ก่อนหน้านี้ผมเคยเสนอเรื่อง Danchi โครงการอาคารที่พักอาศัยขนาดยักษ์ที่กลายเป็นอดีตเพราะปัจจุบันไม่มีใครเข้าไปอยู่ เหลือไว้แค่คนแก่นับถอยหลังรอวันสุดท้ายของชีวิต แต่พอมาคิดดูอีกที ประเทศญี่ปุ่นก็มีพื้นที่ให้ใช้สอยได้น้อย แถมค่าเช่าที่พักอาศัยก็ยังแพงด้วย บางครั้งการมีที่พักอาศัยว่างอยู่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งเหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันยังมีคนอีกกลุ่ม คือไม่ใช่คนไร้บ้านตามเมืองใหญ่ที่อาศัยนอนในกล่องกระดาษข้างถนน หรือปักเต็นต์นอนตามสวนสาธารณะแบบที่เห็นกันบ่อยๆ แต่เป็นคนไร้บ้านยุคใหม่ โดยอาศัยธุรกิจที่เปิดทำการตลอดคืนเป็นแหล่งพักพิง และส่วนมากมักจะเป็นร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้ชื่อเรียกว่า Net Café Nanmin หรือ Net Café Refugee ผู้อพยพในเน็ตคาเฟ่นั่นเอง
จริงๆ แล้วเรื่องของคนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคำๆ นี้เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปี 2007 และเป็นที่รับรู้กันในสังคมเรื่อยมา แต่ที่เอามาเล่าในตอนนี้เพราะเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจผู้ใช้บริการกิจการที่เปิดตลอดทั้งคืนทั้งหลายในโตเกียว ตั้งแต่ร้านเน็ตคาเฟ่ มังงะคาเฟ่ ร้านให้บริการห้องเช่าดูวิดีโอ หรือซาวน่าเป็นต้น ซึ่งผลก็ออกมาน่าตกใจ เพราะกว่า 1 ใน 4 ของ ผู้ใช้บริการยอมรับว่า เป็นคนไร้บ้านที่อาศัยกิจการเหล่านี้เป็นที่พัก ถ้าประเมินแล้วอาจจะมีถึงกว่า 4,000 คนต่อคืนเลยทีเดียว ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับสังคมญี่ปุ่น
แม้จะเป็นคนไร้บ้าน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีงานทำนะครับ
จากข้อมูล มีถึง 3 ใน 4 ที่ทำงานแบบไม่ประจำ บางคนก็ทำงานพิเศษทั่วไป บางคนก็เป็นพนักงานประเภทที่รอให้บริษัทนายหน้าส่งงานมาให้ ว่าวันนี้จะต้องไปช่วยงานบริษัทไหน ส่วนที่เหลือก็มีทั้งคนที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว คนที่เพิ่งเสียงาน คนไร้งานทำ และที่สำคัญคือ ยังมีพนักงานประจำด้วยครับ มีงานประจำแต่ไม่มีที่พักพิงถาวรนี่ก็ลำบากเหมือนกัน แถมจากที่เคยคิดว่าจะเป็นวัยรุ่นซะเป็นส่วนไหญ่ กลายเป็นว่าวัย 30-39 เป็นช่วงอายุที่เยอะสุด แต่ก็มากกว่ากลุ่ม 20-29 อยู่ไม่มากครับ
เอาจริงๆ แล้วในกลุ่ม Net Café Refugee นี่ก็แบ่งเป็นพวกที่มาพักบ้างไม่พักบ้าง บางวันก็อาศัยนอนในพื้นที่สาธารณะ กับพวกที่อยู่แทบจะประจำเลย คือสัปดาห์นึงอยู่ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป ซึ่งกลุ่มหลังนี่ล่ะครับที่ชวนให้สนใจเอามากๆ เพราะอยากทราบว่าเขามีรายการค่าใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่บ้าง ไล่ไปไล่มาก็เจอบล็อกของคนอายุ 30 ที่อาศัยอยู่ในเน็ตคาเฟ่เป็นประจำ เขาก็แจงให้ดูว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไหร่
อย่างแรกเลยคือค่าที่พักครับ เขาแจงว่า ตัวเขาเองเลือกใช้ Net Room มากกว่าที่จะเป็น Net Café ซึ่งจุดแตกต่างกันคือ Net Room จะเป็นส่วนตัวกว่า เพราะเป็นห้องเล็กๆ (ตรงตามชื่อ) ในขณะที่ Net Café จะเป็นบูธแบบด้ที่านบนเปิดโล่ง การใช้ Net Room อนุญาตให้ล็อคห้องได้ เก็บของส่วนตัวได้ จึงปลอดภัยในระดับหนึ่ง และราคาจะถูกกว่า Net Café เพราะไม่มีบริการเครื่องดื่มแบบบุฟเฟต์ให้ ค่าใช้บริการตกประมาณวันละ 2,400 เยน รวมเดือนหนึ่งก็ประมาณ 7 หมื่นเยน
ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร ก็ตกประมาณวันละ 1,500 เยน เพราะว่าทำอาหารกินเองไม่ได้ ต้องอาศัยข้าวกล่อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือกินตามร้านค้า เดือนหนึ่งก็ 45,000 เยน ยังมีค่าอาบน้ำ ครั้งละ 100 เยน อันนี้น่าสนเพราะว่า 100 เยน อาบได้ 10 นาที แต่ถ้าปิดก๊อกน้ำ เวลาก็จะหยุด แล้วยังมีค่าซักผ้าตามเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ค่าเดินทางขั้นต่ำ (ถ้ามี) ก็วันละ 400 เยนได้ รวมค่าจิปาถะต่างๆ แล้ว การใช้ชีวิตในเน็ตคาเฟ่แบบนี้แต่ละเดือน มีค่าใช้จ่ายพุ่งไปถึงประมาณ 140,000 เยนเลยทีเดียว
ฟังดูแล้วก็น่าทึ่งว่า หาเงินได้เดือนนึงขนาดนี้ แต่ทำไมยังต้องเป็นคนไร้บ้านอยู่
ปัญหาหลักๆ ก็คือระบบการเช่าที่พักอาศัยของญี่ปุ่นนั่นล่ะครับ ผมเคยเขียนลงใน Joy on Japan ไปทีนึงว่า กว่าจะเช่าที่พักได้ เจอค่าสารพัดสารพัน ค่าเงินประกัน เงินขอบคุณผู้ให้เช่า (เอิ่ม…) เงินกินเปล่า เงินให้นายหน้า รวมๆ แล้วจ่ายงวดแรกอาจจะเท่ากับค่าเช่าคูณด้วย 5 หรือ 6 เลยครับ คนทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำงานพิเศษนี่หาเงินเก็บเป็นก้อนขนาดนั้นไม่ไหวแน่นอน ถึงจะมีที่พักรุ่นใหม่ๆ ที่แทบไม่เรียกเก็บเงินกินเปล่าเช่นนั้นแล้ว แต่การจะหาเงินก้อนพอสำหรับค่าเช่าเดือนแรกก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะ แค่ทำงานหาเงินมากินอยู่แต่ละวันก็ลำบากแทบแย่แล้ว
เท่าที่เคยดูสัมภาษณ์ บางคนก็ชินกับชีวิตแบบนี้แล้ว ไม่รู้สึกลำบากอะไร บางคนก็พยายามสู้โดยมุ่งหวังไปที่อนาคตที่ดีกว่า แต่การใช้ชีวิตกึ่งโฮมเลสแบบนี้ก็นำไปสู่ปัญหาไม่น้อยครับ ปัญหาพื้นฐานคือ หากย้ายออกจากที่อยู่เก่า แต่ไม่มีที่อยู่ใหม่เป็นเวลานานๆ อาจจะโดนคัดชื่อออกจากฐานทะเบียนบ้านได้ ยิ่งถ้าปล่อยไว้นาน การจะมาเรียกสิทธิ์นี้คืนก็เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นโฮมเลสเต็มตัว เท่านั้นล่ะครับ ชีวิตลำบากทันที เพราะเปิดบัญชีธนาคารก็ไม่ได้ ลามไปถึงบัตรเครดิต แถมขึ้นทะเบียนตราประทับของตัวเองไม่ได้ กลายเป็นว่าทำธุรกรรมอะไรไม่ได้อีกเลย จะทำหรือต่ออายุใบขับขี่ก็มีปัญหา ยิ่งทำให้โอกาสกลับเข้าสู่สังคมเป็นเรื่องยากขึ้นอีก และยิ่งถ้าจำเป็นต้องทำธุรกรรมอะไรเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ การไม่มีเอกสารแสดงตนอะไรเลยอาจจะทำให้โดนตัดสัญญาให้บริการได้ ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่การติดต่อคนใกล้ก็เป็นเรื่องยากลำบากไปเสียแล้ว
ยังดีที่อย่างน้อยก็ใช่ว่าจะไม่มีใครช่วยอะไรเลย ร้านเน็ตคาเฟ่บางร้านก็ยอมให้ลูกค้าใช้ที่อยู่ของร้านในการอ้างอิงเวลาสมัครงาน และในบางพื้นที่เช่นในเมือง Warabi ในจังหวัด Saitama ก็ยอมให้ใช้ร้านเน็ตคาเฟ่ในการลงชื่อในฐานทะเบียนบ้านได้ ทำให้สามารถรักษาสิทธิ์ต่างๆ ของตัวเองไว้ได้ และปัจจุบันก็มีองค์กรไม่หวังผลกำไรต่างๆ พร้อมที่จะยื่นมือช่วยเหลือคนไร้บ้านยุคใหม่เหล่านี้ เพื่อที่จะได้กลับมาเริ่มต้นใช้ชีวิตของตัวเองได้ใหม่
อ้างอิงข้อมูลจาก