หลังจากแวะเวียนไปเรื่องฆาตกรรมเมื่อคราวก่อน (ซึ่งน่าจะมีมาอีกเรื่อยๆ เพราะช่วงนี้ติดอ่านเรื่องคดีเก่าๆ ครับ แฮ่) รอบนี้ก็กลับมาเรื่องปัญหาหลักของโลกที่เรื้อรังมายังไม่หายซะที นั่นคือเรื่องของ COVID-19 ที่เริ่มจะมีแสงปลายทางให้เห็นบ้างแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะจบง่ายๆ นั่นแหละครับ เพราะขนาดวัคซีนยังมีหลายตัวให้เลือกและประสิทธิภาพต่างกันเลย แถมคงต้องรอให้มีคนฉีดในจำนวนที่เยอะพอถึงจะคาดหวังการระงับโรคนี้ได้
แต่ที่จะมาคุยในรอบนี้ คือ เรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ ตัวอย่างคือในบ้านเราเองก็แทบไม่ได้เห็นสื่อพูดถึงคนกลุ่มนี้เท่าไหร่ นั่นคือ กลุ่มคนไร้บ้าน หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โฮมเลส’ นั่นเอง
แต่เดิมกลุ่มคนไร้บ้านบญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาเวลาฤดูหนาวมาเยือน เพราะอย่างตอนนี้ ขนาดผมอยู่ในบ้านเองยังหนาวเอาเรื่องเลยล่ะครับ เวลาอากาศหนาว คนไร้บ้านญี่ปุ่นก็ต้องพยายามเอาตัวรอด จากแต่เดิมมักจะมีการปักเต็นท์ หรือสร้างที่พักแบบง่ายๆ อยู่กัน แต่เมื่อเมืองพัฒนาไป การสร้างที่พักแบบนี้ก็ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมักจะเห็นการนอนในถุงนอนจำเป็น นั่นคือลังกระดาษที่เอามารองพื้นและกันรอบตัวเพื่อกันอากาศหนาว พอเอาตัวรอดไปได้ในแต่ละวัน
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็มีกลุ่มคนกึ่งไร้บ้านอีกกลุ่มหนึ่งคือ Net Café Refugee หรือกลุ่มผู้ลี้ภัยในเน็ตคาเฟ่ ที่เรียกแบบนี้ ก็เพราะว่าพวกเขาไม่ใช่คนไร้บ้านแบบเต็มตัว แต่เป็นคนที่ไม่สามารถที่จะเช่าที่พักอาศัยแบบมาตรฐานได้ เพราะการเช่าที่พักในญี่ปุ่น จำเป็นต้องมีเงินประกัน เงินนั่นนี่สารพัด ทำให้เป็นเงินก้อนใหญ่เอาเรื่อง เมื่อหาเงินก้อนไม่ได้ ก็ต้องมาอาศัยในเน็ตคาเฟ่ ที่เก็บเงินแบบรายเดือน หรือรายวันแทน
ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นคนทำงานแบบลูกจ้างรายวัน คอยดูว่าวันนี้มีงานอะไรมาจ้างบ้าง หรือคนที่เริ่มทำงานแต่ยังไม่มีรายได้เพียงพอ ก็ต้องอาศัยเน็ตคาเฟ่ไปวันๆ ยังดีหน่อยที่เน็ตคาเฟ่ญี่ปุ่นเป็นเหมือนห้องเล็กๆ เพราะมีบูธแยกใครแยกมัน บางที่ก็เป็นห้องมีกุญแจให้ล๊อคได้เลย มีบริการเครื่องดื่ม ห้องอาบน้ำพร้อม ทำให้มีคนเลือกทางนี้ไม่น้อยเหมือนกัน
แต่ปัญหาคือ เมื่อไวรัสระบาด และรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้จะไม่สามารถบังคับกิจการต่างๆ ได้ เน้นที่เป็นการขอความร่วมมือ แต่หลายกิจการก็เลือกที่จะร่วมมือดีกว่าที่จะโดนสังคมประนาม และแน่นอนว่า เน็ตคาเฟ่ก็เป็นหนึ่งกิจการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ขนาดจำกัด ทำให้ต้องปิดให้บริการชั่วคราว
ถ้าเป็นบริการทั่วไปแบบร้านอาหารคงไม่มีผลกระทบมากนัก แต่นี่หมายถึง ‘บ้าน’ ของคนหลายต่อหลายคนหายไปในทันที ซึ่งประเมินกันว่าในโตเกียวก็มีคนกลุ่มนี้อยู่ถึงสี่พันคนเลยทีเดียว
ซึ่งก็ทำให้กลายเป็นว่ามีความเสี่ยงที่
จำนวนของคนที่กลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นโดยกะทันหันได้
นอกจากนี้อีกปัญหาหนึ่งของคนไร้บ้านในโตเกียวหรือเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นที่พบเจอมากขึ้นเรื่อยๆ คือ Hostile Architecture หรือสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร ที่ทำให้คนไร้บ้านไม่สามารถพักนอนตามที่ต่างๆ ได้ ตั้งแต่ม้านั่งในสวนสาธารณะที่มีที่พักแขนกั้นกลางไม่ให้นอนยาวได้ พื้นที่มีปุ่มแหลมไม่ให้พักหลบใต้หลังคา หรือกระทั่งบางพื้นที่ก็มีการปล่อยเสียงรบกวนเป็นระยะ สร้างความลำบากให้คนไร้บ้าน ที่ปกติก็หาที่นอนยากอยู่แล้ว ถ้ามีคนเพิ่มเข้ามาอีกก็ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่
สิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรลืมเด็ดขาดคือ คนไร้บ้านก็มีความเสี่ยงกับการติดไวรัสไม่แพ้คนมีบ้าน แถมอาจจะเสี่ยงกว่าด้วย เพราะถึงจะอยู่ในที่อากาศถ่ายเท แต่ก็ไม่รู้ว่าวันๆ จะมีการสัมผัสหรือเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อแค่ไหนกัน และการติดตามก็เป็นไปได้ยาก รวมไปถึง โอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอีกด้วย ทำให้กลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของสังคมก็ว่าได้
ยังดีที่นี่เป็นประเด็นทางที่ทางรัฐเขาเข้าใจว่าเป็นปัญหา ระหว่างที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรอบแรก ทางกรุงโตเกียวก็ได้มีการจัดเตรียมที่พักอาศัยชั่วคราวให้กับกลุ่มคนกลุ่มนี้ ตั้งแต่การจัดพื้นที่อาคารสาธารณะ เช่น โรงยิมของรัฐ แล้วจัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนให้ผู้เข้าพักได้พักได้ หรือการเช่าโรงแรมธุรกิจแบบเหมา เพื่อให้กลุ่มคนที่ต้องออกจากเน็ตคาเฟ่มาพักแทน ซึ่งจะบอกว่าเป็นทั้งการแก้ปัญหาและการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น
แต่ปัญหาก็คือ หลังจากยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินรอบก่อน ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม ทำให้คนไร้บ้านก็ต้องกลับไปอยู่ตามถนน กลุ่มที่เคยอยู่ในเน็ตคาเฟ่ ก็พยายามกลับไปเหมือนเดิม แต่รอบนี้ไม่ใช่ง่ายเหมือนเดิมแล้วสิครับ
ปัญหาหลักของพวกเขาในคราวนี้คือ ชาวผู้ลี้ภัยเน็ตคาเฟ่ เดิมทีคือกลุ่มคนที่ทำงานแบบรายวัน คือบางทีก็ต้องคอยว่าวันนี้จะมีประกาศงานอะไร แล้วก็ไปทำงานนั้นๆ บางคนก็ทำงานแบบสัญญาระยะสั้นหลักเดือน ทำให้พวกเขาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเช่าที่พักตามที่บอกไว้
ถ้าเศรษฐกิจเป็นปกติก็คงไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่ปัญหาครั้งนี้คือ นอกจากปัญหาเรื่องไวรัสแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจก็ตามมาแบบติดๆ เลยทีเดียว ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบถึงคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะงานแบบรายวันที่เคยมี ก็แทบจะหายเกลี้ยง ตัวอย่างเช่น งานก่อสร้าง งานจัดอีเวนต์ งานใช้แรงงานต่างๆ หายไปเป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนกลุ่มนี้ไปในทันที ต่อให้ที่พักกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ก็ไม่มีเงินพอที่จะกลับมาเช่าที่พักได้อีกแล้ว ทำให้หลายต่อหลายคนก็กลายมาเป็นคนไร้บ้านแบบเต็มตัว
จากที่แต่เดิมคนไร้บ้านมักจะเป็นชายอายุวัยกลางคนขึ้นไป
ก็มีกลุ่มคนหนุ่มเพิ่มขึ้นมาอีก
สิ่งที่น่าเศร้าอีกอย่างหนึ่งคือ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีนโยบายแจกเงินให้คนละแสนเยนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นคนกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดในสังคมที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงเงินส่วนนี้ได้ ตรงนี้ไม่ได้เหมือนกับรัฐบาลไทยที่ไม่แจกเงินไปใช้ตามสะดวก แต่กลับติดเงื่อนไขต้องเอามาซื้อของเท่านั้น คนอยากจะเอาไปจ่ายหนี้หรือค่าใช้จ่ายจำเป็นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องก็ทำไม่ได้
ของรัฐบาลญี่ปุ่นคือ กรอกเอกสารลงทะเบียนตามทะเบียนบ้าน เมื่อถึงรอบก็จะได้เช็คเงินเพื่อเอาไปเข้าบัญชีนั่นเอง ซึ่งจัดว่าง่ายมากๆ แต่สำหรับคนไร้บ้านแล้ว นี่ก็กลายเป็นกำแพงสูงสำหรับพวกเขา หลายคนคือไม่มีบ้านไม่มีทะเบียนแล้ว บางคนก็รู้ว่าครอบครัวตัวเองอยู่ที่ไหน แต่ไม่มีหน้ากลับไปเพราะความอาย ดังนั้น เงินแสนเยน สำหรับพวกเขา ก็คือสิ่งที่ได้แต่มองคนอื่นได้ประโยชน์ โดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลย ทั้งๆ ที่เป็นคนกลุ่มที่เงินจำนวนนี้จะช่วยพวกเขาได้อย่างมากแท้ๆ
ยังดีที่ญี่ปุ่นยังมีคนที่เข้าใจคนกลุ่มนี้ และพร้อมจะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมูลนิธิที่เดินสายออกแจกอาหารให้กับคนไร้บ้านเป็นประจำ ที่พวกเขาเองก็ยอมรับว่า ตั้งแต่วิกฤตเริ่ม คนที่มาเข้าคิวรอรับอาหารก็เพิ่มมาขึ้นจริงๆ นอกจากนี้ยังมีสายด่วน และการตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ และพยายามให้ข้อมูลเรื่องงานเพื่อจะให้ตั้งตัวได้ แม้จะเป็นภารกิจที่ยากเย็น แต่การช่วยเหลือกันและกันในเวลาแบบนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นเป็นอย่างมาก
ต่อให้สายตาของคนที่มองคนไร้บ้านมักจะมองผ่านราวกับเป็นอากาศธาตุ ไม่อยากยอมรับตัวตนของคนกลุ่มนี้ แต่ในภาวะแบบนี้ การทอดทิ้งหรือหลงลืมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไป อาจจะหมายถึงการไม่สามารถจัดการปัญหาการระบาดได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการพยายามก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ลืมทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต่อให้จัดการกับปัญหาได้แล้ว ก็ควรที่จะพยายามรักษาสิ่งดีๆ ที่ได้ร่วมสร้างกันมาต่อไปครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก