เทศกาลตรุษจีนทั้งที คนมีเชื้อสายจีนอย่างผมจะให้มัวนิ่งเฉยคงกระไรอยู่ (ต่อให้ใครๆไม่เชื่อเนื่องจากแลเห็นหน้าตาผมละม้ายไปทางชาวอินเดียหรือชาวอินโดนีเซียก็ตามเถอะ) เรื่องจีนๆ ที่ปลุกเร้าความตื่นเต้นของผมในช่วงนี้ก็ต้องเป็น ‘The Monkey King 3’ หรือ ‘ไซอิ๋ว ตอน ศึกราชาวานรตะลุยเมืองแม่ม่าย’ ซึ่งกำลังจะเข้าฉายในโรง 1 มีนาคมนี้ พอเห็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ ภาพอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งพลันผุดพรายขึ้นมาด้วยเสมอ เพราะเขาเคยถูกเคลือบแคลงว่าพัวพันกับพระถังซัมจั๋งในภาพยนตร์ไซอิ๋ว ซึ่งเคยจัดฉายที่ต่างแดนเมื่อราว 63 ปีก่อน
แหมดูท่าชักน่าสนุกเหมือนหนังสือ ‘ผจญไทยในแดนเทศ’ เสียแล้วสิฮะ (หนังสือผมเองครับขายของกันหน่อย) อีกหลายบรรทัดถัดไปจะสาธยายให้คุณผู้อ่านได้รับรู้แต่ตอนนี้ผมขออนุญาตแปลงร่างเป็นพญาลิง ‘ซุนหงอคง’ ตัวละครประจำดวงใจแห่งวัยเยาว์พร้อมกระทำความซุกซนออกอรรถรสทางตัวอักษรก่อน
เริ่มจากความสงสัยที่อยู่ในใจใครหลายคนก่อนว่า ‘ไซอิ๋ว’ นี่มาจากไหนในภาษาจีนจริงๆเรียกกันว่า ‘ไซอิ๋วกี่’ ครับแปลความหมายได้ว่า ‘บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก’ (‘ไซ’ คือฝั่งตะวันตก, ‘อิ๋ว’ คือการเดินทางและ ‘กี่’ คือบันทึก) สอดคล้องกับเนื้อหาบอกเล่าการรอนแรมไปชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกของหลวงจีนรูปหนึ่งเคียงข้างด้วยลูกศิษย์ผู้อารักขาทั้งสามทั้งหมดต้องเผชิญอุปสรรคมากมายหลายอย่างแต่สามารถผ่านพ้นไปถึงอาณาเขตอินเดียโดยปลอดภัยมิหนำซ้ำภารกิจไปรับพระคัมภีร์คำสอนทางพุทธศาสนามาสู่ดินแดนต้าถังยังประสบความสำเร็จจึงนับเป็นวรรณกรรมจีน 1 ใน 4 ชิ้นเยี่ยมสมัยราชวงศ์หมิงอย่างไรก็ดีสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องเรื่องกลับสะท้อนบริบทประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ถังส่วนผู้ประพันธ์ ‘ไซอิ๋ว’ เดิมทีไม่ปรากฏคือใครกันแน่ต่อมายุคหลังๆ สืบเสาะค้นคว้าจนพบชื่อ ‘อู๋เฉิงเอิน’ ในฐานะคนแต่ง
เอาเข้าจริง ไซอิ๋วดูเหมือนเป็นอะไรที่พวกเรามักคุ้นกันดี หากไม่เคยนึกสงสัยบ้างหรือครับว่าคนไทยทำความรู้จักกับตัวละครเห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง และพระถังซัมจั๋งครั้งแรกๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่
เพียงลัดเลาะสายตาภายในไม่เกินห้านาที คำตอบจะแจ่มชัดทันใดผ่าน ‘ประวัติศาสตร์ไซอิ๋วแบบไทยนิยมฉบับย่อ’
แต่เดิมนั้นชาวสยามหาได้สัมผัสวรรณกรรมข้างต้นด้วยการอ่านหนังสือหรอกหากซึมซับจากกลวิธีถ่ายทอดของชาวจีนที่อพยพเข้ามาเมืองไทยในรูปแบบงิ้วหุ่นกระทั่งภาพวาด อาจรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างกระนั้นหมุดหมายสำคัญทำให้ ‘ไซอิ๋ว’ แพร่หลายและได้รับความสนใจอย่างมากย่อมมิพ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเกิดหนังสือนิยายจีนเล่มนี้ในพากย์ภาษาไทยขึ้นเมื่อพระโสภณอักษรกิจ (เล็กสมิตสิริ) จ้างให้นายติ่นเป็นผู้แปลต้นฉบับภาษาจีนส่วนนายวรรณเอดิเตอร์ตุละวิภาคพจนกิจหรือที่รู้จักกันในนาม ‘เทียนวรรณ’ คือผู้เรียบเรียงอีกชั้นหนึ่งใช่เพียงเท่านั้นยังเขียนวิจารณ์ด้วยว่ามีเนื้อเรื่องเกินจริงและไม่มีทางเป็นไปได้เลยโดยเฉพาะตอนพระถังซัมจั๋งเข้าพบพระพุทธเจ้า เทียนวรรณเองอยากจะแก้ไขเสียใหม่ทางฝ่ายนายติ่นก็ไม่ยินยอมเด็ดขาด เอดิเตอร์คนดังจึงต้องทำหน้าที่ของตนต่อไปจนสำเร็จออกมาเป็นจำนวน 65 เล่มสมุดไทย ในระหว่างปีรัตนโกสินทรศก 125 -128 (พุทธศักราช 2449 -2452) พระโสภณอักษรกิจหรือนายเล็กได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือแบบสมุดฝรั่งจำนวน 4 เล่มโดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
เสริมเกร็ดความรู้แก่คุณผู้อ่านสักนิด ‘สมุดฝรั่ง’ เป็นการเรียกหนังสือเย็บเล่มเข้าด้วยกันเป็นสมุดต่างจากหนังสือของสยามดั้งเดิมซึ่งเป็นแบบสมุดพับไปมาเรียกว่า ‘สมุดไทย’ หนังสือเล่มแรกที่จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มสมุดฝรั่งได้แก่นิราศลอนดอนผลงานของหม่อมราโชทัยจัดพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เมื่อปีพุทธศักราช 2404 ส่วนกรณีที่ทำไมเทียนวรรณทนไม่ไหวต่อการอ่านนิยายเรื่องไซอิ๋วถึงขั้นหมายใจจะแก้ไขเสียเองนั้นต้องไม่ลืมนะครับช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แวดวงสื่อสิ่งพิมพ์เต็มไปด้วยหนังสือประเภทพงศาวดารเป็นหลักนักอ่านเลยพากันเข้าใจนิยายจีนในฐานะพงศาวดาร มองว่าเนื้อหาไม่ควรผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงเท่าใด ทั้งๆ ที่หัวใจของนิยายคือเรื่องแต่งต่างหาก
บรรดาหนังสือจีนแปลถ่ายทอดสู่ภาษาไทยไซอิ๋วนับเป็นผลงานเลื่องชื่อมิใช่น้อยใครๆ ก็รู้จักกันทั่วขนาดเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันได้พาดพิงถึงบ่อยๆถัดจากหนังสือที่นายติ่นแปลและเทียนวรรณเรียบเรียงแล้วยังพบหนังสืออื่นๆทำนองเดียวกันอีกหลายเล่ม อ้อพระถังซัมจั๋งนี่นักอ่านชาวไทยให้ความสนใจไม่แพ้พญาวานรเห้งเจียเลยนะครับอาจเพราะเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์จีนกระมังหลวงจีนท่านนี้มีชีวิตช่วงปลายราชวงศ์สุยเรื่อยมาจนราชวงค์ถังรู้จักในนามพระ ‘เหี้ยนจัง’ ตอนเดินทางไปถึงอินเดียได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่นานหลายปีจนแตกฉานภาษาสันสกฤตและพระไตรปิฎกพอย้อนกลับคืนดินแดนต้าถังชาวจีนยุคนั้นจึงเรียกขานว่า ‘ซำจั๋งฝ่าซือ’ กลายเป็นที่มาของชื่อ ‘พระถังซัมจั๋ง’ นั่นเอง สำหรับหนังสือในเมืองไทยเล่มสำคัญที่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับท่านย่อมไม่แคล้ว ‘ประวัติพระถังซัมจั๋ง’ ผลงานแปลจากต้นฉบับภาษาจีนของฮุ่ยลี่ผู้เป็นลูกศิษย์โดยนายเคงเหลียนสีบุญเรือง
ตามชีวประวัติจริงๆ พระถังซัมจั๋งจาริกไปอินเดียแต่เพียงผู้เดียวทว่าในนิยายจีนเรื่องไซอิ๋วได้เพิ่มเติม 3 ตัวละครอย่างเห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋งให้เป็นศิษย์เอกคอยติดตามอารักขาหลวงจีนตลอดทางด้วย
แท้แล้วพวกปีศาจสามตนล้วนคือปริศนาธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สอดแทรกเอาไว้ลองพิจารณาดีๆ จะพบเห็นภาพแทนลักษณะในตัวคนเราทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
ซุนหงอคงหรือเห้งเจีย มีความเฉลียวฉลาดแต่ข้อเสียของปีศาจพญาลิงคือมักจะวู่วามและกราดเกรี้ยวโกรธาชอบใช้กำลังแก้ปัญหาเรียก‘โทสะ’ ตามหลักอกุศลมูลจึงควรจะเจริญ ‘ปัญญา’ ตามหลักไตรสิกขา
ตือโป๊ยก่าย มักประพฤติตนออกนอกลู่นอกทาง หากคุณผู้อ่านเคยดูละครไซอิ๋วทางโทรทัศน์ช่อง 3 เหมือนผมในตอนเด็กๆ อาจเคยได้ยินสองคำกล่าวติดปากปีศาจหมู เริ่มจากรำพันว่า ‘ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ใจขื่นขมระทมชั่วนิรันดร์’ ครั้นพอได้เจอสาวๆ สะดุดตาเข้าแล้วก็จะร้อง ‘ขาวๆ กลมๆ อวบๆ’ จึงควรจะเจริญ ‘ศีล’ ตามหลักไตรสิกขา ตือโป๊ยก่ายยังเปี่ยมล้นความตะกละยิ่งนัก ซึ่งเรียก ‘โลภะ’ ตามหลักอกุศลมูล
ซัวเจ๋งปีศาจแม่น้ำดูเป็นเจ้าทึ่มเงอะๆงะๆคิดตามไม่ค่อยเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมใคร เรียกว่ามี ‘โมหะ’ ตามหลักอกุศลมูลจึงควรจะเจริญ ‘สมาธิ’ ตามหลักไตรสิกขา
ขณะพระถังซัมจั๋งประหนึ่งภาพสะท้อนผู้อาศัยหลักธรรมในการหลุดพ้นไปจากลักษณะแบบปีศาจทั้งสาม เรียกรวมๆ ได้ว่า ‘กิเลส’
ดังอธิบายมานี้พยายามสรุปคร่าวๆจากที่เคยศึกษามาถ้าคุณผู้อ่านรู้สึกว่าช่างน่าเย้ายวนชวนติดตามผมขอแนะนำหนังสือสองเล่มเขียนโดยเขมานันทะ (โกวิทเอนกชัย) ซึ่งผมเคยใช้สายตาเลาะตอนหนุ่มๆกว่านี้จนทำให้มองเห็นและรู้จักตีความวรรณกรรมอย่างสนุกสนานอย่างจ้ำบ๊ะอร่อยเหาะไปเลยทีเดียวเล่มแรกคือ ‘เดินทางไกลกับไซอิ๋ว’ หรือตอนพิมพ์ครั้งหลังๆ เปลี่ยนไปใช้ชื่อ ‘ลิงจอมโจก ไขปริศนาธรรมในไซอิ๋ว’ ส่วนอีกเล่มไม่เพียงวิเคราะห์เรื่องไซอิ๋วเท่านั้น แต่หยิบยกหลายต่อหลายเรื่องมาตีความเลย เฉกเช่น สังข์ทองและนางสิบสอง นั่นคือ ‘เค้าขวัญวรรณกรรม’
เล่าเรื่องหนังสือเสียยืดยาว เอาล่ะ จะเอ่ยถึงสื่อภาพยนตร์บ้าง นับแต่ภาพยนตร์จีนเริ่มเข้ามาฉายในเมืองไทยตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2450 หรือ 2460 จวบจนเดี๋ยวนี้ ได้มีการนำ ‘ไซอิ๋ว’ มาโลดแล่นอยู่ด้วยหลายหนจนผู้ชมเจนตา อย่างที่จะมาถึงเร็วๆ นี้ ผมเองมีนัดกับเรื่องราวตอนศึกราชาวานรตะลุยเมืองแม่ม่าย ร่ำลือกันว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีนักแสดงหญิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งฉากเมืองแม่ม่ายก็ดาษดื่นไปด้วยสาวๆ สวยๆ จะอย่างไรก็ตาม ข้อเขียนนี้ ผมจงใจพาทุกท่านผลุบหายเข้าไปในเดือนสิงหาคม ปีพุทธศักราช 2498 เตรียมตัวให้ดี การวาร์ปครั้งนี้หาใช่วนเวียนอยู่ในเมืองไทยนะฮะ
พรึบ พรึบ !!! ลืมตาขึ้นแล้วมองดูบรรยากาศรอบๆสิครับ พวกเรากำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่ในฮ่องกง เมื่อปีคริสต์ศักราช 1955 โปรดเตรียมพร้อม ผมจะควงแขนทุกคนไปร่วมดูหนังด้วยกันครับ
19 สิงหาคม บริเวณสนามบิน อาจมีใครแลเห็นชายไทยคนหนึ่งชื่อว่า ‘นายหลุย’ เดินเข้ามาทักทายนายจรัส ผู้เป็นกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง พร้อมเอื้อนเอ่ยว่าเขากำลังมาทำการอัดเสียงภาษาไทยลงในภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่งและตั้งใจจะนำไปจัดฉายที่ประเทศไทย อีกทั้งเขายังได้นำนักร้องไทยมาร่วมอัดเสียงในคราวเดียวกัน เมื่อทำเสร็จจะโทรศัพท์ไปเชิญให้มาชม นายจรัสเลยถามกลับ นอกจากมาธุระเรื่องภาพยนตร์แล้ว ได้มาทำการค้าหรือซื้อสินค้าอะไรอีกบ้างหรือเปล่า รวมถึงพักแถวไหนในฮ่องกง นายหลุยตอบว่าพักอยู่ฝั่งเกาลูน ฉับพลัน เขาเลี่ยงออกไปพบมิตรสหายชาวจีนที่ติดตามมา แล้วพรวดขึ้นรถแท็กซี่
ก่อนหน้านั้น ในเมืองไทย นายหลุยขอต่ออายุหนังสือเดินทางอีกสองปี โดยอ้างเหตุผลจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ เพื่อติดต่อค้าขายและหาซื้อเครื่องจักรทำพลาสติก กระทรวงต่างประเทศได้ให้กรมตำรวจพิจารณา โดยทางกรมลงความเห็นว่ามิได้ขัดข้องอะไร แต่ขอให้สถานทูตและกงสุลคอยจับตาดูไว้
สิบวันต่อมาคือบ่ายวันที่ 29 สิงหาคม นายหลุยโทรศัพท์มาสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ที่ 209 Edinburg House บนฝั่งเกาะฮ่องกง ได้เชิญนายจรัสและข้าราชการไปชมภาพยนตร์ดังกล่าวในวันที่ 30 สิงหาคม ตรงกับวันหยุดงานของชาวฮ่องกงพอดี ระบุพิกัดจัดฉายบนเกาะเกาลูนที่โรงภาพยนตร์สะตาร์เกาลูน (ฮ่องกงประกอบด้วย 3 เกาะ ได้แก่ เกาะฮ่องกง เกาะเกาลูน และเกาะลันเตา) อย่างไรก็ดี นายจรัสติดภารกิจต้องออกไปพบอุปทูต ณ ไทเปในวันและเวลาที่นายหลุยกำหนด จึงมอบหมายให้รองกงสุลและนายเวรไปชมภาพยนตร์แทนตน
เช้าวันที่ 30 สิงหาคม คนไทยสองคนจากสถานกงสุลข้ามทะเลไปยังฝั่งเกาลูน เขาคือนายประพัฒน์ รองกงสุล และนายวิภาค นายเวร เมื่อเดินทางไปถึงและเข้าในโรงภาพยนตร์สะตาร์เกาลูน ทั้งสองได้พบกับนายหลุย และพรรคพวกชาวจีนแต้จิ๋วที่พูดภาษาไทยได้ประมาณ 10 กว่าคน นอกเหนือจากนี้ไม่มีใครอีก เพราะถือเป็นการทดลองจัดฉาย เวลา 10.30 น. ภาพยนตร์ก็เริ่มต้นและไปจบลงเมื่อเข็มนาฬิกากระดิกผ่านไปร่วมหนึ่งชั่วโมง
คุณผู้อ่านคงชักจะสงสัย ภาพยนตร์เรื่องอะไรกันเนี่ย ทำไมผมจึงต้องพานั่งยานทัศนาจรย้อนอดีตไป เบิ่งไกลถึงฮ่องกง จะเรื่องอะไรล่ะครับถ้ามิใช่ ‘ไซอิ๋ว’ เพียงแต่ภาพเคลื่อนไหวที่วูบวาบบนจอประจำโรงหนังสะตาร์เกาลูนนั้น จริงอยู่ ทั้งท้องเรื่องและตัวละครเป็นของจีน หากได้จัดทำขึ้นในญี่ปุ่น นักแสดงก็เป็นชาวญี่ปุ่นล้วนๆ ที่น่าสะดุดหูคือ ได้ดัดแปลงอัดเสียงพูดของตัวละครเป็นภาษาไทยตลอดม้วน
พระถังซัมจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก มีลูกศิษย์คอยติดตามรับใช้ทั้งเห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง ในระหว่างทาง หลวงจีนถูกพวกปีศาจจับตัวไปเพื่อฆ่าให้ตายหลายหน แต่บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายบุกเข้าไปช่วยเหลือจนรอดพ้นมาได้ พระโพธิสัตว์กวนอิมปรากฏโฉมมาโปรดในยามที่ผจญความทุกข์ เนื้อเรื่องเหล่านี้ มองผิวเผินมิได้แปลกอะไรนี่ครับ
แต่นายประพัฒน์ รองกงสุล เล็งเห็นอะไรบางอย่าง ลองไปฟังน้ำเสียงในรายงานของเขาดู
ภาพยนตร์นี้ เมื่อพิจารณาดูตามเนื้อเรื่องก็เป็นไปตามนิยายจีนดังกล่าวแล้ว แต่คำพากย์ตลอดเรื่องอาจทำให้ผู้ที่ได้ดูได้ฟังหวนระลึกไปถึงเรื่อง ‘นายปรีดีฯ’ ที่ต้องเดินทางไปประเทศจีนได้ ลูกศิษย์ทุกคนเรียกพระซำจั๋งว่า ‘อาจารย์’ และบางตอนลูกศิษย์คนหนึ่งกล่าวกับคนหนึ่งว่า “เวลานี้อาจารย์กำลังได้รับความเดือดร้อนและลำบาก อาจารย์กำลังต้องการความช่วยเหลือจากท่าน…”
ใช่แล้วครับ นายปรีดีฯ ที่ว่า ก็คืออดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย ‘ปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งตอนนั้นกำลังลี้ภัยการเมืองไปพำนักในดินแดนจีนแผ่นดินใหญ่ ลูกศิษย์ทั้งหลายทางเมืองไทยก็ห่วงหาอาทร ส่งผลให้แทบทุกการขยับไหวของปรีดีจึงเป็นที่จับตามองจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ผมเองเพิ่งไปผจญภัยในประเทศฮ่องกงครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2560 ตระเวนหลายย่านบนฝั่งเกาลูน หาได้เพียงมัวเพลิดเพลินกระทำความหว่องแถวจิมซาจุ่ย แต่ยังพยายามตามหาโรงภาพยนตร์สะตาร์เกาลูนเช่นกัน น่าเสียดายที่ไม่พบ แหม ฮ่องกงทุกวันนี้ ไม่ใช่ฮ่องกงเมื่อราวๆ 63 ปีก่อนนี่ครับ
ภาพยนตร์อันเกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์นั้น โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปมักคิดว่ามีเพียงแค่ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ซึ่งเขาเป็นผู้เขียนบทและกำกับการแสดง แต่แท้จริง ชื่อปรีดีได้เข้าไปพัวพันสิ่งที่เคลื่อนไหวบนจอเงินหลายเรื่องเลยทีเดียว หากใครเคยดู ‘อินทรีทอง’ หนังเรื่องสุดท้ายที่พระเอกตลอดกาลอย่างมิตร ชัยบัญชาได้ฝากฝีมือไว้ ลองสังเกตการตั้งชื่อหัวหน้าตัวร้ายบุคลิกสไตล์โซเวียต ‘ปรีดา พนายันต์’ จะเห็นได้ว่าอวลกลิ่นอายล้อเลียนอยู่เหมือนกัน มิเว้นกระทั่งใน ‘ไซอิ๋ว’ ที่ไปจัดฉายบนเกาะเกาลูน ปีคริสต์ศักราช 1955 แม้ตัวละครพระถังซัมจั๋งก็ยังเป็นที่เคลือบแคลง
เสียงประทัดระรัวลั่นกระชากผมหลุดออกมาจากความเป็นซุนหงอคงในร่างทรงจำแลงเสียแล้ว เพื่อนหนุ่มของผมคนหนึ่งพอเห็นสาวหมวยในชุดกี่เพ้าทีไร ชอบเหลือเกินที่จะครวญเพลงประกอบละครหลายปีมาแล้ว ‘กี่เพ้านี้มีความลับใช่ไหม กี่เพ้าเหมือนใจดวงนี้ใช่ไหม…’ ฟังเพลินๆ แล้วนึกขึ้นได้เหมือนกัน
ประวัติศาสตร์ยังมีเรื่องเร้นลับอีกมากมายให้เราค้นหา ก็ดูสิครับ ตรุษจีนทั้งที แค่นึกอยากไปชม The Monkey King 3 แต่พอดันมาลุ่มหลงประวัติศาสตร์เข้าอย่างจัง เลยอดมิได้จะต้องมาเรื่อยเปื่อยปากกาเขียนเล่าถึงภาพยนตร์ไซอิ่ว เวอร์ชั่นอดีตนายกรัฐมนตรีกับพระถังซัมจั๋งเสียเยอะแยะ หวังว่าคงสนุกสนานกันนะครับ ตอนนี้ ผมขออนุญาตไปตีลังกาแปดหมื่นสี่พันลี้พลางๆ
Text by Artyasit Srisuwan
Illustration by Yanin Jomwong
อ้างอิงข้อมูลจาก
– หจช. สร0201.53/42 นายหลุย พนมยงค์ นำภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องไซอิ๋วเข้ามาฉายที่โรงภพายนตร์สะตาร์เกาลูน (1-14 ก.ย. 2498)
– กำธร สถิรกุล. หนังสือและการพิมพ์. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2515.
– เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย). เค้าขวัญวรรณกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2543
– เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย). เดินทางไกลกับไซอิ๋ว. กรุงเทพฯ : กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม, ม.ป.ป.
– เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย). ลิงจอมโจก ไขความปริศนาธรรมในไซอิ๋ว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2540
– เคงเหลียน สีบุญเรือง (แปล). ประวัติพระถังซัมจั๋ง. ที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายเคงเหลียน สีบุญเรือง ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2484. พระนคร: การพิมพ์ไทย, 2484
– ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ตำนานหนังสือสามก๊ก.กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2545
– นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม). ว่าด้วยหนัง ๆ ในเมืองบางกอก. นครปฐม : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2555
– หนังสือไซอิ๋ว เล่ม 1-4. แปลโดย ติ่น, บรรณาธิการโดย วรรณ ตุละวิภาคพจนกิจ. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2449-2452
– Harrison, Rachel. ‘‘The Man with the Golden Gauntlets: Mit Chaibancha’s Insi thorng and the Confusion of Red and Yellow Perils in Thai Cold War Action Cinema”. In: Day, Tony and Liem, Maya, (eds.),
– Cultures at War: The Cold War and the Arts in Southeast Asia. Ithaca, New York: SEAP Cornell University Press, 2010