ข่าวร้ายมักจะขายดี ว่าด้วย Morbid Curiosity ความสงสัยที่หยุดไม่ได้ในเรื่องสยองขวัญและความตาย มนุษย์เกิดมาชอบความรุนแรง?
เฮ่ ข่าวดีของสำนักข่าวใดใดในโลกนี้คือ ข่าวร้ายมักจะขายดีเสมอ โลกคงไม่หมดข่าวร้ายไปได้ง่ายๆ ข่าวร้ายข่าวเดิมข่าวเดียวที่ฮิตถูกปั่นให้เฟ้อ รีทวีตนิรันดร์ไม่หยุดยั้ง ถูกเมนชั่นถึงทุกหนแห่งในสังคม
อาจไม่รู้ตัว คนเราชอบเรื่องหดหู่มากกว่าตัวเองที่จะยอมรับ คดีอุกฉกรรจ์ คนฆ่ากันตาย ฆาตกรต่อเนื่อง เหตุก่อการร้าย ยิงกราด เครื่องบินตก ภัยพิบัติธรรมชาติ ข่าวที่เล่นกับความกลัวและความยากจนคือข่าวที่ขายดี เมื่อสิ่งที่เป็นข่าวคือสิ่งที่น่าสนใจ สำนักข่าวต้องขุดทุกกลยุทธ์มาเพื่อกระตุ้นความสนใจผู้เสพข่าว ยอดขาย ยอดไลก์ ยอดแชร์กลายเป็น KPI ให้แข่งขัน คนทำข่าวจึงเลือกเสนอเรื่องเหตุการณ์ร้ายกระทันหันฉับพลันซู่ซ่ามากกว่าข่าวความก้าวหน้าอย่างเนิบช้ายั่งยืนเพราะมันไม่ตื่นเต้นเท่า
คนเราชอบข่าวร้ายมากกว่าที่เราคิด
คนเรามักไม่ตอบตามความจริงในแบบสอบถาม ถ้าไปถามโต้งๆ ว่าเลือกอันไหน มักเลือกตอบสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดีทำให้ผลแบบสำรวจไม่เที่ยงตรง Marc Trussler และ Stuart Soroka แห่ง McGill University อยากหาว่าคนการเลือกเสพข่าวแบบไหน เลยออกแบบการทดลองที่หลอกให้ตายใจ โดยกลุ่มผู้ถูกทดลองมาอ่านข่าวอะไรก็ได้ บอกว่าเพื่อทดสอบกล้องที่จับการเคลื่อนไหวของลูกตา เมื่อรับรู้ว่าเป็นการทดลองเกี่ยวกับกล้องและดวงตา คนก็จะผ่อนคลาย ไม่รู้ว่ากำลังถูกจับตาดูว่าเขาสนใจอ่านอะไร ไม่ได้รู้สึกว่าจะโดนวัดผลและถูกตัดสินจากสิ่งที่อ่าน จากการทดลองนี้ จึงพบว่าคนเลือกอ่านแต่ข่าวที่มีสำเนียงลบ น่าหดหู่ มากกว่าสำเนียงกลางหรือบวก
แต่เมื่อคนกลุ่มเดิมกรอกตอบใบสอบถามว่าชอบอ่านข่าวแบบไหน กลุ่มผู้ถูกทดลองกลับตอบว่าชอบข่าวดีมากกว่า รู้สึกว่าสื่อนำเสนอข่าวร้ายมากเกินไป (ทั้งที่ตัวเองชอบอ่าน) ทำให้เห็นอีกว่าคนเรามักไม่ตอบสิ่งที่สนใจจริงๆ ผลการศึกษาอาจคลาดเคลื่อนหากเราถามโต้งๆ ว่าคนต้องการอ่านอะไร
ผลการศึกษานี้คอนเฟิร์มแนวคิดที่เรียกว่า Negativity Bias คืออคติเมื่อเราเลือกรับรู้และให้ความสำคัญต่อข่าวร้ายมากกว่า เรื่องลบๆ แรงๆ กระตุ้นความสนใจคนได้ดีเสมอ ในอีกการทดลอง ผู้คนมีปฏิกิริยารวดเร็วต่อคำร้ายๆ เช่น ‘มะเร็ง’ ‘ระเบิด’ ‘สงคราม’ มากกว่าความที่สวยงามมุ้งมิ้งเช่น ‘ทารก’ ‘ยิ้ม’ ‘สนุก’
เมื่อผู้บริโภคต้องการสิ่งใด ก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้ข่าวก็ต้องเลือกขายเพื่อความอยู่รอด ที่เราพบเป็นส่วนใหญ่จะมีแต่ข่าวร้ายๆ ผลิตออกรับดีมานด์ที่มีแบบหยุดไม่ได้ โลกนี้มันช่างโหดร้ายทารุณ น่าตระหนก ชวนดราม่า เรื่องไม่ฮิตมันไม่ค่อยมีโอกาสได้โผล่มาให้เราเห็นบน Feed ของเราอีก
Morbid Curiosity หลงใหลสงสัยในสิ่งสยองและความตาย
ความสงสัยเข้มข้นนี้ที่เรามีต่อความตายและสิ่งร้าย มีชื่อเรียกว่า ‘Morbid Curiosity’ อยากรู้ในเรื่องไม่ควรรู้ อยากอ่านข่าวอุบัติเหตุ อยากแอบดูรูปศพดารา ฯลฯ กลัวก็กลัวแต่อยากรู้อยากดู อยากส่อง
เว็บบอร์ดรวมภาพสยดสยอง Documenting Reality ดำรงอยู่เป็นด้านมืดโลกอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2000 ทุกวันนี้มีคนมาแลกเปลี่ยนรูปสยดสยองของจริงศพแบบต่างๆ ศพคนดังดีเทลโรคภัยต่างๆ ที่น่าขนลุกมีคนดูกระทู้นึงเป็นแสนวิวเว็บดำรงอยู่มาได้แสนนานหารายได้จากการเก็บค่าเข้าเพื่อดูภาพโหดๆ ที่หาที่ไม่ได้คล้ายๆ เว็บภาพโป๊แต่นี่คือภาพสยองชวนผวาภาพคนตายถูกกระจายใต้ดินไปทั่วอินเทอร์เน็ตชวนให้ครุ่นคิดว่าความตายของเขาแล้วการเข้าถึงภาพนั้นเป็นควรของใครหากเราตายคงไม่อยากให้ใครเซฟภาพศพเราไว้ดูเล่นใช่ไหม
อาจจะมีคำเยอรมัน ‘Schedenfraude’ เอาไว้เรียก ความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น แต่ความสงสัยสนใจในความตายซับซ้อนกว่านั้น เราก็รู้แหละว่ามนุษย์ปกติไม่ได้ยินดีที่มีคนตาย สนใจกับชอบไม่เหมือนกัน เราสงสัย สงสาร เห็นใจ ว้าวุ่น ครุ่นคิด จิตตก พะวงสนใจเหตุการณ์ร้ายอย่างเข้มข้น สมองตื่นตัวเมื่อได้รับชุดข้อมูลที่เตือนว่าเราอาจตกในอันตราย
เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้กลไกของร่างกายและสมองของเรา ธรรมชาติของสิ่งชีวิตแบบพวกเราคือความรุนแรงทำให้เราตื่นเต้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ เมื่อเราได้เสพเรื่องราวโหดร้ายหวาดเสียว สมองก็ตื่นตัวเตือนว่าเราอาจตกอยู่ในอันตราย ข้อมูลเหล่านั้นสั่นคลอนความเป็นอยู่อันดีของเรา สมองหลั่งสาร Dopomine ให้ตื่นตัว ก่อความกลัว ใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีด รู้สึกดีแต่ก็รู้สึกผิด กลไกสารนี้ก็หลั่งตอนมีเซ็กซ์ เสพยา และกินอาหาร ทำให้เสพติดและต้องการอีก แม้ไม่ชอบแต่สนใจทำยังไงดี ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ หยุดไม่ได้ ช่วยด้วย เราหลีกหนีจากร่างกายและสมองของเราไม่ได้ด้วยสิ
เมื่อชาวบ้านชอบความฉิบหาย แล้วสื่อต้องขายไหม
การเป็นคนดังจากการทำเรื่องร้ายๆ ก่ออาชญากรรม ก่อการร้าย ฆ่าคนตาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกนี้ เรามีอาชญากรเซเล็บลิสต์ยาวเป็นหางว่าวในประวัติศาสตร์ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์หนุ่มที่กินศพ เท็ด บันดี้ผู้มีเสน่ห์ แจ็ค เดอะริปเปอร์ที่ลึกลับ ต่างก็มีคนหลงใหลสมัครเป็นแฟนคลับในยุคนั้นๆ ลายมือ ภาพวาด จดหมายของอาชญากรชื่อดังกลายเป็นของสะสมมีราคา จนมีเว็บไซต์ไว้ซื้อจับจองของพรีเมี่ยมฆาตกรดังทั้งหลาย
เคยมีกระแสอันตรายที่วัยรุ่นฆ่าตัวตายตามๆ กันในยุค 80s ทำให้สื่ออเมริกันระมัดระวังมากขึ้นในการนำเสนอความตาย เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในระยะเวลา 10-20 ปีคือ สื่ออเมริกันนำเสนอการฆ่าตัวตายลดลง ยกเว้นเป็นคนดัง คนสาธารณะจริงๆ และมักเลี่ยงไม่นำเสนอวิธีการฆ่าตัวตายโดยละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้คนเลียนแบบโดยเฉพาะวัยรุ่น วัยรุ่นเป็นวัยที่ฮอร์โมนในร่างกายไม่เสถียร พวกเขาหุนหันพลันแล่น อารมณ์รุนแรงและอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาอยู่ในร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ในปี 1999 มีคดีสะเทือนขวัญสองหนุ่มยิงกราดในโรงเรียน Columbine Highschool เป็นคดีร้ายแรงในประวัติศาสตร์คนตาย 13 คนบาดเจ็บ 24 คนสื่อนำเสนอชีวิตส่วนตัวของพวกเขาอย่างเต็มที่รูปภาพวาดเล่นเว็บไซต์บทกวีถูกนำมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เสพชีวิตและความคิดของผู้ก่อการร้ายวัยรุ่นทั้งสองเต็มที่หลังจากนั้นก็พบ 74 คดีที่คล้ายเคียงใน 30 รัฐซึ่งผู้กระทำความผิด/ผู้ต้องสงสัยได้อ้างอิงว่ารับแรงบันดาลใจจากคดี Columbine ที่มีชื่อเสียงจนมีชื่อเรียกว่า ‘Columbine Effect’
ในปี 2012 เมื่อเกิดคดีสะเทือนขวัญอย่างที่โรงเรียน Sandy Hook ในมีคนบุกยิงปลิดชีพเสียชีวิตไป 20 คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แม้เด็กหนุ่มผู้ก่อการจะเป็นวัยรุ่นที่เก็บตัว ไม่มีรูปภาพหน้าตาที่อัพเดต แถมที่มีก็ไม่ชัด สื่อก็ยันขยับนำรูปเขาที่มีน้อยนิดที่เขามีมาบรรจุใส่เป็นปกบทความกันจนตาลาย แต่ในรอบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แทบไม่มีภาพหลุดมาจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ ไม่มีรูปศพ ไม่มีเลือดสาดให้ดู จนพาให้คนสร้างทฤษฎีสมคบคิดว่า ว่ารัฐจัดฉากขึ้นมาเองเฉย โศกนาฏกรรมนี้ไม่มีจริงเพราะไม่มีรูปดาร์คๆให้กดดู หาไม่พบ
ZEYNEP TUFEKCI นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Princeton University นักวิจัยด้านโซเชียลมีเดีย ได้แนะนำไว้ใน The Atlanctic ว่า รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้าง Guideline ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้น ดังนี้
1. ตำรวจไม่ควรลงข้อมูลดีเทลของการวิธีฆาตกรรม ผู้ที่รับรู้ข้อมูลก็ไม่ควรบอกต่อ แน่นอนว่าอาจจะหลุดได้ แต่ข้อมูลถูกเผยอแพร่ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
2. ถ้าพบโซเชียลมีเดียของฆาตกร ตำรวจควรร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อระงับการใช้งานทันที แม้ว่าอาจมีคนมือไวตาไวเซฟภาพเก็บไว้ทันบางส่วน แต่ยิ่งหายากแค่ไหนยิ่งดี
3. ชื่อของฆาตกรไม่ควรถูกปล่อยในทันที ควรปล่อยให้เรื่องซาก่อน ผ่านไปเป็นสัปดาห์หรือเดือนยิ่งดี คนจะได้ไม่จดจำเห็นเป็นคนสำคัญ
4. งดสัมภาษณ์ญาติและคนใกล้ชิดของเหยื่อขณะที่อยู่ในช่วงอ่อนไหวโศกเศร้า
แม้ว่าประชาชนจะชอบเรื่องร้ายๆ แต่เมื่อเกิดคดีสะเทือนขวัญ สื่อไม่ใช่เพียงผู้นำเสนอความจริงหรือเล่าเพียงแค่สิ่งที่คนอยากรู้ แต่ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการรับรู้ของคนในสังคม สิ่งที่แสดงออกไป อาจมีผลให้เกิดผู้ทำตาม การก่อการร้ายและฆ่าคนตายไม่ควรกลายเป็นตั๋วไปสู่ความโด่งดังแบบด่วน
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ย้อนแย้ง
มนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด เรามีค่านิยมและความเชื่อที่ขัดแย้งในตัวเองหลายอย่าง ศาสตราจารย์ Robert Sapolsky ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนส์ ศึกษาความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในเชิงชีววิทยา พูดเรื่องนี้ไว้ใน TEDtalk เขากล่าวว่า สปีชีส์ของเรามีปัญหาเรื่องความรุนแรง
มนุษย์รักและสนใจความรุนแรงอยู่ในสันดาน แต่มีวิธีในการปลดปล่อยและบรรเทาได้หลายแบบ Sapolsky กล่าวว่า เขาเองก็ชอบดูหนังที่โหดร้ายเลือดสาดแต่ก็ต่อต้านการอนุญาตครอบครองปืน มีความสุขมากกับเลเซอร์เกม แข่งขันยิงฝั่งฝ่ายตรงข้ามด้วยปืนเลเซอร์ แต่เขาก็ต่อต้านโทษประหารชีวิต เขาเองก็จินตนาการลับๆเกี่ยวกับความรุนแรง เช่นเขาจะทรมานฮิตเลอร์อย่างไรได้บ้างถ้าได้พบ แต่ก็เป็นเพียงแฟนตาซีที่ทำไม่ได้จริง
เราอาจชอบเรื่องโหดร้ายแต่มันแยกจากกันได้ ชอบดูหนังของเควนตินไม่ได้แปลว่าอยากหยิบปืนไปยิงหัวใครให้เลือดสาดเพื่อความใคร่หรือล้างแค้น
ความสนใจในความตายและความรุนแรงไม่ใช่เรื่องร้ายเสมอไป เป็นสิ่งที่ธรรมดากว่าที่คิด ความรุนแรงมีประโยชน์เชิงวิวัฒนาการ เพราะความก้าวร้าวทำให้เราปกป้องทรัพยากรได้ เช่นคู่ครอง พื้นที่ อาหาร ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและสืบพันธุ์ไว้ได้ ความตายของผู้อื่นเตือนเราให้ระลึกถึงเวลาอันแสนสั้นของอายุเรา เรื่องร้ายพาให้เราหลุดจาก comfort zone ของชีวิตปกติที่จำเจ เกิดอุทาหรณ์ให้ระมัดระวังไม่ประมาท สนใจข่าวร้ายและความตายไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องบาป แต่เราเลือกได้ที่จะไม่หมกมุ่นจนเสียสติ หรือจะแสดงออกกับมันอย่างไรให้เหมาะสม
แม้จะเป็นชาวบ้านในเน็ตชั้นธรรมดา เราต่างเป็นสื่อของกันและกันในวงสังคมย่อยๆของเรา ทุกการแชร์ เสียงของเราแม้จะเบา ก็มีส่วนกระพือสุมไฟให้กระแสที่ไม่พึงประสงค์กระเพื่อมไม่หายไปจากความสนใจในสังคม อย่าลืมว่าเราไม่ได้เกิดมาเพียงแค่แชร์เรื่องที่คนฮิตแล้วจบสิ้นกันไป เราไม่ได้ใช้ดำรงอยู่เพื่อล่าไลค์อันเป็นเลขสมมติ
เมื่อมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น เราต่างก็รู้ว่าชาวบ้านนั้นชอบความฉิบหายเป็นธรรมชาติ แต่เราเลือกได้ เลือกได้ว่าเสียงที่เราแสดงออกไปควรเป็นเสียงแบบไหน นำเสนอในมุมไหน สร้างความรู้ความเข้าใจกับสังคมอย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
Psychology: Why bad news dominates the headlines
Why Are We Morbidly Curious?
People Respond Quicker To Negative Words
Negativity Bias
en.wikipedia.org/wiki/Negativity_bias
Consumer Demand for Cynical and Negative News Frames
Media Needs to Stop Inspiring Copycat Murders: Here’s How
Columbine Effects
How Columbine Spawned Dozens of Copycats
Robert Sapolsky: The biology of our best and worst selves