โลกนี้อาจมีหนังสือ How-To พาไปสู่ทางแห่งความสุขมากมายให้เลือกสรร แม้เราอาจอยู่ในวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนเราต้องรู้สึกดีกันตลอดเวลา สังคมกดดันให้เราควรรู้สึกแย่กับความรู้สึกแง่ลบที่เกิดขึ้นในชีวิต ความทุกข์และอารมณ์เลยเป็นสิ่งที่ต้องพยายามกำจัด ลดทอน หรือปกปิด ซ่อนไว้
แต่งานวิจัยใหม่ๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับพบว่า คนเราอาจมีความสุขมากกว่าเมื่อได้รับประสบการณ์แห่งอารมณ์แง่ลบด้วย หากนั่นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เขาอยากจะสัมผัสและได้รับ หรือเป็นอารมณ์ที่เหมาะสมและเป็นอารมณ์ที่ใช่
‘ความรู้สึกที่ดี’ หรือ ‘ความรู้สึกที่ใช่’? เมื่อความพึงพอใจเกิดจากความรู้สึกแง่ลบได้เหมือนกัน
เดิมที งานวิจัยที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดี (Well Being) มักเกี่ยวข้องกับแนวคิดสุขนิยม (Hedonic) คือ “ความรู้สึกดีย่อมทำให้คนเรามีความสุขและพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น” ในขณะที่แนวคิดแบบอริสโตเติ้ลกลับเสนออีกทางว่า “หากเรายิ่งมีประเภทของความรู้สึกที่หลากหลายมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีความสุขมากขึ้น”
งานวิจัยเรื่อง ‘ความรู้สึกที่ดี หรือ ความรู้สึกที่ใช่?’ ตีพิมพ์ในวารสาร American Psychological Association โดย Maya Tamir และคณะ เพื่อต้องการจะศึกษาเพื่อตรวจสอบทั้ง 2 แนวคิดข้างต้น โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 2,324 คนใน 8 ประเทศ (บราซิล จีน เยอรมนี กานา อิสราเอล โปแลนด์ สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา) โดยให้ตอบคำถามถึงความรู้สึกที่พวกเขาปรารถนาจะได้รับ ความรู้สึกที่พวกเขารู้สึกอยู่ ความพึงพอใจในชีวิต และอาการซึมเศร้า
ผลงานวิจัยพบว่า คนที่พึงพอใจกับชีวิตที่สุดและมีโอกาสมีการอาการซึมเศร้าน้อยกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เขามีความรู้สึกในแง่บวกมากกว่า แต่คือคนที่ได้สัมผัสอารมณ์ตามที่เขาปรารถนาจะมี แม้ความรู้สึกนั้นจะเป็นความรู้สึกลบเช่น ความโกรธหรือความกลัวก็ตาม ความลับของความสุขอาจไม่ใช่ความรู้สึกดีแต่คือความรู้สึกที่ใช่ (Feeling Right) ความสุขและความพึงพอใจนั้นเชื่อมโยงกับความรู้สึกที่ใช่และเหมาะสมมากกว่า
“ความสุขนั้นคือประสบการณ์ที่มีความหมายและมีคุณค่า และมันจะรวมไปถึงความรู้สึกที่คุณคิดว่าคุณควรได้สัมผัส” – Maya Tamir
การที่คนเราอยากมีความรู้สึกดีมากกว่าความรู้สึกลบนั่นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่ในงานวิจัย พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวนถึง 11% อยากรู้สึกแง่บวกลดลง (เช่นความรักและความเห็นอกเห็นใจ) และมีคนอีก 10% ที่อยากรู้สึกแย่เพิ่มขึ้น (เช่น ความเกลียดหรือความโกรธ) แม้หลายๆ สิ่งที่อริสโตเติลคิดจะผิดจากความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน และถูกล้มล้างไปมาก แต่งานวิจัยนี้กลับมีแนวโน้มไปทางแนวคิดแบบอริสโตเติลมากกว่า
คนเรามักทึกทักว่าประตูและหนทางสู่ความสุขคือการมีความรู้สึกในแง่บวกเยอะๆ มีความรู้สึกดีอยู่ตลอดเวลาไม่บกพร่อง นำไปสู่การใช้ชีวิตที่พยายามพาตัวเองไปสู่ประสบการณ์ที่หวังว่าจะทำให้รู้สึกดียินดี รื่นรมย์ สนุกสนาน น่าพึงใจ แต่ความสุขนั้นอาจประกอบร่างขึ้นมาจากความรู้สึกแง่ลบด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ในบางบริบท
ดังนั้นอย่าตกใจหากความพึงพอใจในอารมณ์ของเรากับคนอื่นนั้นแตกต่างกัน สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและน่าพอใจ อาจเป็นความรู้สึกที่คนอื่นเขาไม่ต้องการก็ได้ และอาจจะทำให้เกิดทุกข์จากความพยายามจะรู้สึกดีที่เขาไม่ปรารถนา
อย่ารู้สึกแย่ที่เรารู้สึกไม่โอเค
ชีวิตของเราต่างเต็มไปด้วยอารมณ์แม้เราจะพยายามปฎิเสธ กำจัด ขยายให้เข้มข้น เจือจาง และแอบซ่อน หรือพยายามเปลี่ยนมัน การพยายามกดดันให้ตัวเองสดใสรื่นเริงในเหตุการณ์ที่ควรจะทุกข์อาจจะมีผลเสียมากกว่า
งานวิจัยเรื่อง ‘ประโยชน์ทางสุขภาพจิตใจจากการยอมรับในอารมณ์แง่ลบ’ (Emotional Acceptance) โดย Emotion & Emotion Regulation Lab แห่งมหาวิทยาลัย University of California, Berkeley เกี่ยวกับการยอมรับอารมณ์แง่ลบช่วยปรับปรุงประสบการณ์ทางอารมณ์ให้ดีขึ้น ทำใหัเรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ประกอบด้วยงานศึกษา 3 ตัว คือ
1. ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการยอมรับอารมณ์ลบในชีวิตประะจำวันกับสุขภาพจิต พบว่าเกี่ยวข้องกันแม้จะควบคุมเพศ เชื้อชาติ ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ หรือระดับความเครียด
2. ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการยอมรับอารมณ์ลบในชีวิตประะจำวัน โดยเข้าร่วมการทดลองที่ก่อให้เกิดความเครียด (เช่นพูดสปีช 3 นาทีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ทำให้ได้งาน โดยถูกบันทึกวีดีโอไว้ ถูกเปิดให้กรรมการตัดสิน เครียดไหมล่ะ)
3. ศึกษาจากการเขียนบันทึกประจำวันถึงสิ่งที่ก่อนให้เกิดอารมณ์ลบและเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด ในกลุ่มตัวอย่าง 340 คน ทุกคืนเป็นเวลา 14 วันติดต่อกัน
ทั้ง 3 การศึกษาล้วนพบว่าการยอมรับในอารมณ์แง่ลบ เช่นเครียด ประหม่า กังวล เหงา เศร้า ฯลฯ ทำให้มีแนวโน้มที่จะประสบกับอารม์แง่ลบน้อยกว่า และทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า
“การที่เรารู้สึกแย่จากความรู้สึกแย่ อาจทำให้เรารู้สึกแย่ลงไปยิ่งกว่าเดิม”
เราต่างประสบกับอารมณ์แง่ลบในชีวิตประจำวัน มีตัวแปรนอกเหนือจากตัวเราที่ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ หากเราตัดสินความรู้สึกแย่ว่าเป็นสิ่งไม่ดีและยอมรับไม่ได้ พยายามฝินและเปลี่ยนความรู้สึกไม่ดีให้ดีขึ้นแทนที่จะยอมรับ อาจทำให้สุขภาพจิตเราแย่กว่า
ในปี 1954 Peter Milner ค้นพบระบบ Rewarding System โดย บังเอิญ ระบบนี้เป็นกลไกให้เรารู้สึกดีให้หนูที่ถูกกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าส่วน Nucleus Accumbens Septi และ สร้างกลไกในกล่องให้หนูทดลองสามารถกดเองได้ พวกมันกดปุ่มไม่หยุดหลายร้อยครั้งต่อนาที เกิดความหมกมุ่นในความสุข ความสุขจากกระแสไฟฟ้าทำให้หนูตัวผู้ละเลยหนูตัวเมียที่อยู่ในช่วงผสมพันธุ์ หนูตัวเมียละเลยลูกหนูที่ต้องการอาหาร การกดปุ่มเพื่อความสุขหยุดทุกกิจกรรมของชีวิตหนู แม้กระทั่งกินอาหารและดื่มนํ้า จนต้องพักระบบเพื่อให้มันหยุดกดก่อนที่จะขาดอาหารตาย สมองของหนูและคนมีกลไกรางวัลนี้มาเพื่อให้สร้างความรู้สึกบวกเมื่อทำบางสิ่งสำเร็จ ทำให้เรารู้สึกดี แต่หากเราตกอยู่ในทาสของระบบ Rewarding System มากเกินไปก็อาจเป็นภัยได้เหมือนหนูที่เสพติดความสุขจนอดตาย
ความโกรธหรือความหิวอาจทำให้เราตัดสินใจได้ไวขึ้นในบางสถานการณ์ ความรู้สึกกลัวอาจทำให้เรารอดพ้นจากอันตราย ทุกอารมณ์ลบไม่ได้ทำให้เรากลายกลับเป็นสัตว์ดิรัจฉานเสมอไป แต่ทำให้เราดำรงชีวิตต่อไปได้
Eudaimonia: ไม่ใช่แค่ความสุขที่เติมเต็มความเป็นมนุษย์
ในสมัยกรีกโบราณ เพลโตและอริสโตเติลเน้นยํ้าแนวคิดที่เรียกว่า Eudaimonia (อ่านว่า ยู-ได-โม-เนีย) คำๆ นี้มักถูกแปลห้วนๆ ว่า ‘ความสุข’ แต่หากแปลให้แม่นยำตรงความหมาย คือรวมไปถึงการเจริญเติบโตเบ่งบานในความเป็นมนุษย์ (Human Flourishing or Prosperity) หรือ การเติมเต็ม Fulfillment ชีวิตที่ถูกการเติมเต็มที่นอกเหนือไปจากความสุขและความสนุกสนาน
เมื่อย้อนกลับไปดูหลายๆ ครั้ง เราไม่ได้เลือกทางในชีวิตที่ทำให้เราเป็นสุขที่สุด การไม่มีปัญหาก็อาจทำให้เบื่อหน่ายและเป็นปัญหาได้เหมือนกัน ดังนั้นความสุข ความสบาย ความรู้สึกดีอาจยังไม่พอ คนบางคนอาจเลือกทางในชีวิตที่ดูยากและลำบาก นำมาซึ่งความทุกข์และปัญหา เราอาจสงสัยว่าเขาจะดิ้นรนลำบากและเหนื่อยยากไปทำไม แต่มันอาจสร้างความหมายอะไรบางอย่างที่มากไปกว่าความรู้สึกดีให้กับเขา นี่อาจเป็นความท้าทายและเป้าหมายที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขา
หากคุณกำลังเสียใจ กังวล หม่นหมอง อยากร้องไห้ กำลังโกรธและรู้สึกว่าตัวเองกำลังพ่ายแพ้ให้กับความรู้สึกแย่ๆ และวันห่วยๆ ระลึกไว้ว่าความรู้สึกแย่อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ควรยอมรับให้ได้ว่าเราไม่ต้องสุขตลอดเวลา เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสอารมณ์ในสเปกตรัมอันหลากหลายของความเป็นคน
เราอาจอยู่ในยุคแห่งหนังสือ How To สู่ความสุขสำเร็จรูปแบบด่วน พาให้เรากลัวใช้ชีวิตไม่คุ้มค่าและไม่ทันขบวนแห่งความหรรษารื่นรมย์ แต่หนังสือ The History of Human Emotions โดยนักประวัติศาสตร์ทางอารมณ์ Tiffany Watt Smith เล่าถึงยุค Victorian ที่คนกลับฝึกฝนความเศร้าเพื่อเตรียมตัวรับความทุกข์และความไม่แน่นอนของชีวิต
ตั้งแต่เด็ก ผู้เขียนเคยเชื่อว่าหากโกรธเราคจะแพ้ จึงพยายามกลบเกลื่อนและบ่ายเบี่ยง เพราะชินกับการเก็บความรู้สึกแง่ลบมาตลอด จนเพื่อนคิดว่าเป็นคนโกรธไม่เป็น เศร้าไม่ได้ พอโตมาจึงพบว่าคนรอบตัวเรานั้นดูออกเสมอเมื่อเราเครียด หงุดหงิด หรือโกรธ มีเพียงเราที่ไม่อยากยอมรับอารมณ์ลบของตัวเอง
หากเราเก็บแนวคิดแบบ Eudaimonia ไว้ระลึกถึงบ่อยๆ อาจทำให้เราเลิกจินตนาการว่าจะมีการมีชีวิตที่ปราศจากซึ่งความเจ็บปวด (เพราะเป็นไม่ได้) และยอมให้เรามีวันที่อารมณ์เสียบ้างก็ได้ ไม่ต้องยิ้มร่าเริงก็ได้ และยอมรับตัวเองในเวอร์ชั่นที่ไม่สุข ไม่สดใส ไม่ร่าเริง ไม่สมบูรณ์ ให้ได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็อาจทำให้เราหงุดหงิดน้อยลงก็ได้
ความลับของความสุขที่เราแสวงหาอาจเป็นการอนุญาตให้ตัวเองทุกข์ได้บ้างในบางครั้ง แม้เราอาจคิดว่าชีวิตคือการเกิดมาเพื่อพบแต่ความสุข รื่นเริง น่ายินดีและพอใจ แต่บางครั้ง ความเจ็บปวดต่างหากที่ทำให้เราเติบโตและเติมเต็มความเป็นคนของเรามากขึ้น ความทุกข์คือความจริงของชีวิต
คงไม่เป็นไรหากเราจะรู้สึกแย่บ้างในวันที่ห่วย ยอมรับมันให้ได้ ไม่ต้องยิ้มแย้มร่าเริงสดใสตลอดเวลาก็ได้ 🙂
อ้างอิงข้อมูลจาก
A Better Word than Happiness: Eudaimonia
The Psychological Health Benefits of Accepting Negative Emotions and Thoughts:
Laboratory, Diary, and Longitudinal Evidence
The Secret to Happiness: Feeling Good or Feeling Right? by Maya Tamir et al.
Emotion & Self-Regulation Laboratory