9.9 ที่ผ่านมา มีใครเจ็บหนักบ้างไหม? เวลาที่เราคิดจะใช้เงินกับอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า แก็ดเจ็ต ของแต่งบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ เราอาจจะ (พยายาม) บอกตัวเองว่า เรามีการคิดคำนวณด้วยเหตุผลมาแล้วแหละ เช่นคิดว่าของที่จะซื้อมันเป็นของที่จำเป็นจริงไหม หรือจ่ายไปเท่านี้แล้วสิ่งที่ได้กลับมามันคุ้มค่าหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว เรื่องการใช้จ่ายของคนเรา อาจจะถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มากกว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็นนักช้อปออนไลน์แบบเราๆ หรือนักลงทุนที่ดูจะเต็มไปด้วยตรรกะเหตุผลในตลาดหุ้นก็ตาม
ในตลาดการเงินการลงทุน แนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพตลาด (Market Efficient) บอกว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นนั้นมาจากการคำนวณอย่างมีเหตุผลของนักลงทุนในตลาด (หลายคนที่ลงทุนผ่านโบรกเกอร์ก็คงอยากมั่นใจเช่นนั้น) แต่อย่าลืมว่า.. บรรดานักลงทุนเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์เหมือนกัน แล้วอารมณ์เหล่านั้นล่ะ มีผลแค่ไหนกับการลงทุนในตลาดหุ้น?
การตอบคำถามนี้นับเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่สามารถวัดค่าอารมณ์ของนักลงทุนทุกคนได้อย่างแน่ชัด อารมณ์ของคนเป็นเรื่องซับซ้อน คนอื่นจะรู้ว่าเรารู้สึกอะไรอยู่จากสิ่งที่เราบอกหรือแสดงออกเท่านั้น และไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงออกทุกอย่าง (ลองนึกถึงตอนที่มีคนถามเราว่า “เป็นอะไรไหม” แล้วเรามักจะตอบไปว่า “ไม่เป็นไร” สิ) ดังนั้น เรียกได้ว่าไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สามารถบ่งบอกอารมณ์ที่แน่ชัดของคนเราได้ แม้จะเดินไปถามเรียงตัวก็ตาม
แต่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งมองว่า เราสามารถวัด
ค่าอารมณ์ของคนได้ ในยุคที่มี Spotify
งานวิจัยของพวกเขาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Financial Economics มองว่าเพลงที่เลือกฟัง สามารถสะท้อนถึงอารมณ์ของแต่ละคนได้ เช่น เราจะฟังเพลงเศร้ามากขึ้นเมื่ออกหัก เราจะได้ยินเพลงรักในงานแต่งงาน หรือเราจะเลือกเพลงที่สนุกๆ เต้นได้เปิดในงานปาร์ตี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้น ตามแนวคิด ‘ความสอดคล้องทางอารมณ์’ (Mood Congruence) แล้ว เพลงที่เราฟังควรจะเป็นตัวชี้วัดอารมณ์ของเราแต่ละคนได้
หลายคนอาจจะบอกว่า พวกตัวชี้วัดอย่างอัตราความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ก็อาจเป็นตัววัดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสภาพจิตใจคนได้เหมือนกัน แต่อย่าลืมตัวชี้วัดเหล่านั้นก็มาจากการเดินไปถาม และมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาคิดคำนวณด้วยอยู่ดี ไม่ใช่การวัดค่าอารมณ์อย่างเดียว
และก็เคยมีงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่ลองดูว่าเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไหม อย่างเช่น ผลการแข่งขันกีฬานัดสำคัญๆ แต่อย่าลืมว่าในช่วงเวลานั้น อาจจะมีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นและมีผลต่ออารมณ์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น วันที่ประเทศได้เหรียญทองโอลิมปิก อาจจะเป็นวันที่มีคนเสียชีวิตจาก COVID-19 พุ่งสูงขึ้นในประเทศ
ดังนั้น ทีมวิจัยนี้จึงเชื่อว่า การวัดมวลรวมของอารมณ์จากเพลงฮิต (Top 200) บน Spotify ที่คนในแต่ละประเทศฟังในแต่ละวัน จึงน่าจะเป็นตัวแทนของอารมณ์ส่วนใหญ่ของคนในประเทศนั้นๆ ได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่ว่า คนเราอาจเลือกเพลงเพื่อบำบัดหรือเยียวยาอารมณ์ มากกว่าที่จะเป็นการสะท้อนอารมณ์ที่แท้จริงก็ได้ เช่น ฟังเพลงสนุกๆ แก้เซ็งหรือแก้เศร้า
ทีมวิจัยเองก็กังวลถึงความเป็นไปได้นี้ พวกเขาเลยหยิบเอามวลรวมของอารมณ์ที่ได้จากข้อมูลไปทดสอบกับปัจจัยอื่นๆ อย่างสภาพอากาศในวันนั้นๆ หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นดูก่อน แล้วสิ่งที่พบก็ยิ่งเป็นข้อยืนยันว่า ข้อมูลภาพรวมเพลงในแต่ละวันนั้นก็ยังสะท้อนอารมณ์ได้ดีทีเดียว เช่น คนก็ยังฟังเพลงให้ความรู้สึกเชิงบวกในวันที่อากาศแจ่มใสหรือในวันที่ประเทศชนะฟุตบอลนัดใหญ่ หรือฟังเพลงที่ให้ความรู้สึกหดหู่ในช่วงเวลาที่มาตรการล็อกดาวน์ถูกยกระดับขึ้น
เมื่อทีมวิจัยลองเอาข้อมูลชุดเดียวกันนี้ไปเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น ก็พบว่าในช่วงที่อารมณ์ทางดนตรีที่เป็นบวกมากขึ้น (ซึ่งหมายถึงคนในประเทศอารมณ์ดี) ผลตอบแทนต่อตลาดหุ้นของประเทศก็จะสูงขึ้นเช่นกันในช่วงสัปดาห์เดียวกัน แถมการที่ผลตอบแทนนั้นลดลงในสัปดาห์ถัดไป ก็อาจะเป็นการบ่งชี้ได้ว่า การขึ้นลงของความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ของประเทศซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเพียงชั่วคราว
แน่นอนว่า หลายคนออกมาโต้แย้งว่าผลการศึกษานี้แสดงเพียงความสอดคล้องของความสัมพันธ์เท่านั้น การที่ตัวแปรสองตัวมีความสัมพันธ์กัน (Correlation) อาจจะไม่ได้แปลว่ามันเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน (Causation) และอาจจะคล้ายกับการถกเถียงกรณี Superbowl Effect ที่บอกว่าผู้ชนะ Superbowl มีผลต่อการผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐ แต่ทีมวิจัยก็ยังยืนยันความน่าเชื่อถือกับงานศึกษาว่า พวกเขาได้ลองวิเคราะห์ผลลัพธ์มาแล้วใน 40 ประเทศและแยกทดสอบกับสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยก็บอกว่า จุดประสงค์ในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ ไม่ใช่เพื่อให้เอาข้อมูลเพลงจาก Spotify นี้ ไปใช้ในการคาดเดาตลาดหุ้นหรือคิดเรื่องกลยุทธ์การลงทุนใดๆ พวกเขาเพียงอยากแสดงให้เห็นว่า อารมณ์ของคนเรามีผลต่อการตัดสินใจใช้เงินหรือลงทุนจริงๆ และอาจทำให้เราแต่ละคนยั้งใจและยั้งมือสักนิดก่อนคิดตัดสินใจใดๆ ในการใช้เงินครั้งหน้า
รวมถึงว่า งานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทำให้เห็น Insight หลายๆ อย่างได้ หากเพียงแต่คนเราเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากมัน เป็นไปได้ว่า.. ในอนาคตเราอาจจะลองหาข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากเพลงที่ฟังมาเป็นตัวชี้วัดอารมณ์ที่แท้จริงของเราก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก