1
คุณเคยสงสัยไหมว่า เรามี ‘ศิลปินแห่งชาติ’ เอาไว้ทำอะไร
จะว่ามีไว้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ (Inspiration) หรือเป็นแรงกระตุ้นเร้า (Instigation) ให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้สร้างสรรค์ผลิตงานศิลปะต่างๆ ออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า – ก็ดูจะไม่ค่อยเป็นแบบนั้นเท่าไหร่ เพราะเหมือนคนรุ่นใหม่ไม่เห็นจะมีสักกี่คนที่สนใจทั้งตัวตนและผลงานของคนส่วนใหญ่ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ เลย
ผมคิดว่า ในบรรดาศิลปินแห่งชาติ (ไทย) ทั้งหมด มีบุคคลที่คนทั่วไปไม่รู้จักมากกว่าที่คนทั่วไปรู้จักนะครับ เช่น คนทั่วไปคงไม่รู้จักคุณคำหมา แสงงาม, คุณฉิ้น อรมุต, คุณเคน ดาเหลา หรือคุณส่องชาติ ชื่นศิริ เหล่านี้คือรายนามของ ศิลปินแห่งชาติยุคแรกๆ ซึ่งเป็นยุคที่ตำแหน่งนี้ ‘ขลัง’ กว่าปัจจุบันมาก ดังนั้น ใครได้เป็นศิลปินแห่งชาติจึงน่าจะเป็น ‘ตำนาน’ ที่โด่งดังสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป
แต่ก็กลับไม่เป็นอย่างนั้น
คำถามก็คือ – ทำไมถึงไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมส่วนใหญ่แล้ว คนถึงไม่ค่อยรู้จักศิลปินแห่งชาติ จะรู้จักก็เฉพาะคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วเท่านั้น
ก่อนตอบคำถามนี้ เราไปดูกันก่อนว่าประเทศอื่นๆ เขามีตำแหน่ง ‘ศิลปินแห่งชาติ’ เหมือนกับของเราบ้างหรือเปล่า
เท่าที่ผมพอจะรู้ ในโลกนี้มี ‘ตำแหน่ง’ (ต้องเรียกว่าเป็น ‘ตำแหน่ง’ เพราะถือเป็น Honorary Title ไม่ใช่แค่ ‘รางวัล’ เท่านั้น) ที่เทียบเท่ากับศิลปินแห่งชาติอยู่สองสามตำแหน่ง คือนอกจาก National Artist ในไทยกับฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีตำแหน่ง State Artist (ซึ่งพอจะแปลได้ว่าเป็น ‘รัฐศิลปิน’) ของตุรกี กับตำแหน่ง People’s Artist ซึ่งหมายถึง ‘ศิลปินของประชาชน’ แต่ไม่ได้มีรากมาจากความเป็นประชาธิปไตยนะครับ เพราะ ‘ศิลปินของประชาชน’ ที่ว่านี้ มีที่มาจากสหภาพโซเวียตยุคคอมมิวนิสม์ และดังนั้นจึงสืบทอดต่อมายังกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่แยกตัวมาจากสหภาพโซเวียต (หรือ Eastern Bloc) รวมไปถึงประเทศเวียตนามด้วย
People’s Artist นั้น ว่ากันว่าสืบทอดมาจาก Meritorious Artist หรือศิลปินผู้ทรงเกียรติ ผู้ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ เดิมเป็นตำแหน่งที่มาจากวิธีคิดแบบฟิวดัลในยุโรปยุคกลาง แต่มาจริงจังเฟื่องฟูในเยอรมนียุคที่เป็นจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) ซึ่งเกิดจากการรวมประเทศเยอรมนีในปี 1871 จนมาสิ้นสุดในปี 1918 เมื่อไกเซอร์วิลเฮล์ม สละราชสมบัติ
ในจักรวรรดิเยอรมันที่ว่า พวกนักร้องโอเปร่าที่เก่งๆ ทั้งหลาย จะได้รับทั้งรางวัลและตำแหน่งจากบรรดาเจ้าชายหรือกษัตริย์ (จักรวรรดิเยอรมันมี 26 แคว้น แต่ละแคว้นมีเจ้าปกครอง เจ้าเหล่านี้ไปขึ้นกับไกเซอร์หรือพระจักรพรรดิอีกทีหนึ่ง) คือได้รับการแต่งตั้งให้มี Honorary Title ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ ‘รางวัล’ ครั้งเดียว ให้แล้วจบไปเลย แต่มีรายได้ต่อไปเรื่อยๆ ในรูปเบี้ยหวัดเงินปีหรือบ้านช่องที่ดินอะไรก็ว่ากันไป แต่ถามว่าจะได้ตลอดไปหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของผู้ปกครอง เช่นหากมีความประพฤติไม่ดี หรือไปร้องเพลงให้ประเทศอริราชศัตรูฟัง ก็อาจจะถูกถอดถอนได้เหมือนกัน
เขาบอกว่า ตำแหน่งเกียรติยศของจักรวรรดิเยอรมันนี่แหละครับ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ‘จักรวรรดิรัสเซีย’ เอาอย่างบ้าง เลยมอบตำแหน่งนี้ให้กับศิลปินเจ๋งๆ ของตัวเอง รัสเซียไม่เหมือนจีนนะครับ เพราะพอเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ไม่ได้ล้มล้างศิลปะหรือเห็นว่าศิลปะเป็นของคนชั้นสูงแล้วต้องทำลาย ทว่ายังคงสืบต่อวิธีคิดมา ทว่าเปลี่ยนแปลงรางวัลจากที่เคยมอบให้โดยราชวงศ์ มาเป็นโดยรัฐแทน แต่ด้วยความที่รัฐแบบคอมมิวนิสม์หรือสังคมนิยมนั้น อะไรๆ ก็ต้องเป็นประชาชน ตำแหน่งนี้ก็เลยกลายเป็น People’s Artist ไป
เวียตนามก็สืบทอดวิธีคิดแบบเดียวกันนี้มาด้วยนะครับ ภาษาเวียตนามเรียกตำแหน่งนี้ว่า Nghệ sĩ Nhân dân ซึ่งก็แปลว่า People’s Artist เหมือนกัน โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่จะได้ตำแหน่งนี้ก็คือ ศิลปินต้องสร้างงานที่มีลักษณะ ‘จงรักภักดีต่อทั้งปิตุภูมิ ลัทธิสังคมนิยม และมีทักษะที่เป็นเลิศ อุทิศตัวให้กับอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติของเวียตนาม’ อันเป็นหลักเกณฑ์แบบเดียวกันกับสหภาพโซเวียตนั่นเอง
ตำแหน่ง State Artist ของตุรกี ก็มีลักษณะคล้ายกัน รางวัลนี้เกิดขึ้นในปี 1971 โดยกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกีคิดขึ้นมา เป็นรางวัลที่ได้รับจากประธานาธิบดีตุรกี ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของศิลปิน มอบให้กับศิลปินที่สร้างงานเพื่ออุทิศให้วัฒนธรรมตุรกี คือมีส่วนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ‘ความเป็นชาติ’ ของตุรกี อันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ที่ระบุไว้เลยว่า หลักเกณฑ์คือศิลปินเหล่านี้ต้องสร้างงานที่ช่วย ‘สร้างชาติ’ (Nation-Building) อันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ ‘มาก่อน’ ฝีมือหรือความคิดสร้างสรรค์ด้วยซ้ำ
ดังนั้น เราจะเห็นได้เลยว่า แม้เป็นตำแหน่งที่มอบให้โดยรัฐที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน ตั้งแต่จักรวรรดิ รัฐที่เป็นคอมมิวนิสม์ จนถึงรัฐสมัยใหม่ ล้วนแต่มีหลักคิดคล้ายกัน นั่นคือต้อง ‘เป็นประโยชน์’ ต่อตัวรัฐ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นเพราะ ‘อัธยาศัย’ ของรัฐ ณ ขณะเวลานั้น ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในงานของคนเหล่านี้
คุณคิดว่า ‘ศิลปินแห่งชาติไทย’ เป็นแบบเดียวกันนี้หรือเปล่า?
2
บางคนอาจสังเกตว่า แนวคิดเรื่องศิลปินแห่งชาติ ศิลปินประชาชน หรือศิลปินที่ควรยกย่องของชาติอะไรเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตะวันออกอย่างไทยกับฟิลิปปินส์ และในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสม์มาก่อน คำถามก็คือ แล้วในโลก ‘ตะวันตก’ หลังจากระบบฟิวดัลล่มสลายไปแล้ว เขามีการให้ตำแหน่งอะไรทำนองนี้บ้างหรือเปล่า
ก่อนอื่น เราคงต้องแยกแยะกันเสียก่อนนะครับ ว่าตำแหน่งแบบศิลปินแห่งชาตินั้นไม่ใช่รางวัลแบบ Lifetime Achievement Award เหมือนที่ออสการ์เขาให้กัน รางวัลแบบออสการ์ คือ ‘รางวัล’ ไม่ใช่ ‘ตำแหน่ง’ เพราะฉะนั้นนอกจากตุ๊กตาออสการ์แล้ว ก็จะมีของอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละปีใส่มาในถุงที่เรียกว่า Swag Bag เช่น บัตรที่พักโน่นนี่ ของต่างๆ ที่สปอนเซอร์สนับสนุน แม้มีมูลค่าไม่น้อย (หลักแสนเหรียญ) แต่ก็แค่นั้น และไม่ใช่สิ่งที่จะได้ซ้ำอีก ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติไม่เหมือนรางวัลโนเบลด้วย เพราะโนเบลเป็นรางวัลที่ได้แล้วได้เลย แม้ว่าคุณจะได้รับ ‘ผลประโยชน์’ จากชื่อเสียงในฐานะผู้ครองรางวัลโนเบล (เรียกว่า Nobel Laureate) แต่ก็เป็นผลประโยชน์ที่ต้องไปหาเอาเองในภายภาคหน้า
ทว่าการเป็นศิลปินแห่งชาติ (เช่นของไทยกับฟิลิปปินส์) ผู้ได้รับตำแหน่งจะมีผลประโยชน์ตามมาในรูปของเงินตอบแทนรายเดือน หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ที่เหนือกว่าประชาชนพลเมืองทั่วไป เช่น มีเงินเดือน เงินค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมักจะให้กันไปตลอดชีวิต
คำถามก็คือ – ทำไมเราถึงต้อง ‘อุดหนุน’ ศิลปินที่สร้างงานได้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของชาติ (ซึ่งก็คือสอดคล้องกับอุดมการณ์ของผู้มีอำนาจในชาติชั่วขณะนั้นๆ) ด้วยเล่า ศิลปินพวกนี้ไม่มีความสามารถในการสร้างรายได้ด้วยตัวเองหรือ
ผมคิดว่าคำถามนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราไปดูโครงสร้างรายได้ของศิลปินประเทศอื่นๆ เราจะพบตัวเลขน่าสนใจมาก ตัวเลขพวกนี้บอกเราว่า เอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตของศิลปินนั้นไม่ได้ง่ายนะครับ เราอาจคุ้นกับข่าวประมูลงานศิลปะชิ้นละเป็นพันล้าน แต่แต่ถ้ามาดูรายได้ของศิลปินเดินดินทั่วๆ ไปโดยเฉลี่ย เราจะพบว่าศิลปินมีรายได้ต่ำกว่าคนทั่วไปไม่น้อย
ตัวอย่างเช่น ในการทำสำรวจ Waging Culture Survey ของแคนาดา (เป็นผลปี 2007 นะครับ เพราะเขาไม่ได้สำรวจบ่อย) พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนที่เป็นศิลปิน (ในที่นี้คือศิลปินวาดภาพ) จะมีรายได้เฉลี่ยราวปีละ 20,000 เหรียญ ซึ่งคิดเป็นแค่ 74% ของรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ ศิลปินในแคนาดา เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ต่ำกว่าคนทั่วไปมากกว่าหนึ่งในสี่
ออสเตรเลียก็คล้ายแคนาดา คือโดยเฉลี่ยแล้วศิลปินจะมีรายได้ต่ำกว่าคนทั่วไป ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมาให้คำแนะนำเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ศิลปิน ตั้งแต่ค่าจัดนิทรรศการไปจนถึงอัตราค่าสอนงานศิลปะ หรือการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ
ส่วนในฟินแลนด์ มีรายงานของ Arts Promotion Centre Finland บอกว่ารายได้ของศิลปินส่วนใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้ว 10% มาจากการอุดหนุนของภาครัฐผ่านสวัสดิการ คือศิลปินยังต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐอยู่ ในสวีเดนก็คล้ายกัน แต่ถ้าศิลปินมีการจัดแสดงนิทรรศการสาธารณะ จะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐด้วยตามข้อตกลงที่ทำกันขึ้นในปี 2009
เกาหลีใต้ยิ่งน่าสนใจใหญ่นะครับ เพราะเขามีกฎหมายที่เรียกว่า Artists Welfare Act หรือพระราชบัญญัติสวัสดิการศิลปิน ทำให้เกิดมูลนิธิสวัสดิการศิลปินเกาหลี (Korean Artists Welfare Foundation) ขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการของศิลปิน และให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ กับศิลปินกว่า 24,000 คนในแต่ละปี โดยรายได้ของศิลปินเกาหลี (หมายถึงศิลปินวาดภาพนะครับ) เฉลี่ยแล้วอยู่ที่เดือนละราว 400 เหรียญเท่านั้นเอง
โดยภาพรวม เราจะเห็นว่าอาชีพศิลปินโดยทั่วเป็นอาชีพที่ลำบากพอสมควร เพราะมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ย แต่ในประเทศที่เราเห็นพ้องต้องกันว่าศิวิไลซ์เหล่านี้ ทั้งรัฐและภาคเอกชนต่างพยายามแก้ไขปัญหารายได้ของศิลปิน (และรายได้ของผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ) ด้วยการไปแก้ไขที่ ‘โครงสร้าง’ ของสังคมโดยรวม เพื่อให้ศิลปินโดยทั่วไปสามารถอยู่ได้เพื่อผลิตงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ที่เห็นได้ชัดก็อย่างเกาหลีใต้ที่พยายามทำให้คนสนใจศิลปะวัฒนธรรมมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานวัฒนธรรมโดยตรง และส่งเสริมศิลปินด้านต่างๆ จนประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง
แต่คำถามก็คือ ในประเทศที่ ‘จ้าง’ ศิลปินแห่งชาติ (โดยใช้ภาษีของประชาชน) เอาไว้เป็นตำแหน่งประดับเกียรติ ประดับบารมีของสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่า ‘ชาติ’ นั้น – ประเทศเหล่านี้ได้เหลือบแลหรือพยายามสร้างพื้นฐานแห่งความสร้างสรรค์และปัจจัยปากท้องให้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ศิลปิน’ ทั่วๆ ไป ให้พออยู่พอกินพอต่อรองได้ตามอัตภาพหรือเปล่า
หรือรัฐเหล่านี้เลือกอุดหนุนเฉพาะศิลปินที่มีอุดมการณ์ต้องตรงกับรัฐ พร้อมๆ กับ ‘ปิดปาก’ ศิลปินแบบอื่นๆ ที่พยายามวิพากษ์รัฐกันแน่
3
แม้ศิลปินแห่งชาติของไทยจะไม่ได้มีนิยามที่แน่ชัด แต่ในเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม บอกไว้ว่าศิลปินแห่งชาติคือทรัพยากรบุคคลที่สืบสานงานศิลปะของชาติ ให้เชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์และวิธีคิดบางอย่าง
ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของไทยไม่ใช่ตำแหน่งที่เก่าแก่อะไรนัก เรามีการมอบตำแหน่งนี้ครั้งแรกในปี 2528 โดยในปีแรกสุด รายนามของผู้ที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติน้ันยิ่งใหญ่อลังการมาก ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์, อ.มนตรี ตราโมท หรือท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี คือเป็นตัวแทนของ ‘ความเป็นชาติ’ ในแบบรัฐรวมศูนย์ คือใช้วัฒนธรรมแบบภาคกลางเป็นหลัก พอมาปีที่สอง จึงเริ่มมีรายนามของศิลปิน ‘พื้นบ้าน’ แทรกเข้ามาจำนวนมาก เช่น ศิลปินหนังตะลุง, หมอลำ, โปงลาง, การทอผ้า, เครื่องถม ฯลฯ ซึ่งเป็นรายนามที่คนทั่วไปไม่คุ้นเคย
เท่าที่ผมจำได้ หลายคนอนุโมทนาสาธุให้กับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่มอบให้ศิลปินพื้นบ้านหลายท่าน เพราะแต่ละท่านเป็นไปตาม ‘แบบและเบ้า’ ของศิลปินในภาพรวมทั่วโลกจริงๆ คือมีรายได้น้อย ความเป็นอยู่ไม่ดี และในเวลาเดียวกันก็เริ่มชราภาพแล้ว ดังนั้นการได้ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติและมีเงินตอบแทนให้ด้วย จึงทำให้หลายท่านมีความเป็นอยู่ที่ดีและสบายขึ้น ดังนั้น รายนามผู้ที่ได้รับรางวัลในปีแรกๆ จึงสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของรัฐได้ชัดเลยว่าอยากส่งเสริมศิลปินกลุ่มไหนบ้าง
หลายคนอาจมองว่า ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเป็นเรื่องอนุรักษ์นิยม แต่ผมเข้าใจว่า ตำแหน่งนี้ไม่ได้มีความ ‘สม่ำเสมอ’ ทางอุดมการณ์การเมืองขนาดนั้น เช่นในยุคต้นๆ ของทศวรรษ 2530s เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อย่างปี 2534 ผมจำได้ว่าเป็นปีที่คนตื่นเต้นฮือฮากับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติมาก ผู้ที่ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสองท่านที่คนเอ่ยถึงกันมากคือ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี (ผู้ล่วงลับไปแล้วทั้งคู่) ที่คนตื่นเต้นฮือฮากันก็เพราะมีนัยทางการเมืองบางอย่างซ่อนอยู่ นัยที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในปีถัดมา เมื่อ คำสิงห์ ศรีนอก หรือ ลาว คำหอม ได้รับตำแหน่งนี้ ตามด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่คนในยุคนั้นมองว่าเป็น ‘ซ้าย’ ในปีรุ่งขึ้น
แต่ถัดจากนั้นมา ก็ดูคล้ายลูกตุ้มนาฬิกาจะเหวี่ยงกลับ จนมาถึงครึ่งแรกของทศวรรษ 2550s ถึงได้เริ่มมีศิลปินที่ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอุดมการณ์ของรัฐไทยโดยรวม (พูดอีกอย่างคือวิพากษ์รัฐ) แทรกปนเข้ามาอีกครั้ง เช่น อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ท่านเขมานันทะหรือ อ.โกวิท เอนกชัย รวมถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า ครึ่งแรกของทศวรรษ 2550s เป็นเสมือนวาบของความหวังว่ารัฐกำลังจะเปิดกว้าง หลากหลาย และโอบรับ อันเป็นผลพวงของ ‘แรงเฉื่อย’ ทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2540s
แต่รัฐประหารปี 2549 ก็ได้สร้างแรงเหวี่ยงทางอุดมการณ์ย้อนกลับ กระทั่งมาตอกย้ำด้วยรัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดการถอยกลับทางสังคมสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมอีกรอบ คราวนี้อย่างแน่นแฟ้นแน่นหนา จนเห็นได้ชัดเลยว่า ครึ่งหลังของทศวรรษ 2550s ไม่มีรายนามคนที่วิพากษ์รัฐแบบชัดๆ ปรากฏเป็นศิลปินแห่งชาติอีก และคาดว่าคงจะไม่มีไปอีกนาน จนทำให้บางฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่าควรจะยังมีตำแหน่งศิลปินแห่งชาติต่อไปอีกหรือเปล่า
เรื่องของ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ แต่เป็นเรื่อง ‘การเมือง’ แบบหนึ่ง เป็น ‘การเมืองเรื่องศิลปินแห่งชาติ’ โดยแท้
4
The government doesn’t have the power to change anything in music or in art. I think everyone’s going to read into it what they want to read into it.
รัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในดนตรีหรือในศิลปะ ฉันคิดว่าทุกคนจะตีความอะไรก็แล้วแต่ได้อย่างที่อยากจะตีความ
เลดี้กาก้า : จากสารคดีเรื่อง Gaga: Five Foot Two
เลดี้กาก้าอยู่ในสังคมอเมริกัน สังคมแบบที่จะไม่มีวันเกิด ‘ศิลปินแห่งชาติ’ หรือ National Artist ขึ้นมาได้เลย เพราะสหรัฐอเมริกามีความหลากหลายมาก การยกย่องให้ใครเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘แห่งชาติ’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องยากอีกด้วย
คำพูดของเลดี้กาก้า คือคำพูดของคนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่ศิลปินมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มากพอจะต่อกรกับสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย และเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้น ก็จะใช้อำนาจแห่งปัจเจกในการ ‘ตีความ’ งานศิลปะต่างๆ ตามที่ต้องเองต้องการ รัฐจึงยื่นมือเข้ามายุ่มย่าม กำกับ ควบคุมบังคับ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อม – ได้ยาก
ดังนั้น ศิลปินแบบเลดี้กาก้า (หรือศิลปินที่มีลักษณะขบถคนอื่นๆ) จึงไม่ต้องพยายามทำตัว ‘แห่งชาติ’ เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นและมาตรฐานของ ‘คณะกรรมการแห่งชาติ’ (ทั้งแบบที่มีตัวตนและที่อยู่ในจินตกรรมของรัฐ) ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามอุดมการณ์ ความเชื่อ อคคติ และมายาคติของผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้นๆ
คุณอาจไม่คิดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นแบบที่เลดี้กาก้าคิดก็ได้ แต่คำพูดของเธอก็ทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วในประเทศอีกแบบหนึ่ง ประเทศที่ไม่ได้เป็นไปในแบบที่เลดี้กาก้าพูด ตำแหน่ง ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออะไร
เป็นไปได้ไหม ที่ตำแหน่งนี้จะเกิดขึ้นเพื่อ ‘ตบรางวัล’ ให้กับศิลปินที่มีอุดมการณ์ตรงกับอุดมการณ์ของรัฐ แม้ศิลปินเหล่านี้จะร่ำรวย และ/หรือ มีชื่อเสียงอยู่แล้ว
เป็นไปได้ไหม ที่ตำแหน่งนี้จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการ ‘ว่าจ้าง’ ศิลปินที่มีฝีมือแต่รายได้น้อยและยากจน รวมทั้งไม่ได้มีอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกับรัฐมากเกินไป เพื่อสร้างภาพให้เห็นว่ารัฐใส่ใจในคนเหล่านี้
และเป็นไปได้ไหม ที่ตำแหน่งนี้จะถือกำเนิดขึ้นเพื่อ ‘ต่อสู้ต่อรอง’ กับกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะต่อต้านรัฐโดยธรรมชาติมากที่สุด คนกลุ่มนี้คือพวกศิลปินที่มักมีแนวโน้มก้าวหน้าและในบางกรณีก็ถึงขั้นก้าวร้าว แถมในบางรายยังมีความสามารถในการชักจูงใจฝูงชนขนาดใหญ่ได้ด้วย ดังนั้น การพยายาม ‘กวาดต้อน’ ผู้คนท่ีรัฐเห็นว่ามีอำนาจนำทางศิลปะไปอยู่ในฝั่งของตัว โดยรับประกันสิทธิพิเศษพื้นฐานบางอย่างให้ในนามของความปรารถนาดี เอื้อเฟื้อ และอยากช่วยเหลือ จึงเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จและไม่ค่อยมีใครตั้งคำถาม
แน่นอน วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นง่ายกว่าการลงทุนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เพื่อให้ ‘ทุกคน’ ในสังคมสามารถ ‘อยู่ได้’ และดังนั้นจึงแหกปากตะโกนด่ารัฐได้ แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายได้ แม้ความเห็นนั้นจะแตกต่างจากความเห็นของผู้มีอำนาจก็ตาม และเมื่อแสดงความคิดเห็นออกมาในรูปของงานศิลปะแล้ว ก็จะได้รับการยกย่อง (หรือไม่ยกย่อง) ที่ฝีมือหรือความคิดสร้างสรรค์ – มากกว่าจะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างเพียงเพราะมีอุดมการณ์ต้องตรงกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น หรือถูกบีบให้ต้องตกอยู่ในสภาพ ‘เบี้ยล่าง’ ตาม ‘ภาพ’ ของ ‘ศิลปินไส้แห้ง’ ที่สุดท้ายก็ต้องจำยอมค้อมหัวให้กับอำนาจรัฐ
ดังนั้น ถ้าถามซ้ำอีกครั้งว่าศิลปินแห่งชาติมีไว้ทำไม คำตอบจึงมากกว่ามีไว้เพื่อเป็นตำแหน่งประดับบารมีชาติ เพื่อแสดงให้ชาติอื่นๆ เห็นว่าชาตินั้นๆ มีความเป็นมายิ่งใหญ่อลังการขนาดไหน – เท่านั้น
แต่ตำแหน่งนี้ยังมีไว้เพื่อเป็นหลักฐานและเครื่องยืนยันให้เห็นกระจะตาด้วย – ว่าขณะนี้ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ อยู่ใน ’ชาติ’ แบบไหน