บรรพบุรุษของสารพัดเวทีการประกวดนางงามระดับชาติในบ้านนี้ เมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นมิสไทยแลนด์เวิลด์, มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ หรือมิสแกรนด์ไทยแลนด์ (ชื่อตำแหน่งฟังดูไท้ยยไทยทั้งนั้นเลยนะครับ แหม่!) ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 เมื่อครั้งที่ประเทศไทย ยังใช้ชื่อว่าประเทศสยาม ตำแหน่งนางงามที่สวยที่สุดบนเวทีประกวด และประเทศสยาม ณ เรือน พ.ศ. นั้น จึงใช้ชื่อตำแหน่งว่า ‘นาวสาวสยาม’ ยังไม่ใช่ ‘นางสาวไทย’
และถึงแม้ว่านางสาวสยามในยุคคุณทวด จะยังไม่ได้ถูกส่งไปชิงตำแหน่งในระดับนานาชาติ เช่น ตำแหน่ง ‘นางงามจักรวาล’ ในปัจจุบัน แต่กว่าที่บรรดาสาวงามแต่ละนางจะไฝว้กัน มาจนชิงตำแหน่งนางสาวสยามได้ก็ลากเลือดไม่ใช่เล่นๆ นะครับ เพราะในช่วงระยะเวลาของการประกวด ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำระหว่างทุกวันที่ 10-12 ธันวาคม จะมีสาวงามจากจังหวัดต่างๆ จากทั่วทั้งประเทศมาประชัน เฉพาะในการแข่งขันซีซั่นแรก คือในปี 2477 นั้นว่ากันว่ามี สาวงามเข้าร่วมแข่งขันถึง 50 คนเลยทีเดียว
ส่วนที่เขาต้องมาเริ่มจัดประกวดกันในวันที่ 10 ธันวาคม ก็เป็นเพราะเมื่อแรกที่มีการจัดประกวดนางสาวสยาม รัฐบาลของสยามประเทศใน พ.ศ. นั้นท่านต้องการฉลองครบรอบ 2 ปีรัฐธรรมนูญ หลังจากประเทศสยามพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2475 และเมื่อเป็นโอกาสพิเศษขนาดนี้แล้ว รัฐท่านก็อยากจะมีอะไรที่มันชวนให้กระชุ่มกระชวยทั้งหัวใจ และสายตา กับประชาชนชาวสยามเสียหน่อย
(อันที่จริงแล้ว การประกวดนางงามในครั้งนั้นมีการประกวดเป็นซีรีส์ เริ่มตั้งแต่ การประกวดนางสาวธนบุรี ในวันที่ 8 ธันวาคม การประกวดนางสาวพระนคร ในวันที่ 9 ธันวาคม ก่อนที่ประกวดเวทีใหญ่คือ นางสาวสยาม เป็นเวทีสุดท้ายในวันที่ 10-12 ธันวาคม นั่นแหละ)
สถานที่จัดงานประกวดนางสาวสยามครั้งแรก เขาจัดกันที่ อุทยานสราญรมย์ (คือสวนสาธารณะสราญรมย์ ในพระราชวังสราญรมย์ปัจจุบัน) ข้างวัดโพธิ์ ซึ่งก็นับได้ว่า เป็นสถานที่ชิคๆ และดูเป็นบูทีคสไตล์ประจำยุคสมัยนั้นนะครับ
สาวงามที่เข้าร่วมการประกวดจะต้องเดินผ่านสายตาของคณะกรรมการ ตั้งแต่รอบแรกในวันรัฐธรรมนูญ คือวันที่ 10 ธันวาคม แต่ส่วนจะมีการตอบคำถามสวยๆ ให้ดูรักเด็ก รักสิ่งแวดล้อม หรือแสดงความสามารถพิเศษอะไรเหมือนอย่างในปัจจุบันหรือเปล่านั้น ไม่ได้มีบันทึกอะไรพอจะให้สืบสาวกันได้ชัดๆ และกว่าที่จะตัดสินหากันได้ในรอบสุดท้ายก็ปาเข้าไปในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งก็จะมีผู้รับตำแหน่ง นางสาวสยาม เพียงตำแหน่งเดียว ไม่มีรองนางงามอะไรทั้งนั้น
สำหรับคอสตูมที่สาวๆ ในยุคโน้นเค้าใช้สวมใส่ในการประกวดนั้นเป็น ชุดไทย ทับด้วยผ้าสไบห่มพาดเฉียง ท่อนล่างเป็นนุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า เรียกได้ว่า เป็นคอสตูมที่เวรี่ไท้ยยไทย สมกับที่เป็นการประกวดนางสาวสยาม
น่าเสียดายนะครับที่ไม่มีบันทึกเหลือเอาไว้เลยว่า นอกจากคอสตูมไทยๆ ที่ว่าแล้ว สาวๆ ผู้เข้าประกวดในครั้งกระโน้นเธอต้องสวมชุดอะไรกันบ้าง รู้ก็แต่ยังไม่มีการสวมชุดว่ายน้ำ ให้หนุ่มๆ ได้กระชุ่มกระชวยสายตากันอย่างในปัจจุบันนี้ เช่นเดียวกับที่ไม่มีข้อมูลระบุว่า ใครเป็นคนส่งสาวสวยพวกนี้เข้าประกวด และมีสปอนเซอร์สนับสนุนความงามไม่ว่าจะเป็น เสื้อ ผ้า หน้า และผมจากไหนบ้าง?
อย่างเดียวที่มีข้อมูลระบุชัดก็คือ รางวัลที่นางสาวสยามจะได้รับเท่านั้นนะครับ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย มงกุฎที่ตัวโครงทำด้วยเงิน หุ้มกำมะหยี่ ปักด้วยดิ้นเงินและเพชร, ล็อกเกตทองคำสำหรับห้อยคอ, ขันเงิน (อ่านถูกแล้วนะครับ นางสาวสยามในยุคโน้นพอร้องไห้ ปาดน้ำตาแห่งความปีติ จากนั้นก็ยิ้มสวยรับสวมมงกุฎเสร็จแล้ว ก็ต้องรับขันเงินไปถือไว้ ก่อนที่จะหันมาโบกมือบ๊ายบายให้กับกองเชียร์ โดยถือขันไว้ในมือนั่นแหละ) ที่มีข้อความสลักชื่อนางสาวสยาม 2477
แต่รางวัลที่น่าสนใจที่สุดกลับเป็น เข็มกลัดทองคำลงยาอันเล็กๆ เท่านั้นนะครับ
เพราะเข็มกลัดอันนั้นสลักไว้ด้วยข้อความที่ว่า ‘รัฐธรรมนูญ 77’ เรียกได้ว่า ต้นกำเนิดของการประกวดนางสาวไทย (ในสารพัดชื่อ สารพัดเวที) นั้น สัมพันธ์อยู่กับรัฐธรรมนูญของสยามประเทศอย่างไม่รู้จะปฏิเสธไปทำไมนั่นเลย
ชื่อ ‘นางสาวสยาม’ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็น ‘นางสาวไทย’ เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศ แล้วเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ มาเป็น ‘ไทย’ เมื่อ พ.ศ. 2482 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่บรรดาน้องๆ ผู้เข้าประกวดนางงามรุ่นทวดในยุคกระโน้น ต้องไฝว้กันในคอสตูมที่แตกต่างไปจากเดิม
พ.ศ. 2482 เป็นปีแรกที่สาวๆ ต้องเปลี่ยนมาใส่ชุดเสื้อกระโปรงติดกันอย่างสาวสมัยใหม่ เวรี่ศิวิไลซ์ในครั้งนู้น แต่ยังไงก็คงความไท้ยยไทย ไว้ด้วยวัตถุดิบที่ตัดเย็บขึ้นจากผ้าไหม นอกจากนี้ยังมีชุดที่โชว์ความเซ็กซี่อย่างเสื้อที่เปิดหลัง สวมคู่กับกางเกง หรือกระโปรงที่ยาวแค่เข่า ไม่ใช่ซิ่นยาวกรอมเท้าเมื่อยุคของนาวสาวสยาม จนกระทั่งในปีต่อมาคือ พ.ศ. 2483 จึงได้เพิ่มให้มีการสวมใส่ชุดกีฬากับกางเกงขาสั้น และเสื้อแขนกุดเปิดหลัง ขึ้นมา
คอสตูมที่เปลี่ยนไปจากนางสาวสยาม มาเป็นนางสาวไทย สัมพันธ์กับแนวคิดในการสร้างความเป็นไทย ในยุคของท่านผู้นำแปลก พิบูลสงคราม แบบไม่ต้องสืบเลยนะครับ
จอมพล ป. ท่านประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ ‘สยาม’ ให้เป็น ‘ไทย’ ในประกาศที่เรียกว่า ‘รัฐนิยม’ ซึ่งก็คือประกาศของทางการ เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชน ที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม ที่มีออกมา 12 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2482-2485
รัฐนิยมฉบับแรก ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็น ‘วันชาติ’ ของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญคือการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม มาเป็นไทยนั่นเอง
และในบรรดารัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ก็มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ว่าด้วยการแต่งกายที่เป็นอารยะของชาวไทย คือ ฉบับที่ 10 ประกาศเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2484 นั่นหมายความว่า อย่างน้อยก็สำหรับรัฐบาลของจอมพลแปลกท่านแล้ว การแต่งกายที่เป็นอารยะ สัมพันธ์อยู่กับความเป็นไทย เพราะถูกประกาศอยู่ในรัฐนิยมเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน คอสตูมที่เปลี่ยนไปในการประกวดนางสาวไทย (ที่เปลี่ยนมาจากชื่อ นางสาวสยาม ไม่ต่างจากชื่อประเทศ) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ก็คือความเป็นไทยที่เป็นอารยะ อย่างน้อยก็ในสายตาท่านผู้นำแปลก และคณะ ที่มีขึ้นก่อนจะประกาศออกในรัฐนิยมนั่นแหละครับ
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบก ในชายหาดหลายแห่งของประเทศไทย ทำให้งานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปีนั้นต้องยกเลิกไป ซึ่งหมายรวมถึงการประกวดนางสาวไทยด้วย หลังจากนั้นไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่มีการจัดการประกวดนางสาวไทยต่อเนื่องไปอีกหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 จึงค่อยมีการกลับมาจัดการประกวดในวันรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง (แต่เว้นไปหนึ่งปีใน พ.ศ. 2492)
และก็เป็นช่วงนี้แหละครับที่เริ่มมีอะไรคล้ายๆ กับในยุคสมัยปัจจุบัน พ.ศ. 2493 เริ่มมีการใส่ชุดว่ายน้ำบนเวทีประกวดเป็นครั้งแรก และเริ่มส่งนางสาวไทยโกอินเตอร์ ไปประกวดนางงามจักรวาลครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2497 ซึ่งก็เป็นปีสุดท้ายที่การประกวดนางสาวไทย มีเจ้าภาพเป็นรัฐบาล และจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพราะหลังจากนั้นก็เว้นว่างไปด้วยเหตุผลทางการเมืองไปหลายปี มีการจัดๆ เลิกๆ อยู่บ่อยครั้ง ก็ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองเหมือนเดิม และกว่าที่จะเริ่มมาจัดเป็นประจำ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นงานประกวดนางสาวไทย ภายใต้ชื่อฝรั้งฝรั่งอย่างทุกวันก็เพิ่งเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมานี้เอง
คอสตูมของการประกวดนางสาวไทย จึงแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของความเป็นไทย ซึ่งมักจะผูกอยู่กับความเป็นอารยะในระดับนานาชาติ อย่างน้อยก็ในสายตาของท่านผู้นำ และคณะในแต่ละช่วงสมัยนะครับ
แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน พอเมื่อนางสาวไทยต้องไปพรีเซนต์ความเป็นไทยในเวทีระดับโลกแล้ว คอสตูมของพวกเธอกลับเป็นไท้ย เป็นไทย ที่เวรี่จะยูนีค และสตัฟท์ความเป็นไทยเอาไว้
เหมือนกับเมื่อปีที่นางสาวสยามยังถือขันเงินแล้วหันมาบ๊ายบายให้กับกองเชียร์ทั้งหลายของเธอนั่นแหละ