แม้จะเห็นผ่านตาอยู่บ่อยๆ ว่าละครเดี๋ยวนี้มักจะพาดหัวเรียกแขกว่าแรง! เดือด! เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่สังคม! ดาร์ก!! จูบจังปล้ำจริง!! หรืออะไรต่อมิอะไร ฉันกลับรู้สึกว่าดีกรีของละครอ่อนกว่าเมื่อก่อนไปเยอะ
อ่อนกว่าในเชิงเนื้อหานะ ไม่ใช่วิธีการนำเสนอ
เอ๊ะ หรือวิธีนำเสนอด้วยก็ไม่รู้
เพราะเมื่อถูกกดดันว่าเราไม่ใช่แต่ความบันเทิงอย่างเดียวแล้ว แต่ถูกวางไว้แถวๆ หิ้งว่าต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีแบ่งเกรดระดับอายุชนชั้นวรรณะอันควรเสพสื่อแต่ละชิ้น ละครหลายๆ เรื่องจึงพยายามดิ้นรนพาสเจอไรส์ตัวเองใส่หีบห่อใหม่ให้ดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ถ้ายังพอจะจำกันได้ เราเคยมีละครที่สร้างมาจากนิยายแฝงการเมืองอย่างไผ่แดงให้ได้ดู มีแม่เบี้ย มีคุณหญิงสีวิกาที่เริ่มตอนแรกให้นางเอก ‘ได้’ ผู้ชายไป 12 คน มีข้ามสีทันดรที่เสนอภาพผู้ติดยาอย่างชัดเจน และ-อะแฮ่ม-มีละครอย่างเรื่อง ‘ล่า’ ที่ฉันเล่น และถูกข่มขืน (ในเรื่อง) เสียยับเยินจนถึงแก่สติขาดไม่เป็นสมประดี
แต่ในยุคนี้ที่หน้าอกปลอมของผู้สื่อข่าวเพศทางเลือกถูกเซนเซอร์ ละครที่คนเขาพร้อมใจกันซี้ดปากว่าแรงเหลือหลาย ดาร์กสุดขั้ว กลับไม่มีเนื้อหาอย่างที่ฉันได้ยกตัวอย่างมาให้เห็น
ก็แน่นอนว่ามันแรงแบบคนตบกัน และที่ตลกคือทั้งๆ ที่ตบกันล้างน้ำถึงปานนั้น ก็ไม่แคล้วจะต้องใส่เบื้องหลังให้ว่าจริงๆ แล้วเธอผู้ง้างมือตบนั้นก็มีเหตุผลนะ
เหตุผลอะไรวะที่ทำให้คนตบกันน่ะ?
เราไม่ได้ตบทุกคนที่เราเกลียด เรามีวิธีรับมือกับคนที่เราเกลียดต่างๆ กันไป บางคนเราเกลียดแม้ไม่เคยเห็นหน้า บางคนเราเกลียดเผื่อเพื่อน บางคนเราเกลียดเพราะ–เออ กูเกลียด มึงจะทำไม
เห็นไหมว่าความเกลียดทุกครั้งไม่จำเป็นต้องตอบสนองด้วยความรุนแรงอันแสนจะบ้อท่าด้วยการกรากเข้าไปตบตบตบจนสาแก่ใจ เพื่อที่สุดท้าย คนที่ตบจะต้องรับผลกรรมที่ทำมา ให้มือกุดฟ้าผ่า เป็นโรคร้ายด่างดำ
และเห็นไหมว่า แต่ละความเกลียดนั้น บางทีก็ไร้ที่มา
ฉันจึงออกจะเบื่อๆ เวลาต้องพยายามหาเหตุผลให้ตัวละครเลวๆ บางตัว คนเรามันแค่เลวก็มีนี่นา ไม่จำเป็นจะต้องมีปมดำมืดมาตั้งแต่เด็ก จนเหมือนกับว่าถ้าไม่เคยถูกกระทำมาแล้วจะห้ามตบะแตกทำตัวริยำได้เป็นอันขาด
เลยกลายเป็นเรานั่งดูละครด้วยความครึ่งๆ กลางๆ จะดีก็ดีไม่สุด จะเลวก็’อย่าไปเกลียดเขาเลย เขามีเหตุผลของเขา’
อะไรกันนี่ โลกที่เราเกลียดตัวละครก็ยังไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะดูงมงายเพ้อเจ้อ เป็นคนติดละครอันหาแก่นสารไม่ได้อย่างนั้นหรือ
ฉันว่าเพราะไอ้บทบาทครึ่งกลางๆ ห้อยต่องแต่งอยู่ระหว่างความบันเทิงกับการเป็นตัวอย่างของศีลธรรมอันดีนี่แหละ ที่ทำให้ละครเต็มไปด้วยความแรงแบบพาสเจอไรส์แล้ว และเรื่องก็เลยไม่ดำเนินไปไหนได้แต่พายอยู่ในอ่างศีล 5 ทั้งที่ก็พูดกันอย่างทั่วไปว่า ‘ละครสะท้อนสังคม’ แล้วตกลงนี่สังคมเราเดินหน้าไปด้วยความดาร์กและรักที่ไม่สมหวังเท่านั้นหรือ ไอ้มิติอื่นๆ ในสังคมที่ละครเคยมีมันหายไปไหนตกลงอะไรสะท้อนอะไร
หรือจริงๆ แล้วเราหน่ายกับภาพสะท้อนอันโสมมเสียจนเรามาคาดหวังจากละครแทน
เพราะแม้กระทั่งตัวร้ายก็ยังต้องมีปมให้ก้าวร้าวเลวทราม แถมต้องตายให้ทรมานไปอีก ทั้งที่ฉันเชื่อว่าในชีวิตจริงนั้น ดูจะหาได้ยากเต็มทีที่เราจะได้เป็นพยานแก่สายตาถึงจุดจบอันแสนจะทุลักทุเลของคนที่เราเกลียด (ซึ่งมันเลวหรือเปล่าก็ไม่รู้) ส่วนตัวดีก็ดีเพราะอะไรบางอย่าง หาได้ดีมาจากเนื้อในตนไม่ แต่เป็นอันต้องมีพ่อแม่ครูอาจารย์ไปยันเทพารักษ์มาบอกให้รักษาความดีนั้นไว้ดุจเกลือรักษาความเค็ม
ฉันจึงคิดว่า ละครเราจะกลับไปหลากหลายร้ายกาจแก่นแก้วได้ดังเดิมนั้น ควรออกมาตรการดังนี้
1. ละครคือความบันเทิง
2. จะใช้ละครสอนใจก็ได้ แต่จะให้ดีคือลูกใครก็ไปสอนกันเอาเอง
3. ความจริงอย่างที่คนมักจะบอกว่าต้องการจากในละครนั้น เป็นความจริงอย่างไม่จริง คนบ้าอะไรจะมีชีวิตแค่ 15 ตอนแล้วสรุปเห็นผลกรรมเลย (ฉันให้เนื้อละครยาวตอนละชั่วโมงก็แล้วกัน–โอ้โห ไม่ถึงหนึ่งวันก็เห็นผล) โปรดตระหนักรู้ว่านี่คือละคร เป็นการแสดงความจริงอย่างไม่จริง เป็นการนำภาพเงาของมนุษย์ซึ่งคละเคล้าไปด้วยนิสัย สติ และจิตวิญญาณกันอยู่ในชามอ่างออกมาแสดงให้ได้ชมกัน
4. เรามีหน้าที่แสดงให้ดีที่สุด น่ารังเกียจที่สุด น่ากระทืบที่สุด แต่เราไม่อาจสั่งสอนใครได้ เกิดจะเปิดให้เด็กดูเพื่อสอนความดี เด็กมันไพล่ไปจำภาพตัวร้ายโดยดูไม่ถึงตอนจบก็เป็นอันล้มเหลวเสียเปล่า
รีโมตนั้นท่านถืออยู่ในมือ
วิจารณญาณของท่านถูกอินสตอลติดมาแล้วกับตัวตน
โปรดเลือกใช้ให้เหมาะสม อย่าสลับกัน