อยู่ๆ เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา อะไรที่เรียกว่า ‘หมุดคณะราษฎร’ ก็หายไป แถมยังมีอันใหม่หน้าตาเกือบๆ จะคล้ายของเดิม (แต่ข้อความและลวดลายข้างในไม่เหมือนเดิม) มาแทนที่ แบบไม่มีคำอธิบาย และไม่รู้จะจับมือใครดมมันซะอย่างนั้นนะครับ
แต่อันที่จริงแล้ว เจ้าหมุดที่เราเรียกกันจนชินทั้งปากและหูว่า ‘หมุดคณะราษฎร’ นั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ เพราะว่าสุนทรพจน์ ในพิธีฝังหมุด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ณ ขณะจิตนั้นของประเทศสยาม (ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นไทย) ระบุเอาไว้ว่า
“…ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่า ณ ที่ใดซึ่งเปนที่ๆ พวกเราได้เคยร่วมกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิด กระทำความเพื่อขอความอิสสระให้แก่ปวงชนชาวสยาม…ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยาม โดยฉะเพาะอย่างยิ่งสหายผู้ร่วมก่อการณ์ไม่ควรที่จะหลงลืมที่สำคัญแห่งนี้เสีย เพราะเปนที่ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งถือกันว่าเปนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเปนมิ่งขวัญของประชาชาติไทย…ฉะนั้น หมุดที่วางลงณที่นี้จึ่งเรียกว่า ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ ในมงคลสมัยซึ่งเปนปีที่ 5 แห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉะบับถาวรนี้…” (อักขรวิธี และเว้นวรรคตามต้นฉบับในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479)
พูดง่ายๆ ว่า หมุดที่เราเรียกกันผิดๆ ซะจนเคยปากว่า ‘หมุดคณะราษฎร’ นั้น ที่จริงแล้ว คือหมุดที่สร้างขึ้นบนสถานที่สำคัญสำหรับฝ่ายคณะราษฎร เพราะถือว่าเป็นที่ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของสยามขึ้น เนื่องในวาระที่ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญใช้อย่างนานาอารยประเทศในสมัยนั้นกันเสียที มาครบ 5 ปีแล้วนั่นเอง
แน่นอนว่า สถานที่ที่หมุดตอกลงไปตรงนั้น ไม่น่าจะเป็นสถานที่ร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จจริงๆ แต่ควรจะเป็นสถานที่เริ่มแรกของกระบวนการที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญมากกว่า แถมพระยาพหลฯ ก็ไม่ได้เป็นเพียงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสยาม ณ ขณะนั้นเท่านั้นนะครับ แต่ท่านยังควบตำแหน่งแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร โทษฐานเป็นผู้นำฝ่ายทหารบกอีกด้วย ดังนั้นท่านย่อมมีความทรงจำเป็นพิเศษต่อสถานที่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำของท่าน และพวกพ้อง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามเป็นอย่างดี (เอาน่า อย่างน้อยก็จำได้ลางๆ แหละ คนนะไม่ใช่ GPS จะมาชี้จุดอะไรกันได้เป๊ะเว่อร์!)
และก็จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิด ที่ข้อความบน หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ จะจารึกข้อความเอาไว้ว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ณ ที่นี้” เพราะโดยนัยยะสำคัญตามสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ นั้น หน้าที่สำคัญของ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ก็คือ การเป็นอนุสรณ์ หรือที่ระลึกถึงอะไรก็ตามที่พระยาพหลฯ ท่านเรียกว่า ‘การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’
แต่การที่อยู่ๆ จะมีหมุดอันใหม่เปลี่ยนเข้ามาแทนที่โดยใครก็ไม่รู้นั่นต่างหากล่ะครับที่แปลก โดยเฉพาะเมื่อข้อความที่จารึกอยู่บนหมุดอันใหม่นั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของพระยาพหลฯ หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามโดยคณะราษฎรเลย
“ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”
คือข้อความในหมุดเจ้าปัญหาอันใหม่ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่นำโดยคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2475 เลยสักนิด
และหากจะเป็นไปอย่างที่ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยเอาไว้ว่า เป็นการกระทำเพื่อลบ เลือน หรือล้างประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคณะราษฎรแล้ว ก็คงต้องบอกกันตรงๆ ว่า ถ้าการเปลี่ยนหมุดใหม่จะเป็นไปเพื่อการนี้จริง ก็คงจะวิธีการที่ไม่ได้ความอย่างสิ้นเชิง (อย่าเสียใจนะนาย ตบบ่าๆ) เพราะการจะสร้างประวัติศาสตร์ชุดใหม่ (ใช่ครับใช่ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สร้างใหม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอดีต หรือตัวอดีตเอง แต่เป็นจินตกรรม หรือสิ่งที่คนในปัจจุบันคิดถึงอดีต ดังนั้นจะสร้างใหม่เมื่อไหร่ก็ไม่แปลก) มาสวมทับ หรือบดบังประวัติศาสตร์ชุดเดิม ประวัติศาสตร์ชุดใหม่นั้นก็จะต้องมีพลัง (ที่จะดึงดูดให้คนรู้สึกอิน) ยิ่งกว่าสิ่งที่มีอยู่มาเก่าก่อน
ในกรณีของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนั้นคือเรื่องราวที่สัมพันธ์กับสถานที่ตอกหมุดลงไป ซึ่งเจ้าหมุดอันใหม่ถอดด้ามนี้กลับไม่มีความสัมพันธ์อย่างที่ว่าเอาเสียเลย แล้วจะไปเอาพลังอะไรมาให้คนเขาอินกันล่ะครับ?
(ลองนึกตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ดูก็ได้ว่า ถ้าใครเกิดไปสร้างอนุสาวรีย์ของย่าโม ท้าวสุรนารีขึ้นที่ภูเก็ต คนภูเก็ตก็คงจะไม่ได้อินอะไรอย่างที่คนโคราชอินนัก ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงเพราะว่าที่ภูเก็ตมีท้าวเทพกษัตรี กับท้าวศรีสุนทรอยู่แล้ว แต่วีรกรรมของย่าโมท่านจะพลังอย่างถึงที่สุด เมื่ออยู่ในตัวเมืองโคราช หรือเขตทุ่งสำริดต่างหาก)
แต่ในหมุดใหม่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรชวนให้นึกเชื่อมโยงไปกับประวัติศาสตร์ไทยเอาเสียเลย (ถึงจะไม่เกี่ยวอะไรกันกับสถานที่ตอกหมุดอยู่ดีก็เถอะ) ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นคำว่า ‘หน้าใส’ ซึ่งดูเหมือนว่าคนที่ออกแบบเจ้าหมุดอันใหม่นี้ขึ้นมา ก็อยากที่จะเน้นย้ำวลีนี้ออกมาเสียจนจัดที่ทางให้เจ้าคำที่ว่า ตั้งอยู่ที่ตรงใจกลางของหมุด แถมยังมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าถ้อยความอื่นๆ ที่ล้อมรอบอยู่เสียด้วย
ใครหลายคนอีกเหมือนกันที่ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า คำว่า ‘หน้าใส’ ในที่นี้ มีที่มาจากคำว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เพราะที่ใจกลางของหมุดไม่ได้มีแต่วลี หน้าใส อยู่อย่างเดียว ยังมีคำนำหน้าว่า ‘ประชาชนสุขสันต์’ อยู่อีกด้วย
ในที่นี้ก๊อปปี้ไรเตอร์ในคณะที่จัดทำหมุดหน้าใสนี้ คงจะเอาคำว่า ‘ประชาชน’ ที่ดูเหมาะกับรัฐสมัยใหม่แบบปัจจุบันมากกว่ามาแทนคำว่า ‘ไพร่’ ซึ่งนอกจากจะชวนให้นึกถึงรัฐ และวิธีการปกครองแบบโบร่ำโบราณแล้ว ยังมีสำเนียงที่กระทบกระเทียบแดกดันอยู่ในที สำหรับสังคมไทยปัจจุบันนี้
และมันก็คงจะเป็นอย่างที่ใครหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้จริงๆ นั่นแหละว่า ที่มาของคำ ‘หน้าใส’ มาจากคำว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ในจารึกพ่อขุนรามฯ เพราะคำว่า หน้าใส นั้นไม่เคยพบในจารึกของสุโขทัยหลักอื่นเลยแม้แต่หลักเดียว แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมค้นคว้าขึ้นมาเองนะครับ เป็น รองศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งได้ค้นคว้าเกี่ยวกับ จารึกพ่อขุนรามคำแหงอย่างหนักหน่วงที่สุดในโลกคนหนึ่งได้เคยสรุปเอาไว้ และผมก็แค่นำมาบอกต่อให้ฟังกันอีกทอดหนึ่งเท่านั้นเอง
ดังนั้น คำว่า ‘หน้าใส’ ในที่นี้จึงเป็นการตีความคำว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ในจารึกพ่อขุนรามฯ ว่าหมายถึง ‘ประชาชนสุขสันต์’ (หรืออะไรเทือกๆ นั้น คืออย่างน้อยก็มีความหมาย ไปในทางว่า มีความสุข) ตามคำที่กำกับกันอยู่บนหมุดใหม่เจ้าปัญหานั้นด้วย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องนัก?
ถึงแม้ว่าในบรรดาจารึกจำนวนมากมายของสุโขทัย จะมีเฉพาะจารึกพ่อขุนรามคำแหง (เอ่อ.. ถ้าจารึกหลักนี้จะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่ยุคต้นกรุงเทพฯ อย่างที่รัฐไทยชอบเคลมน่ะนะ) อยู่เพียงหลักเดียวเท่านั้น ที่ปรากฏคำว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ แต่ว่าในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้เองกลับมีคำนี้ปรากฏอยู่สองแห่ง
แห่งหนึ่งอยู่ในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 21 มีใจความว่า “จักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือน(เงิน)ค้าทอง ค้า ไพร่ฝ้า(ฟ้า)หน้าใส” หมายถึงใครอยากค้าอะไรก็ค้า จะขายม้า ค้าเงิน หรือขายทองก็ทำไปสิ เศรษฐกิจดีไม่เหมือนยุคนี้ ไพร่ฟ้าหน้าจะใสวิ้ง ยิ่งกว่าใช่ครีมหน้าเด้ง ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรไม่ใช่เหรอ?
แต่คำเดียวกันนี้เองที่อยู่ในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 6 (แต่ต้องอ่านความมาตั้งแต่บรรทัดที่ 4 และต่อเนื่องไปจนถึงบรรทัดที่ 10 จึงจะรู้เรื่อง) ดังความที่ว่า “สีบ(สิบ)เก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด มาท่(ที่)เมืองตาก พ่อกูไปรบ ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฝ้า(ฟ้า)หน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่อหนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูฏ่อ(ต่อ)มาสเมือง(ชื่อช้างของขุนสามชน)แพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่ง(จึง)ขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพู่ง(พุ่ง)ช้างขุนสามชน”
สรุปความง่ายๆ ว่า เมื่อพ่อขุนรามคำแหงครบ 19 พระชันษา ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดบุกเข้ามาที่เมืองตาก พระราชบิดาของของพ่อขุนรามฯ จึงทรงออกไปรบ แต่ขุนสามชนรบเก่ง ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ของพระราชบิดาพ่อขุนรามจึงแตกหนี เว้นแต่องค์พ่อขุนรามเองนี่และครับ ที่กำลังทรงพระห้าวเป้ง เลยทรงไสช้างเข้าไปต่อรบจนขุนสามชนแพ้ พระราชบิดาเลยพระราชทานนามให้ว่า พ่อขุนรามคำแหง
ในสนามรบคงจะไม่มีไพร่ที่ไหนหน้าใสเด้งเหมือนไปโมมาจากเกาหลีหรอกนะครับ ความตอนนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าไพร่ฟ้าพวกนี้สู้ไม่ได้ก็เลย ‘หนีญญ่ายพายจแจ้น’ (อ่านว่า หนี-ยะ-ย่าย-พาย-จะ-แจ้น) ดังนั้นเอาเข้าจริงแล้วนักอ่านจารึกระดับอาวุโสมือทองทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร จะแปลคำว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ว่า ‘ไพร่’ หรือ ‘ประชาชน’ เฉยๆ เท่านั้นแหละ ไม่ใช่ ‘ประชาชนสุขสันต์’ อย่างในหมุดใหม่ที่โผล่มาจากที่ไหนก็ไม่รู้นั่น
พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า คำว่า ‘หน้าใส’ น่ะ ยังแปลไม่ออก เพราะเป็นสร้อยคำที่ปรากฏสองแห่ง แต่ความดูจะขัดกันนั่นแหละ
การจะใช้คำ ‘หน้าใส’ เพื่อสืบโยงเข้ากับรากฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การปกครองของสยาม ที่อ้างต่อกันมาบ่อยๆ ว่าเริ่มจากแนวคิดแบบพ่อปกครองลูก ซึ่งก็มีที่มาจากจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักนี้ จึงทำออกมาได้ไม่ ‘เนียน’ เลยสักนิด เพราะตกม้าตายมันตั้งแต่คำแรกที่นำมาใช้เป็นตัวเอกของเรื่องเลยทีเดียว
และเอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ของพ่อขุนรามคำแหง จะไม่ได้หมายถึง ‘ประชาชนสุขสันต์’ อย่างในสมัยนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไพร่ฟ้าของพ่อขุนรามฯ จะไม่ได้แฮปปี้กันเลยเสียหน่อย อย่างน้อยใครใคร่จะค้าช้าง ค้าม้า ค้าเงิน ค้าทอง หรือจะค้าอะไรก็ค้า ส่วนสมัยนี้น่ะเหรอครับ?
แค่ยางพารายังถูกไล่ให้ส่งไปขายบนดาวอังคารเลยนี่นะ ปั๊ดโธ่!