*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Moon Knight*
แต่ละคนน่าจะมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปในการชอบซีรีส์เรื่องไหนสักเรื่องหนึ่งแล้วตามดูไปจนจบ และน่าแปลกที่เหตุผลของความชอบในตอนแรกกับตอนสุดท้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นเหตุผลเดียวกันเสมอไปซะทีเดียว สำหรับ Moon Knight แล้ว องค์ประกอบที่ทำให้สะดุดตาและทำให้อยากดูแต่แรกเห็นจะเป็นฮีโร่ที่มีชุดคล้ายมัมมี่ อาวุธรูปทรงดวงจันทร์ การดำเนินเรื่องในอียิปต์ ตัวเอกที่มีหลายบุคลิก และที่เด่นสุดก็น่าจะเป็นการเป็นฮีโร่พลังเทพอียิปต์กับการผจญภัยสไตล์หนัง The Mummy—อะไรแนวๆ นี้น่าหลงใหลเสมอ
แต่อย่างที่ว่า ระหว่างทางนั้นสิ่งที่ทำให้ซีรีส์ Moon Knight ผลงานซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องล่าสุดของมาร์เวลยังคงความน่าดูอยู่ทุกๆ สัปดาห์ ไม่ใช่เพราะไม่อยากตกเทรนด์ แต่ส่วนหนึ่งเพราะ Moon Knight ไม่ได้แค่หยิบฉวยเอาโรคหลายบุคลิกเอามาใช้ หรือไม่ได้เอาเทพมาแค่เพื่อสร้างสีสัน แต่ยังสำรวจดำดิ่งไปยังห้วงแห่งจิตใจของตัวเอกอย่าง มาร์ก สเปกเตอร์ (Marc Spector) ราวกับเป็นซีรีส์แนวจิตวิทยา ที่ใช้ซูเปอร์ฮีโร่ ความเหนือธรรมชาติต่างๆ นานา ฉากแอ็กชั่น หรืออะไรต่อมิอะไรเพื่อขับเน้นประเด็นนี้โดยเฉพาะ แถมยังแตะเรื่องความเชื่อและตั้งคำถามศีลธรรมอย่างน่าสนใจ
ในตอนนี้ที่ดูเหมือนมีคนพูดถึงอียิปต์และเทพไอยคุปต์เยอะแล้ว บทความนี้เลยจะขอพาไปสำรวจจิตใจของนายมาร์กกับโรคหลายบุคลิกบ้าง ไปจนถึงมองประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจในซีรีส์ Moon Knight ไม่ว่าจะเป็นความดี-ชั่ว, จิต-ตัวตน-ความทรงจำ, มนุษย์-ศาสนา-เทพเจ้า, และว่าด้วยเรื่องของการตัดสินผู้อื่น
ซีรีส์ Moon Knight เป็นซีรีส์ที่ถือว่าเน้นการนำเสนอผ่านมุมมองและมีการเล่นกับมุมมองตลอดทั้งเรื่อง เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเข้าใจว่าตัวเอกคือ สตีเวน แกรนต์ (Steven Grant) แห่งกิฟต์ช็อป สตีเวนคิดว่าตัวเองเป็นโรคเดินละเมอหรือ sleep walking จนต้องมัดข้อเท้าไว้กับเตียงเสมอ ก่อนที่จะนำพาเขาไปเจอประสบการณ์ความทรงจำไม่ปะติดปะต่อ และค้นพบว่าตัวเองมีอีกบุคลิกนามว่า มาร์ก สเปกเตอร์ ที่มักจะควบคุมร่างไปไหนต่อไหน และเมื่อตัวตนสตีเวนโผล่กลับมาอีกครั้งก็เป็นอันต้องพบกับเรื่องเซอร์ไพรส์ทุกที
การที่ซีรีส์นำเสนอมุมมองแตกต่างกัน ก็เพื่อให้เราได้สัมผัสกับรสชาติในต่างแง่มุมกันเหมือนหนังคนละตระกูล ซึ่งแม้จะเป็นตัวหยอดเศษขนมปังให้ติดตามก็จริง แต่ระหว่างทางเราก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยว่าทั้งสองบุคลิกมีมุมมองต่อโลกตรงกันข้ามกัน สตีเวนเป็นคนจิตใจดี กินมังสวิรัติ อ่อนโยน (และอาจจะอ่อนต่อโลก) เฟรนด์ลี่ เป็นคนธรรมดารักสันติที่ใช้ชีวิตไปในแต่ละวันก็มีความสุขแล้ว ต่างจากมาร์กที่ในตอนแรกดูเหมือนจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเขาโผล่มา ร่างจะปลอดภัย ใครที่หมายทำร้ายร่างของทั้งสองตัวตนจะต้องสลบเหมือด นอนอาบเลือด ดูแล้วมาร์กจะต้องเป็นคนหัวรุนแรงแน่ๆ—ผมคิดแบบนี้—รวมไปถึงผมเข้าใจไปเองว่าการที่ทั้งสองเกิดสองบุคลิก เป็นเพราะมาร์กคือบุคลิกที่เกิดจากคอนชู (Khonshu) เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์และท้องฟ้าที่มีหน้าเป็นกระโหลกนก
แต่เรื่องก็กลับตาลปัตรเมื่อสตีเวนได้เจอกับ เลย์ลา (Layla) ภรรยาของเขา ทำให้ระหว่างการผจญภัยสตีเวนก็ค้นพบว่า ตัวเองเขาเองยังมีอีกตัวตน ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บรรยากาศที่เกิดจากความสับหลอกนี้จึงเปลี่ยนไปคนละทิศละทาง จากซีรีส์แนวลึกลับ สู่ซีรีส์จิตวิทยา ที่แม้จะเน้นบู๊มากขึ้น ผจญภัยมากขึ้น ข้อสงสัยที่มีอยู่ตลอดคืออดีตของทั้งสองคน ทั้งสองลงเอยด้วยการกลายมาเป็นมูนไนต์ (Moon Knight) กับ มิสเตอร์ไนต์ (Mr. Knight) ได้ยังไง
ตอนที่ 5 เป็นตอนที่จะตอบคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องบุคลิกของมาร์กและสตีเวน เมื่อเขาถูกยิงตายโดยวายร้ายของเรื่องที่ชื่อ อาเธอร์ แฮร์โรว์ (ที่คนไทยเรียกเขาว่า ‘อาจารย์แดงกีต้าร์ ธรรมมะกระตุกจิตกระชากใจ’ และเดี๋ยวจะกลับมาพูดถึงอีกที) บุคลิกของมาร์กและสตีเวนก็แยกออกจากกัน ทั้งคู่ได้ไปเจอกับทาเวเร็ต (Taweret) เทพฮิปโปที่จะพาพวกเขาเดินทางไปสู่ปรโลกพร้อมกับนำหัวใจของทั้งคู่มาชั่งบนตราชั่ง โดยมีอีกฝั่งเป็นขนนกของเทพมา’อัต (Ma’at) เทพแห่งความยุติธรรม สัตย์จริง และเที่ยงแท้ เพื่อวัดว่าวิญญาณนี้จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรก
ตามความเชื่อและแนวคิดของอียิปต์ ดูเหมือนจะให้ค่าของจิตใจและโลกแห่งความตายมากกว่าสิ่งใด อย่างการทำมัมมี่ก็เพื่อให้สภาพศพสมบูรณ์พอที่จะกลับเข้าร่างได้ ส่วนเรื่องตาชั่งก็เช่นกัน ตาชั่งใช้ชั่งว่าจิตใจหนัก เบา หรือสมดุลกับความยุติธรรม (ในรูปขนนก) หรือไม่ แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่ควรค่าที่จะไปสู่ภพภูมิที่ดี ตราชั่งทั้งสองข้างจะต้องเท่ากัน ซึ่งในช่วงเวลาที่กำลังเดินทางไปสู่ปรภพ สตีเวนและมาร์กจะต้อง—พร้อมๆ กับคนดู—สำรวจจิตใจตนเอง และยอมรับทุกเรื่องราวในชีวิตเพื่อเปิดเผยตัวตนทั้งหมด เมื่อนั้นตราชั่งจะนิ่งได้ การผจญภัยภายในจิตใจของมาร์กจึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ราวกับเขาถูกบีบบังคับ
มันอาจดูเป็นเรื่องยาก (ใช่ มันยาก) ทว่าชีวิตคนเราก็อาจจะเหมือนหนังสือเล่มนึงที่ไม่มีวันฉีกหน้าไหนออกไปได้ และทุกๆ หน้าหล่อหลอมให้เราเป็นเรา หากยกความคิดเหนือธรรมชาติหรือเรื่องข้ามไปโลกหน้าออกไป หากคนคนนึงจะใช้ชีวิตอยู่ต่อหรือใช้ชีวิตต่อไป (มุ่งไปข้างหน้า) การยอมรับให้อดีตเป็นส่วนหนึ่งหรือเลือกที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญนับเป็นสิ่งที่น่านับถือมากๆ แล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนที่มาร์กจะไปสู่การเป็นฮีโร่ หรือสู้กับใคร เขาต้องสู้กับความรู้สึกตัวเอง ความหวาดกลัว ความเจ็บปวดที่อยากลืมเพื่อจะกลับไปมีชีวิตอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นการฝังกลบความทรงจำไม่พูดถึงมัน ก็เหมือนการเอามันไปซุกไว้ใต้พรมทั้งๆ ที่รู้ว่ายังอยู่ ก่อนจะปูดขึ้นมาเรื่อยๆ จนกองพะเนินเทินทึก และวกมาทำร้ายตัวเขาเอง
“ทำไมภาพจำลองห้วงความทรงจำของพวกเราถึงเป็นโรงพยาบาลบ้าล่ะ?”
“ก็พวกเราเป็นคนบ้าไง?”
ภาพจำลองจิตใจของมาร์กเป็นโรงพยาบาลจิตเวชหรือโรงพยาบาลบ้าสีขาว ที่เบื้องหลังประตูแต่ละห้องจะบรรจุด้วยความทรงจำที่จัดเก็บไว้ และพร้อมๆ กัน ซีรีส์ก็สับหลอกเราอย่างน่าสนใจด้วยการให้สตีเวนกับมาร์กคิดว่าตัวเองบ้าและทั้งหมดเป็นเรื่องแต่งขึ้น โดยมีแฮร์โรว์เป็นจิตแพทย์ของมาร์ก ซึ่งต้องสารภาพว่าตอนแรกก็เฉยๆ แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ใจไปเหมือนกันว่า หรือทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของคนบ้า และทั้งหมดอนี้ยู่ในหัวมาร์กมาตลอดจริงๆ
แต่ในเรื่องของความทรงจำ หากสามารถมองทะลุการสับหลอกชวนสับสนไปได้ เราจะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์ Moon Knight ตอนที่ 5 คือภาพจำลองของ ‘ความทรงจำมนุษย์’ ความทรงจำที่หล่อหลอมตัวเรา ให้เราเป็นเรา ทุกๆ ประสบการณ์ ทุกๆ การเรียนรู้ ทุก ๆสิ่งที่ส่งผลต่อทัศนคติ หรือก็คือที่เราเรียกว่าการมีวิญญาณ หรือหากให้พูดในเชิงวิทยาศาสตร์คือจิตสำนึกรู้ (conscious mind) นั่นเอง เรอเน เดการ์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “เราตระหนักรู้/คิด เราจึงมีตัวตน” (“I think, therefore I am.”)
เราอาจมองเจ้าความทรงจำหรือตัวตนนี้เป็นลูกแก้วลูกหนึ่งที่เปราะบาง แตกง่าย ทุกคนมีลูกแก้วนี้เป็นของตัวเอง ความปลอดภัยของลูกแก้วนี้อยู่ที่แต่ละคนจะมีเคสกันกระแทกหรือไม่ และเคสนั้นใช้อะไรเป็นวัสดุ
ส่วนในเรื่องของการจัดเก็บและหยิบความทรงมาใช้ ก็อยากให้ลองนึกภาพว่าภายในลูกแก้วนั้น ประกอบไปด้วยลิ้นชักจำนวนอนันต์ที่มีแฟ้มข้อมูล มีตั้งแต่แถวหน้ายันแถวหลังไม่สิ้นสุด ที่วันวันหนึ่ง หรือในช่วงเวลานานจนถึงหลายปี เราเก็บมันไว้ หากเราได้ใช้หรือใช้บ่อยๆ มันจะถูกวางไว้ในลิ้นชักแถวหน้าๆ แต่หากไม่ได้ใช้ ก็จะอยู่ลึกไปในส่วนของจิตใจ ต้องการการกระตุ้นถึงจะจำได้ หรือเป็นไปได้เช่นกันว่าอาจจะจำได้รางๆ หรือไม่ได้เลย นอกจากนี้ข้อมูลอาจถูกสลับและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดทั้งโดยตัวเราเองและผู้อื่น แต่สำหรับความทรงจำเลวร้าย หากเราพยายามไม่นึกถึงมัน กรณีนี้คือมันไม่ได้ไปไหน แค่ถูกจัดเก็บในฐานะหนึ่งในข้อมูลที่ถูกเอาไปซ่อนในโฟลเดอร์ลับใน ‘ลิ้นชักสีดำ’ ที่พยายามไม่มองเท่านั้นเอง
ที่พูดมาทั้งหมดตรงนี้ก็เพื่อที่จะบอกว่า สำหรับมาร์ก การเปิดประตูแต่ละห้องคือการเปิดลิ้นชักสีดำเหล่านั้น เพราะหนังสือที่ชื่อ ‘มาร์ก สเปกเตอร์’ จะได้ต้องได้รับการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน ตรวจสอบได้ ตาชั่งถึงจะหยุดนิ่ง และตัดสินอีกทีว่าจะอยู่ระดับไหนกับขนนก ซึ่งไม่ใช่สตีเวนคนเดียวที่จะต้องเรียนรู้ความจริง หรือที่จริงต้องบอกว่าแม้จะเหมือนทริปล้วงความจำเพื่อสตีเวนแค่ไหน (รวมถึงที่พูดไปเมื่อกี้ว่าเพื่อให้รับรู้เท่ากันก็ด้วย) สุดท้ายในทางปฏิบัติแล้ว นี่ไมใช่ทริปท่องความจำเพื่อสตีเวน แต่เป็นทริปเพื่อให้มาร์กเผชิญหน้ามันอีกครั้งโดยมีสตีเวนอยู่ข้างๆ เหมือนที่เป็นมาตลอด
และซีรีส์ก็เฉลยว่าในกรณีของมาร์กนั้น เขาเคยทำผิดพลาดตอนเด็ก มาร์กเป็นสาเหตุให้น้องของเขาต้องตาย มาร์กแบกรับความรู้สึกผิดของตัวเองมาตลอดชีวิต และไม่พอ วัยเด็กที่เต็มไปด้วยความรู้สึกโทษตัวเอง ผสมโรงกับความโกรธเกลียดจากแม่ของเขา เป็นเหตุให้มาร์กเกิดจิตใจแตกร้าว และสร้างลูกแก้วลูกใหม่มาบังลูกเดิม จัดเรียงไฟล์ใหม่ ดัดแปลงข้อมูลในเอกสาร คัด ตัด แปะ แล้วนำด้านดีๆ ที่ยังหลงเหลือ ไปใส่ตัวตนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโปสเตอร์หนังผจญภัยในห้องของเขาที่มีตัวเอกชื่อ สตีเวน แกรนต์
นอกจากนี้ที่สังเกตได้อีกคือ ตัวตน สตีเวน แกรนต์ ไม่เพียงแต่จะเป็นที่จัดเก็บความทรงจำดีๆ ของมาร์ก สตีเวนยังเป็นการจงใจสร้างตัวตนให้ดีหรือตรงกันข้ามแบบสุดโต่งไปเลย เพื่อให้ไกลกับตัวเองที่เขาพร่ำเกลียดพร่ำด่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนสิ่งที่น่าสนใจที่ไม่อาจมองข้ามได้ ก็เห็นจะเป็นรายละเอียดเรื่องนิสัยและความชอบของบุคลิกสตีเวน ที่ได้รับมาจากเลย์ลาและพ่อของเธอ ในซีรีส์ตอนแรกๆ จะสังเกตได้ว่าสตีเวนชอบกวีคนเดียวกับเธอ เนิร์ดอียิปต์เหมือนพ่อเธอ—คนที่มาร์กอยากเป็น—รวมถึงทำตัวซื่อๆ จริงใจไม่ปิดบัง และโรแมนติกกับเลย์ลาจนเลย์ลาดูจะปลื้มและยิ้มเสมอตอนที่อยู่กับสตีเวน ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าบุลิกสตีเวนคือบุคลิกของคนที่มาร์กอยากเป็น หรืออยากให้มี เป็นบุคลิกที่เขารู้ว่าถ้าได้เป็นเช่นนี้จะมีชีวิตปกติสุขและอยู่กับหญิงคนรักได้อย่างยาวนานกว่ามาร์ก นั่นคือสาเหตุที่เขาตั้งใจจะจบเรื่องทุกอย่างที่คอนชูต้องการ จากนั้นจะให้สตีเวนยึดร่าง
ตัวตนสตีเวนไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของมาร์ก กระทั่งคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครหลัก (เหมือนที่ซีรีส์หลอกให้เราเชื่อ) ในขณะที่มาร์กเป็นคนเดียวที่รู้ แต่มาร์กที่ควบคุมมาได้ตลอดกลับเสียการควบคุม และเริ่มถูกเทกโอเวอร์ร่างกายเป็นช่วงๆ ก็ตอนที่แม่เขาเสียซึ่งถือเป็นเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง จากนั้นด้วยความเจ็บปวดสุดขีด มาร์กก็เลยใช้ทางหนี โดยการเอาสตีเวนมาแทนที่เพื่อบังรอบร้าวโดยไม่รู้ตัว ด้วยการใส่รายละเอียดให้แม่ของเขายังมีชีวิตอยู่ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา มาร์กก็ไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีกเลย พอสตีเวนได้รู้ จึงเข้าข่าย “เราคิด เราจึงมีตัวตน” เท่ากับตอนนี้บุคลิกในร่างมาร์กนั้นมีอยู่สองบุคลิกอย่างเป็นทางการ
โรคที่มาร์คเป็น คือ โรคหลายอัตลักษณ์หรือโรคหลายบุคลิก (dissociative Identity disorder) หรือเรียกย่อๆ ว่า DID ซึ่งเป็นโรคเดียวกับ split personality disorder ที่ชายชื่อ บิลลี มิลลิแกน (Billy Milligan) เป็น Billy มีบุคลิกมากถึง 23-24 บุคลิก เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นหนังที่มีทีท่าจะจิตวิทยาก่อนเปลี่ยนเป็นแนวหลุดโลกอย่าง Split (2016) และมักจะถูกใช้ยกตัวอย่างเมื่อพูดถึงผู้ป่วยโรคนี้เสมอ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรค DID ถูกวินิจฉัยว่า มักเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนหรือถูกสร้างคงามเจ็บปวดรวดร้าวบางอย่างกับจิตใจในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ถูกทำร้ายทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย กรณีของมาร์กคือการผิดหวังในตัวเอง และเสียใจที่ทำให้แม่เป็นแบบนั้น และเป็นแบบนั้นจนถึงความทรงจำสุดท้ายที่มีต่อแม่
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมตาชั่งถึงเท่ากับขนนกได้? ในหัวใจสีขาวที่ทาเวเร็ตนำออกมาจากทั้งสองจะเห็นว่า ในทางสัญลักษณ์คือราวกับว่าข้างในมีน้ำอย่างละครึ่ง เพราะอัตราส่วนแบ่งวิญญาณนั้นถูกแบ่งเป็นสอง สาเหตุไม่ใช่เพราะมีสตีเวนกับมาร์ก แต่อาจเพราะสตีเวนมีความทรงจำไม่ตรงกับมาร์ก จึงเกิดเป็นความเข้าใจต่อชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นที่แตกต่างกัน และทำให้ตาชั่งไม่สามารถทำงานได้ (ตาชั่งบนแขนของแฮร์โรว์ก็ด้วย) สตีเวนจึงต้องได้รับรู้เท่าๆ กันกับมาร์ก และมาร์กต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้ว อันที่จริงเพื่อนอย่างสตีเวนไม่ต่างอะไรไปกับเพื่อนในจินตนาการ (imaginary friend) ที่เด็กบางคนสร้างขึ้นมาอาจจะเพราะต้องการความรู้สึกปลอดภัยหรือเพื่อไม่ให้โดดเดี่ยว ในกรณีนี้คือเพราะปรารถนาที่จะเป็นคนอื่น เป็นคนที่มีแต่ด้านดีๆ จึงได้สร้างตัวตนเพื่อที่จะนำมาใช้ได้ตลอดเวลายามต้องการ
โดยการที่คอนชูเลือกมาร์กเป็นร่างอวตารนั้น ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะแค่ตามลำพังการจัดการกับการควบคุมร่างก็ยากมากพอแล้ว (ถึงแม้ในซีรีส์ตอนสุดท้ายเราจะได้เห็นฉากบู๊ฮีโร่สุดเท่ของ Moon Knight และ Mr. Night ตามแบบฉบับของมาร์กและสตีเวนก็ตาม)
พอกลับมาที่เรื่องที่มาร์กเคยทำ และดูผลลัพธ์ของตาชั่ง ก็ทำให้พอเข้าใจคอนเซปต์ของอียิปต์ได้ ว่าคำว่า ‘หัวใจที่ดี’ (good heart) ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยทำสิ่งเลวร้าย แต่คำถามมีอยู่ว่า การกระทำนั้นเป็นเพราะสมองสั่งการอย่างตั้งใจและมีการคิดถี่ถ้วนมาก่อนหรือไม่ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่เกิด ด้วยความที่เด็กชายไร้เดียงสาและไม่ได้คิดมุ่งร้ายกับน้องอย่างที่พ่อเขารู้และแม่เขาเข้าใจผิด เขาจึงมีคุณสมบัติของการเป็นคนที่ผ่านเกณฑ์ ส่วนการที่สตีเวนตกเรือไปนั้น ก็เปรียบได้กับกับการที่เขาต้องละทิ้งเพื่อนคนนี้ไปและเป็นมาร์กที่เผชิญหน้ากับความเป็นจริงด้วยตัวเอง
ซึ่งก็อย่างที่เห็น ท้ายที่สุดมันมากไปกว่านั้น บุคลิกสตีเวนได้ปลอบมาร์กว่าเขาไม่ได้ตั้งใจและไม่เป็นไรที่จะรู้สึกเจ็บปวด หรือพูดง่ายๆ คือ บัดนี้ มาร์กมีความเข้าใจใจตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง การกลับไปช่วยสตีเว่นจึงไม่ใช่การที่เขายังต้องการที่จะเป็น ‘2 in 1’ เหมือนเดิมหรือตั้งใจจะใช้สตีเวนเพื่อการใดการหนึ่ง แต่เป็น ‘2 as 1’ หรือมองสตีเวนเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่มีตัวตนจริงๆ เกินกว่าจะทอดทิ้ง (สองความทรงจำ สองบุคลิก เท่ากับสองคนที่มีตัวตน) เป็นเพื่อนสนิทคนนึงที่ต่อให้นิสัยต่างกันแต่ก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ที่ไม่สามารถทิ้งไว้แล้วมาเสวยสุขคนเดียวได้ ยิ่งสตีเวนต้องลงไปอยู่ที่ทะเลทรายเพื่อปกป้องมาร์กด้วยแล้ว มันเหมือนเพื่อนคนนี้ทั้งคอยปกป้องและแทนที่ในยามที่เขาต้องการนั่งกอดเข่าคุดคู้ในห้วงความมืดมิดเงียบๆ (หรือร้องไห้ในบางครั้ง) จนถึงนาทีตัดสินความเป็นความตาย
อีกสิ่งที่ควรพูดถึงคือบุคลิก เจค ล็อกลีย์ (Jake Lockley) ที่พูดภาษาสเปนได้ และดูจะไร้ปรานี (เตะรถเข็นคนแก่ด้วย คิดดูแล้วกัน) แน่นอน—รับใช้คอนชู การเฉลยในตอนท้ายรวมถึงทฤษฎีระหว่างดูเป็นสิ่งที่ชวนคิดว่า เจคเป็นบุคลิกที่อยู่กับทั้งสองคนและเราคนดูมาตั้งแต่ต้น หรือบางทีอาจจะรับผิดชอบเหตุการณ์ความรุนแรงหลายๆ ฉากที่เราเข้าใจมาตลอดว่าเป็นฝีมือมาร์กด้วยซ้ำไป ไปจนถึงที่มาร์กบอกว่าวูบแล้วถูกปลดจากทหาร หรือมีคนตาย นั่นอาจจะเป็นเพราะบุคลิกเจคเป็นบุคลิกที่ทั้งมาร์กและสตีเวนไม่เคยรู้ว่ามีอยู่มาก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำไมถึงไม่ได้มีหัวใจสามดวง ก็อาจจะเป็นเพราะเจคถูกฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ซึ่งก็คือโลงศพที่เขย่าๆ อยู่ในห้องห้องหนึ่งในห้วงความทรงจำ มันจึงเป็นไปได้ว่าการหลอกตัวเองถึงขั้นนี้อาจจะหลอกได้แม้กระทั่งเทพหลังความตายด้วย
“นายจะตัดสินคนอื่นโดยที่เขายังไม่กระทำความผิดงั้นหรือ?”
นอกจากเรื่องบุคลิกของมาร์กแล้ว เรื่องความดีเองก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยในซีรีส์เรื่องนี้ โดยส่วนตัวรู้สึกว่าซีรีส์เลือกจะแตะประเด็นนี้ไม่ลึกมาก ถึงอย่างนั้นก็พอจะกระตุ้นความคิด ชวนให้คิดต่อยอดไปได้ โดยส่วนนี้ที่ทำให้น่าเอามาขบคิดอย่างน่าสนใจ เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวละครแฮร์โรว์ ที่ถือครองพลังแห่งการตัดสินของอัมมิต (Ammit) เทพหน้าจระเข้ที่สามารถตรวจสอบว่าใครควรอยู่ควรไป หรือใครจะทำผิดในอนาคต แฮร์โรว์จึงเชื่อในการตัดไฟแต่ต้นล้ม ไม่ใช่การแก้ที่ปลายเหตุเหมือนที่คอนชูทำ—คือเจอคนชั่วก็แปลงร่างเป็น ‘ผู้พิทักษ์แห่งดวงจันทร์ ที่ออกตระเวนยามราตรี’ แฮร์โรว์มองว่าตรงนี้เป็นการกระทำที่วัวหายล้อมคอก ซีรีส์ใช้ตรงนี้ตั้งคำถามน่าสนใจ เหมือนกรณีของหนังไซ-ไฟชวนคิดอย่าง Minority Report (2002) ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่กล่าวถึงโลกอนาตที่สามารถจับผู้ร้ายก่อนที่คนคนนั้นจะลงมือกระทำความผิดได้
ซึ่งที่ต้องถามก็คือ แล้วอะไรคือถูก-ผิด ดี-เลว บาป-ไม่บาป เหมือนที่สตีเวนถามแฮร์โรว์ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการไปตัดสินคนแบบนี้มันถูกต้อง เราไม่ให้โอกาสพวกเขาเปลี่ยนเลยหรือ แล้วเราจะตัดสินกระทั่งเด็กทารกที่วันนึงเค้าจะโตไปเป็นคนไม่ดีโดยไม่ลองหรือให้โอกาสเด็กเลยหรือ ที่เรื่องการตัดสินล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ทำยาก ก็เพราะขนาดเราจะตัดสินคนในปัจจุบัน (หรือบางทีอาจไม่ควรตัดสินในหลายๆ ครั้ง) ก็ยากจะบอกว่าอะไรคือเรื่องดีไม่ดีอย่างแท้จริง เช่น การโกหกสีขาว (white lie) ที่สร้างขึ้นเพื่อไม่ให้อีกคนเสียใจหรือรับรู้ความจริงอันเลวร้ายบางอย่าง, การทำสิ่งเลวร้ายลงไปโดยไม่ตั้งใจและปราศจากเจตนาของมาร์ก หรือการมองเห็นความสำคัญส่วนรวมมากกว่าส่วนน้อยที่เรียกว่า ประโยชน์นิยม (utilitarianism) เหมือนที่ เออร์วิน สมิธ (Erwin Smith) ในอนิเมะ Attack on Titan พาคนไปตายอย่างเสียสละ หรือที่ โอซีแมนเดียส (Ozymandias) ในหนัง Watchmen (2009) ใส่ร้ายด็อกเตอร์แมนฮัตตัน (Dr. Manhattan) เพื่อความสงบสุขของมวลมนุษยชาติ อะไรเหล่านี้เป็นเรื่องผิดหรือถูก สมควรไม่สมควรกว่ากันกันแน่
สุดท้ายแล้วมันดูเป็นข้ออ้างให้ผู้ถือตราชั่งอย่างอัมมิตและแฮร์โรว์เป็นคนที่มีตัวตนและทรงพลังมากกว่า ซึ่งนับเป็นการแทรกแซงกับมนุษย์โดยตรง แถมยังไม่ต้องให้มนุษย์บูชาอีกด้วย เพราะหากไม่มีสิ่งนี้ ทั้งสองก็เป็นแค่คนธรรมดากับเทพถูกเนรเทศที่ถูกลืมก็เท่านั้น ทั้งสองไม่ต่างอะไรไปจากเรื่องสมมติที่ว่าด้วยรัฐบาลหนึ่งที่คนไม่ต้องการ แต่อ้างว่ารัฐประหารเพื่อความสุขของประชาชน แต่เข้ามาก็เพื่อฉวยโอกาสกินและมีตำแหน่งหน้าที่ ทำไมใครสักคนถึงเดินมาพร้อมกับตาชั่ง? เกณฑ์การประเมินของอียิปต์ฝั่งเดียวคือเกณฑ์ที่ถูกต้องแท้จริงและในการประเมินสิ่งมีชีวิตทั้งโลกอย่างแม่นยำได้จริงๆหรือ ในเมื่อคำว่า บาป-ไม่บาป ผิด-ไม่ผิด ถูกนิยามต่างกันตามศาสนาและความเชื่อ ตราบใดที่คนยังใช้อะไรเหล่านี้ตัดสินอยู่? ที่แท้จริงเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตราชั่งของอัมมิต (รวมถึงรัฐบาลสมมติที่ว่า) นั้นเที่ยงตรง แม่นยำ และตัดสินถี่ถ้วนด้วยอัลกอริทึมจากหลักฐานในอดีต ปัจจุบัน อนาคต อย่างถูกต้อง? ในเมื่อสุดท้ายแล้วความเป็นจริงเชิงภววิสัย (objective) ก็มักจะถูกบดบังด้วยทัศนคติและมุมมองอัตวิสัย (subjective) เสมออยู่ดี ตราบใดที่โลกนี้มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นบนสุด
และเช่นเดียวกัน ในซีรีส์ Moon Knight เราจะได้เห็นประเด็นของเทพเจ้า ซึ่งพูดถึงมนุษย์กับความเชื่อได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว ซีรีส์เรื่องนี้ว่าด้วยเทพเจ้าอียิปต์ ซึ่งในอารยธรรมของคนอียิปต์นั้นพวกเขาเป็นนักสังเกตและตั้งคำถามตัวยง เพียงแต่ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มีวิทยาศาสตร์ (หรือศาสนาความเชื่อนับเป็นวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นแล้ว?) หรือความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควรยึดถืออย่างแรงกล้า คำตอบที่พวกเขาสร้างขึ้นมาหรือมีให้แก่ที่มาต่างๆ ของสรรพสิ่งมาจากเทพเจ้าหรือมีเทพเจ้าผู้สร้างที่รับผิดชอบต่อการมีอยู่เสมอ
นี่เป็นเรื่องที่สามารถใช้ความอียิปต์มาอธิบายระบบความเชื่อได้เป็นอย่างดี การเป็นนักสังเกตของคนอียิปต์ทั้งในโลกจริงและในซีรีส์เมื่อหลายพันปีที่แล้ว เกิดขึ้นภายใต้ภูมิศาสตร์แบบโล่ง รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในระยะที่สามารถสังเกตเห็นได้ (within range) ไม่ว่าจะเป็น พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทราย แม่น้ำ ความตาย รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ ที่พวกเขาสามารถพบเจออย่างจระเข้ นก ฮิปโป และอื่นๆ
เพราะคำถามมีหลายคำถาม คือ ความเชื่อสูงสุดเหล่านี้มีความเป็นสากลและสามารถเป็นหลักโดยทั่วไปของทั้งโลกและจักรวาลหรือไม่? หรืออยู่ภายใต้เซิร์ฟเวอร์เดียวแล้วถูกนับว่าเป็นความจริงสูงสุด? เทพเจ้าของพวกเขาจะยังมีตัวตนหรือไม่? หรือมีแบบไหน? หากพวกเขาไม่ได้มีวัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้พบเจอสัตว์สักตัวที่จะนำไปตั้งเป็นเทพเจ้าได้? การสร้างระบบความเชื่อและเรื่องเล่าเหล่านี้มักสอดคล้องกับสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้เสมอ ตามสภาพภูมิศาสตร์และท้องฟ้าอากาศดังเดิม
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเหล่านี้ในหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้คนเชื่ออย่างงมงาย หรือจะต้องพูดว่าตำนานและเรื่องเล่าหลากวัฒนธรรม พื้นที่ ความเชื่อ เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีเสน่ห์และน่าค้นหาเสมอก็ว่าได้
มนุษย์สร้างเทพเจ้าและเรื่องเล่ามาอย่างมีเหตุผลและมีการสัญลักษณ์กันตั้งแต่ไหนแต่ไรเพื่อสื่อสารถึงอะไรบางอย่าง เหมือนเรื่องราวดอกบัว 7 ดอกของเด็กทารกที่สามารถเกิดมาแล้วเดินได้เลย 7 ก้าวพร้อมกับมีดอกบัวผุดมารองที่พวกเราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือเรื่องเชิงสัญลักษณ์ (symbolic) ของศาสนาหนึ่งเพื่อสื่อสารถึงอะไรบางอย่างผ่านภาพวาดและเรื่องราว ที่ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ใช่เรื่องที่อยากให้ใครเชื่ออย่างงมงายโดยปราศจากความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เช่นกัน เพราะสำคัญที่สุด เมื่อเรามองเรื่องเล่าในรูปแบบต่างๆ ทั้งหนัง หนังสือ ซีรีส์ เรื่องเล่าจากปากต่อปาก กระทู้พันทิป หรือเรื่องเล่าศาสนาก็ตาม เป็นเรื่องที่ควรมีการตั้งคำถามเสมอว่าเราควรคิดยังไงกับเรื่องราวนั้นๆและสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้างมากกว่าการเชื่ออย่างงมงาย
และเมื่อเราผ่านกระบวนคิด เราจะมองเห็นความเป็นจริงในสัญลักษณ์เหล่านั้นเอง เช่นมองหน้าคอนชูเป็นดวงจันทร์และท้องฟ้า มองหน้าเทพราห์แล้วนึกถึงดวงอาทิตย์ และมองการบูชาเทพกับการเลิกบูชาเทพตามกาลเวลาในซีรีส์ Moon Knight รวมถึงหนังประเภท ‘เทพเจ้าที่ช่วยสร้างอารยธรรมมนุษย์แต่ขอไม่แทรกแซง’ อย่าง Eternals (2021) เป็นสัจธรรมที่จะเกิดขึ้น เมื่อกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ถูกแทนที่ด้วยความเชื่อล้วนๆ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ เพียงแต่ว่าในจักรวาลมาร์เวลนั้น เทพดันมีจริง และได้รับผลกระทบจากการที่เราไม่สนใจพวกเขาก็เท่านั้น พวกเขาจึงงอนและไปจากดาวโลกแล้วย้ายไปอยู่ในมิติอื่น
ทั้งหมดในตอนนี้คือประเด็นที่เจอ และประเด็นที่มองเห็นว่าควรพูดถึง (หรืออาจไม่หน่อยแล้ว) ของซีรีส์ Moon Knight และเป็นเหตุลโดยส่วนตัวที่ทำให้สนใจเรื่องนี้จนตามดูยันจบ แม้จะยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากตกเทรนด์ก็ตาม (เพื่อนๆ และคนรอบตัวเหมือนจะดูกันหมด) ซึ่งจะว่าไปแล้วซีรีส์ Moon Knight ก็อาจไม่ได้มีโครงเรื่องที่โดดเด่นหรือแปลกใหม่อะไรนัก มันมีสูตรสำเร็จแทรกอยู่ในทุกอณู แม้กระทั่งการสำรวจจิตใจก็ได้ทำไปแล้วในมินิซีรีส์ WandaVision เพียงแต่องค์ประกอบทางด้านอียิปต์ๆ ผสมผจญภัย คาแร็กเตอร์ตัวละครมาร์กกับ สตีเวน และแง่มุมจิตวิทยากับปรัชญาเบาๆ แต่ชวนคิดหนักๆ ได้เหล่านี้เอง สร้างเอกลักษณ์ให้กับซีรีส์เรื่องนี้ แบบที่ถึงแม้ว่าอาจไม่ใช่ซีรีส์ที่ดีที่สุดของมาร์เวลสำหรับบางคน แต่ถ้าพูดถึงซีรีส์มาร์เวลเชื่อว่าคนจะนึกถึง Moon Knight หลายๆ ฉาก และประเด็นในซีรีส์เรื่องนี้
ท้ายที่สุดพระจันทร์ก็เต็มดวง และแน่นอนว่าเรื่องที่โดดเด่นที่สุดก็คือภายในหัวและความทรงจำของมาร์กในฐานะเรื่องราวสำรวจจิตใจ หากสังเกตดีๆ สุดท้ายแล้วสิ่งที่หนัง/ซีรีส์ฮีโร่มักจะมีแก่นเดียวกันเสมอคือเจ็บปวดและเติบโต ‘live and learn.’ กับ ‘fall and stand up.’ เคสของสตีเว่น แตกต่างกับเคสวานดา (Wanda) ตรงที่ไม่ใช่คนไม่มูฟออน แต่เป็นคนที่กลบฝังความเจ็บปวดแบบแกล้งทำเป็นลืมสนิทได้ มันจึงน่าสนใจว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แล้วจะเป็นยังไงต่อ กับแง่มุมมนุษย์มากกว่าแง่มุมแอ็กชั่นเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เล่าเรื่องนี้ก็เพียงเท่านั้น ก่อนที่จะเป็นฮีโร่ช่วยคน สู้กับเหล่าร้าย มาร์ก สเปกเตอร์ ควรที่จะกล้าพอสู้กับตัวเองและอดีตอันขมขื่นก่อน และสุดท้ายแล้วผู้ที่จะเยียวตัวเองได้ก็คือตัวเอง ฉะนั้นตัวเองต้องเข้าใจและรู้จักตัวเองให้ดีก่อน ถึงจะทำแบบนั้นได้
ทำไปทำมา Moon Knight ผมมองว่ามันเป็นซีรีส์การเดินทางทางจิตใจดีๆ นี่เอง ผู้สร้างเองตอนซีรีส์จบใหม่ๆ ก็ได้ออกมาพูดเช่นกันว่านี่คือซีรีส์ที่ควรดูสองรอบ จนถึงเปิดกว้างให้ตีความทั้งเรื่องสัญลักษณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าสุดท้ายแล้วฮีโร่คนนี้มีจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นในหัวของนายมาร์ก—แน่นอน นั่นคือก่อนที่จะมีโครงกระดูกนกใส่สูทสีขาวนั่งรถหรูทรงยาวเบาะแดง พร้อมกับชายคนนึงที่ใช้ปืนยิงตัวร้ายของเรื่องแล้วตัดจบไป