ขอเริ่มต้นเลยว่า นี่คือเรื่องเกี่ยวกับ ‘หน่าซี’ (Naxi) หาใช่นาซีที่เพิ่งเป็นประเด็นกันไปหมาดๆ และบุคคลสำคัญที่ผมกำลังจะกล่าวถึงอย่างมีชีวิตชีวานั้น ได้แก่ โจเซฟ ร็อก (Joseph Rock)
‘หน่าซี’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่กลุ่มหนึ่งที่ดำรงอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างทิเบตกับจีน หรือตรงแถวๆ เสฉวนและยูนนาน สืบเชื้อสายมาจากชนชาติเชียง (Qiang) ซึ่งตั้งถิ่นฐานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต กลุ่มชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’ มีอารยธรรมโดดเด่นนับแต่อดีตกาล สะท้อนผ่านตัวอักษรภาพและภาษาที่ใช้ สถาปัตยกรรมบ้านเรือน การแต่งกายทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับ การจัดระบบสังคม การปกครองชุมชนที่อาศัยลัทธิเรียกว่า ‘ตงปา’ (Dong Ba) เป็นศูนย์รวมจิตใจ ส่วนทางด้านจิตวิญญาณผูกติดกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวภูเขาคล้ายๆ กับการนับถือผี การทรงเจ้าเข้าผี บริเวณที่ชาว ‘หน่าซี’ ตั้งรกรากเรียกว่า ‘ลี่เจี่ยง’ (Lijiang) อยู่บนที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 8,000 ฟุต ภายใต้การโอบล้อมอ้อมแขนของขุนเขา แมกไม้เขียวขจี สายน้ำใสๆ และหมู่บ้านเรียงราย
ภาพเหล่านี้ นับวันค่อยๆ เลือนหายไป นับแต่ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน (คริสต์ศักราช 1966-1976) วิถีอารยธรรมแบบ ‘หน่าซี’ ถูกสั่นคลอนเกือบล่มสลาย เนื่องจากกฎหมายยุคนั้นชำแรกเข้ามาควบคุมและจัดการทำลายหลักฐานทางวัฒนธรรมหลายอย่าง กระนั้นดูเหมือนปัจจุบัน ความเป็น ‘หน่าซี’ จะได้รับการฟื้นฟู
ผมเองเคยพลิกๆ อ่านหนังสือเล่มหนึ่งในหอสมุดมหาวิทยาลัย ผลงานของจิม กู๊ดแมน (Jim Goodman) เปิดเผยรายละเอียดเรื่อง ‘หน่าซี’ อย่างน่าสนใจและชวนให้อยากต่อยอดความรู้ ขณะภาพจินตนาการดินแดน ‘ลี่เจียง’ ที่ผมอ่านจากหนังสือสารคดีมรดกโลกและหนังสือท่องเที่ยวโดยคนไทย ก็ชวนให้นึกอยากไปสัมผัสความสวยงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมด้วยตนเองอยู่ครามครัน แต่ในความคิดลึกๆของผม หากปราศจากผลงานที่นักสำรวจชาวออสเตรียนสัญชาติอเมริกันผู้หนึ่งได้พยายามเก็บรวมรวม บางที ชนรุ่นหลังอาจมองไม่เห็นภาพความเป็น ‘หน่าซี’ ในวันวานเลยสักนิด
ก็เขาเป็นใครกันล่ะ? นักสำรวจคนที่ว่า
โจเซฟ ชาร์ลส ฟรานซิส ร็อก (Joseph Charles Francis Rock) ถือกำเนิดวันที่13 มกราคม คริสต์ศักราช 1884 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในครอบครัวที่ยากจนแร้นแค้น ลูกชายคนรับใช้และกำพร้าแม่เมื่ออายุราว 6 ขวบ ผู้เป็นพ่อวางแผนที่จะให้วันหนึ่งข้างหน้าเขาต้องบวชเข้าสู่ร่มเงาคริสต์ศาสนา อย่างไรก็ดี ร็อกเปี่ยมล้นจิตวิญญาณนักผจญภัย เขาหนีออกจากบ้านตอนวัยรุ่นแล้วระหกระเหินไปยังหลายแหล่งแห่งหน กระทั่งปีคริสต์ศักราช 1905 ร็อกได้ใช้ความเป็นบริกรในเรือเดินสมุทรพาตนเองข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทักทายมหานครนิวยอร์ก
ราวๆ สองปีถัดมา คงมีใครสักคนแลเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่พกพาอาการวัณโรคย่ำแย่รวมถึงความยากไร้ไม่มีเงินติดตัวกำลังเดินตุหรัดตุเหร่ในฮาวาย แต่ด้วยความรู้และมันสมองที่มี ร็อกสมัครเข้าทำงานสอนหนังสือวิชาภาษาละตินและธรรมชาติวิทยาประจำโรงเรียนแห่งหนึ่ง การรู้จักค้นคว้าแสวงหาความรู้ส่งผลให้คนหนุ่มชาวออสเตรียนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพันธุ์พื้นเมืองของฮาวาย จวบจนในทศวรรษ 1910 ร็อกได้ทำงานในฐานะนักพฤกษศาสตร์ให้กับกองอุทยานแห่งชาติประจํารัฐ มิหนำซ้ำ ยังดำรงตำแหน่งอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย
คริสต์ศักราช 1920 เป็นปีแห่งการเดินทางสู่ดินแดนโลกตะวันออกของร็อก เขารับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาให้นําคณะนักสํารวจไปตามหาพืชพันธุ์อันมีสรรพคุณรักษาโรคเรื้อนได้ ในเขตประเทศอินเดีย พม่า และเมืองไทย แม้ท้ายสุด พืชพันธุ์ที่นำกลับมาจากเอเชียคราวนั้นจะตรวจไม่พบสรรพคุณดังคาด ทว่าชื่อเสียงร็อกในฐานะนักสำรวจผู้ช่ำชองภูมิศาสตร์ก็ขจรขจายไปทั่ว
ไม่เพียงเท่านั้น ในทศวรรษ 1920 ห้วงยามที่นิตยสาร National Geographic มีเป้าหมายจะสํารวจพื้นที่ต่างๆ นานาในโลก โดยเป้าหมายการขยายองค์ความรู้ของชาวตะวันตกอย่างกว้างขวาง ในลักษณะที่มิใช่การบุกเข้าไปยึดครองอาณานิคมแบบเดิมๆ ร็อกสวมบทบาทนักสำรวจสังกัดนิตยสารฉบับนี้และได้รับหน้าที่ให้เดินทางไปบุกเบิกพื้นที่เร้นลับบนเทือกเขาสูงทางฝั่งตะวันออกของทิเบต ซึ่งไม่เคยปรากฏข้อมูลอะไรมาก่อนเลยบนแผนที่ กล่าวได้ว่าคนผิวขาวกลุ่มแรกๆ ที่ไปเยือนดินแดนนั้นก็คือโจเซฟ ร็อกและคณะสำรวจที่ติดตามเขา
ร็อกสำรวจพื้นที่โดยบ่ายหน้าจากทางตอนใต้ของยูนนาน ฝ่าภูเขาสูงชันและหิมะปกคลุม เห็นถิ่นฐานและกลุ่มชนที่แปลกตาต่อสายโลกใบนี้ ย่ำไปบนพื้นที่ไม่เคยพบร่องรอยของชาวตะวันตก ผูกมิตรกับทั้งลามะและสมาชิกชุมโจร แหงนมองยอดเขาสูง ข้ามฝั่งแม่น้ำเชี่ยวกรากด้วยการชักรอกค่อยกระถดตัวไปตามเชือก เดินเท้านับหมื่นๆ ไมล์ ตราบกระทั่ง เขาได้พบกับ ‘ลี่เจี่ยง’ และกลุ่มชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’ พร้อมสร้างที่พำนัก ณ ที่นั่น
ประหนึ่งว่าร็อกจะหลงรัก ‘ลี่เจี่ยง’ ตั้งแต่เพียงแรกเจอ เพราะหลังจากนั้น เขาก็ผูกพันชีวิตของตนเพื่อลงพื้นที่ศึกษาความเป็นชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’ เกือบสามสิบปี (ราวๆ ปีคริสต์ศักราช 1922-1949)
แรกเริ่มเดิมที ร็อกเดินทางมาสำรวจและศึกษาพื้นที่เร้นลับบนเทือกเขารอยต่อทิเบตและจีนตามสัญญาจ้างของนิตยสาร National Geographic เขาทั้งส่งโทรเลขข้อมูลต่างๆ รวมทั้งเขียนบทความสารคดี ถ่ายภาพส่งไปให้ทางนิตยสารเนืองๆ แม้ภายหลัง สัญญาว่าจ้างร็อกของนิตยสารจะสิ้นสุดแล้ว หากร็อกก็มิได้คิดจะละทิ้ง ‘ลี่เจี่ยง’ และ ‘หน่าซี’ ไป เขาหลงใหลการสำรวจและศึกษาดินแดนนี้เข้าอย่างจัง ร็อกจึงพยายามติดต่อขอความสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)
อันที่จริง โจเซฟ ร็อกถูกจัดเข้าข่ายผู้มีความเชี่ยวชาญ ‘ทิเบตศึกษา’ เช่นกัน ซึ่งพอว่าถึงการศึกษาทางด้านนี้แล้ว อีกคนที่โดดเด่นขึ้นมาย่อมจะมิพ้นสามีของนางออง ซาน ซูจี นั่นคือ ไมเคิล แอริส (Michael Aris) ในสายตาแอริส การศึกษาเกี่ยวกับทิเบตของร็อกยังมีความคลาดเคลื่อนหลายจุด อย่างไรก็ดี แอริสชื่นชมความอุตสาหะอย่างมากของร็อกในการพยายามรวบรวมและแปลเอกสารอักษรภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’ รวมถึงการจัดทำแผนที่ การจดบันทึกข้อมูล และศึกษาพืชพันธุ์พื้นเมืองที่ได้พบเห็นในดินแดน ‘ลี่เจียง’
โจเซฟ ร็อกสำหรับผม ไม่แคล้วไปจากบุคคลที่น่าประทับใจในแรงมุมานะแสวงหาความรู้อย่างทุ่มเท อย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคถาโถม โดยเฉพาะกรณีที่จะเล่าต่อไปนี้
จริงอยู่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในโลกตะวันตก แต่การสยายปีกแห่งสมรภูมิได้ลุกลามเข้ามาในเอเชียด้วย ห้วงเวลานั้น ร็อกต้องทำแผนที่ยุทธศาสตร์ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา และช่วยเหลือรัฐบาลจีนต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในเขตยูนนาน
ในปีคริสต์ศักราช 1944 ท่ามกลางสถานการณ์คับขัน ร็อกเก็บรวบรวมเอกสารต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’, คัมภีร์ตงปา และต้นฉบับพจนานุกรมภาษาของชาว ‘หน่าซี’ จัดบรรจุหีบห่อแล้วส่งกลับไปยังสหรัฐอเมริกาผ่านทางเรือเดินสมุทร ข้อมูลและหลักฐานทั้งหมด ร็อกต้องทุ่มเทเรี่ยวแรงและเวลาเป็นทศวรรษกว่าจะค้นหามาได้
ช่างน่าเศร้า เรือเดินสมุทรลำนั้นต้องจมหายกลางทะเลเพราะการแผลงฤทธิ์ของตอร์ปิโด!
มิอาจล่วงรู้ความร้าวรานในหัวอกนักสำรวจชาวออสเตรียน แต่ในหลายวูบความรู้สึก ร็อกถึงกับคิดฆ่าตัวตาย
สงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลง ราวๆ ปีคริสต์ศักราช 1946 นักสำรวจที่ชื่อว่าร็อก พบตัวเองใน ‘ลี่เจียง’ อีกครั้ง และขะมักเขม้นเสาะหาข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’ อย่างไม่ลดละ
แน่ละ ความสำเร็จคือของขวัญที่ผู้ไม่ยอมแพ้ย่อมจะได้ลิ้มรส
บ่อยครั้งครับท่าน ที่ผมต้องเผชิญปัญหาจากการทำงานทางด้านข้อมูลหลักฐาน จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน แค่พริบตาเดียว ไฟล์งานสองพันกว่าชิ้นที่ผมอุตส่าห์สืบค้นแล้วพิมพ์บันทึกไว้เนิ่นนานหลายปี ฉับพลันสูญหายไปด้วยอุบัติเหตุร้ายกาจทางคอมพิวเตอร์ในหอสมุดมหาวิทยาลัย ตอนนั้น ผมคลุ้มคลั่งแทบบ้าทีเดียว ขณะครุ่นคิดว่าจะกู้ไฟล์งานกลับมาอย่างไรและจะกู้กลับมาได้บ้างหรือไม่ เรื่องราวของบุคคลหนึ่ง ก็โลดแล่นขึ้นมาประหนึ่งเครื่องช่วยปลอบประโลม
ใช่ครับ โจเซฟ ร็อก
ผมทำความรู้จักเขาจากหนังสือสารคดีของกวีซีไรต์ท่านหนึ่ง เมื่อราวๆ หนึ่งทศวรรษก่อน
มิหนำซ้ำ ผมมักระลึกถึงเขาสม่ำเสมอในทุกคราวที่อุปสรรคผุดโผล่ขึ้นมาขัดขวางการทำงานอย่างราบรื่น (แม้จะยังไม่เคยโชคร้ายถึงขั้นเดียวกับที่ร็อกเจอก็ตามที) แหละนั่นทำให้ผมไม่ยอมท้อถอย ตลอดจนบังเกิดเรี่ยวแรงและพลังใจเพื่อมุ่งมั่นตามหาสรรพสิ่งต่างๆ ที่สาบสูญไปให้กลับมาได้มากที่สุด
คนเราถ้ามีความพากเพียรอย่างเดียว อุปสรรคใดๆ ก็มิอาจทุบทำลายเราให้พ่ายพังได้หรอก
ปีคริสต์ศักราช 1949 ในเดือนกรกฎาคม กองทัพพรรคคอมมิวนิสต์บุกมายัง ‘ลี่เจียง’ โจเซฟ ร็อกรีบเก็บข้าวของเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา เขาจำเป็นต้องละทิ้งชาว ‘หน่าซี’ ผู้ให้ข้อมูลแก่เขาซึ่งถูกตั้งข้อหาร้ายแรงที่รับใช้ชาวตะวันตกโดยมิอาจช่วยเหลืออะไรเลย พระในลัทธิตงปา คนทรงเจ้าเข้าผี กลุ่มคนเหล่านี้เคยอธิบายข้อสงสัยต่างๆ ให้นักสำรวจชาวออสเตรียนฟัง พวกเขาจึงถูกจับกุมไปใช้แรงงาน
ร็อกตั้งใจว่าเมื่อสถานการณ์ในจีนสงบเรียบร้อยดีแล้ว เขาจะหวนย้อนคืนยังลี่เจียงอีกคราเพื่อลงพื้นที่ทำงานต่อ นักสำรวจผู้ลุ่มหลงชาติพันธุ์ ‘หน่าซี’ ยินดีหลับตายท่ามกลางบรรยากาศขุนเขาแห่งธรรมชาติอันงดงามเสียยิ่งกว่าหมดสิ้นลมหายใจเพียงลำพังบนเตียงในโรงพยาบาลไม่ทันสมัย แต่กระนั้น ความปรารถนาของร็อกไม่เป็นไปตามคาด เดือนตุลาคมปีเดียวกัน โฉมหน้าแผ่นดินจีนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐสังคมนิยม พร้อมๆ กับไม่ยินดีอ้าแขนต้อนรับชาวต่างชาติเข้ามา
โจเซฟ ร็อก กลับไปสูดลมหายใจในสหรัฐอเมริกา ใช้เวลากับการจัดทำหนังสือว่าด้วยสิ่งที่เขาศึกษาเรียนรู้ในดินแดนโลกตะวันออก
ปีคริสต์ศักราช 1962 เขาก็ยุติลมหายใจลง
แหละทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของนักสำรวจผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานตามแรงใฝ่ฝันอันน่าเขียนบอกเล่าถึง เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะได้เป็นกำลังใจให้กับใครๆ ที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำต่ออุปสรรค จนลองลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง!
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- จิระนันท์ พิตรปรีชา. ตำนานนักเดินทาง เปิดบันทึกโลกตะวันออก. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2543
- รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. แชงกรี-ลา แดนสวรรค์สุดขอบฟ้า. ปทุมธานี : วิชญา, 2545
- World’s cultural heritage: Lijiang. edited by Wu Wei. Kunming, China: Yunnan Daxue Shubanshe, 2002
- Goodman, Jim. Children of the Jade Dragon: the Naxi of Lijiang and their mountain neighbours the Yi. London: Asia Film House, 1997