ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตและโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของชีวิต สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นผ่านตากันแทบทุกวัน เห็นถี่พอๆ กับโฆษณาขายครีมผิวขาวที่แลดูจะมีศักยภาพเหนือดีเอ็นเอที่ได้มาแต่พ่อแม่บรรพบุรุษและแดดสยามหรือลิ้งก์เว็บโป๊สารพัดสารเพที่ขยันเด้งขึ้นมาเองโดยเฉพาะเวลาอยู่กลางที่สาธารณชน ก็คงหนีไม่พ้นภาพของหนุ่มสาว (มักวัยรุ่นพอสมควร) ถือเงินเป็นฟ่อนๆ บ้าง วางเต็มโต๊ะเต็มเตียงบ้าง หรือโยนเงินท่วมตัวบ้างก็มี พร้อมกับคำชักชวนทำนองว่า “งานสบายๆ เงินดี ทำอยู่บ้านได้”
ผมไม่เคยใส่ใจกับของพวกนี้มาก จนกระทั่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเพจ iLaw ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ[1] และพิสูจน์ให้ผมเห็นว่า เออ งานสบายๆ แต่เงินดีอย่างที่เคยเห็นโปรโมทกันมานานมันมีอยู่จริงแฮะ
ผมเป็นคนโง่คณิตศาสตร์มาก แต่ผมอยากเริ่มต้นด้วยการชวนคิดเลขง่ายๆ ดูก่อนเอาเป็นตัวเลขกลมๆ กันนี่แหละครับ หากผมได้เงินมาครั้งละ 120,000 บาท ต่อเนื่องกัน 12 ครั้ง แปลว่า ผมมีเงินทั้งหมด 1,440,000 บาท ซึ่งเงินยอดนี้มาจากการทำงานของผมทั้งสิ้น 6 วัน ก็แปลว่าผมได้เงินวันละ 240,000 บาท และโดยปกติในประเทศไทย เราทำงานกันประมาณวันละ 8 ชั่วโมง ก็แปลว่าได้เงินชั่วโมงละ 30,000 บาท หรือ นาทีละ 500 บาทนั่นเอง โอ้โห! งานดีขนาดนี้ถ้าไม่ใช่สุลต่านบรูไนอะไรงี้ก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะหามาได้ยังไงปานนั้น
แต่ในไทยก็มีแล้วจริงๆ ครับ เมื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา หรือบิ๊กติ๊ก น้องชายของท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มากไปด้วยความสามารถและคุณธรรมล้ำโลกของหมู่เรานี่เอง จากการดำรงตำแหน่ง สนช. ของท่าน และทำงานจริงเพียง 6 วัน ไม่เพียงเท่านั้น ตำแหน่งดังกล่าวนี้ยังมาพร้อมสวัสดิการมากมายที่ตีค่าเป็นเงินคงจะลำบาก แต่หนึ่งในสวัสดิการที่ดีที่สุดนั้นก็เห็นจะเป็นสวัสดิการในการ “มีชีวิตอยู่อย่างสงบได้ หลังเกษียณจากตำแหน่งแล้ว”[2] อะไรมันจะสบายไปกว่า งานที่แสนสบาย เงินดี และมีชีวิตอย่างสงบไม่มีใครกวนได้เมื่องานเสร็จสิ้นลงกันเล่า?
โฆษณาที่แพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ตที่ผมดูแคลนมานาน มันมีอยู่จริง ผมต้องขออภัยท่านๆ ทั้งหลายที่พากันออกมาโฆษณา ‘ความจริง’ นี้นานนักหนาแล้ว
แต่ผมดันไปดูแคลนเสียนี่ว่าไร้สาระ…ผมผิดไปแล้ว เพราะรัฐบาลผู้ทรงภูมิ ห่างไกลจากอบายมุก และอุดมด้วยคุณธรรมทุกประการเท่าที่สากลโลกนี้จะประดิษฐ์ขึ้นมาได้นั้นได้ยืนยัน ‘ความจริง’ ที่ว่านี้แล้ว
เมื่อตั้งหลักได้ ความแปลกใจที่ผมมีต่อ ‘ความจริง’ ที่ผมไม่เคยเชื่อและคอยแต่ดูแคลนนั้นก็ดูจะสงบลง อย่างไรก็ดี ไม่กี่วันหลังจากที่ความสงบมาเยือนจิตใจผม ผมก็ต้องถูกกระเพื่อมด้วยคลื่นความแปลกใจอีกครั้ง เมื่อพบว่าเรื่องเล่าจากวรรณกรรมที่ผมอ่านมาแต่เด็ก เรื่องเล่าที่ผมคิดมาตลอดว่าเป็นเพียงจินตนาการที่แสนพิสดารของผู้แต่งเรื่องนั้นๆ กลับเป็นจริงขึ้นมา เมื่อผมได้อ่านข่าวพระธัมมชโยได้สลับร่างกับหมอนมุ้งต่างๆ ที่วางอยู่ใต้ผ้าห่มบนเตียงแทนร่างของท่าน ดั่งนินจาใช้คาถาสลับร่างกันเลยทีเดียว[3] เพิ่งถึงบางอ้อว่าที่แท้วัดพระธรรมกายคงเป็นคล้ายๆ หมู่บ้านนินจาแห่งหนึ่งที่มีท่านธัมมชโยเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเป็นแน่แท้เชียว หากอาจารย์มาชิโระ ผู้เขียนนารูโตะ นินจาคาถาโอ้โหเฮะ ได้ทราบเรื่องราวนี้คงดีใจ ว่าที่ไทยมีหมู่บ้านนินจาจานบินโนะงะคุเระมีอยู่จริง ปกครองโดยท่านจานบินคาเงะ
ไม่พออีกนักเขียนที่ควรจะภาคภูมิใจกับจินตการที่เป็นจริงของตนก็คือ เจ.เค. โรลลิ่ง ผู้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ หากเธอได้ทราบว่าผ้าคลุมล่องหนในนิยายบันลือโลกของเธอนั้นมีอยู่จริง เจ.เค. ก็คงได้แต่ทึ่งดีใจเป็นแน่แท้ เพียงแต่มันไม่ได้อยู่ในมือแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ท่านธัมมชโยของไทยเราต่างหากที่ครอบครองไว้ และสามารถใช้หายตัวได้อย่างไร้ร่องรอยควบคู่ไปกับคาถาสลับร่าง ที่แม้แต่ DSI ยังมึนงงไปหมด
ใช้เวลาสักระยะ กับหลายเฮือกหายใจลึกๆ หนักๆ ค่อยผ่อนความแปลกใจได้หน่อย เพราะฐานการเข้าใจความจริงของผมโดนสั่นคลอน แต่เมื่อตั้งสติได้แล้วก็มาคิดว่า “จริงๆ แล้วเราควรแปลกใจหรือเปล่า?” หรือหากอธิบายใหม่ด้วยภาษาที่ดูโก้เก๋มีภูมิขึ้นหน่อยก็คือ “อะไรคือฐานการรับรู้ความจริงของเรา และอะไรที่ทำให้ความแปลกใจเกิดขึ้นได้?” ที่ผมต้องถามตัวเองแบบนี้เพราะโดยปกติความแปลกประหลาดใจมันมาจากการรับรู้ความจริงของเรา กับความจริงที่เกิดขึ้นมันไม่ตรงกัน ในภาษาเยอรมันมีคำที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมสังคมในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ คือคำว่า ‘Weltschmerz’ (คิดว่าอ่านว่า ‘เวลช์-ฉะ-เมิร์ซ’ ผิดพลาดโปรดอภัย) คำนี้คิดขึ้นโดยนักเขียนชาวเยอรมันชื่อ Juan Paul โดยให้ความหมายคำๆ นี้ว่า
“ความโศกเศร้าอันเกิดจากการนำเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก ไปเทียบกับความเป็นจริงที่คิดว่ามันพึงจะเป็น”
แม้ว่าความแปลกใจจะไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความโศกเศร้าตามความหมายของ Weltschmerz แต่สิ่งหนึ่งที่มันมีความเหมือนกันก็คือ เงื่อนไขที่ทำให้เกิดสภาพอารมณ์แบบที่ว่า นั่นคือ มันต้องมี (1) ความจริงในโลกจริงทางกายภาพ, (2) ความจริงที่คิดว่าพึงจะเป็นในความคิดของเรา และ (3) ความไม่สอดคล้องกันของข้อ (1) และ (2) ซึ่งมันอาจจะนำมาซึ่งความโศกเศร้า แปลกใจ โกรธ หรือตกใจก็แล้วแต่คนกันไป ในกรณีผมคือแปลกใจ และเชื่อว่าหลายคนก็คงรู้สึกในกลุ่มที่ว่านี้ (เศร้า, โกรธ, แปลกใจ, ตกใจ) แต่คำถามคือ เราควรรู้สึกอย่างที่ว่ากันอีกหรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่าหมอดูมีความน่าเชื่อถือกว่านักวิทยาศาสตร์กันมาทั้งชีวิตเราไม่ใช่หรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่าหมอที่ทำตัวไม่เป็นวิทยาศาสตร์แต่ด่านายกที่เราไม่ชอบหน้าควรได้รับการเชิดหน้าชูตายไม่ใช่หรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่าการลืมๆ หยวนๆ จะยุติความขัดแย้งได้มากกว่าความยุติธรรมไม่ใช่หรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานของดราม่าและศาลเตี้ยในโลกโซเชียลมากกว่าหลักฐานข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิสูจน์ไม่ใช่หรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่าการฆ่าคนที่เห็นต่างจากเราตายเป็นร้อยไม่ผิดเพราะคนเหล่านั้นมีค่าน้อยกว่าตึกรามห้างร้าน คนเหล่านั้นไม่ควรมีชีวิตอยู่แต่แรกด้วยซ้ำไม่ใช่หรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่า ‘การคอร์รัปชั่น’ จะถูกทำให้หายไปด้วยอำนาจของผู้ปกครองที่เราไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจใดๆ ได้ไม่ใช่หรือ?
เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่าความเป็นคนและสิทธิในฐานะมนุษย์สามารถถูกทำให้ล่องหนหายตัวได้ด้วยการคลิกแชร์เพียงครั้งเดียวบนเฟซบุ๊กไม่ใช่หรือ?
…เราอยู่ในสังคมที่วางความจริงบนฐานว่ารัฐบาลที่เข็นรถถังมาแย่งอำนาจจากประชาชน แก้รัฐธรรมนูญตามใจอยาก และมีอำนาจมากล้นสารพัดอย่างไม่ต้องสนใจเสียงใครๆ ในสังคม เป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย 99.99% ไม่ใช่หรือ?…
เมื่อชีวิตเรามีความจริงที่วางฐานอยู่บนสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิตเราอยู่แล้ว ผมก็ได้แต่ถามตัวเองว่า แล้วเราไปแปลกใจอะไรเมื่ออ่านข่าว 6 วันล้านสี่ หรือพระหายตัวได้?
เราอยู่กับความจริงที่แสนจะเกินจริง (Surreal) ตลอดเวลาอยู่แล้ว และมันเป็นความปกติที่ทำให้เรื่อง 6 วันล้านสี่หรือพระห่อผ้าคลุมล่องหนกลายเป็นเรื่องแบเบาะไปเลยอยู่แล้วเสียด้วยซ้ำ ผมเลยได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า การที่ผมดันไปแปลกใจกับเรื่องอย่างงี้ ทั้งที่ตลอดชีวิตเจออะไรที่มันเซอร์เรียลกว่ามามากมายนั้น คงเป็นความดัดจริตเสแสร้ง (Hypocritical) ของผมเอง ที่ทำมาเป็นแปลกใจกับเรื่องแบบนี้ ในโลกของความจริงที่แปลกพิศดารพันลึกกว่านิยายไม่รู้กี่เท่า
สงสัยว่าความเสแสร้งของผมมันคงเป็นกลไกปกป้องตัวเองจากความขลาดกลัวที่จะเผชิญหน้าต่อความจริงตรงหน้า แล้วมุดหัวอยู่ในโลกชวนฝันกึ่งละเมอของตัวเอง ที่เมื่อจ๊ะเอ๋กับความแปลกประหลาดเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราว อย่างหกวันล้านสี่หรือพระหายตัว ก็ต้องทำตัวตกใจบ้าง เพื่อให้โลกชวนฝันของผมคงอยู่ต่อไปได้ เพราะในโลกชวนฝันของผม สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้มันแปลกประหลาด แม้ในความจริงแท้จริงมันจะไม่แปลกประหลาดอะไรเลย
ฉะนั้นการแสร้งทำเป็นแปลกใจของผมเอง จึงเป็นกลไกที่มีขึ้นเพื่อขีดเส้นแบ่งโลกจริงกับโลกฝันของผม ว่าผมอนุญาตให้ความประหลาดของโลกจริงเข้ามาก่อกวนโลกในฝันผมได้เพียงแค่ระดับนี้ ให้ผมแปลกใจเป็นระยะเพื่อให้รู้สึกว่าฝันอันปกติของตัวผมเองมันยังจริงอยู่ก็พอ ความจริงแท้อื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่เกินไปกว่านี้ผมไม่ขอรับรู้ด้วย ผมขอฝันของผมต่อไป… Sorry, I am a hypocrite.
Illustration by Namsai Supavong
[1] โปรดดูเพิ่มเติมใน ilaw.or.th
[2] โปรดดูเพิ่มเติมใน www.matichon.co.th
[3]โปรดอ่านเพิ่มใน www.matichon.co.th/news/466376