1. ใกล้วันประกาศผลออสการ์เข้ามาทุกที (26 กุมภาพันธ์) จึงไม่แปลกที่สัปดาห์นี้จะมีหนังรางวัลเข้าชนโรงพร้อมกันถึงสามเรื่องเลยครับ ทั้ง ‘Manchester by the Sea’ ของ Kenneth Lonergan ‘Hacksaw Ridge’ ของ Mel Gibson และ ‘Moonlight’ ของ Barry Jenkins
ซึ่งเรื่องที่สามนี้ก็เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่าของ Golden Globes เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไปแล้วด้วย ไม่แปลกที่ท่ามกลางกระแสความนิยมของ La La Land ที่เข้าชิงออสการ์ไปถึง 14 รางวัล จะมีหลายๆ คนที่ลุ้นกันตัวโก่งว่า ถ้าจะมีหนังสักเรื่องที่จะพอฟัดพอเหวี่ยงกับหนังซึ่งอเมริกันชนพากันเทคะแนนให้อย่างหนังเพลงเรื่องนั้นก็น่าจะเป็น Moonlight เรื่องนี้แหละ
2. Moonlight เล่าเรื่องราวผ่านสามช่วงเวลาชีวิตของ ไชรอน เกย์ผิวดำที่ถูกกลั่นแกล้งและล้อเลียนมาตั้งแต่เด็ก เขาอาศัยอยู่กับแม่ซึ่งเป็นโสเภณีติดยาที่วันๆ ไม่ค่อยจะอยู่บ้าน หรือถ้าอยู่ก็จะหิ้วผู้ชายมานอนด้วย เมามายกับฤทธิ์ยาและไม่ค่อยจะสนใจความเป็นตายร้ายดีของลูกชายสักเท่าไหร่ ไชรอนเกลียดบ้านของเขา เกลียดแม่ที่ไม่เพียงแต่จะไม่เคยปกป้องเขา หากยังเอาแต่ด่าทอลูกตัวเองอยู่ทุกวัน กระทั่งอยู่มาวันหนึ่งไชรอนก็ได้พบกับ ฮวน พ่อค้ายารายใหญ่ที่แม้จะดูน่าหวาดกลัวเมื่อแรกเห็น แต่เป็นฮวนนี่เองที่ได้มอบความรักและความดูแลประหนึ่งพ่อแท้ๆ ที่ไชรอนไม่เคยมี ทั้งก็ยังเป็นฮวนที่ด้วยความอารีย์ของเขาได้มอบความกล้าบางอย่างให้กับไชรอน เป็นฮวนที่บอกให้เขารู้ว่าการเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหรือน่าอับอายแต่อย่างใดเลย
3. Moonlight คือการติดตามเรื่องราวชีวิตอันเปราะบางและละเอียดอ่อน และแม้ว่าประเด็น LGBT จะถูกสำรวจมาแล้วในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง จนอาจเรียกได้ว่า ไม่ใช่ประเด็นใหม่ หาก Moonlight ได้พาเราไปสำรวจจุดที่ลึกลงกว่าหนังหลายๆ เรื่อง ในพื้นที่ซึ่งยังคงแปลกแยกและถูกกดทับ นั่นคือ ‘คนผิวดำชนชั้นล่าง’ ที่อาศัยอยู่ในสลัม ประทังชีวิตอยู่ไปวันๆ โดยไม่แม้แต่จะมองเห็นอนาคต พูดอีกอย่างได้ว่า Moonlight นั้นจับจ้องความเป็นชายขอบที่สุดจะชายขอบ (เกย์ผิวดำเติบโตในสลัม) เช่นนี้เราจึงได้เห็นการเหยียดหยามตัวบุคคลในมิติที่ซับซ้อนผ่านตัวตนของไชรอน ที่ไม่เพียงแค่ถูกล้อเรื่องที่แม่เป็นโสเภณีขี้ยา หรือเพราะเขามีร่างกายผอมกะหร่องชวนให้แกล้งไม่พอ แต่ยังถูกกดทับมากยิ่งขึ้นไปอีกเพียงเพราะเขาเป็นเกย์
เราจะเห็นได้ว่าตัวไชรอนนั้นถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ในหลายระดับ และไม่เพียงแค่ร่างกายของเขาจะบอบช้ำจากการโดนรุมทำร้ายเท่านั้น หากแต่ภายในจิตใจก็ยังแตกสลายจนไม่เหลือชิ้นดี กระนั้นก็ตาม Barry Jenkins ผู้กำกับของเรื่องก็ไม่ได้คิดจะหยิบใช้องค์ประกอบเหล่านี้ที่รุมทำลายไชรอน เพื่อนำไปสู่ฉากดราม่าระเบิดอารมณ์ทั่วไป เพราะกลับกันอย่างน่าสนใจ ด้วย Moonlight นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหนังซึ่งปราศจากการขยี้อารมณ์อย่างสุรุ่ยสุร่าย ด้วยเลือกจะจับจ้องโมงยามที่แต่ละตัวละครเผชิญหน้ากับโมงยามที่ชีวิตกำลังแตกสลายด้วยความใจเย็น และเป็นธรรมชาติ
ในทางหนึ่งมันจึงเป็นหนังที่ให้ภาพของการรับมือต่อความเจ็บปวดที่ดูน่าเชื่อที่สุด หากแต่ในเวลา เดียวกันหนังก็ประสบความสำเร็จในการส่งผ่านแรงระเบิดอันนิ่งสงบในตัวไชรอนให้คนดูรับรู้ได้ผ่านสายตา และอวัจนะภาษาที่ตัวละครแสดงออกมา
4. จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ aesthetic ของหนังที่คล้ายจะขับเน้นถึงความโดดเดี่ยวของไชรอนให้สัมผัสได้ตลอด ทั้งผ่านบทเพลง และการถ่ายภาพ ซึ่งอย่างหลังนั้นเห็นได้ชัดว่า Moonlight ได้รับอิทธิพลมาจากหนังของหว่องกาไวอยู่พอสมควร การเน้นถ่ายตัวละครจากด้านหลัง การเคลื่อนกล้องจากองศาหนึ่งที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนมาสู่อีกองศาหนึ่งที่มีเพียงตัวละครหนึ่งยืนอย่างโดดเดี่ยว หรือกระทั่งการแช่กล้องเพื่อจับจ้องบทสนทนาของไชรอนกับเพื่อนในวัยเด็กของเขาในร้านอาหารที่ก็ชวนให้นึกถึงฉากกินข้าวระหว่างคุณโจวกับคุณนายจางใน ‘In The Mood For Love’ เรียกได้ว่า แม้ด้วยตัวภาพยนตร์เองจะไม่ได้ชวนให้รู้สึกเหงาในลักษณะเดียวกับที่สัมผัสได้ในหนังของหว่องกาไว กระนั้นเพียงแค่จ้องมองภาพที่ดำเนินไปก็ชวนให้เราคิดถึงเขาอยู่เป็นพักๆ
6. Berry Jenkins เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เขาสนใจในเรื่องนี้คือ musculinity และ identity ของตัวไชรอน กล่าวคือ พัฒนาการในสามวัยของตัวไชรอนนั้นถูกขับเน้นด้วยความเป็นชายอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ที่ถูกล้อว่าเป็นตุ๊ดไม่สมกับเป็นผู้ชาย แต่ยังโดนกลั่นแกล้งเพราะร่างกายที่ผอมกะหร่อง และไม่ค่อยจะสู้คน ถูกหาเรื่องเข้าสักทีก็ยอมๆ เขาไป จนกระทั่งวันหนึ่งที่เมื่อโดนรุมทำร้ายซ้ำๆ เขาก็ทนไม่ไหว และเลือกจะปลดปล่อยโทสะออกมาในแบบของเพศชาย ซึ่งต่อมาก็ส่งผลให้ตัวเขาในช่วงที่สาม หรือเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นชายกล้ามโต ท่าทางคุกคาม และดูน่าหวาดกลัว การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ภายนอกที่ช่วยเพิ่มพูนความเป็นชายนั้น ในทางหนึ่งจึงเป็นเสมือนเกราะกำบังสำหรับไชรอน ด้วยเขาได้เรียนรู้แล้วว่า การจะมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่เอาแต่จะกดทับตัวตนเขานั้น มีแต่เพียงต้องสร้างอีกภาพลักษณ์หนึ่งขึ้นมาเพื่อบดบังสถานะที่แท้จริงซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของเขา
และถึงแม้ว่าภายในจะยังคงเป็นไชรอนคนเดิม ไชรอนที่เป็นเกย์ ที่พูดไม่เก่ง และไม่นิยมจะมีเรื่องกับใคร ทว่าเมื่อตัวตนที่เขาเป็นกลับมีแต่จะนำอันตรายมาสู่ชีวิตเขา และหากจะอยู่เฉยยอมจำนนก็จะเท่ากับกักขังตัวเองอยู่ในวังวนเดิมๆ ที่จะถูกกระทำซ้ำๆ อย่างไม่จบไม่สิ้น ที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเขาจึงเท่ากับการคัดง้างต่ออำนาจต่างๆ และป่าวประกาศออกมาดังๆ ว่า เขาจะไม่ยอมเป็นเบี้ยที่ถูกกดทับอีกแล้ว
กระนั้นก็ตาม หากเราลองมองกรณีนี้จากอีกมุมหนึ่ง การที่ตัวไชรอนจำต้องเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองของสังคมมันจึงเท่ากับการที่เขาได้ยินยอมเอาตัวเข้าไปพันเกี่ยวกับกระแสที่ยอมรับเพศชายตามกรอบซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว เช่นนี้มันจึงน่าเศร้าและสุดจะย้อนแย้งเพราะเท่ากับว่า ภายใต้ความจำยอมต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นอื่นเท่านั้น ที่จะทำให้ไชรอนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยในภาชนะของร่างกายที่ไม่ใช่ตัวเขาเลยสักนิดเดียว