้นทศวรรษ 2480 นิยมชมชอบการประกวดนางงามอย่างมาก และมองในฐานะกิจกรรมสลักสำคัญของชาติ จนถึงขั้นนักประพันธ์หยิบยกรายละเอียดมาแต่ง ‘เรื่องอ่านเล่น’
โสภา เสาวลักษณ์แบ่งเนื้อหานวนิยายออกเป็น 7 บท ประกอบด้วย เพ็ชร์ในโคลน, ชุบมนุษย์, นางสาวคนใหม่, แมลงภู่กับดอกไม้งาม, เศรษฐีหนุ่ม, เวทีแห่งนางงาม และ ความรักบริสุทธิ์
เริ่มที่บทแรก ‘เพ็ชร์ในโคลน’ เปิดเรื่องให้ตัวละคร บรรเลง ไกรลาสน์ รับคำสั่งจากสำนักหนังสือพิมพ์ ข่าวด่วน ให้มาสืบสวนกรณีฆาตกรรมลึกลับ ณ โกตาบารู ผู้ตายซึ่งถูกหญิงสาวยิงปลิดชีพมีนามว่า หลวงเทพฯ พ่อค้ายางพาราและบุคคลสำคัญของจังหวัดยะลา พอลงรถไฟสถานีไม้แก่นสุดแสนกันดาร ก็ต้องเดินเท้าจนเหนื่อยหอบไปยังตัวอำเภอ บรรเลงพบว่านายอำเภอที่นั่นชื่อ คร้าม คล่องวิทย์ ผู้สนิทสนมคุ้นเคยกัน เขาจึงพำนักบ้านคร้ามตลอดช่วงลงพื้นที่หาเบาะแสคดี นักสืบข่าวชาวพระนครไม่เพียงได้ข้อมูลและภาพถ่ายการฆาตกรรมครบถ้วน หากสายตาสะดุดเข้ากับรูปงามของสาวรุ่นวัย 15 คนหนึ่งซึ่งเขาคิดว่าเป็นลูกหรือหลานนายคร้าม ทว่าเธอคือลูกปลัดอำเภอที่ “แม่ตายตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ ส่วนพ่อตายเมื่อ ๓ ปีมาแล้ว” คร้ามเลยรับเลี้ยงไว้
บรรเลงเอ่ยปากถามนายอำเภอวัยกลางคน ไฉนจึงไม่พาเธอออกโชว์ ช่างน่าเสียดายความสวย ทีแรกคร้ามนึกว่าจะให้ควงเธอออกงานในฐานะเมีย จึงปฏิเสธว่าทำไม่ได้ เกรงเสียชื่อ คนหนุ่มหัวเราะ “ไม่ใช่อย่างนั้น คุณเข้าใจผิด ผมหมายความว่าส่งเข้าประกวดนางงาม ทำไมคุณจึงไม่ส่งเข้าประกวดให้เปนนางสาวยะลา แล้วก็ส่งเข้าประกวดนางสาวสยามเลยทีเดียว ผมว่ามีหวังมากนาคุณนา” นายอำเภอเห็นพ้องแต่มิวายกังวล “…มันต้องวิ่งเต้นกันโกลาหล ผมวิตกว่าจะเหลวเสียแหละมาก รูปร่างหน้าตาก็พอจะไปได้ แต่ความเปนบ้านนอกนี่ซิจะทำให้หมดหวัง”
บรรเลงเสนอตัวว่าจะนำไปเธอฝึกหัดและส่งประกวดนางงามเวทีงานฉลองรัฐธรรมนูญในนามหนังสือพิมพ์ เพราะแลเห็นบุตรสาวปลัดลักษณะ “ผิวพม่า หน้าเจ๊ก นัยน์ตาแขก” เขาคาดหวังสร้างเธอให้โด่งดัง คร้ามอดสงสัยมิได้ สาวสวยในกรุงเทพฯ น่าจะมากมาย ทำไมมาหลงใหลรูปโฉมแม่สาวบ้านนอกกลางดง นักสืบข่าวชาวพระนครแจงเหตุผลว่า “คนสวยในกรุงเทพฯ มีมากจริงแต่จะหาให้สวยถึงขนาดเยี่ยมได้ยาก คนที่พยายามจะสวยก็อัดแอทีเดียว ถ้าจะพูดกันอย่างจริงใจละก็ คนสวยในกรุงเทพฯ น่ะ ดูกันเพียงผาดๆ แหละดี หากจะดูพิศกันจริงๆ ละก็จะเห็นที่ตำหนิมากขึ้นทุกที เพราะอาศัยเครื่องสำอางกันมาก จะสวยธรรมชาติแท้ๆ ไม่ค่อยมี ผมก็ตามีศิลป์คนหนึ่ง พยายามมองหน้าคนสวยๆ ยังไม่เจอ มาพบเห็นคนของคุณเข้านี่แหละ เห็นว่าเข้าที ถ้ามีโอกาสก็จะส่งเข้าประกวดเถอะครับ เอาชื่อให้ยะลาสักทีเถอะ”
บรรเลงรับรองแข็งขัน ถ้าคร้ามให้หญิงสาวมาอยู่กับเขาที่พระนคร ก็จะดูแลอย่างดีในฐานะน้องสาว ไม่ให้เธอเสียหายด่างพร้อย พร้อมทั้ง “…ผมจะส่งแกเข้าประกวดนางสาวสยาม เงินรางวัลที่จะได้รับและมงกุฎ พร้อมด้วยเกียรติยศเปนของแกทั้งสิ้น ผมไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าชื่อเสียงของหนังสือพิมพ์ ที่ผมกำลังทำงานอยู่” กระนั้น นายคร้ามขอปรึกษาเจ้าตัวหล่อนเสียก่อน
การเจอแม่สาวชาวโกตาบารู ถ้าลองเปรียบเปรยตามอารมณ์เพลง ชินกร ไกรลาศ
เยี่ยง เพชรร่วงในสลัม ความรู้สึกของบรรเลง ไกรลาสน์ก็เหมือน
ได้พบเพชรค่าล้นร่วงในถิ่นแดนกันดารกระมัง
ถัดมาบทที่สอง ‘ชุบมนุษย์’ ณ กรุงเทพฯ บรรเลงเสนอต่อบรรณาธิการเรื่องจะส่งแม่สาวชาวโกตาบารูเข้าประกวดนางงาม ครั้นถูกถามทำนองว่าสาวบ้านนอกมีรึจะสู้สาวกรุงได้ นักสืบข่าวหนุ่มกล่าวแกมหัวเราะ “พลอยดีๆ มาจากกาญจนบุรี ทองคำนพเก้ามาจากบางสะพาน ทำไมคนสวยจะมาจากบ้านนอกมั่งไม่ได้ เพ็ชร์ก็มาจากภูเขานะคุณนะ ผมว่าหล่อนนี้เป็นเพ็ชร์อยู่ในโคลนเทียวนา ถ้าได้มาจารนัยใหม่ละก็ เปนเพ็ชร์น้ำหนึ่งทีเดียว ผมเชื่อว่านัยน์ตาของผมไม่เลว เด็กคนนี้ทรวดทรงงามราวกับนางเอกภาพยนตร์ที่ว่ากันว่างาม ผิวละเอียด หน้ารูปไข่ นัยน์ตาดำ ผมก็เปนนักดูผู้หญิงเก่งคนหนึ่งเหมือนกันนะ” พอโน้มน้าวบรรณาธิการจนคล้อยตาม บรรเลงก็เฝ้ารอจดหมายนายคร้าม ล่วงสองสัปดาห์ไม่มีข่าวคราว ชวนให้เชื่อว่านายอำเภอไม่พึงประสงค์ให้หญิงสาวมาอยู่กับเขาแน่ๆ จวบหนึ่งเดือนผ่านไป ในวันศุกร์เขาได้รับโทรเลขฉบับหนึ่งจากยะลาเขียนว่า “ส่งมาให้แล้ว ไปรับที่สถานีรถด่วนวันเสาร์_คร้าม”
วันเสาร์ก่อนเที่ยง บรรเลงไปคอยขบวนรถด่วนสายใต้ที่ชานชาลาสถานีหัวลำโพง เขาเผชิญหน้ากับแม่น้อย หญิงสาวแต่งกายบ้านๆ ลงมาจากรถไฟชั้นสามพร้อมกระเป๋าเดินทางเก่าๆ และชะลอม เธอเหลียวมองรอบๆ หน้าตาล่อกแล่ก ไม่มีหนุ่มพระนครคนใดแยแสสนใจเธอสักนิด นักสืบข่าวคว้ากระเป๋าและชะลอมมาถือ แม่น้อยเอะอะพูดสำเนียงภาษาใต้ว่าจะถือเองจนใครๆ หันมามอง เขาจึงรีบพาตัวเธอมาขึ้นรถยนต์กลับบ้าน
ขณะรถแล่น แม่น้อยหยิบจดหมายของคร้ามมอบให้ ชายหนุ่มอ่านเนื้อความดูทราบว่านายอำเภอไตร่ตรองอยู่นาน แต่ที่ยอมส่งตัวมาเพราะไว้ใจในความเป็นสุภาพบุรุษ และอีกข้อคือแม่น้อยมักถูกลูกสาวคร้ามกลั่นแกล้งรังแกเพราะมีหน้าตาสะสวยกว่า เมียคร้ามก็เข้าข้างลูกตน ส่วนแม่น้อยเองเต็มใจเพราะอยากมาเห็นกรุงเทพฯ
บรรเลงสั่งแม่น้อยเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เขาสนับสนุนให้เธอรู้จักแต่งกายและเสริมสวย พยายามฝึกหัดกิริยาสารพัด ทั้งนั่ง ยืน เดิน และรับประทานอาหาร สอนเธอใช้คำว่า ‘ค่ะ’ แทน ‘จ๊ะ’ เรียกตัวเองว่า ‘ดิฉัน’ แทน ‘ฉัน’ ดัดสำเนียงเพี้ยนแปร่งแบบคนใต้มาเป็นสำเนียงชาวกรุง พร้อมเปลี่ยนชื่อเธอใหม่จาก ‘น้อย’ เป็น ‘พรรณพิม’ หญิงสาวชอบชื่อนี้ เธอเรียกบรรเลงว่า ‘พี่’ ยามไปไหนมาไหน เขาก็เป็นคนพาไป หัดขึ้นรถราง แวะร้านอาหารจีน บ่อยครั้งเธอเผลอทำแต้มทำเปิ่นๆ ทำท่าทางตื่นๆ เมืองหลวงจนชาวกรุงหัวเราะเยาะคิกๆ (เช่น ตักเกลือป่นมาใส่กาแฟ) นักสืบข่าวหนุ่มยังพาเธอไปชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดเพื่อให้เธอเรียนรู้จากหนังแล้วนำมาพัฒนาตนเอง
บทที่สาม ‘นางสาวคนใหม่’ บรรเลงพาพรรณพิมไปเปิดตัวออกงานสังคมหนแรกในงานทำบุญวันเกิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แขกรับเชิญเป็นพวกข้าราชการและคหบดี ที่งานเลี้ยงดาษดื่นสาวๆ แต่งตัวสวยๆ พอนักสืบข่าวหนุ่มได้เห็นสาวโกตาบารูแต่งกายและเสริมสวยแบบสาวกรุงเข้าก็ “…นึกกระหยิ่มใจ เขาได้เห็นผู้หญิงสวยที่ได้รับความยกย่องว่างามเลิศมาแล้วหลายคน และนางสาวทุกจังหวัดที่เคยส่งเข้าประกวดนางงามเมื่อปีที่แล้วๆมา ไม่มีจนคนเดียวที่จะต้านทานพรรณพิมคนนี้ได้”
พรรณพิมกลายเป็นเป้าสายตาใครต่อใครทั้งงาน บรรเลงบอกคนอื่นๆ ว่าเธอคือน้องสาว แต่เพื่อนๆ แอบกระซิบ “…ถามจริงๆ เถอะ น้องหรือชิ้นของแกแน่?” (คำว่า ‘ชิ้น’ ยุคนั้นหมายถึง ‘คู่รัก’) นายเสริมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ข่าวด่วน ตะลึงงันในความงามสะพรั่งของพรรณพิม บอกว่ายินดีสนับสนุนส่งเข้าประกวด แต่เก็บเป็นความลับไว้ก่อน กำชับให้บรรเลงพาเธอออกงานสังคมบ่อยๆ ปลุกให้มีชื่อเสียงอวลตลบหอมฟุ้ง ทว่าเธอต้องควบคุมอาหาร หุ่นจะได้ไม่อ้วนไม่ผอม เหลือเวลาอีก 7 เดือนกว่าจะถึงวันรัฐธรรมนูญ หากทางอำเภอและห้างร้านต่างๆ มาติดต่อขอตัวไปส่งเข้าประกวดก็บอกปัดปฏิเสธว่าอายุเธอยังไม่เต็ม 15 ปี ในงานวันนั้นพรรณพิมเดินเคียงคุณนายถนอม เมียนายเสริม ปล่อยนักสืบข่าวไปสังสรรค์กับเพื่อนพ้อง มีหนุ่มๆ มาเดินตามเธอบ้าง เดินคู่บ้าง และขอให้คุณนายถนอมช่วยแนะนำ เอื้อนเอ่ยถ้อยคำเยินยอว่าเธอเป็นเทพธิดา พรรณพิมนึกรำคาญ เธอไม่อยากอยู่ห่างบรรเลงสักนาที
ล่วงสู่บทที่สี่ ‘แมลงภู่กับดอกไม้งาม’ พรรณพิมอยู่บ้านบรรเลงนานครึ่งปี การอบรมบ่มเพาะทำให้เธอไม่ตื่นกรุงอีกและกล้าไปซื้อผ้าที่พาหุรัดเองเพียงลำพังได้ เธอกลายเป็นสาวเนื้อหอม หนุ่มๆ แวะเวียนมารุมเกี้ยวพาราสี บางคนเขียนจดหมายส่งไปรษณีย์มา พรรณพิมรายงานเรื่องที่ผู้ชายมาจีบเธอทั้งหมดต่อพี่ชาย (ก็คือ บรรเลง) โดยละเอียดไม่ปิดบัง นักสืบข่าวสอนให้เธอรู้เล่ห์เหลี่ยมของผู้ชาย ถ้ามีหนุ่มๆ ตามเกาะแกะก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เขาเรียกผู้ชายพวกนี้ว่า “นักต้มหมู” จะเข้ามาหาประโยชน์และล่อลวงทำลายผู้หญิง วันข้างหน้าค่อยมีความรักและให้เลือกคนที่มอบรักแท้ คนที่จริงใจคอยช่วยเหลือไม่หวังผลใดใด ตอนเย็นของแต่ละวัน บรรเลงมักพาพรรณพิมไปเที่ยวสวนลุมพินี นั่งม้าหินใต้ร่มไม้ ซื้อถั่วคั่วมาเต็มถุงกระดาษ ชวนพูดคุยพลางขบเปลือกถั่วออกกินพลาง หญิงสาวปลื้มเปรมเหลือเกินที่ได้มาสวนแห่งนี้พร้อมชายหนุ่ม บรรเลงพาพรรณพิมไปถ่ายภาพตามร้านถ่ายรูปต่างๆ ซึ่งภาพเธอประดับโชว์ไว้หน้าร้านเหล่านั้น นักสืบข่าวยังนำภาพเธอไปลงตามหน้าปกสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ แม่น้อยจากโกตาบารูกลายเป็นหญิงสาวที่หนุ่มพระนครใฝ่ฝันถึงและเพียรตามหาว่าเป็นใครกัน
นางสาวสยาม ยิ่งทบทวีความน่าอ่านในบทที่ห้า ‘เศรษฐีหนุ่ม’ นั่นเพราะวันหนึ่งพรรณพิมมีเหตุให้ต้องไปซื้อผ้าที่พาหุรัดโดยมิได้ขออนุญาตบรรเลง เธอเผลอชนชายหน้าตาสวย (พูดแบบภาษาปัจจุบันก็คือรูปหล่อ) คนหนึ่ง ซึ่งเขาจำได้ว่าเคยเห็นเธอในหนังสือพิมพ์จึงเข้ามาเกี้ยวพาราสี หญิงสาวทำตามคำสั่งบรรเลงคือนิ่งเฉยไม่พูดอะไร ชายหนุ่มแนะนำตัวว่าชื่อ เชลง ดารารัตน์และไม่ยอมหยุดตามจีบ เธอนึกขันในใจแต่กลั้นหัวเราะ กระทั่งเธอขึ้นรถราง เขาก็ขับรถยนต์ตอนเดียวแล่นตามรถรางมาและบีบแตร พรรณพิมคิดว่าชายหนุ่มคนนี้มิแคล้ว “นักต้มหมู” เชลงขับรถตามเธอมาถึงบ้าน น่าแปลกที่เธอมิได้รายงานให้บรรเลงทราบพฤติการณ์ของชายแปลกหน้า
รุ่งขึ้นรถยนต์ตอนเดียวแวะเวียนมาหน้าบ้านอีก หญิงสาวใจอ่อนบ้าง เธอเห็นว่าเชลงมิใช่คนเลวร้ายอะไร ครั้น 4-5 วันต่อมา พรรณพิมแอบไปร้านผ้าที่พาหุรัด คราวนี้เธออดมิได้ที่จะสนทนากับเชลง คุยกันเพลินไม่จบจนรถรางผ่านไปหลายคัน นับจากวันนั้น เธอออกมาซื้อผ้าบ่อยๆ และไม่บอกบรรเลง นับวันก็ยิ่งทวีความสนิทกับเชลงถึงขั้นวางใจยอมให้ขับรถยนต์มาส่งที่บ้าน ไปดูหนังรอบบ่ายด้วยกัน ไปเที่ยวบ้านเชลง ผู้เป็นบุตรชายพระยาและเป็นมหาเศรษฐี เรื่องเหล่านี้บรรเลงมิได้ล่วงรู้เลย คราวหนึ่งเชลงขับรถพาพรรณพิมไปเที่ยวสวนลุมพินีและสารภาพรักเธอ หญิงสาวปฏิเสธเพราะเธอรู้ดีว่าจะต้องเข้าประกวดนางสาวสยาม จะมีความรักมิได้ แต่เธอก็ให้ความหวังแก่เชลง
โสภา เสาวลักษณ์เน้นอาศัยฉากและเผยรายละเอียด
การการประกวดนางงามไว้ในบทที่หก ‘เวทีแห่งนางงาม’
กล่าวคือ พอใกล้วันงานฉลองรัฐธรรมนูญเดือนธันวาคม บรรเลงจัดแจงทำหลายสิ่งที่เอื้ออำนวยให้พรรณพิมเพิ่มโอกาสได้สวมมงกุฎนางสาวสยาม เช่น ให้ดูแลผิวพรรณ ให้หัดนุ่งผ้าแบบเดียวกับที่ใช้ในวันประกวดแล้วหัดเดินให้คล่องแคล่ว หัดแต่งกายติดผ้าแถบ นักสืบข่าวหนุ่มยังเพียรออกสืบว่ามีหญิงสาวคนใดถูกส่งเข้าประกวดบ้าง พร้อมทั้งตามไปดูรูปโฉมตัวจริงให้ประจักษ์ชัดสายตาตนเอง เขาไม่เชื่อภาพถ่าย เพราะ “…เจ๊กที่ร้านถ่ายรูปสามารถตกแต่งคนที่ไม่สวยให้สวยมาเสียมากต่อมาก สิวหรือแผลเปนบนดวงหน้าเหล่านี้ เจ๊กลบได้หมด และผิวกายอันแท้จริง รูปถ่ายจะบอกเหมือนกันหมดว่า เปนคนผิวขาวนวล” ผลการสำรวจสาวๆ ผู้เข้าประกวดในพระนครและธนบุรี ทั้งแม่กัณหานัยน์ตาชั้นเดียว แม่มณฑาใส่ฟันทอง ร้านตัดเสื้อตึกแถวหลังวัดสระเกศ บรรเลงมั่นใจว่าพรรณพิมสวยที่สุด ทางด้านนางงามต่างจังหวัด เขาให้เครือข่ายช่วยสืบ ฟังผลทางโทรเลขน่าพอใจว่าไม่มีสาวใดเทียบพรรณพิมของเขาได้ ไม่ว่าจะสาวเชียงใหม่ ลำปาง เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และจังหวัดอื่นๆ
เนื้อหาตรงส่วนนี้ ผมมองว่าถ้อยคำที่ผู้ประพันธ์ใช้บรรยายมีสุ้มเสียงหมิ่นแคลนหญิงสาวไปสักหน่อย เช่น ว่าแม่มณฑาใส่ฟันทอง “แกคงจะหุบปากตลอดเวลาไม่งั้นถูกหักหมาย” ว่าสาวเหนือเป็นพวก “ลาวปนเจ๊ก” และถ้อยคำในโทรเลขที่บอกลักษณะสาวต่างจังหวัดเป็น “อาบิสซิเนีย” ซึ่งน่าจะหมายถึงสาวผิวดำ ไม่สวย สะท้อนค่านิยมที่มีต่อชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ปรากฏในยุคนั้น
ซึ่ง ‘อาบิสซิเนีย’ ปัจจุบันคือ เอธิโอเปีย
อ้อ! หญิงสาวที่สวมมงกุฎนางงามจักรวาลคนล่าสุด (Miss Universe 2019) ก็คือนางงามชาวแอฟริกาใต้นาม โซซิบินิ ทุนซี (Zozibini Tunzi)
วกย้อนมาพิจารณา นางสาวสยาม กันต่อ บรรเลงส่งชื่อพรรณพิมเข้าประกวดนางสาวสยามในวันสุดท้ายของการรับสมัคร เขาได้ทราบว่าหญิงสาวอีกคนที่ถูกส่งชื่อวันเดียวกันรูปโฉมงามมากๆ สวยไม่แพ้พรรณพิม เธอชื่อ รจนา
ก่อนถึงวันประกวด เชลงขับรถยนต์มาจอดหน้าบ้าน เศรษฐีหนุ่มรู้ว่าผู้หญิงที่เขาหลงรักกำลังจะเข้าชิงตำแหน่งนางสาวสยาม บรรเลงเห็นเชลงเข้าจึงออกไปไล่ เกรงเป็นพวกคู่แข่งที่คิดร้าย
พรรณพิมขึ้นเวทีนางงามในคืนวันที่สามของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในบรรดาหญิงสาวที่เข้าประกวดทั้งหมด กรรมการคัดเลือกเข้ารอบ 4 คนไว้ประกวดคืนวันสุดท้าย แน่นอนมีรจนา หมายเลข 2 และพรรณพิม หมายเลข 5 ทั้งสองคือตัวเก็งที่โดดเด่น
ในรอบตัดสินของคืนสุดท้าย กรรมการให้สาวงามเดินโชว์เดี่ยวบนเวที พอ “หมายเลข ๒ ออกเดิน เสียงปรบมือดังสนั่นทั่วบริเวณ ไฟฉายกลาดตามร่างอันชดช้อยของรจนา รูปร่างนั้นงามจริง หลายคนติว่าเดินช้าไปหน่อย ใครๆ ก็ยอมรับว่ารจนาสวย…” แม้หล่อนจะเดินหลังงอไปหน่อย
ส่วนหมายเลข 5 “เสียงปรบมือดังสนั่นบริเวณ อย่างพร้อมเพรียงราวกับนัด เมื่อพรรณพิมเริ่มออกเดิน ไฟฉายกราดตามร่าง เสียงปรบมือไม่น้อยกว่าคราวของรจนา ท่วงทีการเดินของพรรณพิมก็ชดช้อยและผึ่งผายในแบบเดียวกับที่รจนาทำมาแล้ว พรรณพิมกวาดตามองไปทั่วบริเวณซึ่งอยู่ในที่มืด หล่อนตาลายจนไม่รู้ว่าใครๆ เปนใคร เมื่อเดินมาถึงตอนโค้งของเวที หล่อนสังเกตเห็นผู้ที่นั่งอยู่ในเก้าอี้หมู่หน้าเวทีซึ่งพอจะเห็นหน้าถนัดด้วยแสงไฟ ในจำนวนนั้น พรรณพิมเห็นเชลงนั่งอยู่ดูด้วยความเอาใจใส่ เขายิ้มให้หล่อนก่อน และชวนพรรคพวกของเขาปรบมือให้ พรรณพิมยิ้มรับอย่างอ่อนหวาน เปนยิ้มที่สดชื่นเกิดจากน้ำใสใจจริง” รวมทั้ง “พรรณพิม ชายตามาทางบรรเลง หล่อนรู้ว่าเขานั่งอยู่ที่ไหน หล่อนยิ้มให้อย่างสดชื่น เปนยิ้มที่บริสุทธิ์เต็มไปด้วยความปีติยินดี เปนยิ้มที่ชักจูงให้เกิดเสียงปรบมือสนั่น”
คณะกรรมการยังตัดสินไม่ได้ จึงให้สาวงามหมายเลข 2 และหมายเลข 5 เดินโชว์เดี่ยวอีกหนเพื่อการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่ ท้ายสุดรอยยิ้มคือสิ่งชี้ขาด เพราะ “รจนาสวยไม่ใช่เล่น แต่หน้าติดจะบึ้งไปสักหน่อย และถึงคราวที่ยิ้มก็ยิ้มไม่อ่อนหวานได้เท่ายิ้มของพรรณพิม ท่วงทีการเดินพรรณพิมก็มีสง่าดีกว่า…” ขณะ “พรรณพิมกวาดสายตาซึ่งมีประกายคมของหล่อนไปทั่วและที่จะไม่ลืมก็คือการโปรยยิ้ม เสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหวแสดงว่าความเอาใจใส่ของมหาชนที่มีต่อหล่อนยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น” พรรณพิมยิ้มให้เชลงอย่างอ่อนหวานและยิ้มให้บรรเลง “…อย่างปลาบปลื้มใจ เพราะเขาผู้นี้แท้ๆ หล่อนจึงได้มาเดินกรายอยู่บนเวทีสำหรับสาวงามโดยฉะเพาะ” ตอนแม่สาวโกตาบารูโปรยยิ้ม บรรเลงเริ่มสงสัยว่าชายหนุ่มอีกคนที่เธอยิ้มให้เป็นใคร
ผลการตัดสินออกมาว่าผู้สวมมงกุฎนางสาวสยามคือพรรณพิม บรรเลงยินดีปรีดาเริงโลด คราวนี้เธอจะเก็บตัวอยู่ที่บ้านอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
ในบทที่เจ็ด ‘ความรักบริสุทธิ์’ เชลงถือโอกาสหมั่นเกี้ยวพาราสีพรรณพิมมากขึ้น ส่วนบรรเลงเดิมทีเขาตั้งใจว่าพอแม่สาวโกตาบารูได้ครองตำแหน่งนางสาวสยาม เขาจะสารภาพรักเธอ แต่เขาล่วงรู้แล้วว่าบัดนี้เชลงกำลังปรารถนาเป็นคนรักของพรรณพิม และดูเหมือนเธอจะเล่นด้วย
เศรษฐีหนุ่มชวนนางสาวสยามไปเที่ยวหัวหิน แม้นักสืบข่าวห้ามปรามแต่เธอยืนยันจะไป เขาจึงลางาน 7 วันตามไปหัวหินด้วย เชลงยังชวนพรรณพิมไปเที่ยวต่อที่ปีนังและสิงคโปร์ บรรเลงสั่งห้ามเด็ดขาด แต่พรรณพิมก็ยังจะไปให้ได้ บรรเลงหนีกลับจากหัวหินและเขียนจดหมายสารภาพรักทิ้งไว้ พรรณพิมอ่านเนื้อความแล้วสำนึกได้ เธอบอกเชลงว่าไม่ได้รักเศรษฐีหนุ่ม แท้จริงเธอรักบรรเลง
หญิงสาวรีบกลับพระนคร ตามหาบรรเลงที่ไหนก็ไม่พบ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เธอฉุกคิดว่าควรจะไปสวนลุมพินี ที่นั่น เธอสุดแสนดีใจเมื่อเห็นชายหนุ่มนั่งม้าหินใต้ร่มไม้ เธอเอ่ยปากสารภาพว่าเธอรักบรรเลง แต่ไม่แน่ใจเพราะคิดว่าเขามองเธอแค่น้องสาว ผู้ประพันธ์ปิดฉากนวนิยายอย่างน่ารักคือให้พรรณพิมซื้อถั่วคั่วมาฝาก เธอกล่าว “ดิฉันรู้ว่าพี่ชอบมาก” จากนั้น “บรรเลงแก้ห่อถั่วออก เขาแกะถั่วคั่วใส่ปากและเคี้ยวกินอย่างอร่อย พรรณพิมก็ควักถั่วมาแกะกินเช่นเดียวกัน ความหม่นหมองได้จากไปแล้ว คงเหลือแต่ความสุข และจะเปนความสุขอันไม่มีที่สิ้นสุด.”
นางสาวสยาม ของโสภา เสาวลักษณ์ มิพ้น ‘เรื่องอ่านเล่น’ ที่แต่งขึ้นตามจินตนาการ เพราะผู้คว้าตำแหน่งนางสาวสยามประจำปีพุทธศักราช 2481 ตัวจริงคือ พิสมัย โชติวุฒิ หญิงสาวจากบ้านทวาย กรุงเทพฯ ปีนั้นนับเป็นปีแรกสุดที่มีตำแหน่งงรองนางสาวสยามอีก 4 คน
ส่วนนางสาวสยามประจำปีพุทธศักราช 2480 คือ มยุรี วิชัยวัฒนะ สาวชาวอยุธยา และนางสาวสยามช่วงปลายทศวรรษ 2470 (พุทธศักราช 2477-2479) ก็ล้วนสาวชาวพระนคร ไม่มีสาวใดมาจากโกตาบารูหรือเป็นหญิงสาวภาคใต้เลย
ปีพุทธศักราช 2481 คือปีสุดท้ายที่มีการประกวด ‘นางสาวสยาม’ ครั้นปีพุทธศักราช 2482 ก็เปลี่ยนไปใช้ชื่อว่าการประกวด ‘นางสาวไทย’
ผมใคร่เสริมเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อีกนิด ช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงปีพุทธศักราช 2483 แฟนๆ นางงามยุคนั้นมักตั้งข้อสังเกตว่าหญิงสาวผู้ได้สวมมงกุฎนางสาวสยาม ในชื่อ-นามสกุลของเธอจะต้องมีตัวอักษร ว.แหวน ซึ่งพอไล่เรียงชื่อ-นามสกุลนางสาวสยามก็ดูเหมือนว่าจะชวนน่าเชื่อไม่น้อย แต่ละคนล้วนมี ว. ประกอบอยู่ในชื่อ อันได้แก่ กันยา เทียนสว่าง (พุทธศักราช 2477) วณี เลาหเกียรติ (พุทธศักราช 2478) วงเดือน ภูมิรัตน์ (พุทธศักราช 2479) มยุรี วิชัยวัฒนะ (พุทธศักราช 2480) และพิศมัย โชติวุฒิ (พุทธศักราช 2481) กระทั่งชื่อนางสาวไทยคนแรกสุดคือ เรียม เพศยนาวิน (พุทธศักราช 2482) ก็มี ว.
เล่าขานกันอีกว่าในปีพุทธศักราช 2483 เมื่อแฟนๆ นางงามเห็นชื่อผู้เข้าประกวดนางสาวไทยก็กล้าฟันธงเลยว่า หญิงสาวผู้สวมมงกุฎคงมิแคล้วนางสาว สว่างจิตต์ คฤหานนท์ แน่ๆ เพราะชื่อมีตัวอักษร ว. และปีนั้น นางสาวสว่างจิตต์ก็ได้เป็นนางสาวไทยจริงๆ
กระแสเรื่องหญิงสาวชื่อ-นามสกุลมีตัวอักษร ว.แหวนจะได้เป็นนางงามค่อยๆ จางหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนภายหลังสงครามสงบ หญิงสาวที่ได้สวมมงกุฎนางสาวไทยมักจะมีตัวอักษร อ. อยู่ในชื่อ-นามสกุลแทน
นางสาวสยาม ของโสภา เสาวลักษณ์ ถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นหมุดหมายยุคแรกเริ่มของผลงานวรรณกรรมที่นำเอาบรรยากาศและรายละเอียดการประกวดนางงามในเมืองไทยปลายทศวรรษ 2470 ต้นทศวรรษ 2480 มาถ่ายทอดผ่านนวนิยาย
ถ้าพิสมัย โชติวุฒิ ครองตำแหน่งนางสาวสยามคนสุดท้ายของไทยในความเป็นจริง บางทีพรรณพิม แม่สาวจากโกตาบารูก็สวมมงกุฎนางสาวสยามคนสุดท้ายของไทยในโลกนวนิยาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ลาวัณย์ โชตามระ. เพชรประดับ. พระนคร : คลังวิทยา, 2508
- สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ. 2477-2530). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531
- โสภา เสาวลักษณ์. นางสาวสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพานิช, 2481
- อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติจากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต ๑๓ นางสาวไทยยุคแรก. กรุงเทพฯ : รวมทรรศน์, 2533