‘อุ๊ย ยอมรับเลยเหรอคะ?’
คือเสียงตอบรับจากนักข่าวเมื่ออิงฟ้า วราหะ มิสแกรนด์กรุงเทพมหานครตอบคำถามว่าเธอเป็น LGBTQ
แม้คำถามอื่นๆ ที่ตามมาเช่น กลัวคนหาว่าเป็น LGBTQ มาสร้างกระแสรึเปล่า หรือกลัวโดนแฉว่าเคยคบผู้ชายหรือเปล่าจะเป็นคำถามแย่ๆ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยทุกคนที่เห็นวิดีโอสัมภาษณ์นั้น ในบทความนี้จะขอพูดถึงคำถามแรก คำถามว่าคนคนหนึ่งมีเพศสภาพอะไรในตัวมันเองอาจจะดูไม่มีพิษมีภัย
แต่หากลองมองด้วยใจ ในความเป็นจริงแล้วคำถามนี้มีรายละเอียด ข้อควรระวัง และควรยับยั้งชั่งใจก่อนเอ่ยปากถามอยู่
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจถามถึงเพศสภาพใครสักคนคือการป้องกันการเรียกคนคนนั้นเป็นเพศอื่นนอกเหนือจากที่เขาเป็นหรือ misgender ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามไม่ว่าสำหรับใคร เนื่องจากมันสามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ โดยในงานวิจัยโดยองค์กร The International Society for Self and Identity (ISSI) ใน ค.ศ.2014 พบว่าคนข้ามเพศจำนวน 32.8% รู้สึกถูกประณาม (stigmatized) เป็นอย่างมากเวลาถูก misgender
ถ้าอย่างนั้นการถามเพศของเขาก็เป็นทางออก ถูกต้องไหม? คำตอบคือไม่ใช่เสมอไป
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การ misgender เจ็บปวดนั้นคือความรู้สึกไม่ถูกยอมรับและการถูกมองข้าม หากสมมติว่าเราคุยกับคนคนหนึ่ง แล้วเขาถามถึงเพศของเราขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่มีเหตุ สิ่งแรกที่เราคิดถึงจะเป็นอะไร? คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางเสียงคงยินดีที่ความหวังดีของผู้ถามมาถึงเรา แต่แน่นอนว่าจำนวนมากอาจเกิดคำถามในตัวเองว่าเราไม่เหมือนกับเพศสภาพของเราหรือไม่? ความรู้สึกนั้นเองคือความไม่ถูกยอมรับและการถูกมองข้าม ไม่ต่างกันจากการโดน misgender
โดยความรู้สึกเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่คนน้อยคนเจอ แต่คนที่อยู่ในชุมชน LGBTQ หลายคนประสบเข้ากับอาการที่เรียกว่า gender dysphoria หรือความรู้สึกกังวลเมื่อการใช้ชีวิตของเขาไม่ตรงกันกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเขาเอง โดยอาการนี้อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ภาวะซึมเศร้า ไม่มั่นใจในตัวเอง และการใช้สารเสพติดได้ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา ราวๆ 70-80% ของคนข้ามเพศรู้สึกถึง gender dysphoria ตั้งแต่อายุ 7 ปี ซึ่งการกังขาในเพศสภาพที่มาจากคนอื่นสามารถเพิ่มพูนอาการนี้ได้
จากการสำรวจผ่าน Quora ความเห็นของคน LGBTQ หลายๆ คนเมื่อถามถึงประเด็นนี้ หนึ่งในจุดร่วมที่เห็นคือการถามกลับว่า แล้วจะรู้เรื่องเพศไปทำอะไร? อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้า การถามหาเพศสภาพของคนคนหนึ่งนั้นสามารถก่อผลเสียให้แก่คนคนนั้นได้ การถามหาถึงจึงต้องมาพร้อมเหตุผลมารองรับที่แข็งแรง เช่นการขอให้ระบุเพศในแบบสำรวจ หรือการจัดห้องนอนที่แบ่งตามเพศ ซึ่งเป็นความจำเป็นมากพอที่จะถามถึงเพศได้
ในกรณีที่ต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาพจริงๆ โดยมีเหตุผลที่แข็งแรงรองรับ ผู้ถามควรระบุเหตุผลของการเก็บข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจน และจำเป็นอย่างมากที่การถามคำถามเกี่ยวกับเพศสภาพต้องเกิดขึ้นในระดับความเป็นส่วนตัวที่ผู้ตอบสะดวกสบายใจที่จะตอบ
อีกหนึ่งคำแนะนำสำหรับคนที่ไม่ต้องการจะ misgender คนโดยอุบัติเหตุ คือการเข้าหาคนด้วยมุมมองที่เป็นกลางทางเพศ (gender neutral) ตลอดเวลา เพราะหากมองทุกๆ เพศเท่ากันแล้ว การรู้เกี่ยวกับเพศสภาพไม่มีความจำเป็นในการมีปฏิสัมพันธ์เลย ซึ่งในปัจจุบันที่แนวคิดความเท่าเทียมทางเพศแพร่หลาย และมีให้ศึกษามากมายนั้นไม่ใช่เรื่องที่เหนือบ่ากว่าแรงแน่นอน
แต่หากย้อนกลับไปยังคำถามสัมภาษณ์ของอิงฟ้า การถามเช่นนั้นอยู่บนพื้นฐานของการรายงานข่าวประเภทแท็บลอยด์ที่เน้นการสร้างกระแส ผ่านข่าวกอสซิปของคนมีชื่อเสียง ที่คล้ายกันกับการถามคำถามเพราะอยากรู้เฉยๆ ซึ่งไม่มีเหตุผลพอในการที่จะต้องรู้เพศสภาพของใครเลย
ฉะนั้นหากเกิดความสงสัยในใจสิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งคำถามในตัวเอง เรานำข้อมูลเพศสภาพของคนคนนี้ไปทำอะไร? หากรู้หรือไม่รู้ว่าเขาเป็นเพศสภาพอะไรแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
และหากคำตอบเป็นไม่ได้เอาไปทำอะไร และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหตุผลและความต้องการที่จะถามก็น่าจะหายไปเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก