เรือนกายมีสีเงินตัดสลับกับแดง มีปุ่มไฟสัญญาณบนหน้าอก ต่อสู้บนพื้นโลกได้เพียงสามนาที และมีลำแสงไว้พิชิตคู่ต่อสู้
ลักษณะที่กล่าวไปนี้คือภาพจำของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงจากดาว M-78 หรือที่ถูกเรียนขานกันในชื่อว่า ‘อุลตร้าแมน’ ผลงานแนวโทคุซัทสึที่คนไทยมักจะเรียกกันว่า หนังแปลงร่าง ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1966 โดย บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ตอนนี้ฮีโร่ในนามว่าอุลตร้าแมนกลับมาอีกครั้งในช่องทาง Netflix และไม่ใช่การปรากฎตัวแบบยักษ์ใหญ่ปราบสัตว์ประหลาด แต่เป็นเกราะเหล็กดูทันสมัย และในเรื่องยังมีการปรากฎตัวของอุลตร้าเซเว่นกับอุลตร้าแมนเอซ ที่ก็เป็นคนใส่เกราะเหล็กเหมือนกัน
แต่อุลตร้าแมนในรูปลักษณ์ใหม่เป็นกาารปรับตัวตามยุคสมัย หรือต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อเลี่ยงบาลีบางประการกันแน่?
Ultraman ฉบับ Netflix มีที่มาที่ไปอย่างไร?
อุลตร้าแมนฉบับ Netflix ไม่ได้เป็นการสร้างงานใหม่หมดจดเสียทีเดียว แต่เป็นการดัดแปลงจากมังงะของอาจารย์ Shimizu Eiichi กับอาจารย์ Shimoguchi Tomohiro คู่หูนักเขียนที่สร้างชื่อจากการเขียนมังงะเรื่อง Kurogane No Linebarrel อันเกิดจากความเป็นโอตาคุของการ์ตูนแนวหุ่นยนต์ และพวกเขาเองก็ยังอินกับหนังแนวโทคุซัทสึ ไม่ต่างกับเด็กยุด 80-90s คนอื่นๆ พวกเขายังเคยเขียนโดจินชิ (หรือหนังสือทำมือ) ที่ตีความฮีโร่แปลงร่างคนอื่นมาก่อนแล้ว ทาง ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ที่เป็นผู้ดูแลตัวละครอุลตร้าแมน จึงได้เสนอให้นักเขียนคู่นี้มาทำการวาดมังงะเรื่องใหม่ที่เกี่ยวกับฮีโร่คนนี้
ณ ตอนแรกนักเขียนทั้งสองคนก็ปฏิเสธข้อเสนอ แต่สุดท้ายเมื่อพวกเขาได้รับทราบโจทย์ว่า มังงะเรื่องใหม่จะให้ตีความอุลตร้าแมนที่ไม่ได้มีร่างยักษ์ อาศัยอยู่ในโลกอนาคตอันใกล้ และเป็นการพยายามต่อสู้ของผู้มีพลังพิเศษที่ใส่เกราะต่อสู้กับสัตว์ประหลาด และอยากได้ลักษณะคล้ายกับคอมิกส์ซูเปอร์ฮีโร่ของฝั่งอเมริกา ซึ่งใกล้เคียงแนวคิดของนักเขียนคู่นี้ พวกเขาจึงตกลงยอมรับข้อเสนอและเริ่มพัฒนามังงะเรื่องใหม่
ไอเดียในช่วงแรกๆ ระบุว่าจะให้เป็นเรื่องที่ไม่มีสัตว์ประหลาด ก่อนที่นักเขียนทั้งสองคนจะยื่นโครงเรื่องให้มีการเชื่อมโยงกับเรื่องราวดั้งเดิม พัฒนาปมตัวละครให้เข้มข้นขึ้น ในขณะเดียวก็ทำให้คนที่เคยดูอุลตร้าแมนต้นฉบับอินได้
สุดท้ายมังงะอุลตร้าแมนที่ถือว่าเป็นภาคแยกภาคใหม่ก็ได้กำเนิดขึ้น ตัวเรื่องยึดเอาช่วงเวลาหลังจากอุลตร้าแมนตนแรกเดินทางออกจากโลกนี้ไปแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี และโลกไม่ถูกรุกรานจากมนุษย์ต่างดาวอีกแล้ว จนกระทั่งเหตุการณ์เมื่อ 12 ปีก่อนเนื้อเรื่องจะเริ่มต้นขึ้นได้มีมนุษย์ต่างดาวบุกเข้ามาบนโลกและก่อเหตุวุ่นวาย จนทำให้หน่วยวิทยะต้องเคลื่อนไหวอย่างจริงจังอีกครั้ง และคราวนี้เป็นหน้าที่ของ ฮายาตะ ชินจิโร่ ที่ได้รับ “พันธุกรรมของอุลตร้าแมน” มาจาก ฮายาตะ ชิน มนุษย์โลกที่เคยรวมร่างกับอุลตร้าแมน ทำให้เด็กหนุ่มที่มีกำลังเหนือปกติต้องสวมเกราะเหล็กและรับรู้ความจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในห้วงอวกาศ โดยมีโลกเป็นเวทีของสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์
อะไรที่ Ultraman ดึงมาจากซีรีส์ต้นฉบับบ้าง?
แม้ว่าใน Ultraman ฉบับฉายบน Netflix จะปรับเรื่องให้ตัวละครมาใส่ ‘อุลตร้าแมนสูท’ เข้าต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว กระนั้นด้วยความเป็นแฟนหนังแนวโทคุซัทสึของผู้เขียนมังงะทั้งสองคน ก็ทำให้พวกเขาตั้งใจเก็บกิมมิคหลายอย่างจากซีรีส์ภาคหลักเอาไว้ อย่างกลุ่มของตัวละครที่เป็นมนุษย์ต่างดาวนั้นยังคงเป็นกลุ่มเดียวกับซีรีส์หลัก อาจจะมีเปลี่ยนดีไซน์ให้เข้ากับท้องเรื่อง ที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นมนุษย์ต่างดาวดาด้า ที่ในอุลตร้าแมนฉบับดั้งเดิมจะมีความน่ารักอยู่เยอะ (จริงๆ เขาก็โหดอยู่นะครับ แต่มีบางภาคแหละที่น่ารักน่าชัง) ก็ปรับให้มาเป็น อาแด็ด (Adad หรือการเขียนชื่อ ดาด้า แบบกลับหลัง) และมาพร้อมกับมาดสายลับมากความลับแทน
ตัวละครหลักก็มีการอิงกิมมิคมาชัดเจน อย่างโมโบโรชิ ดัน ที่ใส่อุลตร้าแมนสูทเซเว่น กับโฮคุโตะ เซย์จิ ที่ใส่อุลตร้าแมนสูทเอซ ก็ใช้ชื่อตัวละครเหมือนเดิมกับฝั่งซีรีส์คนแสดง ส่วนชุดเกราะก็อ้างอิงจากตัวอุลตร้าแมนต้นฉบับ อย่างตัวอุลตร้าเซเว่นสูทที่ตัวต้นฉบับสามารถดึงอายสลักเกอร์จากหัวมาใช้เป็นอาวุธได้ก็กลายมีดบินแทน และท่าโจมตีที่เป็นลำแสงตัดผ่าศัตรูก็โดนตีความกลายเป็นดาบ ฝั่งโฮคุโตะ เซย์จิ ก็เป็นการดึงเอาชื่อมาจากซีรีส์คนแสดง และชุดเกราะอุลตร้าแมนเอซสูทก็มีท่าไม้ตายที่อ้างอิงมาจากต้นฉบับ ท่าเรียกชุดเกราะของเขาก็อิงมาจากท่าแปลงร่างของอุลตร้าแมนในซีรีส์ต้นฉบับเช่นกัน ส่วนอุลตร้าแมนสูทของชินจิโร่ ก็ยังมีกิมมิคที่ปลดลิมิตเตอร์แล้วใช้งานได้สามนาทีเหมือนกับอุลตร้าแมนทุกตนเวลาลงมาสู้บนโลกนั่นเอง
อีกส่วนที่อนิเมะ Ultraman ใช้ คือ วิธีสร้างโดยให้นักแสดงมาทำการแสดงแล้วเก็บภาพไว้ไปสร้างคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อทำอนิเมะในภายหลัง ขั้นตอนในการถ่ายทำงานก็ละม้ายคล้ายซีรีส์ดั้งเดิม แค่สลับจากการใส่เสื้อผ้าหรือชุดยางมาเป็นการใส่อุปกรณ์โมชั่นแคปเจอร์แทนนั่นเอง
ถ้าเช่นนั้น Ultraman ฉบับ Netflix ถือว่าเป็นภาคแยกภาคแรกของซีรีส์นี้หรือไม่?
สำหรับแฟนอุลตร้าแมนน่าจะทราบกันดีกับคำตอบของคำถามนี้ แต่ท่านที่ไม่คุ้นเคยอาจจะไม่ทราบว่าทางญี่ปุ่นมีการจัดทำมังงะภาคแยกที่ตีความเรื่องราวใหม่มาหลายครั้ง ที่เด่นๆ ก็คงจะต้องยกให้มังงะ The Ultraman ของอาจารย์ Uchiyama Mamoru ผู้ล่วงลับ ตัวมังงะยึดโครงเรื่องหลักจากซีรีส์อุลตร้าแมนต้นฉบับ แต่จะเล่าเรื่องการต่อสู้ครั้งใหม่ที่เน้นสนามรบอยู่ในอวกาศมากขึ้น และมีการใส่ตัวละครใหม่เข้ามา อาทิ เมลอส (Melos) นักรบอุลตร้าที่มาพร้อมกับชุดเกราะที่สภาพดูน่าเกรงขาม และต้องเผชิญหน้ากับตัวร้ายอย่าง ราชาปิศาจแจ็คคัล (Jackal) ที่เล่นงานพี่น้องอุลตร้าจนพลาดท่าได้
มังงะภาคแยกอีกเรื่องหนึ่งที่น่าพูดถึงก็คงไม่พ้น Ultraman Story 0 ที่ได้อาจารย์ Mafune Kazuo ที่หลายคนน่าจะจดจำผลงานเด่นอย่างเรื่อง Super Doctor K ของอาจารย์ได้ดี โดยมังงะฉบับนี้เป็นการเล่าเรื่องก่อนที่อุลตร้าแมนทุกคนจะมาทำหน้าที่ปกป้องโลก พวกเขาเคยแวะเวียนดาวไหน ฝึกวิชามาอย่างไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกันบ้าง รวมไปถึงเรื่องราวของดาว M-78 รายละเอียดอื่นๆ ที่มีความแตกต่างจากฉบับซีรีส์หลักอยู่บ้าง
ไม่ใช่แค่ในรูปแบบมังงะเท่านั้น อุลตร้าแมนยังเคยถูกสร้างภาคแยกในรูปแบบอนิเมะมาแล้ว อาทิ The☆Ultraman (ต้องมีดาว) เล่าเรื่องของ อุลตร้าแมนโจเนียส ที่มาจากดาว U40 แทนที่จะเป็นดาว M78 ซึ่งมารวมร่างกับโจอิจิโร่ ฮิคาริ โดยใช้อุปกรณ์รูปดาวในการเปลี่ยนร่างและต่อสู้กับสัตว์ประหลาดไม่แตกต่างจากรุ่นพี่อุลตร้าแมนคนอื่นๆ แถมในภายหลังได้ไปปรากฏตัวในภาพยนตร์อุลตร้าแมนอีกด้วย
อนิเมะอีกเรื่องที่เป็นภาคแยกก็คือ Ultraman USA / Ultraman: The Adventure Begins ภาพยนตร์อนิเมะที่เน้นการเจาะตลาดอเมริกา มีตัวละครอุลตร้าแมนสพิเศษตัว คือ อุลตร้าแมนสก็อต อุลตร้าแมนชัค และอุลตร้าวูเมนเบธ
นอกจากนี้ถ้าดูในฝั่งซีรีส์คนแสดงก็มีภาคแยกย่อยเช่นกัน แต่ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลัก ศึกสัตว์ประหลาดพิทักษ์โลก Ultra Galaxy Mega Monster Battle ซีรีส์ที่มนุษย์ต่างดาวนำเอาสัตว์ประหลาดมาดวลกันนั้นก็เกือบจะไม่มีอุลตร้าแมนมาปรากฏตัวเลย แต่มีการเดินเรื่องเชื่อมโยงกับเรื่องของอุลตร้าแมนซีโร่ในภายหลัง
แล้วก็มีภาคแยกที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคหลักตรงๆ อย่าง อุลตร้าแมนไนซ์ ที่เน้นขายของเล่นและขนม หรืออุลตร้าแมนซีเอิร์ธ ที่เป็นหนังพาโรดีซีรีส์อุลตร้าแมนเอง (จะบอกว่าชงเองแซวเองก็ไม่ผิด)
ซึ่งถ้ามองภาพรวมแล้ว ภาคแยกของอุลตร้าแมนมักจะเป็นการสร้างงานที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะกลุ่ม อย่างตัว Ultraman ที่ฉายใน Netflix ก็จะเน้นการตีความให้ทันสมัย กับพล็อตเรื่องลึกลับ ตัวละครที่มีปมในใจ สอดคล้องกับแนวทางของคนดูยุคใหม่ในหลายๆ ประเทศที่อินการรับชมซีรีส์ของอเมริกาที่เข้าถึงเรื่องได้โดยง่าย และเชื่อว่าคงจะมีการทำภาคแยกให้สอดคล้องกับความนิยมของยุคสมัยต่อไปในอนาคต
หรือที่มาทำภาคแยกเพราะมีปัญหาการฟ้องร้องของภาคหลัก?
ส่วนนี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนได้ยินและสังเกตหลายๆ ท่านที่เห็นตัวอย่างของ Ultraman แล้วคิดไปว่าอนิเมะเรื่องนี้เป็นการตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อรีบูต และเลี่ยงบาลีในกรณีที่มีการฟ้องร้องคดีของอุลตร้าแมนอยู่ในศาลหลายประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วการสร้างอนิเมะภาคนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันนักกับคดีดังกล่าว จากเหตุที่ตัวอนิเมะถูกสร้างมาจากมังงะที่เป็นภาคแยกอีกทอดหนึ่ง แต่ก็คิดว่าควรจะสรุปเรื่องราวของคดีอุลตร้าแมนที่มีการฟ้องร้องระหว่างชาวไทยกับชาวญี่ปุ่นนั่นเอง
คดีฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์ของอุลตร้าแมนเริ่มขึ้นในช่วงที่ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ พยายามที่จะบุกตลาดต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือการจับมือกับ ไชโย โปรดักชั่นส์ ในการสร้างภาพยนตร์ หนุมานพบเจ็ดยอมนุษย์ และ ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ จากนั้นก็มีการกล่าวอ้างว่า คุณสมโพธิ์ แสดงเดือนฉาย ที่เป็นประธานบริษัท ไชโย โปรดักชั่นส์ ได้รับสิทธิ์จากคุณซึบุราญ่า โนโบรุ ลูกชายของคุณซึบุราญ่า เออิจิ ในการถือสิทธิ์ของอุลตร้าแมนทุกภาค (ณ เวลานั้น) ชดเชยแทนการชำระหนี้ที่บริษัททางญี่ปุ่นติดค้างบริษัทในไทยไว้ จนทำให้เกิดปัญหาลิขสิทธิ์ขึ้นมาในภายหลัง
แต่การดำเนินการทางกฎหมายในชั้นศาลเริ่มต้นขึ้นจริงๆ ในปี 1997 เพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้สร้างและเจ้าของสิทธิ์ของตัวละครอุลตร้าแมน การต่อสู้กินเวลายาวนั้นนับตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฏีกา กินเวลาราว 10 ปี และมีคำพิพากษาศาลอุธรณ์ของประเทศไทยในปี 2007 ทางไชโย โปรดักชั่นส์ไม่สามารถสร้างอุลตร้าแมนภาคใหม่ ก่อนที่จะมีคำพิพากษาจากศาลฏีกาที่ตัดสินให้คุณสมโพธิ์และ ไชโย โปรดักชั่นส์ ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครอุลตร้าแมน
ถึงเรื่องว่าใครเป็นผู้สร้างและเจ้าของจะสิ้นสุดลง กระนั้นในเรื่องสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายอุลตร้าแมนรุ่นเก่านอกประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่แยกออกมาอีกประเด็นหนึ่ง อย่างในช่วงปี 2004 มีคำพิพากษาออกมาว่า คุณสมโภชน์ได้รับคำตัดสินให้ถือสิทธิ์ภาคเก่าแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว ไชโยโปรดักชั่นส์ก็ได้ขายสิทธิ์ทำการจัดจำหน่าย DVD อุลตร้าแมนหกภาคแรกในหลายๆ ประเทศ ก่อนจะมอบสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายอุลตร้าแมนหกภาคแรกในอเมริกาให้ บริษัท ยูเอ็ม คอร์เปอเรชั่น เป็นผู้ดูแล แล้วจะเป็นช่วงนี้เองที่มีข่าวการสร้างอุลตร้าแมนฉบับฮอลลีวูดออกมา ความวุ่นวายอีรุงตุงนังนี้เลยทำให้ต้องมีการฟ้องร้องกันต่อในส่วนนี้เพิ่มเติม จนมีคำตัดสินจากศาลแขวงโตเกียวในปี 2010 ที่ระบุว่าทาง ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ไชโย โปรดักชั่นส์ ในฐานะผู้มีสิทธิ์ขายในต่างประเทศ
เวลาผ่านมา 2018 ก็มีคำตัดสินจากศาลแขวงกลางประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตัดสินว่า ทางซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะเผยแพร่ผลงาน “อุลตร้าแมน” นอกประเทศญี่ปุ่น และผลจากการชนะคดีครั้งนี้ทำให้ทางซึบูราญ่าประกาศว่าจะรุกตลาดนอกญี่ปุ่นด้วยการประกาศความร่วมมือกับบริษัท Starlight Runner Entertainment บริษัทผลิตรายการของทางอเมริกาในการรีบูตหรือสร้างอุลตร้าแมนฉบับใหม่ที่เน้นเจาะตลาดคนดูนอกญี่ปุ่น
เรื่องราวยัปัญหาลิขสิทธิ์ของอุลตร้าแมนยังไม่จบสนิทดีนัก เพราะตอนนี้ทางซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ยังต้องต่อสู้คดีในประเทศจีนกับ บริษัท BlueArc ที่สร้างภาพยนตร์ของตัวเอง โดยอ้างว่าได้รับสิทธิ์ในการสร้างนี้มาจากทางไชโย โปรดักชั่นส์ และคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่คดีนี้จะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่การพิพากษาคดียังไม่ถึงจุดสิ้นสุดนั้น ทางไชโย โปรดักชั่นส์ ได้สร้างอุลตร้าแมนมิลเลเนียมกับอุลตร้าแมนอีลิท ขึ้นมา ก่อนจะยุติการสร้างภาคใหม่ๆ ตามคำตัดสินของศาล
ส่วนฝั่งซึบูราญ่าก็เลี่ยงปัญหาด้วยการสร้าง อุลตร้าแมนในจักรวาลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับดาว M-78 ขึ้นมาแทน และเมื่อคดีสิ้นสุดลง พวกเขาก็กลับมาสร้างอุลตร้าแมนที่เชื่อมโยงกับพี่น้องตนเก่าๆ กันต่อ อย่างในปี 2016 ก็มีอุลตร้าแมนออร์บที่รวมร่างโดยการใช้พลังของอุลตร้าแมนรุ่นพี่สองตนมารวมเป็นร่างเดียว (ภาค R/B หรือ รู้บ ที่เป็นภาคล่าสุด ณ ตอนที่เขียนนี้ ไม่ค่อยมีรุ่นพี่มาปรากฎตัวเท่าไหร่นักเลยขออ้างถึงภาคเก่ากว่านั้นเล็กน้อย)
ดังนั้น การสร้างอนิเมะ Ultraman นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าสร้างภาคต่อไม่ได้แล้ว แต่เป็นการสร้างงานในคนละรูปแบบเพื่อไม่ให้สับสนกับซีรีส์หลักที่ยังจัดทำอยู่เรื่อยๆ เสียมากกว่า และในช่วงหลัง ซีรีส์ที่สร้างมาเกิน 30 ปี อย่างกันดั้มและมาสค์ไรเดอร์ ต่างก็ปรับการนำเสนอสื่อของตัวเองที่คล้ายๆ กันอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาตัดสินใจที่จะแยกซีรีส์ออกมาหลายแขนง เพื่อให้ซีรีส์หลักยังโฟกัสกับการสร้างความฝันให้กับเด็กๆ ส่วนซีรีส์ที่กระจายตัวออกมานั้นก็จะปรับเรื่องราวให้กับผู้ชมที่มีอายุมากขึ้น เพราะพวกเขาก็ไม่อินกับการต่อสู้รายสัปดาห์แล้วจบเป็นตอนๆ ไป ซึ่งฝั่งอุลตร้าแมนก็มีอายุอานามแตะหลัก 50 ปี แล้วด้วย พวกเขาจึงต้องการความสดใหม่อย่างที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนนั่นเอง
และเราก็เชื่อว่าซีรีส์เหล่านี้จะนำความสุขมาให้คนดูเป็นการต่อไปรวมถึงบอกให้คนดูยังมีใจรักความยุติธรรมไว้อยู่เสมอๆ ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cover image from Netflix