1.
หญิงสาวอ่านหนังสือพิมพ์ในปี ค.ศ.2008 เธอพบข่าวการเสียชีวิตของสก็อต จอห์นสัน (Scott Johnson) ชาวอเมริกัน ที่ถูกพบว่าตกหน้าผาในสภาพเปลือยเปล่า เหตุเกิดเมื่อปี ค.ศ.1988 ทางการสรุปว่าสก็อตเลือกจบชีวิตตัวเอง หลังผ่านไป 20 ปี ดูเหมือนทางครอบครัวจอห์นสันยังคงเรียกร้องพิสูจน์ความจริงอย่างต่อเนื่อง
เธอมองสามี เขามีพฤติกรรมชอบด่าเกย์ หลายครั้งก็เข้าไปตะคอก ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ในใจลึกๆ เธอกลัวว่าเขาจะมีส่วนกับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะในข่าวระบุว่าสก็อต จอห์นสันเป็นเกย์ด้วย
“คุณเกี่ยวข้องในคดีนี้หรือไม่”
สามีหันมาสบตาภรรยา แล้วอยู่ดีๆ ก็พูดออกมาว่า “มันไม่ใช่ความผิดของผมนะ เขาตกหน้าผาไปเอง”
“แต่คุณได้ไล่ล่าเขาไปจนถึงขอบหน้าผาหรือเปล่า”
ชายหนุ่มไม่ตอบคำถามนี้ แต่มันทำเอาหญิงสาวช็อกเป็นอย่างยิ่ง
2.
วันที่ 10 ธันวาคม ปี ค.ศ.1988 คนหาปลาพบร่าง สก็อต จอห์นสัน อายุ 27 ปี ในสภาพเปลือยเปล่า เขาตกกระแทกมาจากหน้าผาสูง จึงแจ้งตำรวจ เจ้าหน้าที่รุดมาจุดเกิดเหตุ สำรวจพื้นที่พบเสื้อผ้าของสก็อต ตกอยู่บนหน้าผา สก็อตเป็นคนอเมริกัน มาเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย อาศัยอยู่กับคู่ขาผู้ชาย
เจ้าหน้าที่พบว่าก่อนเกิดเหตุ สก็อตมีการพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา เกี่ยวกับปัญหาการทำวิทยานิพนธ์ ซิดนีย์ในยุคนั้น แม้จะดูก้าวหน้า มีการเดินขบวนพาเหรดเกย์ ในงานมาร์ดี กราส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังมองว่ากะเทยเป็นพวกต่อต้านสังคม เป็นบ่อเกิดแห่งอาชญกรรมตามมา
จุดที่พบร่างสก็อตนั้น เป็นสถานที่ซึ่งเหล่าเกย์กะเทย มานัดพบกันเพื่อพูดคุย เป็นจุดที่รู้กันในหมู่ชายรักเพศเดียวกัน พวกเขาต้องแอบมาพบ เพราะกฎหมายร่วมเพศเดียวกันเพิ่งจะถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ.1984 เท่านั้นเอง
ตำรวจสรุปคดีอย่างง่ายดาย สก็อตอาจเครียดกับการเรียน การมาอยู่ต่างแดน จากอเมริกาสู่ออสเตรเลีย เขาเลยเลือกจบชีวิตด้วยการกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย
คดีคลี่คลายอย่างง่ายดาย
“ตอนแม่ดูข่าวและรู้ว่าสก็อตตาย เธอร้องไห้คร่ำครวญ ทุกคนในครอบครัวเจ็บปวดกันมาก มันสะเทือนเกินกว่าจะยอมรับว่ามันเป็นเรื่องจริง”
ครอบครัวจอห์นสัน ไม่เชื่อว่าสก็อต ชายหนุ่มหัวดี เรียนจบมาทางด้านคณิตศาสตร์ และกำลังเรียนต่อระดับปริญญาเอก จะเลือกจบชีวิตแบบนี้ พวกเขายืนยันว่าตำรวจซิดนีย์สรุปคดีผิดพลาด
แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มันเป็นบาดแผลในใจครอบครัวนี้ โดยเฉพาะน้องชายของสก็อต สตีฟ จอห์นสัน (Steve Johnson) เขาจะต้องสะสางความจริง ทวงความยุติธรรมคืนให้กับพี่ชายจนได้
3.
สตีฟเรียนดีไม่แพ้พี่ชายที่จากไป เขาเรียนมหาวิทยาลัยจบ แล้วประกอบอาชีพธุรกิจ ในต้นยุค 1990 ธุรกิจที่มาแรงในตอนนั้น หนีไม่พ้นอินเทอร์เน็ต ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกในไม่ช้า
สตีฟตั้งบริษัทเกี่ยวกับการส่งสัญญาณภาพและเสียงกระจายไปยังอินเทอร์เน็ตทั่วอเมริกา แน่นอนว่ามันเป็นวงการที่บูมสุดๆ ทำให้เขามีฐานะร่ำรวยขึ้นมา เขาขายบริษัทได้เงินอย่างมหาศาล เป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุน้อย
อย่างไรก็ดีในใจเขา ยังคงคิดถึงพี่ชายที่จากไปอยู่เสมอ ในปี ค.ศ.2005 หลังความตายของพี่ตัวเองผ่านไป 17 ปี เขามีโอกาสได้อ่านบทสรุปคดีของสก็อต ที่ตำรวจสรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย นั่นทำให้เขาเดือดมาก จึงตัดสินใจอุทิศชีวิตและทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อไขคดีและตามล่าหาความจริงในเรื่องนี้ให้ได้
สตีฟไม่เพียงจ้างนักข่าวให้ไปขุดคดี หาเอกสารที่ศาลออสเตรเลียเท่านั้น เขายังจ้างทนายฝีมือดี ค่าตัวแพง เพื่อกดดันทางการออสเตรเลียให้รื้อฟื้นตรวจสอบคดีเสียใหม่ด้วย
แต่ไม่ใช่ว่าเงินตรา นักข่าวและทนายความฝีมือดี จะสามารถดำเนินการได้อย่างที่สตีฟหวังทันทีไม่ เพราะทางการออสเตรเลีย กลับปล่อยคดีนี้ไว้ เนิ่นนาน แม้จะมีข้อสงสัยมากมาย แม้จะมีพิรุธแค่ไหน พวกเขาก็สรุปคดีว่ามันเป็นการฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าแรงผลักดันนี้จะสูญเปล่า มันต้องใช้เวลาสักพัก กว่าจะผลักหินแห่งอคติที่เจ้าหน้าที่รัฐสร้างไว้ ให้เปิดออกเห็นแสงสว่างได้
ด้วยความพยายามเรียกร้องต่อทางการออสเตรเลีย อย่างไม่ลดละของสตีฟ ในที่สุดปี ค.ศ.2012 หลังความตายของพี่ชายสุดที่รักผ่านไป 23 ปี เจ้าหน้าที่ชันสูตรบาดแผล ได้ตรวจสอบคดีสก็อตเสียใหม่ จนเกิดข้อสรุปที่ลบล้างข้อสันนิษฐานเดิมของตำรวจ
“สก็อตไม่ได้ฆ่าตัวตาย”
เมื่อเกิดคำหักล้างขึ้น ตำรวจซิดนีย์จึงต้องเปิดการสอบสวนเสียใหม่ เพราะข้อสันนิษฐานเดิมถูกปัดตกไปแล้ว ทีนี้ก็ต้องมาหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับสก็อตในวันนั้น ทางการตรวจสอบหลักฐานทุกอย่างอีกครั้ง และพบว่าหนุ่มรายนี้ เสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1988 มีพยานเห็นเขาอยู่ที่บาร์แห่งหนึ่งในโรงแรม ก่อนจะหายตัวไป
ความยุติธรรมที่สตีฟน้องชายกดดันต่อทางการ ยังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า จนในปี ค.ศ.2017 หลังความตายของพี่ชายสุดที่รักผ่านไป 28 ปี เจ้าหน้าที่จึงได้ข้อสรุปใหม่ว่า สก็อตอาจถูกฆ่า เพราะเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง เกย์ กะเทยในกลุ่มวัยรุ่นอันธพาลในช่วงนั้น
คำหักล้างของทางการออสเตรเลีย หมายความได้อีกมุมหนึ่งว่า มีคนฆ่าสก็อต และเขายังไม่ถูกจับกุมแต่อย่างใด
4.
เมื่อคนร้ายยังลอยนวล และคดีนี้ก็ผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ตำรวจออสเตรเลีย จึงประกาศรับเบาะแสในคดีสก็อต โดยจะมอบเงินให้แก่ผู้แจ้งข้อมูลที่นำไปสู่การไขคดีได้ เป็นเงิน 6.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ทางสตีฟทราบข่าวจึงประกาศเพิ่มเงินไปอีกเท่าตัว เพื่อหวังจะได้พบความยุติธรรมที่พี่ชายควรได้รับเสียที
กินเวลาหลายปี จนหญิงสาวคนหนึ่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับสามีตัวเองให้กับตำรวจ โดยเธอแจ้งว่า สามีมีพฤติกรรมชอบทำร้ายร่างกายพวกเกย์ บางทีก็ตะโกนด่าใส่พวกนี้ หลายครั้งเขาพูดเป็นนัย ถึงสก็อต จอห์นสัน อยู่บ่อยครั้งมาก เหมือนจะรู้จักกัน
ตำรวจคุมตัวสามีของหญิงสาวมาสอบปากคำทันที ทีแรกเขาก็ต้องปฏิเสธข้อมูลทุกอย่างอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมแพ้ พวกเขามีหลักฐานมากมาย พวกเขาค่อยๆ เค้นความจริงจากชายคนนี้มาทีละนิดทีละหน่อย
ในที่สุดเวลาต่อมา สตีฟก็ได้ทราบข่าวจากตำรวจ
“เราจับคนที่ฆ่าพี่ชายคุณได้แล้ว”
สก็อต ไวท์ (Scott White) พบผู้เสียชีวิตที่บาร์ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ณ เมืองซิดนีย์ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม ปี ค.ศ.1988 ทั้งสองคุยกันสนุกลื่นคอ หลังจากนั้นผู้เสียชีวิตได้ชวนไวท์ออกไปข้างนอกบาร์ โดยชวนไปที่หน้าผา ซึ่งเป็นจุดที่เหล่าเกย์ไปพูดคุยพลอดรักกัน เพื่อหลบเลี่ยงการก่อกวนคุกคามจากเจ้าหน้าที่
“แม้ซิดนีย์จะมีการเดินขบวนพาเหรดเกย์
แต่ต้องอย่าลืมว่า ช่วงนั้นกระแสเกลียดชังเกย์สูงมาก
ตำรวจมักจะจับคนที่เดินขบวนไปแจ้งข้อหาอยู่เป็นประจำ”
นั่นทำให้เหล่าเกย์ต้องมีจุดนัดพบลับๆ นี้
เรื่องราวที่หน้าผาแห่งนั้น เป็นการให้ปากคำของไวท์ ที่อ้างว่า เขาเกิดความเกลียดชังเกย์ขึ้นมา และชกหน้าผู้เสียชีวิต ก่อนที่อีกฝ่ายจะชกเขากลับ ก่อนจะเซร่วงตกหน้าผาไป
อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาไวท์ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำแบบนั้น เขากลับคำให้การอยู่บ่อยครั้ง โดยบอกว่าได้ไปจุดเกิดเหตุ และคิดว่ามีการต่อสู้เกิดขึ้น จากนั้นอีกฝ่ายก็ตกหน้าผาไป เขาก็เลยกลับบ้าน
หลังจากสอบปากคำกันหลายครั้ง เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปหลายปี ไวท์ก็รับสารภาพว่าได้ก่อเหตุฆาตกรรมสก็อตจริง และโยนเขาลงจากหน้าผา
ตำรวจสืบสวนหาแรงจูงใจ ก่อนที่จะพบว่าตัวไวท์นั้น ได้ปกปิดพฤติกรรมทางเพศเอาไว้ นั่นก็คือเขาเป็นเกย์ แต่พยายามกลบเกลื่อนสิ่งนี้ไว้ ด้วยการทำทีเป็นด่าเกย์ ไล่ทำร้ายกะเทยในท้องถนน ดูถูกคนประเภทนี้ด้วยถ้อยคำหยาบคาย มันเป็นการปกปิดตัวเองเอาไว้ ปิดสิ่งที่ชอบ ด้วยการทำทีเป็นเกลียดในสิ่งที่คนอื่นเป็นเหมือนกับตน
“ผมไม่เล็งเหยื่อที่เป็นเกย์หรอก ใช่! ผมเป็นเกย์ แต่ไม่สามารถบอกใครได้ว่าเป็น”
5.
ไวท์ต้องปกปิดความจริงของตัวเองให้กลายเป็นความลับดำมืดตลอดชีวิต ไม่สามารถบอกใครได้ เขามีลูก 6 คน พร้อมกับปกปิดตัวตนไว้ให้มิดชิดที่สุด
“ครอบครัวผมทุกคนเกลียดเกย์ น้องชายผมเกลียดเกย์ พี่ผมเกลียดเกย์ พวกเราเคยออกไปทำร้ายร่างกายพวกนี้อยู่เสมอ พี่ผมน้องผมชอบทำแบบนั้น”
สิ่งเหล่านี้ ยิ่งทำให้ไวท์ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ อาจเป็นได้ว่าตอนที่เขามีอะไรกับสก็อต บางอย่างมันจุดความกลัว ที่ความลับตัวเองจะถูกใครล่วงรู้ นั่นทำให้เขาโกรธ โมโห ก่อนตัดสินใจสังหารสก็อต แล้วโยนชายหนุ่มเคราะห์ร้ายคนนี้ ร่วงตกหน้าผา ก่อนกลับบ้าน ลั่นกลอนปกปิดความลับนี้หวังไม่ให้ใครรู้
แต่ภรรยาที่อยู่กันมาหลายสิบปี รู้ดีว่าไวท์มีความลับเกี่ยวกับสก็อต หลังจากถามสามีในปี ค.ศ.2008 เธอก็รู้ว่าคนรักของเธอมีความเกี่ยวข้องในความตายของสก็อตแน่นอน
“เขาเคยพูดว่า สก็อตท่าท่างติ๋มๆ เหมือนพวกขี้แพ้ และพวกขี้แพ้ที่ดีนั้น ก็คือพวกขี้แพ้ที่ตายไปแล้ว”
ในที่สุดเธอก็ส่งข้อมูลนี้ให้กับตำรวจ
นำไปสู่การจับกุมสามีสุดที่รักได้สำเร็จ
โดยเจ้าตัวได้ปฏิเสธว่าการส่งต่อข้อมูลนี้ ไม่ใช่เพราะหวังเงินรางวัลนำจับแต่อย่างใด เพราะเธอเพิ่งรู้ว่าสตีฟน้องชายผู้เสียชีวิตเพิ่มรางวัลเงินนำจับไปอีกเท่าตัว ก็ตอนให้ข้อมูลกับตำรวจไปแล้ว
จากหลักฐานทั้งหมด ในที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลก็มีคำตัดสินจำคุกไวท์ วัย 51 ปี ทั้งหมด 12 ปี กับ 7 เดือนในเรือนจำความมั่นคงสูงสุด ซึ่งตัวไวท์จะยื่นขอลดหย่อนโทษได้ก็ปี ค.ศ.2030 นู่น ส่วนข้อหาฆ่าเพราะความเกลียดชังที่ผู้ตายเป็นเกย์นั้นให้ยกคำร้องไป
“ลูกของผมยังดีใจไปด้วยกับคำตัดสินของศาล แม้จะไม่เคยพบหน้าลุงก็ตาม สก็อตเหมือนเจ้าชาย เขาไม่เคยแม้แต่คิดจะทำร้ายใครในชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่สก็อตควรต้องเจอเลยด้วยซ้ำ”
ไม่เพียงเท่านั้น นักข่าวสืบสวนสอบสวนที่สตีฟจ้างไปรื้อฟื้นคดีพี่ตัวเอง กลับพบความจริงอันน่าสะพรึงว่าในซิดนีย์ ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1976 -2000 มีคดีเกี่ยวกับการฆาตกรรมเกย์ มากถึง 88 คดี และมีถึง 20 กว่าคดี ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า เหยื่อถูกสังหารเพียงเพราะเป็นเกย์เท่านั้น
ตำรวจยังพบอีกว่า เจ้าหน้าที่นักสืบมีอคติถึงขั้นเกลียดชังเกย์กะเทย พวกเขาจะทำคดีอย่างลวกๆ เร่งปิดคดี ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าว มีกลุ่มอันธพาลอย่างน้อย 2 กลุ่ม ที่จะตระเวนไล่ทำร้ายถึงขั้นฆาตกรรมเกย์ในซิดนีย์ แต่ตำรวจก็ละเลยไม่สืบสวน จับกุมตรวจตรา เพียงเพราะว่าอีกฝ่ายเป็นเกย์
นั่นทำให้ตำรวจซิดนีย์ต้องออกมาขอโทษพฤติกรรมในอดีต และขอใช้จุดเริ่มต้นจากการไขคดีของสก็อต เป็นบันไดขั้นแรกของการหาความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่เสียชีวิตไป เพียงเพราะพวกเขาไม่เหมือนเรา และถูกฆ่าเพียงเพราะอีกฝ่าย แค่ไม่ชอบรสนิยมทางเพศเท่านั้นเอง
แค่คิดไม่เหมือนกัน เป็นไม่เหมือนกัน กลับถึงขั้นต้องฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมเพียงนี้เหรอ นั่นคือความจริงอันสะเทือนสังคมออสเตรเลียอย่างมาก
6.
ด้านครอบครัวจอห์นสัน พวกเขาบอกว่าหากไวท์ เลือกที่จะมอบตัว หลังก่อเหตุ พวกเขาก็คงจะเห็นใจอีกฝ่ายบ้าง หรือหากยั้งใจใช้มือดึงสก็อต ไม่ให้ตกจากหน้าผา ครอบครัวก็คงจะเป็นหนี้บุญคุณไวท์อย่างมาก
แต่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย เช่นเดียวกับตำรวจที่ด่วนสรุปคดี มันจึงต้องใช้เวลากว่า 33 ปี ต้องใช้แรงใจของครอบครัว และความพยายามอย่างไม่ลดละของสตีฟ จนสามารถผลักดันความยุติธรรม ไขความจริงออกมาให้กับพี่ชายของตัวเองได้
เมื่อลูกขุนมีคำพิพากษาลงโทษไวท์นั้น ครอบครัวจอห์นสัน ไม่สามารถเดินทางมาฟังได้ เพราะติดปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาด จึงรับรู้ข่าวจากโทรศัพท์ วินาทีที่ทราบข่าว สตีฟ จอห์นสันบอกกับนักข่าวว่า
“ผมไม่อยากจะเชื่อเลย..อารมณ์ในตอนนั้น มันมีทุกอย่างผสมวนเวียนกันไปหมด ทั้งดีใจสุดๆ เสียใจอย่างมาก”
“และแน่นอน ผมรู้สึกโล่งอกเป็นอย่างยิ่ง”
อ้างอิงข้อมูลจาก